ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แรงกดดันของวัยรุ่นจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูงวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาแะลมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                 ที่ผ่านมา มีงานประชุมสัมมนาระดับประเทศว่าด้วยปัญหาเยาวชนจีนจัดขึ้นที่มหานครปักกิ่ง ที่จริงหากมองอย่างผิวเผิน รายงานข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาชิ้นนี้ก็อาจดูเหมือนกิจกรรมทางวิชาการปรกติธรรมดาชิ้นหนึ่ง ในประเทศจีนวันๆ หนึ่งมีงานสัมมนาทำนองนี้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันงาน แต่ที่ผมเอามาเป็นประเด็นชวนคุยกับท่านผู้อ่านที่รักในคราวนี้ ก็เพราะในระยะหลังมีข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นเยาวชนจีน ในทางที่เป็นแง่มุมลบ ปรากฏทางหน้าสื่อของประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บรรดาผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบบริหารประเทศก็ปวดหัววิเคราะห์หาสาเหตุไปต่างๆนานา ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาวัยรุ่นหรือเยาวชนจีน กำลังจะไต่ระดับมาเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในลำดับต้นๆ ไม่ใช่ว่าจะเรียบร้อยอยู่ในระเบียบวินัยเคร่งครัด อย่างที่หลายท่านอาจจินตนาการภาพว่าสังคมคอมมิวนิสต์น่าจะเป็น




                 ขอวกกลับเข้าประเด็นข่าวของสำนักข่าวซินหัว ที่ประชุมสัมมนาได้มีการนำเสนอผลการวิจัยแบบสำรวจ พบว่าเด็กจีนกว่า 30 ล้านคนกำลังมีปัญหาหนัก กว่าร้อยละ 40ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาของจีน ตกอยู่ในสภาวะ เครียด ซึมเศร้า และหมดอาลัยกับอนาคต ไม่รู้ว่าจบไปแล้วจะมีงานหรือหางานอะไรทำได้ ร้อยละ 84 ของนักเรียนมัธยมจีน มีอาการเครียดและถูกกดดัน มีปัญหากับการนอนหลับ ร้อยละ 50 ของนักเรียนระดับประถม มีพฤติกรรมกร้าวร้าว ไม่สามารถสมาคมกับคนทั่วไปแบบปรกติ รู้สึกอับอายและไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ปัญหาที่เยาวชนทุกกลุ่มมีร่วมกันก็คือ ความรู้สึกที่แปลกแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่างฝ่ายต่างดูเหมือนไม่เข้าใจโลกของอีกฝ่ายหนึ่ง กลุ่มนักวิจัยที่นำเสนอผลสำรวจให้ความเห็นว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะมีที่มาจากปัจจัยหลัก คือความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคม และปัจจัยการที่ประเทศถูกผลักดันเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วภายในชั่วเวลาเพียงหนึ่งรุ่นอายุคน ในด้านโครงสร้างทางสังคม นโยบายมีลูกได้เพียงหนึ่ง ทำให้ครอบครัวกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก ไม่มีเพื่อนรุ่นอายุเดียวกันหรือพี่น้องที่จะให้คแนะนำปรึกษา หรือที่ระบายทุกข์ในใจ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ก็ส่งผลทำให้ครัวเรือนจำนวนมากสูญเสียหัวหน้าครอบครัวที่จะช่วยอบรมดูแลลูก เพราะต้องจากบ้านไปตะเวนหางานทำ หรือในกรณีที่ทั้งแม่และลูกต้องโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิมในชนบท เพื่อติดตามหัวหน้าครอบครัวเข้าสู่เมือง อันเป็นแหล่งรวมของอาชีพการงานที่อาจดูมีอนาคตมากกว่า โอกาศที่จะสามารถอาศัยความเหนียวแน่นของชุมชนเดิมในการช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็กก็แทบจะไม่มีเหลือ เมืองกลายเป็นนิคมผู้โยกย้ายหางานทำ หรือเป็นชุมคน แต่ไม่ใช่ชุมชนทางสังคมอีกต่อไป


                 ผลงานวิจัยชิ้นอื่นๆที่นำเสนอในเวทีสัมมนาเดียวกันนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าห่วงอีกหลายประการ กล่าวคือจำนวนเด็กวัยรุ่นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเริ่มปรากฏเพิ่มมากขึ้น  จำนวนเด็กที่เข้าไปในเกมส์ออนไลน์ที่เน้นใช้ความรุ่นแรงมีมากขึ้น มีกรณีใช่ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกันในหมู่เยาวชน ทั้งในและนอกโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น กรณีเด็กมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัยอันควร กรณีท้องและมีบุตรก่อนการสมรส และที่ร้ายสุด คือจำนวนกรณีเด็กฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ตามข้อมูลจากโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ
                 ที่ผ่านมาดูเหมือนสังคมจีนก็รับรู้อยู่ว่ามีปัญหาดังกล่าวในหมู่เยาวชนของตัว แต่ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับว่ารากเหงาของปัญหาที่แท้จริง  การพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดย่อมต้องแลกด้วยต้นทุนทางสังคมที่แพงเอาการทีเดียว การเลี่ยงปัญหาด้วยการโทษเด็กว่าติดเกมส์ออนไลน์ หรือจับเด็กไปฝังเข็มลดความเครียด(เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในจีน เพราะผู้ปกครองจำนวนมากและหมอแผนจีนยืนยันกันว่าการฝังเข็มสามารถลดความเครียดก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้) หรือการประกาศว่าน้ำมันปลาทะเลสามารถลดระดับความเครียดในเด็กวัยรุ่นได้ นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจชักนำให้สังคมแก้ไขปัญหาผิดฝาผิดตัวอีกต่างหาก ในที่ประชุมมีนักวิชาการบางคนถึงกับแสดงความกล้าหาญตำหนิวิจารณ์นโยบายลูกคนเดียว ว่าสมควรที่จะได้รับการทบทวนยกเลิก หรือมิเช่นนั้น รัฐบาลก็ควรต้องออกมารับผิดชอบดูแลปัญหาของครอบครัวที่มีลูกเพียงคนเดียวอย่างเป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้น หรือพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาที่เด็กกว่า 30 ล้านคนนี้จะก่อให้กับสังคมจีนในอนาคตอันใกล้


                 พวกเราชาวไทยได้รู้เห็นปัญหาของจีนแล้ว ก็อาจหัวเราะไม่ออก เพราะดูเหมือนเราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ดีไปกว่าจีนเท่าใดนัก เรามีเด็กเครียดเพราะต้องเตรียมตัวสอบแข่งขันเข้าม.1 เข้าม.4 เข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตเด็กไทยคนหนึ่งมีเรื่องให้เครียดได้หลายรอบ เรามีปัญหาเด็กติดเกมส์ออนไลน์เช่นเดียวกันกับจีน แม้ว่าตัวเลขอาจไม่มากเท่า เรามีเด็กใจแตกอยู่กินฉันสามีภรรยาตั้งแต่ยังเช่าหอพักเรียนหนังสืออยู่มัธยมปลาย เรามีเด็กติดยาติดอบายมุข เรามีเด็กใช้ความรุนแรงตีกันไม่เว้นทั้งเด็กผู้หญิงเด็กผู้ชาย แต่หากพิจารณาในแง่ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ประเทศไทยเราอาจจะยังพอแลเห็นอนาคตในการแก้ไขเยียวยาได้ง่ายกว่าปัญหาของจีน  แต่นั้นหมายความว่าเราอาจต้องตั้งสติให้ดี เวลาที่คิดอ่านดิ้นรนจะรีบพัฒนาให้ได้รวดเร็วเหมือนอย่างประเทศอื่นๆทั้งหลาย อันที่จริงโลกนี้มีตัวอย่างบทเรียนให้เห็นมามาก เสียแต่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนแกล้งทำเป็นไม่รู้ และไม่คิดจะเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆเหล่านั้น เรื่องหลายเรื่องที่ว่าด้วยการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การเมือง ชาติในยุโรปในอเมริกา ที่เห็นเจริญๆกันอยู่ทุกวันนี้ ผ่านประสบการณ์แก้ไขปัญหาผิดแล้วแก้ใหม่ซ้ำอยู่เป็นเวลาหลายร้อยปี กว่าจะมาเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อแรกเริ่มต้น ทำลายชนบทและครอบครัวชาวอังกฤษจนเสียหายย่อยยับอย่างมหาศาล สังคมอังกฤษใช้เวลากว่าร้อยปีในการลองผิดลองถูกค่อยๆเยียวยาแก้ไข กว่าจะมั่นใจเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมต่อได้ ใครที่เคยคิดอิจฉาความมหัศจรรย์ของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่พลิกประเทศจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในชั่วเวลาแค่30ปี คงต้องหยุดนั่งทบทวนดูว่าอยากเป็นแบบจีนจริงๆ หรือ


นักเรียนนอกกลับบ้าน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





                ผมจำได้ว่าเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของจีนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน ในคราวนั้น นอกเหนือจากประเด็นการสอบแข่งขันที่ดุเดือดแล้ว ผมยังได้เกริ่นถึงกระแสความนิยม และจำนวนนักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศมาเล่าสู่กันฟังไปด้วย  มาคราวนี้ ผมมีข่าวและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาจีนกลุ่มที่เรียกว่า ”นักเรียนนอกทุนหลวง” มานำเสนอเพิ่มเติม


                  ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางของจีนชุดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกผู้รับทุนการศึกษารัฐบาลไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้จัดประชุมใหญ่ดำเนินการคัดเลือก โดยในปีนี้ใช้นครเหอเฟ่ยในมณฑลอายฮุยเป็นสถานที่จัดประชุม ที่ประชุมได้แถลงผลดำเนินการของปี2009 ว่าได้ส่งคนไปแล้ว12,769ทุน(ถือว่ามากสุดเป็นประวัติการณ์) ผลการคัดเลือกการทุนไปเรียนต่อต่างประเทศประจำปี2010 พร้อมทั้งแถลงข่าวแผนงานการคัดเลือกให้ทุนรอบใหม่ในปี2011 คณะกรรมการฯชุดนี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี1996 ดำเนินการมาถึงปัจจุบัน ได้ให้ทุนส่งนักเรียนจีนไปศึกษาในระดับปริญญาที่ต่างประเทศแล้วรวม 78,500 คน แต่อันที่จริงจำนวนนักเรียนทุนของรัฐบาลจีนมีมากกว่านี้อีกเป็นหลายเท่าตัว เพราะในช่วง 1981-1996 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้รับทุนการศึกษารัฐบาลไปศึกษาต่อในต่างประเทศอย่างเป็นระบบเบ็ดเสร็จ หน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมต่างๆของจีน ต่างก็แยกกันให้ทุนการศึกษาเพื่อส่งข้าราชการของตนไปศึกษดูงานต่อในต่างประเทศ เพิ่งจะมารวมศูนย์ก็เมื่อไม่นานนี้ ส่วนเรื่องการดูงานและฝึกอบรมยังคงมอบให้หน่วยงานเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ นอกจากนี้อาจยังมีบางหน่วยงานที่ลักษณะงานมีความเป็นเฉพาะพิเศษอีกเพียงไม่กี่แห่ง ตัวอย่างเช่นหน่วยงานในฝ่ายของกองทัพประชาชน ที่ยังเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกบุคคลากรของตัวไปเรียนต่อระดับสูงในต่างประเทศ


                ตัวเลขและประเด็นสำคัญที่มีการแถลงกันในที่ประชุมเมื่อสุดสัปดาหด์ที่ผ่านมา เห็นจะเป็นเรื่องจำนวนผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษา เดินทางกลับมาทำงานใช้ทุนรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ที่ผมเรียนว่าน่าสนใจก็เพราะ ในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่มีการส่งนักเรียนจีนไปนอก มีข่าวร่ำลือกันเสมอในหมู่นักเรียนนอก ว่าเรียนจบแล้วก็อยู่หางานทำในต่างประเทศ หรือหลบซ่อนไปทำงานต่อในประเทศที่สาม เรื่องราวจะเท็จจะจริงอย่างไรผมก็ไม่ทราบได้ เพราะก็ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนออกมาเอะอะโวยวาย แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีคณะกรรมการคัดเลือกฯเป็นต้นมา ข้อสัญญาที่ทำระหว่างรัฐบาลจีนกับผู้รับทุน แม้จะเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็ยังเปิดทางให้ผู้รับทุนที่เรียนไม่สำเร็จ หรือเรียนจบแต่ไม่ยอมกลับมาใช้ทุน สามารถชดใช้เป็นตัวเงินได้ นั่นย่อมสะท้อนว่าปัญหาที่ลือกันอยู่น่าจะมีเค้ามูลบ้าง ตัวเลขที่มีการเปิดเผยในการแถลงข่าวคราวนี้ อ้างว่ามีผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาระดับสูง44,555คนได้เดินทางกลับมาทำงานใช้ทุนในประเทศจีน จากยอดรวมสะสมของผู้สำเร็จการศึกษา45,553ที่ควรต้องกลับมานับแต่เริ่มให้ทุนในปี1996 หรือคิดเป็นร้อยละ98ของจำนวนผู้ที่ควรต้องกลับมาใช้ทุน ตัวเลขชุดนี้ แม้จะไม่ได้แจกแจงเป็นรายปี แต่ก็สะท้อนภาพอะไรบางอย่าง ผมเองสงสัยใจอยู่ ว่าตัวเลขชุดนี้ อาจไม่ใช่ตัวเลขสะสมที่ทะยอยกลับมาใช้ทุนหลังเรียนจบแบบปรกติธรรมดา แต่น่าจะเป็นการทะลักกลับมาทำงานในประเทศจีน อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกในช่วงปีสองปีหลังนี้เป็นสำคัญ หากตัวเลขเป็นเช่นที่ผมสงสัย ก็จะสอดคล้องกับข่าวลืออื่นๆก่อนหน้านี้อีกหลายข่าว เช่นข่าวนักศึกษาจีนเครียดเพราะโอกาสหางานในต่างประเทศเพื่อเอาเงินมาใช้ทุนหลวงทำได้ลำบากขึ้น ข่าวบัณฑิตปริญญาเอกจีนตกงานต้องยอมเป็นผู้ช่วยวิจัยราคาถูกตามมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
                อย่างไรก็ดี หากจะถกแถลงกันอย่างเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับนักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ลำพังเพียงข้อมูลหรือตัวเลขของคณะกรรมการฯชุดข้างต้นคงยังไม่ได้ภาพทั้งหมด เพราะจำนวนนักเรียนจีนที่เรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศด้วยทุนส่วนตัวนั้น มีมากมายหลายเท่าตัวเหลือเกินเมื่อเทียบกับนักเรียนทุนของรัฐ เฉพาะในปีการศึกษา2009-2010  มีนักเรียนจีนทุนส่วนตัวที่ยังศึกกษาอยู่เฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆของสหรัฐอเมริกากว่า128,000คน(ประมาณ100,000ในปีการศึกษา2008-2009) จนกล่าวกันเล่นๆว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกายังสามารถเปิดอยู่ได้ ก็ด้วยงบประมาณทางอ้อมที่ประเทศจีนอุดหนุนให้(ค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาต่างชาติ670,000คนที่จ่ายให้มหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐอเมริกา สูงถึง 18,000ล้านเหรียญสหรัฐ) สถานการณ์นักศึกษาจีนในตลาดการศึกษาฝั่งยุโรปตะวันตก ก็ไม่ได้ต่างจากในสหรัฐเท่าใดนัก แม้จำนวนจะไม่มากเท่าในอเมริกา แต่นักศึกษาจีนทั้งโดยทุนรัฐบาลและทุนส่วนตัว มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการอยู่รอดของมหาวิทยาลัยและภาควิชาบางสาขาที่เป็นงานวิจัยทางวิชาการล้วนๆ ไม่ใช่หลักสูตรทำเงินทำทอง


                แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มปรากฏมีบางสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยชื่อดังจากอเมริกา มาทำหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยจีน แต่แนวโน้มใหม่ที่ผมคิดว่าจะต้องจับตาดูและอาจมีผลต่อประเทศต่างๆในภูมิภาคแถวบ้านเรา ก็คือเริ่มมีการคิดกันในหมู่ผู้บริหารตลาดการศึกษาของจีน ที่สนใจจะซื้อกิจการมหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ใครจะไปรู้ ในอนาคตอาจมีมหาวิทยาลัยชื่อดังของฝรั่งมาจัดการเรียนการสอนอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยมีเจ้าของกิจการเป็นชาวจีนหรือบริษัทจีนก็ได้

เงินเฟ้อมาแล้ว

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                      บ้านเราปีนี้ทำท่าจะหนาว แต่ก็ยังไม่ยักจะหนาวแบบเป็นจริงเป็นจังอย่างที่ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะตั้งความหวังไว้ ตอนเดือนตุลาคมบรรดาสำนักพยากรณ์อากาศทั้งหลายต่างก็ออกมาขู่ว่าปีนี้น้ำมาก หนาวแน่ หนาวชัวร์ แต่จนแล้วจนรอดไอ้ที่เรียกว่าหนาวก็ยังไม่เห็นว่าจะมาถึงกรุงเทพฯเสียที มีแต่ข่าวลมหนาวตามเขตป่าเขาในชนบทห่างไกลเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับประเทศจีนนั้น ฤดูหนาวแบบของจริง มาถึงเรียบร้อยแล้ว ดัชนีสำคัญที่ชาวจีนทั่วไปใช้ในการยืนยันว่าหนาวแล้ว ก็คือราคาอาหารประเภทผักผลไม้ทั้งหลาย ตอนนี้ราคาแพงทั่วหน้าทุกรายการเรียบร้อยแล้ว  นอกจากผักหญ้าอาหารการกินจะขยับราคาขึ้น ตอนนี้เริ่มมีปรากฏการณ์นำร่องว่าปีนี้จีนจะเจอกับปัญหาความขาดแคลนน้ำมันดีเซลอย่างหนักอีกรอบ โดยเหตุที่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนทั่วไปได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงสิบกว่าปีหนังมานี้ ปริมาณความต้องการน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติเพื่อทำความอบอุ่นในที่อยู่อาศัยเลยเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผมอยากจะชวนคุยในสัปดาห์นี้ ไม่ใช่เรื่อง ผักแพงหรือก๊าซแพงเฉยๆ แต่กำลังจะชวนคุยเรื่องเงินเฟ้ออย่างที่จั่วหัวข้อบทความไว้ข้างต้น


                  เรื่องเงินเฟ้อในจีนนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากเรื่องหนึ่ง อย่างที่ผมเองได้เคยเกริ่นไปแล้วครั้งหนึ่งในบทความเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน การคงค่าเงินให้อ่อนไว้ หรือปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งค่า ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นใหญ่ท้าทายการตัดสินใจของผู้บริหารที่ดูแลระบบเศรษฐกิจของจีน สำหรับรัฐบาลจีน โจทย์ใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การส่งออกสินค้าจีนอย่างเดียว แต่ที่สำคัญกว่าคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานภายในประเทศของจีนเอง  ด้านหนึ่งจีนต้องพยายามดิ้นรนรักษาระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะที่ตลาดทั่วโลกกำลังซบเวา ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องค่อยระวังไม่ให้การลงทุนที่ร้อนแรง(อันเนื่องจากเงินทุนภายนอกไหลเขามาลงทุนหากำไรในจีน)กระตุ้นให้เกิดวิกฤติเงินเฟ้อ  ที่ผ่านมารัฐบาลจีนไต่เส้นลวดประคับประคองมาได้ดีพอสมควร  แต่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคล้าสุด ออกมาน่าเป็นห่วงพอสมควร ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของกระทรวงพานิชย์จีนชี้ว่า ในช่วงสิบวันแรกของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พืชผักหลักๆ16ชนิดที่วางจำหน่ายอยู่ตามร้ายค้าใหญ่เล็กทั้งหลายในเขตเมืองทั่วประเทศ มีราคาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ62.4เมื่อเทียบกับราคาในช่วงระยะเดียวกันของปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  11.3 เมื่อเทียบกับราคาในช่วงต้นปีนี้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะค่าเงินหยวนที่แข็งต่าขึ้นในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยหลักสามปัจัย หนึ่งที่หนีไม่พ้นเพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ คืออากาศหนาวผลิตผักผลไม้ได้น้อย สองพื้นที่หลายแห่งในภาคกลางและภาคใต้ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ในปีนี้เสียหายยับเยินเพราะภัยน้ำท่วมและอากาศแปรปรวน ปัจจัยสุดท้าน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่งสินค้าพื๙ผักเพิ่มสูงขึ้นมากเนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ และโดยข้อเท็จจริงที่ว่าแหล่งผลิตและตลาดของพืชผักอยู่ห่างไกลกันมาก ก็เลยส่งผลให้ราคาขายปลีกถึงมือลูกค้าผู้บริโภคสูงมากเป็นพิเศษ ตอนนี้ถึงกับปรากฏว่ามีสถานีบริการน้ำมันหลายบริษัทที่ตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักทั่วประเทศ ออกมาตรการจำกัดปริมาณการขายในแต่ละครั้ง ห้ามไม่ให้เติมน้ำมันเกินครั้งละ200หยวน เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำมันเพราะการซื้อกักตุน
                ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกันโดยตรงหรือไม่ แต่นักวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์จีนบางฉบับถึงกับเอาเรื่องผักแพงไปเชื่อมโยงกับการขยับตัวของค่าใช้จ่ายอื่นๆที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น บทความในนิตยสารปักกิ่งรีวิวส์ สัมภาษณ์ผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกผักผลไม้กลุ่มหนึ่ง ซึ่งยืนยันอย่างหนักแน่นว่าค่าเช่าที่อยู่อาศัยของพวกเขาขยับขึ้นกว่าร้อยละ30ในช่วงสองเดือนมานี้ ทำให้ต้นทุนประกอบการค้าผักผลไม้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นไปด้วย เลยต้องขายผักในราคาแพงขึ้น นอกจากเรื่องผัก เรื่องค่าเช่าบ้าน ก็ยังมีค่าใช้จ่ายและค่าอุปโภคบริโภคอื่นๆอีกมาก ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยรวมแล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพียงแค่เดือนเดียวดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ4.4  แต่กลุ่มสินค้าที่ขึ้นราคาที่นำโด่งก็คือกลุ่มอาหาร เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อบละ10.1  ว่าที่จริงแล้วราคาของสินค้ากลุ่มอาหารนี้ ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดหลายเดือนแล้ว กล่าวคือเพิ่มขึ้นร้อยละ8 ในเดือนกันยายน ร้อยละ7.5ในเดือนสิงหาคม และร้อยละ 6.8ในเดือนกรกฎาคม สำหรับรัฐบาลจีนแล้ว การที่ราคาสินค้าเพิ่มเกินกว่าร้อยละ3ในเดือนใดเดือนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายของเงินเฟ้อแล้ว นี้เล่นเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกัน4เดือนรวดในข้างต้น จัดว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งที่จีนเคยประสบมา
                   เดือดร้อนถึงท่านนายกรัฐมนตรี เหวิน เจียเป่า ต้องออกมาประกาศมาตรการนำสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทน้ำมันพืชประกอบอาหาร น้ำตาลทราย ข้าว แป้งสาลี จากคลังสำรองของรัฐบาลออกมาแทรกแซงตลาด ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็รับปากว่าจะดูแลส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เกษตกรที่ทำการเพาะปลูกพืชผักในฤดูหนาวในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตชดเชยความต้องการของตลาด ควบคุมราคาค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลจีนเปิดประมูลน้ำตาลทรายในคลังสินค้าอีกกว่า200,000ตัน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปกระจายสู่ท้องตลาดในราคายุติธรรมเพิ่มมากขึ้น ป้องกันปัญหาการขยับขึ้นราคา ต้นเดือนหน้าก็มีข่าวว่ารัฐบาลจีนจะเข็นมาตรการอีกเป็นสิบข้อออกมาใช้ เพื่อต่อสู้กับปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ผมก็พยายามสอดส่ายสายตามองหา ว่าจะมีข่าวสิ้นค้าพืชผักอาหารจากประเทศไทย ไปขายทำกำไร แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีข่าวดีแบบนี้ ใครทราบช่วยบอกกล่าวผมด้วยเถิดครับ

ทุนจีนไปนอก

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                 ผมเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนของประเทศจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนไปแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นหากจำไม่ผิดได้เล่าให้ท่านผู้อ่านที่รักทราบว่าจีนกำลังขยายทุนเข้ามาค่อนข้างมาก ทั้งในรูปแบบที่เป็นการลงทุนทำธุรกิจโดยตรง และในรูปแบบการรับสัมปทานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในประเทศลาว พม่า และกัมพูชา ในเวลาเดียวกันจีนก็ให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่ในประเทศที่ยังไม่ได้ขยายตัวมากนัก อย่างเช่นในประเทศแถบอาฟริกา และเอเชียกลาง แต่เรื่องราวที่จีนเริ่มนำเงินทุนสะสมที่มีอยู่จำนวนมากมายมหาศาล เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นและกว้านซื้อกิจการของบริษัทใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องใหม่ที่ผมอยากนำมาเสนอให้กับท่านผู้อ่านในบทความนี้ 



                 ตัวเลขจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน และจากกระทรวงการค้าของจีนแจ้งไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า  เฉพาะในช่วง9เดือนแรกของปีนี้ จีนได้ลงทุนในกิจการต่างๆนอกประเทศไปแล้วกว่า36,300ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ10.4เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ตัวเลขการลงทุนข้ามชาติของโลกโดยรวม กลับลดลงกว่าร้อยละ40ในปี2009 อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกยังไม่ดีขึ้น แต่ตัวเลขการลงทุนต่างประเทศของจีนเมื่อปีที่แล้ว ขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ14.2 คิดเป็นเงิน47,800ล้านเหรียญสหรัฐ  เมื่อปีที่ผ่านมามีบริษัทของจีนกว่า12,000ราย ที่ไปลงทุนและเปิดบรษัทใหม่หรือตั้งสาขาในต่างประเทศกว่า13,000บริษัทใน170ประเทศ  ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นความเติบโตที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง หากเทียบกับเมื่อแรกเริ่มที่จีนสนใจเอาเงินทุนออกไปหากำไรในต่างประเทศเมื่อปี2003 ซึ่งในครั้งนั้นมีมูลค่าเพียง2,800ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่ง ต่างก็ประเมินออกมาในทิศทางเดียวกัน ว่าจีนขยายการลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างจงใจและเป็นระบบ เพื่อตักตวงประโยชน์ในช่วงที่กิจการในประเทศตะวันตกมีปัญหา เรียกว่าอาศัยจังหวะเหมาะไปช้อนซื้อของถูกจากฝรั่ง ว่างั้นเถอะ ถึงกับมีข่าวลือกันในแวดวงธุรกิจระหว่างประเทศว่า รัฐบาลจีนรู้เห็นเป็นใจและแอบอัดฉีดเงินเพิ่มพิเศษให้กับรัฐวิสาหกิจรายใหญ่สามแห่งของจีน ออกไปช๊อปปิงกว้านซื้อของดีราคาถูกในอเมริกาและยุโรป จนรัฐบาลจีนโดยกระทรวงการค้าต้องออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่เกี่ยว เป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจจีนแต่ละแห่งตัดสินใจกันเอง ตามกลไกการแข่งขันและตลาดทุนระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์ทั้งค่ายฝรั่งและค่ายจีน ตอนนี้กำลังประเมินกันว่า หากเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกยังไม่สามารถกลับฟื้นคืนมาคึกคักได้ในเวลาอันสั้น และจีนยังคงใช้นโยบายลุยซื้อของถูกต่อไปเช่นนี้ สัดส่วนเงินนอกที่เข้ามาลงทุนในจีน:เงินจีนที่ออกไปลงทุนภายนอก จากเดิมเป็น2:1 อาจกลายมาเป็น 1:1 นั้นหมายถึงอาจทำให้จีนกลายเป็นโบรกเกอร์ดึงเม็ดเงินจากทั่วโลกมาลงทุนต่ออีกทีหนึ่ง อย่างที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจตะวันตกเคยผูกขาดทำกันมาก่อนหน้านี้ ในอีกด้านหนึ่ง หากสถานการณ์การลงทุนข้ามชาติยังดำเนินไปแบบนี้ จีนจะเข้ายึดครองกิจการสำคัญๆของตะวันตก หรือครอบงำมีอิทธิพลเหนืออุตสาหกรรมและธุรกิจทั่วโลกในอนาคต
                 ที่บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายคาดการณ์กับไปอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จะว่าเป็นความตื่นตูมตกใจเกินเหตุก็พูดได้ แต่จะบอกว่าเป็นการวิเคราะห์คาดการณ์อย่างไม่มีเหตุผล ก็ยังไงๆอยู่ เพราะหากดูตัวเลขการลงทุนต่างประเทศของจีนอย่างละเอียดแยกย่อยแล้ว หลายเรื่องก็มีเค้ามูลน่าเป็นห่วงอยู่ ตัวอย่างเช่น กรณีการลงทุนเข้าซื้อหุ้นและกิจการในสหรัฐอเมริกาของนักลงทุนฝ่ายจีน ก่อนหน้านี้ในปี2009 มีมูลค่าไม่ถึง200ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พอมาปีนี้ ยังไม่ทันจะครบปีดี แค่6เดือนจีนลงทุนเข้าซื้อกิจการในสหรัฐอเมริกาไปแล้วกว่า605ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง3.6เท่าตัว หรือในกลุ่มประชาคมยุโรป ปีนี้แค่9เดือนจีนลงทุนไปแล้ว 406ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี2009 เพิ่มขึ้นร้อยละ107 ในรัสเซียจีนลงทุนไป264ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ59  ในกลุ่มประเทศอาเซียน จีนลงทุนไปในปีนี้มากถึง1,200ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีร้อยละ126 แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของตัวเลขความร้อนแรงที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะมูลค่าเงินลงทุนสะสมของจีนในต่างประเทศ ตอนนี้รวมแล้วมีแค่ 246,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของเงินลงทุนข้ามชาติที่หมุ่นเวียนอยู่ทั่วโลก ยังอีกนานกว่าที่จีนจะกลายมาเป็นนักลงทุนข้ามชาติขาใหญ่ติดอับดับของโลก
               

             ธุรกิจยอดนิยมที่นักลงทุนชาวจีนพากันขนเงินออกไปแสวงหากำไรและลู่ทางใหม่ๆนำหน้ามาแรงสุดๆ เห็นจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่และวัตถุดิบจากธรรมชาติ อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจโรงแรม การบริหารและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ฯลฯ มีตัวอย่างการเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการโดยการแอบกว้านซื้อหุ้นบริษัทฝรังโดยนักลงทุนชาวจีน ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาให้ชาวจีนได้สะใจตามหน้าหนังสือพิมพ์จีน เกือกจะทุกสัปดาห์ ที่ดังเป็นข่าวเด่นในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ก็เช่นกรณีบริษัท PetroChina ร่วมมือกับบริษัท Shell ลงขันกับคนละครึ่ง เข้าซื้อหุ้นกิจการแบบเหมายกบริษัท Arrow Energy Ltd. ของออสเตรเลีย ด้วยมูลค่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ  ข่าวดังอีกชุดก็ได้แก่การปิดเผยตัวเลขจากธนาคารเพื่อการลงทุน ที่ออกมาให้ข่าวว่า ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา มีบริษัทในจีนไปได้สัญญาสัมปทานเหมืองแร่ หรือเข้าไปซื้อกิจการเหมืองแร่ในต่างประเทศ รวม 49 สัญญา หรือข่าวบริษัท Suntech Power Holdings Ltd. ยักษ์ใหญ่ในวงการแผงพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของจีน เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานขนาดมหึมาในรัฐอริโซนาของอเมริกา เพื่อผลิตแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ป้อนตลาดในทวีปอเมริกา ข่าวการสำรวจและขุดพบแหล่งน้ำมันในซูดานโดยบริษัท China National Petroleum ฯลฯ  ตัวอย่างข่าวสารการลงทุนของจีนในต่างประเทศ อย่างที่ยกมานี้ ทำให้พอเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่า ทำไม่ฝรั่งก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ถึงได้รู้สึกหนาวเป็นพิเศษ ในฤดูหนาวปีนี้

จีนกับพันธกิจโลก

โดย รศ. พรัชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





                   ผมเคยนำเสนอเรื่องราวความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนว่ากำลังแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น จนอาจทำให้ขนาดของเศรษฐกิจจีนสิ้นปีนี้ กลายมาเป็นอันดับสองของโลก จะเป็นรองก็เพียงสหรัฐอเมริกา  ในบทความคราวนั้น ผมได้เสนอท่านผู้อ่านที่รักไปว่า ตำแหน่งพี่เบิ้มอันดับสองของโลกนั้น แม้จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศจีน  แต่ก็ย่อมส่งผลให้จีนตกเป็นเป้าจับตาดูจากนานาชาติ ไม่ว่าจะโดยประเทศที่พัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตก หรือประเทศที่ยังล้าหลังกำลังพัฒนาอยู่ก็ตาม  เรื่องใหญ่ที่นานาชาติเฝ้าจับตาดู ก็คือทีท่าของจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ จะแสดงความรับผิดชอบต่อโลกส่วนที่เหลืออย่างไร โดยเฉพาะกับประเด็นปัญหาร้อนๆอย่างเช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจโลก วิกฤติการณ์พลังงาน ภาวะโลกร้อน เสถียรภาพทางอาหารและความอดอยากในประเทศยากจนทั้งหลาย  มาวันนี้ ดูเหมือนประเด็นเรื่องภาระและพันธกิจที่จีนจำต้องรับผิดชอบ จะไม่ได้เป็นเพียงการจับตาดูท่าที่อย่างเงียบๆเสียแล้ว  เพราะปรากฎว่าเริ่มมีเสียงเรียกร้องอย่างเปิดเผย ให้จีนแสดงบทบาทอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในการช่วยเหลือดูแดความปรกติสุขของโลกใบนี้


              
                             ในนิตยสาร Beijing Review ฉบับออนไลน์ ที่ผมเปิดอ่านเมื่อวันจันทร์ มีสกู๊ปพิเศษ รวบรวมเรื่องราวที่เป็นประเด็นกดดันเรียกร้องให้จีนเข้ามามีส่วน แสดงบทบาทความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น อ่านดูแล้วก็หนักใจแทนยักษ์ใหญ่ว่าที่พี่เบิ้มหมายเลขสองของโลก ในสกู๊ปดังกล่าว ได้จัดเรียงลำดับเรื่องร้อนๆที่จีนกำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอยู่หลายเรื่อง ผมจะขอนำบางส่วนมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รัก ไม่ทั้งหมดและขอไม่เรียงลำดับแบบเขานะครับ เอาแบบตามความสนใจของคนไทยเรา ซึ่งก็คือเรื่องราวที่คาบเกี่ยวในมุมเศรษฐกิจเป็นหลักก่อน เรื่องแรกคือปัญหาค่าเงินหยวนของจีน หลักๆที่เถียงกันอยู่ระหว่างโลกตะวันตกและจีนก็คือ ข้อกล่าวหาที่ว่า เงินหยวนของจีนไม่เป็นไปตามกลไกอัตราแลกเปลี่ยนอย่างที่ควรจะเป็น ตามมาตรฐานการค้าการขายระหว่างประเทศ โดยเชื่อกันว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนที่แท้จริง(real effective exchange rate [REER] )ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลจีนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค่า และเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอื่นๆ และอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โตกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ประเทศอื่นๆแทบจะไม่มีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แรงบีบเพื่อเรียกร้องให้จีนทบทวนค่าที่แท้จริงของเงินหยวนจึงดำเนินมาตลอดเป็นลำดับ แม้เมื่อจีนได้ปรับเพิ่มค่าเงินไปแล้วในสองสามเดือนมานี้ แต่ความเชื่อฝั่งใจในเรื่องนี้ก็ยังไม่อาจลบหายไปได้


               

                     เรื่องต่อมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน ซึ่งว่าที่จริงแล้ว มีมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนที่จีนจะรู้ตัวว่ากลายมาเป็นพี่เบิ้มอันดับสองเสียอีก แต่ทำไงได้ละครับ พอคนจีนเริ่มรวย อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว คนซื้อรถราขับกันเต็มบ้านเต็มเมือง ขัดแย้งกับภาพกองทัพรถจักรยานถีบสองล้อสมัยก่อนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เลยทำให้เห็นจริงไปได้ว่าน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น เพราะจีนกับอินเดียใช้รถยนต์มากขึ้น ในทางข้อเท็จจริงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอาจแพงขึ้นด้วยเหตุที่กล่าวหากันจริงๆก็ได้ แต่ตัวเลขที่มาจาก International Energy Agency (IEA) ระบุว่าในปี2009ทั้งปี จีนซึ่งมีประชากรกว่าพันสามร้อยล้านคน ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งสิ้น 2,252ล้านตัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากรไม่ถึงสามร้อยล้านคน ใช้น้ำมันไปกว่า 2,170ล้านตัน หรืออาจกล่าวได้ว่าประชากรรายหัวของอเมริกาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าคนจีนถึง4.5เท่า ใครจะถูกจะผิดอย่างไรคงยังสรุปไม่ได้ เพราะที่ว่ามานี้เป็นเพียงตัวเลขน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีพลังงานจากถ่านหิน เขื่อนและอื่นๆอีกที่จะต้องเอามาคิดรวมด้วย แต่ที่แน่ๆ ผู้คนทั่วโลกที่เติมน้ำมันรถราคาแพงขึ้น ย่อมจะต้องคิดถึงประเทศจีนก่อนในฐานะผู้ต้องหาอันดับต้นๆ 
               รื่องใหญ่เรื่องถัดมาที่จีนโดนเต็มๆแบบหนักกว่าใครเพื่อน ได้แก่เรื่องปัญหาโลกร้อนและภาวะเรือนกระจก  รูปแบบข้อถกเถียงก็ดำเนินไปในแนวเดียวกับเรื่องน้ำมันข้างต้น เพราะหากดูจากตัวเลขปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซต์รวมที่จีนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้องถือว่าค่อนข้างมาก แต่เมื่อดูค่าเฉลี่ยต่อหัวประชากร เราอาจพบว่าใกล้เคียงกับผู้คนในยุโรปก่อนหน้านี้ และเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอที่ร้อยละ12-15ต่อปีในช่วง1990-2007 สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน สิ่งที่ทั่วโลกเป็นห่วงก็คือ หากจีนกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเอาคนเดียวไปเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศอื่นๆเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะกลายเป็นประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลกในปริมาณรวมที่มากที่สุด และเฉลี่ยต่อหัวประชากรก็มากที่สุดด้วย เท่ากับว่าโลกที่จะร้อนขึ้นในอนาคตข้างหน้านั้น เป็นผลจากฝีมือคนจีนล้วนๆ หากจีนยังไม่เร่งแสดงความรับผิดชอบ ค้นคว้าหาหนทางใช้พลังทดแทนที่สะอาดกว่านี้
                จีนกำลังเติบโตและร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมโลกที่จับจ้องด้วยสาตาที่ชักจะไม่ค่อยเป็นมิตรและออกอาการว่าจะคาดหวังจากจีนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ภายในประเทศจีนเอง ประชาชนส่วนใหญ่อีกกว่าร้อยละ60 ที่ยังไม่ได้รับอานิสงค์เท่าที่ควรจากการพัฒนาประเทศ ก็กำลังจับจ้องดูด้วยสายตาที่หงุดหงิดและคาดหวังเรียกร้องมากขึ้น ก็เห็นใจและหนักใจแทนจริงๆครับ รู้อย่างนี้ กลับไปจนเหมือนเดิมซะก็ดี

จีนกับเทคโนโลยีอวกาศ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                        มีข่าวสำคัญแทรกอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ของจีนเกือบทุกฉบับ เป็นข่าวการแถลงผลความสำเร็จของภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ของยานสำรวจ ฉางเออร์2(ฉางเออร์เป็นชื่อของนางฟ้าที่อยู่บนดวงจันทร์) หากไม่ใช่เพราะมีข่าวอื่นๆที่ดังกว่ามากลบ การแถลงข่าวที่ว่านี้จัดเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญมากในประวัติการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน  ตามเนื้อข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า เดินทางไปพบปะและรับฟังรายงานความสำเร็จ จากบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของจีนที่องค์การบริหารงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน ไฮไลท์ของงาน ท่านนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีเปิดเผยภาพที่ถ่ายโดยกล้องของยานสำรวจฉาวเออร์2 ( ที่เริ่มส่งสัญญานภาพกลับลงมายังสถานีภาคพื้นดิน ตั้งแต่เมื่อตอนค่ำของวันที่ 28 ตุลาคม) ต่อสื่อมวลชนที่มาติดตามทำข่าว ข้อมูลภาพพื้นผิวของดวงจันทร์จำนวนมากที่ส่งจากยานอวกาศลงมายังสถานีภาคพื้นดินนี้  จัดเป็นภาระกิจแรกของยาน หลังจากที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ตั้งแต่เมื่อวันที่1ตุลาคมที่ผ่านมา อันถือเป็นฤกษ์ดีเพราะเป็นวันชาติของจีน


                 ผมนำเรื่องนี้มาเสนอท่านผู้อ่าน ไม่ใช่เพราะเป็นข่าวใหญ่โตของความสำเร็จทางเทคโนโลยีอวกาศ เพราะเราท่านก็ทราบกันดีอยู่ว่าการถ่ายทอดข้อมูลภาพถ่านดวงจันทร์จากสถานีหรือยานอวกาศมาสู่สถานีรับสัญญานบนโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นครั้งแรกของโลก จึ่งไม่ใช่ประเด็นของความน่าตื่นเต้นในเนื้อข่าว หรือรูปภาพพื้นผิวดวงจันทร์ที่ปรากฏในการแถลงข่าว  แต่ที่อยากชวนคุยเรื่องนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน ที่เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานนัก ดูเหมือนจะก้าวหน้าเป็นเรื่องอยู่พอสมควรทีเดียว  หากนับจากการส่งยานที่มีมนุษย์ควบคุมขึ้นไปโคจรรอบโลก  มาเป็นยานที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม(ฉางเออร์1ปี2007 ) จนถึงฉางเออร์2 ดูเหมือนจีนใช้เวลาในการพัฒนาน้อยกว่าฝั่งตะวันตกอยู่มาก  หากว่าในชั่วเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ด้วยตัวเองขนาดนี้ เป็นเรื่องคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่าในอีก10-20ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอวกาศของจีนจะไปถึงขั้นไหน แน่นอนว่าคงต้องใช้เวลาอีกมากหากจะไล่จี้ทันชาติตะวันตก แต่ด้วยเงื่อนไขอื่นๆที่ดูจะได้เปรียบกว่า(ทั้งทางเศรษฐกิจและจำนวนนักวิทยาศาสตร์) นักวิชาการและนักวิจัยฝ่ายจีนจำนวนมาก ต่างมั่นใจว่าจีนจะสามารถกลายเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีอวกาศของโลกได้ในที่สุด ถึงขนาดที่ทำให้ผู้นำระดับสูงของพรรคฯ ออกมาประกาศว่าจีนจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสำรวจพรมแดนของจักรวาล และการใช้ประโยชน์อย่างสันติจากเทคโนโลยีอวกาศ อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจีนจะสามารถสร้างสถานีอวกาศเพื่อการศึกษาทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักได้ภายในปี 2016


                 ในมุมมองของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีอวกาศอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย หรืออังกฤษ ฝรั่งเศส ความก้าวหน้าของจีนในด้านนี้ ทำให้เกิดการคาดเดาต่างๆตามมาอีกมาก  ตัวอย่างเช่น ข่าววงในเรื่องจีนวางแผนที่จะส่งยานสำรวจดาวอังคารภายในปี 2013 แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากทางการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ดูเหมือนประเทศแถบตะวันตกต่างก็คาดเดาไปในทิศทางเดียวกันว่า จีนคงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสำรวจชั้นบรรยากาศและธรณีสันฐานของดาวอังคาร เพื่อประเมินศักยภาพเชิงเศรษฐกิจของแหล่งแร่และทรัพยากรที่อาจจำเป็นสำหรับโลกในอนาคต  การส่งยานอวกาศทั้งฉางเออร์1และฉางเออร์2 จึ่งอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสำรวจดวงจันทร์แต่อย่างใด ทว่าเป็นการทดสอบเพื่อเบิกทางไปสู่การสำรวจดาวอังคารในอนาคตอันใกล้  โดยแนวทางการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศของฝั่งตะวันตก สิ่งซึ่งจีนยังไม่มั่นใจคือระบบการสื่อสารทางไกลหากจะต้องส่งยานสำรวจที่ไม่มีมนุษย์ไปยังดาวอังคาร ฉนั้นเรื่องหลายเรื่องที่เป็นภารกิจของยานฉางเออร์2 ที่ถูกส่งขึ้นไปเที่ยวนี้ เลยเกิดมีคนสงสัยในแนวนวนิยายลึกลับว่าอาจมีภารกิจซ่อนเล้น ไม่ได้เป็นไปแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการเปิดเผยโดยฝ่ายจีน เช่นอาจมีการทดลองระบบส่งสัญญานทางไกลวิถีโค้ง  หรือทำการทดลองความทนทานของวัสดุประกอบผิวยานที่จีนประดิษฐ์ได้แล้ว ว่าจะสามารถทนทานต่อรังสีต่างๆในอวกาศได้ผลมากน้อยเพียงใด หากต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลถึงดาวอังคาร นอกจากนี้ยังมีการคาดเดาจากทางฝั่งฝรังเศสว่าการเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ของฉางเออร์2เที่ยวนี้ เป็นการทดลองประสิทธิภาพของจรวดนำส่งที่จะขับเคลื่อนยาน หากจะต้องส่งยานออกไปไกลถึงดาวอังคาร ลำพังเพียงศักยภาพของจรวดนำส่ง Long March 3A และ Long March 3C ที่จีนมีใช้อยู่ปัจจุบัน ล้วนพัฒนามาจากจรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร หรืออย่างมากก็ไปถึงดวงจันทร์ แต่หากจะไปให้ถึงดาวอังคาร จีนจะต้องพัฒนาจรวดนำส่งยานให้มีประสิทธิภาพขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และนี้อาจเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของยานฉางเออร์2 (ลือกันว่าทดลองใช้จรวดนำส่ง 3B/E แต่ปิดข่าวไม่ให้ชาติตะวันตกรู้)


                 ยังมีเรื่องลึกลับแนวสืบสวนสอบสวนและข่าวกรองอีกเยอะมาจากฝั่งตะวันตก ที่จับตาดูกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนแทบจะทุกฝีก้าว สนุกกว่าอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เยอะครับ อย่างเช่นข่าวที่ทางการจีนประกาศว่าจะสามารถสร้างสถานีอวกาศที่มีลูกเรือประจำการได้ราวปี 2016-2020 ตอนนี้ก็กำลังถูกเพ่งเล็งว่าจะมีวัตถุประสงค์ทางการทหารเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ทั้งนี้ต้องคอยดูตอนที่จีนส่งยาน  Tiangong-1(วิมานสวรรค์) และ Shenzhou-8(ยานเทวะ) อันจะเป็นยานหลักชุดแรกขึ้นไปประกบตัวเป็นส่วนกลางของสถานีอวกาศในปี2011 ถึงตอนนั้นคงมีเสียงซุบซิบลือกันในหมู่ชาติตะวันตก เพราะฐานส่วนกลางนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าวัตถุประสงค์ระยะยาวของสถานีอวกาศจะเป็นไปเพื่ออะไร เพราะที่ทางการจีนประกาศไว้นั้น ยาน Tiangong-1 เมื่อขึ้นไปประกบต่อเชื่อมแล้ว จะเป็นส่วนของสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีนักวิจัยและมนุษย์อวกาศอยู่ประจำ  คงต้องรอดูว่ารูปร่างหน้าตาของมันจะสอดคล้องกับที่จีนประกาศ หรือใกล้เคียงกับที่ฝรั่งสงสัย  เราในฐานะคนไทยที่ยังต้องทะเลาะแย่งกันเป็นพระเอกตอนน้ำท่วม คงได้แต่ติดตามข่าวต่อไป อย่างเสงี่ยมเจียมตัวแหละครับ

วิกฤตการณ์แร่ธาตุหายาก

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


            ผมเคยเรียนท่านผู้อ่านตั้งแต่เริ่มต้นว่าบทความที่ผมรับผิดชอบอยู่นี้ เป็นข่าวแห้งไม่ได้เป็นข่าวสดแบบวันต่อวัน  แต่การที่จะเขียนบทความโดยไม่สนใจประเด็นข่าวที่กำลังเกิดหรือกำลังอุบัติขึ้น ก็ดูจะเกินไป ทำใจลำบากมาก  มีข่าวสารน่าสนใจในประเทศจีนเกิดขึ้นติดต่อกันเยอะแยะมากมายเป็นพิเศษ ผมต้องตัดใจเปลี่ยนบทความที่จะนำเสนอท่านผู้อ่านถึงสามรอบ  แรกสุดเมื่อวันอาทิตย์ตั้งใจจะเขียนเล่าพิธีปิดงานWorld Expo ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งจัดได้ดีและมีข้อมูลสรุปงานที่น่าสนใจมากมายที่ผมคิดว่าเราชาวไทยควรจะได้รู้ไว้  แต่ในขณะที่กำลังเริ่มเขียน ก็ดันพลาดท่าเสียทีไปเปิดทีวีดาวเทียมช่อง4ของจีนดู เขากำลังแถลงข่าวงานประชุมอาเซียนบวก3 โดยมีจีนเป็นคู่เจรจาเด่น เกิดเปลี่ยนใจอยากจะมาเขียนเรื่องงานประชุมระหว่างอาเซียนกับจีน แต่แล้วอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ก็มีข่าวใหญ่ การพบปะกันระหว่างผู้นำจีนและท่านรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา คุณนาย คลินตัน ประกอบกับข่าวปฏิเสธเรื่องฐานทัพเรือดำน้ำขนาดใหญ่ของจีนที่เกาะไหหลำ ทำเอาผมเสียสมาธิไปหมด
                 กว่าผมจะตั้งตัวตัดสินใจเลือกประเด็นที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ได ก็ล่วงเข้ามาเป็นเช้าวันอังคาร ใกล้เวลาจะถูโรงพิมพ์เช็คบิลเต็มทีแล้ว  ที่ผมเลือกนำเสนอข่าวประเด็นวิกฤตการณ์แร่ธาตุหายากของโลก ก็เพราะไปสะดุดตาเข้ากับรายละเอียดของเนื้อข่าวที่ทางการจีนนำเสนอทางทีวีระหว่างการพบปะกันของผู้นำสองฝ่าย  มีช่วงหนึ่งในรายงานกล่าวกล่าวว่าผู้นำจีนรับปากกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่าจีนจะไม่ตัดหรือสั่งห้ามการส่งออก แร่ธาตุหายากของโลก(Rare Earth Elements) อย่างกะทันหันตามที่ปรากฏเป็นข่าว  ผมเองเป็นคนรู้น้อย พอเห็นคำว่าแร่ธาตุหายากของโลกก็งง ยิ่งฟังเป็นภาษาจีนก็ยิ่งงงใหญ่  ด้วยความสงสัยค้างคาใจ ก็เลยต้องรีบค้นหาความหมายด้วยการปรึกษากับอาจารย์ไป่ตู้ หรืออาจารย์ google ฉบับของจีนนั้นเอง
                 ผลการค้นคว้าเพิ่มเติมเลยทำให้ทราบว่า ประเด็นแร่ธาตุหายากของโลกเป็นเรื่องใหญ่เอามากๆ และเกี่ยวข้องเป็นห่วงเป็นใยกันไปทั้งโลก  โดยเฉพาะบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ผู้นำทางอุตสาหกรรมไฮเท็คทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น  สาเหตุที่เป็นเรื่องใหญ่ในระดับวิกฤตการณ์ของโลก ก็คงด้วยปัจจัยสองประการหลัก  ประการที่หนึ่งแร่ธาตุหายากเหล่านี้ (อย่างที่ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว) มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นหัวใจหรือตัวชี้ขาดการพัฒนาเท็คโนโลยีสารพัดรูปแบบ ทั้งทางการทหาร อวกาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานทั้งหลาย ประการที่สอง นับแต่ปีคศ.1957เป็นต้นมา สัดส่วนการทำเหมือง แปรรูป และส่งออกสินแร่มีค่าหายากเหล่านี้ เทียบระหว่างแหล่งแร่ต่างๆทั่วโลกแล้ว ปรากฏว่าจีนค่อยๆขยับขึ้นมาจนเกือบจะเป็นผู้ผูกขาดการส่งออก เฉพาะอย่างยิ่งกรณีของญี่ปุ่น ที่ต้องพึ่งพาแร่ธาตุหายากเหล่านี้ เกือบทั้งหมดจากประเทศจีน  เรื่องมาเกิดเป็นประเด็นเดือดร้อนกันไปทั่วโลกอุตสาหกรรมไฮเท็ค ก็เมื่อมีกรณีพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้จับเรือของจีนในข้อหาละเมิดน่านน้ำ  ฝ่ายจีนประท้วงกันเกือบทั่วประเทศ  และก็มีข่าวกรองในวงการทูตว่าจีนได้สั่งยุติการส่งออกสินแร่หายากทุกรูปแบบไปยังประเทศญี่ปุ่น  หนักไปกว่านั้น รัฐบาลจีนได้สั่งให้ทุกหน่วยงานทำการศึกษาวิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระยะยาว เพื่อเตรียมการประการยุติการส่งออกสินแร่หายากในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิงในปี2012 อันเป็นที่มาของความห่วงใยตกอกตกใจกันในระดับนานาชาติ  เพราะถ้าจีนทำเช่นนั้นจริง ทั่วโลกจะเกิดการขาดแคลนครั้งใหญ่ และนำไปสู่ความชะงักงันในหลายเรื่อง ที่สหรัฐอเมริกาห่วงใยก็น่าจะเป็นปัญหาการพัฒนาเท็คโนโลยีอวกาศและการทหารชั้นสูง ที่ต้องโดยกระทบแน่ๆ ฝ่ายสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็จะถูกผลกระทบเรื่องเท็คโนโลยีคอมพิวเตอร์ พลังงาน จอภาพไฮเท็ค ที่ใช้กับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหญ่ทั้ง I Phone, I Pad โดนกันไปหมด


                 แร่ธาตุหายากที่ว่านี้ มีด้วยกันทั้งหมดประมาณ17 ตัวสำคัญๆที่ใช้กันในทางอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น
Dysprosium - ใช้ในการผลิตแม่เหล็กไฟฟ้าทางอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักลดลงกว่าร้อยละ90
Terbium – ช่วยเพิ่มความสว่างให้กับหลอดไฟได้ถึงร้อยละ80
Neodymium – ใช้สร้างตัวแม่เหล็กเหนี่ยวนำการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้าสมัยใหม่
Lanthanum - ใช้ควบคุมการเก็บกักก๊าซไฮโดรเจน
Praseodymium – ใช้ในอุตสาหกรรมเลเซอร์ และเซรามกอุตสาหกรรมที่ทนความร้อนสูง
Gadolinium - ใช้ทำหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์
Erbium - ใช้ผสมทำโลหะคุณสมบัติพิเศษรูปแบบต่างๆที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง
Ytterbium – ใช้ในอุปกรณ์สร้างเลเซอร์อินฟาเรดความเข้มสูง


                 แน่นอนว่าประเทศจีนไม่ได้เป็นแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียวในโลก หากดูจากแผนผังที่ผมนำมาให้ดูก็จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเองก็ผลิตได้มากอยู่ แร่ธาตุบางตัวก็มีมากในแหล่งอื่นๆด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาสหรัฐฯไม่ค่อยจะส่งออกแร่ธาตุหายากเหล่านี้ เพราะลำพังใช้เองก็ไม่พอแล้ว ต้องอาศัยนำเข้าจากจีน  ส่วนแหล่งผลิตอื่นๆ ก็ทำได้จำกัด หากจะเพิ่มแหล่งผลิตใหม่นอกประเทศจีน ต้องใช้เงินมหาสารและอย่างน้อยต้องพัฒนาเหมืองอีก5-10ปี กว่าจะสามารถนำสินแร่หายากเหล่านั้นออกมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ ในเวลานี้และวินาทีนี้ จึงดูเหมือนว่าจีนเป็นผู้กำหนดชะตากรรม และเป็นฝ่ายได้เปรียบในกระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ของอุตสาหกรรมไฮเท็คทั้งหลายของโลก

ตลาดนัดสินค้าส่งออกนานาชาติ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                 ช่วงโรงเรียนปิดเทอมเล็กเดือนตุลาคมนี้ พบเจอใครถามไถ่ว่าพาลูกๆไปเที่ยวที่ไหน คำตอบที่ได้รับมากเป็นพิเศษ เห็นจะไม่พ้นงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ่ ซึ่งจัดติดต่อกันมาหลายเดือน  เพื่อนฝูงอีกจำนวนหนึ่งที่ติดพันกิจธุระเร่งด่วนไม่สามารถไปกับครอบครัวได้ ก็ยังอุตสาห์เอาใจลูกเมียซื้อทัวร์ให้ไปกันเอง เป็นที่ถูกอกถูกใจบริษัททัวร์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง  หันไปดูข่าวสังคมบนหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ไม่พ้นต้องมีข่าวนักการเมืองหรือไฮโซท่านนั้นท่านนี้ไปเยี่ยมชมศาลาไทยในงาน ถ่ายรูปส่งมาลงหนังสือพิมพ์กันเป็นระยะๆ  ผมเองโดยส่วนตัวก็ติดตามข่าวมาโดยตลอด และเคยเขียนรายงานท่านผู้อ่านที่รักในคอลัมน์นี้ไปแล้ว  เลยออกอาการเบื่อๆเลี่ยนๆข่าวงานExpo2010เต็มที ที่ตั้งใจจะเขียนเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รักในสัปดาห์นี้ จึงไม่ใช่เรื่องExpo2010ที่เซี่ยงไฮ่  แต่เป็นข่าวมหกรรมงานประชุมและแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ที่เมืองหนานหนิงซึ่งเพิ่งจะปิดฉากไปเมื่อสองสามวันก่อน  น่าเสียดายว่ามหกรรมงานยักษ์เที่ยวนี้ ไม่สู้จะเป็นข่าวแพร่หลายเท่าใดในบ้านเรา เพราะใครๆก็พูดถึงแต่Expoที่เซี่ยงไฮ่ หรือไม่ก็ถูกกระแสข่าวน้ำท่วมกลบเสียจนสิ้น



                 งานประชุมนักธุรกิจและการจัดแสดงสินค้าจีน-อาเซียนที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ นับเป็นการจัดงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่7แล้ว ทางการฝ่ายจีนได้สรุปตัวเลขผลสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ไว้ว่า มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน 10 เวทีย่อยควบคู่ไปกับงานแสดงสินค้า  มีการลงนามในสัญญาการค้าและการลงทุนร่วมระหว่างจีนกับคู่ค้าในอาเซียนรวม58สัญญาการลงทุน  มูลค่าข้อตกลงการลงทุนร่วม 266,000ล้านเหรียญสหรัฐ(อันนี้เป็นตัวเลขเฉพาะกิจกรรมทางการค้าการลงทุนในงาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของจีนในภูมิภาคสามสี่มณฑล ยังไม่นับตัวเลขการลงทุนอื่นๆที่เกิดขึ้นจากบริษัทในหัวเมืองใหญ่สำคัญๆของจีนในภูมิภาคอื่น) การขยายตัวของมูลค้าการค้าการลงทุนอย่างมากมายทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วย ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน  และเป็นที่เชื่อมั่นว่าจะเติบโตมากยิ่งขึ้นในปีหน้า  ผลจากความสำเร็จที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้คณะกรรมการจัดงานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน พิจารณาเห็นพ้องกันกำหนดให้จัดงานประชุมและแสดงสินค้าในรูปแบบนี้ประจำทุกปี โดยกำหนดให้จัดงานในสัปดาห์ที่3ของเดือนตุลาคมทุกปี เสียดายว่าผมยังไม่เห็นตัวเลขโดยละเอียด เลยไม่รู้ว่า 260,000ล้านเหรียญสหรัฐที่ว่านี้ เป็นสัญญาการค้าการลงทุนจากฝ่ายไหนมากน้อยกว่ากัน แม้จะสังหรณ์ใจอยู่ว่างานนี้จีนน่าจะเป็นฝ่ายกินรวบ แต่เพื่อความเป็นธรรม คงต้องรอดูตัวเลขแล้วค่อยมารายงานท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง



                 ไม่เพียงแต่มหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียนที่เมืองหนานหนิงเท่านั้น  ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีงานแสดงสินค้าและงานประชุมนักธุรกิจระดับนานาชาติเกิดขึ้นในประเทศจีนอีกอย่างน้อยสองงานเท่าที่ผมรู้ เริ่มจากงานแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกที่เมืองกวางเจา ซึ่งเปิดงานไปเมื่อวันศุกร์ที่15กลางเดือนตุลาคม และงานแสดงสินค้าและงานประชุมการค้าการลงทุนานาชาติแห่งเมืองมาเก๊า หากจะว่าไปแล้ว งานแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกนานาชาติที่เมืองกวางเจา อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่จัดต่อเนื่องมายาวนานที่สุด และเป็นงานใหญ่ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดของจีน เริ่มต้นจัดงานครั้งแรกตั้งแต่ปี1957 ปีๆหนึ่งมีการจัดงานหลายครั้ง แยกออกเป็นสินค้าเกษตร สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที สินค้าเครื่องจักกล สินค้าสิงทอและเสื้อผ้าฯลฯ นับกันไม่หวาดไม่ไหว งานที่เพิ่งจัดกันไปนี้ก็นับเป็นการจัดงานแสดงสินค้าครั้งที่108ของเมืองกวางเจา ในปีนี้ตอนที่เริ่มต้นงานใหม่ๆ ผู้คนหลายฝ่ายทั้งชาวจีนและต่างชาติ ต่างก็ยังไม่แน่ใจว่ามูลค้าการเจรจาตกลงค้าขายของบรรดานักธุรกิจนานาชาติจะมีมากน้อยเพียงใด  เพราะต่างก็ยังหวั่นใจว่าจัดงานในเดือนตุลาคม หลังค่าเงินหยวนปรับค่าขึ้นเพียงไม่กี่วัน อาจส่งผลให้สินค้าจีนมีราคาแพงขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาค้าขายในงาน แต่พอจัดงานเสร็จสรุปตัวเลขออกมา กลับกลายเป็นว่างานในปีนี้ได้มูลค้าการเจรจาซื้อขายมากกว่าที่คาด  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการระดับกลางและเล็กของจีน ปีนี้รับไปเต็มๆแบบเนื้อๆ กว่าร้อยละ70 ของผู้ประกอบการชาวจีนที่มาร่วมงานออกร้านแสดงสินค้า(23,599บูท) ต่างได้ตัวเลขสั่งสินค้าเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ2-5 แม้ไม่ถือว่ามากเมื่อเทียบกับสมัยที่ค่าเงินหยวนยังอ่อนอยู่ แต่ก็ถือว่ายังมีความเติบโตขยายตัว


                 สำหรับงานแสดงสินค้าและการค้าการลงทุนนานาชาติที่เมืองมาเก๊า ปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่15 และถือว่าเป็นงานแสดงสินค้าและประชุมนักธุรกิจนักลงทุนครั้งที่ใหญ่ที่สุดของมาเก๊า แม้จะจัดงานเพียงสี่วัน แต่จำนวนผู้เข้าร่วมงานและพื้นที่จัดแสดงสินค้าก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ18 มีผู้แทนการค้าและนักธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า318กลุ่ม จากกว่า60ประเทศ มีบูทจัดแสดงสินค้า1,400บูท แยกเป็น30กลุ่มสินค้าและประเภทธุรกิจ งานประชุมเจรจาทางการค้าการลงทุนอีกกว่า38เวที มีนักธุรกิจชาวจีนและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า60,000คน แม้จะไม่อลังการเท่าWorld Expo2010ที่เซี่ยงไฮ่ หรือได้เงินได้ทองเท่างานแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกของกวางเจา แต่ก็จัดว่าเป็นงานใหญ่ระดับชาติของจีน  นอกจากสามงานแสดงสินค้าที่ผมเล่ามาแล้ว ไวๆนี้ก็จะมีมหกรรมสินค้าและการค้าการลงทุนภาคตะวันวันตก จัดขึ้นที่เมืองฉงชิ่ง เพื่อระดมนักธุรกิจนักลงทุนชาวต่างชาติและชาวจีนเอง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลทางตะวันตกให้มากขึ้น แน่นอนว่าในงานจะมีข้อเสนอและเงื่อนไขพิเศษเพื่อจูงใจการลงทุนให้เต็มเพียบ


                 ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็นว่านโยบายที่จีนส่งเสริมให้รัฐบาลแต่ละมณฑลและเขตเศรษฐกิจพิเศษแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ ดูเหมือนจะกระตุ้นให้กิจกรรมงานแสดงสินค้าและเวทีประชุมนักธุรกิจนักลงทุน มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นและขยายไปเกือบในทุกเมืองใหญ่ เรียกว่าเปิดปฏิทินขึ้นมาดู เป็นต้องเจองานแสดงสินค้างานประชุมนักธุรกิจ ไม่เมืองใดก็เมืองหนึ่งแทบทุกสัปดาห์  ผมก็ได้แต่ตั้งความหวังว่า เมืองไทยเราควรต้องมีหน่วยงานของรัฐ หรือของเอกชนในแบบ สสปน. ให้มากยิ่งขึ้น มาช่วยกันทำให้การค้าการขายสินค้าของเราเป็นนานาชาติมากกว่าที่จะเป็น มหกรรมสินค้าไทยช่วยไทย กินกันเอง ซื้อกันเองแบบที่เห็นๆกันอยู่

อุตสาหกรรมรถยนต์จีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                

                      ตั้งแต่เริ่มมีข่าวรถเมล์NGVว่าจะนำเข้ามาวิ่งเมืองไทยเรา (ได้ข่าวว่าเข้ามาเปิดโรงงานประกอบตัวรถแถวสระบุรีตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อนแล้ว)ผมก็ติดตามให้ความสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนมาโดยตลอด เสียดายว่ายังไม่เคยมีโอกาสจังหวะเหมาะๆที่จะนำเสนอสู่ท่านผู้อ่านที่รัก มาเมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสเห็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับหนึ่งของจีน ก็เลยติดตามอ่านดู พบว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศจีนประเภทที่รียกกันว่ารถสัญชาติจีน ตอนนี้ได้พัฒนาไปเยอะมาก สัปดาห์นี้ก็เลยจะขออนุญาตนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รักให้หายค้างคาที่ได้เคยตั้งใจไว้

                 อันที่จริงนับแต่จีนเริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในต้นทศวรรษที่1980 เป็นที่รับรู้รับทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งที่ฝรั่งพากันสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คืออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ เวลาล่วงเลยมากว่าสามสิบปี คงไม่ต้องอธิบายกันว่าก้าวหน้าเติบโตไปถึงไหนแล้ว  ลำพังด้วยตลาดและความต้องการมีรถยนต์ของชาวจีนเพียงแค่ปัจจัยเดียว ทุกบริษัทต่างชาติทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่นต่างก็ฟันกำไรกันมากมายมหาศาล ขยายโรงงานและปริมาณการผลิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ของทุกประเทศ  มาเมื่อปีที่แล้ว ยอดรวมจำนวนรถยนต์ที่ขายในประเทศจีนก็เพิ่มขึ้นถึง 13.6 ล้านคัน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ขายรถยนต์ได้มากที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย แต่ข้อมูลที่โลกภายนอกยังไม่ค่อยจะได้รับรู้เท่าไรนัก ก็คือสถานภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์ในส่วนที่เป็นยี่ห้อจีนแท้ๆ  ว่าได้พัฒนาไปอย่างไร                


                  ก่อนหน้าการปฏิรูปเปิดกว้าง สังคมภายนอกประเทศจีนรับรู้กันว่าจีนมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์อยู่สองสามยี่ห้อ ในแถบมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ก็ผลิตรถบรรทุก รถสาธารณะ และรถยนต์นั่งที่ใช้ในราชการจำนวนไม่มากนัก ที่โด่งดังขึ้นชื่อเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นลีมูซีนยี่ห้อ หงฉี อันเป็นสัญลักษณ์รถหรูประจำตำแหน่งของบรรดาชนชั้นนำในพรรคฯและผู้บริหารประเทศ  หลังปฏิรูปเปิดก้าว ประมาณช่วงกลางทศวรรษที่1980 จีนเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมในส่วนนี้ไปพร้อมๆกับการที่มีบริษัทต่างชาติค่ายเยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แต่จนแล้วจนรอด ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจ รถยนต์สัญชาติจีนแท้เหล่านี้ ก็ไม่อาจแข่งขันในตลาดได้  จนในช่วงปี1995 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมรถยนต์สัญชาติจีนแท้ถึงได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  การยกเลิกนโยบายคุ้มครองรัฐวิสาหกิจทำให้โรงงานรถยนต์จีนเดิมจำต้องปรับปรุงพัฒนาเพื่อความอยู่รอด โดยหันไปหาส่วนแบ่งในตลาดรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดส่วนที่บริษัทต่างชาติยังไม่ได้เข้ามายึดครองมากเท่าใดนัก  ในเวลาเดียวกันก็เกิดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กราคาประหยัดและไม่สิ้นเปลืองน้ำมัน ประเภทอีโคคาร์ของนักลงทุนจีนเองเกิดขึ้นอีกนับสิบบริษัท  ในทั้งสองตลาดนี้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการชาวจีนทำได้ดีทีเดียว จนดันให้ส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเริ่มขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ



                 มาในช่วงสี่ห้าปีหลัง ไม่เพียงแต่รถยนต์สัญชาติจีนจะขายได้ดีในประเทศ เรายังเริ่มเห็นแนวโน้มใหม่ๆ ที่มีการส่งออกรถยนต์จากจีนไปยังตลาดต่างประเทศ แม้จะเริ่มต้นที่ตลาดเล็กๆอย่างในเวียดนาม ลาว และหลายประเทศในแอฟริกา แต่ก็จัดว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อการส่งออกของรถยนต์สัญชาติจีนยี่ห้อจีน  อนาคตของรถบรรทุก เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กขนาดกลาง และรถโดยสารสาธารณะ ดูเหมือนจะไปได้ดีและไปได้ไกลในตลาดส่งออก
                 อย่างไรก็ดี จีนไม่ได้พอใจเพียงสถานการณ์แข่งขันในตลาดที่จำกัดของประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น  ในกลุ่มตลาดรถยนต์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว และในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หลายปีมานี้ก็มีสัญญาณการพัฒนาที่น่าติดตาม บริษัทเปิดใหม่ที่มีประวัติก่อตั้งเพียงสิบกว่าปี เวลานี้ต่างก็กำลังเร่งพัฒนาคุณภาพรถยนต์ของตนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้นว่ามีข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์จีน ก็เช่นตัวอย่างของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนยี่ห้อ Chery (ชื่ออาจคุ้นหู เพราะมีผู้นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราแล้ว) ซึ่งจัดเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนแท้รายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนปัจจุบัน  ในเดือนที่ผ่านมา ได้เปิดตัวศูนย์ทดสอบสมรรถนะรถยนต์ ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในเอเชียไปเรียบร้อยแล้ว แซงหน้าทั้งประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้มาก่อน แม้จะเพิ่งก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เมื่อปี 1997 แต่รถยนต์ยี่ห้อ Chery ก็ได้รับความสำเร็จอย่างรวดเร็วในฐานะที่เป็นรถยนต์จีนแท้ที่มุ่งความโดดเด่นทางเทคโนโลยีเครื่องยนต์และรูปลักษณ์การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะในปี2009ที่ผ่านมา Chery มียอดขายอยู่ที่409,300คัน เป็นอันดับที่เจ็ดของผู้ผลิตรถยนต์ในจีน (Volkswagen Automotiveในจีนเป็นอันดับที่หนึ่ง มียอดขาย 708,100คัน) แต่เป็นอันดับหนึ่งในบรรดารถยี่ห้อจีนแท้จีน เรียกว่าขายความเป็นชาตินิยมไปพร้อมๆกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของจีน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์จีนไม่กี่รายที่พัฒนาทั้งตัวรถและเครื่องยนต์ของตนเอง จากศูนย์วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนและตัวเครื่องยนต์ของตนในมณฑลอานฮุย โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบจากต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีสัดส่วนของวิศวกรสูงมากในจำนวนคนงานทั้งหมด(หกพันจากสองหมื่นกว่าคน)
                 หากดูจากพัฒนาการและแนวโน้มที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน  ผมเข้าใจว่าในอนาคตอันใกล้ อีกไม่กี่ปีนี้ เราคงจะได้เห็นไม่เพียงแต่รถเมล์โดยสารขนาดใหญ่ยี่ห้อจีนตามท้องถนนในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่จำนวนรถเก๋งสัญชาติจีนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย  คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเรา จะเดินไปในทิศทางใดนับแต่นี้ ผมว่าน่าห่วง