ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อิทธิพลจีนในเกาหลีเหนือ

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         ผมเองเคยเรียนท่านผู้อ่านมาหลายครั้งในคอลัมน์นี้ ว่าหากไม่จำเป็นก็จะไม่นำข่าวสดๆ มาเสนอในคลื่นบูรพาแข่งกับหน้าข่าวต่างประเทศทั้งหลาย โดยส่วนตัว ผมเองเชื่อว่าบางทีข่าวสดใหม่เกินไปก็ไม่ใช่ว่าจะเขียนได้ง่าย เพราะข่าวสดๆ ดิบๆ ส่วนใหญ่ยังไม่นิ่ง ยังไม่มีข้อยุติให้แสดงความคิดความเห็นเพิ่มเติมอย่างที่ควรจะเป็น เอามาเป็นประเด็นในคอลัมน์ขนาดยาว อาจหน้าแตกได้ในภายหลัง เมื่อปรากฏว่าทิศทางหรือพัฒนาการของข่าวสารชิ้นนั้นเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี สัปดาห์นี้ผมมีความจำเป็นต้องขอละเมิดแนวปฏิบัติที่ตัวเองตั้งไว้ จะขอนำเสนอข่าวอสัญกรรมของท่านอดีตผู้นำเกาหลีเหนือ นายคิม จองอิล สักหน่อย ส่วนหนึ่งเพราะอดใจไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง อีกส่วนหนึ่งเพราะยังไม่ค่อยเห็นใครจะได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือที่อาจพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป
            ข่าวอสัญกรรมของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือ เพิ่งจะเผยแพร่ออกสู่สังคมโลก (คงรวมทั้งชาวเกาหลีเหนือทั่วไปด้วย) เมื่อสายวันจันทร์ที่ผ่านมา แม้ว่าท่านอดีตผู้นำจะถึงแก่อสัญกรรมไปตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ด้วยโรคหัวใจวายบนขบวนรถไฟส่วนตัวระหว่างการเดินทาง ช่วงระยะทิ้งห่างที่ผู้เกี่ยวข้องระดับสูงพากันปิดข่าวเงียบ ก็ไม่ใช่สิ่งเหนือความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ทางการเกาหลีเหนือเองคงต้องจัดการเรื่องต่างๆ มากมายเพื่อกุมสภาพสถานการณ์จนมีความมั่นใจ จึงได้เปิดเผยข่าวออกมา สื่อมวลชนตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อกันว่า หนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะต้อง “เคลียร์” กันให้จบก่อนเปิดเผยข่าวอสัญกรรม คือตัวทายาทผู้ที่จะมาสืบทอดอำนาจต่อ ตอนนี้เห็นว่าชัดเจนขึ้นเป็นลำดับว่าคงไม่หนีไปจากชื่อนายคิม จองอุน (บางสำนักข่าวเรียก คิม จอง อึน) บุตรชายคนเล็กอายุ 27 ย่าง 28 เพราะโฆษกรัฐบาลจีนก็ออกมารับรองเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าในแวดวงการทูตที่เปียงยาง จะมีเสียงซุบซิบกันว่าอำนาจแท้จริงทั้งหมดในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อยู่ในกำมือของนาย จาง ซอง แต๊ก รองประธานกรรมาธิการกลาโหมแห่งชาติเกาหลีเหนือ น้องเขยวัย 65 ปีของคิม จอง อิล นอกเหนือไปจากการคาดเดาเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาคมนานาชาติยังติดตามให้ความสนใจ และห่วงใยเป็นพิเศษในเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ตลอดจนปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ที่ยังเจรจาค้างคากันอยู่ เลยพอจะสรุปได้ว่าปฏิกิริยาที่มีต่อข่าวอสัญกรรมของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือในตอนนี้ ส่วนใหญ่ดูจะเป็นเรื่องเฉพาะหน้า
                     อย่างไรก็ดี คำถามที่ผมเชื่อว่าจะตามมาในอีกวันสองวัน หรือในปลายสัปดาห์นี้ น่าจะเป็นประเด็นคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเกาหลีเหนือภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่ ประเทศเกาหลีเหนือจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร และเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีต่อแต่นี้จะเป็นเช่นไรฯลฯ  ผมเองสาเหตุที่ติดใจตามข่าวนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าต่อแต่นี้ไป จีนจะยิ่งมีบทบาทและอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมา หลายฝ่ายที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออก อาจจะบอกว่าจีนก็มีบทบาทมากอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อของผมเองว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในเกาหลีเหนือจะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ และส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากอิทธิพลหรือบทบาทที่มากขึ้นของประเทศจีน
             เฉพาะในปัจจุบัน เกาหลีเหนือต้องอาศัยพึ่งพาจีนเป็นอย่างมากอยู่แล้วทางเศรษฐกิจ  ในช่วงระยะปีครึ่งที่ผ่านมา เกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิม จองอิล ได้ทำการทดลองเพื่อพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธนำส่ง ท้าทายมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เกาหลีเหนือมีเพียงจีนประเทศเดียวที่ยังคงให้ความช่วยเหลือ  จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการจีนและสถาบันยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของจีน ที่เผยแพร่ผ่านสื่อจีนในวันสองวันนี้ระบุว่า นอกจากภาระทางเศรษฐกิจแล้ว แนวโน้มที่เกาหลีเหนือภายใต้ผู้นำใหม่ จะถูกทดสอบโดยเกาหลีใต้และชาติตะวันออกจะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จีนก็อาจต้องเข้าไปพัวพันช่วยเหลือจนเป็นภาระหรือขัดแย้งกับตะวันตกเพิ่มมากขึ้น มองกันว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการผลัดเปลี่ยนอำนาจ ผู้นำใหม่ค่ายคอมมิวนิสต์เช่นเกาหลีเหนือ ย่อมต้องออกมาแสดงอำนาจโชว์กันหน่อย ยิ่งได้ผู้นำอายุน้อย ก็อาจต้องยิ่งแสดงอะไรต่อมิอะไรให้ฝ่ายเกาหลีใต้และตะวันตกได้เกรงไว้ นักวิชาการจีนบางท่านมองว่า ช่วงต้นสองสามปีนี้ คิม จอง อุน อาจจะแสดงออกดุดันกว่าผู้พ่อเสียด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ว่าจะมีอะไรเคืองเกาหลีใต้เป็นพิเศษ แต่เพื่อให้บรรดาผู้นำทางทหารของเกาหลีเหนือเองยอมรับในภาวการณ์นำของตน และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนเกาหลีเหนือว่าเขาคือ “ตัวจริง” ไม่ใช่หุ่นเชิด และหากเป็นไปจริงในทิศทางนี้ จีนคงต้องเข้ารับหน้าแทนจนเหนื่อยแน่ นักยุทธศาสตร์จีนอีกกลุ่มหนึ่ง มองว่ายุคสมัยของคิม จองอุน อาจเป็นโอกาสดีที่เกาหลีเหนือจะปรับเปลี่ยนและเปิดกว้างยิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยก็บริหารปกครองโดยคนหนุ่มสมัยใหม่ ที่เคยศึกษาต่างประเทศมาแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์จะออกมาแนวไหน เพื่อประโยชน์ในระยะยาวและดำรงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคไว้ จีนอาจจำเป็นต้องเป็นฝ่ายริเริ่มผลักดันให้เกาหลีเหนือปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดให้ได้ในระยะยาว
                         แนววิเคราะห์หรือท่าทีที่สื่อจีนแสดงออกข้างต้น หากให้ผมแปลความเป็นภาษาไทย ก็คงแปลได้ว่า จีนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวและขยายอิทธิในเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาในสมัยของคิม จอง อิล เชื่อไม่เชื่อก็ต้องรอดูกันไปตอนที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ และทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ช่องว่างทางเศรษฐกิจ

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คอลัมน์คลื่นบูรพาหายหน้าไปนับเดือน ไม่ต้องอธิบายความมาก เพราะเป็นเหตุที่รับทราบกันโดยทั่วไปแล้ว ผมไม่ได้หนีไปเที่ยวที่ไหนเลย ทั้งต้องทำหน้าที่สู้กับน้ำไม่ให้เข้าท่วมที่ทำงาน พร้อมๆกับเตรียมการตั้งรับที่บ้าน หาทางหนีน้ำเช่นเดียวกับท่านผู้อ่านอีกเป็นจำนวนมาก ที่คงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเที่ยวนี้มากน้อยไปตามแต่ทำเลที่ตั้งของบ้านเรือน มาบัดนี้สถานการณ์เข้าที่เข้าทางแล้ว แม้หลายพื้นที่น้องน้ำจะยังอาลัยอาวรอ้อยอิ่งอยู่ แต่ก็ได้เวลากลับมาทำหน้าที่รับใช้ท่านผู้อ่านแล้ว คิดเสียว่าได้ปรับเปลี่ยนกิจวัตรหยุดงานหยุดการไปพักผ่อนพอแล้ว ขอกลับมาทำหน้าที่ให้เต็มกำลังครับ  ว่าไปแล้ว ในช่วงที่ไม่ได้เขียนบทความส่งการบ้านในคอลัมน์นี้ ทางประเทศจีนก็มีเหตุการณ์ข่าวสารตื่นเต้นน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย  ผมเองเมื่อกลับมานั่งเตรียมต้นฉบับอยู่นี้ ยังอดเสียดายที่ไม่ได้นำเสนอข่าวผ่านคอลัมน์คลื่นบูรพาไปนับเป็นสิบๆ รายการ แต่ก็จะไม่ขอนำกลับมาเสนอให้ล้าสมัยตกข่าวกัน เอาเป็นว่าแล้วกันไป ขออนุญาตเดินหน้าจากประเด็นข่าวล่าสุดเลย
เมื่อสองวันที่ผ่านมานี้เอง กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมของจีน ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของอุตสาหกรรมในจีนต่อสาธารณชน  ผมเห็นว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะหากจะใช้ศึกษาเปรียบเทียบเพื่อกำหนดมาตรการค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยเรา ก็เลยจะขอนำมาขยายเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้  ตามรายงานระบุไว้ว่า ค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมและพานิชยกรรมภาคต่างๆ ของจีน มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างมาก ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของแรงงานในเขตเมืองเมื่อปี 2010 อยู่ที่ 20,759 หยวนต่อปี ในภาคธุรกิจส่วนตัว 36,539หยวนต่อปี และในภาคบริการสาธารณะ 70,146 หยวนต่อปี (กลุ่มธุรกิจการเงิน)  ในขณะที่แรงงานชนบทในภาคเกษตร มีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 16,717หยวน จะเห็นได้ว่าค่าจ้างแรงงานของกลุ่มบนสุดเปรียบเทียบกับกลุ่มล่างสุด แตกต่างกันเกือบ 4 เท่าตัว
ในอีกด้านหนึ่งหากเปรียบเทียบระหว่างเมืองกับชนบท เราก็จะพบช่องว่างค่าจ้างแรงงานที่ขยายห่างเพิ่มมากขึ้น  จากข้อมูลของปี 2010 รายได้สุทธิ(หลังหักภาษีอันหมายถึงกำลังซื้อและความสามารถในการออม disposable income ) เฉลี่ยต่อครัวเรือน ในเมืองเท่ากับ 19,109หยวน ในเขตชนบทเท่ากับ 5,919หยวน  แตกต่างกันกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ต่างกันไม่ถึงเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างระหว่างพื้นที่หรือเขตเศรษฐกิจก็ยังคงสูง ในเขตมหานครขนาดใหญ่ เช่น เซี้ยงไฮ้ ค่าเฉลี่ยค่าจ้างแรงงานสูงสุดในประเทศ คือ ประมาณ 66,115 หยวนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่27,735 หยวนต่อปี ในมณฑลเฮยหลงเจียง ในอีกมิติหนึ่ง ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยในกลุ่มพนักงานระดับบริหารเทียบกับพนักงานแรกเข้าทำงานก็ต่างกันมาก  ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 668,000 หยวนต่อปี สูงเป็น18 เท่าตัวของค่าจ้างเฉลี่ยทั่วประเทศ
ตัวเลขทั้งหมดที่นำเสนอไปข้างต้น เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง ความแตกต่างและช่องว่างทางเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดอยู่พียงเรื่องของรายได้หรือค่าจ้างแรงงานเท่านั้น แต่ยังมีผลโดยตรงต่อความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมรูปแบบต่างๆ ที่ตามมาอีกด้วย สำหรับสังคมจีนที่อ้างมาโดยตลอดว่าเป็นสังคมที่ปราศจากชนชั้น เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ผมเองไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับตัวเลขของปี 2010 ชุดนี้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็ได้เห็นแนวโน้มการพัฒนาของเศรษฐกิจจีนที่กระจุกตัว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ การขยายตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็วปีแล้วปีเล่า เร็วเกินกว่าที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจีนจะวิ่งตามทัน ในขณะที่นักบริหารและช่างฝีมือชั้นสูงมีจำนวนจำกัด แรงงานส่วนใหญ่ที่เหลือของจีน ยังคงขาดการพัฒนาและยกระดับความสามารถ  ตลาดแรงงานของจีนยังต้องใช้เวลาอีกมากในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการแข่งขันและกำหนดค่าจ้างแรงงานตามกลไกที่ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง
ภาระหนักดูเหมือนตกอยู่กับรัฐบาลจีน  เพราะใครๆ ไม่ว่าภาคเอกชน ลูกจ้างแรงงาน หรือนักวิชาการทั้งหลาย ต่างก็ออกมาประสานเสียงกันว่ารัฐบาลจีนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่องว่างนี้  แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการออกมาตรการยกระดับและกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในเขตเมืองและชนบทของมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในเบื้องต้นสัญญากับผู้ใช้แรงงานในเขตเมืองว่าจะพยายามเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้นอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 13 ในแต่ละปีต่อเนื่องกัน 5 ปี โดยหวังว่าภายในปี 2015 ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะสามารถไล่ตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีได้ทัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกมองว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานได้  ทำได้อย่างมากก็เพียงวิ่งแข่งกับเงินเฟ้อและค่าครองชีพเท่านั้น ที่พอจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้บ้าง ก็อาจจะได้แก่บรรดาแรงงานในเขตชนบท ที่ค่าครองชีพยังไม่ได้เพิ่มสูงรวดเร็วนัก แต่ปัญหาของแรงงานในชนบทก็ยังคงมีมากและอาจลำบากกว่า ตราบเท่าที่นโยบายการขยายงานและส่งเสริมการพัฒนาสู่ชนบทยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แรงงานจำนวนมากที่หางานไม่ได้ก็ยังคงต้องเสี่ยงเข้ามารับจ้างในเขตเมือง แม้รู้อยู่แก่ใจ ว่าท้ายที่สุดแล้วค่าจ้างที่ได้จะถูกท่วมทับด้วยค่าครองชีพที่สูงกว่า
                   ทั้งหมดนี้ผมไม่มีข้อสรุป อาจฟังดูเป็นปัญหาวัวพันหลักที่แก้ไปไม่รู้จบ และแน่นอน เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศจีนที่เดียวครับ

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สุขภาวะทางจิตในสังคมจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
               ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ต้องขอเรียนท่านผู้อ่านด้วยความสัตย์จริงว่า ใจคอไม่ค่อยจะดี ไม่มีสมาธิเท่าไร สายตาต้องคอยเหลือบดูทีวีซึ่งรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ใจก็คิดถึงแต่ระดับน้ำในคลองหลังบ้าน ลุ้นระทึกว่ามวลน้ำมหาศาลตามข่าว ที่กำลังไหลเคลื่อนลงมาภาคกลาง จะเข้าบุกกรุงเทพฯเอาตอนไหน? เราจะสามารถรับมือได้หรือไม่? นับเป็นบรรยากาศที่น่าวิตกกังวลมาก พอเริ่มลงมือสำรวจทบทวนเนื้อข่าวจากประเทศจีนเพื่อมานำเสนอท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ ก็พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมในเมืองจีนก็น่าห่วงและอาการหนักหนาสาหัสกว่าของเราเสียอีก เช่น ที่เกาะไหหลำ ดูเหมือนปีนี้จะโดนเต็มๆ หนักกว่าแห่งอื่น เรื่องน้ำท่วมก็เป็นความเครียดอย่างหนึ่ง ผลเสียหายจากน้ำท่วมก็เป็นอีกหนึ่งความเครียด พอน้ำลดก็ต้องมาปวดหัวกับการซ่อมแซมบ้านเรือน กู้ข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงไม่แปลกใจเลยที่กระทรวงสาธารณสุขทั้งของไทยของเทศ ต้องส่งทีมนักจิตวิทยาออกไปช่วยดูแลอีกหนึ่งทีม นอกเหนือไปจากการดูแลความเดือดร้อนเจ็บป่วยทางกายแล้ว
                      สัปดาห์นี้ ผมก็เลยจะขออนุญาตเล่าเรื่องปัญหาความเครียด และสุขภาวะทางจิตในสังคมจีนมาเสนอ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ถูกนำขึ้นหน้าปกนิตยสาร Beijing Reviews สัปดาห์นี้ สืบเนื่องมาจากข่าวการพิจารณาร่างกฎหมายป้องกันและฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตของประเทศจีน โดยคณะรัฐมนตรีของจีนก่อนหน้านี้ เรื่องสุขภาวะทางจิตอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของจีนในอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อประเทศจีนเริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้นในแนวทางเศรษฐกิจที่แข่งขันกันตามกลไกตลาด ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปัญหาสุขภาพจิตก็เริ่มกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ จากข้อมูลตัวและของกรมป้องกันโรคของจีน อย่างน้อยที่สุดในเวลานี้ มีผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาทางจิตประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่มากถึงหนึ่งร้อยล้านคน เรียกว่ามีปัญหาทางจิตมากกว่าประชากรในบ้านเราอีก เดินไปไหนมาไหนในทุก 13 คน จะมีคนจีน 1 คนที่มีปัญหาทางจิต ไม่ใช่ว่าแค่เครียดเพราะเรื่องเล็กเรื่องน้อย แต่หมายถึงมีปัญหาในระดับที่ต้องอาศัยพึ่งพาจิตแพทย์กันทีเดียว ในทางด้านเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทางจิตของจีน ในเวลานี้ขยับไปอยู่ที่1ใน5 ของค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมด สูงกว่าค่าใช้จ่ายโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็งด้วยซ้ำ แนวโน้มในอนาคตเชื่อกันว่าค่าใช้จ่ายด้านนี้อาจขยับสูงถึง 1ใน 4 หากยังไม่มีการแก้ไขจัดการป้องกันอย่างเป็นระบบ
                     ที่ผ่านมา ความพร้อมของจีนในด้านบุคลากรทางจิตเวชและจิตวิทยา ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมจีน ทั่วทั้งประเทศจีน มีจิตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตขึ้นทะเบียนอยู่เพียง 19,000 คน  สถาบันจิตเวชหลักๆ ก็ยังมีไม่กี่แห่งและกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ในเขตชนบทและหัวเมืองห่างไกล ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลกลับไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษา เพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่จะสามารถระบุได้ว่าป่วยทางจิตหรือไม่อย่างไร  ก็เลยทำให้ดูเหมือนว่ามีปัญหาสุขภาวะทางจิตเพียงเล็กน้อยในชนบทจีน ทั้งที่แท้จริงแล้วชนบทจีนขาดแคลนแพทย์ที่รู้เรื่อง ปล่อยเลยตามเลยไม่ต้องรักษาดูแล ตัวเลขผู้ป่วยก็เลยน้อย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเสมอๆ กับโรคที่มีความซับซ้อนอื่นๆ นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะไม่เพียงพอแล้ว ปัญหาเรื่องกฎหมายก็ยังจำเป็นต้องได้รับการยกเครื่อง เฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ป่วยทางจิตประสาท ในปัจจุบันทั่วทั้งประเทศ มีเพียง 4มหานครหลัก ที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ที่มีข้อกำหนดทางกฎหมายให้ความคุ้มครองและดูแลสิทธิ์ของผู้ป่วย ในทางกลับกัน กฎหมายป้องกันคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยอย่างผิดๆถูกๆ ว่าไร้ความสามารถหรือดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จำเป็นจะต้องมีการยกเครื่องใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวินิจฉัยผิดพลาดโดยเจตนากลั่นแกล้งทางการเมืองเอาคนที่ไม่ได้ป่วยเข้าไปอยู่ในสถานบำบัดอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
                    ในกรณีสุขภาวะทางจิตที่ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องบำบัดรักษาโดยเร่งด่วน เช่นความเครียด ปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอดในเศรษฐกิจสมัยใหม่ และปัญหาของครอบครัวจากนโยบายลูกคนเดียว  ปัญหาวัยรุ่นกับความกดดันฯลฯ ก็จัดเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการดูแลและพัฒนาระบบเวชศาสตร์เชิงป้องกันขึ้นมารับมือเช่นกัน ผมได้เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้ เกี่ยวกับปัญหาความเครียดและแรงกดดันของวัยรุ่นจีน แต่ปัญหาความเครียดในที่ทำงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เริ่มทวีความรุ่นแรงเพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน ยาช่วยให้นอนหลับและยาแก้เครียดที่แพทย์สั่งจ่ายให้คนไข้เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อาจใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ขนาดของปัญหาได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกที่มีจำนวนผู้ผิดปรกติทางจิตในวัยทำงานที่ต้องการการดูแลจากแพทย์ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ10 จีนอาจดูยังมีปัญหาไม่มากนัก ทว่าในกลุ่มเยาวชน ปัญหาสุขภาวะทางจิตของจีนดูเหมือนจะอยู่ในระดับที่เลวร้ายกว่าสังคมตะวันตกด้วยซ้ำไป สาเหตุสำคัญที่นักวิชาการเพ่งเล็งเป็นพิเศษ น่าจะเป็นผลเนื่องมากจากนโยบายลูกคนเดียว ที่ทำให้ความคาดหวังของพ่อแม่กลายมาเป็นแรงกดดันที่เด็กจะต้องแบกรับ เด็กเหล่านี้จำนวนมาก กำลังเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับบุคลิกก้าวร้าว มีปัญหาในการเข้าสังคม และไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาชีวิต
                    ก็อย่างที่ผมเคยเรียนเสนอท่านผู้อ่านมาเสมอๆ ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรีๆ จีนทุ่มเทให้กับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศและการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปมาก ได้ผลจนเป็นที่พิศวงและแอบอิจฉาจากผู้คนทั่วโลก แต่วิธีการที่จีนเลือกใช้ในการพัฒนาบ้านเมือง ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมาก ปัญหาสุขภาวะทางจิตที่เล่ามานี้ ก็เป็นอีกหนึ่งในต้นทุนที่จีนต้องจ่าย แก้ได้หรือแก้ไม่ได้ ก็ต้องว่ากันไป

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปฏิวัติสายพันธุ์ข้าวจีน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เปิดดูข่าวทีวีครั้งไร ก็เห็นมีแต่ข่าวน้ำท่วม ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่าน คงรู้สึกเช่นเดียวกับผม ปีนี้น้ำมากจริงๆ ฝนมาเร็วและยาวเป็นพิเศษ ที่เคยเชื่อกันว่าวันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง อย่างในเพลงลอยกระทงที่คุ้นหู ดูจะไม่ใช่เสียแล้ว เพียงแค่เดือนสิบไทย ก็ปรากฏว่าท่วมไปแล้วกว่า 37จังหวัด ถึงเดือนสิบสองจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่กล้าคิด ที่เป็นประเด็นข่าวดังติดตามมาจากเรื่องน้ำท่วม ก็คือข่าวความขัดแย้งกันของชุมชนเมืองกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข่าวการบุกทะลายเขื่อนกันน้ำ ข่าวชาวนาต้องถือเคียวดำน้ำลงไปเกี่ยวข้าว ทั้งที่ข้าวยังโตไม่เต็มรวง และหนักสุด เห็นจะเป็นข่าวเถียงกันไปมาระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านว่าจำนำกับประกันรายได้ อันไหนดีกว่ากันในสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ ผมก็ไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับการปลูกข้าวหรือค้าข้าว  แต่ที่รู้แน่ๆ เหมือนทุกท่าน ก็คือ ดูเหมือนปีนี้ข้าวบ้านเราจะเสียหายหนักเป็นพิเศษ
ในขณะที่กำลังเหนื่อยใจกับปัญหาน้ำท่วมและความเสียหายของไร่นาในบ้านเรา ก็ไปเจอเอากับข่าวที่ทำให้ขัดแย้งในอารมณ์เพิ่มเติมยิ่งขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง อันเป็นที่มาของประเด็นนำเสนอชวนท่านผู้อ่านคุยในสัปดาห์นี้ ข่าวที่ว่านี้ ผมอ่านพบในเซ็กชั่นข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์    ูงแม้เป็นเรื่องดีและคงเหรินหมิงของจีนฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมา เนื้อข่าวบอกว่า บัดนี้จีนได้ดำเนินการเตรียมขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์พิเศษที่พัฒนาขึ้นใหม่ ให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของประเทศภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ข่าวนี้เป็นผลสืบเนื่องต่อยอดจากรายงานข่าวก่อนหน้า เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่มีการแถลงความสำเร็จโดยบริษัท Yuan Long Ping High-Tech Agriculture Co., Ltd. ว่าสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพิเศษที่ให้ผลผลิตจากแปลงทดลองจริงที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จเมื่อกลางเดือนนี้ สูงถึง 13,900 กิโลกรัมต่อหนึ่งเฮกเตอร์ หากข่าวนี้เป็นจริงไม่ได้ใส่สี เมื่อเทียบเป็นพื้นที่ต่อไร่ ก็เท่ากับว่า สายพันธุ์ข้าวสุดวิเศษนี้ให้ผลผลิตสูงถึง 2,224 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อไร่ (หนึ่งเฮ็กเตอร์ เท่ากับ 6ไร่ 1 งาน) ผมเองตอนที่อ่านข่าวดูแรกๆ ก็ไม่ได้ตกใจอะไร รู้แต่ว่าถ้าเป็นจริงก็ถือว่าสูงมาก แต่พอตัดสินใจจะนำเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในคอลัมน์คลื่นบูรพา ก็เลยไปทำการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเปรียบเทียบกับไทยเรา ถึงได้รู้ว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ เพราะหากดูจากตารางสรุปผลการเพาะปลูกข้าวของไทยเรา เมื่อฤดูการผลิตที่ผ่านมา ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ทั้งประเทศในฤดูนาปี เท่ากับ 394 กิโลกรัม แยกรายละเอียดเป็น ค่าเฉลี่ยภาคเหนือ 505 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าเฉลี่ยภาคกลาง 535 กิโลกรัมต่อไร  ค่าเฉลี่ยภาคอีสาน 321 กิโลกรัมต่อไร ค่าเฉลี่ยภาคใต้ 356 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย)
เรื่องที่ประเทศจีนทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวกันยกใหญ่นั้น ไม่ใช่ว่าผมจะไม่ทราบ เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของจีนมาตั้งแต่ปี 1994 ทว่าที่ผ่านมาผมเองก็ยังไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นตกใจอะไร เพราะดูเหมือนสายพันธุ์ข้าวพิเศษ ๆ ที่จีนคิดค้นได้นั้น แม้จะได้ผลดีอย่างไร ก็ยังมีปัญหาข้อจำกัดเรื่องช่วงแสง (ผมไม่แน่ใจว่าใช้คำผิดหรือเปล่า ท่านผู้รู้ในวงการข้าวอย่าถือสาผมเลยนะครับ) กล่าวคือ สามารถเพาะปลูกได้เฉพาะในพื้นที่พิเศษแถบมณฑลยูนาน กวางสี กวางตุ้ง อะไรทำนองนี้ ในพื้นที่อื่นๆ ของจีน ที่มีช่วงเวลากลางวันของฤดูนาปีสั้นเพาะปลูกไม่ได้ผล ไม่ใช่ว่าจะปลูกไปได้ทั่วประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมา สายพันธุ์ข้าวพิเศษที่ว่าดีนักดีหนา ก็ยังจำกัดอยู่แค่ในแปลงทดลอง ไม่ใช่ว่าจะออกมาปลูกกันจริงจังเต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด สายพันธุ์ข้าวชั้นดีที่จีนพัฒนาขึ้น จนถึงขั้นที่เอามาแจกให้เกษตรกรทดลองปลูกได้จริงอย่างทั่วถึง จำนวน 61 สายพันธุ์ ตั้งแต่กลางปี 2008 ก็มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 403 กิโลกรัมต่อหนึ่งหมู่ สายพันธุ์ ที่สูงสุดได้ 583.3 กิโลกรัมต่อหมู่ คิดเป็นต่อไร่ของไทยก็ประมาณ 967 กิโลกรัมข้าวเปลือก (หนึ่งหมู่เท่ากับ 666.7 ตารางเมตร หนึ่งไร่มี 2.399 หมู่) ถามว่าผลผลิตสูงกว่าของบ้านเราไหม ก็ต้องตอบว่าค่อนข้างสูง เกือบจะเป็นสองเท่าตัวของเรา แต่ก็ยังเป็นแค่การทดลองปลูกกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ โดยเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่อยากลองของใหม่ และจำนวนมากก็เพียงนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาทดลองแค่หนึ่งหรือสองฤดู เสร็จแล้วก็หันกลับไปใช้สายพันธุ์เดิมที่ปลูกง่ายและคุ้นเคย
             ทว่า มาบัดนี้ เอกชนเจ้าดังกล่าวข้างต้น ใจกล้าถึงขั้นประกาศว่าพร้อมจะส่งเสริมขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์พิเศษใหม่ ให้ครอบคลุมร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศของจีนใน 3-5 ปี  เรื่องแบบนี้หากเกิดขึ้นได้จริง  ตลาดค้าข้าวภายในประเทศและการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านของจีน คงจะผลิกโฉมหน้าไปเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว ประเทศจีนซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 550ล้านหมู่ และเป็นประเทศที่ปลูกข้าวได้มากที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมา โดยเงื่อนไขปัญหาทางสภาพอากาศและปริมาณความต้องการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จีนก็ยังต้องนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นอยู่ หากสายพันธุ์ข้าวใหม่ที่ว่านี้วิเศษจริงอย่างที่ว่า จีนอาจลดความจำเป็นในการนำเข้า และกระทบต่อตลาดข้าวทั่วทั้งภูมิภาคอย่างแน่นอน
ผมเห็นพวกเราในประเทศไทย เถียงกันมากเรื่องนโยบายข้าว ทั้งเรื่องจำนำดีหรือประกันรายได้ดีกว่า และเรื่องราคาข้าวเกวียนละ 15,000บาท อาจจะเป็นการดีกว่าหากพวกเราจะมาเถียงกันให้หนักยิ่งขึ้น โดยดูจากปัจจัยของภาพรวมตลาดข้าวในอนาคต ไม่ใช่จากประเด็นว่าข้าวถุงจะแพงขึ้นกี่บาท หรือชาวนาจะเอาเงินจำนำข้าวไปใช้จ่ายเปล่าประโยชน์กับเรื่องอะไร  ในอีกด้านหนึ่ง การรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูง แม้เป็นเรื่องดีและควรต้องทำ แต่ในเวลาเดียวกัน การส่งเสริมอาชีพทำนาให้เป็นเรื่องจริงจังและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกและสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ก็มีความสำคัญและจำเป็นต้องรีบทำคู่ขนานกันไป

จุดเริ่มต้นสถานีอวกาศจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                
              เมื่อปลายปีที่แล้ว ช่วงเดือนธันวาคม ตอนที่ประเทศจีนประกาศความสำเร็จของภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ โดยยานสำรวจฉางเออร์2 ผมได้เคยนำเสนอท่านผู้อ่านเรื่องความก้าวหน้าในเทคโนโลยีอวกาศของจีนไปแล้วครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้ ว่าไปแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน ที่เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานนัก ดูเหมือนจะก้าวหน้าเอาเรื่องอยู่พอสมควรทีเดียว  หากนับจากการส่งยานที่มีมนุษย์ควบคุมขึ้นไปโคจรรอบโลก  มาเป็นยานที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม (ฉางเออร์1 ปี2007 ) จนถึงฉางเออร์2 (2010) ดูเหมือนจีนใช้เวลาในการพัฒนาน้อยกว่าฝั่งตะวันตกอยู่มาก  หากว่าในชั่วเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ด้วยตัวเองขนาดนี้ เป็นเรื่องคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอวกาศของจีนจะไปถึงขั้นไหน แน่นอนว่าคงต้องใช้เวลาอีกมากหากจะไล่จี้ให้ทันชาติตะวันตก แต่ด้วยเงื่อนไขอื่นๆที่ดูจะได้เปรียบกว่า (ทั้งฐานะเศรษฐกิจปัจจุบันและจำนวนนักวิทยาศาสตร์ที่มากกว่า) นักวิชาการและนักวิจัยฝ่ายจีนจำนวนมาก ต่างมั่นใจว่าจีนจะสามารถกลายเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีอวกาศของโลกได้ในที่สุด ถึงขนาดที่ทำให้ผู้นำระดับสูงของพรรคฯ ออกมาประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจีนจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสำรวจพรมแดนของจักรวาล  อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจีนจะสามารถสร้างสถานีอวกาศเพื่อการศึกษาทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักได้ภายในปี 2016
              ในเวลานั้น ข่าวความก้าวหน้าของจีนในเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิดการคาดเดาต่างๆตามมาอีกมากจากนักวิเคราะห์ชาติตะวันตก  ตัวอย่างเช่น ข่าววงในเรื่องจีนวางแผนที่จะส่งยานสำรวจดาวอังคารภายในปี 2013 แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากทางการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ดูเหมือนประเทศแถบตะวันตกต่างก็คาดเดาไปในทิศทางเดียวกันว่า จีนคงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสำรวจชั้นบรรยากาศและธรณีสัณฐานของดาวอังคาร เพื่อประเมินศักยภาพเชิงเศรษฐกิจของแหล่งแร่และทรัพยากรที่อาจจำเป็นสำหรับโลกในอนาคต  การส่งยานอวกาศทั้งฉางเออร์1 และฉางเออร์2 จึงอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสำรวจดวงจันทร์แต่อย่างใด ทว่าเป็นการทดสอบเพื่อเบิกทางไปสู่การสำรวจดาวอังคารในอนาคตอันใกล้  โดยแนวทางการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศของฝั่งตะวันตก สิ่งซึ่งจีนยังไม่มั่นใจคือระบบการสื่อสารทางไกลหากจะต้องส่งยานสำรวจที่ไม่มีมนุษย์ไปยังดาวอังคาร  เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่วงการวิทยาศาสตร์เฝ้าจับตาการพัฒนาของจีนอย่างมาก ก็คือข่าวที่จีนประกาศว่าจะสร้างสถานีอวกาศที่มีลูกเรือประจำการให้สำเร็จในราวปี 2016-2020 บรรดาข่าวกรองและนักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์อวกาศตะวันตก ต่างก็รอดูว่าสถานีอวกาศนี้จะมีวัตถุประสงค์ทางการทหารเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เป้าสายตาที่เฝ้าดูกันอยู่ ก็คือตัวยานหลัก  Tiangong-1 (วิมานสวรรค์) และ Shenzhou-8 (ยานเทวะ) อันจะเป็นยานชุดแรกที่จะขึ้นไปประกบตัวเป็นส่วนกลางของสถานีอวกาศ ฐานส่วนกลางนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าวัตถุประสงค์ระยะยาวของสถานีอวกาศจะเป็นไปเพื่ออะไร เพราะที่ทางการจีนประกาศไว้นั้น ยาน Tiangong1 เมื่อขึ้นไปประกบต่อเชื่อมแล้ว จะเป็นส่วนของสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีนักวิจัยและมนุษย์อวกาศอยู่ประจำ
                 มาบัดนี้จรวด Long March-2FT1 ได้นำยาน Tiangong1ส่งขึ้นสู่ตำแหน่งโคจร ที่340กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลกเรียบร้อยไปแล้วตั้งแต่เมื่อหัวค่ำของวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา หากไม่นับกระแสข่าวหุ้นตกที่เข้ามาบดบังแย่งพื้นที่หน้าหนังสือพิมพ์ ก็ต้องเรียกว่าเป็นข่าวใหญ่โตมากข่าวหนึ่งของสัปดาห์ที่ผ่านมา  ยาน Tiangong1นี้จะลอยโคจรอยู่ประมาณหนึ่งเดือนก่อนที่ Shenzhou หมายเลข8 ซึ่งเป็นยานอวกาศไร้คนขับจะเดินทางไปต่อเชื่อมแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีนักบินอวกาศควบคุม หลังจากนั้นก็จะตามด้วยยาน Shenzhouหมายเลข9 และหมายเลข10 ในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีนักบินอวกาศเดินทางขึ้นไปด้วยและจะทำการต่อเชื่อมโดยมือมนุษย์ชาวจีนเป็นครั้งแรกในอวกาศ  ยานหลัก Tiangong1 นี้ มีช่องต่อเชื่อมที่สามารถรับยานอื่นๆได้หลายลำ เพื่อให้บรรลุตามโครงการสถานีอวกาศสถานีแรกของจีน หลังจากที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียได้นำหน้าไปแล้วในการสร้างสถานีอวกาศเพื่อการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์  ที่สำคัญและอาจเป็นข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่หลายฝ่ายรอคอยสังเกตการณ์อยู่ ก็คือขนาดของยานหลัก Tiangong1 ที่มีปริมาตรภายในเพียง15ลูกบาศก์เมตร ชัดเจนว่าน่าจะเป็นสถานีอวกาศเพื่อการทดลอง มากกว่าที่จะมีศักยภาพในทางอื่นตามข่าวลือก่อนหน้านี้ สรุปว่านักคาดการณ์ทางการทหารก็ตกงานไปเรียบร้อย
                 นอกเหนือจากความสำเร็จที่จีนสามารถพัฒนาโครงการอวกาศของตนได้ตามแผนแล้ว การเข้าสู่วงโคจรของ Tiangong1 ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ของจีน หายใจหายคอได้อย่างโล่งอกยิ่งขึ้น ด้วยเหตุว่าก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ค่ายตะวันตกจำนวนหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตวิจารณ์ว่าจรวดนำส่งตระกูล Long March ของจีน อาจไม่สามารถไว้ใจพึ่งพาได้ หากเจอกับงานใหญ่ๆ มีโอกาสที่จะทำผิดพลาดไปไม่ถึงวงโคจรหรือหลุดวงโคจรอะไรทำนองนั้น แม้ว่าจรวด Long Marchของจีนที่ทยอยพัฒนามาแต่ละรุ่น จะได้เคยส่งดาวเทียมทั้งของจีนและของต่างชาติ ขึ้นไปสู่วงโคจรโดยเรียบร้อยมาแล้วหลายสิบดวง แต่การนำส่งยานTiangong1 คราวนี้ จัดเป็นบทพิสูจน์อย่างสำคัญ ว่าจีนสามารถพัฒนาจรวดนำส่งตระกูล Long March นี้ ให้ถึงจุดที่สมบูรณ์เป็นมาตรฐานและสามารถไว้ใจพึ่งพาได้เต็มร้อย ทำให้เป็นประโยชน์และรับรองมาตรฐานความน่าเชื่อถือในอุตสาหกรรมดาวเทียมของจีนไปด้วยในตัว
               และเพื่อเป็นการยืนยันสมรรถนะของจรวดตระกูล Long March จีนก็เลยโฆษณาล่วงหน้าว่า ภายในปี 2020 จีนจะสามารถนำส่งชิ้นส่วนสถานีอวกาศน้ำหนักรวม 60 ตัน เพื่อขึ้นไปประกอบเป็นสถานีอวกาศที่สมบูรณ์ให้ได้ เรียกว่าเป็นการโฆษณาล่วงหน้าที่ท้าทายชาติมหาอำนาจทางอวกาศเจ้าอื่นๆ อย่างยิ่ง จะบอกว่าจีนเป็นตัวแทนชาวเอเชียในการแข่งขันทางเทคโนโลยีอวกาศ ก็ดูออกจะเป็นการตีขลุมแอบอ้างไปหน่อย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าเราน่าจะต้องส่งกำลังใจช่วยลุ้นให้กับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ให้สามารถสานฝันได้สำเร็จ ทั้งหมดนี้เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ใช่แข่ง Star War กัน

อุตสาหกรรมรถยนต์จีน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องเร่งปั่นต้นฉบับคอลัมน์คลื่นบูรพา ตั้งแต่กลางดึกคืนวันจันทร์ กว่าจะได้ส่งเข้าอีเมล์ของสำนักพิมพ์ ก็ล่วงเข้าเช้าวันอังคาร พอตกตอนสายวันอังคารก็ต้องออกเดินทางไปประเทศจีนอีกแล้ว ไปคราวนี้เป็นราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาคณะผู้บริหารระดับกลางของมหาวิทยาลัย ไปดูงานการจัดการด้านเทคโนโลยีและเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยจี๋หนาน ที่มหานครกวางโจว ถือเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน โดยเฉพาะในทางภาคใต้  ไปเที่ยวนี้ก็จัดว่าได้งานได้การและสนุกสนานมากเป็นพิเศษ เหตุก็เพราะ ไม่ได้ไปนครกวางโจวเสียนาน ก็เลยได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ที่สังเกตพบว่าเปลี่ยนแปลงไปมากในคราวนี้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์และระบบคมนาคมที่พัฒนาไปมาก(นับตั้งแต่ปี 2009 จีนได้กลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขอถือโอกาสชวนคุยเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีน เอามารายงานท่านผู้อ่าน จะเข้ากันได้หรือไม่กับนโยบายรถคันแรกลดหนึ่งแสนของรัฐบาลบ้านเราหรือเปล่าก็ลองดูนะครับ
ที่ว่าอยากชวนคุยเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน ก็เพราะในระหว่างที่เดินทางไปกวางโจวคราวนี้ เผอิญกำลังมีข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมของจีนที่กำลังคิดอ่านวางแผนจะขยายฐานการผลิตรถยนต์จีนไปยังต่างประเทศ  เริ่มต้นที่อเมริกาใต้ และอาฟริกา ข่าวนี้ผมเองเดาว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องนโยบายภาษี และการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในเพื่อทดแทนการนำเข้ารถยนต์ของประเทศต่างๆ ที่เดิมเคยเป็นตลาดรองรับการส่งออกของจีน ไม่น่าจะใช่ด้วยสาเหตุเรื่องความได้เปรียบในต้นทุนการผลิต อีกทั้งความคิดริเริ่มออกไปลงทุนนอกประเทศทำนองเช่นนี้ ก็ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีน ที่อยากเห็นอุตสาหกรรมของจีนออกไปเปิดพื้นที่เปิดตลาดและแข่งขันลงทุนนอกประเทศมากยิ่งขึ้น อาศัยจังหวะที่เงินหยวนกำลังแข็งเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ แนวโน้มตลาดรถยนต์ภายในประเทศของจีนเอง ขณะนี้ก็อาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ใช้งานราคาขนาดกลางและต่ำ หากพิจารณาจากตัวเลขผลสำรวจที่ได้จากผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม ที่วารสารและเว็ปไซต์ยานยนต์ Gasgoo ได้ทำการสัมภาษณ์กว่า 3,812ราย สรุปความเห็นว่าอัตราการขยายตัวยอดขายในครึ่งปีหลังโดยรวมในทุกกลุ่มชนิดรถยนต์ ไม่น่าจะถึงร้อยละ 5 สาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้การขายภายในประเทศชะลอตัวไม่ร้อนแรงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ (ปี 2010 ขายได้ 18 ล้านคัน ปี 2009 ขายได้ 13 ล้านคัน) อาจเนื่องจากตลาดถูกโหมโฆษณาและทำกิจกรรมส่งเสริมการขายไปล่วงหน้าแล้ว จนหมดกำลังซื้อในครึ่งปีหลัง บวกกับราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศจีนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ภาษีรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น และการสิ้นสุดโครงการของรัฐบาลอุดหนุนเงินที่ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในการซื้อรถยนต์ และท้ายสุด ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของผู้บริโภคชาวจีนที่ลดลง 
        ที่ยังพอมีอัตราการขายที่เพิ่มขึ้น กลับเป็นกลุ่มรถยนต์ราคาแพง อันนี้ดูได้ไม่ยากจากงานแสดงรถยนต์หรูที่เซี่ยงไฮ้ที่จัดขึ้นเมื่อตอนเดือนมีนาคม แม้ตลาดรถหรูรถแพงจะไม่จัดว่าเป็นตลาดรถยนต์หลักของจีน แต่ก็มีสัดส่วนมูลค่าไม่น้อยทีเดียว ในขณะที่ตลาดโดยรวมอาจดูไม่คึกคักมากนัก แต่ในตลาดระดับบนที่ว่านี้ อัตราการเติบโตยังคงไต่อย่างต่อเนื่องอยู่ที่เกินกว่าร้อยละ 10ต่อปี เป็นอย่างนี้ติดต่อกันมาไม่ต่ำกว่า 5ปีแล้ว ไม่ว่าน้ำมันจะแพงขึ้นเท่าไร รัฐบาลจะอุดหนุนหรือไม่ ภาษีจะแพงหรือถูก ผู้ซื้อในกลุ่มนี้ก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามจำนวนเศรษฐีใหม่และคนชั้นกลางระดับบนที่เพิ่มมากขึ้นของจีน
ในอีกด้านหนึ่ง หากแผนการขยายการลงทุนและการเพิ่มฐานการผลิตใหม่ๆ ในต่างประเทศเป็นจริง อย่างน้อยที่สุดอาจกล่าวได้ไม่ผิดนักว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนยังจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้น และอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมของจีนที่อัตราการเติบโตจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปได้อีกหลายปี ตัวเลขประมาณการของงานวิจัยที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลจีน ระบุว่า อุตสาหกรรมโดยรวมของยานยนต์จีนจะขยายตัวระหว่าง 3-4เท่าตัว ภายในปี 2020นั้นหมายความว่า ยอดขายต่อปีจะทะลุ 50ล้านคันต่อปีเป็นอย่างต่ำ เฉพาะหน้ามีบริษัท Chery Automobile Co., Ltd. ที่ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเล็กของจีน และเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน ได้ไปลงทุนเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศบราซิล เมื่อเดือนกรกฎาคม ด้วยมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 400 ล้านเหรียญสหรัฐ กว่าจะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดได้ก็น่าจะเป็นปี 2013 โดยChery Automobile Co, Ltd. ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 50,000 คันในปีแรก และ 150,000-170,000คัน ในปีถัดๆ ไปเพื่อป้อนสู่ตลาดในประเทศอเมริกาใต้อื่นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวของบริษัทผลิตรถยนต์บรรทุกของจีนที่มีฐานใหญ่อยู่ที่มหานครฉงชิ่ง ชื่อ Lifan Industry (Group) Co., Ltd. ได้เจรจาร่วมทุนกับโรงงานในบราซิล ลงทุนประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาสายพานการผลิตรถยนต์ขนาด 10,000 คันต่อปี เป็นการทดลองตลาดก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเพิ่ม
บ้านเราตอนนี้กำลังตื่นเต้นกับข่าวเรื่องรถยนต์คันแรกลดหนึ่งแสน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือคนทำงานที่ยังไม่มีเงินมากนัก แต่ในทางปฏิบัติ ใครกันแน่จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ผลิตรถยนต์ มาตรการดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับตลาดรถยนต์ในปีหน้าและปีต่อๆ ไป จะเป็นอย่างไร คำถามเหล่านี้คงยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คงต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเริ่มนับหนึ่งวิ่งแห่กันไปจองซื้อรถ แต่จากประสบการณ์ของจีน มาตรการอุดหนุนเพื่อแก้ปัญหาช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ได้โหมตลาดกระตุ้นการซื้อ จนท้ายที่สุดกระทบต่อกลไกปรกติเดิมของตลาดรถยนต์ภายในประเทศ จีนอาจมีช่องทางแก้ปัญหา ด้วยการเร่งทำตลาดภายนอกมาชดเชยหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมของตน แต่เราคงไปเลียนแบบเค้าได้ลำบากอยู่

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ท้องถิ่นจีนกับวิสาหกิจชุมชน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 สัปดาห์นี้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ก็มีข่าวสารน่าสนใจค่อนข้างมากจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นข่าวงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ซึ่งจัดกันยิ่งใหญ่เป็นพิเศษในเขตเศรษฐกิจฮ่องกง ข่าวเขื่อนสามโตรกผาของจีนซึ่งเป็นโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำและผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มต้นเก็บกักน้ำเต็มขีดความสามารถของความจุเขื่อน หรือข่าวใหญ่เรื่องการส่งออกของจีนกลับมาขยายตัวเพิ่มในเดือนสิงหาคมมากถึงกว่าร้อยละ๒๔ หลังจากที่ชะลอตัวไปนานตามภาวะเศรษฐกิจโลกฯลฯ มีข่าวใหญ่ๆ มากเสียจนผมเองก็เลือกไม่ถูก ไม่รู้จะนำข่าวเรื่องใดมาขยายความนำเสนอท่านผู้อ่าน จนท้ายที่สุดหลังจากเปิดหาข่าวหลักๆ ดูไปจนหมดแล้วก็เผอิญไปพบว่ามีข่าวสองข่าวที่ดูจะขัดแย้งกันแปลกๆ ยังไงๆ อยู่คู่หนึ่ง ก็เลยเกิดสนใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ขออนุญาตนำมาเป็นประเด็นชวนคุยในสัปดาห์นี้เสียเลย
                 ข่าวแรก เป็นข่าวที่รัฐบาลกลางของจีนได้เข้าตรวจสอบติดตามภาวะหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น สืบเนื่องจากข่าวผลการศึกษาของสภาวิจัยสังคมศาสตร์ของจีนที่ออกมาแสดงความห่วงใยในการใช้จ่ายและการลงทุน ที่แต่ละท้องถิ่นพากันทุมเทลงทุนจนเกิดหนี้สินรุงรังไปหมด ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าว ว่าหลายแห่งใช้จ่ายเงินรายได้ไปกับการพัฒนาวิสาหกิจโดยที่ไม่ได้มีการศึกษาผลตอบแทนทางธุรกิจว่าคุ้มค่าหรือไม่ เห็นคนอื่นทำก็เลียนแบบทำตามๆกันไป จนท้ายที่สุดขาดทุนและต้องถูกบังคับให้ต้องยุติโครงการไปโดยปริยาย  ผลการตรวจสอบของรัฐบาลกลางเที่ยวนี้ พบว่าท้องถิ่นของจีนในระดับต่างๆ มีหนี้สินอันเนื่องมาจากการลงทุนรวมกันกว่า 1.7ล้านล้านหยวน เรียกว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเอามากๆ สำหรับคนไทยเรา ถ้าจะลองเปรียบเทียบดูก็ประมาณหลายเท่าตัวของงบประมาณแผ่นดินบ้านเรา หากเทียบกับ GDP ทั้งประเทศของจีน ก็ประมาณยังไม่ถึงครึ่งดีนัก แต่ถ้าเทียบกับ GDP ของท้องถิ่นจีนแล้ว ตัวเลขอาจสูงถึงร้อยละ 73 เรียกว่าเป็นระดับของหนี้สินที่มากเอาการอยู่ ผมเองก็ไม่ใช่ว่าจะรู้เรื่องทางเศรษฐศาสตร์สักเท่าใดหรอกครับ อีกทั้งความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์หลังผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายรอบ ก็ดูจะไม่มีข้อยุติชัดเจนนัก ว่าสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เท่าไหร่จึงจะเรียกว่าอันตราย แค่ไหนถึงจะเรียกว่าปลอดภัย ทำนองคล้ายกับนักการเมืองฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลในบ้านเรานั้นแหละครับ เวลาอภิปรายตัวเลขการกู้ยืมก่อหนี้ก่อสิน ดูเหมือนจะใช้ตำรากันคนละเล่ม เถียงกันไม่จบว่าหนี้เยอะแล้วใกล้จะล่มจม หรือว่ากู้มากำลังดี ยังกู้ได้อีกปลอดภัยแน่ๆ ขอเอาตัวเลขเปรียบเทียบของสามชาติใหญ่ๆ มาเป็นตัวอย่างก็แล้วกันนะครับ ในปี 2010  ของอเมริกา หนี้สินต่อ GDP เท่ากับ ร้อยละ53.5 ของประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกันเท่ากับร้อยละ 225.8 ของเยอรมนีเท่ากับร้อยละ 78.8 เปรียบเทียบดูแล้วก็ลองพิจารณาดูกันเอาเองเถอะครับ ว่ากรณีของท้องถิ่นจีน หนี้สินที่มีอยู่จะเรียกว่ามากหรือยังไม่มาก แต่ที่แน่ๆ ฝ่ายรัฐบาลกลางที่เข้าไปตรวจสอบเที่ยวนี้ สรุปออกมาแล้ว ว่ายังไม่ถึงขีดอันตราย และยังสามารถควบคุมได้อยู่ และจะไม่ยอมปล่อยให้ท้องถิ่นของจีนต้องตกอยู่ในภาวะหนี้ล้นพ้นตัวอย่างที่เกิดในบางประเทศของยุโรป อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากความตื่นตัวและมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกลางกำหนดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่นข้อกำหนดการขายพันธบัตรหรือตราสารเงินกู้ของท้องถิ่นที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ห้ามไม่ให้ออกพันธบัตรโดยเด็ดขาดหากมีหนี้สินเดิมอยู่แล้วมากกว่างบประมาณประจำปีนั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า ท้องถิ่นของจีนหลายแห่ง กำลังเริ่มมีปัญหาหนี้สินอย่างไม่ต้องสงสัย และอาจนำไปสู่วิกฤตในระดับชาติ หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง
                 ข่าวที่สอง ที่ผมบอกว่าขัดแย้งกับข่าวข้างต้น ก็คือข่าวหมู่บ้านที่รวยที่สุดของจีน เกิดเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศก็เพราะ ผู้คนในหมู่บ้านร่วมทุนกันเป็นวิสาหกิจท้องถิ่นลงทุนก่อสร้างอาคาร 78 ชั้นสูง 328 เมตรกลางหมู่บ้าน และเตรียมจะเปิดให้บริการโรงแรมหรูในปลายปีนี้ ในโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อแรกเป็นคอมมูนการเกษตร ใช้เงินในการก่อสร้างไปไม่มากเท่าไรหรอกครับ แค่สามพันล้านหยวน ยังไม่นับร่วมรูปวัวทองคำบนยอดตึกหนักเกือบหนึ่งพันกิโลกรัม อีกทั้งยังเตรียมสั่งต่อเรือสำราญ 500 ที่นั่ง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว ลงทุนขนาดนี้ ก็เลยดังไปทั้งประเทศ กลายเป็นเรื่องกล่าวขานวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งประเทศ หมู่บ้านหัวซี ในมณฑลเจียงซูแห่งนี้ เติบโตร่ำรวยขึ้นมาจากโรงงานสิ่งทอ เหล็ก และการท่องเที่ยว เมื่อปีกลาย หมู่บ้านนี้ก็เคยตกเป็นข่าวดังมาแล้วรอบหนึ่ง เพราะสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ที่เดียวสองลำ เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวบินชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้าน
                หัวซีเป็นตัวแบบหมู่บ้านสมัยใหม่ในเขตมณฑลตะวันออกของจีน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโรงงานหลังบ้านให้กับเมืองใหญ่อย่างมหานครเซี่ยงไฮ้และนานจิง ในปี 2003 หัวซีเป็นหมู่บ้านหรือกลุ่มวิสาหกิจท้องถิ่นกลุ่มแรกที่มีผลผลิตมวลรวมต่อปีสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านหยวน ด้วยพื้นทีเพียง .96 ตารางกิโลเมตรและประชากรเพียง 1,500 คน หัวซีรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมากถึงสองล้านคนต่อปี หลายต่อหลายคนวิจารณ์การลงทุนของหมู่บ้านหัวซีว่าเป็นการลงทุนแบบบ้าเลือดบุ่มบ่าม ในโลกอินเตอร์เน็ตชาวเว็บวิจารณ์ว่าเป็นการโชว์ความร่ำรวยแบบคนบ้านนอก แต่สำหรับผู้บริหารหมู่บ้าน ประธานพรรคฯ และชาวบ้านในหัวซี อาคาร 328 เมตร หลังนี้ คือความภาคภูมิใจ หยาดเหงื่อแรงงานแห่งความสำเร็จ และอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของชุมชนแห่งนี้ เป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ จากการตรากตรำใช้แรงงานทำมาหากินในภาคอุตสาหกรรม มาเป็นธุรกิจภาคการให้บริการ อีกทั้งยังสร้างงานใหม่ๆ ที่สบายขึ้นให้กับหนุ่มสาวลูกหลาน ช่วยป้องกันไม่ให้คนรุ่นต่อๆ ไปต้องจากบ้านจากชุมชนไปหางานทำในเมืองใหญ่ข้างเคียง  จะด่วนตัดสินว่าชาวหัวซีเป็นพวกอวดร่ำอวดรวย หรือจะบอกว่าเป็นเศรษฐีที่มีวิสัยทัศน์ อันนี้คงต้องรอดูกันต่อไป
                 สองตัวอย่างที่ยกมาเล่าให้ฟังในสัปดาห์นี้ ก็ไม่ได้มีอะไรมากหรอกครับ เพียงแต่อยากให้เราจับตาดูบทบาทของท้องถิ่นจีนให้ดี ความเปลี่ยนแปลงมากมายกำลังเกิดขึ้น และน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อหน้าตาของประเทศจีนในอนาคตอย่างมากทีเดียว