ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

เงินเฟ้อยังไม่จบ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                 ปลายสัปดาห์ที่แล้วจนถึงเมื่อวานนี้ ผมเชื่อว่าบรรดาท่านผู้อ่านหลายท่าน ที่มีส่วนได้เสียอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คงตกอกตกใจกันพอสมควรทีเดียว เพราะอยู่ๆ ก็เกิดอาการ “แดงทั้งกระดาน” ติดต่อกันหลายวัน จนป่านนี้ผมก็ไม่ทราบว่าดัชนีหล่นไปกี่ร้อยจุดแล้ว ผมจำได้ว่าวันแรกที่หุ้นไทยตกเมื่อสัปดาห์ก่อน มีนักวิเคราะห์พากันบอกว่าเป็นเพราะการเมืองในประเทศ แต่พอหุ้นตกต่อกันหลายวัน ก็มีนักวิชาการบางท่านออกมาให้คำอธิบายว่านักลงทุนตกใจมาตรการการเงินของจีน ข่าวว่ารัฐบาลจีนออกมาตรการต่อเนื่องอีกหลายประการเพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจร้อนเกิน เพราะตัวเลขการขยายตัวรวมทั้งปี 2011 ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ10 หากไม่ยั้งๆไว้ปีนี้ก็จะร้อนแรงเกิน ผมเองต้องเรียนไว้ก่อนว่าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ความรู้ทางธุรกิจการลงทุนก็แทบจะไม่มี แต่ฟังคำอธิบายทั้งสองชุดแล้วก็ยังงงๆอยู่ ไม่แน่ใจว่าไปไงมาไง ถึงได้เกี่ยวข้องมาถึงบ้านเรา ผมก็เลยลองตรวจสอบ ดูข่าวสารทางประเทศจีน ว่ามีอะไรเข้าข่ายที่เขาอ้างถึงกันหรือไม่


                เท่าที่สำรวจดูที่เป็นประเด็นใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีที่แล้วที่ว่าสูงกว่าร้อยละ 10 ยังมีอีกเรื่องที่ใหญ่พอๆกัน คือเรื่องค่าเฉลี่ยดัชนีราคาผู้บริโภคตลอดทั้งปี 2010 ของจีน แต่ว่าตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางจะได้พยายามควบคุมอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ตัวเลขเฉลี่ยยังทะลุไปถึงร้อยละ 3.3 สูงกว่าที่เพดานที่คาดไว้เดิมคือร้อยละ 3  ข้อมูลนี้เองที่ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ พากันเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ และเป็นไปได้ว่าคือเงื่อนไขที่แท้จริงของมาตรการต่างๆ ทางการเงิน ที่ทางรัฐบาลทะยอยประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่การขึ้นดอกเบี้ย(ซึ่งทะยอยปรับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว) การกำหนดสัดส่วนสำรองเงินฝากของธนาคารพานิชย์ การนำเงินสำรองสกุลต่างประเทศออกมาขาย ฯลฯ แต่ดูเหมือนที่ผ่านมา มาตรการเหล่านี้ยังไม่สามารถหยุดดัชนีราคาผู้บริโภคของปีที่แล้วได้ หากสถานการณ์ยังดำเนินซ้ำรอยเหตุการณ์อย่างในปลายปีที่แล้ว ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาก็คือเงินเฟ้อ เฉพาะอย่างยิ่งในปี 2011นี้จะเป็นปีแรกของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ตามแผน 5 ปีฉบับใหม่นี้ เกือบทุกมณฑลต่างก็วางเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้เกินกว่าร้อยละ 50 ทั้งสิ้น นั้นแปลว่าในแต่ละปีต่างก็วางเป้าไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ฉะนั้นหากจะถามว่าอะไรคือปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีนในปี 2011 นี้ คำตอบที่นักวิเคราะห์ทุกสำนักในประเทศจีนเห็นตรงกันก็คือ ปัญหาเงินเฟ้อนั่นเอง


                    ผู้อำนวยการสถาบันการคลังและการวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ศาสตราจารย์ซิน ปิง ให้ความเห็นไว้ในเอกสารรายงานของสถาบันเมื่อกลางเดือนนี้ว่า ปริมาณเงินส่วนเกินและสินเชื่อที่หมุนเวียนอยู่ในระบบของจีนคือตัวการสำคัญของเงินเฟ้อ เฉพาะในปีที่ผ่านมามีเงินส่วนเกินและสินเชื่อหมุ่นเวียนอยู่ในระบบมากถึง 7.95ล้านล้านหยวน มากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2000 ถึง 2005 เกือบ 4 เท่าตัว โอกาสที่ยอดรวมสินเชื่อของปีนี้จะลดต่ำลง จึงแทบเป็นไปไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะทุกภาคส่วนเศรษฐกิจต่างก็ยังวางเป้าขยายตัวอยู่ทั้งหมด แรงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อจึงต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


                     การเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอความร้อนแรงและควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นขึ้น จึงเป็นปรากฏการณ์ที่จะได้เห็นกันอีกหลายรอบ ไม่ได้จบง่ายๆ อย่างที่สื่อหลายแขนงพยายามจะนำเสนอต่อสาธารณชนชาวจีน ถ้าถามว่ายังมีมาตรการอื่นอะไรอีกไหมที่รัฐบาลจีนอาจเลือกใช้โดยไม่ต้องไปกดดันธนาคารพานิชย์มากจนเกินไป ก็มีนักวิชาการบางท่านพยายามเสนอทางออกอยู่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น รองอธิบดีกรมพัฒนาการค้าและราคาสินค้า นายโจว หวางจวิน เสนอว่าหากราคาสินค้าจำเป็นพื้นฐานขยับขึ้นมากในไตรมาตรที่หนึ่ง รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงราคา นอกจากนี้ก็มีผู้ที่เห็นด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นคำตอบที่ได้ผลมากที่สุด(หากไม่ห่วงเรื่องเงินไหลเข้ามากจนเกินไป) หวาง ชิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบริษัท Morgan Stanley ประเทศจีน เสนอว่าเพื่อไม่ให้นโยบาบกำหนดสัดส่วนสินเชื่อต่อการสำรองเงินฝากที่รัฐบาลจะประกาศเพิ่มขึ้นในอนาคต สร้างผลกระทบต่อธนาคารพานิชย์มากจนเกินไป รัฐบาลควรจำแนกกลุ่มธนาคารออกตามประเภทและขนาด รวมทั้งควรพิจารณากำหนดสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสำรองที่เหมาะสมในแต่ละเดือน ให้สอดคล้องกับธรรมชาติการใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ละเดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบจนธุรกิจบางประเภทอาจต้องหยุดชะงักหรือเสียหาย จึงจะนับได้ว่าเป็นนโยบายทางการเงินที่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและไม่สร้างความเสียหายหรือผลข้างเคียงมากจนเกินไป  กระนั้นก็ตาม ผลอย่างหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจีนจะมุ่งใช้มาตรการสกัดกั้นเงินเฟ้อแบบไหนก็ตาม คือค่าเงินหยวน  ตลอดช่วง 6 เดือนหลังของปีที่แล้ว ค่าเงินหยวนต่อเหรียญสหรัฐขยับเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 6 ในปีนี้ยังไม่ทันจะกี่วันดี ค่าเงินหยวนก็เพิ่มค่าทะลุจุดสูงสุดในรอบ 17 ปีเป็น 6.5812หยวน/เหรียญสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปก็ยังเดาไม่ออก แต่ก็เป็นไปได้ว่าจีนอาจถือโอกาสนี้ทุ่มเทเงินหยวนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น


วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

พยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจีน 2011

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


              เหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่นักสื่อสารมวลชน หรืออาจจะเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์โดยทั่วไปก็แล้วแต่จะวิเคราะห์กัน  เวลาเปลี่ยนผ่านช่วงรอยต่อสำคัญๆ มักถือกันว่าเป็นจังหวะเหมาะที่จะทบทวนเรื่องราวที่ผ่านไป และรวบรวมกำลังกายกำลังใจเตรียมตัวเดินหน้าไปสู่อนาคต  ปีใหม่ก็คงเป็นหนึ่งในจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำคัญ  ที่ผมรำพึงรำพันมานี้ ก็เป็นเพราะเปิดดูหนังสือพิมพ์ของจีนหลายวันติดต่อกันมา เจอแต่สกู๊ปพิเศษ สัมภาษณ์นักธุรกิจ นักวิชาการ ซีอีโอใหญ่ท่านนั้นท่านนี้ เพื่อสอบถามแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนในปี 2011 ทำให้นึกถึงการไหว้เจ้าส่งท้ายปีและดูดวงปีใหม่ที่ชาวจีนนิยมปฏิบัติกัน เพียงแต่หมดดูเที่ยวนี้ เป็นหมอพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ อันได้แก่บรรดานักธุรกิจระดับบิ๊กและกูรูในสถาบันวิเคราะห์วิจัยทั้งหลาย สองสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอเหตุการณืสำคัญในรอบปีไปแล้ว คราวนี้ก็จะขออนุญาติท่านผู้อ่านที่รัก รวบรวมประเด็นนำเสนอแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่น่าจะเป็นในปี2011นี้ ตามที่บรรดาเซียนเศรษฐกิจทั้งหลายของจีนพยากรณ์กันไว้ ก็คงไม่สามารถกวาดได้ครบทั้งหมดหรอกครับ จะขอนำเสนอเฉพาะประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ครับ



                 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนคงเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนทั้งฝรั่งและจีนต่างก็อยากรู้กันว่าทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร จะขยายตัวร้อนแรงเช่นเดิม จะชลอตัว หรือจะหดตัวลง  ที่ห่วงกันมากก็เพราะนโยบายขึ้นดอกเบี้ยที่เพิ่งประกาศไปสดๆร้อน บวกกับเงินเฟ้อติดต่อกัน 4-5เดือนก่อนสิ้นปี จีนจะยังสามารถขยายการลงทุนและกระตุ้นการบริโภคภายในอยู่ได้หรือไม่  ตามความเห็นของท่านรองประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจบรรษัทหลักทรัพย์ Min Sheng พยากรณ์ไว้ว่าปี 2011 จะเป็นปี Soft Landing ของเศรษฐกิจและการลงทุนของจีน และจะส่งผลให้ GDP ของจีนลดลงจากปี 2010ไม่น้อยกว่าร้อยละ1 ด้วยสาเหตุหลักๆ 3 ประการคือ สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นของบริษัทต่างๆ การด้อยค่าของสินทรัพย์ และการส่งออกที่ลดลง  แต่หากมองโลกในแง่ดีในทัศนะแบบแบงค์ชาติของจีน ตั้วเลขการเติบโตระดับร้อยละ 8 ถึง9 (ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ2) น่าจะเป็นตัวเลขที่กำลังดีสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวของจีน

                
                             ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน ตลอดปี2010ที่ผ่านมาดูเหมือนอสังหาริมทรัพย์จะเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายไปพร้อมๆกัน ที่เป็นพระเอกก็เพราะมีคนทำกำไรกันมหาศาลจากการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในธุรกิจนี้ ส่วนที่ถูกจับตากล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายก็เพราะนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนัก กล่าวหาว่ามูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่สูงเกินจริงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อและปัญหาทางสังคม ในปี 2011 Su Buchao ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และผู้จัดการกลุ่ม Wolong Medial เห็นว่าราคาที่อยู่อาศัยทั่วไปจะเริ่มปรับลดไปสู่ระดับราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะนักเก็งกำไรส่วนใหญ่จะย้ายไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆเพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีทรัพย์สินที่กำลังจะบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้ ไม่เพียงเท่านี้ การบังคับเก็บภาษีทรัพย์สินยังจะมีผลต่อราคาบ้านมือสองอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกและอำนาจต่อรองสูงขึ้นไปอีก
                 ตลาดหุ้นจีน  ใครที่รู้จักตลาดหุ้นจีนอยู่บ้าง คงทราบดีว่านักลงทุนรายย่อยเกือบทั้งหมดเป็นนักเก็งกำไรมากกว่าที่จะเข้าใจความหมายของการลงทุน แต่ภาพตลาดหุ้นของจีนในปี2011นี้จะเปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ตามความเห็นของศาสตราจารย์ ติง-หยวน แห่งวิทยาลัยธุรกิจChina Europe International Business School  อาจารย์ติงแกเชื่อว่านักลงทุนจากภายนอกจำนวนมากจะแห่เข้ามาลงทุนในจีน โดยเฉพาะในหุ้นหลักๆที่มีปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการดี จึงเท่ากับเป็นการบังคับไปในตัวที่จะทำให้พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนชาวจีนเปลียนไปด้วย หุ้นที่มีการซ้อขายหมุนเวียนดี จะจำกัดอยู่เฉพาะหุ้นเกรดเอ อันส่งผลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีนต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้มีคุณภาพเข้าสู่มารตฐานสากลมากขึ้น ในภาพรวม ตลาดหุ้นจีนปี 2011 จะไม่พุ่งกระฉูดทำกำไรหวือหวา แต่จะมีการพัฒนาปรับคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีกับอนาคตตลาดหุ้นจีน เป็นมุมมองที่สอดรับกับรายงานสภาวะเศรษฐกิจของสภาสังคมศาสตร์จีนที่พยากรณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว
                 น้ำมันและพลังงาน  ปลายปีที่ผ่านมา ปัญหาขาดแคลนน้ำมันดีเซลครองหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์จีนติดต่อกันอยู่เป็นสัปดาห์ ภาพข่าวทีวีนำเสนอการเข้าคิวรอซื้อน้ำมันตามสถานีบริการมีให้เห็นทุกสำนักข่าวในทุกภูมิภาคของจีน ปีใหม่นี้สถานการณ์พลังงานโดยทั่วไปไม่น่าจะดีขึ้นมากนัก ในมุมมองของ ศาศตราจารย์ เฉิน เฟิง-อิง ผอ.สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกแห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่จีน ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานในรูปแบบต่างๆ จะปรับตัวตามความเป็นจริงของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ความสามารถของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงราคาจะทำได้น้อยลง พูดง่ายๆคือราคาแพงขึ้นแน่ แต่ข้อดีของการไม่แทรกแซงราคา จะทำให้จีนไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนและการกักตุน  อย่างไรก็ดี ในระยะยาวอีกไม่เกิน 5 ปี โครงการขยายการผลิตไฟฟ้าพลังปรัมณูตามแผนพัฒนาฉบับที่ 12 จะเสร็จสมบูรณ์ และจะเพิ่มปริมาณไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจ่ายไฟได้อีกมหาศาล


                 เงินเฟ้อและดัชนีราคาสินค้าบริโภค อย่างที่นำเสนอไปก่อนหน้า 5เดือนหลังของปี2010 สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศจีนสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ในความเป็นจริง สินค้าหลายรายการรัฐบาลไปพยายามเข้าไปแทรกแซงแก้ไขแล้ว ชี้ให้เห็นว่าปัญหาเงินเฟ้อจริงๆรุนแรงกว่าตัวเลขที่ปรากฏ ศาสตราจารย์หวาง เจี้ยน-เหมาแห่งวิทยาลัยธุรกิจ China Europe International Business School  พยากรณ์ว่าสถานการณ์ปี 2011 ก็ไม่น่าจะดีขึ้นเท่าใดนัก พิจารณาจากราคาต้นทุนสินค้าสำคัญๆที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินสกุลหยวนต่อดอลลาร์ การปรับค่าแรงพื้นฐานตามแผนรัฐบาล และต้นทุนพลังงาน  ปี 2011จะเป็นปีที่ผู้บริโภคทั่วไปต้องกระเป๋าฉีกอีกปีหนึ่ง



                  โชคดีที่พื้นที่คอลัมน์นี้หมด เลยมีข่าวร้ายๆของเศรษฐกิจจีนมาเล่าได้เพียงเท่านี้  แต่ก็อย่าไปกังวลแทนเลยครับ เพราะหลายกรณี รัฐบาลจีนก็มีวิธีการแก้ปัญหาแบบแปลกๆแต่ได้ผลอยู่เสมอ หรือไม่ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้หน้าตาเฉยเหมือนกัน

10 ข่าวดังของจีนในรอบปี 2010

             โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

                   สวัสดีปีใหม่ 2554 หวังว่าคงกลับกันมาจากวันหยุดพักผ่อนยาวโดยสวัสดิภาพพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกท่าน  อย่างที่ได้เคยเรียนท่านผู้อ่านเมื่อสัปดาห์ก่อน ต้นปีแบบนี้ ผมขออนุญาตนำเสนอสิบสุดยอดข่าวดังของจีนในรอบปี2010ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองครับ คราวก่อนเป็นข่าวด้านสังคมวัฒนธรรม เที่ยวนี้จะเป็นการจัดอันดับข่าวดังภายในประเทศของจีน ซึ่งก็จัดเรียงลำดับตามที่สื่อมวลชนจีนเขาเรียบเรียงไว้
                 อันดับที่ 1 184 วันของงาน World EXPO ที่เซี้ยงไฮ้ จัดเป็นข่าวใหญ่อันดับต้นของปี นับตั้งแต่เปิดงานเมื่อวันที่1พฤษภาคมจนงานจบในวันที่31 ตุลาคม2010 มีประเทศเข้าร่วมงานแสดง 246 ประเทศ ผู้เข้าชมงานทั้งสิ้น 73 ล้านคน เป็นตัวเลขประวัติการณ์ของงาน EXPO นับตั้งแต่เริ่มจัดมา


                 อันดับที่ 2  การประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12ของจีน หลังจากที่ประชุมยกร่างกันมาเป็นเวลาแรมปี ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนีสต์จีน สมัยประชุมที่ 5 การประชุมใหญ่ครั้งที่ 17 ที่ประชุมได้มีมติรับรองร่างแผนพัฒนาฯดังกล่าว เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 2011-2015  จัดเป็นข่าวใหญ่และเรื่องใหญ่ของประเทศจีน เพราะจะกลายเป็นกรอบกำกับการวางแผนงานของทุกภาคส่วนในประเทศที่เกี่ยวข้อง


                 อันดับที่ 3    การส่งยาน ฉางเออร์หมายเลข 2 สู่ดวงจันทร์ ในวันที่1 ตุลาคม ประกาศความสำเร็จของการพัฒนาประสิทธิภาพจรวดนำส่ง ลองมาร์ชหมายเลข3C ที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อภาระกิจการสำรวจอวกาศระยะยาวของจีน พร้อมๆกับสานฝันการสร้างสถานีอวกาศของจีน อันเป็นโครงการอวกาศระยะ12 ปีที่จีนประกาศไว้


                 อันดับที่ 4  การจัดทำการสำรวจสัมโนประชากรทั่วประเทศครั้งที่ 6 ใช้ผู้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งทางการและอาสาสมัครมากกว่า 6.5 ล้านคน ครอบคลุมครัวเรือนทั้งหมดกว่า 400 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศจีน ที่พิเศษในคราวนี้ คือจะมีการสำรวจเก็บตัวเลขของแรงงานอพยพที่เร่ร่อนอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศจีน

                 อันดับที่ 5  วัที่ 30 พฤศจิกายน จีนบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปลดปล่อยความร้อนและก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ 1เดือนก่อนกำหนดการที่วางไว้สิ้นแผนระยะแรก(2006-2010) ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯฉบับที่11 ซึ่งวางเป้าให้ลดมลพิษลงให้ได้ร้อยละ10


                 อันดับที่ 6 แผนปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติระยะกลางและระยะยาว นับเป็นแผนการศึกษาที่ใช้เวลายกประชุมร่างยาวนานเป็นพิเศษ(1ปี 9เดือน) สาระสำคัญกำหนดให้รัฐบาลกลางและท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 4 ของผลิตภันฑ์มวลรวม เพิ่มจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาในระบบ ในระดับมัธยมปลายให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 แก้ไขปัญหาการไม่รู้หนังสือของประชากรวัยทำงานและวัยกลางคนทั่วประเทศ และกำหนดให้เป้าหมายกิจการและการปฏิรูปมุ่งไปสู่เขตชนบทและพื้นที่ยากจนของประเทศ มากกว่าที่จะพัฒนาความเป็นเลิศของการศึกษาในเขตเมืองใหญ่

                 อันดับที่ 7 ข้อตกลงการค้าระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ( ECFA) จัดเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไต้หวัน แม้ว่าที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนนักธุรกิจของสองฝั่งช่องแคบจะมีปริมาณมากอยู่แล้วก็ตาม แต่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ลงนามกันเมื่อ12กันยายน ได้เปิดศักราชใหม่ให้รัฐบาลและหน่วยงานของทั้งสองฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในการพัฒนาส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และนับจากวันที่ 1 มกราคม 2011 เป็นต้นไป จะมีสินค้ากว่า 600 รายการทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่ และจากไต้หวัน ได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษีนำเข้าของสองฝ่าย

                 อันดับที่ 8  มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ที่นครกวางเจา หากไม่นับงานแสดงEXPO ที่เซี้ยงไฮ้แล้ว งานเอเชียนเกมส์ที่กวางเจาอาจจัดเป็นมหกรรมระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จสูงสุดของจีน ประสบการณ์จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคเมื่อปี2008 ทำให้จีนมีความพร้อมในทุกด้านของการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ไม่ว่าในเรื่องสนามแข่งขัน พิธีเปิด-ปิดที่ยิ่งใหญ่ตระการตาผู้ชม การจัดระบบรองรับผู้ชมสดและการถ่ายทอดสัญญานภาพไปยังต่างประเทศ การดูแลสื่อมวลชน การตลาด และท้ายสุดจำนวนเหรียญทองที่นักกีฬาจีนพิชิตมาได้ ล้วนสะท้อนศักญภาพในระยะยาวของจีนในด้านการกีฬา พอๆกับในด้านการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ


                 อันดับที่ 9  ปีแห่งอุบัติภัยและปัญหาอาชีวอนามัย ปี2010เป็นปีที่มีข่าวร้ายในแวดวงอุตสาหกรรมหนักของจีนมากมายหลายข่าว มีผู้สูญเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งกรณีเหมืองถ่านหิน ส่านซี ท่อน้ำมันระเบิดที่ต้าเหลียน ถังน้ำมันระเบิดที่โรงงานเก่าในนานจิง เครื่องบินตกที่เฮยหลงเจียง และส่งท้ายปีด้วยกรณีไฟไหม้ตึกสูงในเซี้ยงไฮ้  มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากการทำงานท่ไม่ปลอดภัยทั่วประเทศหลายพันคน(หรืออาจหลายหมื่น หากมีการรายงานที่ครบถ้วน) ผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นอีกปีของการสูญเสีย และภาพลักษณ์ด้านลบของอุตสาหกรรมจีน


                 อันดับที่ 10 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2010 จีนต้องเผชิญกับความสูญเสียอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติหลายครั้ง แต่ละครั้งล้วนรุนแรงและสร้างความเสียหายสูงทั้งชีวิตและทรัพยสิน ในฤดูฝนช่วงหน้าร้อน หลายมณฑลทั่วประเทศต้องเจอกับภัยน้ำท่วมรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา นอกจากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินในปีนี้ จีนยังเจอกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ระดับเกิน 7 ริคเตอร์ ทั้งในธิเบตและมณฑลชิงไฮ่ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศขนานใหญ่

                 ปี 2010ทั้งปี สำหรับประเทศจีน จัดว่ามีเหตุสุดๆเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์สมกับเป็นปีเสือ ก็คงต้องรอดู ว่าในปีเถาะที่กำลังจะมาถึงในต้นเดือนกุมภาพันธ์ตามปฏิธินจีน สถานการณ์จะเป็นอย่างไร  

สิบข่าวดังด้านวัฒนธรรมประจำปี 2010

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                   ก็คล้ายๆกับในประเทศไทยเรา ช่วงระยะเวลานับถอยหลังสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างนี้ บรรดาสื่อมวลชนจีนแขนงต่างๆ เริ่มนำเสนอภาพรวมของรอบปีที่ผ่านมาในรูปแบบการจัดอันดับ 10 สุดยอดข่าวดังข่าวใหญ่ แล้วแต่ว่าใครดูแลด้านไหน ก็พยายามย้อนหลังเปรียบเทียบจัดอันดับว่าที่ผ่านมาทั้งปีมีอะไรเป็นเรื่องเด่นบ้าง ฉนั้นช่วงระยะเวลานี้ หากดูจากหน้าข่าวในหนังสือพิมพ์หรือเว็ปไซต์ออนไลน์ทั้งหลายของจีน ก็จะพบการจัดอันดับ10 ยอดข่าวดังด้านโน้นด้านนี้ทะยอยปรากฏออกมา มีทั้งข่าวดังด้านเศรษฐกิจ ข่าวดังด้านต่างประเทศ ข่าวดังด้านภัยธรรมชาติฯลฯ สำหรับนักเล่าเรื่องอย่างผม ซึ่งมีหน้าที่เสาะหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ช่วงเวลาแบบนี้ต้องถือว่าเพลินมากเป็นพิเศษ เพราะมีเรื่องราวเยอะแยะให้เลือกคัดมานำเสนอ เรียกว่าถ้าไม่เกรงใจกัน ข่าวการจัดอันดับทำนองนี้ สามารถหากินเล่าติดต่อกันได้อีกเป็นเดือนๆไปถึงปีหน้าเลยทีเดียว
                 ผมจะขออนุญาตนำ10สุดยอดข่าวใหญ่ด้านวัฒนธรรมของจีนมาเสนอท่านผู้อ่าน แต่ก็ต้องขอทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่าเวลาที่พูดถึงประเด็นทางวัฒนธรรมนั้น จีนจะมองในมุมทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างที่เรานิยามวัฒนธรรมกันในประเทศไทย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับทุนทางวัฒนธรรม ว่าที่จริงก็เป็นฐานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สมัยใหม่ที่เวลานี้กำลังทำเงินทำทองกันอยู่ในประเทศจีน 10 อันดับที่ผมจะนำเสนอนี้ ผมนำข้อมูลและภาพการจัดอันดับจากนิตยสารปักกิ่งรีวิว และไชน่าเดลี่ มายำใหญ่เสนอตามลำดับดังนี้ครับ
  อันดับที่1 การปฏิรูปธุรกิจสิ่งพิมพ์ภาครัฐ อันนี้เขาก็จัดเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ได้มีความพยายามยกเครื่องสื่อสิ่งพิมพ์ที่เดิมรัฐเป็นเจ้าของ ให้มีความคล่องตัวทางธุรกิจและตอบสนองต่อตลาดได้ดียิ่งขึ้น ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ จะมีสำนักพิพม์ของรัฐกว่า 580 แห่ง ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบใหม่ มี10บริษัทที่กำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดโดยรวมอีกกว่า 16,000ล้านหยวน


  อันดับที่2  จีนได้รับการจดทะเบียนมรดกโลกเพิ่มอีกสองแห่ง จากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่34ที่เมืองบราซิลเลีย ทำให้ปัจจุบัน จีนมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม28แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติอีก8แห่ง ในบัญชีของยูเนสโก



  อันดับที่3  ปรากฏการณ์อวตาร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปิดฉายภาพยนต์เรื่องอวตาร เพียง3สัปดาห์แรกกวาดเงินไปถึงกว่า100ล้านเหรียญสหรัฐในประเทศจีน ก่อให้เกิดกระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนต์สามมิติในประเทศจีน และยังกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักอุทยานแห่งชาติจางเจียเจี้ย อันเป็นฉากสำคัญที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์เรื่องนี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมของจีนคึกคักมากยิ่งขึ้น

  อันดับที่4  การค้นพบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ และการสำรวจขุดค้นซากเรืออับปาง หนานเอ่าหมายเลข 1 ทำให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจทางโบราณคดีใต้ท่องสมุทรที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เติมเต็มข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์การค้าทางทะเลสมัยโบราณ เครื่องกระเบื้องคุณภาพสูงกว่า2,600ชิ้นที่เก็บกู้ได้ ทำให้เกิดความตืนตัวครั้งใหญ่ในแวดวงโบราณคดีจีน
  อันดับที่5  โซเชี่ยวเน็ตเวิร์ค เว่ยเป่า กลายเป็นสุดยอดสื่อทางอินเตอร์เน็ตจีน ด้วยจำนวนผู้ใช้ชาวจีนกว่า65ล้านคน ได้ทำให้เว่ยเป่ากลายเป็นเครื่อข่ายสังคมบนโลกไซเบอร์ที่ใหญ่ติดอันดับและพุ่งแรงที่สุดของจีน เหนือกว่า ทวิตเตอร์และเฟซบุค



  อันดับที่6  การขยายตัวและเพิ่มมูลค่าของโบราณวัตถุจีน  ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์เศรษฐีใหม่ของจีนที่ร่ำรวยมหาศาล ไล่ล่าหาซื้อโบราณวัตถุสมบัติของชาติ ที่กระจายไปอยู่ในต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาสะสมไว้เองบ้าง บริจาคให้พิพิธภัณฑ์ในประเทศจีนบ้าง กลายเป็นเรื่องฮือฮาแข่งขันกันในหมู่เศรษฐีใหม่เลือดรักชาติ ส่งผลให้ในช่วงหลังราคาโบราณวัตถุของจีนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในเวทีการประมูลในต่างประเทศ ชักนำให้เกิดตลาดงานศิลปะจำลองโบราณวัตถุ ใหญ่และมีมูลค่าไม่น้อยไปกว่าตลาดซื้อขายของแท้ โดยเฉพาะภาพวาดพู่กันจีนและเครื่องกระเบื้องเคลือบสมัยหมิง


  อันดับที่ 7  กระแสนิยมดนตรีคลาสิค ในโอกาสครบรอบ200 ปีวันเกิดโชแปง ปี2010รัฐสภาโปแลนด์ได้ประการให้เป็นปีแห่งการรำลึกถึงคีตกวีเอกท่านนี้ รัฐบาลจีนและโปแลนด์ได้จัดกิจกรรมทางดนตรีและศิลปะที่เกี่ยวข้องขึ้นหลายงานในประเทศ  จะโดยเหตุใดเป็นพิเศษก็ยังหาคนอธิบายให้ชัดเจนไม่ได้ อยู่ๆก็เกิดกระแสคลั่งดนตรีคลาสิคขึ้นมา ยอดจำหน่ายแผ่นซีดีและสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีของที่ระลึก ต่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนมีนักดนตรีระดับโลกเช่น หลางหลาง และหลี่หยุนตี้ ซึ่งก็ได้รับชื่อเสียงจากการเล่นเพลงของโชแปง
  อันดับที่8  กระแสการตลาดแบบซื้อยกล็อต สืบเนื่องมาจากการทำตลาดรูปแบบใหม่ทางอินเตอร์เน็ต ที่ส่งเสริมและชักชวนให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมารวมกลุ่มกันสั่งซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในจำนวนมากๆ โดยมีส่วนลดที่บางครั้งมากถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้ในปี 2010 การตลาดขายตรงรูปแบบซื้อยกล็อตนี้แพร่ระบาดไปทั่วทั้งประเทศจีนอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สินค้าขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ไปจนถึงบัตรชมภาพยนต์ กลางเป็นวัฒนธรรมการบริโภครูปแบบใหม่



  อันดับที่9  การค้นพบพระบรมสารีกธาตุ  ในเดือนมิถุนายน2010 เจ้าหน้าที่ด้านมรดกทางวัฒนธรรมของจีน ได้ประกาศการค้นพบพระบรมสารีกธาตุ และนำมาประดิษฐานในวัดฉีเซี่ย เมืองนานจิง เป็นงานใหญ่ประจำปีงานหนึ่ง


  อันดับที่10  เซี้ยงไฮ้ดีสนีย์แลนด์  เมื่อวันที่5 พฤศจิกายน ได้มีการลงนามให้ข้อตกลงก่อสร้างสวนสนุกขนาด1.16 ตรางกิโลเมตร ภายใต้ชื่อเซี้ยงไฮ้ดีสนีย์แลนด์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ในปี 2014 และจะเป็นสิ่งดึงดูดการท่องเที่ยวตัวใหม่ของจีน


                 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลแบบคร่าวๆ เพราะเนื้อที่จำกัด ไว้ปีใหม่หากมีโอกาสเหมาะๆ ผมอาจนำมาเสนอท่านผู้อ่านโดยละเอียดเป็นเรื่องๆไปอีกทีหนึ่ง ท้ายที่สุดนี้ ในโอกาสที่รับใช้ท่านผู้อ่านที่รักในคอลัมน์คลื่นบูรพามาครบหนึ่งปี เล่าเรื่องไร้สาระผิดพลาดอะไรไปบ้าง ก็ถือโอกาสขออภัย และหวังให้ทุกท่านได้ประสบแต่เรื่องดีๆในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ สวัสดีปีใหม่ครับ

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์กับบ้านเอื้ออาทรของจีน

         โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษวิทยา 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




      ผมต้องขอสารภาพกับท่านผู้อ่านว่าแอบหนีไปเที่ยวมาหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ ที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไปเดินเที่ยวเล่นเหลวไหลที่ไหนหรอกครับ ไปงานราชการดูเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นมา แต่ที่ต้องสารภาพก็เพราะออกเดินทางไปตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่แล้ว เขียนต้นฉบับของวันพุธที่แล้วเสร็จก็ไปเลย เพิ่งจะกลับมาช่วงเช้าเมื่อวาน เลยไม่ได้มีเวลาพอจะทำหน้าที่สำรวจคัดกรองข่าวสารของประเทศจีนก่อนที่จะลงมือเขียนดังที่เคยปฏิบัติมาประจำทุกสัปดาห์ ลงจากเครื่องบินกลับเข้าบ้านก็เปิดหน้าข่าวนิตยสารBeijing Review ฉบับออนไลน์ เลือกเอาเรื่องใหญ่สุด น่าสนใจที่สุด มาเป็นประเด็นพูดคุยกับท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้


                 ผมจำได้ว่าหลายเดือนก่อน ตอนที่จีนประกาศใช้นโยบายเข้มงวดกับสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ผมเคยเอามาเล่าสู่กันฟังไปรอบหนึ่งแล้ว แต่เป็นการเล่าที่อาจยังไม่ครบถ้วนเท่าใดนัก เพราะเนื้อที่มีจำกัด มาวันนี้มีข่าวใหญ่ที่ทางรัฐบาลจีนแถลงแบบภูมิอกภูมิใจมากเป็นพิเศษ ผมเลยถือโอกาสเอามาปะติดปะต่อเชื่อมโยงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพร่วมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อตอนต้นๆปีประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ต่างชาติจำนวนเยอะชี้กันว่าจีนกำลังจะเข้าสู่วิกฤตการณ์ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเหตุที่แข่งขันกันลงทุนในธุรกิจนี้มากเกินกำลังซื้อที่มีอยู่จริง นอกจากปริมาณห้องชุดและโครงการจะมีมากมายเหลือเกินแล้ว ราคาก็แพงเกินจริงและเกินกำลังที่ชาวบ้านทั่วไปจะสามารถเช่าซื้อได้ ทำให้เกิดการจองการซื้อเพื่อหวังเก็งกำไรในหมู่คนที่พอจะมีสตางค์ ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่หาเช้ากินค่ำในเขตเมือง กลับไม่มีปัญญาจะหาห้องอยู่อาศัยเป็นของตนเอง
                 ในตอนนั้น รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการสำคัญสามด้านที่จะเข้าแทรกแซงการขยายตัวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันการลงทุนที่อาจเสี่ยงต่อทั้งภาคธุรกิจเองและต่อผู้บริโภคที่เป็นคนยากคนจนในเขตเมือง ประการแรกรัฐบาลจีนเข้มงวดกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้อนุญาตเฉพาะกับกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจหลักเท่านั้น ธุรกิจอื่นที่ไม่มีประสบการณ์หรือทำมาหากินด้านอื่นอยู่ แล้วเห็นคนอื่นทำแล้วรวยก็อยากรวยด้วย แบบนี้รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้เข้ามาลงทุนพัฒนา แม้จะมีเสียงนินทาว่านอกจากไม่ได้ผลแล้วยังส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดอีกต่างหาก แต่อย่างน้อยก็ทำให้นักลงทุนกว่า78กลุ่มที่ไม่ใช่มืออาชีพแท้ๆถอยออกไปเหมือนกัน เพราะถูกธนาคารพานิชขึ้นบัญชีห้ามปล่อยกู้ตามนโยบายของรัฐบาล เหลือกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมืออาชีพแท้ๆเพียง16กลุ่มที่ยังกู้เงินแบงค์มาขยายโครงการใหม่ๆได้ มาตรการที่สอง รัฐบาลจีนเข้าควบคุมกำกับการปล่อยกู้ของธนาคารพานิช ทั้งในด้านปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการ และการปล่อยกู้ให้กับผู้เช่าซื้อห้องชุด มาตรการนี้ดูจะได้ผลเป็นจริงเป็นจัง ทำให้จำนวนโครงการลดวูบไปพักใหญ่ แต่ก็ส่งผลเสียทำให้ราคาห้องชุดไต่เพดานขึ้นราคากันเป็นทิวแถวในเขตใจกลางเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งของจีน ที่เดือดร้อนหนักเลยไม่ได้มีแต่คนยากคนจน แม้คนชั้นกลางที่จำเป็นต้องขยายครอบครัวเพราะลูกหลานแต่งงานแยกออกไป ก็พลอยเดือดร้อนไม่มีปัญญาจะผ่อนบ้านได้  รัฐบาลเลยต้องออกมาตรการที่สาม คือประกาศเลยว่าจะเข้าแทรกแซงราคาที่อยู่อาศัยด้วยการจัดตั้งกองทุนอุดหนุนที่อยู่อาศัยหรือเคหะสงเคราะห์ ลงทุนสร้างห้องชุดราคาประหยัดเพื่อแก้ไขปัญหาคนยากคนจนในเขตเมืองทั่วประเทศ ให้ได้5.8ล้านยูนิตภายในปี 2010 นี้ โดยจะกันห้องชุดราคาถูกพิเศษจำนวน1.2 ล้านยูนิตให้กับแรงงานต่างจังหวัดที่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในเขตเมือง เรียกว่าประชานิยมสุดๆเข้าข่ายบ้านเอื้ออาทรก็ว่าได้

                 มาบัดนี้ ด้วยระยะเวลาเพียง 8-9 เดือน รัฐบาลจีนประกาศว่าห้องชุดทั้งหมดที่สัญญาไว้ สร้างได้ครบเรียบร้อยแล้ว และหลายต่อหลายโครงการ ผู้จับจองได้ย้ายเข้าอยู่อาศัยเรียบร้อย หากมองตัวเลขในภาพรวม รัฐบาลจีนใช้เงินไปกับการเคหะสงเคราะห์ในปีนี้สูงถึง  800,000ล้านหยวน เทียบกับปี 2008 ใช้เงินไปแค่ 18,190 ล้านหยวน และ 50,060 ล้านหยวนในปี 2009 ความรวดเร็วทันใจในการจัดการกับปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานนี้ ว่าที่จริงถ้ารู้เบื้องหลังการจัดการสักหน่อย ก็อาจเข้าใจได้ไม่ยากนัก ว่ารัฐบาลจีนจัดการอย่างไรจึงรวดเร็วเบ็ดเสร็จถึงปานนี้ หากดูตัวเลขรวมการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนตอนต้นปีก่อนที่รัฐบาลจะออกมากำกับเข้มงวด  ตัวเลขจากฝั่งธนาคารพานิชผู้ปล่อยกู้ ประมาณกันว่ามีเงินเข้ามาลงทุนโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของส่วนกลาง สูงถึง 660,700 ล้านหยวน(ไม่รวมผู้ประกอบการท้องถิ่นรายเล็กรายน้อย ที่อาจลงทุนสร้างตึกจากเงินสะสมของตนเอง หรือเงินที่ลงขันเข้าหุ้นกันระหว่างเพื่อนร่วมธุรกิจ หรือกู้ยืมกันเองนอกระบบธนาคาร)  ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุนที่ธนาคารพานิชเคยปล่อยกู้ให้กับ78กลุ่มบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีว่าไม่ใช่มืออาชีพ และกำลังจะถูกเขี่ยออกนอกวงการสูงถึง 99,100 ล้านหยวน บริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ ที่ผ่านมาฟันกำไรจากการประกอบการเฉลี่ยที่ร้อยละ 35-45 ต่อปี

            
              หากเอาค่าเฉลี่ยกำไรที่ว่าข้างต้นนี้คูณเข้ากับมูลค่าการลงทุนรวม 660,000 ล้านหยวน ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อกันว่า ดีไม่ดีรัฐบาลจีนอาจไม่ได้ลงแรงสร้างตึกสร้างห้องเองเท่าใดนัก แต่ใช้วิธีบีบภาคเอกชนที่ลงทุนอยู่แล้ว ให้เปลี่ยนรูปแบบโครงการ ลดราคาห้องชุดและยอมรับส่วนชดเชยจากรัฐบาล แม้จะกำไรน้อยลง แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยรวม ดีกว่าพากันบาดเจ็บล้มตายกันไปหมด รัฐบาลก็ได้หน้าว่าสามารถแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนและคนชั้นกลาง ภาคธุรกิจก็ยังพออยู่กันต่อไปได้ไม่ต้องห่วงว่าฟองสบู่จะแตกแล้วล้มตามกันไปหมดยกครอก แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการคาดเดาของบรรดานักวิเคราะห์ที่อยู่ไม่สุข รัฐบาลจีนจะใช้กลเม็ดยักย้ายถ่ายเทอย่างที่ว่าจริงหรือเปล่า ผมโดยส่วนตัวก็ยังไม่กล้าเสี่ยงฟันธง แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ผลที่ออกมาเป็นรูปธรรมแล้วในเวลานี้ คือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่แตก และคนจีนอีกตั้ง 5.8 ล้านครอบครัวก็มีที่อยู่เพิ่มขึ้นในราคาบ้านที่พอมีปัญญาจะผ่อน ถ้าไม่บอกว่าเขาเก่งจริง ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้วครับ