ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลประชากรจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                     เมื่อปีกลายผมจำได้ว่าเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของประเทศจีนไปแล้วครั้งหนึ่ง และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้เคยชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยเรื่องปัญหาทั้งผู้สูงอายุ ปัญหาสัดส่วนที่ไม่สมดุลย์ระหว่างประชากรหญิง-ชาย และอื่นๆ ที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับโครงสร้างประชากรของประเทศจีน รวมทั้งข่าวการจัดทำการสำรวจสำมะโนประชากรจีนเมื่อช่วงรอยต่อปี 2010-2011 มาบัดนี้ ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ได้เริ่มทะยอยเปิดเผยผลการวิเคราะห์สถิติตัวเลขที่ได้จากการทำการสำรวจสำมะโนประชากรทั้งประเทศครั้งที่ 6 ผมก็เลยคิดว่าน่าจะนำมาอัปเดทข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันไว้
                             ผลจากการสำรวจล่าสุด ปัจจุบันจีนมีประชากร1.37พันล้านคน หากดูอัตราการเพิ่มของประชากรในรอบ10ปี จากปี2000-2010 เพิ่มขึ้นร้อยละ5.84 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ0.57ต่อปี เรียกว่าประสบความสำเร็จในการคุมกำเนิดอย่างมาก ประชากรในเขตเมืองเติบโตเพิ่มขึ้นจากสิบปีที่แล้วในอัตราร้อยละ13.6 ทำให้ในปัจจุบันสัดส่วนชาวจีนที่อาศัยในเขตเมืองมีมากถึงร้อยละ49.7ของประชากรทั้งหมด เป็นอัตราการขยามตัวของเขตเมืองที่ถือว่าโตเร็วมาก โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งตะวันออก ที่ยังเติบโตไม่หยุด จากการอพยพย้ายถิ่นชองผู้คนจากส่วนอื่นๆของประเทศ เฉพาะสถิติของปี 2010 มีแรงงานอพยพที่อาศัยและทำงานอยู่นอกบ้านเกิดต่อเนื่องเกินกว่า 6 เดือน มากถึง 261 ล้านคน เพิ่มเป็นเท่าตัวหากเทียบกับข้อมูลในปี 2000
              ในด้านคุณภาพชีวิตและประเด็นทางสังคม  สัดส่วนผู้สูงอายุทั่วประเทศตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 13.26 เพิ่มมากกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วร้อยละ 2.93 ในขณะเดียวกัน การเลื่อนชั้นทางสังคม การศึกษาพัฒนาเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้ผ่านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพิ่มจากร้อยละ 3.6 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2010 ซึ่งถือว่าสูงมาก จำนวนประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนลดลงเหลือร้อยละ 4.06
                              ข้อมูลตัวเลขประชากรจากการสำรวจใหญ่ปี 2010 นี้ หากมองผ่านๆ ก็ได้เพียงแค่รับรู้ไว้อัปเดทข้อมูล แต่หากจะวิเคราะห์ให้เห็นผลที่จะเกิดตามมาในอนาคต ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ก็มีประเด็นน่าสนใจที่ควรต้องเจาะลึกเพิ่มเติม  จากเดิมก่อนหน้านี้ใครๆก็เป็นห่วงกลัวกันว่าประชากรจีนจะท่วมโลก รัฐบาลจีนในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 ก็เลยต้องรณรงค์เอาจริงเอาจังกับการคุมกำเนิดประชากร มาบัดนี้ หากดูจากตัวเลขล่าสุด จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อคู่สมรสลดลงเหลือเพียง 1.5 หมายความว่าในระยะยาวจำนวนประชากรวัยแรงงานจะหดหายลง แม้ในทุกวันนี้จีนจะยังมีประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานมากมายเหลือใช้ แต่หากมองระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักวิชาการจีนเชื่อกันว่า ประเทศจีนน่าจะเริ่มพบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป  กลุ่มประชากรวัยแรงงาน(อายุ 15 - 64 ปี)ของจีนจะเป็นกลุ่มประชากรใหญ่ที่สุดในปี 2013 แต่หลังจากนั้นจำนวนประชากรที่เข้าสู่วัยแรงงานจะลดน้อยลง และไม่สามารถทดแทนจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงานไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุได้ทัน กล่าวง่ายๆก็คือ ผลจากการคุมกำเนิดประชากรอย่างเข้มงวดตั้งแต่เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว จะเริ่มส่งผลต่อสัดส่วนประชากรวัยแรงงานตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป และจะกลายเป็นวิกฤตการณ์ขาดแคลนแรงงานอย่างมากในราวปี 2020-2030 ซึ่งจีนอาจเจอภาวะขาดแคลนแรงงานมากถึงร้อยละ 20 ขึ้นไปเป็นอย่างน้อย หากตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชากรแรงงานลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น



                 
                     นอกเหนือจากปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับสัดส่วนประชากรวัยแรงงานแล้ว สถิติที่ได้จากการสำรวจในเที่ยวนี้ ยังชี้ว่ามีประเด็นทางประชากรที่กำลังจะขยายกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือผลทางสังคมอันเนื่องมาจากการอพยพโยกย้ายถิ่นของแรงงาน จำนวนคนในวัยแรงงานกว่า261ล้านคนที่เร่ร่อนทำงานอยู่นอกเขตบ้านเกิดของตนเอง ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญมาก ทั้งในมุมมองทางเศรษฐกิจและมุมมองทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ตัวเลขนี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ความพยายามในการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีน หรือแผนการกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนต่างๆของประเทศอย่างเท่าเทียม ที่จีนพยายามทำมาตลอดระยะเวลากว่า20ปี ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตำแหน่งงานและโอกาสทางเศรษฐกิจดีๆทั้งหลาย ยังคงกระจุกตัวอยู่ในซีกตะวันออกของประเทศ จากปี2000ในช่วงยุคร้อนแรงของการลงทุน จีนมีแรงงานอพยพประมาณ151ล้านคน เพียงแค่สิบปีเพิ่มอีกกว่าร้อยละ80มาเป็น261ล้านคน นอกจากไม่ลดลงเพราะการกระจายความเจริญแล้ว ยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ในด้านสังคม แรงงานอพยพเหล่านี้ กว่าร้อยละ40เป็นแรงงานในกลุ่มอายุวัยหนุ่มวัยสาว เกือบทุกประเทศในอดีต ที่มีประวัติศาสตร์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตก้าวข้ามภาคการเกษตร ต่างก็เคยเจอกับปัญหานี้มาแล้ว แต่ยังไม่เคยมีประเทศใดในโลก ที่จะมีประชากรแรงงานอพยพในสัดส่วนมากมายอย่างที่เป็นอยู่ในประเทศจีนทุกวันนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือภาคเกษตรในบ้านเกิดของแรงงานอพยพเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง ชุมชนขาดคนหนุ่มคนสาวรับช่วงทั้งทางการผลิตและกิจกรรมทางสังคม หลายแห่งล่มสลายลงในที่สุด เพราะหนุ่มสาวจำนวนมากตัดสินใจแต่งงานและสร้างครอบครัวใหม่ในเมืองที่ตนอพยพไปทำมาหากิน
                    

                          เรื่องสำคัญที่น่าสนใจประการที่สาม คือข้อมูลการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นของประชากรในณฑลด้านตะวันออกของประเทศ ผลจากการสำรวจสถิติประชากรล่าสุดนี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จีนยังคงต้องทุ่มเทลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างกระจุกตัวตามจำนวนประชากรในภาคตะวันออกต่อไปอีกนาน ในระยะยาว อำนาจรวมศูนย์การวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาดูเหมือนจะอ่อนลง กลายเป็นว่าจีนอาจต้องตามวางแผนตามหลังการเคลือนย้ายของประชากร เดี๋ยวเลยจะต้องมีอันเละเทะแบบบางประเทศแถวนี้
                       เมืองไทยเราก็เห็น “คุณมาดี” เดินเคาะประตูบ้านเก็บข้อมูลในการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งใหญ่ไปแล้ว ยังไงถ้ามีการประมวลผลวิเคราะห์เผยแพร่ ผมว่าคนไทยเราควรต้องช่วยกันอ่านทำความเข้าใจ ให้รู้จักตัวเองเพิ่มมากขึ้น คงไม่ได้มีแต่ปัญหาผู้สูงอายุอย่างเดียว หลายเรื่องเช่นจำนวนประชากรนักเรียนที่ลดลงเรื่อยๆ วัยแรงงานที่อาจจะน้อยลง และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่น้อยไปกว่าเรื่องของประเทศจีนที่ผมชวนคุยในวันนี้เลยครับ

ฟางเส้นสุดท้ายอีกหนึ่งเส้นที่มองโกเลียใน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           
                 สัปดาห์นี้ ผมต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านคุยเรื่องร้อนที่ไม่น่าจะสบายใจนัก ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงเวลานี้ที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่ มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่มองโกเลียในของจีน เป็นเหตุประท้วงที่มีแนวโน้มจะลุกลามขยายตัวเป็นเรื่องใหญ่ สาเหตุสำคัญมาจากความขัดแย้งเรื่องทำมาหากินระหว่างชนเผ่าชาวมองโกล ที่ยังชีพด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์แบบเปิดกับกลุ่มธุรกิจทำเหมืองถ่านหินซึ่งเป็นชาวจีนฮั่นตั้งแต่เกิดเรื่องมาจนปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีความพยายามปิดไม่ให้เป็นข่าวในบรรดาสื่อหลักของจีน แต่ภายนอกประเทศ กลับมีสื่อมวลชนให้ความสำคัญจับตาดูและรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลหลายประเทศก็เริ่มออกมาแสดงความห่วงใยเกรงว่ารัฐบาลจีนจะใช้ความรุนแรงปราบปราม เพื่อให้การประท้วงยุติโดยเร็วไม่ให้ยืดเยื้อออกไปกว่านี้อีกเพราะนี่ก็เข้าใกล้วันที่ 4 มิถุนายน ซึ่งร่ำลือกันในโลกไซเบอร์ของจีน ว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ เพื่อรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989


                 เรื่องราวความขัดแย้งจนนำไปสู่การประท้วง เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อมีกลุ่มชาวมองโกลที่มีอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ รวมตัวกันประมาณสองร้อยกว่าคน ปิดถนนทางเข้าเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งของชาวฮั่น เพื่อประท้วงผลกระทบที่กิจกรรมทำเหมืองถ่านหินส่งผลต่อทุ่งหญ้าที่ชาวมองโกลใช้เลี้ยงสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้น การเข้ามาของชาวจีนฮั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ยังส่งผลต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่อีกด้วย มาเมื่อวันที่9พฤษภาคม หลังจากการชุมนุมปิดถนนแค่สองวัน หนึ่งในผู้นำกลุ่มประท้วง ตามข่าวบอกว่าชื่อนายเมอร์เจน ก็มีอันถูกรถบรรทุกชนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ผู้เห็นเหตุการณ์ต่างยืนยันว่าไม่ใช่อุบัติเหตุแน่นอน เพราะชาวฮั่นที่ขับรถชนดูจะมีเจตนาชัดเจนว่าต้องการชนให้ถึงตาย เพราะเหยื่อถูกรถยนต์ลากไปไกลกว่ากว่า 140 เมตรหลังจากชนแล้ว เรียกว่าเป็นการฆาตกรรมตัดตอนแกนนำม็อบว่างั้นเถอะ รัฐบาลท้องถิ่นก็ดูเหมือนจะไม่ใส่ใจจัดการอำนวยความยุติธรรมให้เห็น กลับงึมงำๆทำท่าจะเงียบหายปัดเป็นคดีอุบัติเหตุจราจรไปซะงั้น ยิ่งไปกว่านั้น ถัดมาอีก5วัน ก็เกิดเหตุชาวแมนจูในพื้นที่ใกล้เคียงปะทะกับคนงานเหมืองชาวจีน ผลปรากฏมีชาวแมนจูเสียชีวิตอีกหนึ่งราย


                 มาเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ชุมชนชาวมองโกลนั่งรอมาหลายวัน ก็ไม่เห็นกระบวนการยุติธรรมของจีนทำงานซะที เกิดปรากฏการณ์ทาง Social Media มีคนส่งข้อความสั้นผ่านสารพัดสื่อ เรียกร้องชาวมองโกลทั่วเมืองซีลินฮ๊อท ให้ออกมาชุมนุมกันหน้าอาคารที่ทำการรัฐบาล ฝ่ายตำรวจจีนพอรู้ข่าวก็ออกมาสกัดตามเส้นทางต่างๆ ตามรายงานของสื่อนอกบอกว่ามีคนออกมาหลายพัน เกิดการปะทะทำลายข้าวของกันวุ่นวายพอสมควร แต่สื่อของจีนบอกเพียงมีการชุมนุมในเวลาอันสั้นแล้วก็แยกย้ายไป ผมก็ไม่อยู่ในเหตุการณ์เลยไม่รู้จะเชื่อใคร แต่ที่แน่ๆมาถึงตอนนี้เห็นว่าทางรัฐบาลประกาศกฏอัยการศึกไปเรียบร้อยแล้ว แสดงว่าสถานการณ์คงไม่ธรรมดา
                 เรื่องราวความขัดแย้งในทำนองเช่นนี้ หากจะว่ากันตามจริงและเป็นธรรม ก็ต้องบอกว่าไม่ได้เกิดเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการเสียชีวิตของชาวจีนฮั่นในมณฑลเจ้อเจียง คุณเฉียนหยุนฮุ้ย ลุกขึ้นมาร้องเรียนต่อสู้ เรื่องผลกระทบที่โรงงานข้างเคียงก่อให้เกิดกับการทำเกษตรกรรมในตำบลบ้านแก หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าประสบเหตุรถชนอย่างมีเงื่อนงำ กรณีชาวฮั่นต่อสู้กันในเรื่องที่ทำกินก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่กรณีที่เกิดขึ้นในมองโกเลียในเที่ยวนี้ คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจกล่าวได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เหลืออยู่อีกไม่กี่เส้น ก่อนที่ความรุนแรงในวงกว้างจะระเบิดขึ้น




                 ความพยายามในการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ บังคับให้จีนจำเป็นต้องขยายขอบเขตการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่ๆ อยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งเพื่อการผลิตพลังงานป้อนภาคอุตสาหกรรม และเพื่อแสวงหาสินแร่วัตถุดิบการผลิต พื้นที่ที่ถูกผลกระทบมากที่สุดมักอยู่ในเขตที่การสำรวจเดิมยังทำได้น้อย หรืออยู่ในเขตที่เดิมอนุรักษ์ไว้เพราะเป็นเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกลางของจีนก็ส่งเสริมสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่นในเขตตะวันตกที่ห่างไกล     พัฒนายกระดับให้มีความก้าว
หน้าทันสมัยทัดเทียมกับมณฑลต่างๆทางตะวันออก  รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ ต่างก็แข่งขันกันดึงดูดการลงทุน ด้วยการเปิดให้สิทธิพิเศษต่างๆมากมายแก่นักลงทุนจากภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือจีนฮั่นหรือบริษัทที่ชาวจีนฮั่นร่วมทุนกับต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ตัวอย่างที่ว่ามีให้เห็นอย่างชัดเจนหลายต่อหลายกรณี ทั้งในเขตปกครองตนเองธิเบต ชิงไห่ ซินเจียง ยูนนาน กวางสี และมองโกเลีย มาตอนนี้เลยกลายเป็นว่าชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในมณฑลเหล่านี้ ต้องแบกรับภาระต้นทุนทั้งหมดเพื่อการพัฒนาประเทศ นอกจากจะไม่ได้รับอานิสงค์ใดๆแล้ว  วิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพแบบดั่งเดิมยังถูกกระทบ อีกทั้งยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพไปค้าขาย หรือเป็นแรงงานอพยพแบบชาวชนบทอื่นๆที่เป็นจีนฮั่น เพราะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาและวัฒนธรรมประเพณีที่เข้มงวดแตกต่าง




                 การแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเอารัดเอาเปรียบที่จะเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จึงเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่กำลังตกลงบนหลังอูฐ ทับโถมกับน้ำหนักความโกรธแค้นน้อยอกน้อยใจเดิมๆที่ถูกปกครองโดยชาวฮั่น ก็ยังไม่ทราบได้ว่าอูฐจะทนไปได้อีกนานเท่าใด และก็ไม่ทราบได้ว่าฟางเส้นสุดท้ายจริงๆจะเป็นเส้นไหน ทราบแต่เพียงว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากประสบการณ์ที่จีนเคยใช้กำลังเข้าปราบอย่างเข้มงวดรุนแรง ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผลไปอีกนานแค่ไหน ผนวกเข้ากับข่าวการรวมตัวชุมนุมทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นวันนี้พรุ่งนี้ ก็เลยดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องจับตาเฝ้ามองดูประเทศจีนเป็นพิเศษ

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจ้าสัวจีนยุคใหม่

             โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


    เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวที่ปรากฏอยู่ตามหน้าข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์จีนฉบับยักษ์ๆเกือบทุกฉบับ เป็นข่าวการรายงานผลสำรวจจัดอันดับเศรษฐีจีนประจำปี 2010 ที่เพิ่งจะเผยแพร่ออกมา (ที่จริงมีการแถลงข่าวตั้งแต่วันเสาร์ที่เซี่ยงไฮ้ แต่ไหงมาลงข่าวเอิกเกริกวันจันทร์ก็ไม่ทราบ) โดยสำนักวิจัยและจัดอันดับทางเศรษฐกิจของนายหูรุ่น รายงานผลการสำรวจจัดอันดับเศรษฐีจีนครั้งนี้ ระบุว่ามีมหาเศรษฐีจีนที่มีเงินทองระดับพันล้านหยวนขึ้นไป เฉพาะที่มีถิ่นพำนักประจำอยู่ในประเทศ (ไม่รวมเศรษฐีจีนโพ้นทะเลหรือในไต้หวัน) ไม่ต่ำกว่า 1,900 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้อีกกว่า 400 รายชื่อ สัปดาห์นี้ผมก็เลยขอนำท่านผู้อ่านมาสัมผัสเรื่องราวของเศรษฐีใหม่ชาวจีนเหล่านี้สักหน่อย



                    ขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับนายหูรุ่น ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งสำนักจัดอันดับเศรษฐกิจ และข้อมูลเศรษฐีผู้ประกอบกิจการต่างๆในประเทศจีน ที่จริงตัวนายหูรุ่นนั้น เป็นชาวอังกฤษที่เข้ามาทำงานในประเทศจีนตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นับเป็นชาวต่างชาติที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและแวดวงนักธุรกิจชาวจีนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง อีกทั้งยังพูดภาษาจีนได้คล่องมากๆ เป็นที่ยอมรับเชื่อถือแม้ในหมู่ชาวจีนเอง นายหูรุ่นมีชื่อจริงว่านาย Rupert Hoogewert เกิดที่ประเทศลักแซมเบอร์กเมื่อปี 1970 อายุเพียง41 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนดังEton College และปริญญาตรีสาขาเอกภาษาจีนโทภาษาญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัย Durham ในอังกฤษ เข้ามาทำงานในประเทศจีนหลังจากเรียนจบใหม่ๆ พอปี1999 ก็เริ่มต้นจัดตั้งสำนักจัดอันดับข้อมูลมหาเศรษฐีจีนในฐานะสำนักวิจัยอิสระ คนจีนออกเสียงชื่อแกลำบาก ก็เลยตั้งชื่อให้แกใหม่เป็นเสียงแบบจีนจีน ว่านายหูรุ่น และเรียกรายงานการสำรวจของแกในแต่ละปีว่า รายงานประจำปีหูรุ่น นอกจากจัดอันดับเศรษฐีแล้ว นายหูรุ่นยังดำเนินงานสำรวจวิจัยเศรษฐกิจจีนในแง่มุมอื่นๆ จัดทำเป็นรายงานเฉพาะด้านรายเดือน รายไตรมาส และรายปี ให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาแก่ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศจีน ทำมาหากินร่ำรวยจัดเป็นเศรษฐีคนหนึ่งที่มีอายุน้อยและประสบความสำเร็จสูง



                   กลับมาที่ข้อมูลเศรษฐีจีนยุคใหม่ประจำปีนี้ (ข้อมูลเป็นของปี 2010 แต่ถือว่าเป็นเศรษฐีพันล้านประจำปี 2011) รายงานของปีนี้ นายหูรุ่นมุ่งรวบรวมข้อมูลเจาะลึกบรรดาเศรษฐีจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาติดอันดับเศรษฐีพันล้าน จากรายงานของแก กว่าร้อยละ 80 เป็นเศรษฐีใหม่ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเองจากที่ไม่มีอะไรเลยมาเป็นสินทรัพย์นับพันล้าน ไม่ได้เป็นลูกหลานเศรษฐีรับมรดกตกทอดจากพ่อแม่แต่อย่างไร ไม่เหมือนบรรดาเจ้าสัวจีนที่เราคุ้นเคยรู้จัก หรือภาพลักษณ์ที่เห็นจากละครทีวี ในกลุ่มเศรษฐีพันล้านที่ติดอันดับปีนี้ มีอยู่ 56 รายที่อายุต่ำกว่า 40 ปี 44 รายในกลุ่มนี้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเองมีเพียง 12 รายที่พ่อแม่มีฐานะดีและออกทุนรอนหรือให้ทรัพย์สินเริ่มต้นธุรกิจให้  ต่างจากเศรษฐีรุ่นเก่าที่อดออมเก็บเล็กประสมน้อย เศรษฐีใหม่กลุ่มนี้เป็นนักแสวงหาโอกาสและมุ่งมั่น เกือบทั้งหมดจบจากมหาวิทยาลัย และเกือบร้อยละ20สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท  ในขณะที่เกือบร้อยละ80ของมหาเศรษฐีจีน นิยมส่งลูกไปศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่ในระดับมัธยมปลาย หรือช้าสุดในระดับปริญญาตรี  ส่วนใหญ่ไปศึกษาต่อในสาขาบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ และในสาขาเทคโนโลยีประยุกต์ ในภาพรวมของเจ้าสัวจีนยุคใหม่ กลุ่มธุรกิจที่มีเศรษฐีพันล้านมากที่สุดคือกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสาร กลุ่มธุรกิจบันเทิง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตตามลำดับ 



                     หากเปรียบเทียบกับข้อมูลของนิตยสาร Forbes ประเทศจีนมีมหาเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา กล่าวคือมีจำนวนเศรษฐีในระดับพันล้านเหรียญสหรัฐที่อาศัยอยู่ในจีน 115 ราย และรวมเศรษฐีในฮ่องกงและไต้หวันด้วย ก็จะมีมากถึง 213 ราย ครอบครองสินทรัพย์รวมกว่า 566,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบแล้วเป็นจำนวนเศรษฐีร้อยละ 12.6ของมหาเศรษฐีพันล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก 1,210 คน ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมมหาเศรษฐีเชื้อสายจีนที่กระจายอยู่ในโพ้นทะเลอีกจำนวนมาก




                      ผลจากการพัฒนาและขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้แบบแผนและลักษณะเฉพาะของเศรษฐีใหม่ชาวจีน แตกต่างไปจากในประเทศอื่นๆไม่ว่าในอเมริกา ยุโรป หรือในเอเชียด้วยกัน  ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวยระดับพันล้าน มักกระจุกตัวกันอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ทำการผลิตในด้านหนึ่งด้านใดอย่างต่อเนื่องยาวนานจนประสบผลสำเร็จ จนกลายเป็นผู้นำสำคัญในอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่ในประเทศจีน เศรษฐีใหม่พันล้านมักมีที่มาจากนักธุรกิจที่ประกอบอุตสาหกรรมหลายๆประเภทในเวลาเดียวกัน หรือเปลี่ยนแปลงประเภทของธุรกิจที่ทำบ่อยครั้งหลากหลาย และมีความพร้อมที่จะรุกเข้าไปในธุรกิจใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีประสบการณ์เดิมเป็นทุนอยู่หรือไม่ก็ตาม ในยุโรปและบางกรณีในญี่ปุ่นและเกาหลี เศรษฐีใหม่มักเกิดจากลูกหลานตระกูลใหญ่ทางธุรกิจ ที่ได้เปรียบมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้หรือฝึกงานจากธุรกิจของตระกูล ก่อนจะเข้าสืบทอดธุรกิจหรือแยกออกมาทำธุรกิจของตนเองจนประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีใหญ่  แต่ในประเทศจีน เศรษฐีส่วนใหญ่มีที่มาจากครอบครัวเกษตรกรที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ทางธุรกิจมาก่อนเลย อาศัยจังหวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจลองผิดลองถูกในระยะเริ่มต้น เมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ก็พร้อมจะเข้าลงทุนใหม่ในธุรกิจอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เดิม แต่ใช้ทุนที่สะสมอยู่ทุ่มซื้อเทคโนโลยีหรือบุคลากรที่มีความรู้เข้ามาทำงานให้ โดยเน้นกลยุทธการต่อยอดและสร้างเครือข่ายพันธมิตรมากกว่าการสะสมและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง
                         ภาพเจ้าสัวจีนเดิมๆ แบบโบราณที่เราเห็นในละครทีวี(เจ้าสัวฉัตรชัยในมงกุฎดอกส้ม หรือลูกๆแกในละครภาคต่อ) หรือความคิดที่ว่าเรารู้จักนักธุรกิจจีนดีแล้ว เพราะมีเจ้าสัวจีนในเมืองไทยตั้งหลายคนเดินไปมาให้เห็นอยู่ อาจกลายมาเป็นจุดอ่อนของคนไทยในอนาคต เพราะเศรษฐีจีนรุ่นปัจจุบัน เป็นผลผลิตของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมาหรือหากพูดให้เป็นวิชาการหน่อย ก็คือเป็นผลผลิตภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสังคมจีนสมัยใหม่ ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศจีนหรือคนจีนที่เรารู้จักจากหนังสือนวนิยายทั้งหลายที่อ่านกันอยู่ หรือที่เอามาทำละครทีวีกันในปัจจุบัน


วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รถไฟความเร็วสูง

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





              เมื่อวันที่25-26 เมษายนที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆ โผล่อยู่ในหนังสือพิมพ์รายวันของจีนแถลงข่าวการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากคุนหมิงถึงสิงคโปร์ ผมเองก็มองข้ามไปไม่คิดว่าน่าสนใจ เพราะเป็นเพียงเรื่องต่อเนื่องจากข่าวใหญ่ที่มีการแถลงใหญ่โตมาก่อนหน้านี้แล้ว มาต้นสัปดาห์นี้ ก็มีข่าวเกี่ยวเนื่องกันอีกข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อีกทั้งยังมีสกู๊ปข่าวพิเศษทางทีวีช่องข่าวเศรษฐกิจของจีน ว่าด้วยยุทธศาสตร์และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอันเนื่องมาจากการขยายเส้นทางรถไฟ(หรือรถไฟฟ้า)ดังกล่าว สัปดาห์นี้อดรนทนไม่ไหว ผมก็เลยขอเลือกเอามาเป็นประเด็นนำเสนอท่านผู้อ่าน ยังไงก็อย่าหาว่าเป็นข่าวเก่าตกสำรวจนะครับ





                  ในส่วนของประเทศจีนนั้น หลังจากปี 2006 เป็นต้นมาจีนไม่เพียงมองการพัฒนาเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟของตนเข้ากับแผนของสหประชาชาติเท่านั้น แต่ยังได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการขยายเส้นทางและปรับปรุงทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติม จนเมื่อปีสองปีมานี้ จีนได้ประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาการขนส่งภายใน ให้เป็นระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อหัวเมืองสำคัญต่างๆของจีนให้สามารถเดินทางถึงกันได้อย่างรวดเร็ว เป้าหมายที่วางไว้ก็คือภายในปี 2015 (บางเมือง ปี 2020 เป็นอย่างช้า) จากมหานครปักกิ่งชาวจีนจะสามารถเดินทางไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศได้ในเวลาน้อยกว่า 8 ชั่วโมง(อาจจะต้องยกเว้นนครลาซาในธิเบต) เป้าหมายทำนองแบบนี้ไม่ใช่เรื่องมาคุยข่มกันเล่นๆ เพราะเวลานี้รถไฟความเร็วสูงของจีนที่วิ่งกันอยู่ ก็สามารถทำความเร็วได้ถึง 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ผมเองเคยเดินทางจากนครซีอานในมณฑลส่านซีไปนครเจิ้งโจวมณฑลเหอหนานด้วยรถยนต์ ใช้เวลาหมดไปเกือบ 6 ชั่วโมง มาเมื่อสองเดือนก่อนได้มีโอกาสใช้บริการรถไฟความเร็วสูงของจีน ปรากฏว่าช่วงระยะทางเดียวกัน ใช้เวลาเพียง 1ชั่วโมงกับ 51 นาทีเท่านั้น เส้นทางปักกิ่ง - เซี้ยงไฮ้ระยะทาง 1,318 กิโลเมตรที่กำลังจะเปิดให้บริการใหม่ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ ก็จะใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น



           ความสำเร็จของการพัฒนาระบบ การขนส่งทางรางในประเทศจีนนี้เอง ได้ทำให้จีนตั้งเป้าหมายก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการเจรจากับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟตามกรอบข้อตกลงของ Trans Asian Railway เดิมในส่วนโครงข่ายตะวันออกเฉียงใต้ มาเป็นระบบรถไฟความเร็วสูง เท่าที่ทราบในเวลานี้ จากข้อมูลของฝ่ายจีน เห็นว่าเคลียร์กันได้หมดทั้ง 7 ประเทศที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงเป็นที่มาของข่าวการลงมือก่อสร้างเส้นทางเมื่อสัปดาห์ก่อน เส้นทางสายแรกที่กำลังลงมืออยู่นี้ จากนครคุนหมิงวิ่งมาทางตะวันออกเชื่อมกับศูนย์การขนส่งเมืองชายแดนบ่อหานที่จีนกำลังพัฒนาอยู่ ข้ามชายแดนเข้าประเทศลาววิ่งตรงเข้าเวียงจันทน์ ข้ามเข้ามาประเทศไทย ผ่านกรุงเทพฯ ลงไปทางทิศใต้ เข้าสู่เขตแดนมาเลเซียและสุดทางที่สิงคโปร์ ส่วนสายที่สองนั้น ข่าวยังไม่ได้ระบุว่าจะลงมือเมื่อไร แต่การสำรวจศึกษาและออกแบบ บริษัทของจีนได้ทำเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เส้นทางนี้เมื่อออกจากประเทศจีนก็จะเลาะแนวทางรถไฟเดิมทางตะวันออกของเวียดนามลงมากัมพูชา ก่อนที่จะวกมาทางทิศตะวันตกตรงเข้าเชื่อมกับเส้นทางแรกที่กรุงเทพฯ เส้นทางที่สามก็จะมาทางด้านประเทศพม่า ด้านหนึ่งมุ่งไปอินเดีย อีกด้านหนึ่งก็วกเข้ามาเชื่อมเส้นแรกที่กรุงเทพฯเช่นเดียวกัน คนไทยเราเมื่อทราบข่าวการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงตามแผนข้างต้น ก็ออกอาการตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย เพราะอยู่ๆก็ส้มหล่น กรุงเทพฯกลายมาเป็นสี่แยกชุมทางใหญ่ เป็นศูนย์กลางเลยก็ว่าได้ มีจีน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์นั่งรถไฟความเร็วสูงผ่านไปมาคึกคักอลหม่านน่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง




      ผมเองก็ใช่ว่าจะไม่ตื่นเต้น เพียงแต่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะตื่นเต้นอย่างไรให้ดูดีมีเหตุมีผลสักหน่อยว่าที่จริงแนวทางการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางซีกตะวันออกเฉียงใต้ของโครงข่าย Trans Asian Railway (TAR) ซึ่งริเริ่มคิดกันมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960 แต่ก็ติดๆ ขัดๆ ด้วยเหตุทางการเมืองในยุคสงครามเย็น และข้อจำกัดขัดข้องของขนาดรางที่ต่างคนต่างใช้ อีกทั้งยังขาดงบประมาณการลงทุนในการสร้างทางเชื่อมต่อเพิ่มจากของเดิมที่พอมีอยู่แล้ว เพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในปี 2006 เมื่อสหประชาชาติโดยองค์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเอเชียแปซิฟิกเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและลงนามข้อตกลงในการพัฒนาเชื่อมต่อทางรถไฟเข้าด้วยกันของ 17 ชาติในเอเชีย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2006 หากดูจากแผนที่ก็จะเห็นว่าเส้นทางสายคุนหมิง-สิงคโปร์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้โดยผ่านจากคุนหมิงมากรุงเทพฯ เข้ามาเลเซียก่อนที่จะไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ เป็นหนึ่งใน 4 โครงข่ายต่อเชื่อมทวีปเอเชียเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะไปเชื่อมกับทวีปยุโรปตามแผนของสหประชาชาติ

                       ภูมิภาคที่เรียกกันว่าเอเชียตะวันออกนี้ แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยแยกจากกันเป็นอิสระหรอกครับ เชื่อมถึงกันทั้งโดยทางการค้า การเมือง และทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด ประเทศไทยเราเอง ก็เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างจีนและอินเดียมาแต่โบราณ ด้วยเหตุที่มีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ จีนถูกกันออกไปด้วยเหตุทางการเมือง คนไทยเราและเพื่อนบ้านแถบนี้ก็เลยหันไปคบหากับตะวันตกมากเป็นพิเศษ จนแยกมาเรียกเป็นกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาบัดนี้ โดยการริเริ่มของจีน ตั้งแต่หลังสงครามเย็นและอาเซียนบวกสามเป็นต้นมา อุปสรรคขัดขวางทางการเมืองก็หมดไป ข้อจำกัดทางภาษีและการค้าก็หมดไปเพราะข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน -อาเซียน หากแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งสามเส้นทางสร้างเสร็จ ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ก็จะหมดไปด้วย(คุนหมิง-สิงคโปร์ใช้เวลาแค่ 10 ชั่วโมงกว่าๆ) ผมเดาว่าอะไรต่อมิอะไรแถวๆนี้รวมทั้งในบ้านเราก็จะเปลี่ยนไปมาก พูดเป็นภาษาวิชาการหน่อยก็คือ รถไฟความเร็วสูงทั้งสามสายจะผลิกเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของทั้งภูมิภาคอย่างขนานใหญ่ เราจะนั่งมองดูรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านไปมาหน้าบ้านด้วยความตื่นเต้นดีใจเพราะเห็นของแปลกของใหม่ หรือควรต้องลุกขึ้นมาคิดอ่านรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่เพียงกับบ้านเราแต่กับทั้งภูมิภาค