ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยกเครื่อง SMEs จีน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
           
             ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านที่สนใจข่าวสารจากต่างประเทศ (ไม่นับคดีไทย-เขมรในศาลโลก) คงได้รับทราบกันบ้างแล้วว่าเศรษฐกิจทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา ออกอาการเดี้ยงๆ น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย น่าห่วงแค่ไหนก็คงสังเกตดูได้จากราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นทะลุเพดานแล้ว ทะลุเพดานอีก ในขณะเดียวกันทางฝั่งประเทศจีน ก็มีข่าวเหมือนประชดชะตากรรมเศรษฐกิจตะวันวันตก ผลจากการสำรวจโดยหน่วยงานภาครัฐของจีนรายงานว่า ทั้งปริมาณการลงทุนนอกประเทศ และจำนวนบริษัทที่จีนไปจัดตั้งหรือกว้านซื้อไว้ในต่างประเทศ มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเองก็ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงในตลาดใหม่ๆ เช่นเอเชียกลาง แอปริกา และอเมริกาใต้ แม้ในยุโรปและอเมริกา เวลานี้รัฐวิสาหกิจและเอกชนจีนก็กำลังเดินสายทัวร์เลือกบริษัทที่เจอพิษเศรษฐกิจ ช็อปของถูกกันอย่างสนุกสนานอยู่ ยอดรวมมูลค่าการลงทุนนอกประเทศเท่าที่มีการเปิดเผยจากสภาส่งเสริมการลงทุนนานาชาติ สรุปว่าในช่วงต้นปีนี้มูลค่าการลงทุนต่างประเทศของจีนสูง กว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ยอดรวมการลงทุนต่างประเทศสะสมของจีนขยับขึ้นเป็น 310,000 ล้านเหรียญสหรัฐเรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์กันว่า ภายใต้นโยบายการลงทุนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่12 ของจีน เป็นไปได้ว่า เมื่อถึงปี 2020 ยอดรวมสะสมการลงทุนต่างประเทศน่าจะขยายไปถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
            อย่างไรก็ดี เรื่องที่ผมกำลังจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในสัปดาห์นี้ไม่ใช่เรื่องทุนจีนในต่างประเทศหรอกครับ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในประเทศจีน ที่ต้องเกริ่นนำเสียยืดยาวเกี่ยวกับทุนจีนที่ไปนอก ก็เพราะทั้งสองเรื่องนี้ท้ายที่สุดแล้วจะมีความเกี่ยวข้องส่งผลต่อกัน การไปลงทุนในต่างประเทศที่บรรดารัฐวิสาหกิจและเอกชนจีน กำลังนิยมทำกันอยู่ในเวลานี้ หากจะว่าไปแล้ว เป็นเรื่องการออกไประบายทุนและเทคโนโลยีที่จีนดูดซับเอาไว้มากมาย จนไม่สามารถแบกเอาไว้เองได้หมด ประกอบกับจังหวะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ กำลังมีปัญหา เป็นโอกาสให้สามารถเลือกซื้อของถูก อีกทั้งยังช่วยไม่ให้เศรษฐกิจภายในประเทศจีนร้อนระอุจนเกินไป แต่หากจะหวังทำกำไรเฉพาะหน้าหรือจะให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวจีนในประเทศโดยตรงนั้น คงต้องรอผลอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ในขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและหัตถอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กของจีน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศแล้ว ยังเป็นที่มาของรายได้สำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจภายในของจีนให้เดินหน้าไปได้  เฉพาะหน้าในเวลานี้ รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้หน่วยงานหลักๆ สี่แห่งได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลัง ทำการศึกษาและกำหนดแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กเหล่านี้ จากการค้นคว้าข้อมูลย้อนหลัง พบว่าที่จริงแล้วจีนพยายามจะพัฒนาธุรกิจในกลุ่มนี้มาโดยตลอด แต่ก็มีอุปสรรคอยู่มาก ทำให้ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ ในกลุ่มนี้ให้ได้มาตรฐาน และมีความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจในลักษณะเดียวกันของประเทศในกลุ่มยุโรป หรือแม้แต่บางกลุ่มธุรกิจของประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน ที่ผ่านมา การจะออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กภายในประเทศก็ทำได้ยาก เพราะมีกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายมาก บ้างธุรกิจก็มีจำนวนคนงานแตกต่างกันตั้งแต่หลายพันจนถึงไม่กี่สิบคน หรือมียอดขายต่อปีหลายร้อยล้านหยวนไปจนถึงไม่กี่แสนหยวน การจะกำหนดเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือทางภาษีก็เลยทำได้ยาก มาบัดนี้ จากการร่วมมือกันของทั้งสี่หน่วยงาน จีนได้กำหนดแบ่งธุรกิจ SME ออกเป็นกลุ่มๆ แยกตามแรงงานที่ใช้ ยอดการขาย ความสามารถในการส่งออก ประเภทของหัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร อุตสาหกรรมไอทีขนาดกลางและเล็ก อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือแต่ละกลุ่มแยกจากกัน สอดคล้องตรงกับลักษณะทางธุรกิจของแต่ละกลุ่ม
            ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ในการจัดระบบให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนามาตรฐานธุรกิจ SME เที่ยวนี้ จีนได้เพิ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาในแผนการช่วยเหลือและพัฒนาด้วย นั่นก็คือ กลุ่มธุรกิจขนาดจิ๋วที่มีศักยภาพในการส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่มีคนทำงานไม่ถึง 20 คน แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ บริการสูง เช่น ในธุรกิจกลุ่มไอทีสารสนเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ไม่ต้องการแรงงานมาก แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถแข่งขันส่งออกได้ ผมเห็นที่ยกตัวอย่างมาในรายงานของทางการจีน ก็เช่น ธุรกิจพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ (ไม่แน่ใจว่า GMO หรือเปล่า) ธุรกิจการออกแบบผลิตภัณฑ์ ธุรกิจผลิตสื่อโฆษณา ธุรกิจผลิตเนื้อหาสารสนเทศด้านบันเทิง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค่ายศิลปินการแสดง งานศิลปะเชิงพานิชย์ ฯลฯ  ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาธุรกิจขนาดจิ๋วเหล่านี้ แม้ใช้แรงงานในแต่ละธุรกิจไม่มาก แต่กลับมีแรงงานจีนถึงเกือบร้อยละ 38 อยู่ในกลุ่มนี้  ที่ผ่านมาถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะแม้จะมีความคิดสร้างสรรค์ แต่มักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อต้องแข่งขันกับการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมักถูกลอกเลียนแบบและละเมิดลิขสิทธิ์โดยอุตสาหกรรมที่ใหญ่กว่า ฉะนั้น หากรัฐบาลสามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดจิ๋วเหล่านี้ให้อยู่รอดได้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการค้นคว้าสร้างนวัตกรรมแล้ว ก็ยังจะเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการลงทุนขนาดใหญ่ และท้ายที่สุดสามารถต่อยอดกับธุรกิจขนาดใหญ่ของจีน ที่ออกไปลงทุนหรือซื้อกิจการภายนอกประเทศ เพราะในระยะยาว จีนจำเป็นต้องมุ่งไปสู่การผลิตทางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้การวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ จิ๋วๆ เหล่านี้
            ผลที่เกิดขึ้นในภาพรวมอาจดูไม่เป็นข่าวดีเท่าไรนัก กับประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย เราไม่เพียงต้องแข่งขันกับจีนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และกลางที่มีทุนสูง และจีนได้เปรียบอยู่แล้ว แม้ในระดับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก แนวโน้มที่จะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นกำลังเกิดขึ้นแน่ ก็ยังนึกไม่ออกว่าSME บ้านเราจะลงเอยแบบไหน

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำให้การของนักศึกษาไทย

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
           
           มาถึงศักราชนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงทราบกันดีว่าความนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในประเทศจีน ได้กลายมาเป็นกระแสนิยมที่ฮิตติดอันดับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระแสฮิตเรียนต่อในประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตัวเลขจริงๆ จะเป็นเท่าใดนั้น ผมก็ยังไม่เคยได้วิเคราะห์ตรวจสอบอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะหลายครั้งที่สอบถามคนที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าจะมีตัวเลข ก็ได้คำตอบไม่สู้ชัดเจนเท่าไรนัก ที่พออาศัยได้ก็เป็นตัวเลขของสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง จำนวนรวม 13,177 คน ซึ่งเป็นตัวเลขทางการของนักเรียนและนักศึกษาไทยในปีการศึกษา 2553-2554 นี้ (เทียบกับปี 2552-2553 อยู่ที่ 11,397 คน) แต่ยังเชื่อกันว่ามีนักเรียนไทยที่ไปทดลองเรียนภาษา หรือกลุ่มนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนหรือโครงการศึกษาสองสถาบัน ที่ส่งนักศึกษาไปเรียนกับมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศจีนต่อเนื่อง 1 ภาคการศึกษา หรือหลายแห่งก็ส่งไป 1 ปีการศึกษา ตัวเลขชุดหลังนี้เชื่อกันว่าน่าจะมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าตัวเลขการไปศึกษาต่ออย่างเป็นทางการตามข้อมูลของสถานทูตไทย
                       แต่เรื่องที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องชักชวนกันส่งลูกหลานไปเรียนเมืองจีน แต่กำลังจะนำเสนอภาพสังคมจีนสมัยใหม่ที่ปรากฏสะท้อนผ่านสายตาของนักเรียนนักศึกษาไทย ด้วยประจวบเหมาะว่าช่วงนี้ เป็นช่วงปิดเทอมในจีน นักศึกษาไทยจำนวนมากกำลังเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน จะกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งก็ตอนประมาณเดือนกันยายน เฉพาะช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพบพูดคุยกับนักศึกษาไทย (หรือจะให้ฟังดูเก๋หน่อย ก็นักเรียนนอกจากประเทศจีน) หลายต่อหลายคนด้วยกัน หากเป็นเมืองไทยเราสมัยโบราณ ใครที่ไปนอกไปนากลับมา หรือเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาใหม่ ก็ต้องเรียกตัวมาสอบถามเรื่องราวบันทึกเป็นจดหมายเหตุเอาไว้ ทำนองว่าจะได้ใช้เป็นข้อมูลการข่าวจากภายนอก เนื่องจากในสมัยโบราณ การไปมาต่างประเทศยังเป็นเรื่องลำบากไม่ปกติธรรมดาอย่างทุกวันนี้ ผมก็เลยถือโอกาสนำเอาประเด็นส่วนใหญ่ที่ได้พูดคุยกัน มาเรียบเรียงเป็นจดหมายเหตุเล็กๆ จากคำให้การของบรรดานักศึกษาที่ได้พบปะ สาระก็พอสรุปได้เป็นสามเรื่องหลักๆ คือ
เรื่องที่หนึ่ง ทุกคนยอมรับว่าจีนเจริญเติบโตขึ้นอย่างมาก มากจนนักศึกษาเหล่านี้ตกใจ ไม่ได้คิดมาก่อน หลายคนรู้สึกน้อยใจในตอนแรก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเกลี้ยกล่อมให้ไปเรียนต่อในประเทศจีน ส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าอยากไปยุโรปหรืออเมริกามากกว่า แต่พอไปอยู่ในประเทศจีนจริงๆ จึงได้ตระหนักว่าผู้ปกครองและตัวเองตัดสินใจไม่ผิด เกือบทุกคนที่ผมได้คุยด้วยเห็นความสำคัญของจีนที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของโลก รวมทั้งประเทศไทยเราก็เลี่ยงไม่พ้น การไปศึกษาในประเทศจีน จึงเป็นเรื่องที่จะทำให้เขามีความได้เปรียบ ไม่ว่าจะกลับมาทำงานทำการในอาชีพแขนงใดก็ตาม ขนาดของประเทศ ประชากร และระดับการพัฒนาทางวัตถุอย่างรวดเร็ว เป็นหัวเรื่องหลักๆของการสนทนา สะท้อนให้เห็นทัศนะที่นักศึกษาไทยเหล่านี้มีต่อประเทศจีน โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจะไปศึกษาได้เพียงไม่นาน หลายคนบอกกับผมว่า “มันหย่ายยยย...ม๊ากกก เหมือนเอาประเทศ 6-7 ประเทศ มารวมกัน”  หรือ  “เมือง(ปักกิ่ง)มันใหญ่มาก จะข้ามไปซื้ออะไรสักอย่างก็ต้องรถไฟใต้ดินหมด”  หรือ  “สนามบินมันใหญ่จนหลงทาง เหมือนเอาสุวรรณภูมิหลายๆ อาคารมาต่อกัน”  ฯลฯ
เรื่องที่สอง ที่มีการคุยกันเยอะ คือ เรื่องการใช้ชีวิตและสภาพของสังคมจีนที่มองจากมุมของผู้ที่ต้องไปอาศัยอยู่จริงเป็นเดือนเป็นปี ไม่ใช่จากมุมมองของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศจีนอย่างฉาบฉวย นักศึกษาไทยทุกคนหลังจากที่อยู่ไประยะหนึ่ง ก็จะปรับเปลี่ยนมุมมองและปรับตัวเป็นคนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อภาษาจีนแข็งแรงจนสื่อสารอ่านออกพูดได้คล่องแล้ว จากที่เดิมตอนไปใหม่ๆ อาจติดนิสัยสบายๆ แบบเมืองไทย กินของง่ายๆ ซื้ออาหารจากแผงลอย ดื่มน้ำจากก๊อก เพราะเข้าใจว่าสะอาดเหมือนที่การประปานครหลวงเราโฆษณาไว้ พอรู้เรื่องมากขึ้นก็จะเริ่มดำรงชีวิตแบบคนจีนแท้ตามหัวเมืองใหญ่ เริ่มสนใจข่าวลือและระมัดระวังตัวมากขึ้น ทั้งในเรื่องอาหารการกินที่ลือกันว่ามีสารพิษและสารพัดเคมีแต่งรสแต่งสีแต่งกลิ่น อันตรายจากมลพิษสารพัดด้าน ทั้งยังต้องระมัดระวังการฉ้อฉลของคนไม่ว่าเรื่องซื้อขาย หลอกลวง โฆษณา สินค้าขายตรง  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็ต้องระวังดูแลของตัวเองเป็นหลัก ไว้ใจพึ่งพาใครได้ลำบาก ยืนกินของปิ้งย่างอยู่ข้างถนน (แบบที่นักท่องเที่ยวชอบทำกัน) ก็อาจโดนแก๊สหุงต้มในแพงลอยระเบิดใส่ได้ สรุปจากคำให้การของเด็กไทยได้ตรงกันว่า ความเจริญที่เกิดขึ้นในประเทศจีนที่หลายต่อหลายชาติพากันทึ่งกึ่งอิจฉา กำลังนำพาให้สังคมจีนแตกแยกออกเป็น คนจนและคนรวย อย่างชัดเจน หลายกรณีที่มีข่าวทำร้ายเด็กอนุบาล ก็ลือกันว่าเป็นการกระทำอย่างจงใจที่จะระบายความแค้นของคนยากคนจนต่อลูกหลานคนรวย หรือการส่งสินค้าเกษตรที่ปนเปื้อนสารมาขายในเมือง ก็เพราะเกษตรกรในชนบทรู้สึกว่าคนในเมืองรวยแล้ว จะเจ็บจะป่วยก็มีเงินทองรักษา ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบห่วงใยคนรวยในเมืองก็ได้
เรื่องสุดท้าย ที่นักศึกษาไทยทุกคนคิดเห็นคล้ายๆกัน และถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง คือพอมองกลับมาที่ประเทศไทยบ้านแท้ๆ ของเขาแล้ว เขาบอกเหมือนๆ กันว่า”เป็นห่วงอนาคตประเทศไทย” เราจะอยู่กันอย่างไรในอีก10-20 ปี ข้างหน้า ท่ามกลางการไหลทะลักของ ทุน แรงงาน (ผู้ประกอบการ ) และวัฒนธรรมของจีน ที่กำลังโถมออกทุกทิศทาง  ผู้ใหญ่ทั้งหลายคงต้องเลิกทะเลาะทุบตีกัน แล้วหันมาช่วยกันตอบคำถามของเด็กนักศึกษาชาวไทยเหล่านี้ด้วย

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประตูใหญ่สู่ตะวันตก

รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         
              ขออนุญาตรายงานตัวกลับมาทำหน้าที่รับใช้ท่านผู้อ่านเหมือนเช่นเคยครับ ว่าที่จริงผมก็ไม่ได้หนีไปเที่ยวที่ไหน แต่ที่ขาดหายไปหนึ่งสัปดาห์ก็ด้วยเหตุพื้นที่หน้ากระดาษไม่เหลือให้ผมเลย เนื่องจากถูกบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายซื้อพื้นที่ยึดไปซะหมด เพราะสัปดาห์ก่อนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เป็นโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผมก็เลยได้หยุดโดยปริยาย มาบัดนี้ ใครเป็นใคร ชนะกันกี่ที่นั่ง ฟอร์มรัฐบาลหกพรรคเรียบร้อยไปแล้วอย่างไร เชื่อว่าท่านผู้อ่านก็คงได้รับทราบกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งความหวังว่าประเทศไทยจะได้เดินหน้าเต็มสูบกันเสียที
                 ในระหว่างที่บ้านเรานั่งลุ้นผลการเลือกตั้งกันอยู่นั้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าข่าวต่างๆ ในประเทศจีนก็มีความคึกคักเหมือนเช่นเดิม เรื่องการเลือกตั้งในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในความสนใจหลักที่สื่อมวลชนจีนแขนงต่างๆ ติดตามรายงานข่าวอยู่ด้วยค่อนข้างมาก แต่ที่ผมจะนำเสนอท่านผู้อ่านในวันนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการขยายและปิดใช้เส้นทางสำคัญทางภาคตะวันตกของจีน เป็นทางรถไฟที่เชื่อมต่อมณฑลต่างๆ ทางตะวันตกของจีนกับประเทศในยุโรป ผมได้เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านรับทราบเกี่ยวกับการขยายเครือข่ายการขนส่งทางรางของประเทศจีนไปแล้วอย่างน้อยสองครั้ง แต่ยังไม่เคยได้พูดถึงเส้นทางลำเลียงสินค้าสายหลักที่เป็นเสมือนประตูบานใหญ่สู่ทวีปยุโรป เพราะไม่ได้คิดว่าจะปิดใช้เส้นทางอย่างเป็นทางการได้รวดเร็วขนาดนี้
         เมื่อกลางดึกคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรก ซึ่งบรรทุกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคและจอภาพแอลซีดีเต็มแปดตู้โบกี้สินค้า ได้ออกเดินทางจากเมืองฉงชิ่งในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกของจีน มุ่งหน้าสู่ประเทศเยอรมนี โดยจะใช้ระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 13 วัน รวมระยะทาง11,179 กิโลเมตร ผ่านมณฑลซินเจียง ประเทศคาซัคสถาน ประเทศรัสเซีย ประเทศเบลารุส ประเทศโปแลนด์ โดยมีจุดหมายปลายทางขนถ่ายสินค้าส่งออกชุดแรกนี้ที่สถานีรถไฟเมือง Duisburg ของฝั่งเยอรมนีตะวันออก นับเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกของจีนที่เปิดใช้เส้นทางข้ามทวีปเส้นนี้ หลังจากการเจรจาทำข้อตกลงผ่านแดนและการพัฒนาเชื่อมต่อเส้นทางกันมาเกือบสองปี
                 เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าดังกล่าวนี้ หากว่าตามจริงก็เป็นเส้นทางที่มีมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี แต่เนื่องจากไม่มีการพัฒนาอย่างเป็นกิจลักษณะ เลยทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จนเมื่อจีนเริ่มโครงการพัฒนาภาคตะวันตกอย่างเอาจริงเอาจัง ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทคส่วนหนึ่งจากมณฑลที่พัฒนาแล้วทางชายฝั่งตะวันออกมาไว้ในแถบมณฑลตะวันตก โจทย์หรือปัญหาสำคัญเรื่องทางออกสู่ทะเล หรือประตูที่จะกระจายสินค้าไปยังตลาดปลายทางในยุโรป ผลักดันให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการทำข้อตกลงการส่งสินค้าผ่านแดน ตัดขั้นตอนจุกจิกซ้ำซ้อนของการคิดภาษีขาเข้า-ขาออก ในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังต้องลงทุนเชื่อมต่อเส้นทางและปรับปรุงรางรถไฟบางช่วงให้สามารถใช้งานได้  จนเวลานี้เส้นทางดังกล่าวได้กลายมาเป็นเส้นทางลัดที่สำคัญ เป็นประตูขาออกของสินค้าจีนที่จะบุกเข้าสู่ตลาดใหญ่ในทวีปยุโรป ลดระยะเวลาการขนส่งที่ปรกติจะออกจากประเทศจีนโดยเรือบรรทุกสินค้าที่ท่าเรือมหานครเซี้ยงไฮ้หรือนครกวางโจว ซึ่งใช้เวลากว่า 36 วัน ในการไปถึงเมืองท่าหลักของยุโรป ลงเหลือเพียงแค่ 13 วัน และเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการขนส่งแล้ว ยังมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางเรือ ถือว่าคุ้มค่าการลงทุนที่จีนได้ทุมเทไป
จีนเพิ่งจะบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลคาซัคสถานเมื่อปีที่ผ่านมา ในการแก้ไขข้อตกลงทางศุลกากร เพื่อให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนทำได้โดยสะดวก ไม่ต้องหยุดขบวนรถไฟตรวจสอบทีละตู้สินค้า พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคในมณฑลทางตะวันตก ตัวอย่าง บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ประโยชน์ในงานนี้ก็เช่นบริษั Foxcom, Hewlett-Packard บริษัท Acer ของไต้หวันเป็นต้น ทั้งสามบริษัทได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคในเขตส่งเสริมการลงทุนนครฉงชิ่ง เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ โรงงานในฉงชิ่งได้ส่งออกโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ไปแล้วกว่า 2,430,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดของนครฉงชิ่ง ทั้งที่ยังไม่มีเส้นทางลัดทางรถไฟ เลยเชื่อกันว่าต่อแต่นี้ไป มูลค่าการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ จะยิ่งทวีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอีก จากต้นทุนการขนส่งที่ลดลง
        ไม่ใช่เพียงสินค้าส่งออกประเภทคอมพิวเตอร์เท่านั้น เวลานี้นครฉงชิ่งได้กลายมาเป็นชุมทางหลัก และศูนย์กลางสถานีขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออกของภาคตะวันตกของจีน สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทุกประเภทจากภาคตะวันตกและสองฝั่งแม่น้ำแยงซีตอนกลาง สามารถอาศัยประตูต่อเชื่อมทางอากาศ และเส้นทางรถไฟจากฉงชิ่งไปสู่ตลาดต่างๆ ในยุโรป ได้ไกลถึงนคร Luxembourg ในอนาคตอันใกล้ จีนยังวางแผนจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจากโรงงานต่างๆ ในลุ่มน้ำจูเจียงทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนไปยังยุโรป ผ่านเส้นทางสายฉงชิ่ง - Luxembourg เพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งสินค้า ซึ่งเดิมอาศัยส่งไปทางทะเลเปิดอ้อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรอินเดีย แอฟริกา แอตแลนติก หรือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
                 ผมนำเสนอเรื่องประตูสู่ตลาดตะวันตกนี้ ไม่ใช่เพื่อจะชักชวนท่านผู้อ่านให้มาร่วมกันชื่นอกชื่นใจไปกับประเทศจีน แต่กำลังงงๆ ว่า ประเทศอย่างไทยเรา ซึ่งมีทำเลที่ตั้งดีเลิศประเสริฐ อยู่ในตำแหน่งที่ขนาบด้วยทะเลหลวงออกสู่มหาสมุทรใหญ่ทั้งซ้าย-ขวา เป็นทำเลสำคัญในการส่งผ่านทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และสินค้าสำเร็จ อันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสมัยใหม่ เรามัวทำอะไรกันอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปล่อยให้ดินแดนทุรกันดารที่เคยล้าหลังและห่างไกลจากเส้นทางขนส่งเช่นเสฉวน พัฒนาข้ามหน้าข้ามตาไปได้ขนาดนี้ ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าจีนต้องอาศัยเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประตูออกสู่ทะเล ตอนนี้เป็นอันพิสูจน์กันแล้วว่าไม่เป็นจริงอีกต่อไป

แผนบริหารงานวัฒนธรรมของจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
             
       ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศจีน ในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้ หากไปถึงมหานครปักกิ่ง ถนนสำคัญสายหนึ่งที่ไกด์ทัวร์จะต้องชวนขับรถวนไปดู หนีไม่พ้นอาคารรูปทรงแปลกๆ ที่ผุดขึ้นมาใหม่ในช่วงที่จัดงานโอลิมปิคปี 2008 ทั้งสนามกีฬาหลักที่เป็นเหล็กสานเหมือนรังนก สนามแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ ที่เหมือนกล่องสี่เหลียมโปร่งแสงตอนกลางคืน รวมไปถึงอาคารสำนักงานใหญ่ แห่งใหม่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ CCTV กลางกรุงปักกิ่ง ที่เอียงโงนเงนท้าทายแรงดึงดูดโลก และพื้นที่บริเวณใกล้ๆ กับสำนักงาน CCTV นี้เอง มีอาคารสมัยใหม่อันเป็นที่ตั้งของโรงละครหรือเวทีแสดงหมายเลข 9 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในวันนี้
       เมื่อปีกลาย ตอนไปธุระที่ปักกิ่ง ผมได้มีโอกาสแวะไปดูการแสดงละครสมัยใหม่แบบจีนที่โรงละครหมายเลข 9 ที่ว่านี้ ตามคำชวนของเพื่อนอาจารย์ชาวจีนที่รู้จักกัน นัยว่าอยากให้ไปลองของแปลก ซึ่งก็แปลกจริง เพราะเป็นการแสดงละครแนวทดลอง ออกจะก้าวหน้าล้ำๆ   สักหน่อย ไม่ใช่ละครกระแสหลัก หรือโชว์ทั่วไปที่จัดสำหรับสาธารณชน ดูกันทีเป็นพันเป็นหมื่นคน ตอนนั้นทราบเพียงว่าเป็นกิจกรรมที่ทำโดยภาคเอกชน เพื่อที่จะแสวงหาแนวการแสดงที่เป็นทางเลือกแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้กับชาวปักกิ่ง และเพื่อที่จะส่งเสริมกลุ่มศิลปินแนวอินดี้ทั้งหลายของจีน ผมมาทราบภายหลังว่าโรงละครทำนองแบบนี้ กำลังขยายตัวผุดขึ้นตามหัวเมืองใหญ่หลายแห่งในประเทศจีน และอาจพูดได้ว่ากำลังเป็นที่เสาะแสวงหาของคนชั้นกลางในเมืองใหญ่เหล่านั้น เป็นที่ซึ่งจะได้ดูการแสดงที่แปลก ไม่จำแจหรืออ้างว่าทุ่มทุนสร้างมหาศาลแบบที่ผู้จัดอื่นๆ ในการแสดงกระแสหลักของจีนนิยมโอ้อวดโฆษณากัน ทำให้ได้ความรู้เพิ่มว่า นอกเหนือจากการจัดแสดงทางศิลปะ วัฒนธรรม ที่รัฐบาลจีนมุ่งส่งเสริมกันอยู่แล้ว สังคมจีนในเวลานี้ยังมีแนวโน้มการพัฒนางานด้านศิลปะและการแสดงโดยภาคเอกชนและศิลปินอิสระ ที่คึกคักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
          ว่าตามจริงแล้ว ประวัติศาสตร์พัฒนาการของการแสดงและโรงละครโรงงิ้วแบบจีน เป็นที่รู้กันดีว่ามีมาหลายพันปี อาจพูดได้ว่าเฟื่องฟูสุดๆ ตั้งแต่สมัยราชวงค์ซ่งใต้ ต่อเนื่องมาถึงสมัยราชวงค์หมิงและชิง แต่แนวละครที่เลียนแบบสมัยใหม่หรือแบบตะวันตกอย่างที่นิยมกันในเวลานี้ มีประวัติความเป็นมาสักร้อยปีเศษ มาในระยะสักสิบกว่าปีมานี้ การแสดงและการบันเทิงได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีน และหากนับรวมเอาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมรูปแบบอื่นๆ เข้าไปด้วยแล้ว เรียกว่ามีมูลค่ามหาศาลปีละหลายหมื่นล้านหยวนเลยทีเดียว จะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจล้วนๆ หรือเพราะปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาผสมอย่างที่ตะวันตกวิจารณ์กันก็ไม่ทราบได้ รัฐบาลจีนดูเหมือนเข้ามาเอาจริงเอาจังพยายามอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสื่อบันเทิงนานาชาติ เรียกว่าตรงไหนมีช่องทางจะส่งเสริมเจาะตลาด รัฐบาลก็จะเข้ามาร่วมแจมด้วยทันที ในขณะที่อุตสาหกรรมบันเทิงทางเลือกแบบโรงละครหมายเลข 9 อาจมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ในสื่อกระแสหลักรูปแบบอื่นๆ เกือบทั้งหมด รัฐบาลจีนดูเหมือนจะมีบทบาทอย่างสำคัญเกี่ยวข้องอยู่ด้วย และยิ่งถ้าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีลู่ทางในระดับอินเตอร์ รัฐบาลจีนก็พร้อมที่จะเข้าส่งเสริมทั้งโดยตรงและโดยการสนับสนุนทางอ้อม
           ข่าวที่ปรากฏอยู่ตามหน้าคอลัมน์ศิลป-วัฒนธรรมของสื่อจีนโดยทั่วไป จึงเต็มไปด้วยข่าวงานโรดโชว์ตามยุโรป-อเมริกา งานจัดนิทรรศการ งานเทศกาลศิลป-วัฒนธรรมจีนในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อันนี้เองกระมังที่ทำให้ตะวันตกมองกันว่าเป็นการรุกทางวัฒนธรรม หรือเป็น Soft-Power รูปแบบหนึ่งที่จีนใช้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ (นี้ก็ว่ากันเฉพาะเรื่องทางศิลป-วัฒนธรรมล้วนๆ ยังไม่รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาอย่างสถาบันขงจื้อ หรือการส่งเสริมการสอนภาษาจีน ดังที่ผมเคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้าในคอลัมน์นี้) เวทีหนึ่งที่ชาติตะวันตกจับตากันมาก ก็คืองานประชุมและจัดแสดงประจำปีที่จัดขึ้นในนครเสิ่นเจิ้น ภายใต้ชื่อ นิทรรศการอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนานาชาติ ครั้งล่าสุดเพิ่งจัดแสดงไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลายเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันมากในหมู่สื่อตะวันตก รวมไปถึงสำนักวิเคราะห์ทางความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมการรุกทางวัฒนธรรม ไม่ใช้เป็นเพียงกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมบรรเทิงจีนอย่างที่อ้างกัน จะ Soft Power หรือไม่ Soft Power ก็คงต้องรอดูกันไป แต่ที่แน่ๆ ในแง่ของการตลาด ดูเหมือนสินค้าและสื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ ของจีนยังต้องการเวลาอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะสามารถยึดฐานที่มั่นในตลาดโลกได้ ที่ผ่านมา แม้ว่าสัดส่วนรายได้ของอุตสาหกรรมในภาคนี้เทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าโดยรวมอาจนับได้ว่าสูง แต่ในส่วนที่เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศนั้นยังน้อยอยู่ อีกทั้งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคมี่เป็นชุมชนจีนโพ้นทะเล หากจะให้ฝรั่ง ไทย แขก เห็นดีเห็นงามไปด้วยกับสินค้าทางวัฒนธรรมจากจีน เชื่อว่ารัฐบาลจีนยังต้องทำการวิจัยทางการตลาดและผู้บริโภคอีกมาก แม้ว่าจีนจะได้รับรู้ถึงความสำคัญลอิทธิพลของวัฒนธรรมแล้วเป็นอย่างดี แต่การจะส่งออกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมให้แพร่หลายไปได้ทั่วโลก อาจเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้เวลาอีกมาก
                 ผมเองโดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลอะไรกับอิทธิพลเชิง Soft Power จากสินค้าทางวัฒนธรรมของจีนเท่าใดนัก เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กระแสนิยมฝรั่ง นิยมญี่ปุ่น หรือจนแม้คลั่งเกาหลีอย่างที่เป็นอยู่ มันก็มีขึ้นมีลง ยิ่งในประเทศไทยเราที่เก่งเรื่องรับของนอก ยิ่งไม่สู้จะน่าห่วง เพราะเราเบื่อง่ายกันอยู่แล้ว แต่ละกระแสที่ว่าอินเทรน ผมเห็นอยู่ได้ไม่เกินห้าปีสิบปี หมุนไปหมุนมา ที่หน้ากลัวกว่าเห็นจะเป็นอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ ที่เป็นภาคการผลิตจริงไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเชิงบริการ อุตสาหกรรมภาคที่เป็นการผลิตจริงๆ จะส่งผลกับประเทศขนาดเล็กเช่นเราค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน ความสามรถในการแข่งขัน และการทุ่มราคาเพื่อครอบงำตลาด ใครที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ ก็ขออย่าไปมัววิตกกับเพลงจีน หนังจีน จนละเลยสินค้าจีนที่เข้ามาแย่งตลาดเต็มบ้านเต็มเมือง จนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศเราจะตายยกเล้ากันหมดแล้ว

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พลิกโฉมเมืองซีอาน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่าน ส่วนใหญ่คงต้องคุ้นเคยกับชื่อเมืองซีอาน หลายท่านอาจรู้จักดี เพราะได้เคยไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หุ่นดินเผาของจักรพรรดิจิ๋นซี มาแล้ว ท่านผู้อ่านบางท่านที่แม้ยังไม่เคยไปมา แต่ผมก็เชื่อเหลือเกินว่าต้องรู้จักเมืองใหญ่ชื่อดังของประเทศจีนเมืองนี้เป็นแน่ ชื่อเสียงสำคัญของเมืองซีอาน หนีไม่พ้นจากความดังของการค้นพบครั้งสำคัญทางโบราณคดีจีนตั้งแต่ยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1970 แต่ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่จะมีแต่หุ่นดินเผาสมัยราชวงศ์ฉินอย่างเดียว ในด้านประวัติศาสตร์ เมืองซีอานยังเป็นราชธานีของจักรวรรดิจีนโบราณมาแล้วไม่น้อยกว่า 13 ราชวงศ์ ถูกอ้างอิงถึงในฐานะหัวเมืองชายแดนตะวันตกจุดสำคัญของจีน เป็นสถานีการค้าใหญ่จุดเริ่มต้นเส้นทางสายแพรไหม และอื่น ๆ อีกมากมาย  
สัปดาห์นี้ผมชวนท่านผู้อ่าน พูดคุยย้อนภูมิหลังของเมืองซีอานเสียยืดยาว ก็เพราะไปเจอข่าวใหญ่เข้าชิ้นหนึ่ง ใจความว่ารัฐบาลจีนกำลังจะทำการพลิกโฉมหน้าเมืองซีอาน จากเมืองประวัติศาสตร์โด่งดัง มาเป็นศูนย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคสมัยใหม่ของภาคตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเน้นให้เป็นเขตอุตสาหกรรมปลอดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่าที่จริงแล้วก็เป็นแผนหรือโครงการพัฒนาที่รัฐบาลมณฑลส่านซี พยายามจะหาจุดขายนอกเหนือไปจากที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยว อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลกลางที่ปักกิ่ง ในการวางเป้าหมายการพัฒนาของศตวรรษใหม่ ให้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนว่าจะสำเร็จมากหรือน้อย ก็คงต้องดูกันไป
         
          ตามแผนการพัฒนาที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อต้นสัปดาห์ ท่านผู้ว่าการมณฑลคุณ จ้าวเจิ้งหย่ง ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่กำหนดโดยส่วนกลางมุ่งไปที่อุตสาหกรรมเกิดใหม่อื่นเป็นอนาคตของจีน  โดยมีแผนที่จะสร้างเมืองใหม่ต่อเชื่อมระหว่างเมืองซีอานและเมืองเสียนหยาง ซึ่งในปัจจุบันก็มีสนามบินสร้างใหม่พร้อมที่จะรองรับการพัฒนาเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดเตรียมที่ดินไว้รองรับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคนี้ไว้ 882 ตารางกิโลเมตร ห่างจากเมืองซีอาน 10 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์กลางเมืองเสียนหยาง 3 กิโลเมตร
            หากโครงการดังกล่าวดำเนินการได้สำเร็จจริง ก็จะเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ลำดับที่ 4 ของประเทศ ต่อจากผู่ตงของเซี้ยงไฮ้ ปิงไฮ่ของเมืองเทียนจิน และ เหลียงเจียงของเมืองฉงชิ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เมืองใหม่ ซีอาน-เสียนหยาง จะได้เปรียบกว่าอีกสามเมืองก่อนหน้านี้ ก็คือความใหม่ที่จะสามารถผนวกเอานโยบายล่าสุดของรัฐบาลกลางเพิ่มเติมเข้าไปในแผนได้ โดยไม่ต้องมาปรับเปลี่ยนแก้ไข ผมเองไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านจะจำงาน EXPO เมืองเซี้ยงไฮ้ได้หรือไม่ ผมเคยนำเสนอไปครั้งหนึ่งเมื่อคราวที่เขาเปิดงานใหม่ ๆ ปีที่แล้ว ว่ารัฐบาลจีนหมายมั่นปั้นมือจะนำเสนอแนวความคิดเมืองไฮเทคสมัยใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และอำนวยความสะดวกกับผู้คนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง เที่ยวนี้แนวความคิดเดียวกันนี้ ก็ถูกนำมาใช้เป็นกรอบกำกับสำคัญในการทำแผน
            ในขณะเดียวกัน หากจะคิดแต่เพียงพัฒนาศูนย์อุตสาหกรรมไฮเทค โดยไม่ใช้จุดแข็งเดิมที่มีอยู่ ก็อาจดูจะเสียของสักหน่อย ในกรณีนี้หมายถึงชื่อเสียงที่เป็นทุนดั้งเดิมของเมืองซีอาน ที่โด่งดังทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี จะทำอย่างไรที่จะให้ต้นทุนเดิมที่โดดเด่นเหนือกว่าเมืองอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค สามารถมาเป็นแต้มต่อได้ในทางการพัฒนาเมืองใหม่ซีอาน-เสียนหยาง อันนี้ยังไม่ได้แถลงออกมาเป็นข่าวให้ชัดเจน ตามข่าวบอกแต่เพียงว่าจะมีการเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงนิเวศเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เด่นอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็จะอาศัยจุดเด่นเรื่องต้นทางของเส้นทางการค้าสายแพรไหมในสมัยโบราณ แม้จะบอกว่าเป็นสมัยโบราณ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วเมืองซีอานก็ยังมีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและขนถ่ายสินค้าที่สำคัญที่สุดของจีน ในการติดต่อค้าขายกับกลุ่มประเทศในเอเซียกลาง ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาจึงรวมไปถึงการริเริ่มเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการขนส่งและเดินทางที่ประหยัดและใช้พลังงานน้อย เช่นแนวความคิดเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งระบบท่อ สำหรับสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่เพียงที่เป็นของเหลว
          ความได้เปรียบอีกประการหนึ่งของเขตเมืองใหม่หรือนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคซีอาน-เสียนหยาง ก็คือ ทำเลที่ตั้งที่อยู่ท่ามกลางแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพวกแร่ธาตุหายากทั้งหลายที่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมไฮเทคสมัยใหม่ทั้งหลาย โอบล้อมด้วยภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสินแร่สองด้าน และมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านสามสาย สามารถรองรับได้ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต การบริการสมัยใหม่ หรือแม้แต่การเป็นศูนย์กลางการวิจัย  และที่ดูเหมือนจะเด่นที่สุดในแผนพัฒนา ก็คือ นิคมการวิจัยและการผลิตทาง ICT ผมได้ลองค้นคว้าเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากในเนื้อข่าว ก็พบว่ามีการกำหนดแผนในเบื้องต้นไว้แล้ว ที่จะให้ซีอานเมืองใหม่นี้ เชื่อมต่อกับศูนย์ทดลองหลักกว่าหนึ่งพันศูนย์จากเกือบทั่วทุกมหาวิทยาลัยสำคัญในประเทศจีน เพื่อดึงเอางานวิจัยในห้องทดลองแต่ละแห่ง มาต่อยอดทำต้นแบบเพื่อการศึกษาในเขตพัฒนาใหม่แห่งนี้
อ่านข่าว ค้นข่าวเกี่ยวกับเรื่องการพลิกโฉมหน้าใหม่ของเมืองซีอาน ใช้เวลาอยู่ร่วมสามชั่วโมงกว่าจะเขียนมาได้ถึงตอนท้ายนี้ ค้นข่าวไปก็เพลินไปเหมือนอยู่ในความฝัน ตกใจตื่นขึ้นมาก็ได้ยินข่าวทางโทรทัศน์กำลังรายงานเรื่องผู้สมัคร สส.ลงพื้นที่จนถูกสุนัขกัด ถึงได้รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในโลกความเป็นจริงของประเทศไทย ไม่ใช่โลกแห่งความฝันของประเทศจีน  เลยได้แต่ภาวนาว่าหลังเลือกตั้งเที่ยวนี้แล้ว บ้านเมืองเราคงจะดีขึ้นบ้าง จะได้มีเวลาและพลังงานมาช่วยกันสร้างฝัน พัฒนาเศรษฐกิจของเรากันบ้าง ไม่ต้องไฮเทคหรอกครับ เอาแค่ให้มันเดินหน้าได้ก็ยังดีครับ

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนทางสู่อินเตอร์ของยาจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
          ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จัดว่ามีข่าวสารน่าติดตามเกี่ยวกับประเทศจีนมากเป็นพิเศษ เฉพาะที่เป็นข่าวดังข่าวใหญ่อยู่ในความสนใจของนานาชาติ จะว่าไปก็นับเป็นสิบข่าวตัวอย่าง เช่นเหตุการณ์ชุมนุมครบรอบ 22 ปี กรณีจัตุรัสเทียนอันเหมิน ข่าววัยรุ่นจีนขายไตเพื่อซื้อไอพอด ข่าวเหมืองถล่มทางใต้ของประเทศ ข่าวเทศกาลเดือน 5 หรือ ขนมบะจ่าง ข่าวจีนให้ความช่วยเหลือลาวจัดงานประชุมอาเซียน ฯลฯ  ผมเลยออกอาการลังเล ไม่ทราบว่าจะนำเรื่องไหนมาเปิดประเด็นนำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ประกอบกับเรื่องดัง ๆ ทั้งหลายก็เห็นหน้าข่าวต่างประเทศในสื่ออื่น ๆ ของประเทศไทย ได้นำเสนอไปแล้ว เลยหมดอารมณ์จะมาขยายความเพิ่มเติมซ้ำกับคอลัมน์ที่เป็นข่าวสด สัปดาห์นี้ผมก็เลยต้องใช้เวลาในการค้นข่าวจากประเทศจีนมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็คุ้มค่าครับ เพราะได้เห็นข่าวสารมากมายหลายมุมมองมากกว่าในสัปดาห์ก่อน ๆ
                 เรื่องที่จะชวนท่านผู้อ่านคุยในสัปดาห์ เป็นข่าวปรากฏอยู่บนหน้าปกนิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับล่าสุด ที่จริงก็ขึ้นปกอยู่หลายเรื่อง แต่ที่สดุดตาและทำให้สนใจมากเป็นพิเศษ คือเรื่องอุตสาหกรรมยาแผนโบราณของจีน ที่ออกไปกวาดเงินกวาดทองทำรายได้อยู่ในต่างประเทศ มาเป็นเวลายาวนาน เรียกว่าที่ใดมีชาวจีนเดินทางไปตั้งรกราก ก็จะปรากฏมีร้านขายยาจีนตามไปเปิดให้บริการ หนักเข้าก็ให้บริการลูกค้าชาวต่างชาติเจ้าของถิ่นในประเทศนั้น ๆ ไปด้วย กลายมาเป็นตลาดสำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยาสมุนไพรสำเร็จรูปของประเทศจีนอีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากที่ผลิตให้ชาวจีนในประเทศซื้อหามากินรักษาโรคกันเป็นหลักอยู่แล้ว
        ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ตลาดยาสมุนไพรสำเร็จรูปของจีนที่ทำตลาดอยู่ในต่างประเทศนั้น ลูกค้ากลุ่มหลักอยู่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลและชุมชนจีนที่ไปตั้งรกรากเติบโตอยู่ในต่างประเทศ เรื่องของมาตรฐานสรรพคุณและวิธีการใช้ยา จึงเป็นเหมือนรู้ ๆ กันอยู่ในหมู่ชาวจีนว่าจะเลือกใช้ หรือ ซื้อหายาอะไรบ้างตามคำแนะนำของแพทย์แผนจีน ที่พอมีกระจายอยู่ในชุมชนจีนประเทศต่าง ๆ  มาในระยะหลัง ความนิยมในการแพทย์แผนจีนและยาสมุนไพรของจีน เกิดได้รับความสนใจและกลายเป็นการแพทย์ทางเลือกที่แพร่หลายของคนต่างชาติ ทั้งฝรั่งและชาวเอเชียในภูมิภาคต่าง ๆ มาตรฐานและสรรพคุณของยาตลอดจนการกำกับดูแลแพทย์แผนจีนที่เป็นผู้แนะนำสั่งยา เลยกลายมาเป็นประเด็นที่ได้รับความเอาใจใส่ ตรวจตราโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เช่น บรรดาหน่วยงาน อย.ของประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ข่าวที่ผมกำลังจะนำเสนอ ก็เป็นรายงานข่าวปัญหาอุปสรรคที่อุตสาหกรรมยาจีนกำลังเผชิญอยู่ในตลาดอินเตอร์ ที่หนักสุดตอนนี้ ก็คือ ปัญหาที่บรรดาผู้ผลิตยาจีนกำลังเจอจากการประกาศห้ามนำเข้ายาจีนโดยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป หลังจากดิ้นรนหาทางปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานของ EU มาแล้วเป็นเวลาเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่กลุ่ม EU เริ่มประกาศเกณฑ์มาตรฐานการรับใบอนุญาตนำเข้าและจำหน่ายยาสมุนไพร มาบัดนี้ห้วงระยะเวลาผ่อนปรนก็เป็นอันหมดแล้ว ยังไม่ปรากฏมีผู้ผลิตยาจากจีนรายใดได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานเลย ปัจจัยหลักเลยคือเรื่องต้นทุนการผลิต เพราะหากจะให้ได้มาตรฐานแบบฝรั่งจริง ๆ ต้นทุนในการผลิตยาสมุนไพรเหล่านี้ จะต้องสูงขึ้นอีกเป็นหลายเท่าตัว จนทำให้ราคาขายสูงเกินกว่าจะเป็นทางเลือกให้ผู้สนใจทดลองซื้อหาไปใช้ พูดง่าย ๆ คือ หากทำให้ได้ตามมาตรฐานฝรั่งก็เป็นอันไม่ต้องขายกันพอดี เพราะราคาจะสูงกว่ายาแผนปัจจุบันหลายเท่า
        นอกเหนือจากต้นทุนในการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่แต่ละประเทศใน EU เรียกเก็บ ว่ากันว่าแพงหนักหนา หากผู้นำเข้าหนึ่งรายต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์สักสิบรายการ ก็ต้องจ่ายค่าขึ้นทะเบียนตำรับยาสิบตำรับ ตำรับละประมาณ 153,000 เหรียญสหรัฐ หรือหนึ่งล้านหยวนจีน นอกเหนือจากนี้ ระเบียบของ EU ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้นำเข้า ในการแสดงหลักฐานการทดสอบยาในทางสรรพคุณรักษาต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี เพื่อยืนยันว่าไม่มีภาวะอาการของผลข้างเคียงในหมู่ผู้ใช้ยาชาวยุโรป อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะก็ไม่มีบริษัทผู้ผลิตยารายใดของจีน จะมีทุนรอนและเวลามากมายขนาดนั้นในการทดลองกับคนไข้ฝรั่ง แม้ในประเทศจีนเอง ผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ก็ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติในการเก็บข้อมูลสถิติย้อนหลังมากมายขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นการผลิตยาตามตำรับที่พัฒนาสืบทอดกันมาตามตำรายาแต่โบราณด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดอย่างโรงงานผลิตยาสมุนไพร “ถงเหรินถัง” (มาเปิดสาขาในบ้านเราแถวถนนเจริญกรุง) ก็ยังไม่สามารถแสดงหลักฐานดังกล่าวเพื่อขึ้นทะเบียนตำรับยาในยุโรปได้
          อย่างไรก็ดี ปัญหาอุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ถึงกับ   จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยาของจีนเท่าใดนัด เพราะหากดูจากตัวเลขของปีที่ผ่านมา จีนส่งออกยาสมุนไพร รวมมูลค่า 1,940 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดยุโรปมี  สัดส่วนส่งออกเพียงร้อยละ14 เท่านั้น ตอนนี้จีนเลยเร่งไปทำตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อชดเชยสัดส่วนดังกล่าว ซึ่งก็ดูประสบความสำเร็จดี
                
         ผมเอาเรื่องตลาดสมุนไพรจีนมาชวนคุยวันนี้ เพราะกำลังคิดถึงหนทางในอนาคตของตลาดสมุนไพรไทย ยาหลายตัวที่เราภูมิอกภูมิใจว่ามีสรรพคุณดีอย่างนั้นอย่างนี้ สมควรที่จะส่งเสริมให้เป็นสินค้าส่งออกได้ หากไปเทียบกับประวัติศาสตร์ของยาจีนที่แพร่หลายอยู่นอกประเทศจีนแล้ว ดูท่ายังต้องลงแรงอีกมาก ทางที่ดีอาจต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ให้สามารถแข่งขันต่อสู้เพื่อทดแทนการใช้ยาฝรั่งราคาแพง ภายในประเทศของเรา ก่อนที่จะออกไปคิดอ่านทำการตลาดนอกประเทศ น่าจะเหมาะสมกว่า