ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สมุทรกรณี

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
                       นอกเหนือจากการติดตามข่าวสารประจำสัปดาห์ ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เพื่อนำเสนอท่านผู้อ่านในคอลัมน์นี้แล้ว ผมยังมีภาระหน้าที่ติดตามงานวิจัยใหม่ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในแวดวงวิชาการของจีน ตามภาษาคนอยู่ไม่สุข สาเหตุหลักก็เพราะอาชีพสอนหนังสือบวกกับความสนใจติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับจีนเป็นพิเศษ ข้อดีของภาระอย่างหลังนี้ ก็คือ ได้มีโอกาสรู้เห็นเรื่องราวใหม่ๆ นอกเหนือไปจากสาขาวิชาของผมเอง บางครั้งก็เผลอหลุดเข้าไปอยู่ในสาขาวิชาการ ที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะรู้เรื่องกับเขาได้  ในอีกด้านหนึ่ง สัปดาห์ไหนไม่มีข่าวสารที่น่าสนใจจากสื่อของจีน ผมก็มักถือโอกาสเอาข่าวความก้าวหน้าทางวิชาการของจีนเข้ามา เสียบ แทน อย่างเช่นที่กำลังจะนำเสนอท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้
                 จั่วหัวเรื่องไว้ว่า สมุทรกรณี คงต้องขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าหมายถึงอะไร ผมเองพยายามหาคำภาษาไทยอยู่นาน โชคดีที่ได้ความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์ในสายวิทยาศาสตร์ทางทะเล คำว่า สมุทรกรณี นั้นกินความหมายกว้างกว่าสมุทรศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพราะผนวกเอาเรื่องทางเศรษฐศาสตร์  รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมวัฒนธรรม กฎหมาย และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรเข้าไว้ทั้งหมด  ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่จะชวนท่านผู้อ่านคุยในคราวนี้ เราคงทราบกันดีว่าจีนนั้นมีแนวชายฝั่งยาวเหยียด จากเหนือสุดที่คาบสมุทรเกาหลี ยาวลงมาถึงเกาะไหหลำ รวม 14,500 กิโลเมตร มีผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และผลประโยชน์อื่นๆ จากท้องทะเลและเขตเศรษฐกิจที่ขยายออกไปในทะเลหลวงอีกมากมาย ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปฏิรูปเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ จีนได้รับเทคโนโลยีและการลงทุนจากภายนอก มาพัฒนากิจการด้านนี้ เรียกว่ามากมายมหาศาล ทั้งการเดินเรือ การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การสำรวจขุดหาแหล่งพลังงานและสินแร่ทางทะเล ฯลฯ มาบัดนี้ จีนกำลังเดินหน้ารุกเข้าไปในท้องมหาสมุทรอีกหนึ่งก้าวใหญ่ๆ
               ตั้งแต่ต้นปี 2011 จีนได้เริ่มต้นแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเล ที่สำคัญๆ ต่อเนื่องถึง 3 เขตด้วยกัน ประกอบด้วย เขตพัฒนาพิเศษเศรษฐกิจทางทะเลซานตง เขตนิคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์วิจัยบูรณาการสมุทรกรณีเทียนจิน และเขตพัฒนาต้นแบบเศรษฐกิจทางทะเลเจ้อเจียง ทั้งหมดถูกบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 12 ของจีน โดยถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติ ในการแสวงหาแหล่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่ และต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของจีนที่อาจอิ่มตัวในเวลาอันใกล้ มาตอนนี้ จีนได้เร่งรัดปรับระบบการศึกษาและวิจัย เพื่อเตรียมทรัพยากรมนุษย์สำหรับรองรับการขยายตัวของงานวิจัยสมัยใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลในเขตต่างๆ เหล่านี้ และจัดอันดับผลประโยชน์ด้านต่างๆ ในทะเลและมหาสมุทรเปิด ไว้เป็นความสำคัญระดับต้นๆ ของการลงทุนและขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตที่กำลังจะมาถึง
                   ประมาณการณ์กันว่า ในปี 2015 โครงสร้างประชากรของจีนที่ได้เปรียบเชิงแรงงานจะถึงจุดอิ่มตัวสูงสุด และหลังจากนั้น สัดส่วนแรงงานในภาคการผลิตต่อประชากรทั้งหมดจะค่อยๆ ลดลง กล่าวคือ เวลานี้ประเทศจีนยังมีความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆ ในแง่ที่ว่ามีคนในวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูงมาก แต่หลังจากปี 2015 เป็นต้นไป ประชากรในวัยแรงงานจะมีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องหันกลับมาทบทวนกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กันใหม่ แม้ว่าในอนาคตจะมีคนทำงานน้อยลง แต่ยังคงได้มูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ลดหรือเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หากพิจารณาลำพังเพียงประเทศส่งเสริมการศึกษาให้สูงขึ้น จำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอาจดูเพิ่มมากขึ้นทุกปีในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 11 ต่อปี ทว่าจำนวนบัณฑิตที่หางานทำได้จริงเมื่อสำเร็จการศึกษา กลับไม่ได้เพิ่มมากตามไปด้วย โดยเฉพาะในมณฑลแถบชายฝั่งตะวันออกของประเทศ จำนวนบัณฑิตว่างงานเกินกว่า3 ปี หลังสำเร็จการศึกษา มีมากถึงเกือบร้อยละ 20 ที่หางานได้ภายในสามปี ก็ไม่แน่นักว่า ได้ทำงานตรงกับที่เรียนมา หรือได้เงินเดือนค่าจ้างมากเท่าใด คุ้มไม่คุ้มกับการลงทุนในช่วงอุดมศึกษาหรือไม่ หนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ก่อนที่จำนวนแรงงานโดยรวมของจีนจะลดลง ก็คือ ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางจัดการศึกษาไปในเทคโนโลยีการผลิตทางเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง
                      ในอีกด้านหนึ่ง หากพิจารณาจากปัญหาขาดแคลนตำแหน่งงานหรือภาวะว่างงานที่เกิดขึ้นในมณฑลชายฝั่งตะวันออก นักวิชาการของจีนกลับพบว่ายังมีช่องทางและโอกาสใหม่ๆ อีกมากมายซึ่งรอคอยการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทะเล ไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทรัพยากรทางทะเล เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ เกี่ยวข้องทางอ้อม เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ฯลฯ มูลค่าผลตอบแทนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เหล่านี้ มีมากและคุ้มค่าต่อการลงทุนกว่าเมื่อเทียบกับการพัฒนาพื้นดินห่างไกลในภาคตะวันตก  ยิ่งไปกว่านั้น การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนโดยรวม ตามนโยบายและแผนระยะยาวของจีน จะไม่มีทางสำเร็จลงได้ หากรัฐยังคงใช้ยุทธศาสตร์เดิมๆ ในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท้องที่ห่างไกลและทุรกันดาร ผลตอบแทนที่ได้ อาจช่วยเพิ่มกำลังบริโภคหรือกำลังซื้อภายในประเทศอีกเพียงเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับการลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ ในพื้นที่แถบชายฝั่งที่มีประชากรหนาแน่น
                      ประเทศไทยเราเองก็มีแนวชายฝั่งทะเลยาวเหยียดพอควร แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง อาจยังไม่ได้เริ่มต้นเท่าใดนัก นอกจากทำประมงและขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติแล้ว ความอุดมสมบูรณ์และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ดูเหมือนยังไม่ได้ลงมือกันอย่างเต็มที่ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าในด้านทรัพยากรมนุษย์ แค่วิทยาศาสตร์ทางทะเล เราได้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว ดีไม่ดีอาจต้องมองให้ไกล หรือไกลกว่าที่จีนกำลังเร่งทำกันอยู่ อย่าให้ต้องอับอายกัมพูชาในอนาคตเลยครับ

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จัดอันดับมหาวิทยาลัยจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 เดือนกันยายน เป็นเดือนเปิดภาคการศึกษาใหม่ของจีน เป็นช่วงระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกับภาคการศึกษาแบบเดียวกับของตะวันตก ต่างกันเล็กน้อยก็เพียง 1 หรือ 2 สัปดาห์ มาถึงเวลานี้ใครที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหน ต่างก็ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัววุ่นวาย พ่อแม่ผู้ปกครองเอง ก็พลอยวุ่นวายไปด้วย ไม่ต่างกับของประเทศไทยเรา ช่วงนี้ผมสังเกตดูในหน้าหนังสือพิมพ์ของจีน พบว่ามีข่าวสารเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยดังๆ หรือข่าวสารการศึกษาของจีนในภาพรวม ปรากฏเป็นข่าวทั้งหน้าหนึ่งและหน้าในมากเป็นพิเศษ ทำนองว่าเป็นข่าวรับเปิดเทอม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวใหญ่ลงหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หลักๆ ของจีนหลายฉบับ ว่าด้วยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ใน 500 อันดับแรก มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนติดอันดับอยู่ด้วย มากถึง 35 มหาวิทยาลัย สัปดาห์นี้ ผมก็เลยจะขออนุญาตท่านผู้อ่าน  ชวนคุยเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย และผลที่เกิดขึ้นกับแวดวงอุดมศึกษาของจีน
                 ว่ากันตามจริง การจัดอันดับมหาวิทยาลัยนั้น จะว่าเป็นเรื่องเก่า หรือจะบอกว่าเป็นของใหม่ ก็พูดได้ทั้งสองทาง มหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกานั้น แต่ไหนแต่ไรมา ก็เป็นอันรู้ๆ กันอยู่ว่า ใครอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของประเทศ มหาวิทยาลัยของไทย หรือของจีน ก็เช่นกัน  ใครเป็นใคร เก่งทางด้านไหน ดูเหมือนเป็นที่รับรู้ รับทราบกันในวงสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากชื่อเสียงเกียรติคุณของศิษย์เก่าผู้สำเร็จการศึกษาที่จบไป มหาวิทยาลัยไหนผลิตนายกรัฐมนตรีกี่คน ได้รางวัลมากน้อยแค่ไหน ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมีตำแหน่งใหญ่โตอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นดัชนีที่สังคมหนึ่งๆ ใช้ในการจัดอันดับชื่อเสียงมหาวิทยาลัยของตน ในประเทศอย่างอเมริกา หรืออังกฤษ ฝรั่งเศส แต่ไหนแต่ไรมาผู้ที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อก็อาศัยข้อมูลทำนองนี้ ประกอบการตัดสินใจสมัครแข่งขันเข้าเรียน ที่ไหนดังหน่อยคนก็แข่งกันมาก ที่ไหนดังน้อยนักเรียนก็แข่งขันกันน้อย เป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้ แต่การจับเอามหาวิทยาลัยดังๆ ของแต่ละประเทศทั่วโลกมาวางแฉเปรียบเทียบบนฐานกระดานเดียวกัน แล้วบอกว่าอันดับ1 อันดับ 2 เป็นใคร หรือบอกว่าประเทศไหนมีมหาวิทยาลัยติดอันดับหนึ่งใน 100 หรือเป็นหนึ่งใน 500 มหาวิทยาลัยแรกที่ดีที่สุดของโลก ดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และน่าจะมีประวัติความเป็นมาไม่ยาวนานเท่าไรนัก เป็นเรื่องของการศึกษาในฐานะธุรกิจบริการรูปแบบหนึ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าใหม่พอๆ กับโลกาภิวัฒน์  ในโลกการศึกษานั่นเอง แรกๆ ที่ริเริ่มทำกันก็ได้แก่พวกนิตยสารนานาชาติของสำนักฝั่งอเมริกา เช่น นิวส์วีค นัยว่าเพื่อเป็นช่องทางแนะนำสำหรับนักศึกษาที่สนใจไปเรียนต่อในต่างประเทศ ข้ามไปข้ามมาระหว่างอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เป็นของแถม นอกเหนือจากแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ก็แนะนำสถานที่เรียนซะด้วยเลย
ว่าเฉพาะผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มาเกี่ยวข้องกับประเทศจีนเที่ยวนี้ เป็นการจัดอันดับโดย Academic Ranking of World Universities (ARWU) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางธุรกิจใดๆ เกี่ยวข้อง (แยกออกมาจาก Times Higher Education) เริ่มทำการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำการจัดอันดับมาตั้งแต่ปี 2003 จะว่าไปแล้วก็ค่อยข้างจะเป็นการสำรวจจัดอันดับ ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงการศึกษานานาชาติ ในรอบนี้ มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ยังคงไล่เรียงในกลุ่มมหาวิทยาลัยฝรั่ง คือ Harvard  Stanford, MIT, Berkeley, Cambridge, Caltech, Princeton, Columbia, Chicago และ Oxford มหาวิทยาลัยจีน ที่ติดอันดับ 200 แรก มี 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน มหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ถัดออกไปที่รวมอยู่ในกลุ่ม 500 มหาวิทยาลัยแรกก็มี ปักกิ่ง เซี้ยงไฮ้เจียวทง ปักกิ่งซือฟ่าน ปักกิ่งหังคง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีการบินและอาวกาศแห่งปักกิ่ง) เป็นต้น
                 การที่มหาวิทยาลัยในประเทศจีนถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการประเมินและจัดอันดับในระดับนานาชาติเช่นนี้ ส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลายประการด้วยกัน ทั้งเรื่องการพัฒนา การแข่งขันกันเอง และการดิ้นรนแสวงหาความร่วมมือกับต่างชาติตะวันตก หลายเรื่องต้องถือว่าส่งผลไปในทางที่ดี แต่หลายเรื่องก็ทำให้กลายเป็นภาระของรัฐบาลและของสาธารณชน  ขออนุญาตหยิบยกผลกระทบทางลบที่คนจีนเองบ่นกันมากเป็นพิเศษมาเป็นหนังตัวอย่างสักเรื่องสองเรื่อง เรื่องแรก เวลานี้คนจีนทั่วๆ ไป ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอุดมศึกษากำลังบ่นว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ดังขึ้นมาจากการจัดอันดับของฝรั่ง กำลังทำตัวเป็นสถาบันเทวดา หลงลืม ละเลยว่าแท้จริงแล้วหน้าที่เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัย ที่มีต่อประเทศชาติและการรับใช้ประชนชน(ตามอุดมการณ์เดิม) คืออะไร เอาแต่ทุ่มเทงบประมาณแข่งขันผลิตผลงานตีพิมพ์เผยแพร่งานค้นคว้าวิจัยให้ฝรั่งอ่าน ให้ฝรั่งเอาไปใช้ประโยชน์ (ผลงานตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับ) แทนที่จะทุ่มเทกำลังให้กับการผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้ชาติอย่างแท้จริง ตรงตามความต้องการของประเทศ เรื่องที่สอง ที่บ่นกันมาก คือ ค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยแพงขึ้น จะเป็นผลจากการจัดอันดับหรือไม่ ผมก็ไม่กล้ายืนยัน แต่คนจีนเชื่อกันว่าเกี่ยว เพราะแย่งกันคัดนักเรียน แย่งกันทำหลักสูตรภาษาอังกฤษ เดือดร้อนไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม หากต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในมหาวิทยาลัยดัง แม้บรรดามหาวิทยาลัยที่ยังไม่ดังและยังไม่ได้ติดอันดับอะไรกับเขา ก็พลอยเก็บค่าใช้จ่ายโน่นนี่เพิ่ม อ้างว่าเพื่อให้ได้มาตรฐานระดับโลก กลายเป็นว่าเอะอะอะไรก็อ้างการจัดอันดับระดับโลกเอาไว้ก่อน
                 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเรา แม้ไม่ได้ติดอันดับต้นๆ ในการจัดอันดับของฝรั่งเขา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบ หลายเรื่องที่เขาบ่นว่ากันในประเทศจีน เราก็มีเรื่องราวทำนองใกล้เคียงกัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีเรื่องประกันคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาที่เราดำเนินการกันเอง จนสาธารณชนคนไทยทั่วไปก็งงๆ กันว่า ตกลงมหาวิทยาลัยมีไว้สอนหนังสือเด็กไทย หรือมีไว้ทำวิจัยให้ฝรั่งอ่าน เพื่อประเมินเรา เรื่องแบบนี้ก็ไม่ทราบจะว่าอย่างไร แต่ที่ชอบใจมากเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นโรงงานผลิตกระดาษ เพราะงานประกันคุณภาพและงานประเมินทั้งหลายใช้กระดาษเปลืองดีแท้

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหตุเกิดในซินเจียง

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
            เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้เคยนำเสนอเรื่องราวปัญหาความวุ่นวายในมองโกเลียใน โดยจั่วหัวในคราวนั้นว่าอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ก่อนที่ความรุนแรงจะปะทุจนเอาไม่อยู่ มาวันนี้ก็เกิดเหตุรุนแรงวุ่นวายขึ้นในมณฑลซินเจียงของจีน มณฑลขนาดมหึมากินพื้นที่เกือบ 1 ใน  6 ของประเทศจีน แต่เหตุปะทะคราวนี้จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายของซินเจียงหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป        

                    เหตุการณ์ในซินเจียงเที่ยวนี้  เฉพาะเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาในเขตเมืองคาซการ์ (คาสือในภาษาจีน) มีการปะทะทำร้ายกันระหว่างมุสลิมอุยเกอร์ มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 42 ราย (ตัวเลขยังไม่นิ่ง ไม่มีใครรู้แน่ว่าเท่าไร เพราะว่าตัวเลขที่เผยแพร่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนกับตัวเลขฝ่ายประท้วงก่อเหตุยังต่างกันอยู่)แม้เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2009 เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างจีนฮั่นกับมุสลิมอุยเกอร์จะสูงถึงกว่า 200คน แต่ก็ไม้ได้หมายความว่าสถานการณ์รอบใหม่นี้จะเป็นเรื่องเล็ก เพราะผู้สังเกตการณ์หลายฝ่ายเชื่อว่าการปะทะเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เหตุการณ์จะขยายลุกลามหรือไม่อย่างไร ก็อยู่ที่ปฏิกิริยาตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายว่าจะเข้มข้นขนาดไหน ทำนองเดียวกันกับเหตุการณ์เมื่อปี 2009 ตอนนั้นก็เริ่มต้นด้วยการวิวาทกันระหว่างจีนฮั่นกับอุยเกอร์จำนวนหนึ่ง แต่พอรัฐบาลกลางสั่งการให้ปราบเต็มที่ ยอดความเสียหายและจำนวนผู้เสียชีวิตก็พุงไปถึงกว่า 200 ราย
        ผมเองอย่างที่เรียนท่านผู้อ่านอยู่เสมอๆ ว่า คงไม่มีเจตนาจะทำหน้าที่รายงานข่าวสารเหตุการณ์ต่างประเทศแบบวันต่อวัน เพราะจะได้เจอท่านผู้อ่านก็เพียงสัปดาห์ละครั้ง ฉะนั้นที่อยากจะนำเสนอชวนคิดชวนคุยในคราวนี้ก็คือ ประเด็นสาเหตุของความขัดแย้งและแนวโน้มอนาคตระยะยาวของซินเจียง ในสายตาของคนภายนอก โดยเฉพาะพวกฝรั่ง เวลาพูดถึงมณฑลซินเจียง ก็มักจะเข้าใจว่าเป็นอะไรที่ก็ไม่ต่างไปจากมณฑลอื่นๆ ของจีน ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนัก ทำนองว่าเมืองจีนที่ไหนๆ ก็คนจีนเดินไปเดินมาเต็มไปหมด แต่สำหรับคนที่ได้มีโอกาสสัมผัสรับรู้ใกล้ชิดสักหน่อย ก็คงพอทราบว่าเมืองจีนที่พูดๆ กันอยู่นี้ มันใหญ่มากเหลือเกิน มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ทรัพยากร ภูมิอากาศ สารพัดจะแตกต่าง แผนดินที่เรียกกันว่าประเทศจีน ปัจจุบันตามนิยามของเส้นพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่ จะว่าไป ก็เป็นผลสรุปของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างรัฐเล็กรัฐน้อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองการสงครามกับประเทศจีนในอดีต เพิ่งจะมาหยุดนิ่งก็เมื่อกลางราชวงศ์ชิงประมาณสัก 200 ปีที่ผ่านมานี้เอง ก่อนหน้าที่มหาอำนาจตะวันตกจะเข้ามา รูปร่างหน้าตาของความเป็นประเทศจีนก็ยังไม่แน่ว่าจะชัดเจน จะว่าไปก็คล้ายๆ กับสหภาพโซเวียตในยุคหนึ่ง ใช่ว่าจะมีแต่คนที่พูดภาษารัสเซียไปทั้งหมด
         กล่าวเฉพาะชาวอุยเกอร์ในซินเจียง เมื่อไม่นานมานี้ เขตแดนความเป็นประเทศสมัยใหม่ และการลงหลักปักฐานอยู่กับที่ ก็ยังนับเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และขัดแย้งกับวิถีชีวิตความเป็นชนเผ่าที่ยังชีพด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์ในดินแดนแถบเอเชียกลาง ร่วมกับชนเผ่าอื่นๆ อีก 8 ชนเผ่า ต่อเนื่องมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 (ในยุคต้นของราชวงศ์ชิง ราชสำนักจีนถือว่า อณาจักรอุยเกอร์ในเวลานั้นเป็นประเทศราชของจีน แต่ก็ไม่ได้เข้าไปปกครองอะไรมากนัก เพราะจำเป็นต้องใช้อณาจักรอุยเกอร์เป็นรัฐกันชน เพื่อที่จีนจะได้ไม่ต้องมีปัญหากับชนเผ่าเร่ร่อนชาวเติอร์คอื่นๆ ในเอเชียกลาง ที่ลึกเข้าไปทางตะวันตก) หรือจนแม้ในโลกสมัยใหม่ เมื่อพรรคคอมมิวนีสต์จีนสถาปนาสาธารรัฐประชาชนจีนขึ้น บรรดาชนเผ่าในซินเจียงก็ยังได้รับสถานะเป็นเขตปกครองตนเองที่ค่อนข้างมีอิสระ และอย่างน้อยที่สุดก็สามารถดำรงอยู่ภายใต้ร่มธงแดงของจีนมาอย่างสงบเป็นเวลาหลายสิบปี คำถามที่เกิดขึ้น จึงอยู่ที่ว่าความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในซินเจียงช่วงหลังนี้มาจากสาเหตุใด
          เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอูรุมมูฉีเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองอุยเกอร์ซินเจียงเมื่อปี 2009 และเหตุความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทางการจีน ทั้งที่ปักกิ่งและในระดับมณฑล ระบุชัดเจนว่าเป็นการก่อการร้ายของกลุ่มคลั่งศาสนา ที่ประสงค์จะแบ่งแยกดินแดน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวในแวดวงนักการฑูตที่กรุงปักกิ่ง กล่าวหาว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ จำนวนหนึ่งได้รับการฝึกฝนจากทางเหนือของปากีสถาน จีนยืนยันมาโดยตลอดว่าจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม เพราะเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายที่มีเป้าหมายทางการเมืองอันสั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศโดยรวม
                                            อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาเรื่องความต้องการแบ่งแยกดินแดน อาจยังไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานของปัญหาทั้งหมดที่ดำเนินอยู่ นักวิเคราะห์จำนวนมากรวมทั้งนักวิชาการของจีนเอง ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกของรัฐบาลกลาง ที่เริ่มมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 ดูเหมือนเหตุการณ์ความไม่สงบในซินเจียงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงไม่มากก็น้อย ก่อนปี 1949 จำนวนประชากรชาวฮั่นในเมืองหลวงอูรุมมูฉีมีไม่ถึงร้อยละ 7 พอมาถึงปี 1988-1990 สัดส่วนจีนฮั่นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44 หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรง ประชากรจีนฮั่นในเวลานี้ลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 37  ซึ่งก็ยังถือว่าสูงมาก การอพยพย้ายถิ่นเข้าไปทำมาหากินของจีนฮั่น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเพราะแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ แต่เป็นไปตามแผนการพัฒนาเมืองหลักในภาคตะวันตกของรัฐบาลกลาง
                                          ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรช่องทางทำมาหากิน ตลอดจนผลกระทบของการพัฒนาที่กระทบต่อวิถีชีวิตตามจารีตประเพณีเดิมของชาวอุยเกอร์ มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าบรรดาผู้ประท้วงไม่ได้มีเป้าหมายทำลายหรือโจมตีที่ทำการของรัฐบาล แต่มุ่งเป้าไปที่ร้านรวงของเอกชนชาวฮั่น หรือสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องเป็นคู่กรณีความรุนแรง ผมเองเชื่อว่ารัฐบาลจีน ก็คงเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงอยู่ แต่การเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับ ผู้ก่อการร้าย อาจจะสะดวกกว่าที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่และแก้ลำบากกว่ามาก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว หรือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทว่าการ แกล้งตีโจทย์ผิดบ่อยๆ  ในกรณีแบบนี้ ระยะยาวแล้วน่าจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

T-POP ในประเทศจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              เมื่อวันอังคารสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากปั่นต้นฉบับ “คลื่นบูรพา” ส่งกองบรรณาธิการเสร็จ ผมก็ขับรถตรงไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อบินไปปักกิ่งตอนก่อนเพล ไม่ได้หนีไปเที่ยวที่ไหนหรอกครับ แต่เป็นการไปราชการเกี่ยวกับการประสานงานโครงการวิจัยที่ผมรับผิดชอบอยู่ อีกทั้งในโอกาสเดียวกัน ทางสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมกับสื่อมวลชนจีน ก็ถือโอกาสเชิญให้ไปคุยเรื่องการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2011 ไปครั้งนี้ถือว่าได้งานครบถ้วนแม้จะอยู่เพียงแค่ 2-3 วัน เพราะหลังจากเสร็จธุระที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งแล้ว ก็ยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมสำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำลังจัดตั้งเตรียมความพร้อมของสถานที่ ใกล้จะเปิดทำการในเร็วๆ นี้ ก่อนกลับก็ยังได้แวะเยี่ยมมหาวิทยาลัยชิงหัวพร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ที่สถานีวิทยุ CRI ภาคภาษาไทย (China Radio International หรือ วิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง ที่เรารู้จักกันแต่เดิม ปีนี้ครบรอบ 70 ปี แล้ว) เป็นที่สนุกสนานและเป็นกันเองอย่างยิ่ง
                 เรื่องที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในสัปดาห์นี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรายละเอียดการไปราชการของผมหรอกครับ และก็ไม่ได้เป็นประเด็นข่าวสำคัญประจำสัปดาห์ของประเทศจีน แต่เป็นผลพลอยได้จากการไปปักกิ่งคราวนี้ กล่าวคือ หลังจากการบรรยายที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเสร็จสิ้นลง ทางผู้จัดฝ่ายมหาวิทยาลัยพาไปเลี้ยงข้าวเที่ยงพร้อมๆ กับบรรดาสื่อมวลชนที่มาเข้าร่วม ระหว่างการรับประทานอาหารเที่ยง ก็มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับนครปักกิ่งและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน  หนึ่งในเรื่องราวที่คุยกัน เป็นความรู้ใหม่มากสำหรับผม คือ ผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งได้ตั้งประเด็นขึ้นมาในวงรับประทานอาหารว่า ตอนนี้กระแสนิยมละครทีวีไทยกำลังมาแรงมากในประเทศจีน ถึงขนาดว่ามีการวิเคราะห์วิจารณ์กันในสื่อบันเทิงของจีนว่า ระดับความนิยม (T-POP หรือ Thai Pop Culture) อาจแซงหน้ากระแสละครและภาพยนต์เกาหลี (K-POP) ในเวลาอันใกล้นี้ ผมเองก็เคยได้ทราบข่าวและมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเล็กๆ เมื่อปีสองปีมาแล้ว ว่ามีการเจรจาขอซื้อละครทีวีจากประเทศไทย ไปฉายออกอากาศในทีวีดาวเทียมของจีน 2-3 เรื่อง แต่ไม่เคยรับทราบมาก่อนว่า ในเวลาเพียงสองปีกว่าๆ ละครไทยจะไปฮิตติดจอในจีนได้ขนาดนี้ ผู้สื่อข่าวจีนท่านเดียวกันยังได้บอกให้ผมทราบว่า เวลานี้มีการจัดตั้งกลุ่มแฟนคลับดาราดังของไทยทั้งชายและหญิงจำนวนมากในประเทศจีน ทั้งที่เป็นกลุ่มแฟนคลับมาตรฐาน มีการจัดทำเว็ปไซต์หรือเว็ปบล๊อก อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือประเภทที่เป็นกลุ่มเป็นชมรมพากันมาเที่ยวมากรี๊ดดาราถึงเมืองไทยก็มี ส่งผลให้ประเทศไทยดังไปด้วย โดยเฉพาะอาหารไทย และโรงเรียนสอนภาษาไทย(ประการหลังนี้ ท่านอาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็ยืนยันว่าจริง)
                      หลังจากรับฟังข่าวสารว่าด้วยความดังของกระแส T-POP มาแล้ว ผมก็เลยอยู่ไม่เป็นสุข รู้สึกอยากจะสืบเสาะต่อ เท่าที่ค้นดูจากเว็ปไซต์ต่างๆ ของจีน ดูเหมือนแนวโน้มกระแสนิยมแรงจริงๆ อย่างที่รับฟังมา หากประเมินผ่านสายตาของนักวิเคราะห์ในแวดวงสื่อสายบันเทิงของจีน ดูเหมือนปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลดีต่อละครทีวีของไทย น่าจะแยกแยะอธิบายได้สองสามประการด้วยกัน ประการที่หนึ่ง ละครทีวีไทยรุ่นบุกเบิกที่เข้าไปในประเทศจีน เช่น “เลือดขัตติยา” เป็นการเข้าไปทำตลาด ชิมลางที่ถูกจังหวะ เพราะเป็นช่วงที่ผู้ชมหรือแฟนละครทีวีส่วนมากกำลังเบื่อและเลี่ยนละครซีรีส์จากเกาหลีเต็มที กล่าวคือ ผู้ซื้อทางจีนจงใจที่จะหาแหล่งผลิตละครทีวีใหม่ๆ เข้าไปเป็นทางเลือกให้ผู้ชมละครในประเทศจีน ตามมาด้วยระลอกที่สองของละครทีวีเช่น “แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา” “บ่วงรักกามเทพ” “แก้วล้อมเพชร” ฯลฯ เหล่านี้ก็เข้าไปเสริมฐานผู้ชมทีวีจีนตามมณฑลต่างๆ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จนในตอนนี้แม้ช่องทีวีระดับชาติของจีนอย่าง CCTV ก็ยังต้องนำเข้าละครทีวีไทย เพื่อไปรักษาฐานกลุ่มผู้ชมของเขา ประการที่สอง ดารานำชาย-หญิงในละครทีวีไทยเรา ไม่ว่าจะเป็น เคน ธีรเดช, ติ๊ก เจษฎาภรณ์, แอฟ ทักษอร, ป้อง ณ วัฒน์, บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว ,อ้อม พิยดา , อั้ม อธิชาติ, บี น้ำทิพย์, แป้ง อรจิรา ฯลฯ ดูจะมีเสน่ห์ตรงสเป็คของบรรดาป้าๆ เจ๊ๆ หมวยๆ อาตี๋ อาเฮียทั้งหลายในประเทศจีน ดาราสาวก็ทำนองเดียวกัน จะด้วยความละม้ายรับกันได้ทางวัฒนธรรม หรือเพราะสเป็คมาตรฐานความสวยความหล่ออยู่ในวิถีเดียวกันก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าในสายตาของผู้ชมจีน ดาราเราหล่อและสวยรับได้ง่ายกว่าของเกาหลี ประการที่สาม ผู้ชมละครทีวีชาวจีนจำนวนมาก เคยมีประสบการณ์เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งโดยตรง หรือโดยผ่านการบอกเล่าของพรรคพวกญาติพี่น้อง ทำให้ละครทีวีไทยหรือสินค้าอื่นๆ ของไทย ไม่เป็นเรื่องแปลกหน้าที่ต้องใช้เวลาในการทำตลาดยาวนานเหมือนอย่างของจากประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบแล้ว คนจีนนิยมที่จะเลือกเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากกว่าเพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าการจะเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลี
ในวงสนทนาผมยังได้รับทราบว่า เวลานี้มีนักธุรกิจจำนวนหนึ่งแสดงความจำนงค์จะเข้ามาขอร่วมทุนกับผู้ผลิต ผู้กำกับไทยรุ่นใหม่ (นอกเหนือไปจากค่ายหลักๆ อย่าง ช่อง3 ช่อง7 ค่ายเอ็กแซ็กท์) เพื่อเพิ่มจำนวนละครที่จะส่งเข้าไปฉายในประเทศจีน แต่ปัญหาหลักคือไม่รู้จะไปติดต่อกับใครหรือหน่วยงานไหน ผมเองก็ไม่ถนัดจะเป็นนายหน้าจับคู่ธุรกิจ เรื่องแบบนี้จังหวะกำลังดี ใครที่มีหน้าที่หรือใครที่อยู่ในแวดวงนี้ คงทราบดีกว่าผมว่าควรจะต้องเร่งทำอะไรและอย่างไร ผมเองไม่มั่นใจว่าฐานผู้ชมที่ติดละครทีวีไทยมีเท่าไรในประเทศจีน แต่กระแสนิยมที่ว่ามานี้คงไม่ใช่เล็กๆ ที่สำคัญอาจฉุดเอาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ของไทยให้ดังไปด้วย เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นและเกาหลีเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผลกระทบจากอุบัติเหตุรถไฟจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
              

       อย่างที่เคยเรียนท่านผู้อ่านที่รักอยู่เสมอๆ ว่าคอลัมน์คลื่นบูรพาเป็นคอลัมน์ข่าวแห้งไม่ใช่การรายงานข่าวสด ทว่าเรื่องราวที่จะนำเสนอท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ แม้เหตุจะเกิดมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ แต่ผลกระทบที่ติดตามมาสารพัดด้าน เพิ่งจะทยอยปรากฏต่อเนื่อง และก็ดูจะยังไม่จบลงง่ายๆ ที่จะนำเสนอและชวนท่านผู้อ่านคุยในคราวนี้ ก็คือเรื่องราวอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงของจีนที่เมืองเวินโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของประเทศจีน ห่างจากมหานครเซี้ยงไฮ้มาทางใต้เพียงเล็กน้อย รายละเอียดเนื้อข่าวเป็นอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงได้ติดตามรับทราบจากสื่อแขนงต่างๆ ที่รายงานกันสดๆ ตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุขึ้น ที่ผมจะชวนคุยนั้นเป็นเรื่องของผลกระทบที่กำลังตามมา
           หากจะว่าไปให้เป็นธรรมและตรงตามข้อเท็จจริง เส้นทางและขบวนรถที่เกิดเหตุนั้น ณ เวลาปัจจุบัน ยังไม่ได้นับเป็นส่วนหนึ่งของระบบรถไฟความเร็วสูงที่จีนกำลังเดินหน้าพัฒนาอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เกี่ยวกันเสียทั้งหมด เพราะระบบรถไฟความเร็วสูงส่วนใหญ่ ก็พัฒนามาจากการปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่เดิมเหล่านี้ อีกทั้งเส้นทางเซี้ยงไฮ้-เวินโจวที่เกิดเหตุนี้ ก็อยู่ในแผนที่จะพัฒนาต่อเชื่อมเข้ากับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในอนาคตอันใกล้ไปถึงเมืองฝู้โจว เมืองเอกของมณฑลฟูเจี้ยน  ความรู้สึกของสาธารณชนคนจีนทั่วไปที่มีต่ออุบัติเหตุเที่ยวนี้ จึงห้ามไม่ได้เลยว่ากระทบต่อระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนโดยตรง นี้ยังไม่รวมไปถึงผู้ติดตามข่าวชาวต่างชาติทั่วโลก เวลาเกิดเหตุอะไรแบบนี้ ไม่มีใครจะมานั่งสนใจดูในรายละเอียดหรอกครับ ว่ามันเป็นส่วนไหนของระบบเครือข่ายรถไฟจีน เป็นรถความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ เวลาเป็นข่าวก็ย่อมต้องเสียหายไปหมด ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูตามห้องโพสต์ข่าวและแสดงความเห็นในเว็ปไซต์ต่างๆ เห็นได้อย่างชัดเจนว่างานนี้ทางการจีน โดยเฉพาะทบวงการรถไฟจีน โดนถล่มแบไม่มีเหลือ
                 เฉพาะหน้าที่โดนถล่มไปเรียบร้อยแล้วคือผู้บริหารของการรถไฟจีน หลังเกิดเหตุเพียงสองวัน ประเมินจากความเสียหายและเสียงบริภาษของสาธารณชนชาวจีนแล้ว รัฐบาลที่ปักกิ่งได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงออกยกแผง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะดูเหมืองเสียงวิจารณ์ก็ยังคงทวีเพิ่มขึ้นทุกวัน ผลกระทบที่ตามมาทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง หลังเปิดทำการวันจันทร์ ตลาดหุ้นจีนก็ล่วงลงมารับข่าวซ้ำสองหลังจากที่ถูกผลกระทบมาจากข่าวภาวะหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก่อนหน้ารอบหนึ่งแล้ว รัฐบาลจีนเองทราบดีว่างานนี้ต้องเกิดผลกระทบรุนแรงแน่ ลำพังเพียงปลดผู้บริหารอาจไม่เพียงพอ หลังเกิดเหตุไม่นานก็มีคำสั่งจากปักกิ่งให้ตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยเส้นทางและการทำงานของขบวนรถไฟความเร็วสูงทั้งเครือข่าย ที่ต้องยกเครื่องใหม่หมด มีผลมาตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ต้นสัปดาห์ แม้ว่าจีนจะพยายามเร่งให้เปิดเดินรถบนเส้นทางสายที่เกิดอุบัติเหตุแล้วก็ตาม หากอ่านเนื้อหาจากบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์เหรินหมิงฉบับออนไลน์ของจีน ว่ากันว่าขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีน อาจกำลังตัดสินใจว่าควรจะชะลอแผนการขยายระบบเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีน เพื่อให้มีเวลาในการพัฒนาระบบให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
                 แต่ที่ดูเหมือนน่าเป็นห่วงมากกว่าคงจะเป็นผลกระทบที่เกิดนอกประเทศ โดยเฉพาะแผนการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อภูมิภาคของจีนกับอาเซียน หากดูจากเสียงสะท้อนในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ของภูมิภาคนี้ แม้การเสนอข่าวอุบัติเหตุในจีนจะเป็นไปแบบเห็นอกเห็นใจ แต่ก็มีหลายคอลัมน์ที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความน่าเชื่อถือในเทคโนโลยีของจีน เว็ปไซต์หลายแห่งในประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย มีการเสนอบทวิเคราะห์เทคโนโลยีรถไฟจีนเปรียบเทียบกับรถไฟความเร็วสูงเจ้าเก่าอย่างญี่ปุ่น หลายความเห็นเรียกร้องให้ทบทวนโครงการต่อเชื่อมรถไฟความเร็วสูงของจีนลงมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลยเถิดไปถึงคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของบรรดาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน อุโมงค์ทั้งหลายที่รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัทของจีน กรณีที่เป็นเรื่องราวใหญ่โตในอีกฝากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ก็คือ เสียงเรียกร้องให้ผู้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียคนปัจจุบัน ทบทวนความปลอดภัยโครงการก่อสร้างสะพานใหม่ ที่รับเหมาโดยบริษัทจีน งานนี้อดีตผู้ว่าฯเทอร์มิเนเตอร์โดนไปเต็มๆ รวมทั้งบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้างจีนที่ได้งานประมูลในสหรัฐฯ ก็โดนไปด้วยแบบไม่ทันตั้งตัว
                 จากที่แต่เดิมรัฐบาลจีนเน้นนโยบายการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ทำนองว่า ยิ่งเร็วยิ่งดีเพราะประเทศจีนมีงานต้องทำต้องพัฒนามาก อะไรเป็นวิธีที่จะทำให้พัฒนาได้เร็วที่สุด ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีทีสุด (อย่างที่มีคนอ้างกันว่าเป็นคำขวัญของเติ้งเสี่ยวผิง) จนขนาดเศรษฐกิจของจีนเติบโตมาเป็นที่สองของโลกแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น จีนต้องแลกกับอะไรต่อมิอะไรไปเยอะมาก รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะและความเสี่ยงภัยของชีวิตประชาชนชาวจีน ในฐานะผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค มาตอนนี้เริ่มมีคนพูดกันถึงแนวทางพัฒนาแบบ ยิ่งดียิ่งเร็ว (อ้างกันว่าเป็นคำขวัญของเจียงเจ๋อหมิง) กล่าวคือ ต้องพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่และดีที่สุดเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้การพัฒนาดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว  ช่วงระยะเวลาอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ จึงเป็นเสมือนบทพิสูจน์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ผลงานเดิมในยุค ยิ่งเร็วยิ่งดี กำลังปรับตัวเชื่อมต่อกับผลงานยุคใหม่แบบ ยิ่งดียิ่งเร็ว เทคโนโลยีชั้นสูงบนรากฐานที่ง่อนแง่นไม่ได้มาตรฐาน ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะเพียงเรื่องรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น แต่จากที่เดินทางไปหลายมณฑลในประเทศจีนตลอดช่วงกว่า ๒๕ ปีที่ผ่านมา จีนยังมีมรดกการพัฒนาแบบ ยิ่งเร็วยิ่งดี เป็นระเบิดเวลาอีกมาก
                 เห็นว่ารัฐบาลใหม่ของไทยเราใกล้คลอดเต็มทีแล้ว นโยบายหลายเรื่องที่โฆษณาหาเสียงเอาไว้ช่วงเลือกตั้งเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ หากทำไม่ได้ทันทีทันใด ก็อาจทำให้ชาวบ้านที่เลือกท่านมาหงุดหงิดไม่พอใจ แต่นโยบายจำนวนมาก (เช่นการถมทะเลทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม กทม. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๔ ภาค ฯลฯ) หากทำเร็วเกินไปทั้งที่โครงสร้างพื้นฐานในสังคมไม่พร้อม ก็อาจกลายเป็นมรดกบาปรอให้ต้องเก็บกวาดแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต เรื่องแนวทาง ยิ่งเร็วยิ่งดี กับแนวทาง ยิ่งดียิ่งเร็ว ของจีนที่ผมเล่าเล่นๆ มานี้ อาจเป็นอุทาหรณ์ที่ดีเฉพาะหน้าสำหรับประเทศไทยเรา