ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ท้องถิ่นจีนกับวิสาหกิจชุมชน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 สัปดาห์นี้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ก็มีข่าวสารน่าสนใจค่อนข้างมากจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นข่าวงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ซึ่งจัดกันยิ่งใหญ่เป็นพิเศษในเขตเศรษฐกิจฮ่องกง ข่าวเขื่อนสามโตรกผาของจีนซึ่งเป็นโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำและผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มต้นเก็บกักน้ำเต็มขีดความสามารถของความจุเขื่อน หรือข่าวใหญ่เรื่องการส่งออกของจีนกลับมาขยายตัวเพิ่มในเดือนสิงหาคมมากถึงกว่าร้อยละ๒๔ หลังจากที่ชะลอตัวไปนานตามภาวะเศรษฐกิจโลกฯลฯ มีข่าวใหญ่ๆ มากเสียจนผมเองก็เลือกไม่ถูก ไม่รู้จะนำข่าวเรื่องใดมาขยายความนำเสนอท่านผู้อ่าน จนท้ายที่สุดหลังจากเปิดหาข่าวหลักๆ ดูไปจนหมดแล้วก็เผอิญไปพบว่ามีข่าวสองข่าวที่ดูจะขัดแย้งกันแปลกๆ ยังไงๆ อยู่คู่หนึ่ง ก็เลยเกิดสนใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ขออนุญาตนำมาเป็นประเด็นชวนคุยในสัปดาห์นี้เสียเลย
                 ข่าวแรก เป็นข่าวที่รัฐบาลกลางของจีนได้เข้าตรวจสอบติดตามภาวะหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น สืบเนื่องจากข่าวผลการศึกษาของสภาวิจัยสังคมศาสตร์ของจีนที่ออกมาแสดงความห่วงใยในการใช้จ่ายและการลงทุน ที่แต่ละท้องถิ่นพากันทุมเทลงทุนจนเกิดหนี้สินรุงรังไปหมด ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าว ว่าหลายแห่งใช้จ่ายเงินรายได้ไปกับการพัฒนาวิสาหกิจโดยที่ไม่ได้มีการศึกษาผลตอบแทนทางธุรกิจว่าคุ้มค่าหรือไม่ เห็นคนอื่นทำก็เลียนแบบทำตามๆกันไป จนท้ายที่สุดขาดทุนและต้องถูกบังคับให้ต้องยุติโครงการไปโดยปริยาย  ผลการตรวจสอบของรัฐบาลกลางเที่ยวนี้ พบว่าท้องถิ่นของจีนในระดับต่างๆ มีหนี้สินอันเนื่องมาจากการลงทุนรวมกันกว่า 1.7ล้านล้านหยวน เรียกว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเอามากๆ สำหรับคนไทยเรา ถ้าจะลองเปรียบเทียบดูก็ประมาณหลายเท่าตัวของงบประมาณแผ่นดินบ้านเรา หากเทียบกับ GDP ทั้งประเทศของจีน ก็ประมาณยังไม่ถึงครึ่งดีนัก แต่ถ้าเทียบกับ GDP ของท้องถิ่นจีนแล้ว ตัวเลขอาจสูงถึงร้อยละ 73 เรียกว่าเป็นระดับของหนี้สินที่มากเอาการอยู่ ผมเองก็ไม่ใช่ว่าจะรู้เรื่องทางเศรษฐศาสตร์สักเท่าใดหรอกครับ อีกทั้งความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์หลังผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายรอบ ก็ดูจะไม่มีข้อยุติชัดเจนนัก ว่าสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เท่าไหร่จึงจะเรียกว่าอันตราย แค่ไหนถึงจะเรียกว่าปลอดภัย ทำนองคล้ายกับนักการเมืองฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลในบ้านเรานั้นแหละครับ เวลาอภิปรายตัวเลขการกู้ยืมก่อหนี้ก่อสิน ดูเหมือนจะใช้ตำรากันคนละเล่ม เถียงกันไม่จบว่าหนี้เยอะแล้วใกล้จะล่มจม หรือว่ากู้มากำลังดี ยังกู้ได้อีกปลอดภัยแน่ๆ ขอเอาตัวเลขเปรียบเทียบของสามชาติใหญ่ๆ มาเป็นตัวอย่างก็แล้วกันนะครับ ในปี 2010  ของอเมริกา หนี้สินต่อ GDP เท่ากับ ร้อยละ53.5 ของประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกันเท่ากับร้อยละ 225.8 ของเยอรมนีเท่ากับร้อยละ 78.8 เปรียบเทียบดูแล้วก็ลองพิจารณาดูกันเอาเองเถอะครับ ว่ากรณีของท้องถิ่นจีน หนี้สินที่มีอยู่จะเรียกว่ามากหรือยังไม่มาก แต่ที่แน่ๆ ฝ่ายรัฐบาลกลางที่เข้าไปตรวจสอบเที่ยวนี้ สรุปออกมาแล้ว ว่ายังไม่ถึงขีดอันตราย และยังสามารถควบคุมได้อยู่ และจะไม่ยอมปล่อยให้ท้องถิ่นของจีนต้องตกอยู่ในภาวะหนี้ล้นพ้นตัวอย่างที่เกิดในบางประเทศของยุโรป อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากความตื่นตัวและมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกลางกำหนดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่นข้อกำหนดการขายพันธบัตรหรือตราสารเงินกู้ของท้องถิ่นที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ห้ามไม่ให้ออกพันธบัตรโดยเด็ดขาดหากมีหนี้สินเดิมอยู่แล้วมากกว่างบประมาณประจำปีนั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า ท้องถิ่นของจีนหลายแห่ง กำลังเริ่มมีปัญหาหนี้สินอย่างไม่ต้องสงสัย และอาจนำไปสู่วิกฤตในระดับชาติ หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง
                 ข่าวที่สอง ที่ผมบอกว่าขัดแย้งกับข่าวข้างต้น ก็คือข่าวหมู่บ้านที่รวยที่สุดของจีน เกิดเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศก็เพราะ ผู้คนในหมู่บ้านร่วมทุนกันเป็นวิสาหกิจท้องถิ่นลงทุนก่อสร้างอาคาร 78 ชั้นสูง 328 เมตรกลางหมู่บ้าน และเตรียมจะเปิดให้บริการโรงแรมหรูในปลายปีนี้ ในโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อแรกเป็นคอมมูนการเกษตร ใช้เงินในการก่อสร้างไปไม่มากเท่าไรหรอกครับ แค่สามพันล้านหยวน ยังไม่นับร่วมรูปวัวทองคำบนยอดตึกหนักเกือบหนึ่งพันกิโลกรัม อีกทั้งยังเตรียมสั่งต่อเรือสำราญ 500 ที่นั่ง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว ลงทุนขนาดนี้ ก็เลยดังไปทั้งประเทศ กลายเป็นเรื่องกล่าวขานวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งประเทศ หมู่บ้านหัวซี ในมณฑลเจียงซูแห่งนี้ เติบโตร่ำรวยขึ้นมาจากโรงงานสิ่งทอ เหล็ก และการท่องเที่ยว เมื่อปีกลาย หมู่บ้านนี้ก็เคยตกเป็นข่าวดังมาแล้วรอบหนึ่ง เพราะสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ที่เดียวสองลำ เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวบินชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้าน
                หัวซีเป็นตัวแบบหมู่บ้านสมัยใหม่ในเขตมณฑลตะวันออกของจีน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโรงงานหลังบ้านให้กับเมืองใหญ่อย่างมหานครเซี่ยงไฮ้และนานจิง ในปี 2003 หัวซีเป็นหมู่บ้านหรือกลุ่มวิสาหกิจท้องถิ่นกลุ่มแรกที่มีผลผลิตมวลรวมต่อปีสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านหยวน ด้วยพื้นทีเพียง .96 ตารางกิโลเมตรและประชากรเพียง 1,500 คน หัวซีรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมากถึงสองล้านคนต่อปี หลายต่อหลายคนวิจารณ์การลงทุนของหมู่บ้านหัวซีว่าเป็นการลงทุนแบบบ้าเลือดบุ่มบ่าม ในโลกอินเตอร์เน็ตชาวเว็บวิจารณ์ว่าเป็นการโชว์ความร่ำรวยแบบคนบ้านนอก แต่สำหรับผู้บริหารหมู่บ้าน ประธานพรรคฯ และชาวบ้านในหัวซี อาคาร 328 เมตร หลังนี้ คือความภาคภูมิใจ หยาดเหงื่อแรงงานแห่งความสำเร็จ และอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของชุมชนแห่งนี้ เป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ จากการตรากตรำใช้แรงงานทำมาหากินในภาคอุตสาหกรรม มาเป็นธุรกิจภาคการให้บริการ อีกทั้งยังสร้างงานใหม่ๆ ที่สบายขึ้นให้กับหนุ่มสาวลูกหลาน ช่วยป้องกันไม่ให้คนรุ่นต่อๆ ไปต้องจากบ้านจากชุมชนไปหางานทำในเมืองใหญ่ข้างเคียง  จะด่วนตัดสินว่าชาวหัวซีเป็นพวกอวดร่ำอวดรวย หรือจะบอกว่าเป็นเศรษฐีที่มีวิสัยทัศน์ อันนี้คงต้องรอดูกันต่อไป
                 สองตัวอย่างที่ยกมาเล่าให้ฟังในสัปดาห์นี้ ก็ไม่ได้มีอะไรมากหรอกครับ เพียงแต่อยากให้เราจับตาดูบทบาทของท้องถิ่นจีนให้ดี ความเปลี่ยนแปลงมากมายกำลังเกิดขึ้น และน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อหน้าตาของประเทศจีนในอนาคตอย่างมากทีเดียว

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ค่าจ้างขั้นสูง - ขั้นต่ำ

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
         รัฐบาลท่านนายกฯปูทำงานมาถึงเวลานี้ ก็ล่วงเข้าสู่เดือนที่สองกว่าๆ แล้ว อารมณ์คึกคักดูเหมือนยังครอบคลุมท่านที่เพิ่งเข้ามารับหน้าที่เป็นใหญ่เป็นโตได้อำนาจรัฐเข้าบริหารประเทศ หลายกระทรวงหลายหน่วยงานก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ตามธรรมดาการเปลี่ยนนายใหม่ กว่าจะโยกย้ายผู้คนเข้าที่เข้าทาง ก็คงต้องใช้เวลาอีกร่วมเดือน ในขณะเดียวกัน บรรดานโยบายทั้งหลายที่หาเสียงกันไว้ในช่วงเลือกตั้ง ผู้คนที่มีส่วนได้เสียก็เริ่มออกมาทวงถาม ว่าไปแล้วนอกจากเรื่องลดราคาน้ำมันรถยนต์ เรื่องอื่นๆ ที่รับปากไว้ก็ดูเหมือนยังไม่สามารถดำเนินการได้เท่าไรนัก หากมองแบบเห็นใจรัฐบาลและให้โอกาสช่วงฮันนีมูน ก็คงต้องให้โอกาสกันไปอีกสักระยะ จนกว่าจะพ้นหน้าน้ำท่วม แต่ถ้าจะว่ากันแบบเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ก็พอจะเข้าใจได้ว่าหลายต่อหลายเรื่องรอไม่ได้จริงๆ ยิ่งสำหรับพี่น้องระดับรากหญ้าและคนหาเช้ากินค่ำในเมืองด้วยแล้ว เรื่องเงินเรื่องทอง ไม่เข้าใครออกใคร ได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะตอนที่หาเสียงก็ไปบอกเขาไว้ว่า ทุกเรื่องทำได้จริง ทำได้ทันที ไม่ว่าเรื่องราคาพืชผล เรื่องค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ 300 บาท เรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท สัปดาห์นี้ผมก็เลยถือโอกาสเกาะติดกระแส ชวนท่านผู้อ่านที่รัก พูดคุยเรื่องค่าจ้างเรื่องเงินเดือนสักหน่อย แต่เป็นข้อมูลของประเทศจีนนะครับ เพราะเห็นนักวิชาการหลายท่านออกมาตั้งข้อห่วงใยเกี่ยวกับนโยบายเรื่องนี้อยู่เยอะ บางที่ถ้าทราบว่าบ้านใกล้เรือนเคียงเขาเป็นอย่างไรกัน อาจช่วยให้เราสบายใจ หรือวิเคราะห์กันถูกทางขึ้นมาบ้าง

คุณหยางหยวนชิง ซีอีโอของกลุ่มเลโนโวจีน
                   สถานการณ์เรื่องค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนตอนนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากที่เราเคยคิดเคยเข้าใจอยู่มาก ว่าตามข่าวสารผลการสำรวจที่ผมไปค้นในThe New York Times และของ Bloomberg News ฉบับย้อนหลังเมื่อเดือนมีนาคม ช่วงปลายไตรมาสแรกของปีนี้ มีหน่วยงานของบริษัทวิจัยทางการตลาดที่ทำการศึกษาเรื่องค่าแรงในประเทศจีน ได้ทำการเปรียบเทียบการปรับเปลี่ยนจากต้นปี 2010 ถึงมีนาคม 2011 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำทั่วทั้งประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมากทีเดียว โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 แต่เมื่อดูแยกย่อยไปตามหัวเมืองต่างๆ แล้วพบว่า สัดส่วนการเพิ่มในหัวเมืองหลักที่มีการจ้างงานสูงและมีค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว ดูจะเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยที่กล่าวไป ตัวอย่างเช่น
            มณฑลกวางตง      ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2  มาอยู่ที่ 1,300 หยวน
            มหานครเซี้ยงไฮ้    ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14     มาอยู่ที่ 1,280 หยวน
            มหานครปักกิ่ง      ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ21      มาอยู่ที่ 1,160 หยวน
            มหานครเทียนจิน  ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16     มาอยู่ที่ 1,070 หยวน
            มหานครเสิ่นเจิ้น   ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20     มาอยู่ที่ 1,320 หยวน
            มณฑลเจียงซู        ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15     มาอยู่ที่ 1,140 หยวน
          ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนอย่างเป็นทางการที่แต่ละแห่งประกาศปรับเพิ่มในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มว่าจะมีการประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า หากเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพของจีนยังเดินหน้าเพิ่มขึ้นไม่หยุด
            ในด้านบัณฑิตจบใหม่ปริญญาตรี ข่าวสารที่เกี่ยวข้องยังสับสนสรุปชัดไม่ได้ ในด้านหนึ่งผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีของจีนส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก ต่างก็ตัดพ้อรัฐบาลว่าไม่ดูแลคุ้มครองค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทำให้หางานยาก เงินเดือนที่ได้ก็น้อย ไม่พอกับค่าครองชีพในเมือง ในขณะที่ด้านบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจจำนวนมากของจีนก็อ้างว่าบัณฑิตจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ทำงานไม่เป็น แต่เรียกร้องเงินเดือนสูง ทำให้หาคนมาทำงานได้ลำบาก ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ไข ประเทศชาติไม่เจริญแน่ๆ อะไรทำนองนั้น ในขณะที่ผลสำรวจของพนักงานชาวจีนที่ทำงานในบริษัทต่างชาติกลับพบว่า บัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ที่เข้าทำงานในบริษัทเหล่านี้ เกือบทั้งหมดได้เงินเดือนค่าจ้างเมื่อแรกเข้าเกินกว่า 3,000 หยวน ตกลงภาพจริงๆ เป็นอย่างไรก็ยังบอกได้ยาก ถ้าจะให้ดูข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ หรือเท่าที่ผมค้นหามาได้ในเวลาอันจำกัด ก็คงต้องบอกว่าค่าจ้างเงินเดือนแรกทำงานของบัณฑิตปริญญาตรีนั้น ไม่เท่ากัน แตกต่างกันด้วยปัจจัยหลักๆ อย่างน้อยสามประการ คือ เรียนจบอะไรมา จากมหาวิทยาลัยอะไร และทำงานที่ไหน กล่าวคือ หากสำเร็จการศึกษาด้านไอทีจากมหาวิทยาลัยมีชื่อชั้นนำของจีนและทำงานในบริษัทของต่างชาติ พวกนี้เริ่มบรรจุที่เงินเดือนเฉลี่ยเกิน 3,300 หยวนแน่ๆ ถ้าเป็นปริญญาโทก็เกิน 3,750 หยวน ถ้ามีปริญญาเอกและทำงานวิจัยพัฒนาได้ด้วยก็เกิน 5,000 หยวน นี้ยังไม่พูดถึงพวกที่มีความสามารถสูง ผลการเรียนโดดเด่น เก่งภาษาอังกฤษ พวกนี้บางคนเริ่มต้นที่เกือบหมื่นหยวนในระดับปริญญาเอก นอกจากนี้แล้ว ในบรรดาบริษัทต่างชาติที่ลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีน ก็อาจมีธรรมเนียมในการพิจารณาให้ค่าจ้างเงินเดือนที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นบริษัทของอเมริกันหรือที่บริหารงานโดยคนอเมริกัน บริษัทเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของเนื้อหาหลักสูตรที่เรียนมามากเป็นพิเศษ ใครที่จบมาตรงสเป็คมากๆ ก็จะได้เงินเดือนสูง ในขณะที่พวกบริษัทจากยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส จะให้ความสำคัญกับเรื่องการสัมภาษณ์และความสามารถทางภาษา หรือทักษะการสื่อสารเป็นพิเศษ คือ พูดรู้เรื่องสั่งงานได้ไม่ทำงานผิดๆ ถูกๆ แบบนี้ให้เงินเดือนสูง แต่ถ้าเป็นบริษัทของญี่ปุ่นและไต้หวัน อันนี้ดูที่ภูมิหลังครอบครัวและมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษามา ถ้าจบจากมหาวิทยาลัยดัง (ปักกิ่ง ชิงหัว เจียวทง ฯลฯ) ครอบครัวดีพ่อแม่ดี (ดียังไงต้องคิดเอาเองนะครับ) อย่างนี้ให้เงินเดือนสูง ในอีกด้านหนึ่งของสุดปลายขั้ว ตอนนี้ผู้บริหารบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน ข่าวว่า ได้เงินเดือนกันคนละหลายล้านหยวน ตัวอย่างเช่น คุณหยางหยวนชิง (ที่ผมเอารูปมาให้ดู) ซีอีโอของกลุ่มเลโนโวจีน เงินเดือนตกเดือนละกว่า 6 ล้านหยวน
                 เรื่องเงินเดือนค่าจ้าง แม้จะเป็นขั้นต่ำหรือเงินเดือนเริ่มต้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะจัดให้เหมือนกันได้ทั้งระบบ จบหลักสูตรเหลวไหลอะไรมาแล้วได้หมื่นห้า ก็เป็นเรื่องน่าดีใจแทนและน่าโมทนาด้วย แต่ก็ต้องตอบคนที่จบวิศวะ จบแพทย์ให้ได้ว่า ที่พวกเขาพากันตั้งใจ ฝ่าฟันเรียนหนังสือมา จะให้พวกเขาเท่าไร

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
            ช่วงระยะเวลาร่วมเดือนที่ผ่านมา ผมเห็นข่าวสารที่เกี่ยวกับข้อห่วงใยเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่องอยู่ระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องประเทศเพื่อนบ้านเอาท่ารำท่าจีบ ไปขึ้นทะเบียนกับ UNESCO หรือเลยเถิดลุกลามไปถึงข้อเสนอให้ประเทศไทยรีบไปขึ้นทะเบียนกะปิ น้ำปลา และอื่นๆ ก่อนที่อาจจะมีใครชิงไปจดทะเบียนตัดหน้าเรา แม้แต่รัฐมนตรีใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงวัฒนธรรมฯ ก็พลอยโดนนักข่าวรุมสัมภาษณ์ว่าจะมีนโยบายในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างไรบ้าง รับน้องใหม่ท่านรัฐมนตรีหญิงเสียมึนไปเลย กว่าจะตั้งหลักได้ก็อีกหลายวัน น่าเห็นใจท่านรัฐมนตรีฯเป็นอย่างยิ่ง ว่าที่จริงแล้วคงต้องพูดว่าน่าเห็นใจคนไทยโดยรวมทั้งประเทศ ที่อยู่ๆ ก็เกิดข่าวตื่นตระหนกทำนองเช่นนี้ โดยไม่ทันได้ตั้งตัวศึกษา หรือมีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนว่า การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้คืออะไร พอมีข่าวว่ากัมพูชาอย่างนี้ กัมพูชาอย่างนั้น ก็เลยแตกตื่นตกใจไปเกินเหตุ
            ร่ายยาวเกริ่นเรื่องมาข้างต้นนี้ ก็เพราะกำลังจะชวนท่านผู้อ่าน คุยเรื่องเกี่ยวกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศจีน เพราะเมื่อสองวันที่ผ่านมานี้ จีนเพิ่งประกาศแก่สาธารณชนว่าได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจีนต่อ UNESCO เรียบร้อย 28 รายการ จากทั้งหมด 870,000 รายการ ที่ทางการจีนได้รวบรวมเอาไว้ก่อนหน้านี้ เห็นตัวเลขชุดหลังแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจว่าผมพิมพ์ผิดนะครับ ตามข่าว 870,000 รายการจริงๆ ครับ แรกๆ ผมก็เข้าใจว่าเอกสารของจีนพิมพ์ผิด แต่พอเข้าไปค้นดูในเว็บไซต์ของสถาบันศึกษาวัฒนธรรมชนชาติแห่งสภาวิจัยฯจีน และของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่า มีเป็นแสนรายการจริง (เว็บไซต์ของกรมกิจการวัฒนธรรมบอกว่ามี 890,000 รายการ) อีกทั้งยังต้องตกใจเมื่อเห็นข้อมูลว่าประเทศจีนเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้อย่างยิ่ง และก็ไม่ใช่เพิ่งจะมาเอาจริงเอาจังเมื่อองค์กร UNESCO ลุกขึ้นมาประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จนพัฒนามาถึงขั้นการเชิญชวนให้ชาติต่างๆ มาขึ้นทะเบียน List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity ในความเป็นจริง รายการมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมและนามธรรมนับแสนๆ รายการ รัฐบาลจีนได้ริเริ่มสำรวจและจัดทำบัญชีเองมาแล้วเกือบ 30 ปี นอกจากทำการสำรวจวิจัยทำบัญชีแยกแยะเป็นประเภทต่างๆ ไว้ชัดเจนแล้ว ในช่วงปี 2005-2009 รัฐบาลกลางยังได้สั่งให้มีการชำระบัญชีของเดิมใหม่อีกรอบพร้อมๆ กับวิจัยเพิ่มเติมรายการใหม่ๆ ในคราวนั้น ได้พัฒนาขึ้นอีกระดับ ด้วยการบันทึกเป็นเสียง เป็นภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ทำคู่มืออธิบายประวัติฯความเป็นมาของแต่ละรายการบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้ และเผยแพร่ให้การศึกษา แก่สาธารณชนของจีนเป็นระยะๆ มีทั้งเว็บไซต์ภาษาจีนและภาษอังกฤษครบ ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังตรากฎหมายว่าด้วยการปกป้องและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อคุ้มครองไม่ให้ภูมิปัญญาทางทัศนศิลป์ วรรณคดี ภาษา คติชนวิทยา และวิทยาศาสตร์ ที่มีรากฐานจากประวัติศาสตร์ของชนชาติจีนสูญหายหรือถูกหลงลืมไป โดยกำหนดให้รัฐบาลกลางและท้องถิ่นในระดับต่างๆ มีหน้าที่โดยตรงในการอนุรักษ์ทำนุบำรุงไว้ ผมค้นข้อมูลไป อ่านไป ก็รู้สึกขนลุก ว่าเขาเอาจริงเอาจังทำกันถึงขนาดนั้นเลยทีเดียว
                   สาเหตุที่ประเทศจีนให้ความสำคัญกับเรื่องดังที่กล่าวมานี้ เดิมผมก็คิดเอาเองว่า คงหวังจะสร้างกระแสการท่องเที่ยว แต่พอลองสำรวจดูเอกสารงานวิจัยศึกษาต่างๆ ที่มี ทำให้เข้าใจได้ในความจำเป็นเร่งด่วนที่จีนลุกขึ้นมาเป็นห่วงเป็นใยและถึงขั้นต้องออกกฎหมายอรุรักษ์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงในสังคมจีน ทำให้ภูมิปัญญาและมรดกของชาติจำนวนมากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามจนอาจสูญหายไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว เฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต ผลการศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า อาชีพดั่งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาโบราณกว่า 350 รายการกำลังจะสูญหายไปจากสังคมจีน เพราะถูกแทนที่ด้วยวิธีการผลิตแบบใหม่ที่ใช้เครื่องจักร หรือมิเช่นนั้นก็สูญหายไปเฉยๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ซื้อหามาใช้ เพราะไม่รู้สึกว่าสินค้าเหล่านั้นทันสมัยพอ ตัวอย่างเช่น อาชีพทำขนมแบบดั้งเดิมนับสิบนับร้อยชนิด สินค้าหัตถกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ประดับบ้านเรือน ตอนนี้ก็แทบหาคนซื้อมาใช้ไม่ได้ เพราะในชีวิตจริงลำบากเต็มที จะมีก็นักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มที่สนใจซื้อหา นอกจากสินค้าและอาหารแล้ว การละเล่นและศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่า 400รายการ ตามชนบทของจีน ก็ตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เพราะหาผู้สืบทอดไม่ได้ วัยรุ่นและคนรุ่นยุคใหม่ไม่สนใจความบันเทิงแบบโบราณ เพราะมีสื่อบันเทิงสมัยใหม่ที่มีอำนาจทางการตลาดมหาศาลเข้ามาแย่งชิงพื้นที่  เทคโนโลยีพื้นบ้านอีกจำนวนเป็นร้อยเป็นพันรายการที่เกี่ยวข้องผูกพันกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น ก็กำลังถูกลืมเลือนและแทนที่ด้วยวิถีชีวิตแบบเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้แต่การแพทย์แผนจีนที่ว่าโด่งดัง ในบางสาขาย่อย ก็เริ่มสูญหายแล้ว เพราะไม่มีผู้รู้จะสืบทอด
           มรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เป็นประเด็นที่สังคมโลกและมนุษยชาติโดยรวมต้องร่วมกันดูแล ไม่ใช่เพราะมันเป็นของเรา หรือเพราะมันสะท้อนความยิ่งใหญ่ของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง แต่เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์พัฒนาการของมนุษยชาติโดยรวม เป็นภูมิปัญญาที่บ่งบอกความเป็นมนุษย์ โดยไม่แบ่งแยกด้วยอคติ หรือชาตินิยมแบบหลับหูหลับตา ใครจะขึ้นทะเบียนท่ารำอะไรอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราและลูกหลานต่อๆ ไปในอนาคต ยังจะรู้จักซึมซับรับรู้ถึงความงดงามแห่งท่วงท่านาฏลีลาที่ถ่ายทอดผ่านเส้นสายของประวัติศาสตร์จากอดีตถึงปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน