ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สุขภาวะทางจิตในสังคมจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
               ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ต้องขอเรียนท่านผู้อ่านด้วยความสัตย์จริงว่า ใจคอไม่ค่อยจะดี ไม่มีสมาธิเท่าไร สายตาต้องคอยเหลือบดูทีวีซึ่งรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ใจก็คิดถึงแต่ระดับน้ำในคลองหลังบ้าน ลุ้นระทึกว่ามวลน้ำมหาศาลตามข่าว ที่กำลังไหลเคลื่อนลงมาภาคกลาง จะเข้าบุกกรุงเทพฯเอาตอนไหน? เราจะสามารถรับมือได้หรือไม่? นับเป็นบรรยากาศที่น่าวิตกกังวลมาก พอเริ่มลงมือสำรวจทบทวนเนื้อข่าวจากประเทศจีนเพื่อมานำเสนอท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ ก็พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมในเมืองจีนก็น่าห่วงและอาการหนักหนาสาหัสกว่าของเราเสียอีก เช่น ที่เกาะไหหลำ ดูเหมือนปีนี้จะโดนเต็มๆ หนักกว่าแห่งอื่น เรื่องน้ำท่วมก็เป็นความเครียดอย่างหนึ่ง ผลเสียหายจากน้ำท่วมก็เป็นอีกหนึ่งความเครียด พอน้ำลดก็ต้องมาปวดหัวกับการซ่อมแซมบ้านเรือน กู้ข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงไม่แปลกใจเลยที่กระทรวงสาธารณสุขทั้งของไทยของเทศ ต้องส่งทีมนักจิตวิทยาออกไปช่วยดูแลอีกหนึ่งทีม นอกเหนือไปจากการดูแลความเดือดร้อนเจ็บป่วยทางกายแล้ว
                      สัปดาห์นี้ ผมก็เลยจะขออนุญาตเล่าเรื่องปัญหาความเครียด และสุขภาวะทางจิตในสังคมจีนมาเสนอ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ถูกนำขึ้นหน้าปกนิตยสาร Beijing Reviews สัปดาห์นี้ สืบเนื่องมาจากข่าวการพิจารณาร่างกฎหมายป้องกันและฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตของประเทศจีน โดยคณะรัฐมนตรีของจีนก่อนหน้านี้ เรื่องสุขภาวะทางจิตอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของจีนในอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อประเทศจีนเริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้นในแนวทางเศรษฐกิจที่แข่งขันกันตามกลไกตลาด ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปัญหาสุขภาพจิตก็เริ่มกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ จากข้อมูลตัวและของกรมป้องกันโรคของจีน อย่างน้อยที่สุดในเวลานี้ มีผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาทางจิตประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่มากถึงหนึ่งร้อยล้านคน เรียกว่ามีปัญหาทางจิตมากกว่าประชากรในบ้านเราอีก เดินไปไหนมาไหนในทุก 13 คน จะมีคนจีน 1 คนที่มีปัญหาทางจิต ไม่ใช่ว่าแค่เครียดเพราะเรื่องเล็กเรื่องน้อย แต่หมายถึงมีปัญหาในระดับที่ต้องอาศัยพึ่งพาจิตแพทย์กันทีเดียว ในทางด้านเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทางจิตของจีน ในเวลานี้ขยับไปอยู่ที่1ใน5 ของค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมด สูงกว่าค่าใช้จ่ายโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็งด้วยซ้ำ แนวโน้มในอนาคตเชื่อกันว่าค่าใช้จ่ายด้านนี้อาจขยับสูงถึง 1ใน 4 หากยังไม่มีการแก้ไขจัดการป้องกันอย่างเป็นระบบ
                     ที่ผ่านมา ความพร้อมของจีนในด้านบุคลากรทางจิตเวชและจิตวิทยา ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมจีน ทั่วทั้งประเทศจีน มีจิตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตขึ้นทะเบียนอยู่เพียง 19,000 คน  สถาบันจิตเวชหลักๆ ก็ยังมีไม่กี่แห่งและกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ในเขตชนบทและหัวเมืองห่างไกล ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลกลับไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษา เพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่จะสามารถระบุได้ว่าป่วยทางจิตหรือไม่อย่างไร  ก็เลยทำให้ดูเหมือนว่ามีปัญหาสุขภาวะทางจิตเพียงเล็กน้อยในชนบทจีน ทั้งที่แท้จริงแล้วชนบทจีนขาดแคลนแพทย์ที่รู้เรื่อง ปล่อยเลยตามเลยไม่ต้องรักษาดูแล ตัวเลขผู้ป่วยก็เลยน้อย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเสมอๆ กับโรคที่มีความซับซ้อนอื่นๆ นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะไม่เพียงพอแล้ว ปัญหาเรื่องกฎหมายก็ยังจำเป็นต้องได้รับการยกเครื่อง เฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ป่วยทางจิตประสาท ในปัจจุบันทั่วทั้งประเทศ มีเพียง 4มหานครหลัก ที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ที่มีข้อกำหนดทางกฎหมายให้ความคุ้มครองและดูแลสิทธิ์ของผู้ป่วย ในทางกลับกัน กฎหมายป้องกันคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยอย่างผิดๆถูกๆ ว่าไร้ความสามารถหรือดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จำเป็นจะต้องมีการยกเครื่องใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวินิจฉัยผิดพลาดโดยเจตนากลั่นแกล้งทางการเมืองเอาคนที่ไม่ได้ป่วยเข้าไปอยู่ในสถานบำบัดอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
                    ในกรณีสุขภาวะทางจิตที่ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องบำบัดรักษาโดยเร่งด่วน เช่นความเครียด ปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอดในเศรษฐกิจสมัยใหม่ และปัญหาของครอบครัวจากนโยบายลูกคนเดียว  ปัญหาวัยรุ่นกับความกดดันฯลฯ ก็จัดเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการดูแลและพัฒนาระบบเวชศาสตร์เชิงป้องกันขึ้นมารับมือเช่นกัน ผมได้เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้ เกี่ยวกับปัญหาความเครียดและแรงกดดันของวัยรุ่นจีน แต่ปัญหาความเครียดในที่ทำงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เริ่มทวีความรุ่นแรงเพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน ยาช่วยให้นอนหลับและยาแก้เครียดที่แพทย์สั่งจ่ายให้คนไข้เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อาจใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ขนาดของปัญหาได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกที่มีจำนวนผู้ผิดปรกติทางจิตในวัยทำงานที่ต้องการการดูแลจากแพทย์ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ10 จีนอาจดูยังมีปัญหาไม่มากนัก ทว่าในกลุ่มเยาวชน ปัญหาสุขภาวะทางจิตของจีนดูเหมือนจะอยู่ในระดับที่เลวร้ายกว่าสังคมตะวันตกด้วยซ้ำไป สาเหตุสำคัญที่นักวิชาการเพ่งเล็งเป็นพิเศษ น่าจะเป็นผลเนื่องมากจากนโยบายลูกคนเดียว ที่ทำให้ความคาดหวังของพ่อแม่กลายมาเป็นแรงกดดันที่เด็กจะต้องแบกรับ เด็กเหล่านี้จำนวนมาก กำลังเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับบุคลิกก้าวร้าว มีปัญหาในการเข้าสังคม และไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาชีวิต
                    ก็อย่างที่ผมเคยเรียนเสนอท่านผู้อ่านมาเสมอๆ ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรีๆ จีนทุ่มเทให้กับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศและการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปมาก ได้ผลจนเป็นที่พิศวงและแอบอิจฉาจากผู้คนทั่วโลก แต่วิธีการที่จีนเลือกใช้ในการพัฒนาบ้านเมือง ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมาก ปัญหาสุขภาวะทางจิตที่เล่ามานี้ ก็เป็นอีกหนึ่งในต้นทุนที่จีนต้องจ่าย แก้ได้หรือแก้ไม่ได้ ก็ต้องว่ากันไป