ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

กับดักรายได้ชั้นกลาง

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   ช่วงสองเดือนมานี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักที่สนใจติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจ อาจคุ้นเคยได้ยินศัพท์แสง กับดักรายได้ชั้นกลาง(Middle Income Trap)เพราะมีข่าวองค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศ อย่างน้อย 2แห่ง คือ ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)ได้ออกมาเตือนประเทศกำลังพัฒนาหน้าใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้ระมัดระวัง กับดักที่ว่านี้หมายถึงความยากลำบากของประเทศกำลังพัฒนาหน้าใหม่ ในอันที่จะถีบตัวยกระดับการพัฒนาให้ไล่ทันบรรดาชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่พัฒนาและรวยไปก่อนหน้าแล้ว ว่ากันว่า การพัฒนาให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตจากสังคมที่พึ่งพาการเกษตร มาเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในช่วงแรกๆ นั้นไม่ยาก ขอแต่เพียงให้มีวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานราคาถูก เครื่องจักรสมัยใหม่และแหล่งทุนจากนักลงทุนภายนอกเข้ามาเกื้อหนุน ก็สามารถยกระดับตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมยากจนที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีรายได้ กลายมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เกิดเป็นตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีสารพัดโปรเจ็ค เงินทองไหลหมุนเวียนสะพัด ประชาชนลืมตาอ้าปากกันได้ ประเทศที่พัฒนาขึ้นมาได้ระดับนี้มีเยอะแยะ ในเอเชียเราก็เช่น ประเทศจีน ไทยมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น แต่จากจุดนี้ จะกระโดดไปเป็นประเทศร่ำรวย (High Income Countries)แบบฝรั่งเขา มีน้อยมาก แถวๆ นี้ ที่พอนับว่าเข้าข่ายก็เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์  ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่อาศัยอิงอยู่บนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงจริงๆ 

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

งานผลการดำเนินงานของรัฐบาลจีนปี 2011

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ (บ่ายวันอังคาร)การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 11 ครั้งที 5 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นเป็นวันที่สอง และจะประชุมต่อเนื่องไปอีก 6 วัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในงานพิธีเปิดฉากการประชุม ท่านนายกรัฐมนตรี เหวิน เจียเปา ได้เสนอรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลจีนในรอบปี2011ที่ผ่านมา ต่อที่ประชุมใหญ่ หลังจากนั้นก็จะนำเสนอแผนงานที่รัฐบาลเตรียมการไว้สำหรับปี 2012 พร้อมทั้งเสนอให้พิจารณาเห็นชอบกรอบงบประมาณดำเนินการในปีนี้ ผมเองเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่ลึกซึ้งได้ คงต้องรอให้การประชุมทั้งสองสภาฯดำเนินการจนเสร็จสิ้นเสียก่อนค่อยมาว่ากัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากเกริ่นเอาไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน  ผมจะขออนุญาตนำเอารายงานของท่านนายกเหวิน มาเล่าต่อแบบสรุปภาพ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบไว้ในคอลัมน์นี้
           จะขอไล่เรียงจากผลงานรัฐบาลจีนในปี2011ก่อน ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีแถลง ในปี 2011  ผลิตมวลรวมภายในประเทศเท่ากับ 47.2 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้การคลังสาธารณะเป็นเงิน 10.37 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 ยอดการผลิตธัญญาหารเป็นจำนวน 570ล้านตัน ตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้น12,210,000 ตำแหน่ง รายได้ที่ใช้จ่ายได้เฉลี่ยต่อคนสำหรับชาวเมือง และรายได้สุทธิเฉลี่ยต่อคนสำหรับชาวชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 และร้อยละ 11.4 ขยายตัวได้เป็นไปตามแผนฯฉบับที่ 12
               ในด้านที่เป็นนามธรรม รัฐบาลสามารถควบคุมเศรษฐกิจในระดับ มหภาค ทำให้ราคาสินค้าไม่พุ่งสูงเกินควร รักษาเศรษฐกิจให้พัฒนาอย่างมั่นคง โดยเฉพาะในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ ควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อภายใต้แรงกดดันจากภายนอกประเทศ ปรับให้เกิดความยืดหยุ่นในการเพิ่มสินเชื่อเพื่อส่งเสริมภาคการผลิต ลดภาษีเชิงโครงสร้างให้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก พัฒนาโครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพิ่มการปรับและควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น เสริมสร้างพื้นฐานภาคการเกษตรให้แข็งแกร่ง ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ดีขึ้นและทันสมัยขึ้น มุ่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมใหม่ๆ เชิงยุทธศาสตร์ ส่งเสริมพลังงานใหม่ วัสดุใหม่ การแพทย์และยาชีวภาพ การผลิตอุปกรณ์ชั้นสูง และรถยนต์พลังงานใหม่ โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 15,000ล้านหยวนสำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาต่างๆ กว่า4,000 โครงการ และกระตุ้นการลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมต้นแบบทั้งหมด300,000 ล้านหยวน มุ่งพัฒนาสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมให้พัฒนาอย่างกลมกลืนกัน รัฐบาลทุกระดับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายสำหรับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข และการกีฬามากขึ้น งบประมาณรายจ่ายจากการคลังทั่วประเทศเป็นเงิน 2.82ล้านล้านหยวน เดินหน้าสร้างความเป็นธรรมด้านการศึกษา การศึกษาภาคบังคับระยะ 9 ปีถ้วนหน้า และ เป้าหมายขจัดความไม่รู้หนังสือในกลุ่มวัยหนุ่มสาวทั่วประเทศ มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง เพิ่มงบประมาณด้านวัฒนธรรมที่มุ่งสู่สาธารณประโยชน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น อุตสาหกรรมวัฒนธรรม การอนุรักษ์โบราณวัตถุและมรดกทางวัฒนธรรม ปฏิรูปและพัฒนากิจการสาธารณสุข ขยายผลระบบประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมผู้ซื้อประกันจำนวน 1,300 ล้านคน
           แผนการงานโดยรวมในปี 2012 ยังคงเดินแนวแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5ปี ฉบับที่ 12”ยึดทฤษฏี เติ้ง เสี่ยวผิงและแนวคิดสำคัญ “3 ตัวแทน จัดการความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการควบคุมเงินเฟ้อ โดยมีเป้าหมายจีดีพีขยายตัวร้อยละ 7.5สร้างตำแหน่งงานใหม่ 9,000,000 ตำแหน่ง ควบคุมอัตราการว่างงานไม่ให้เกินร้อยละ 4.6 ควบคุมดัชนีราคาผู้บริโภคไม่ให้เกินร้อยละ4ยอดการนำเข้าส่งออกเติบโตประมาณร้อยละ 10กำหนดตัวเลขติดลบทางการคลังไว้ที่ 800,000 ล้านหยวน
            ยังไม่หมดนะครับนี่ แต่เอาไว้เขาประชุมกันเสร็จเรียบร้อย ผมจะนำบางประเด็นที่สำคัญมาขยายต่อให้ท่านผู้อ่านทราบอีกรอบหนึ่ง

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความคาดหวังจากการประชุมสองสภาฯจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อประมาณสักสองสัปดาห์ก่อน ผมได้รับการทาบทามจากเพื่อนผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุCRIสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง โทรมาขอให้เตรียมตัวให้พร้อม จะให้จัดรายการสดร่วมกันข้ามประเทศในวันที่ 5 มีนาคม เพื่อสรุปและแยกแยะประเด็นการประชุมใหญ่สองสภาฯ ที่กำลังจะมาถึงตอนต้นเดือนหน้า จากมุมมองทางวิชาการคนนอกอย่างผม ตกปากรับคำเขาไปแล้วก็มานั่งกลุ้มใจกลัวจะหน้าแตกกลางอากาศ หลายวันมานี้เลยต้องมานั่งค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม  เลยจะขอถือโอกาสเอามาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน ได้รับทราบเป็นข้อมูลพื้นฐานเอาไว้ หากเขาประชุมกันเสร็จเรียบร้อย ได้ความว่าอย่างไร ผมจะได้นำมารายงานเพิ่มเติมโดยไม่ต้องเท้าความใหม่
ที่เรียกกันว่าประชุมสองสภาฯ 2012 นั้น คือ การประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติสมัยที่11ครั้งที่ 5 และการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนสมัยที่11 ครั้งที่ 5 (บางครั้งก็เรียกย่อๆว่าสภานิติบัญญัติและสภาที่ปรึกษา) ไม่ใช่เรื่องประหลาดใดๆ ในระบบการเมืองของจีน เพียงแต่เที่ยวนี้จะมีเรื่องสำคัญที่ผู้คนสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คือ การประชุมสองสภาเที่ยวนี้ จัดขึ้นก่อนหน้าและจะนำไปสู่การประชุมสมัชชาแห่งชาติพรรคคอมมิวนีสต์จีนครั้งที่18 ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีเรื่องการถ่ายโอนอำนาจผู้นำระดับสูงรุ่นใหม่ โดยเฉพาะตัวประธานาธิบดีบรรจุอยู่ในวาระ บรรดาฝรั่งต่างชาติและผู้สนใจเรื่องประเทศจีนก็เลยเฝ้าจับตากันเป็นพิเศษกว่าคราวอื่นๆ เฉพาะในส่วนการประชุมสองสภาฯ สิ่งซึ่งนักวิเคราะห์ทั้งภายในและภายนอกประเทศเฝ้าติดตาม ก็คือ นโยบายหลักๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจีนภายใต้แรงกดดันของสถานการณ์โลก จะมีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ประการใดหรือไม่
เท่าที่ผมค้นคว้าหาดูจากแหล่งต่างๆ ขออนุญาตเดาว่าน่าจะมีเรื่องสำคัญทางนโยบายที่จะต้องมีการหารือกันในการประชุมครั้งนี้อยู่ประเด็นเดียว คือ ประเด็นปัญหานโยบายทางเศรษฐกิจ เรื่องอื่นๆนั้นผมขอฟันธงว่าในระดับผู้นำเขาเคาะกันไปเรียบร้อยแล้ว ล็อกโหวตได้เลยไม่จำเป็นต้องหารือให้เครียดแต่อย่างใด ที่ว่ามีประเด็นต้องหารือด้านนโยบายเศรษฐกิจอย่างจริงจังนั้น ก็เพราะมีกระแสข่าวเล็ดรอดมาระยะหนึ่งแล้วว่าในระดับผู้นำของจีน ความคิดความเห็นในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจยังแยกออกเป็นหลายแนวทาง ไม่ลงรอยกันเสียทีเดียวนัก สาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีประเด็นทางการเมืองทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ท่านผู้อ่านคงจำกันได้นะครับว่านับแต่ขนาดเศรษฐกิจของจีนขยายตัวจนแซงหน้าญี่ปุ่นไปเป็นอันดับสองของโลกเมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับการที่เศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกพากันเดี้ยงไปทีละประเทศ ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกาหรือในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ทำให้จีนกลายมาเป็นความหวังและถูกกดดันว่าจะต้องมีบทบาทอย่างสำคัญในการฟื้นฟูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของทั้งโลก อย่างน้อยจีนก็ถูกคาดหวังในสองประการหลักๆ หนึ่งคือการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติที่มีปัญหา และอีกด้านหนึ่ง จีนก็ถูกเรียกร้องให้รักษาระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนของจีนไว้เพื่อให้ชาติอื่นๆที่ผูกพันกับการลงทุนในจีนไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง  เรื่องแบบนี้หากมองดูโดยผิวเผิน อาจรู้สึกว่าจีนได้หน้า ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้เป็นผู้เข้ามาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลก แต่แท้จริงแล้วการได้หน้าได้ตาแบบนี้ จีนก็ต้องตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูง ปัญหาขัดแย้งทางนโยบายระหว่างการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจกับการรุกขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นทางสองแพ่งที่จีนต้องเจอมาตลอดสิบกว่าปีมานี้ และเป็นปัญาหาที่ตัดสินใจได้ยากยิ่ง แม้ว่าในช่วงปี 2009-2011 จีนจะได้เคยประกาศไว้อย่างชัดเจน ว่าจีนจำเป็นต้องเลือกแนวทางการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยชะลอความร้อนแรงและการลงทุนใหม่ๆออกไป แต่ในทางปฏิบัติ ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในทั้งสามปีที่ผ่านมา ก็ยังคงเดินหน้าเต็มที่ หากพิจารณาดูในรายละเอียด จีนต้องจำยอมเลือกเส้นทางประคองให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างคงที่ และปล่อยให้ปัญหาเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาการกระจายตัวของรายได้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปรับฐานเชิงโครงสร้าง ข้อกังวลเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาการว่างงาน ก็จะเข้ามาบดบังและช่วงชิงความสำคัญจำเป็นเฉพาะหน้าไป ในหลายกรณีตัวอย่าง ทั้งๆที่จีนเจอกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก แต่ธนาคารชาติของจีนยังตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นไม่ให้การลงทุนภายในทรุดเพราะปัญหาเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯและยุโรป
ผลของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นจริงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้เกิดความวิตกกังวลกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ของจีนว่า จีนอาจกำลังเข้าสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงพร้อมๆกับเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น (ทั้งฝืดทั้งเฟ้อพร้อมๆกัน)  บวกเข้ากับปัญหาสะสมระหว่างคนรวยในเขตเมือง คนยากจนในชนบท และแรงงานยากจนในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ นี่ยังไม่นับปัญหาด้านความมั่นคงทางการเมืองที่อาจตามมา เพราะจีนเคยรับปากว่าจะทุ่มพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคตะวันตกที่ส่วนใหญ่เป็นเขตปกครองตนเองของชนชาติส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นธิเบต ซินเจียง หรือชิงไฮ่ เรื่องหลังนี้จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่มีปัญหาการลุกฮือเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศต่างๆแถบแอฟริกาและโลกอาหรับ การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชนชาติส่วนน้อยให้ทัดเทียมพลเมืองจีนในแถบชายฝั่งตะวันออก หากทำไม่ได้อย่างที่เคยรับปากโฆษณาไว้ หรือทำแต่ช้าเกินการณ์ อาจนำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่อย่างที่มหาอำนาจตะวันตกบางประเทศพยากรณ์และจ้องดูอยู่
การประชุมสองสภาครั้งนี้ ผมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยจะทำให้เราได้เห็นทิศทางในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้โดยรวม จีนจะเลือกเดินไปทางไหน ยืนยันขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นพี่เบิ้ม หรือยอมปรับฐานโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ต้องจับตาดูกันต่อไปครับ