ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จีนกับภาพรวมยุทธศาสตร์ทางทะเลในเอเชีย-แปซิฟิก


 โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตเรียนท่านผู้อ่านที่รักว่า ไม่ได้คิดจะเกาะกระแสเรื่องนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภานะครับ เพราะขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ยังไม่ทราบเลยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร แต่ที่สัปดาห์นี้ผมจั่วหัวคอลัมน์เป็นยุทธศาสตร์ทางทะเล ก็เพราะมีปรากฏการณ์ที่เป็นข่าวเกิดขึ้นในประเทศจีนต่อเนื่องกันหลายเรื่อง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น ทำให้ผมรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องใหญ่สำคัญกำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ จะไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้ ส่วนท่านผู้อ่านที่รักที่สนใจติดตามข่าวการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาขององค์การนาซ่า คงสามารถหาอ่านเอาได้จากรายงานข่าวประจำวันที่มีอยู่แล้ว หรือหากประสงค์จะทราบปฏิกิริยาของจีนต่อเรื่องนาซ่านี้ ก็อาจหาดูได้จากหนังสือพิมพ์ไทยที่ไปดักสัมภาษณ์พิเศษกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนนางฟู่ อิง ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย เช่นเดียวกับสามารถติดตามจากบทสัมภาษณ์ นายจิง จื้อหยวน กรรมาธิการทหารของประเทศจีน ที่เดินทางมาเยือนกระทรวงกลาโหมไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งสองท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสนามบินอู่ตะเภาและองค์การนาซ่า ในรายงานข่าวของสื่อแขนงต่างๆ ชัดเจนพอสมควร ผมจะขอชวนข้ามไปคุยในภาพที่ใหญ่กว่า
            เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้าสงกรานต์บ้านเราเล็กน้อย ท่านผู้อ่านที่รักที่สนใจติดตามข่าวสารจากต่างประเทศ คงจำได้ว่าเกิดเหตุมีเรือประมงของจีนสิบกว่าลำ ถูกทางการฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเข้าไปจับปลาล้วงล้ำอนาเขตเศรษฐกิจทางทะเลของงฟิลิปปินส์ เลยส่งเรือออกไปจับควบคุมลูกเรือทั้งหมดของจีนไว้ ในขณะที่ฝ่ายจีนก็ยืนยันว่าเรือประมงของจีนแวะไปหลบพายุในอ่าวกันลมของเกาะหวงยาน อันเป็นเขตอ้างอธิปไตยของฝ่ายจีน กลายเป็นประเด็นพิพาทและนำไปสู่วิกฤติการณ์ต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศยืดยาวต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ก็ยังเคลียร์กันไม่จบ นอกจากสถานการณ์จะไม่ดีขึ้นมาแล้ว ฝ่ายจีนก็ยังตั้งข้อสังเกตต่อเวทีโลกในโอกาสต่างๆว่า สหรัฐอเมริกาเองก็อาศัยความขัดแย้งในภูมิภาคดังกล่าว เป็นเงื่อนไขในการหวนกลับเข้ามาสร้างอิทธิพลในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น อย่างในเวทีที่ประชุม Shangri-La Dialogue จัดที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารจากประเทศต่างๆในเขตเอเชียแปซิฟิก มาร่วมประชุมกว่า 28ประเทศ จีนก็ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐมนตรีกลาโหมตัวแทนสหรัฐอเมริกา Leon Panetta ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาปรับสัดส่วนกองกำลังทางทะเลระหว่างเขตแปซิฟิกและแอตแลนติก จากเดิม 50/50 มาเป็น 60/40 เท่ากับเป็นการประกาศเพิ่มกองกำลังทางทะเลของสหรัฐอเมริกาในแถบเอเชียแปซิฟิกครั้งใหญ่นับแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนาม ทั้งๆที่ยังไม่ปรากฏเหตุความจำเป็นใดๆ หรือมีภัยคุกคามเพิ่มขึ้นต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะสรุปว่าว่ามีเป้าหมายหลักที่จะปิดล้อมและคุกคามจีน ยิ่งไปกว่านั้น หลังการประชุมที่สิงคโปร์เสร็จสิ้น สหรัฐอเมริกาก็ประกาศแผนการซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การซ้อมรบทางทะเล(RIMPAC-2012) ในน่านน้ำเอเชียแปซิฟิก RIMPAC เป็นการซ้อมรบร่วมที่จัดปีเว้นปี เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่1970 นำโดยสหรัฐอเมริกา วัตถุประสงค์เดิมเพื่อเป็นสัญลักษณ์สกัดกั้นการขยายอำนาจทางทะเลของสหภาพโซเวียตในยุคนั้น สำหรับการซ้อมรบทางทะเล RIMPAC-2012 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึงวันที่ 3 สิงหาคมปีนี้ จะมีประเทศต่างๆเข้าร่วม22ประเทศ มีเรือรบขนาดใหญ่42ลำ เรือดำน้ำ6ลำ เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงกว่า200ลำ บุคลากรทางทหารเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า25,000นาย แม้แต่กองทัพเรือรัสเซีย ก็จะเข้าร่วมการซ้อมรบในคราวนี้ด้วย จัดว่าเป็นการซ้อมรบใหญ่ที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลกว้างขวางตลอดซีกใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก
นักวิเคราะห์ของจีนมองไปในทิศทางแนวเดียวกันว่า การหวนคืนสู่ตะวันออกครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องอื่นใด นอกจากจะปูทางให้สหรัฐกลับมาขยายอิทธิพลแทรกแซงทางการเมือง และแข่งขันกับจีนในการหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ ศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้  นอกเหนือไปจากการซ้อมรบครั้งใหญ่RIMPAC-2012 แล้ว สหรัฐอเมริกายังมีกิจกรรมความร่วมมือทางการทหารและการซ้อมรบย่อยอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อีกหลายกิจกรรม รวมทั้งกับประเทศไทยเราด้วย
 
ในด้านกองทัพปลดแอกของจีนเอง ช่วงระยะกว่าสิบปีมานี้ ก็มีพัฒนาการความร่วมมือทางการทหารที่น่าสนใจเช่นกัน แม้ในช่วงแรกๆจะเป็นกิจกรรมความช่วยเหลือทางการทหารที่ให้กับประเทศกลุ่มเอเชียกลางและ อัฟริกา แต่ระยะหลังการซ้อมรบร่วมกับประเทศในเขตเอเชียแปซิฟิกก็เริ่มมีมากขึ้น ไวๆนี้ รัฐมนตรีช่วยกลาโหมและรองประธานาธิบดีจีน ก็เดินสายเรียกร้องให้มีความร่วมมือทางการทหารและการรักษาความมั่นคงระหว่างเยือนประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนครบเกือบทุกประเทศ ล่าสุดเมื่อ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา กรรมาธิการทหารของจีน นายจิง จื้อหยวน ก็เพิ่งจะเข้าพบรัฐมนตรีกลาโหมของเรา ข่าวปรากฏเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์จีนทุกฉบับว่า รัฐบาลไทยและจีนโดยกองทัพทั้งสองฝ่าย จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร การฝึกร่วมทางยุทธวิธี การให้คำปรึกษาทางความมั่นคง การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติ
ผมเองไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เชื่ออย่างสนิทใจว่าชาติต่างๆในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย ต่อไปจะต้องเนื้อหอมมากๆ เพราะเดี๋ยวก็จีนมาจีบ เดี๋ยวก็อเมริกามาจีบ หัวกระไดบ้านไม่แห้ง แต่ธรรมดาสาวสวยก็มักมีเรื่องต้องหนักใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วคงหนีไม่พ้นต้องถูกสถานการณ์บีบให้เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถึงตอนนั้น เรื่องสนามบินอู่ตะเภาถือว่าเป็นเรื่องเล็กมาก

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แรงงานจีนกับปรากฏการณ์ฆ่าตัวตาย

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากรายงานข่าวการส่งยานอวกาศเสิ้นโจวหมายเลข 9 ขึ้นไปต่อเชื่อมกับสถานีอวกาศเทียนกงได้สำเร็จ ก็ดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์ตื่นเต้นอะไรเท่าไรนักในสื่อพื้นฐานหลักๆของจีน วนเวียนเปิดหาตามหนังสือพิมพ์และ เว็บไซต์ต่างๆที่เคยอาศัยพึ่งพา ก็ไม่พบเรื่องราวน่าสนใจที่จะนำมาเสนอท่านผู้อ่านที่รัก จนท้ายที่สุด ผมก็เลยต้องอาศัยสำรวจตรวจข่าวสารจากแหล่งอื่นๆของสื่อฝรั่งแทน ไปพบข่าวเล็กๆเกี่ยวกับแรงงานจีน ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวเอพี เกี่ยวกับการโดดตึกฆ่าตัวตายของคนงานโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศจีน เกือบจะมองข้ามข่าวชิ้นนี้ไปแล้ว แต่เพราะเห็นชื่อโรงงาน Foxconn Technology Group ถึงได้สะดุดใจหยุดอ่านโดยละเอียด เพราะจำได้ว่าโรงงานชื่อเดียวกันนี้ ได้เคยเกิดเหตุคนงานฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้ง
Foxconn Technology Group เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตชิ้นส่วนหลักที่ส่งป้อนให้กับโรงงานประกอบเครื่องIPhoneและ IPadนอกจากนี้ก็ยังผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากให้กับ Dell,HP, Motorola, Nintendo, Sony และ Nokia ว่าจ้างแรงงานชาวจีนทั้งประจำและชั่วคราวกว่าหนึ่งล้านคน มีโรงงานสาขา12โรงงานกระจายอยู่ในหลายมณฑล แต่มีโรงงานหลักที่ใหญ่สุดอยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง(มีคนงานกะต่างๆรวมเกือบ4แสนคน) ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและบรรดานักสิทธิมนุษย์ชนอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของคนงานเป็นครั้งแรกในปี 2007แต่ที่ครึกโครมเป็นข่าวไปทั่วโลกและเสียชื่อมากที่สุด เป็นเหตุการณ์ฆ่าตัวตายต่อเนื่องของคนงานทั้งชายทั้งหญิงจำนวน15คน(ตาย14) ในปี2010  การฆ่าตัวตายหมู่ในปีนั้น ทำให้เกิดแรงกดดันอย่างมากกับทั้ง บริษัทApple Inc.  และ Foxconn นำไปสู่กระบวนการปรับปรุงระบบสวัสดิการและการจ่ายค่าแรงงานเพิ่ม บางโรงงานต้องติดตั้งตาข่ายกันคนโดดจากหลังคาตึก รวมทั้งการตัดชั่วโมงการทำงานในแต่ละกะ จากเดิม12ชั่วโมง ให้ลดลงเป็น3กะต่อวันกะละ8ชั่วโมง นอกจากนี้แล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงโรงงานอื่นๆในจีน ถูกสังคมและบรรดาNGO ตะวันตกจับตา เฉพาะในแวดวงมหาวิทยาลัยของจีน กรณีฆ่าตัวตายปี 2010 ทำให้เกิดศูนย์และสถาบันศึกษาเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานจีนจัดตั้งขึ้นมากว่า20แห่ง มีวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกที่ทำการศึกษาวิจัยเจาะลึกปัญหาเหล่านี้ นับหลายร้อยหัวเรื่อง
มาในปี 2011 คนงานอีก 4รายของโรงงานแห่งนี้ก็พยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากตึกที่พักอีก เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อ 14 มิ.ย.นี้ ถ้าอ่านจากสื่อฝรั่ง ได้ความเพียงว่าผู้ตายเป็นชายวัย23ปี กระโดดลงมาจากห้องพักคนงานที่อยู่แยกจากบริเวณโรงงานแห่งหนึ่งของ Foxconn ในเมืองเฉิงตูมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกของประเทศจีน ผู้ตายเพิ่งเข้ามาทำงานในโรงงานแห่งนี้ยังไม่ถึงเดือน เหตุการณ์ฆ่าตัวตายล่าสุดนี้เกิดขึ้นทั้งๆที่รัฐบาลจีนก็ดี โรงงานFoxconnก็ดี ต่างออกมาให้ข่าวว่าแก้ไขปรับปรุงสวัสดิการสารพัดไปแล้ว เลยเกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา ว่าตกลงอะไรเป็นสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตายของคนงานชาวจีนเหล่านี้ แน่นอนสังคมจีนก็มีเรื่องงมงายแบบเดียวกับเรา ในโซเชียลเน็ตเวิร์คของจีนเลยมีการลือกันว่าสาเหตุสำคัญไม่ใช่เรื่องสวัสดิการ แต่เป็นปัญหาเรื่องฮวงจุ้ยหรือเรื่องวิญญาณไปโน้นเลย ลือกันทำนองว่าที่ตั้งโรงงานที่มีปัญหาเหล่านี้ ไปก่อสร้างทับอาถรรพ์บางอย่าง หรือไม่ก็ลือกันว่าวิญญาณของผู้ตายรายแรกๆ พยายามชักชวนให้รายต่อๆมาฆ่าตัวตายตาม ทำนองตัวตายตัวแทน แต่ที่แปลกคือ สื่อหลักๆของจีนทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี ดูเหมือนเลี่ยงที่จะทำข่าวปัญหานี้
เช่นเดียวกับปัญหาความเครียดของครอบครัวชาวจีนในชนบทที่ผมเคยนำเสนอไปแล้วในเดือนก่อน แรงงานอพยพของจีนก็มีปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตไม่น้อยไปกว่ากัน การต้องเดินทางออกหางานทำต่างมณฑล ห่างไกลจากบ้านเกิดและครอบครัวลูกเมียนับพันกิโลเมตร ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าสนุกนัก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในยามเศรษฐกิจรุ่งหรือเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรในผืนดินบ้านเกิดที่เห็นผลผลิตจับต้องได้ อิ่มท้องได้ เลี้ยงลูกเมียได้ มาเป็นการผลิตในโรงงานที่ซ้ำซาก จับต้องแต่ชิ้นงานที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นประเด็นทางวิชาการที่นักสังคมศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจศึกษามาช้านาน ทุกครั้งเมื่อสังคมหนึ่งๆเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม สังคมในหมู่ผู้ใช้แรงงานที่ถูกจำกัดบริเวณเฉพาะในเขตโรงงานและอาคารหอพัก ก็ใช่ว่าจะช่วยอะไรได้ เพราะต่างก็ประสบปัญหาอมทุกข์ไม่ต่างกัน ยิ่งจับกลุ่มปรับทุกข์ก็ยิ่งเครียดยิ่งเซ็งหนักเข้าไป Foxconnจึงไม่ใช่โรงงานเดียวที่ประสบปัญหาความเครียดและการฆ่าตัวตายของคนงาน ทั่วทั้งประเทศจีนอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ค่าเฉลี่ย20รายในประชากรทั่วไป1แสนคน และ17รายต่อประชากรวัยแรงงาน1แสนคน ฉะนั้นหากว่ากันอย่างเป็นธรรม จำนวนการฆ่าตัวตายของคนงานใน Foxconn ก็ยังจัดว่าต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศจีน
ผมเองติดตามค้นข้อมูลข่าวชิ้นนี้เพื่อมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ด้วยความรู้สึกที่หดหู่ และเริ่มสงสัยในสิ่งที่เรียกว่า มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนและที่น่าหดหู่กังวลมากกว่านั้น ก็คือผลกระทบที่สังคมจีนทั้งมวลต้องแบกรับในระยะยาว

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ท้องถิ่นจีน <โอกาสและความเสี่ยง>

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
           สัปดาห์นี้มีข่าวสำคัญของแวดวงเศรษฐกิจจีนอยู่ชิ้นหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจสูงและก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องท้องถิ่นของจีน(หวังว่าท่านผู้อ่านที่รักจะไม่เบื่อเสียก่อน เพราะเมื่อสัปดาห์ก่อนก็คุยเรื่องท้องถิ่นจีนไปรอบหนึ่งแล้ว) ผมเห็นว่าน่าสนใจ เลยขออนุญาตนำมาเล่าต่อ ประเด็นที่จะชวนคุยในคราวนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาพรวมเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทำให้ตอนนี้บรรดาหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบดูแลเศรษฐกิจ ต่างพากันเดือดร้อนต้องเร่งหามาตรการมาพยุงไม่ให้เศรษฐกิจจีนชะลอรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างของจีนที่ถูกกระทบมากเป็นพิเศษ และกำลังทำท่าว่าจะฉุดเอาบรรดาธุรกิจและคนงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆตกงานไปตามๆกัน ราคาเหล็ก ทองแดงและอลูมิเนียมสำเร็จรูปสำหรับการก่อสร้าง ตอนนี้ราคาซื้อ-ขายล่วงหน้า ร่วงกันลงมาหมด โครงการก่อสร้างใหม่ๆชะลอตัวเลื่อนออกไป ที่สร้างเสร็จก็ไม่สามารถส่งมอบได้ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนหนึ่งก็ถูกทิ้งร้างรอดูสถานการณ์ อาการคล้ายๆกับในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่1980 ที่เห็นตึกร้างเห็นเครื่องจักรก่อสร้างจอดทิ้งข้างทางเต็มไปหมด แต่เที่ยวนี้หากปล่อยทิ้งไว้ ผลที่ตามมาน่าจะร้ายแรงกว่ามาก
                หนึ่งในข้อเสนอแนะเพื่อประคองสถานการณ์เฉพาะหน้า ก็คือนโยบายส่งเสริมให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนที่ยังมีสภาพคล่อง เข้ามาช่วยเหมาซื้อโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆในพื้นที่ นำมาพัฒนาต่อให้เสร็จ แล้วเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยถึงระดับกลางได้เช่าอยู่อาศัย ข้อเสนอนี้ มีที่มาจากเวทีประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ช่วงระยะตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงต้นปี2012นี้ รัฐบาลจีนเผชิญกับปัญหาทางแพร่งเชิงนโยบายที่บังคับใช้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีน ในด้านหนึ่งรัฐบาลจีนจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อดูแลคนยากจนและคนชั้นกลางไม่ให้ต้องเดือดร้อนจากราคาที่อยู่อาศัยที่แพงเกินจริงอันเนื่องมาจากการเก็งกำไรในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ต้องเข้าควบคุมสินเชื่อและจำกัดสิทธิ์การซื้อขายที่มากเกินความจำเป็น อันส่อไปในทางกว้านเก็งกำไร ในอีกด้านหนึ่ง ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในหลายสิบปีที่ผ่านมา และชักนำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ การควบคุมเข้มงวดที่เกินไป ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆพลอยชะงักไปด้วย แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในระยะยาวและเพื่อประโยชน์ของผู้มีรายได้น้อย ช่วงปีเศษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจบังคับใช้มาตรการต่างๆไปในทิศทางที่เข้มงวดกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงครึ่งแรกของปี2011สถานการณ์ด้านอื่นๆยังเป็นปรกติ การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ส่งผลกระทบมากเท่าใด ถึงมีรัฐบาลกลางก็เอาอยู่ ทว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาจากการส่งออกสินค้าทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดยุโรปปรากฏชัดเจนรุนแรงกว่าที่คาด มาตรการเข้มงวดด้านอสังหาริมทรัพย์ กำลังส่งผลกระทบเข้าข่ายใกล้จะเอาไม่อยู่ อาจถึงเวลาจำเป็นจะต้องหาแหล่งเงินเข้ามาเหมาซื้อให้ทันการณ์ ก่อนที่จะเสียหายกันไปมากกว่านี้
                     มีการคาดการณ์คร่าวๆว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ท้องถิ่นจีนทั้งประเทศน่าจะยังมีวงเงินที่จะใช้จ่ายได้โดยไม่กระทบกับการบริหารงานสาธาณะด้านอื่นๆ อีกไม่น้อยกว่า2ล้านล้านหยวน บางส่วนของเงินจำนวนนี้ หากนำมาซื้อเหมาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อไปพัฒนาต่อแล้วขายในราคายุติธรรม น่าจะมีกลุ่มรายได้ระดับกลางอีกมากที่พร้อมจะซื้อ ส่วนที่เหลือก็สามารถปล่อยเช่าให้กับกลุ่มรายได้น้อยในฐานะเป็นสวัสดิการของรัฐในการดูแลคนยากจน หรืออาจผ่อนปรนนโยบายการเช่าซื้อระยะยาวเป็น20-30ปี ให้กับคนยากจนที่มีรายได้น้อยไม่เข้าเกณฑ์เช่าซื้อตามกฎหมายที่เป็นอยู่ หรือก้าวหน้ากว่านั้น ทำสัญญาเช่าซื้อล่วงหน้าอนุญาติให้ผู้เช่าที่ยังมีรายได้น้อยอยู่ในขณะนี้เช่าอาศัยรายเดือนไปก่อน เมื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็อาจตัดสินใจซื้อได้ในราคาที่หักค่าเสื่อมของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รัฐบาลท้องถิ่น ผู้ซื้อบ้าน ผู้เช่ารายได้น้อย อยู่รอดไปด้วยกันทั้งหมด
                   อย่างไรก็ดี การจะฝากความหวังไว้กับแหล่งเงินของบรรดารัฐบาลท้องถิ่นจีน ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องสะดวกราบรื่น แม้ว่าที่ผ่านมางบประมาณภาครัฐเกินกว่าร้อยละ50ถูกจัดสรรส่งตรงลงไปที่ท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นจีนจำนวนมากก็เข้าไปลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานราคาแพงที่เกินความจำเป็น และจำนวนมากได้ก่อหนี้ก่อสินไว้เกินกำลังเรียบร้อยแล้ว แนวคิดเรื่องทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นสวัสดิการที่อยู่อาศัยโดยรัฐบาลท้องถิ่น ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครเคยทำ เฉพาะช่วงไตรมาสที่3ของปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีรัฐบาลท้องถิ่นของจีนไม่น้อยกว่า33เมือง ได้ทดลองซื้อต่อโครงการฯของเอกชนมาดำเนินการ ผลออกมาอย่างไรก็ยังไม่ชัดเจนนัก ที่สำคัญรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากของจีน ตกอยู่ในสภาพหนี้ล้นพ้นตัว มีไม่มากนักที่สามารถบริหารจัดการการลงทุนให้สอดคล้องกับรายได้ตรงตามผลที่คาดการณ์ หนี้สินรวมของท้องถิ่นจีนในปัจจุบันน่าจะสูงทะลุ10.7ล้านล้านหยวนไปเรียบร้อยแล้ว (ในทางกฎหมายท้องถิ่นจีนไม่สามารถกู้เงินโดยตรงจากสถาบันการเงิน แต่ต้องกู้ผ่านองค์กรบริหารหนี้สินเพื่อการพัฒนารัฐบาลท้องถิ่น โดยการเอาสินทรัพย์ของรัฐบาลท้องถิ่นมาวางค้ำ องค์กรฯก็จะไปออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้หาเงินมาให้อีกทอดหนึ่ง) หนี้สินเหล่านี้ ส่วนใหญ่กู้มาแล้วก็ขาดทุน ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนด อันเป็นผลมาจากแผนการลงทุนและการบริหารงบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ ยังไม่พูดถึงปัญหาการคอรัปชั่นในระดับท้องถิ่นว่ารุนแรงระดับไหนหากมีอภิมหาโปรเจ็คแบบที่เสนอเพิ่มเข้าไปอีก
        ได้ข่าวว่าข้อเสนอเรื่องข้างต้นนี้เป็นที่สนใจกันมาก และมีการกดดันให้รัฐบาลกลางของจีนเร่งตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือไม่ ผมดูๆแล้วก็ลังเลแทน เพราะท้องถิ่นจีนในนาทีนี้ เป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง แล้วแต่ว่าจะวิเคราะห์กันในมุมไหน