ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทะเลจีนใต้

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 ผมจำได้ว่าในคอลัมน์นี้ เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางทะเลของจีนไปแล้วไม่น้อยกว่า3ครั้ง ล่าสุดก็เมื่อสองสัปดาห์ก่อนผมเพิ่งจะคุยเรื่องพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ไปสดๆ  มาในสัปดาห์นี้ด้วยเหตุที่มีปรากฏการณ์พิเศษสะกิดใจ ผมก็เลยจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยกันในเรื่องนี้อีกหนึ่งรอบ ที่ว่ามีประเด็นสะกิดใจผมนั้น มีอยู่สองปรากฏการณ์ด้วยกันคือ หน้าปกนิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วขึ้นภาพเรือธงจีนกำลังทะยานอยู่ในมหาสมุทร (เป็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก)พร้อมทั้งจั่วหัวว่า “ยุทธศาสตร์ในทะเลกว้าง” อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือโฆษณาสุรายี่ห้อดังของจีนทางทีวีระดับชาติ ที่ระยะหลังหันมารณรงค์โฆษณาโดยใช้สโลแกนว่า “ความฝันของชาติจีน ความฝันสีคราม” ประการหลังนี้หากดูผิวเผินอาจไม่ได้มีอะไรมากนัก เพราะก็เป็นแค่สโลแกนโฆษณาทั่วไป แต่กลับปรากฏว่ามีนักวิจารณ์สื่อจำนวนไม่น้อย เขียนบทวิเคราะห์ทำนองว่า โฆษณาดังกล่าวปรากฏถี่มากในสื่อทีวีหลักที่เป็นของรัฐ ด้วยเจตนาจะสะท้อนวิสัยทัศน์ของชาติให้แพร่หลายไปในความรับรู้ของสาธารณชน ไปไกลถึงขั้นตีความว่า สโลแกนที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับความทะเยอทะยานของจีนในการขยายอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจจีนทางทะเล
                     ผมเองก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยไปกับจินตนาการของนักวิจารณ์สื่อชาวตะวันตกเหล่านั้นเสียทีเดียว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องหันกลับไปดูโฆษณาที่ว่า และก็พบว่ามันถูกนำมาออกอากาศถี่มากจริงๆ เลยเกิดอาการสะกิดหัวใจแปลกๆอยู่ จนมาเจอเข้ากับข่าวเชิงสารคดีชิ้นหนึ่งของจีนโดยบังเอิญเมื่อสองวันก่อน เป็นสารคดีหรือจะเรียกว่าเป็นสกู๊ปข่าวพิเศษก็ได้ เกี่ยวกับการประกาศจัดตั้งเขตปกครองระดับนครแห่งใหม่ของจีนบนหมู่เกาะ Paracel อันเป็นเขตพิพาทนานาชาติอยู่ นครที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ชื่อว่านคร ซานซา ตั้งอยู่บนเกาะหย่งซิง บนเกาะซีซา มีเขตปกครองรวมเอาหมู่เกาะ ซีซา จงซา และหนานซา ในทะเลจีนใต้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า2ล้านตารางกิโลเมตร (ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยของจีนเมื่อวันที่21 มิถุนายน) แม้ในทางประชากรจะยังไม่ได้มีผู้คนอยู่มากมายนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการสถาปนาอธิปไตยเชิงสัญลักษณ์ของจีนอย่างชัดเจนเหนือน่านน้ำดังกล่าว ในสารคดีข่าวชิ้นนี้ รัฐบาลจีนได้ยืนยันหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากย้อนหลังไปถึง ค.ศ.110ว่าดินแดนและน่านน้ำแถบนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1959 รัฐบาลจีนได้จัดตั้งเขตปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลขึ้นบนเกาะเหล่านี้อย่างเป็นทางการ โดยให้ขึ้นอยู่กับมณฑลกวางตุ้ง มาในปี ค.ศ.1988 เมื่อมีการยกฐานะเกาะไหหนานขึ้นเป็นมณฑล จึงได้ย้ายหมู่เกาะเหล่านี้มาสังกัดกับมณฑลไหหนาน
                    การจัดตั้งเขตปกครองท้องถิ่นในระดับนครที่ซานซา เป็นจุดหักเหสำคัญทางนโยบายของรัฐบาลจีนต่อความขัดแย้งเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้ และชี้ชัดว่าบัดนี้รัฐบาลจีนมีความพร้อมเต็มที่ในการเดินหน้าต่อสู้ข้อพิพาทเขตแดนแบบไม่ต้องเกรงอกเกรงใจใครอีกแล้ว นอกเหนือจากการประกาศจัดตั้งเขตปกครองขึ้นมาเป็นการเฉพาะ รัฐบาลจีนเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังได้อนุมัติแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกหลายรายการ รัฐบาลจีนมองว่าการจัดตั้งเขตการปกครองระดับนครที่มีสาธารณูปโภคพร้อมเพรียง จะช่วยให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการและดูแลผลประโยชน์ทางทะเลในแถบนี้ได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                   ในด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนมีโครงการที่จะส่งเสริมการลงทุนทั้งจากรัฐวิสาหกิจ เอกชนของจีน และนักลงทุนต่างประเทศในพื้นที่แถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสวงหาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ แน่นอนว่าแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่ว่านี้หลักๆแล้วก็คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั่นเอง จากข้อมูลการสำรวจของทางการจีน เชื่อกันว่าน่าจะมีแหล่งน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า180หลุม(ปริมาณไม่น้อยกว่า55,000ล้านตัน) แหล่งก๊าซธรรมชาติอีก200กว่าแหล่ง(ไม่ต่ำกว่า20ล้านล้านคิวบิกเมตร) รัฐวิสาหกิจของจีนเองได้เริ่มต้นทำการขุดสำรวจมาแล้วตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา และก็เริ่มพบแหล่งน้ำมันและก๊าซที่มีความสามารถขุดเจาะมาใช้ในเชิงพานิชแล้วหลายแหล่ง  นอกจากนี้ จีนยังมีโครงการจะพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงแบบครบวงจร และการท่องเที่ยวในหมู่เกาะเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาะไหหนานในระยะที่สาม อันประกอบด้วยแผนการประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเลเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ประกาศไปแล้ว6แหล่งอนุรักษ์ในน่านน้ำรอบเกาะไหหนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1988
                       อนาคตข้างหน้าของทะเลจีนใต้จะเป็นอย่างไร คงยากจะประเมินได้ รู้แต่ว่าคลื่นลมน่าจะแรง อุณหภูมิก็คงจะเพิ่มสูงขึ้น ประเทศเช่นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย จะหวังอาศัยเวทีการเจรจาแบบพหุภาคีอย่างที่กลุ่มอาเซียนคาดหวังจะร่วมกันกดดันจีน คงทำได้ยาก เห็นได้จากเวทีที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กัมพูชาครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาจะด้วยความเกรงใจรัฐบาลจีนอย่างสุดซึ้งหรือจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมให้มีแถลงการณ์ร่วมกรณีพิพาทระหว่างจีน-ฟิลิปปินส์ เห็นอย่างนี้แล้ว เดาได้เลยว่า อนาคตคงต้องตัวใครตัวมันแน่

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผลประโยชน์จีนในเมียนมาร์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     
ช่วงติดต่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดอาการชีพจรลงเท้า ต้องเดินทางไปต่างประเทศหลายเที่ยว ทั้งใกล้ๆแถวเอเชีย และไกลไปถึงประเทศในยุโรป เรียกว่าถ้าจะนับเวลาเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงกันแล้ว ใช้เวลาไปกับการเดินทางมากกว่าการไปทำธุระเสียอีก ที่ว่าใช้เวลาในการเดินทางมาก จริงๆแล้วก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะเสียเวลากับการนั่งรอเครื่องบินล่าช้า หรือนั่งรอต่อเครื่องบินภายในประเทศต่างๆตามสนามบิน นับไปนับมาก็หมดไปเป็นสิบๆชั่วโมงเหมือนกัน อย่างหนึ่งที่ผมชอบทำเพื่อเป็นการฆ่าเวลาระหว่างนั่งรอก็คือการเดินเล่นตามร้านขายหนังสือในสนามบิน ที่ค้นพบใหม่ก็คือ ระยะหลังมานี้ มีหนังสือเกี่ยวกับประเทศเมียนม่าร์หรือพม่าที่เรารู้จักกัน (ต่อไปนี้ขอเรียกพม่านะครับ) เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ ยิ่งตามร้านหนังสือในสนามบินของประเทศแถบเอเชีย ยิ่งมีให้เห็นเพิ่มมากผิดตากว่าแต่ก่อน แสดงว่านับแต่รัฐบาลพม่าใช้นโยบายผ่อนปรนเปิดทางให้คุณอองซาน ซูจี ออกมาสมัครสส.และทำกิจกรรมทางการเมืองได้เสรีมากขึ้น ประเทศพม่าก็เริ่มเนื้อหอม และได้รับความเชื่อมั่นสนใจจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น
                  ในประเทศไทยเราเอง ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักก็คงจะได้สังเกตเห็น ระยะหลังมานี้ ทั้งในแวดวงนักธุรกิจ และวงการนักวิชาการ กระแสจับตาและติดตามดูพัฒนาการในประเทศพม่า มีมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 ปี ถ้าใครเอ่ยปากว่าจะไปลงทุนในพม่า คงถูกมองว่าสติไม่ดีจะเอาเงินและชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า แต่มาวันนี้ประเด็นการลงทุนและการขยายธุรกิจเข้าไปในพม่า เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในความคิดของนักธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางของไทยจำนวนไม่น้อย คล้ายๆกับกระแสตื่นการลงทุนในจีนเมื่อ20กว่าปีที่แล้วอย่างไรอย่างนั้น เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากข่าวที่ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของเรารายหนึ่ง ไปได้สัมปทานพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหญ่โตแห่งใหม่ในพม่าแถวเมืองทวาย ตามมาด้วยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบเข้ากับเสียงร่ำลือการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเด็นเรื่องลงทุนในพม่าก็เหมือนไฟได้เชื้อชั้นดี ลุกลามขยายตัวหนักยิ่งขึ้นไปอีก เห็นว่าวันที่ 22-24นี้ ท่านเต็งเส่งก็จะมาเยือนไทย เพื่อหารือเรื่องการร่วมมือลงทุนในโครงการท่าเรือที่ทวาย
                   ที่ผมนำเอาเรื่องพม่ามาชวนคุยเกริ่นเรื่องหมดไปเสียตั้งสองย่อหน้ากระดาษ ไม่ใช่คิดอ่านจะเปลี่ยนหัวคอลัมน์หรือหันมาเอาดีเรื่องพม่าหรอกครับ แต่เผอิญไปพบรายงานข่าวในสื่อจีนที่ตีพิมพ์ในวารสารการเงินการลงทุนฉบับหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้ เกี่ยวกับการลงทุนของจีนในประเทศต่างๆแถวอาเซียน เลยทำให้เกิดข้อสังเกตสะดุดใจขึ้นมาว่า ที่เราตื่นพม่า ตื่นเออีซีกันอยู่นี้ ดูจะเป็นอาการเด็กไร้เดียงสายังไงๆอยู่หรือเปล่า เพราะหากเปิดข้อมูลบัญชีการลงทุนของจีนที่รุกเข้ามายึดหัวหาดในประเทศต่างๆแถบนี้แล้ว ดูท่าจะไม่เหลือพื้นที่ว่างเท่าไรให้เราเข้าไปลงทุนหรือค้าขายด้วย ดีไม่ดีเอาเข้าจริงการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่ว่ามีสามเสา คือ เสาการเมืองความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมวัฒนธรรม ตอนนี้เหลือให้เรามีส่วนร่วมแค่สองเสาแล้ว ส่วนเสาที่สำคัญคือเสาเศรษฐกิจ เข้าใจว่าจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และสิงคโปร์ พากันเข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยตามลำดับเรียบร้อยหมดแล้ว หากจะมีเหลือ ก็คงเป็นช่องเล็กช่องน้อยแบบ SME
              กรณีพม่าก็เช่นกัน หากค้นคว้าข้อมูลกันสักหน่อย ท่านผู้อ่านที่ลุ้นจะรอร่วมโดยสารโครงการเขตอุตสาหกรรมทวายอาจต้องตกใจ เพราะข่าวในวงการนักลงทุนนานาชาติ ยืนยันตรงกันว่า มีอาการวูบและเริ่มเอียงๆอย่างไรชอบกลอยู่ ประเดิมด้วยข่าวที่รัฐบาลพม่าแจ้งยกเลิกไม่อนุมัติโครงการโรงผลิตไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด4,000เมกะวัตต์ที่จะส่งไฟฟ้าเลี้ยงเขตอุตสาหกรรมเกิดใหม่นี้ ด้วยข้ออ้างเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยข่าวการถอนตัวของกลุ่ม Max Myanmar Group ที่ร่วมทุนกันมาตั้งแต่แรก ล่าสุดก็ลือกันในพม่า ว่าอภิมหาโปรเจ็คมูลค่าร่วม5หมื่อนล้านเหรียญสหรัฐในทวายชะลอกิจกรรมก่อสร้างระยะที่หนึ่งไปแล้วเพราะรอหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ๆเข้ามาช่วยอัดฉีดเงิน จริงเท็จอย่างไรคงต้องรอดู แต่ที่แน่ๆรัฐบาลพม่าออกมาให้ข่าวว่า โครงการดังกล่าวอาจต้องรอความชัดเจนของผู้ได้สัมปทานว่าจะหาเงินลงทุนในระยะแรก(8,500ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับตัดถนน ระบบสื่อสารและก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน)ได้ครบเต็มจำนวนตามที่ตกลงไว้กับรัฐบาลพม่าหรือไม่ ในระหว่างนี้รัฐบาลพม่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึก ที่หมู่เกาะเกี๊ยกพยู ซึ่งมีความก้าวหน้าในการลงทุนและการก่อสร้างมากกว่า อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะโครงการพัฒนาหมู่เกาะเกี๊ยกพยูที่ว่านี้ เจ้าของโปรเจ็คไม่ใช่ใครที่ไหน หัวเบี้ยสำคัญคือกลุ่มบรรษัทลงทุนข้ามชาติของจีน CITIC Group China โครงการดังกล่าวเกิดจากข้อตกลง ระหว่างรัฐบาลจีนและพม่าที่ลงนามในบันทึกความร่วมมือกันเมื่อปลายปี2009เริ่งลงมือทำงานในพื้นที่จริงๆเมื่อกลางปีที่แล้ว ชั้นต้นงานก่อสร้างเกือบทั้งหมดดำเนินการโดย บริษัทรับเหมาก่อสร้างในเครือของ CITIC เอง  โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนตกลงให้เงินกู้กว่า2,800ล้านเหรียญสหรัฐในปี2008เพื่อก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติระยะทางกว่าหนึ่งพันกิโลเมตรจากท่าเรือเกี๊ยกพยูเดิมไปยังชายแดนจีน-พม่า จะว่าเป็นเฟสสองก็ได้ นอกเหนือจากนี้ จีนยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆอีกมากมาย ที่ทั้งรัฐวิสาหกิจจีนและเอกชนของจีนได้เข้าไปลงทุนไว้ก่อนหน้าตอนที่พม่าถูกตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ นับเป็นเวลาร่วม30ปีมาแล้ว
                       ชุมชนจีนในพม่าเองก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในพม่าขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากปิดประเทศมานาน โลกภายนอกเพิ่งจะได้เห็นโอกาสและลู่ทางต่างๆในการกลับเข้าไปลงทุนในพม่า ทว่าสำหรับประเทศจีนและประเทศอินเดีย เราอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองประเทศมีผู้แทนการค้าถาวรอยู่ในพม่ามาตั้งแต่แรก เพราะทั้งจีนและอินเดีย มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็ง ควบคุมระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน ค้าขายกับจีนและอินเดียอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารของพม่ามาโดยตลอด
                  ...รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่คิดจะค้าขายลงทุนในพม่า ดีไม่ดีต้องรีบส่งลูกหลานไปเรียนภาษาจีน หรือภาษาฮินดี้โดยด่วน ไม่ใช่ภาษาพม่ากระมัง

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

15 ปีที่ผ่านไปของฮ่องกง


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันอาทิตย์ที่1กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ15 ปีแห่งการหวนคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ไม่น่าเชื่อว่าเผลอแป๊บเดียว 15 ปีแล้ว จำได้ว่าเพิ่งจะไวๆนี้เอง ที่นักวิจารณ์วิเคราะห์ทั้งหลายยังถกเถียงกันเกี่ยวกับอนาคตของเกาะฮ่องกง ว่าจะซบเซาหมดความหมาย เพราะตกเป็นรองมหานครเซี้ยงไฮ้ ที่จีนหมายมั่นปั้นให้เป็นศูนย์กลางการเงินการค้าแห่งภูมิภาคตะวันออก หรือจะเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องในฐานะประตูการค้าสำคัญของบรรดามณฑลต่างๆทางใต้ของแผ่นดินใหญ่ มาวันนี้เรื่องหลายเรื่องก็ได้คำตอบเรียบร้อยไปแล้ว โดยเฉพาะแนวทางบริหาร หนึ่งประเทศสองระบบ(ที่จริงหากแปลตรงตามความหมายในภาษาจีน น่าจะเป็น สองนโยบาย)ที่ดูจะทำงานได้ดี ทั้งในฮ่องกงและในมาเก๊า แต่ก็ยังมีข้อกังขาในเรื่องราวอีกหลายประเด็นของชีวิตผู้คนบนเกาะเล็กๆแห่งนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบหรือบทสรุปชัดเจนนัก เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความโปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตย ผมในฐานะที่อ้างตัวว่าสนใจติดตามเรื่องราวในประเทศจีน เลยต้องเฝ้าดูเฝ้าตามข่าวสาร และนำมาเป็นประเด็นชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยในสัปดาห์นี้
สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของจีน แพร่ภาพรายงานการจัดพิธีบนเกาะฮ่องกงมาตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ด้วยเหตุที่ท่านประธานฯหู มีกำหนดเดินทางมาร่วมงานพิธีรำลึกโอกาสครบรอบ15ปี ตั้งแต่วันศุกร์ และอยู่ร่วมพิธีอื่นๆต่อเนื่องมาถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่การตรวจเยี่ยมโครงการเขตพัฒนาใหม่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อยของการเคหะฯฮ่องกง เป็นประธานในพิธีเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงของนายเหลียง เจิ้นอิง(สำเนียงกวางตุ้งในฮ่องกงออกเสียงเป็น ชุ่นหยิง) ซึ่งจะเป็นผู้บริหารลำดับที่4 นับแต่ฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน รวมทั้งยังไปเป็นประธานงานพิธีอื่นๆของภาคเอกชนอีกหลายงาน จากภาพข่าวที่ติดตามดู ก็ต้องถือว่างานที่จัดในปีนี้อลังการยิ่งใหญ่ไม่แพ้งานอื่น มีไฮไลท์สำคัญๆเยอะแยะ ที่ได้รับการกล่าวขานมากเป็นพิเศษ ก็คือ การที่ท่านประธานฯหู จินเทา ขึ้นไปร่วมร้องเพลงบนเวที โดยมีดาราค้างฟ้าอย่างคุณป้าหวัง หมิงฉวน ปะกบอยู่(คุณป้าเคยเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองรัฐบาลจีน-ฮ่องกง ระหว่างปี ค.ศ.2003-2008) ในฐานะที่เป็นคนนอก ภาพรวมที่ได้รับชมจากสื่อทางการจีน ต้องยอมรับว่าดูดีเป็นอย่างยิ่ง
มาเมื่อวันจันทร์นี้เองขณะที่ผมกำลังอ่านข่าวจากเว็บไซต์ของสำนักข่าวBBC   สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นรายงานข่าว การชุมนุมประท้วงของคนจีนในฮ่องกง จากภาพข่าวดูใหญ่โตจริงจังมาก พออ่านรายละเอียดดู ก็พบว่าเป็นการเดินขบวนประท้วงในระหว่างการเดินทางมาฮ่องกงของประธานฯหู จินเทา เรื่องราวเข้มข้นตื่นเต้นไปคนละทางจากที่ได้ติดตามดูจากสื่อของจีนก่อนหน้านี้ ก็เลยติดตามเข้าไปค้นข่าวเพิ่มเติมจากเว็บไซต์สำนักข่าวอื่นๆของฮ่องกง ทั้งที่เป็นฉบับภาษาจีนและฉบับภาษาอังกฤษ เลยได้เห็นเหตุการณ์อีกด้านหนึ่งของเรื่องราว15ปีแห่งการหวนคืนสู่แผ่นดินแม่ สรุปง่ายๆว่า คนฮ่องกงไม่มีความสุขเท่าไรนัก สัญญาณแห่งความไม่พอใจ ปรากฏเด่นชัดมาตั้งแต่เมื่อ 1 กรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนฉลองครบ14ปี มีผู้คนในฮ่องกงกว่าสองแสนคนออกมาแสดงพลังบนถนน แต่หน่วยงานความมั่นคงในเวลานั้นวิเคราะห์ว่าเชื่อมโยงกับกระแส Occupy Wall Street ทั้งที่แท้จริงแล้ว เป็นการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่ปักกิ่งและคณะผู้บริหารฮ่องกง ประเด็นหลักๆที่กลายมาเป็นเชื้อความไม่พอใจอาจแยกออกได้เป็นสามด้านด้วยกันดังนี้
                     ด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตของฮ่องกงจะไม่ถูกกระทบจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าทิศทางการลงทุนที่มุ่งเน้นไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทุนที่ร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่นและจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ที่อยู่อาศัยของเกาะฮ่องกงมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นปัญหากับคนที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง รัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงมุ่งไปที่การดึงทุนจากแผ่นดินใหญ่และการเสนอผลตอบแทนการลงทุนที่สูงเกินจริง มากกว่าที่จะคุ้มครองดูแลสวัสดิการของคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งแตกต่างมากเมื่อเทียบกับการบริหารในสมัยที่ยังอยู่กับอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่ปี1997เป็นต้นมา ช่องว่างแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวยในฮ่องกง ถ่างกว้างขึ้น ด้วยระบบการเมืองที่ส่งเสริมให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งจีนและฮ่องกงจับมือกันและตักตวงความร่ำรวยในกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อย
ด้านการเมือง จีนเคยสัญญาว่าชาวจีนฮ่องกงจะยังคงมีเสรีภาพทางการเมือง และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆเท่าที่จะไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศโดยรวม ทว่าในทางปฏิบัติจริง การตีความเรื่องรัฐบาลท้องถิ่นและสิทธิเสรีภาพ ดูเหมือนจะไปคนละทางระหว่างปักกิ่งและผู้คนบนเกาะฮ่องกง คณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษของฮ่องกง มาจากการเลือกตั้งของผู้นำเพียงส่วนน้อย ภายใต้ความเห็นชอบของปักกิ่ง แม้จะมีการวางแผนว่าภายในปีค.ศ.2017 ชาวฮ่องกงจะได้รับสิทธิ์เลือกผู้บริหารโดยตรงก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนจะผิดไปจากความคาดหวังของชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ ยิ่งมาเกิดมีประเด็นฉาวเกี่ยวกับตัว นายเหลียง เจิ้นอิง(นักข่าวไปขุดคุ้ยพบว่ามีทรัพย์สินมากผิดปรกติ ซุกใส่ชื่อคนอื่น มีห้องลับใต้ดินที่บ้าน ซึ่งก่อสร้างไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของฮ่องกงฯลฯ) ที่ผ่านการเลือกตั้งและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลปักกิ่งไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นไม่พอใจหนักยิ่งขึ้น ล่าสุดก็ยังมีประเด็นประท้วงเรื่องการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งซ้ำเติมเข้าอีก กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ก็เลยยิ่งแรงใหญ่
ท้ายที่สุด แต่หนักพอๆกัน คือปัญหาด้านสังคมที่ชาวฮ่องกงรู้สึกว่ากำลังถูกผู้อพยพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาเบียดเบียน ทั้งเรื่องสวัสดิการพื้นฐาน อาชีพการงาน ที่อยู่อาศัย ความสงบสุข ความปลอดภัยของสังคม คุณภาพสังคม ระเบียบวินัยและและความเป็นชุมชน ล่าสุดที่เป็นประเด็นใหญ่ถึงขั้นเดินขบวนประท้วง คือการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดระเบียบไม่ให้สาวท้องแก่จากแผ่นดินใหญ่แห่กันเข้ามาทำคลอดในฮ่องกง จนเกิดปัญหาไม่มีเตียงในโรงพยาบาลพอจะรับผู้ป่วยชาวฮ่องกงเป็นต้น
หากถามคนฮ่องกงแท้ๆ 15 ปีที่ผ่านมา จึงเป็น15ปีแห่งปัญหา เราซึ่งเป็นคนนอกคงได้แต่คอยดู ส่วนท่านผู้อ่านที่รักซึ่งนิยมเดินทางท่องเที่ยว มีโอกาส คงต้องไปลองสัมผัสรับรู้เอาเองว่า ตกลงแล้ว ฮ่องกงในทุกวันนี้เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับ15ปีก่อนหน้า