ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เด็กผู้ชายหายไปไหน?

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                  ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวดังจากประเทศจีนมีหลายเรื่องด้วยกัน ใครที่สนใจเรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น ก็คงเฝ้าติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในแถบหมู่เกาะเตี่ยวหยูไถ(หรือเซ็นโกกุ)หลังจากชาวจีนกลุ่มใหญ่แล่นเรือจากฮ่องกงไปขึ้นบกที่นั่น และถูกทางการญี่ปุ่นจับตัวเนรเทศออกไป สร้างความตึงเครียดในภูมิภาคขึ้นอย่างฉับพลัน แม้ว่ากรณีพิพาททางทะเลแถบนี้จะเรื้อรังมาหลายสิบปีแล้ว ส่วนท่านผู้อ่านที่รักซึ่งสนใจเรื่องสวยๆงามๆมากกว่าเรื่องความขัดแย้ง สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวการประกวดมิสเวิลด์ ปรากฏว่านางงามอันดับหนึ่งตกเป็นของสาวจีนเจ้าภาพงานประกวดตามระเบียบ กลายเป็นเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใส ซุบซิบนินทานอกเวทีไม่แพ้กรณีกีฬาชกมวยในการแข่งขันโอลิมปิกที่ปิดฉากไปก่อนหน้า ใครจะผิดจะถูก ผมก็ไม่มีความสันทัดในเรื่องเหล่านี้ ไม่อยากจะออกความเห็นว่ามิสเวิลด์คนใหม่นี้สวยจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆฟันธงได้เลย ก็คือดูเหมือนช่วงนี้ประเทศจีนจะดวงไม่ค่อยดี เจอทั้งปัญหาระหว่างประเทศ เจอทั้งพายุไต้ฝุ่นเข้าน้ำท่วมไปลานหัวเมืองแล้วยังต้องเจอมรสุมปากคนจ้องนินทา เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ผมก็เลยคิดว่าต้องหาเรื่องราวอะไรที่มันนอกกระแสสักหน่อยมานำเสนอ ค้นคว้าหาอยู่นานครับ กว่าจะไปเจอเรื่องราวถูกใจดั่งที่จั่วหัวไว้
                ที่ว่าเด็กผู้ชายหายไปไหน ผมไม่ได้หมายความว่าเกิดมีการลักพาตัวเด็กผู้ชายครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศจีนนะครับ แต่เป็นการจั่วหัวเพื่อเรียกแขก เรื่องราวจริงควรต้องตั้งชื่อประโยคคำถามว่า นักเรียนชายของจีนหลุดหล่นออกจากการศึกษาภาคบังคับไปอยู่ที่ไหนกัน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผมไปอ่านพบรายงานการศึกษาปัญหาในระบบโรงเรียนของจีนโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูแห่งปักกิ่ง ที่ทำการศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีค.ศ.2009 งานศึกษาชุดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในเซี่ยงไฮ้(Shanghai Academy of Social Sciences) เจ้อเจียง(คณะศึกษาศาสตร์และการสอนขั้นสูง) และอู่ฮั่น(ภาควิชาการบริหารงานศึกษา) ก็ได้เคยศึกษาไว้  ปัญหาที่พบคล้ายๆกันก็คือ นักเรียนชายของจีนในทุกช่วงชั้นการศึกษาภาคบังคับ มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาต่ำกว่านักเรียนหญิง และนักเรียนชายลดน้อยลงเรื่อยๆเมื่อขึ้นสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยก็ยังพบว่าบรรดาครูอาจารย์ที่อยู่ในวิชาชีพสอนหนังสือเอง ตอนนี้ก็มีครูอาจารย์หญิงมากกว่าชาย แม้ในวิชาพละศึกษาก็มีครูพละหญิงมากกว่า และแนวโน้มก็ยังเดินหน้าเพิ่มขึ้นอีก
                 สถานการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์เด็กนักเรียนชาย ปรากฏออกมาในชุดข้อมูล ผลการเรียน ความเครียด สุขภาพอ่อนแอ พฤติกรรมก้าวร้าว จำนวนเด็กซ้ำชั้น และจำนวนเด็กเลิกเรียนกลางครัน ปัญหาหรือวิกฤติเหล่านี้ มีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามชั้นปีที่สูงขึ้น กล่าวคือตอนเริ่มต้นในปีที่หนึ่งระดับประถมศึกษาเด็กชายและเด็กหญิงยังคงไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก แต่พอขึ้นชั้นมัธยมต้นความแตกต่างในเกือบทุกด้านที่กล่าวมาข้างต้น จะปรากฏให้เห็นชัดเจน และเมื่อเข้าสู่มัธยมปลายเด็กนักเรียนชายจำนวนมากก็จะเริ่มหลุดหายไปจากห้องเรียน สุดแท้แต่จะหายไปเพราะสอบตก สุขภาพมีปัญหา ประพฤติตัวเสียหายสร้างปัญหากับโรงเรียน หรือหายไปเฉยๆเพราะเครียดไม่สามารถเรียนต่อได้  โดยทั่วไปนักเรียนหญิงเริ่มมีความสามารถทางวิชาการเหนือกว่าอย่างเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ชั้นประถม แต่ตัวเลขเปรียบเทียบจะเริ่มชัดเจมมากขึ้น ในด้านสุขภาพ นักเรียนหญิงก็ทำได้ดีในวิชาพละและกิจกรรมอื่นๆที่ต้องออกไปนอกสถานที่ ในขณะที่เด็กชายมักบ่นว่าเหนื่อย โรคอ้วนก็ปรากฏพบในเด็กนักเรียนชายตั้งแต่ชั้นประถมศึกษามากกว่านักเรียนหญิง ในด้านพฤติกรรมและความประพฤตินักเรียนหญิงก็ปรากฏมีปัญหาน้อยกว่ามาก เด็กนักเรียนชายยังมีปัญหาวุฒิภาวะทางสังคมในการสื่อสารกับผู้คนในช่วงต่างวัย และท้ายที่สุดของผลการศึกษา ปัญหาเด็กวัยเรียนติดเกมวันๆนั่งอยู่หน้าจอคอมฯ ปรากฏว่าร้อยละ68.64เป็นเด็กนักเรียนชาย
                     ผลจาการที่นักเรียนชายหายไปมากเมื่อถึงมัธยมปราย ยังส่งผลต่อเนื่องไปในระดับอุดมศึกษา ตัวเลขล่าสุดของจำนวนผู้สมัครสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แม้จำนวนผู้สมัครสอบชายจะยังคงมีมากกว่านักศึกษาหญิง แต่จำนวนผู้สมหวังได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆของจีนปรากฏว่าผู้หญิงมีจำนวนมากกว่า ในจำนวนทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้กับนักเรียนเรียนดีทั่วประเทศจำนวน 49,983ทุน ปรากฏว่านักศึกษาหญิงกวาดไปเสีย32,616ทุน หรือคิดเป็นร้อยละ65.25  ผลสัมฤทธิ์ในการสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ก็ปรากฏว่านักศึกษาชายสำเร็จการศึกษามากกว่าเวลาที่กำหนดหรือลาออกไปโดยไม่จบการศึกษามากกว่านักศึกษาหญิง
                       อะไรเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาของเด็กนักเรียนชายในประเทศจีน คำตอบปรากฏจากการศึกษามาหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างแรกสุดที่นักวิชาการจีนกล่าวหา(ไม่ใช่ผม) คือระบบการศึกษาจีนมีบุคลากรเป็นสตรีมากเกินไป ทำให้แนวโน้มการจัดการเรียนการสอนเอื้อกับนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย ที่จริงเด็กนักเรียนชายไม่ได้โง่กว่า แต่ต้องการการจัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่เอื้อต่อพัฒนาการของเด็กผู้ชายที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเด็กนักเรียนหญิง ดีไม่ดีอาจต้องจัดห้องเรียนชายล้วนแบบที่กำลังจะทดลองทำในเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้นักวิชาการอีกกลุ่มยังเชื่อว่าปัจจัยหลักต่อปัญหาของนักเรียนชาย คือสภาพแวดล้อมทางครอบครัวที่ได้รับการเอาอกเอาใจมากเป็นพิเศษกว่านักเรียนหญิง ทั้งพ่อแม่ ปูย่า ตายาย ต่างพากันเอาอกเอาใจจนนิสัยเสีย เข้าสังคมไม่ได้ เกลียดคร้าน ไม่มีแรงจูงใจที่ชัดเจนในชีวิต ขาดสมาธิและความมุ่งมั่น ครั้นพอเติบโตขึ้นในวัยเรียนมหาวิทยาลัย กลับถูกสมาชิกในครอบครัวตั้งความคาดหวังต่างๆนาๆ เกินกว่าที่จะสามารถแบกรับได้ กลายเป็นความเครียดและส่งผลต่อการศึกษา หลายคนตัดสินใจเลิกเรียนเพื่อหางานหาเงิน หรือหาทางรวยลัดตามที่ครอบครัวตั้งความหวังกับลูกชาย ข้อเสียทั้งหมดนี้ไม่เกิดกับเด็กนักเรียนหญิง ในทางตรงข้าม เพราะการที่ครอบครัวไม่ใส่ใจหรือเอาใจเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีลูกชาย ทำให้เด็กนักเรียนหญิงต้องต่อสู้พิสูจน์ฯสถานะด้วยการตั้งใจเรียน เล่นกีฬาเก่ง ทำคะแนนสูง สอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างตัวตนให้พ่อแม่ญาติพี่น้องภูมิอกภูมิใจที่มีลูกสาว
                   มาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักหลายท่าน อาจกำลังหันกลับมามองปัญหาเด็กผู้ชายเมืองไทย ว่าที่ไล่ยิงไล่ฟันกันอยู่ทุกวันนี้ มันเรื่องอะไรกันแน่ ดีไม่ดีอาจต้องกลับมาคิดหาคำถามที่ถูกต้องกับคำตอบมากกว่าที่อธิบายกันอยู่

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อุตสาหกรรมกีฬาจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                    สัปดาห์นี้ถ้าจะไม่พูดถึงกีฬาเลย คลื่นบูรพาคงต้องกลายเป็นคอลัมน์ที่เชยที่สุดเป็นแน่ ควันหลงจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ยังไม่จางหายไปจากหน้าสื่อทั้งหลาย ระหว่างที่นั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ในทีวีก็เห็นถ่ายทอดขบวนแห่นักกีฬาไทยที่เพิ่งจะเดินทางกลับถึงบ้าน ดูโกลาหลคึกคักยิ่งนัก แม้พิธีปิดจะล่วงเลยมาหลายวันแล้ว โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเรา ผมเชื่อว่าร้อยละ99.99ยังคงคาใจผลการตัดสินคู่ชิงเหรียญทองแข่งขันมวย ระหว่างนักชกชาวไทยและนักมวยจากประเทศจีน เท่าที่ผมสดับรับฟังมา พวกเราชาวไทยส่วนใหญ่เชื่อว่ามีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินที่ค้านกับสายตาผู้ชมทั่วโลก ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่ามีสื่อมวลชนสายข่าวกีฬาทุกสำนัก ทยอยตีแผ่นำเสนอมาโดยลำดับแล้ว หลายแง่มุมที่นำเสนอ ก็ชี้ให้เห็นว่าเรื่องกีฬาระดับโลกในสมัยนี้ ไม่ใช่จะแข่งขันกันแต่ลำพังฝีไม้ฝีมือกัน ยังจะต้องมีแรงหนุนอื่นๆเข้ามาเสริม ถึงจะสามารถกลายมาเป็นมหาอำนาจเหรียญทองกันได้ จีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกนานาชาติจับตามองมากเป็นพิเศษ หลังจากที่กวาดเหรียญนำเป็นที่หนึ่ง เมื่อคราวที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพครั้งก่อน มาคราวนี้ก็ตกเป็นรองสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มทุนกันเต็มที่ มองในภาพรวม จริงไม่ใช่เรื่องน่าน้อยใจเท่าไรนักสำหรับประเทศเล็กๆเช่นประเทศไทยเรา หนทางข้างหน้าในการที่จะต้องส่งเสริมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ยังต้องคิดอ่านทำกันอีกเยอะ ไม่ใช่เพียงมาร่วมโดยสารเกาะกระแสสมทบเงินอัดฉีดเอานาทีสุดท้าย ไม่กี่วันก่อนที่นักกีฬาจะลงแข่งขัน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าจะให้ดีจริงๆ ก็ควรที่จะร่วมกับสนับสนุนกันเสียตั้งแต่เริ่มต้น
                     กรณีของสหรัฐอเมริกา จีน หรือรัสเซีย(โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตเดิม) เรื่องการกีฬา ถือกันว่าเป็นเรื่องใหญ่มาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่ละประเทศต่างก็มีแผนงานและโครงการพัฒนานักกีฬาเยอะแยะไปหมด สัปดาห์นี้เพื่อเป็นการโหนกระแสโอลิมปิก ผมก็เลยจะขอนำเสนอพัฒนาการการกีฬาของจีน ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว หากเทียบกับในบ้านเรา ผมเข้าใจว่าเขาก้าวหน้าไปกว่าอย่างน้อยก็หลายสิบปี ที่พูดมานี้ไม่ใช่ว่าจะไปยกย่องจีนให้เกินจริง แต่ต้องยอมรับว่าในเรื่องการกีฬา จีนมีฐานทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาแต่ประวัติศาสตร์ ตามมาด้วยการส่งเสริมเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการกีฬาเลียนแบบโลกสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเดิมเป็นแม่แบบอยู่หลายสิบปี ครั้นเมื่อจีนเปิดกว้างสู่โลกภายนอก ก็ได้รับเอาอิทธิพลการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาสมัยใหม่เข้ามาเสริม ช่วงระยะเวลากว่า20ปีที่ผมมีโอกาสแวะเวียนไปประเทศจีน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกือบจะพูดได้ว่าในทุกหัวเมืองของจีนที่ไปเห็นมา อาคารสถานที่หลักสำคัญของเมือง นอกเหนือไปจากศาลาว่าการ จตุรัสลานเมือง ศาลาประชาชน โรงละคอนประจำเมืองและพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็มักต้องเจอสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ประจำเมืองควบคู่ไปกับอาคารกีฬาในร่มอยู่เสมอๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สนามกีฬาของเขาทั้งกลางแจ้งและในร่ม มีกิจกรรมแข่งขันและมีผู้มีคนเข้าใช้คึกคักต่อเนื่อง ไม่เหมือนสนามกีฬาบางแห่งของบ้านเรา ที่สร้างไว้แล้วไม่ได้ใช้จริง ปล่อยให้วัวเดินเล่นเล็มหญ้าอยู่เป็นฝูงๆ  ฉะนั้นสถานะของการกีฬาจีนในปัจจุบันจึงต้องยอมรับว่ามีความพร้อมเต็มที่ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และบุคลากรการกีฬา
                       ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น จีนในปัจจุบันได้ผลักดันการกีฬาไปอีกระดับหนึ่ง จะว่าเลียนแบบหรือแข่งกับตะวันตกก็ได้ กล่าวคือจีนกำลังเดินหน้าพัฒนาการกีฬาในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง สามารถแสวงหาผู้ร่วมทุนและทำให้กิจกรรมการแข่งขันต่างๆ ให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคุ้มค่าการลงทุน ทั้งที่เป็นกิจกรรมโดยตรงเช่นการจัดการแข่งขันต่างๆ และกิจกรรมทางอ้อม เช่นอุตสาหกรรมผลิตสินค้าและของที่ระลึก  ว่าไปแล้วพัฒนาการในแนวทางนี้เริ่มต้นมาได้ไม่เกินสิบปีเป็นอย่างมาก  จากข้อมูลที่ผมไปลองหามา รัฐบาลจีนซึ่งก่อนหน้านี้ต้องรับผิดชอบลงทุนส่งเสริมกิจการกีฬาในทุกรูปแบบแต่เพียงลำพัง ได้ออกนโยบายใหม่เมื่อปี ค.ศ.2002 กระจายการส่งเสริมการกีฬาให้ท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆร่วมรับผิดชอบ มาเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2010 ภายหลังความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ปักกิ่ง คณะกรรมการกลางพรรค ถึงกับกำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยระบุชัดเจนว่าให้หน่วยงานต่างๆถือเอาการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาเป็นความสำคัญระดับต้นๆ เพราะเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีอนาคตในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง และให้ชักชวนการลงทุนจากภาคเอกชน รวมทั้งให้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
                 แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งมีความสำเร็จอย่างสูงในการบริหารจัดการ การแข่งขันกีฬาเทนนิสและกอล์ฟเชิงพานิช หรือเทียบกับการจัดการเชิงพานิชของการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษและยุโรป จีนยังคงต้องทำงานอีกเยอะกว่าจะไปถึงจุดที่จะแข่งขันส่งออกได้ แต่ผมเองเข้าใจว่าจีนก็ไม่ได้มุ่งหวังถึงขั้นจะส่งออกเพื่อแข่งขัน ทว่าลำพังเพียงการกระตุ้นพลังผู้บริโภคจำนวนมหาศาลในประเทศจีน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ “ซื้อ” สินค้ากีฬารูปแบบใหม่นี้ จีนก็คงสามารถทำเงินได้อีกมหาศาล นี่เองกระมังที่เป็นนิยามความหมายของอุตสาหกรรมกีฬา แบบที่จีนมองเห็น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า หลายสิบปีมานี้ กองทัพหรือบุคลากรและเทคโนโลยีทางการกีฬาของจีน ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี เมื่อถึงคราวจะต้องนำออกมาถอนทุนสร้างเงินสร้างทอง ก็เลยมีความพร้อม เวลานี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนในจีน อย่างหนึ่งที่เราอาจสังเกตเห็นก็คืออุปกรณ์การกีฬาและเครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬาประเทต่าง ยึดครองขยายพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าของจีนเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างชัดเจน หนุ่มสาวจีนสมัยใหม่ก็หันมาเล่นกีฬาประเภทต่างๆหลากหลายมากกว่าเดิม สมัยเมื่อจีนเปิดกว้างทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เรามักเห็นภาพคนสูงอายุรำมวยจีนตอนเช้า คนหนุ่มสาวและกลางคนนิยมลีลาศ เด็กๆในวัยเรียนถูกกำหนดให้เล่นเปียโนหรือไม่ก็ไวโอลิน แต่ตอนนี้ ตามท้องถนนในเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีน เราจะเห็นผู้คนพกพาอุปกรณ์เล่นกีฬาที่หลากหลาย คุณภาพดีและมากรูปแบบมากยิ่งขึ้น ผมเองประเมินไม่ออกหรอกครับว่าทั้งหมดนี้ไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับ GDP ของจีนอีกเท่าไร แต่รู้แน่ๆและเห็นด้วยว่า เวลานี้การกีฬาในจีนกำลังเป็นเงินเป็นทองเพิ่มมากขึ้น
                          เมื่อหันกลับมามองดูประเทศไทยเรา ท่านผู้อ่านที่รักอาจมีความรู้สึกแบบเดียวกับผม ว่าการกีฬาไทยในด้านหนึ่ง ก็ดูกำลังเติบโตเป็นเงินเป็นทองขึ้นมาเหมือนกัน เห็นได้ชัดเจนจากการเกิดขึ้นของไทยพรีเมียร์ลีก ในแต่ละนัดการแข่งขัน จำนวนผู้ชมและแฟนคลับดูคึกคักเพิ่มมากขึ้น เริ่มเห็นมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลวางขายหนาตา การถ่ายทอดทางทีวีก็มีผู้ลงโฆษณาสนับสนุนไม่น้อย ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ส่วนที่จะส่งเสริมความเป็นเลิศและฝีไม้ลายมือของนักกีฬาแท้ๆ ดูเหมือนเรายังมีปัญหากันอยู่ ทำให้เกิดเป็นปัญหาว่า เราจะผลักดันกีฬาไปในเชิงพานิชได้สำเร็จจริงจังหรือไม่ หากทรัพยากรนักกีฬาของเรายังไม่ได้รับการดูแลเพียงพอ ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นไก่เป็นไข่ อะไรควรต้องลงมือพัฒนากันก่อนหลังอย่างไร

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดเทอมมหาวิทยาลัยจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

             
              ประมาณต้นเดือนกันยายน มหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศจีนก็จะเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ผมจำได้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีก่อน คอลัมน์คลื่นบูรพาก็เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนไปแล้วครั้งหนึ่ง เปิดคอลัมน์ก็ขึ้นต้นทำนองเดียวกันนี้ เหตุสำคัญที่ทำให้ผมต้องนำเสนอเรื่องราวของมหาวิทยาลัยจีนในช่วงนี้ของปี ตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในประเทศจีนจำนวนหนึ่ง กลับมาพักผ่อนเยี่ยมบ้านช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เกือบจะเป็นกิจวัตรประจำของผมไปแล้ว ที่จะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยหรือได้สัมภาษณ์สดบรรดานักเรียนไทยที่กลับมาเยี่ยมบ้านเหล่านี้ ทำให้ได้รับทราบเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากที่สามารถรับทราบได้จากสื่อปรกติทั่วไปของจีน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้รับทราบข่าวสารแบบเอ็กซ์คลูซีฟจากแหล่งข่าวโดยตรง
                    เรื่องราวแรกๆที่นักเรียนไทยทั่วไปมักบ่นแบบเดียวกันก็คือ นักศึกษาของจีน(โดยเฉพาะที่เป็นผู้ชาย)เรียนหนังสือกันอย่างเอาจริงเอาจังมาก เว้นแต่ในสังคมหมู่นักศึกษาต่างชาติแล้ว บรรยากาศในมหาวิทยาลัยจีนจึงไม่ใช่ที่ๆจะสังสรรค์คบหาเพื่อนฝูงหรือจับกลุ่มคุยเล่นสักเท่าไรนัก กลับเป็นสถานที่แย่งกันเรียน แข่งกันทำคะแนน แม้แต่ที่นั่งในห้องสมุด ก็ต้องเข้าแถวแย่งกัน นักศึกษาจากประเทศไทยเรา ซึ่งเคยใช้ชีวิตแบบสบายๆ ตอนเรียนอยู่เมืองไทย จึงต้องปรับตัวปรับใจเป็นอย่างมาก กว่าจะรู้จักฝึกฝนบังคับให้ตัวเองตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปเข้าแถวหน้าห้องสมุดเพื่อแย่งกันยืมหนังสือ หรือแย่งใช้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อทำงาน บางรายก็ใช้เวลาปรับตัวปาเข้าไปครึ่งเทอมแล้ว ยิ่งในระดับปริญญาโท-เอก ระดับของการแข่งขันทั้งในและนอกห้องเรียน ก็ดูเหมือนจะยิ่งรุนแรง ชัดเจนจนออกนอกหน้า เรียกว่าเป็นสนามแข่งขันที่ไม่มีการปราณีกันเท่าไร
          เรื่องถัดมาที่จับใจความได้จากการพูดคุยกับนักศึกษาไทย คือบรรยากาศการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในจีน นอกจากเด็กนักศึกษาจะแข่งกันแล้ว มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็แข่งขันกันเอาเป็นเอาตายในการจัดอันดับแต่ละปี การแข่งขันกันในเรื่องจัดอันดับมหาวิทยาลัยนี้ คนจีนเขาดูกันสองช่วงสำคัญ ช่วงแรกคือการจัดอันดับอย่างเป็นทางการที่จะประกาศผลกันทุกๆต้นปีปฏิทิน เช่นรวบรวมผลงานทั้งหมดของแต่ละมหาวิทยาลัยในปี2011 แล้วมาประกาศผลการจัดอันดับในต้นปี2012 (ปีนี้มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยปักกิ่ง ชิงหัว เจียวทงเซี่ยงไฮ้ ฟู่ต้าน หนานจิง วู่ฮั่น ซุ่น-จง-ซาน เสฉวน ฮาร์บินเทคโนโลยีฯลฯ)อีกช่วงหนึ่งก็คือหลังประกาศผลการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกกันว่าเกาเข่า ซึ่งก็จะตกอยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ก่อนที่ผู้เข้าสอบจะนำผลคะแนนนี้ไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่ตนปรารถนา นักเรียนที่ทำคะแนนสูงสุดของประเทศในปีนี้ ถูกรัฐบาลท้องถิ่นจับขึ้นรถแห่โชว์ตัวไปทั่วเมือง แบบเดียวกับการแห่จอหงวนในสมัยโบราณยังไงยังงั้น พอผลการสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสรุปเสร็จ(ในช่วงเวลาไม่กี่วันนี้แหละ) ก็จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะมาตรวจสอบกันดูว่าแต่ละมหาวิทยาลัยดังๆทั้งหลาย ใครได้นักเรียนคะแนนสูงในระดับต้นๆไปเท่าไร ก็จะเป็นข้อมูลจัดอันดับมหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการไปในตัว ปีนี้มีข้อมูลว่านักเรียนคะแนนสอบสูงจำนวนมาก แห่กันไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง อันถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สร้างความฮือฮาในวงการศึกษา แม้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน แต่เล่าลือกันว่าในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงอาจจะได้นักศึกษาใหม่ที่มีคะแนนสอบเข้าสูงกว่านักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในหลายสาขา
                      เรื่องสุดท้ายเท่าที่พื้นที่คอลัมน์นี้จะมีเหลือ เป็นข่าวเกี่ยวกับนโยบายการจัดการอุดมศึกษาใหม่ของจีนที่เริ่มนำมาใช้ในปีนี้ นโยบายที่ว่าคือการกำหนดให้โควตาที่นั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศจีน สำหรับรับนักศึกษาจากเขตพื้นที่ยากจนเข้าศึกษา ทั้งนี้โดยไม่ต้องนำคะแนนจากการสอบมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินทั้งหมด ในปีนี้มีนักเรียนแข่งขันสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยประมาณ9.15ล้านคนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่มีที่นั่งในมหาวิทยาลัยทั้งประเทศจีนรวมประมาณ6.8ล้านที่นั่ง ในจำนวนนี้ จะมีที่นั่งพิเศษกันไว้สำหรับนักเรียนที่มาจากเขตยากจนทั่วประเทศที่มีผลคะแนนสอบพอจะเรียนได้ ประมาณ12,500ที่นั่ง จะว่าไปแล้วก็ไม่ถือว่ามาก แต่สำหรับนักเรียนทั่วไปที่ต้องสอบแข่งขันเองโดยไม่มีตัวช่วย นโยบายนี้ก็ได้รับเสียงวิจารณ์อยู่พอสมควร
                      สามเรื่องสามรสเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ที่ผมนำมาเสนอท่านผู้อ่านที่รักในสัปดาห์นี้ เป็นผลมาจากการพูดคุยกับบรรดานักเรียนไทยที่ไปดิ้นรนต่อสู้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยจีน บวกเข้ากับการค้นข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ไม่ได้แปลว่าสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยต่างๆของจีนจะเข้มข้นไปเสียทุกแห่ง ทั้งไม่ประสงค์จะทำให้ท่านที่เป็นผู้ปกครองตกอกตกใจ หรือทำให้ใครที่กำลังคิดจะไปเรียนต่อประเทศจีนต้องชะงักเปลี่ยนใจ หากไปเรียนภาษาจีนทั้งเอาปริญญาและไม่เอาปริญญา บรรยากาศจะผ่อนคลายกว่าที่เล่ามามาก เพราะส่วนใหญ่ที่ไปเรียนภาษาจีน ก็ล้วนเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น หรือหากมองในอีกแง่หนึ่งสำหรับท่านที่ตั้งใจจะส่งบุตรหลานไปจีนเพื่อเรียนสาขาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาจีน การได้อยู่ในบรรยากาศการแข่งขันอย่างเข้มข้นเช่นที่ผมเล่าใส่ไข่มา ก็อาจเป็นเรื่องดี เหมาะแก่การแก้นิสัยชอบชีวิตสบายๆตามใจตัว ช่วยให้เปลี่ยนเป็นคนละคน พร้อมจะสู้ชีวิตในอนาคตได้ไม่น้อยหน้าใคร อันนี้ก็คงต้องแล้วแต่ชอบละครับ

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อีกหนึ่งก้าว จีน-ไต้หวัน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ อย่างน้อยสองท่านแซวพาดพิงคอลัมน์คลื่นบูรพาที่ผมรับผิดชอบเขียนอยู่นี้ ท่านหนึ่งถามว่า สัปดาห์นี้ผมจะนำเสนอเรื่องน้ำท่วมมหานครปักกิ่งหรือไม่ เพราะเห็นข่าวว่าท่วมหนักฉับพลันจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อีกท่านหนึ่งก็คุยเรื่องฝนฟ้าอากาศ แล้วก็แวะเข้าข่าวที่ว่าจีนกำลังเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนสามโตรกผา ตอนนี้พื้นที่ใต้เขื่อนเลยรับน้ำท่วมไปเต็มๆ ตกลงไม่รู้จะต้องมาฝึกงานบ้านเรา หรือควรให้มาแนะนำเราเรื่องบริหารน้ำกันแน่ ผมเองก็ตอบเลี่ยงไปว่าคลื่นบูรพาเป็นคอลัมน์ข่าวแห้งไม่ใช่ข่าวสด คงนำเสนอไม่ได้ทันเหตุการณ์ ในใจก็ทราบดีว่าทั้งสองข่าวเป็นประเด็นใหญ่ที่มีผู้สนใจกันมาก โดยเฉพาะคนไทยเราที่เพิ่งผ่านเหตุน้ำท่วมมายังไม่ทันสะเด็ดน้ำดี แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากจะเขียนถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก เพราะรู้สึกว่าเขียนเรื่องความเสียหายของประเทศเพื่อนบ้านไปก็ไม่สร้างสรรค์ได้ประโยชน์นัก เว้นแต่จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทยเรา
โชคดีที่ว่าพอปลายสัปดาห์ก็มีข่าวใหญ่มาเป็นตัวช่วย กล่าวคือ เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมสำคัญเกิดขึ้นหนึ่งเวที คืองานประชุมร่วมทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบครั้งที่8 ระหว่างองค์กรหน่วยงานต่างๆของจีนแผ่นดินใหญ่และของฝั่งไต้หวัน พอบอกว่าเป็นครั้งที่8 ท่านผู้อ่านที่รักจำนวนหนึ่งก็อาจรู้สึกว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จัดกันเป็นประจำทุกปี ไม่น่าจะมีอะไรตื่นเต้น ผมในฐานะผู้นำประเด็นมาขยายต่อ ก็จะขออนุญาตขยายความเพิ่มเติม แม้จะเป็นเวทีที่จัดมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มีความสำคัญและได้เรื่องได้ราวเพิ่มขึ้นทุกปี เรียกว่ามีพัฒนาการที่ทั้งชาวจีนและชาวไต้หวันตั้งความหวังไว้มาก เริ่มต้นใหม่ๆก็เป็นการประชุมระหว่างภาคเอกชนและผู้คนทั้งสองฝั่งช่องแคบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว โดยที่รัฐบาลของสองฝ่ายสังเกตการณ์อยู่แบบเขินๆเพราะยังไม่รู้จะวางตัวอย่างไร จนต่อๆมามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้แทนของพรรคการเมืองไต้หวัน เริ่มทะยอยมาเข้าร่วมกับภาคเอกชน สังเกตการณ์ในที่ประชุม ฝ่ายรัฐบาลจีนก็เริ่มตอบรับด้วยการอนุญาตให้ผู้ใหญ่ในพรรคฯเข้าร่วมประชุมด้วย มาใน2-3คราวประชุมหลังสุดนี้ ก็ไม่ต้องอายต้องเขินกันแล้ว เวทีที่ประชุมร่วมทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบ ได้กลายมาเป็นเวทีประชุมอย่างเป็นทางการ มีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งหน่วยงานระดับสูงภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชนครบถ้วน กลายเป็นนิมิตหมายและความหวังสำคัญของผู้คนทั้งสองฝั่ง ว่าการอยู่ร่วมและพัฒนาอย่างสันติจะเกิดขึ้นได้แน่ๆ
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ รัฐบาลและองค์กรผู้นำของทั้งสองฝ่าย ได้เห็นชอบร่วมกันใน17แผนงานส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ตามคำแถลงของนาย หวาง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันของพรรคคอมมิงนิสต์จีน ผมจะขอนำเอาเรื่องเด่นๆมาสรุปให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพโดยสังเขปดังนี้ครับ
ประการแรก ต่อแต่นี้ไปหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองฝ่าย จะดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรมเพื่อผลประโยชน์โดยร่วมของประชาชาติจีน โดยไม่สนใจประเด็นทางการเมืองเรื่องจีนเดียวหรือไม่จีนเดียว หรือเรื่องอนาคตสถานะของไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ
ประการที่สอง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวของทั้งสองฝ่าย ต้องกลับไปทบทวนเร่งรัดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามช่องแคบ(ECFA) ที่มีผลบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน (ผมเคยนำเสนอรายละเอียดไปแล้วในคอลัมน์นี้ ลักษณะคล้ายๆFTAชนิดหนึ่ง) แม้ในระดับนโยบาย ทั้งสองฝ่ายจะอ้างว่าได้นำไปปรับแก้กฎระเบียบต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายเรื่องยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ โดยเฉพาะการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างกัน
ประการที่สาม ที่ประชุมเห็นพ้องให้หน่วยงานภาครัฐทั้งสองฝ่าย ไปจัดทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างสกุลข้ามช่องแคบ เพื่อเป็นการปกป้องและส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว
ประการที่สี่ ที่ประชุมตกลงให้เพิ่มปริมาณการแลกเปลี่ยนเยาวชนของทั้งสองฝ่ายอีกเท่าตัว โดยให้กระจายครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรม และการเรียนรู้วิถีชีวิตภาคเกษตร
ประการที่ห้า ที่ประชุมตกลงเพิ่มความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประชาชนต่อประชาชนในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรม โดยขอให้หน่วยงานราชการระดับปฏิบัติ ของทั้งสองฝ่ายกลับไปแก้ไขกฏระเบียบที่ยังขัดขวางการติดต่อโดยตรงระหว่างประชาชนต่อประชาชนให้หมดสิ้นไปภายในระยะเวลา1ปี
นาย เจี่ย ชิงหลิน หนึ่งในกรรมการกลางของพรรคฯในฐานะเป็นหัวหน้าคณะผู้ร่วมประชุมฝ่ายจีน และนาย โป๋ว เซี๊ยง ประธานกิติมศักดิ์พรรคก๊กมินตั๋ง ต่างก็ให้ความมั่นอกมั่นใจ ว่าข้อเสนอทั้งหลายจากที่ประชุม จะได้รับการผลักดันเข้าสู้กระบวนการของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติให้ได้จริงในเวลาอันใกล้
        แม้ผมจะเรียนท่านผู้อ่านที่รักไปเมื่อตอนต้นว่าผลสรุปเวทีร่วมในคราวนี้ได้มรรคได้ผลอย่างยิ่ง แต่ท้ายที่สุด ในทางการบังคับปรับแก้กฏระเบียบ ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ใครจะไปเร่งรัดดำเนินการได้ไวกว่ากันก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ตัวเลขการลงทุนข้ามช่องแคบในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้ว่าเวลานี้ธุรกิจของเอกชนในแผ่นดินใหญ่จะขยายออกไปมาก มีการไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับปรากฏว่าทุนแผ่นดินใหญ่ไหลออกไปยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สะดวกกว่าการไปลงทุนในไต้หวัน ใครได้ ใครเสียเห็นๆกันชัดอยู่