ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

บทบาทสื่อทางสังคมกับปัญหาพิพาทจีน-ญี่ปุ่น


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 
          ผมเชื่อว่าหลายวันมานี้ ท่านผู้อ่านซึ่งติดตามข่าวสารต่างประเทศ คงได้เห็นพัฒนาการความขัดแย้งจากกรณีพิพาทหมู่เกาะทางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่น ขยายตัวรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรื่องราวความเป็นมาของกรณีพิพาททางทะเลนี้ คงเป็นที่รับรู้อยู่แล้วจากสื่อแขนงต่างๆ รายละเอียดผมเลยจะข้อข้ามไปก่อน แต่มีประเด็นติดใจและเป็นประเด็นที่ผมไม่แน่ใจว่าจะได้มีใครทำการวิเคราะห์ศึกษากันบ้างแล้วหรือไม่ค้างคาอยู่สองเรื่อง สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านคุยเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมและกระเสการประท้วงญี่ปุ่นที่กำลังระบาดไปตามหัวเมืองต่างๆในประเทศจีน ว่ามีที่มาและขยายไปทั่วได้อย่างไร

            เรื่องที่หนึ่ง ภาพชาวจีนวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ แห่กันเข้าไปทุบตีทำลายข้าวของตู้กระจกในห้างร้านที่จำหน่ายของนำเข้าจากญี่ปุ่น ภาพฝูงชนชาวจีนนับร้อยๆบุกเข้าไปในสถานกงสุลญี่ปุ่นที่เมืองกวางโจว เซี้ยงไฮ้ ภาพการจุดไฟเผารถยนต์ยี่ห้อญี่ปุ่นบนท้องถนนฯลฯ ได้กลายเป็นภาพที่มีการส่งต่อกันมากมายที่สุดในประวัติการใช้งานประเภทเดียวกันนี้ ในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนที่เรียกว่า“วุยป๋อ”(เป็นไมโครบล็อกแบบเดียวกันทวิทเตอร์สัญชาติจีนในเครือ Sina.com ซึ่งเชื่อว่าชาวจีนใช้กันแพร่หลายมากที่สุด) บางภาพเช่นการทุบทำลายรถยนต์โตโยต้า มีการส่งต่อกันมากว่า120ล้านครั้ง สโลแกนต่อต้านไม่ซื้อ ไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น ถูกแชร์ส่งต่อทั้งในวุยป๋อและไมโคร บล๊อคสายพันธุ์อื่นๆรวมกว่า160ล้านครั้ง นับตั้งแต่เริ่มมีประเด็นเรื่องรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจะซื้อที่ดินบนเกาะเล็ก3แห่ง รอบๆเกาะเตี่ยวหยู (ซิกากุ ในชื่อญี่ปุ่น)จากเอกชนญี่ปุ่นที่ครอบครองอยู่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากนับเอาความเคลื่อนไหวต่างๆเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างจีน-ญี่ปุ่นในคราวนี้ สิ่งหนึ่งที่แลเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การแพร่ระบาดของข่าวสารและความคิดเห็นของผู้คนชาวจีน(แผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง และจากโพ้นทะเล)ที่ดุเดือดมากมายกว่าทุกๆครั้งและทุกๆเหตุการณ์ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่เป็นข้อความและรูปภาพ นับเนื่องจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ23ปีที่แล้ว นานาชาติที่ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน คงยังไม่เคยมีใครได้พบเห็นการชุมนุมประท้วงกลางถนนที่มีผู้คนชาวจีนมากมาย และแผ่ขยายไปในแปดสิบกว่าหัวเมืองเท่าในครั้งนี้ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปรกติอย่างยิ่งในสังคมจีน ในขณะเดียวกัน ผู้ที่รู้จักกลไกการควบคุมเซ็นเซอร์คัดกรองสื่อของจีนดี ก็ต้องประหลาดใจที่เห็นข่าวสารข้อมูลอันส่อไปในทางรุนแรง หรือชักชวนปลุกระดมให้ออกไปก่อความรุนแรง ถูกส่งต่อกระจายข่าวตามสื่อทางสังคมผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างเสรี ปราศจากปิดกันคัดกรองของเจ้าหน้าที่รัฐได้กว้างขวางอิสระขนาดนี้มาก่อน ปัญหาที่นักวิชาการและผู้เฝ้าติดตามประเทศจีนกำลังงงกันก็คือ เกิดอะไรขึ้นในประเทศจีน ปรากฏการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ หากว่าไปตามวัฒนธรรมทางการเมืองปรกติแบบจีน ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เว้นแต่ผู้มีอำนาจในปักกิ่งเจตนาให้เกิดขึ้น

            เรื่องที่สอง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและประเทศต่างๆ เกี่ยวกับเขตแดนในหมู่เกาะทะเลจีน ทั้งทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่ามีมาแล้วโดยตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน เฉพาะกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี่ยวหยูกับญี่ปุ่น ก็ต้องเรียกว่าเป็นมหากาพย์ตั้งแต่ปี1970เดี๋ยวๆก็ปะทุขึ้นมาทีหนึ่ง แต่ทุกครั้งจีนก็ปรามคู่พิพาทด้วยการแสดงแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า แล้วเรื่องก็เงียบไป เหตุใดมาคราวนี้ เรื่องราวข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะแห่งนี้ จึงได้กลายมาเป็นกระแสประท้วงโดยประชาชนชาวจีนขนานใหญ่ ลุกลามจนดูเหมือนสองชาติกำลังเดินเข้าสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจีนเองในความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ ก็ดูเหมือนจะแข็งกร้าวกว่าทุกครั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจีนคุ้มครองผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในประเทศจีน และขู่จะให้จีนรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น จนดูกลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างกดดันซึ่งกันและกันจนพากันติดกับเข้าสู่ทางตันของความขัดแย้ง ล่าสุดขณะที่กำลังเคาะต้นฉบับอยู่นี้ ก็เห็นข่าวว่าโรงงานของญี่ปุ่นกว่าสิบแห่งได้ตัดสินใจปิดโรงงานไปแล้ว อีกทั้งมีชาวญี่ปุ่นระดับผู้บริหารจำนวนมาก เดินทางออกจากประเทศจีนไปเรียบร้อย เหตุหลักๆนอกจากปัญหาประท้วงแล้ว วันอังคารที่18กันยายน ยังเป็นวันครบรอบการที่กองทัพญี่ปุ่นกรีฑาเข้ายึดครองประเทศจีนตอนบนในปี1932 เลยเกรงกันว่าเหตุการณ์จะยิ่งรุนแรงหนักขึ้น ความขัดแย้งและปฏิกิริยาโต้ตอบไปมาของทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นในบรรยากาศที่ผิดปรกติยิ่ง จนทำให้อาจคิดไปได้ว่าอาจมีเจตนาแอบแฝง กระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นและปล่อยให้แพร่ขยายไปอย่างปราศจากการควบคุมในคราวนี้ อาจมีที่มาที่มากกว่าประเด็นพิพาทหมู่เกาะเตี่ยวหยู  ทั้งรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น ต่างก็กำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ การจะยอมอ่อนข้อเจรจาโดยสันติ อาจเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอที่จะไม่เป็นผลดีกับตัวผู้นำที่กำลังจะลงจากอำนาจ ในขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดปัญหาเผือกร้อนลูกใหญ่โยนใส่ผู้นำชุดใหม่ที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปีหน้า ในเวลาเดียวกันก็มีคนใจร้ายวิเคราะห์เลยเถิดไปถึงขั้นว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งกับจีนและญี่ปุ่น อาจจำเป็นต้องมีปัญหาพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ เข้ามาคั่นบรรยากาศหรือเบี่ยงเบนปัญหาไปชั่วคราว
                   ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชัดเจนว่าบัดนี้สื่อสังคมออนไลน์ของจีน ได้เข้ามามีบทบาทชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากอย่างยิ่ง หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว อาจจะมีผลกว้างขวางกว่าปรากฏการณ์ทวิตเตอร์กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลางก่อนหน้านี้ ผมเองก็ได้แต่ภาวนาให้เหตุการณ์สงบโดยไว ก่อนที่สื่อออนไลน์แบบวุยป๋อ จะกลายมาเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลจีนเองในอนาคต

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

การเมืองแบบฮ่องกง


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
           ในภาษาจีนมีคำพังเพยอยู่วลีหนึ่ง “โชคร้าย ไม่มาเดี่ยว” เทียบเป็นไทยเราก็คงทำนองว่า “เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด”ช่วงนี้หากท่านผู้อ่านสังเกตติดตามข่าวสารจากประเทศจีนเป็นประจำทุกเช้าเย็นเหมือนอย่างผม คงได้เห็นข่าวในทางร้ายๆเสียมาก จะเรียกอีกที่ว่า “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก” ก็คงได้ ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว แม่น้ำลากลายเป็นสีเลือดฯลฯ ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในสื่อระดับนานาชาติไปทุกสำนัก กลบข่าวนักกีฬาพาราลิมปิกของจีนไปเรียบร้อย ผมเองสัปดาห์นี้ก็เลยงงๆ ไม่รู้จะนำเสนอเรื่องราวอะไรดีที่พอจะเป็นเรื่องชูใจได้บ้าง เลยตัดสินใจขออนุญาตพาท่านผู้อ่าน เลี้ยวออกนอกประเทศจีน ไปดูบรรยากาศและผลการเลือกตั้งสส.ในเกาะฮ่องกงกันดีกว่า
              เมื่อวันอาทิตย์ที่9ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกง(LEGCO ) ต้องเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะตัดสินอนาคตการทำงานของท่านผู้ว่าฯ เหลียง ชุน-อิง(ชื่อทางการเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร แต่ผมขอเรียกผู้ว่าฯตามแบบคนจีนเค้า) เพราะหลายเดือนมานี้บรรยากาศออกไปในทางไม่ดีเท่าไรนักสำหรับท่านผู้ว่าฯที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เด็กสายตรงของรัฐบาลปักกิ่ง”เฉพาะอย่างยิ่งต่อเนื่องมาหลายเดือนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ที่พรรคฝ่ายค้านกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ได้ทยอยออกมาขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวและภรรยา  ภายหลังผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ว่าเหลียงคงหายใจหายคอได้ลำบากยิ่งขึ้น ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้  ดูเหมือนในเว็บไซต์กกต.ของฮ่องกงจะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง แต่คะแนนอย่างไม่เป็นทางการมีเผยแพร่ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์แล้ว ว่ากลุ่มนิยมประชาธิปไตยฮ่องกงอันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับปักกิ่ง น่าจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น
             จากข้อมูลล่าสุดที่มี การเลือกตั้งคราวนี้ มีพรรคต่างๆลงสมัครกัน20พรรคในส่วนสส.เขต แต่ในส่วนสส.กลุ่มอาชีพมีผู้สมัครอิสระเข้ามาด้วย ถึงตรงนี้คงต้องอธิบายเพิ่มว่าฮ่องกงมีสส.ทั้งหมด70ที่นั่ง แยกเป็นสส.เขต35ที่นั่ง สส.จากกลุ่มอาชีพอีก35ที่นั่ง หากจะว่ากันตามข้อมูลที่สรุปได้ตอนนี้ ฝ่ายนิยมปักกิ่งได้สส.เขต17ที่นั่ง สส.จากกลุ่มอาชีพ26ที่นั่ง รวมเป็น43ที่นั่ง ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยได้สส.เขต18ที่นั่ง สส.จากกลุ่มอาชีพ9ที่นั่ง รวมเป็น27ที่นั่ง แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น แต่ผมก็เห็นข่าวนายอัลเบิร์ท โฮ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยฮ่องกงประกาศรับผิดชอบลาออก เพราะคะแนนส่วนของพรรคหายไปมาก ทำนองว่าฝ่ายนิยมประชาธิปไตยตัดคะแนนกันเองในหลายเขต
                ว่าไปแล้ว ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ต่างไปจากที่นักวิเคราะห์หลายสำนักได้คาดการณ์กันไว้เล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้กระแสการต่อต้านอำนาจของปักกิ่งดูท่าทางมาแรงมาก บวกเข้ากับนโยบายบรรจุวิชารักชาติแผ่นดินจีนให้นักเรียนชั้นประถมของท่านผู้ว่าฯ ก็เลยสร้างกระแสให้ชาวฮ่องกงค่อนไปในทางหมั่นไส้และไม่ไว้วางใจ นักวิเคราะห์ทางการเมืองเลยเชื่อกันว่า เลือกตั้งเที่ยวนี้ ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยน่าจะเข้าสภามาได้มาก และอาจจะเอาชนะฝ่ายนิยมปักกิ่ง เที่ยวนี้ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยดูเหมือนได้ใจได้เสียง แต่ยังได้คะแนนไม่มากพอ อะไรเป็นเหตุให้การเลือกตั้งออกมาในแนวทางนี้ คงตอบให้ชัดได้ยาก แต่เฉพาะหน้าปัจจัยที่เห็นๆกันอยู่ ฝ่ายค้านหรือพวกนิยมประชาธิปไตยจัด ดูเหมือนจะไม่เป็นเอกภาพเท่าไรนัก แม้จนนาที่สุดท้ายวันรับสมัครผู้เข้ารับการเลือกตั้ง ผมยังเห็นมีข่าวทะเลาะกันเรื่องเขตพื้นที่ เคลียร์กันไม่ลง ท้ายสุดคงไม่พ้นตัดคะแนนกันเอง เรื่องขาดเอกภาพนี้เห็นเป็นมาหลายเวที รวมทั้งระดับความเข้มข้นของการต่อต้านการบังคับใช้นโยบายจากปักกิ่ง แต่ละกลุ่มต่างก็มีแนวทางของตน เรียกว่าแยกย้ายกันเข้าตี พอถึงเวลาก็เลิกเอาเฉยๆ ปัจจัยอย่างที่สองที่มีการพูดกันมากก็คือ แม้คราวนี้คนจะออกมาใช้สิทธิ์กันมาก คือร้อยละ53ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด3.4ล้านคน มากกว่าคราวเลือกตั้งปี2008 ที่ออกกันมาเพียงร้อยละ45.2 แต่คำถามคือพวกที่อ้างว่าต้องการให้ฮ่องกงเป็นประชาธิปไตย และพวกที่กล่าวหาว่าปักกิ่งครอบงำการเมืองฮ่องกง อยู่ในกลุ่มที่ออกมาลงคะแนน หรืออยู่ในกลุ่มที่นอนหลับอยู่กะบ้าน ในบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนใหญ่ก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า ตกลงต้องการเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หรือต้องการเห็นเศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวต่อเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับเศรษฐกิจจีน พอสองจิตสองใจตอบไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจนอนอยู่กะบ้าน ไม่ยอมออกมาทำหน้าที่หรือเปล่า
              ปัจจัยข้อที่สองนี้ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปพูดกันมากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นมีบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจเปรียบเทียบ ระหว่างการขยายตัวของฮ่องกงกับสิงคโปร์ลงตีพิมพ์ในประเทศจีน และถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของฮ่องกงที่เป็นฉบับภาษาจีน เนื้อความทำนองว่า คนฮ่องกงจำนวนมากไม่พอใจที่เห็นเศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายล้ำหน้าไปไกล ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นรองฮ่องกงอยู่มาก ในช่วงเกือบ20ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจ( GDP) ของฮ่องกงขยายตัวได้เพียงร้อยละ3.96โดยเฉลี่ย ในขณะที่สิงคโปร์ที่เคยเป็นรองกลับขยายได้ถึงร้อยละ6.6โดยเฉลี่ย ชาวฮ่องกงมัวแต่โทษว่าเป็นเพราะเมื่อรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้วทำให้เศรษฐกิจแย่ลง แต่ไม่เคยไตร่ตรองดูว่าความวุ่นวายทางการเมืองภายใน ที่ชาวฮ่องกงก่อขึ้น (จากการประท้วงผู้ว่าฯ ประท้วงปักกิ่ง ประท้วงสิทธิมนุษยชนฯลฯ) ได้บั่นทอนบรรยากาศการลงทุนไปมากแค่ไหน ในขณะที่สิงคโปร์มีบรรยากาศทางการเมืองที่สงบเรียบร้อยมากกว่า หากชาวฮ่องกงมีความจริงใจที่จะร่วมกันสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่(ไม่เฉพาะคนชั้นกลางเรื่องมาก บ่นมาก)บนเกาะฮ่องกง ก็ย่อมสามารถทำได้ และจะทำได้ดีกว่าสิงคโปร์ แต่ชาวฮ่องกงควรต้องยุติการทำให้เรื่องทุกเรื่องเป็นประเด็นทางการเมืองและความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกงไปเสียหมด
            บทความชิ้นดังกล่าวในสายตานักประชาธิปไตย อาจถือได้ว่าเป็นการข่มขู่หรือแบล็คเมล์ทางการเมือง ทำนองว่าจะเอาประชาธิปไตยเต็มใบ หรือจะเอาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่ดูเหมือนประชาชนชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อย ไม่รู้สึกว่าโดนข่มขู่ และอาจได้ตัดสินใจไปแล้วในการเลือกตั้งคราวนี้

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

ขยะอิเล็กทรอนิกส์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากที่ผมเขียนเรื่องตัวเลขที่แท้จริงของเศรษฐกิจจีนออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่าเป็นเรื่องครับ มีท่านที่รู้จักหลายท่านโทรมาถามข้อมูลเพิ่มเติมมากมายหลายท่าน อีกทั้งขอให้เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆของจีนมาเผยแพร่เพิ่ม ทำนองว่าจะให้วิเคราะห์เป็นรายอุตสาหกรรมเลยที่เดียว ทำซะยังกับว่าผมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤติที่อาจจะกำลังมาถึงครั้งใหม่นี้ ผมคงต้องขออภัยด้วย ถ้าเนื้อหาในคอลัมน์คลื่นบูรพาคราวที่แล้วจะเป็นเหตุให้บางท่านตื่นตกใจไป ผมเพียงทำหน้าที่หาเรื่องหาราวมานำเสนอเล่าสู่กันฟัง เกิดอะไรขึ้นในประเทศจีน ใครว่าอย่างไร ตัวเลขเป็นอย่างไร ผมก็เล่าไปตามนั้น ไม่ได้มีฉันทาคติหรืออคติใดๆทั้งสิ้น อีกประการสำคัญก็คือ ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรทางด้านเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย สัปดาห์นี้เลยจะขอเลี่ยงเรื่องราวที่แสลงใจ ชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมแทน
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆอยู่ชิ้นหนึ่งปรากฏอยู่ในวารสารคอมพิวเตอร์ชื่อดังของจีน ว่าด้วยการบังคับใช้ระเบียบฉบับใหม่ของจีน ซึ่งมีผลทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในประเทศจีนต้องบวกภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไปอีกประมาณชิ้นละ7-15หยวน มากน้อยแล้วแต่ว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ หรืออื่นๆ ที่จริงระเบียบใหม่นี้ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมแล้ว แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศจีนยังไม่ค่อยได้รับรู้อะไรกันมากนัก กว่าจะรู้ก็คงอีกสักระยะเมื่อถึงคราวจะต้องหาซื้อทีวีหรือคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่นั่นแหละ มาตรการออกระเบียบใหม่เที่ยวนี้ นัยว่าเป็นการเดินหน้าเอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ประเทศจีนถูกกล่าวขานจากทั่วโลกว่ามีอัตราการเพิ่มของมลพิษสิ่งแวดล้อมที่มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เงินที่เก็บเป็นภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ รัฐบาลจีนจะนำไปใช้สนับสนุนส่งเสริมให้กับบรรดาโรงงานกำจัดขยะทั้งหลาย(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชน) ให้สามารถทำการคัดแยกและกำจัดขยะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เมื่อรวมเข้ากับกองทุนสิ่งแวดล้อมเดิมที่มีอยู่แล้ว เอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะมีเงินทุนใช้ในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยระหว่าง35-85หยวนต่อหนึ่งเครื่อง ในเวลาเดียวกันก็จะมีเงินอีกก้อนหนึ่งสำหรับตอบแทนแก่ผู้บริโภคที่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามาส่งให้โรงงานกำจัดขยะ แทนที่จะขายต่อในราคาถูกให้กับคนรับซื้อของเก่าที่เอาไปถอดชิ้นส่วนขายอย่างไม่ถูกต้องและก่อให้เกิดมลพิษ
กว่าสิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้กลายเป็นศูนย์กลางรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าสารพัดชนิดถูกขนส่งทางเรือจากทั่วโลกมายังจีน เพื่อที่จะแยกชิ้นส่วนเพื่อนำเอา ทองแดง เหล็ก พลาสติก และโลหะสำคัญอีกหลายชนิดกลับมาใช้งานใหม่ บวกเข้ากับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมและแบบแผนการบริโภคของจีนสมัยใหม่ ทำให้จีนมีปัญหาด้านมลพิษเพิ่มมากขึ้นจนรัฐบาลเริ่มวิตกกังวล เฉพาะในวงการคัดแยกขยะซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานคัดแยกของเอกชน รัฐบาลท้องถิ่นยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือวางมาตรฐานการคัดแยกและกำจัดขยะพิษได้ ตัวอย่างเช่นการคัดแยกสายทองแดงในเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธง่ายๆคือการเผาเพื่อเอาทองแดงออกจากเปลือกหุ้มพลาสติก โดยไม่ได้คำนึงถึงมลพิษจากการเผาไหม้และสารเคมีหรือโลหะพิษอื่นๆที่ถูกเผาไฟในคราวเดียวกัน
ตัวอย่างปัญหาขยะพิษที่คนจีนด้วยกันเองมักกล่าวถึง ได้แก่ตำบลเล็กๆแห่งหนึ่งนอกเมืองกวางโจว ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีโรงคัดแยกขยะระดับครัวเรือนกระจุกกันอยู่กว่า5,000แห่ง ประชากรกว่า200,000ในตำบลและหมู่บ้านใกล้เคียง เกี่ยวข้องโดยตรงทางใดทางหนึ่งกับอุตสาหกรรมการคัดแยกขยะเหล่านี้ เชื่อกันว่าในจำนวนขยะอีเล็กทรอนิเกือบ5ล้านตันต่อปี(2.3ล้านตันภายในประเทศ กับอีกไม่น้อยกว่า3ล้านตันที่นำเข้า)กว่าครึ่งถูกนำมาคัดแยกในมณฑลกวางตงและส่งกลับไปใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมต่างๆของจีน จากผลการสำรวจคุณภาพชีวิตประชากรจีนที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว ดูจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหลักห้ารายการสำคัญ(หรือที่เรียกกันเล่นๆในการตลาดของจีนว่า5ลูกพี่ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้า) ครัวเรือนจีนมีทีวีรวมทั้งประเทศ520ล้านเครื่อง มีตู้เย็นใช้ประมาณ300ล้านเครื่อง มีเครื่องซักผ้าอยู่อีกประมาณ320ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศอีก330ล้านเครื่อง และมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอยู่300ล้านชุด ในแต่ละปีมีเครื่องใช้ไฟฟ้าบิ๊กไฟล์เหล่านี้ถูกโยนทิ้งข้างถนนหรือขายให้กับพวกเก็บของเก่าหลายสิบล้านชิ้น ทั้งนี้ยังไม่รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกมหาศาลจากอุปกรณ์พกพาเช่นกล้องถ่ายรูปดิจิตอลและโทรศัพท์มือถือ ที่มีอายุใช้งานสั้นกว่าเพราะแฟชั่นมันเปลี่ยนเร็วก็เลยถูกโยนทิ้งเร็วตามไปด้วย ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้รณรงค์ขยายกำลังการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัว สถานการณ์สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ดูจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่เพียงในหัวเมืองขนาดใหญ่เท่านั้น ตอนนี้ปัญหาขยะพิษและเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ได้กลายเป็นปัญหาของเกือบทุกภูมิภาคในประเทศจีนไปแล้ว
สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เป็นปัญหาลำพังภายในประเทศของจีน ประเทศที่พัฒนาแล้วในตะวันตกก็มีส่วนต้องร่วมรับผิดชอบไม่แพ้กัน ด้วยนโยบายและมาตรการที่เข้มงวด รัฐบาลในประเทศแถบตะวันตกบังคับให้ภาคอุตสาหกรรม มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในการกำจัดซากขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ตนผลิตจำหน่าย ทว่าอุตสาหกรรมจำนวนมากเลือกที่จะส่งออกขยะเหล่านี้ไปยังประเทศจีนและอินเดีย เพราะมีต้นทุนถูกกว่าที่จะทำการกำจัดเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เข้มงวดภายในประเทศของตัว ฉนั้นปัญหาทั้งหลายทางมลพิษที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจีน รวมทั้งคุณภาพชีวิตและความเสี่ยงภัยที่แรงงานจีนเผชิญอยู่ ฝรั่งทั้งหลายจึงถือว่าต้องร่วมรับผิดชอบด้วยไม่มากก็น้อย ไม่ใช่จะมายืนชี้นิ้ววิพากษ์วิจารณ์จีนอยู่ฝ่ายเดียว
ในบ้านเราเอง ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักก็คงคุ้นเคยกับภาพคนเก็บของเก่าสุมไฟเผาขดสายไฟเพื่อเอาทองแดง หรือหลายท่านคงยังจำข่าวเหตุการณ์ซาเล็งแงะเครื่องเอ็กซเรย์เก่าจนโดนสารกัมมันตรังสีเจ็บป่วยไปเมื่อหลายปีก่อน หลายท่านอาจกำลังสงสัยแบบเดียวกับผมว่าบรรดาโทนศัพท์มือถือเก่าตกรุ่น ทีวีจอแก้วใหญ่ๆหนาๆที่ทิ้งแล้ว คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ตอนนี้ไปกองรวมกันอยู่ที่ไหน ได้มีการกำจัดอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่อย่างไร หรือรอเวลาปะทุเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ตัวเลขที่แท้จริงของเศรษฐกิจจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สัปดาห์ที่ผ่านมา หากท่านผู้อ่านที่รักได้ติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจของบ้านเมือง คงเห็นพ้องกับผมว่า วลีดังที่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาว์น เห็นจะไม่มีอะไรดังไปกว่า “ไว้ท์ลาย” หรือที่แปลตรงตัวว่า “โกหกสีขาว” ซึ่งแน่นอนว่าต่างจาก ลูกผู้ชาย “ไว้ลาย” อย่างสิ้นเชิง เรื่องราวก็มาจากกรณีที่ท่านรองนายกฯกิติรัตน์ ไปแสดงปาฐกถายอมรับเอาดื้อๆกลางที่ประชุมว่าที่ผ่านมาจำเป็นต้องโกหกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกน่าจะอยู่ที่ร้อยละ15บัดนี้ตัวเลขครึ่งปีออกมาแล้ว ทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้ พร้อมทั้งยอมรับว่าตลอดทั้งปีนี้ตัวเลขส่งออกคงเพิ่มไม่เกินร้อยละ9รายละเอียดจะเป็นอย่างไรและจะนำไปสู่วาทะทางการเมืองยังไง เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงได้รับทราบกันแล้ว ประเด็นที่ว่าผู้นำรัฐบาลที่ดูแลเศรษฐกิจของประเทศควรจะต้องพูดความจริงทั้งหมดตลอดเวลา หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องออกมาโกหกหรือพูดความจริงไม่หมดเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ คงเป็นเรื่องที่ต้องถกแถลงกันอีกยาว
ที่ผมนำเรื่องในประเทศไทยขึ้นจั่วหัวก่อน ก็เพราะประเด็นเรื่องโกหกตัวเลขทางเศรษฐกิจนี้ กำลังเป็นข่าวดังอยู่เช่นกันในประเทศจีน จะว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติการเงินตะวันตกที่เริ่มในปี2008ก็ว่าได้ ที่การส่งออกของจีนในช่วงครึ่งปีแรกตกต่ำขนานใหญ่ จนใครต่อใครพากันวิตกว่าการจะหวังพึ่งให้ประเทศจีนเป็นตัวจักรขับเคลื่อนชักนำเศรษฐกิจโลกแทนอเมริกาและยุโรปนั้น ยังจะสามารถหวังกันได้หรือไม่ หนักไปกว่านั้น บรรดาสื่อสายเศรษฐกิจและนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกต่างก็พากันเพ่งเล็งว่า ดีไม่ดีที่ผ่านมา3-4ปี จีนแต่งตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาตลอด เข้าข่ายเป็นการโกหกเพื่อไม่ให้นักลงทุนฝรั่งและนักธุรกิจจีนตกใจ อันจะนำไปสู่ความโกลาหลในประเทศมากกว่าผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวเสียอีก แต่ที่แน่ๆตอนนี้ ทราบว่าเกิดกระแสแห่ถอนการลงทุนออกจากประเทศจีนกันยกใหญ่แล้ว เราคงจะได้เห็นมูลค่าของเงินหยวนอย่างที่ควรจะเป็นในเวลาไม่ช้าไม่นานนับจากนี้ บวกกับข่าวที่ออกมาจากปากเจ้าสัวใหญ่ของไทย ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในเวทีใหญ่เมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าให้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับการถดถอยทางเศรษฐกิจในปีหน้าให้จงดี ชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆฟังแบบนี้เข้า ก็ต้องใจฝ่อเป็นธรรมดา หรือว่าเศรษฐกิจจีนในปีหน้าจะถึงคราว “เผาจริง” แล้ว หลังจากที่ปั่นตัวเลขหลอกๆมาหลายปี
ผมเองต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้รู้เรื่องเศรษฐกิจอะไรลึกซึ้ง แต่ก็เดาเอาว่าวิธีหนึ่งที่อาจหาคำตอบได้ ก็คือต้องไปดูตัวเลขส่งออกของจีนว่าเป็นอย่างไรแน่ และเพื่อไม่ให้เจอข้อหาว่าโดนหลอก คราวนี้เลยจะขอนำข้อมูลอย่างกลางๆ ไม่ใช่ทั้งของจีนเองและไม่ใช่ของฝรั่งแท้ๆ ตัวเลขที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นกลางมาจากผลการศึกษาของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารฮ่องกงแอนด์เซี้ยงไฮ้ในเกาะฮ่องกง ที่ติดตามดูภาวะการส่งออกของสินค้าจีน ข้อมูลเดือนสิงหาคมที่กำลังจะหมดเดือนอยู่นี้ ชี้ว่าตัวเลขการส่งออกของจีนแย่กว่าข้อมูลของทางการจีนในแผ่นดินใหญ่ ดัชนีส่งออกเฉลี่ยอุตสาหกรรมหลักของจีนทุกตัวตกต่ำลงไปหมด ความเชื่อมั่นและกำลังการผลิตของนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆก็ตกลงไปด้วย กล่าวคือ ตัวเลขเกือบทุกชุดอยู่ต่ำกว่าร้อยละ50 ในภาพรวมนับแต่ต้นปี แม้การส่งออกในบางกลุ่มอุตสาหกรรมยังสามารถขยายเพิ่ม แต่ก็เพิ่มเพียงแค่ร้อยละ0.5-1ต่อเดือน อันเป็นตัวเลขที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนไม่เคยเห็นมาก่อน และแน่นอนว่าไม่เคยปรากฏในรายงานสภาวะเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน นอกจากตลาดส่งออกเดิมจะแย่ ตลาดใหม่ที่จีนเคยเจาะเพิ่มได้สม่ำเสมอทุกปีในแอฟริกาและเอเชียกลาง มาปีนี้ก็ปรากฏว่าไม่มีความคึกคักเท่าที่ควร กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมหลายกลุ่มตอนนี้เดินเครื่องกันแค่ร้อยละ60ของกำลังการผลิตเต็ม ผลกำไรจากการส่งออกต่อหน่วยก็ต่ำกว่ามาตรฐานในการประกอบธุรกิจ กล่าวคือ ซังกะตายผลิตออกไป ทั้งๆที่ขายแล้วเกือบไม่ได้กำไร แต่ก็ยังดีกว่าปิดโรงงานหนี เพราะผู้ผลิตจีนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า จำเป็นต้องรักษาสายพานการผลิตให้เดินเครื่องต่อไปเพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ(เมื่อไรก็ยังไม่รู้) และป้องกันไม่ให้สูญเสียตลาดแก่ผู้ผลิตรายอื่น ตัวเลขอีกชุดที่น่าสนใจก็คือ มูลค่ายอดการนำเข้าวัตถุดิบครึ่งปีแรก ตกต่ำอย่างชัดเจน เห็นได้จากราคายาง ราคาสินแร่เหล็กและทองแดงเป็นต้น กรณีหลังลดลงจนทำให้เหมืองแร่เหล็กในออสเตรเลียที่เคยรุ่งเรืองเพราะอุตสาหกรรมในจีนขยายตัว ตอนนี้ต้องหันกลับมาทบทวนและยุติแผนการลงทุนขยายการขุดสำรวจและถลุงแร่ไปชั่วคราว ตัวเลขชุดสุดท้ายที่หามาได้ก็น่าตกใจไม่แพ้กัน ที่ศูนย์กลางส่งออกสินค้านอกเมืองกวางเจา ซึ่งถือกันว่าเป็นแหล่งรวมสำคัญและใหญ่ที่สุดของสินค้าส่งออกจากทั่วสารทิศในประเทศจีน ปรากฏว่าตอนนี้มีสินค้าตกค้างไม่สามารถส่งออกจำนวนมหาศาล จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ทำงาน สินค้าจำนวนมากเจ้าของไม่สามารถรับภาระค่าเช่าคลังเก็บ ต้องยอมให้ยึดขายใช้หนี้แทนค่าเช่า แต่ก็ปรากฏว่าไม่สามารถหาคนมาเหมาซื้อได้ ถูกนำออกมากองทิ้งตากแดดตากฝนอยู่นอกอาคารคลังเก็บ หรือไม่ก็กองเป็นภูเขาลูกย่อมๆอยู่ตามร้านค้าในชานเมืองใกล้เคียง กิจกรรมที่ท่าเทียบเรือสินค้าส่งออกของกวางเจา ปีนี้ก็ไม่คับคั่งอย่างที่เคยเป็น ทั้งขาออกและขาเข้า
ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายปีที่ผ่านมาของจีน(รวมทั้งที่ผมเคยนำมารายงานในคอลัมน์นี้) จึงกลายมาเป็นประเด็นชวนสงสัยว่าตกลงเราโดนจีนหลอกมาตลอด หรือว่าตัวเลขเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง แต่เกิดขึ้นจากแรงอัดฉีดอย่างเต็มกำลังของรัฐบาลกลางเพื่อหวังกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเดินหน้า ทว่ามาบัดนี้แรงอัดฉีดไปต่อไม่ไหวแล้ว การกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศของจีนก็มาถึงทางตันดันต่อไม่ได้ ตัวเลขจริงและสถานการณ์อย่างที่เป็นจริง จึงได้เผยร่างออกมาให้เห็น ไม่ว่าเศรษฐกิจจีนจะ “เผาหลอก” หรือ “เผาจริง”ในปีหน้า อย่างหนึ่งที่แน่ๆคือ เดือดร้อนกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้าแน่ทั้งตะวันออก ทั้งตะวันตก