ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

อภิชาตบุตร

รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



ในท่ามกลางข่าวใหญ่ข่าวดังของประเทศจีน ตลอดช่วงกว่าสัปดาห์มานี้ เห็นท่าคงไม่พ้นเรื่องการประชุมสองสภาฯของจีน และการเปลี่ยนถ่ายอำนาจสู่ผู้นำใหม่รุ่นที่ห้าอย่างเต็มรูปแบบ จับจองหน้าสื่อทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสารครบหมดทุกประเภท ท่านผู้อ่านที่รักซึ่งได้ติดตามข่าวสารต่างประเทศ ผมเข้าใจว่าคงเบื่อข่าวนี้เต็มทีแล้ว ผมเองก็เบื่อเช่นกันครับ เพราะเล่าไปสองรอบแล้วเป็นอย่างน้อย สัปดาห์นี้เลยต้องเสาะหาข่าวจากสื่อกระแสรองมานำเสนอแทนครับ ที่จั่วหัวคอลัมน์ไว้ข้างต้นนั้น เรียนว่าเป็นอารมณ์ประชดส่อเสียดตามแบบฉบับชาวเน็ตในประเทศจีน ผมก็พยายามถ่ายทอดบรรยากาศให้ได้ใกล้เคียง ฉะนั้นที่กำลังจะเล่าสู่กันต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องความทุกข์ความเดือดร้อนของพ่อแม่ชาวจีนหลายคู่ในเวลานี้ อันมีเหตุมาจากพฤติการณ์ของลูกๆ ในด้านหนึ่งก็อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาเกิดขึ้นทุกที่ในโลกนี้ แต่เพราะอำนาจ ตำแหน่ง ชื่อเสียงของพ่อแม่ ข่าวความฉาวโฉ่ของบรรดาลูกหลานคนใหญ่คนโต ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักสาหัสกว่าลูกชาวบ้านทั่วไป ยิ่งในเวลาที่พ่อหรือแม่กำลังนั่งประชุมกันอยู่ในสภาใดสภาหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ก็เลยยิ่ง งานเข้า

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงเดือนก่อน จะโดยบังเอิญหรือเป็นเรื่องปรกติประจำอยู่แล้วก็ไม่ทราบ ดูจะปรากฏข่าวเกี่ยวกับพฤติการณ์ออกไปในทางเสียหาย ของบรรดาลูกหลานคนใหญ่คนโตในประเทศจีนมากมายหลายกรณี ทุกครั้งพอเกิดเหตุ แม้สื่อกระแสหลักอาจไม่ได้รายงานข่าวกันมากอย่างที่ควรจะเป็น แต่ในโลกอินเตอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์จีน เรื่องแบบนี้จะกระจายได้รวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง นอกจากจะด่าทอว่ากล่าวกันอย่างรุนแรงแล้ว ก็มักวนกลับไปรื้อฟื้นเทียบเคียงกับข่าวฉาวอื่นๆก่อนหน้าด้วยเสมอๆ ในช่วงเวลานี้ก็เช่นกัน มีข่าวเกี่ยวกับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย16ปีของนายทหารใหญ่จีนท่านหนึ่ง ที่ได้ดีเพราะเป็นนักร้องปลุกใจชาตินิยมของพรรคฯที่โด่งดังมาก เชื่อกันว่าลูกชายคนดังกล่าวกับพวกอีก5คน ทุบตีทำร้ายร่างการผู้อื่นจนบาดเจ็บสาหัส ถูกตำรวจจับไปเพียงแค่15นาทีก็ได้รับการปล่อยตัว โดยชาวเน็ตของจีนมองว่าเรื่องนี้ต้องมีอิทธิพลของพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน นอกจากวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่โตแล้ว ใครมีข้อมูลอะไร ต่างก็ขุดคุ้ยเอามาแชร์กันในโซเชียลมีเดียจีน เดือดร้อนจนแม้หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐคือ หนังสือพิมพ์เหรินหมิน อยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกมาเสนอข่าวย้อนหลังในโทนเสียงแบบกลางๆ

หากจะวิเคราะห์กันให้จริงจังแล้ว ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักก็คงพอจินตนาการได้ ว่าแท้จริงแล้วชาวเน็ตของจีนอาจไม่ได้ชิงชังกับเด็กลูกเศรษฐีหรือคนใหญ่คนโตคนใดเป็นการเฉพาะตัว แต่ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้สะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก นั่นคือความแตกต่างทางชนชั้นและความไม่เท่าเทียมทางสังคม ที่นับวันจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ ในรุ่นพ่อแม่ที่ใช้ความได้เปรียบในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ใส่ตัว มักจะไม่แสดงออกหรืออวดมั่งมีอวดเบ่งให้ปรากฏมากนัก แต่ภาพความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมมาปรากฏชัดเจนต่อสายตาสาธารณชนมากยิ่งขึ้น ก็ในยุครุ่นลูกหรือบรรดาอภิชาตบุตรทั้งหลาย ผ่านรสนิยมและวิถีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้ออวดเบ่ง ฟังดูเหมือนลูกหลานคนใหญ่คนโตในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไม่ผิดเพี้ยน

ในศัพท์แสงของชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป บรรดาอภิชาตบุตรกลุ่มนี้ มีคำเรียกขานในวงการซุบซิบนินทาที่จำแนกแยกแยะประเภทอยู่หลายคำเช่น ฟู้เอ้อร์ไต่(รวยรุ่นที่สอง) กวนเอ้อร์ไต่(ลูกหลานข้าราชการระดับสูง) ซิงเอ้อร์ไต่(ลูกหลานเซเลบริตี้) หงเอ้อร์ไต่(ลูกหลานผู้ใหญ่ในพรรคฯ) เคิงเตีย(ลูกล้างผลาญชื่อเสียงพ่อแม่) แต่ละคำก็ให้อารมณ์และอคติหนักเบาที่แตกต่างกัน จะถูกวิจารณ์มากหรือน้อย ก็ต้องประกอบเข้ากับพฤติการณ์เจ้าตัว ว่าสร้างความเดือดร้อนหรือความน่าหมั่นไส้แก่สาธารณชนมากหรือน้อยแค่ไหน หลายคนเป็นลูกหลานผู้ใหญ่ในพรรค แต่ทำตัวรวยแบบเงียบๆ แม้มีคนทราบเบื้องหลังแต่ก็ไม่ถูกโจมตีมากนัก ผิดกับบางคนที่พ่อแม่ทำมาหากินเหนื่อยยากด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ แต่ลูกหลานใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ อวดร่ำอวดรวย ควงดาราสาวเป็นพวง แบบนี้ก็อาจโดนหนัก ทั้งที่พ่อแม่เป็นคนดีทำมาหากิน

           กรณีที่กำลังตกเป็นขี้ปากถูกรุมบริภาษอยู่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียของจีนนอกจากนาย หลี่ เทียนอี้ บุตรชายวัย16ของนายทหารนักร้องดัง หลี่ ซวงเจี่ยง ที่ร่วมกับพวกไปทำร้ายร่างการกลุ่มวัยรุ่น ก็ยังมีนาย หลี่ ฉีหมิน บุตรชายวัย22ปีของนายหลี่ กัง รองผู้บังคับการตำรวจเขตเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย ที่เมาสุราขับรถชนนักศึกษาสาวตายหนึ่งบาดเจ็บสาหัสอีกหนึ่งเมื่อปลายปี2010 พอตำรวจจราจรเข้าไปจับ คนขับรถก็ร้องตะโกนว่า “พ่อข้าคือ หลี่กัง” ตำรวจเลยต้องถอยไปตั้งหลักอยู่นานกว่าจะตัดสินใจดำเนินคดีในเวลาต่อมาเพราะทนเสียงวิจารณ์ของสังคมไม่ได้ แม้ภายหลังทั้งพ่อลูกจะออกมาขอโทษผ่านสื่อทีวี แต่วลี “พ่อข้าคือ หลี่กัง” ก็ได้กลายเป็นวลีฮิตติดปากชาวบ้านทั้งในและนอกมณฑลเหอเป่ยไปเรียบร้อย อีกทั้งยังมีมือดีใจกล้าทำอนุสรณ์รถชนคนตายติดป้าย “พ่อข้าคือ หลี่ กัง”ให้อีกต่างหาก อีกรายที่ดังเป็นข่าวนินทาในเว็บฯพอๆกัน คือสาวทอมสุดหล่อ จาง เจียเล่อบุตรีนักธุรกิจพันล้านด้านประกันภัยและเครื่องใช้ไฟฟ้า เสียงวิจารณ์หลักๆสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อสุดหรู มีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวใช้ตั้งแต่อายุ15ปี ด้วยความที่เป็นลูกคนเดียวและเป็นทายาทสืบทอดธุรกิจหลายพันล้านหยวน มีสาวๆแวดล้อมคราวละเกือบสิบคนในทุกงานสังคม

ในขณะที่ประเทศจีนกำลังเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนอำนาจในระดับบน ชาวบ้านที่ดิ้นรนต่อสู่หาเลี้ยงชีพกำลังขมขื่นกับความอยุติธรรมและช่องว่างทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ที่นับวันจะยิ่งขยายถ่างมากขึ้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียของจีนอาจเป็นเพียงยอดบนของภูเขาน้ำแข็ง ซุกซ่อนความชิงชังและคลั่งแค้นอยู่ภายใต้ ความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อระบบ ต่อผู้นำ ต่อพรรคฯ และต่อรัฐบาล ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนส่วนสำคัญอาจเป็นด้วยฝีมือของบรรดาอภิชาตบุตรชนชั้นสูงเหล่านี้ ดูไปดูมาสังคมจีนชักจะคล้ายบ้านเรามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  เพราะดูเหมือนในเฟสบุ๊คบ้านเรา ก็มีเสียงวิจารณ์ทำนองนี้มากอยู่เช่นกัน

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจีน?

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จนบัดนี้ ต้องเรียนท่านผู้อ่านที่รักว่า หน้าสื่อต่างๆของจีน ยังไม่ได้กลับเข้าสู่โหมดปรกติเท่าใดนัก ควันหลงเทศกาลตรุษจีนยังคงยึดครองหน้าสื่อหลักๆอยู่โดยถ้วนทั่ว ปีนี้ผมมีข้อสังเกตว่าอารมย์เฉลิมฉลองเทศกาลดูจะยาวมากเป็นพิเศษ พลอยทำให้ข่าวสารอื่นๆดูลดน้อยไปกว่าที่ควรจะเป็น อันนี้ก็บ่นในฐานะที่ต้องติดตามแสวงหาเรื่องราวมานำเสนอ แต่หากหันไปดูสื่อตะวันตกในช่วงนี้ กลับพบว่ามีข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ที่ดังมากเป็นพิเศษปรากฏอยู่ในสำนักข่าวหลายแห่งของชาติตะวันตก คงหนีไม่พ้นรายงานการศึกษความเป็นไปได้ของข้อหาที่ว่า รัฐบาลจีนอาจอยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้มีการแฮกข้อมูลผ่านเครือข่าย ล้วงเอาความลับของบริษัทเอกชนตะวันตกจำนวนนับร้อยราย เชื่อว่าข่าวนี้คงกลายเป็นประเด็นวิวาทะกันได้อีกยาว อย่างไรก็ดี เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งนั้น ไม่เกี่ยวกับแฮกเกอร์จีน แต่เป็นเรื่องรายงานการศึกษาของนักวิชาการจากธนาคารโลก เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน หากจริงก็จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก จะขอนำมาเสนอเป็นประเด็นในสัปดาห์นี้ครับ

รายงานการศึกษาที่ว่านี้ เป็นของนาย Ejaz Ghani นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก ว่าที่จริงเปิดเผยออกมาตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมกราคมแล้ว แต่เพิ่งจะมาเป็นข่าวพูดถึงกันมากในสื่อหลักๆของตะวันตก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง งานศึกษาชิ้นดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบแนวโน้มพัฒนาการทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอินเดีย แต่ที่ผมสนใจนั้นจะเป็นส่วนการวิเคราะห์ของนาย Ejaz Ghani เกี่ยวกับข้อมูลตัวเลขที่ชี้ว่า กำลังมีแนวโน้มการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน จากประเทศอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นประเทศหลังอุตสาหกรรม ที่เรียกกันว่าประเทศหลังอุตสาหกรรมนั้น หมายความว่า สัดส่วนมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวม ต้องมาจากภาคบริการหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์รูปแบบอื่นๆ

เราทราบกันดีว่าในปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้น อาศัยพลังมหาศาลจากภาคการผลิตอุตสาหกรรม การก่อสร้าง เหมืองแร่ฯลฯ รวมกว่าร้อยละ47ของGDPจีน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ในปี2012กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้น มีมูลค่าเพียงร้อยละ20ของGDPเท่านั้น ที่เหลือมาจากภาคอื่นๆโดยมีธุรกิจบริการเป็นตัวชูโรง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในยุโรป อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของ Ejaz Ghani ในปี2012ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนที่มาจากภาคบริการ ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจมาเป็นร้อยละ45.3ของ GDP ตัวเลขห่างจากร้อยละ47ในภาคอุตสาหกรรมไม่มาก แน่นอนว่าภาคบริการของจีนยังคงเทียบไม่ได้กับประเทศหลังอุตสาหกรรมอื่นๆในตะวันตก แต่ก็ต้องถือว่าเป็น สัญญาณปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสัดส่วนGDPข้างต้นนี้ อาจมองได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการปรับตัวครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมจีน ภายหลังที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในตะวันตก มูลค่าการส่งออกที่ลดลงของจีน ทำให้ต้องดิ้นรนปรับเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นและสร้างการบริโภคภายในรูปแบบใหม่ๆมาทดแทน และอาจเป็นที่มาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น เพราะภาคบริการเป็นช่องทางที่ได้ผลดีและเร็วในการดูดซับแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องลดปริมาณการผลิตและเลิกจ้างคนงาน ว่าที่จริงแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล ที่อยากเห็นประเทศจีนปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และธุรกิจภาคบริการเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจีนได้กำหนดวิสัยทัศน์ในทำนองนี้มาตั้งแต่ในคราวยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่10(2001-2005) และก็ยังคงปรากฏเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่11และ12ของจีน

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยไปเสียทั้งหมด ปัญหาประการหนึ่งที่นักวิชาการสายจีนส่วนใหญ่ยังไม่สู่แน่ใจเกี่ยวกับรายงานและบทวิเคราะห์ของ Ghani ทำนองฟังหูไว้หู อาจเพราะยังติดใจกับประเด็นเรื่องตัวเลขที่ Ghani รวบรวมมาจากสถิติของทางการจีน การแจงนับว่าอะไรเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และบริการ ตามนิยามที่ใช้กันอยู่ในประเทศจีนนั้น อาจไม่ได้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนิยามของสากลทั่วไป ตัวอย่างเช่นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตรบางชนิด จะนับว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้หรือไม่ หรือปัญหาว่าควรแยกผลงานสร้างสรรค์นวนิยายออกจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ จะคิดสัดส่วนอย่างไร รายได้ในอุตสาหกรรมโฆษณา ควรถือเป็นเอกเทศ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่นับเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรม ในกรณีของจีน ดูเหมือนมีความพยายามที่จะนิยามและแจงนับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน คาบลูกคาบดอกทั้งหมดว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทำนองเดียวกับการนับธุรกิจร้านขายใบชาที่ให้บริการชงชาพร้อมดืม(ต่างจากโรงน้ำชาแบบโบราณของจีน) หรือร้านยาสมุนไพรจีนที่ให้บริการวินิจฉัยโรคก่อนจัดยาชุดให้ ว่าเป็นธุรกิจภาคบริการ

ไม่ว่าสัดส่วนที่แท้จริงของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และภาคบริการของจีน จะเป็นตัวเลขร้อยละเท่าใดของGDPก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจและเชื่อได้ก็คือ จีนมุ่งหน้ามาทางนี้แน่ๆ และในเวลาเดียวกัน จีนก็จะพยายามผลักดันฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่ก่อมลพิษออกนอกประเทศ เพื่อเป็นการปรับสมดุลย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ทางด่วนสู่มหาสมุทรอินเดีย

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของเมื่อปลายปีที่แล้ว เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักคงยังพอจำกันได้ ข่าวเรื่องรัฐบาลพม่าจับตัวจ้าวหน่อคำ ซึ่งว่ากันว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารลูกเรือชาวจีนในลำน้ำโขง13ศพ (ขัดแย้งเรื่องยาเสพติด?) มาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศาลพม่ามีคำสั่งตัดสินโทษประหารไปเรียบร้อย นับตั้งแต่นั้นมากองทัพพม่าก็ต่อยอดยุทธการรุกไล่กดดันกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (KIA)ในรัฐฉาน ยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้ หน่วยงานความมั่นคงของชาติตะวันตกส่วนใหญ่ วิเคราะห์กันว่าจีนน่าจะมีส่วนอยู่ในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย เพราะหากจะว่ากันไปแล้ว ตลอดแนวพรมแดนป่าเขาต่อเนื่องระหว่างจีนกับพม่ากว่า2,400กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการออกสู่ทะเลของจีน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของมณฑลตะวันตกของจีน โดยเฉพาะยูนนานและเสฉวน ที่ผ่านมาจีนมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับภูมิภาคแถบนี้ หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อเปิดเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจีนนั้นเอง ทว่าดูเหมือนกองกำลัง KIA อาจเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังดื้อและมีเรี่ยวแรงพอจะต้านทานการกวาดล้างของทหารพม่า

มาเวลานี้ การต่อสู่บริเวณป่าเขาชายแดนระหว่างพม่า-ยูนนาน-ลาว ดูจะดุเดือดหนักยิ่งกว่าครั้งใดๆ การระดมอาวุธหนักของรัฐบาลพม่าเข้าสู่พื้นที่ ทำให้จุดปะทะของทั้งสองฝ่ายกระจายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางกว่าทุกครั้ง เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทางการพม่าได้ส่งปืนใหญ่และเครื่องบินติดอาวุธหนักเข้าโจมตีที่มั่นของฝ่ายคะฉินพร้อมๆกันถึง5จุด ส่งผลให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนของฝ่ายคะฉิ่นและชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงจากพื้นที่รอยต่อชายแดน เข้าไปในพื้นที่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานหลายพันคน กลายเป็นว่าตอนนี้รัฐบาลจีนเองเริ่มเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและภาระปัญหาผู้อพยพข้ามชายแดน จะต้องตามมาในเวลาไม่ช้านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิเคราะห์ฝ่ายจีนส่วนใหญ่มองว่าพัฒนาการกวาดล้างกลุ่มอิทธิพลชายแดนเหล่านี้ อาจส่งผลดีในระยะยาว กล่าวคือสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับชายแดนและส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-พม่า เชื่อมต่อยุทธศาสตร์ทางด่วนสู่มหาสมุทรอินเดียของจีน ทว่าในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยาไม่น้อย อาจไม่ได้มองโลกในแง่ดีอย่างกลุ่มแรกก็เป็นได้

ในปีค.ศ.2009 นักวิชาการ James C. Scott (ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาจาก Yale เจ้าของผลงานขั้นเทพเช่น The Moral Economy of the Peasant และ Weapons of the Weak)ได้นำเสนอในหนังสือชื่อ The Art of Not Being Governed (หรือศิลปะแห่งการไม่ถูกปกครอง) ว่าพื้นที่รอยต่อยาวเหยียดจากดินแดนธิเบต ต่อเนื่องข้าม6ประเทศ จนถึงดินแดนที่ราบสูงตอนเหนือของเวียตนาม(Scott เรียกชื่อสมมุติว่าดินแดน “Zomia”) เป็นพื้นที่พิเศษ เป็นดินแดนที่ผู้คนต่างชนเผ่ามากมาย เคลื่อนย้ายข้ามไปมาในท่ามกลางป่าเขาและที่ราบสลับซับซ้อน ใช้ชีวิตแบบอิสระรอดพ้นจากการยืดครองหรือถูกผนวกรวมกับมหาอำนาจในภูมิภาค ตลอดช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งพันปี โดยเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ไข้ป่าและโรคภัยเขตป่าชื้น และความหลากหลายของชนเผ่าที่ยากต่อการเข้ายึดครองครอบงำอย่างถาวร มหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีน พม่า และเวียตนาม หรือแม้มหาอำนาจโลกอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม ต่างได้เคยพยายามและล้มเหลวกันมาแล้ว(จีนในสมัยราชวงศ์หยวนของมองโกล และสมัยราชวงศ์ชิง ต่างก็เคยส่งกองทัพหลวงเข้าปราบปราม แต่แพ้กลับมาทั้งคู่) การยึดโยงและต่อรองเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ที่พิเศษกว่าชนกลุ่มน้อยในดินแดนอื่นๆ เป็นเสมือนเครื่องมือพิเศษที่ทำให้ผู้คนในแถบนี้ ยืนหยัดอยู่ได้ระหว่างตะเข็บรอยต่อของรัฐชาติและมหาอำนาจต่างๆ แม้ในบางห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่19-20 กลุ่มคนเหล่านี้อาจดูเหมือนถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีน พม่า หรือเวียตนาม แต่ในทางปฏิบัติ เอาเข้าจริงก็เป็นการผนวกรวมแต่เพียงในนาม อำนาจในการเข้าปกครองบังคับดูแลไม่ได้เกิดขึ้นจริงแม้แต่น้อย ยังคงเป็นการปกครองตนเองของแต่ละเผ่าชนอย่างอิสระ กิจกรรมทำเหมืองเถื่อน ลักลอบเลี่ยงภาษีจากรัฐบาลกลาง กองโจรปล้นขบวนสินค้า ยาเสพติด สงครามระหว่างชนเผาฯลฯ ยังคงดำเนินไปตามปรกติอย่างที่เป็นมานับพันปี

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงอาจเป็นบทพิสูจน์ ว่ากรอบความคิดและคำอธิบายแบบของ อาจารย์ Scott จะสามารถต้านกระแสการพัฒนาสมัยใหม่ที่ทุนและอำนาจจากจีน กระหน่ำเข้าใส่พื้นที่แถบนี้ได้นานเพียงใด ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิชาการมองว่า รัฐบาลจีนและพม่าคิดดีแล้วหรือที่จะมาทุมเททรัพยากรกับสงครามที่ไม่มีทางชนะ หนักกว่านั้น อาจเป็นการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในระดับที่สาหัสกว่าเดิม ทั้งในดินแดนพม่า และในดินแดนประเทศจีนเอง เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ความพยายามของรัฐบาลจีนและพม่า ในการสถาปนาอำนาจรัฐที่ชัดเจน และเปิดเส้นทางเศรษฐกิจสู่มหาสมุทรอินเดียเทียวนี้ จะลงเอยอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามให้ความสนใจเป็นพิเศษ ผมเองโดยส่วนตัว สังหรณ์ใจยังไงพิกลอยู่ ว่าจะเกิดความวุ่นวายเดือดร้อนตามมาอย่างแน่นอน ส่วนว่าใครบ้างที่ต้องเดือดร้อน ใช่รัฐบาลพม่า รัฐบาลจีน หรือประเทศเพื่อนบ้านแบบเราๆ อันนี้ยังไม่ทราบครับ เอาแค่ตัวอย่างเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงยา ที่ทะเลาะกันระหว่างพม่ากับบังคลาเทศ เพื่อนบ้านแถบนี้ก็อ่วมแล้ว รับเละโดยถ่วนหน้าไปกันหมด

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความตึงเครียดระหว่างจีน-ญี่ปุ่น

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                เปิดรับคอลัมน์สัปดาห์นี้ ขออนุญาตกล่าวทักทายอวยพรท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านในแบบฉบับท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ “ซินเหนียนไคว่เล้อ” สวัสดีมีสุขวันปีใหม่จีนครับ อย่างที่เคยเกริ่นไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าคอลัมน์นี้เล่าเรื่องตรุษจีนและปรากฏการณ์เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลตรุษจีนมาหลายรอบหลายปีแล้ว จะขอเว้นสักปีนะครับ ขอเล่าเรื่องราวที่ผมเห็นว่าน่าตื่นเต้นมากกว่าแทน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆชิ้นหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องสำคัญในพัฒนาการความขัดแย้งทางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่น ทว่าถูกกลบไปด้วยข่าวเทศกาลตรุษจีน จนแทบไม่มีใครสนใจติดตาม ข่าวที่ว่านี้คือเหตุการณ์เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดของกองทัพเรือจีนและญี่ปุ่น นับเป็นเหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่สุดตั้งแต่เริ่มกรณีพิพาททางทะเลรอบใหม่เกี่ยวกับหมู่เกาะ เตี่ยวหยู หรือเซ็นกากุ แล้วแต่ฝ่ายใดจะเรียก

                บ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นได้แถลงว่า ช่วงปลายเดือนมกราคม ในขณะที่เรือพิฆาตของญี่ปุ่นลาดตระเวนอยู่ในน่านน้ำของญี่ปุ่น ประมาณ 100 กิโลเมตร จากหมู่เกาะเจ้าปัญหา ระบบป้องกันภัยของเรือได้ตรวจพบว่าเรือของตนได้ถูกเรือรบฝ่ายจีนที่อยู่ห่างออกไปเล็กน้อย ใช้เรดาห์กำหนดตำแหน่งและตั้งพิกัดการยิงด้วยขีปนาวุธ เรียกว่าเกือบจะเข้าสู่โหมดสงครามกลางทะเล ต่อมาในวันที่6กุมภาพันธ์ ท่านนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ก็แถลงยืนยันในรัฐสภาฯ ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นใหญ่โตมากในแวดวงการทูตทั่วโลก ทางการญี่ปุ่นยังได้ให้ข้อมูลแก่นักการทูตตะวันตกในโตเกียว ว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่19 มกราคม จีนก็เคยใช้เรดาห์จับพิกัดเตรียมยิงเฮลิคอปเตอร์ของญี่ปุ่นที่ลาดตะเวนทางทะเลมาแล้วครั้งหนึ่ง ดีที่ว่าเหตุการณ์ล่าสุดในคราวนี้ รัฐบาลทั้งจีนและญี่ปุ่น ไม่ได้ออกมาตอบโต้ทำสงครามน้ำลายกัน คงจะด้วยเหตุผลไม่อยากให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โต หรืออาจเพราะต่างฝ่ายต่างก็ยังอยู่ในระหว่างสืบสวนเรื่องราวสาเหตุความเป็นมาที่ยังไม่ชัดเจนนัก ว่าตกลงใครยั่วยุใครก่อน ถึงได้เกิดเรื่องเลยเถิดจนขั้นตั้งเป้าเตรียมยิงกันขึ้น (รัฐมนตรีและสส.ฝ่ายญี่ปุ่นหลายท่าน ให้ข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการตัดสินใจโดยพลการของผู้บังคับการเรือฝ่ายจีน มากกว่าที่จะเป็นคำสั่งตรงจากเบื้องบน)

                    อุบัติการณ์ดังกล่าว ทำให้วงการทูตทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก และทำให้ตั้งข้อสังเกตต่อโยงไปถึงสัญญาณจากปักกิ่ง โดยเฉพาะบทบาทของบรรดาผู้นำจีนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งบริหารจริงในเวลาอีกไม่ถึงเดือนดี ท่าที่ของรัฐบาลใหม่ต่อประเด็นพิพาททางทะเลกับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆในทะเลจีนใต้ จะพัฒนาไปในทิศทางใดในเมื่อรัฐบาลจีนเองได้โหมกระพือกระแสชาตินิยมไปก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานศึกษาด้านความมั่นคงของออสเตรเลีย (Lowy Institute) เชื่อว่า ผู้นำใหม่ของจีน นาย สี จิ้นผิง รู้เรื่องและเกี่ยวของกับอุบัติการณ์ดังกล่าวไม่มากก็น้อย เพราะได้รับคำแนะนำจากฝ่ายความมั่นคงแห่งรัฐว่า จีนควรต้องแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวไว้ ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของญี่ปุ่นก็มองไกลไปขนาดว่ารัฐบาลจีนอาจต้องการหยั่งท่าทีสหรัฐฯในฐานะพันธมิตรสำคัญของญี่ปุ่น ว่าจะมีปฏิกิริยาเช่นไร ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง ในรัฐบาลสมัยที่สองของประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐอเมริกา ก็เป็นประเด็นที่ทั้งจีนและวงการทูตจับตามอง ว่าจะช่วยคลี่คลาย หรือซ้ำเติมให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น

                     อย่างไรก็ดี ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิชาการตะวันตกจำนวนมากเชื่อว่าสถานการณ์เผชิญหน้าครั้งใหม่นี้ ยังไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำให้จีนและญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงคราม ผมขอประมวลเอาเหตุผลหลักๆจากเว็บไซต์ของนิตยสาร The Diplomat(ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการระหว่างประเทศในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะ) มาเล่าต่ออีกทีดังนี้  ประการแรก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจีนพร้อมจะทำสงครามกับญี่ปุ่นด้วยปัจจัยชาตินิยมล้วนๆ เพราะโอกาสที่กระแสชาตินิยมจะย้อนกลับมาเป็นปัญหากับพรรคคอมมิวนีสต์เองดูจะมีมากกว่า เว้นแต่ว่าข้อพิพาทเรื่องเขตแดนนี้จะพัฒนาส่งผลกระทบบ่อนทำลายเศรษฐกิจจีนอย่างชัดเจน ประการที่สอง การพึ่งพาระหว่างกันทางเศรษฐกิจของจีน-ญี่ปุ่นในปัจจุบัน อยู่ในจุดสูงสุดตลอดช่วงประวัติศาสตร์ จนยากที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมปล่อยให้เกิดสงครามขึ้นได้ ประการที่สาม จีนเองยังไม่มีความมั่นใจในศักยภาพทางการทหารเพียงพอที่จะปฎิเสธความเป็นไปได้ของความพ่ายแพ้ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสนธิสัญญาร่วมปกป้องระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง ลำพังเพียงกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นอาจไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อคำนึงถึงแสนยานุภาพของกองกำลังทางทะเลที่สหรัฐฯมีอยู่ โอกาสที่จีนจะตัดสินใจเข้าสู่สงคราม จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ประการที่สี่ จีนยังอยู่ในระหว่างปรับสมดุลขั้วอำนาจภายใน ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรุ่นที่5 ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ยังมีความจำเป็นในการต่อรองและปรับตัวครั้งใหญ่รออยู่ ประการที่ห้า ในทางยุทธศาสตร์ ผู้นำทางการทหารของจีนยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับระดับการแทรกแซงที่อาจจะเกิดขึ้นกับปัญหาความสงบภายในประเทศในยามที่เกิดสงครามกับเพื่อนบ้าน ปัญหาทางการเมืองภายในไม่ว่าจะเป็นธิเบตหรือซินเจียง ขอเพียงมีการสนับสนุนหรือแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกเพียงเล็กน้อย อาจกลายเป็นความวุ่นวายทางการเมืองขนานใหญ่ จนเข้าข่าย “ชนะสงครามภายนอก แต่ไม่อาจยุติสงครามภายใน” ประการที่หก เสียงประณามและพันธมิตรภายนอก ตลอดช่วงกว่า30ปีที่ผ่านมา จีนได้รับความนิยมและยอมรับจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพราะอ้างนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และยืนยันไม่ใช้กำลังทหารนอกดินแดนจีน การทำสงครามกับเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น เท่ากับเป็นการสร้างความหวาดระแวงไปทั่ว และจะทำให้จีนสูญเสียพันธมิตรที่อุตสาห์สร้างสมมาไปเสียเกือบทั้งหมด

             เรื่องราวชวนคุยในสัปดาห์นี้ อาจดูหนัก และไม่เข้ากับเทศกาลตรุษจีนเท่าไรนัก ผมต้องขออภัยด้วย แต่ที่นำมาเล่านี้ก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเรื่องหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งใครที่คิดว่าสนใจเรื่องจีน ไม่รู้ไม่ได้ครับ ส่วนว่าท้ายที่สุดเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ก็ต้องรอดูไป ห้ามฟันธงเด็ดขาด

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แหล่งโบราณคดีค้นพบใหม่ในปี2012

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                   ช่วงนี้ของหลายปีที่ผ่านมา ผมมักทำหน้าที่นำความเคลื่อนไหวที่คึกคักต้อนรับเทศกาลตรุษจีนมาเสนอท่านผู้อ่านที่รัก เกิบสัปดาห์เต็มที่ผ่านมา หน้าข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อประเภทต่างๆของจีน มีแต่เรื่องทำนองเช่นที่ว่านี้เป็นส่วนใหญ่ การเดินทางโกลาหล ประชาชนชาวจีนเดินทางกลับบ้านเกิด อุบัติเหตุบนทางหลวงอันเนื่องมาจากการจราจรที่คับคั่งและสภาพอากาศที่เลวร้ายฯลฯ อ่านมากๆเข้าก็เบื่อครับ ซ้ำเดิมทุกปี จะมีใหม่แปลกไป ก็คงเป็นข่าวพยากรณ์ดวงดาวในช่วงตอนรับปีมะเส็งที่มาถึงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา(ปีนักษัตรจีนเปลี่ยนวันที่ 4 ก.พ.ครับ จะตรุษจีนก่อนหรือหลังไม่สำคัญ) แต่ก็ต้องขอผ่าน เพราะไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของคอลัมน์คลื่นบูรพามาทำหน้าที่ดูดวงรับปีใหม่ สัปดาห์นี้ผมก็เลยขอนำเรื่องที่แหวกแนวไม่ตรงกับเทศกาลมานำเสนอแทน
                    เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการจัดประชุมใหญ่ประจำปี ของสมาคมนักโบราณคดีจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของสภาสังคมศาสตร์จีนที่กรุงปักกิ่ง ในงานสัมนา ได้มีการนำเสนอผลงานการสำรวจขุดค้นแหล่งบราณคดีค้นพบใหม่ที่ขุดเจอกันในช่วงปี2012มารายงาน ในบรรดานี้มีที่เป็นการค้นพบสำคัญอยู่หลายแหล่งด้วยกัน สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง(ท่านผู้อ่านที่รักจะสนใจด้วยหรือไม่ ลองอ่านดูนะครับ) เลยจะเอามานำเสนอในคราวนี้ เลือกเฉพาะที่เด่นๆมา5รายการครับ
 
           แหล่งที่ 1 เป็นการขุดค้นพบร่องรอยชุมชนยุคหินใหม่ ที่ตำบลซีหงในมณฑลเจียงซู จัดเป็นชุมชนโบราณที่น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า 8,000ปี ที่สำคัญมากสำหรับความรู้ทางโบราณคดีจีน ก็เพราะถือเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ครั้งแรกในตอนกลางและตอนปลายลุ่มน้ำหวยเหอ ในพื้นที่สำรวจครอบคลุมกว่า175,000ตารางเมตร พบหลุมฝังศพ92แห่ง ร่องรอยเตาไฟและจุดที่น่าจะเป็นครัวทำอาหาร26แห่ง เศษเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะรูปทรงต่างๆกว่า400ชิ้น แยกได้เป็นกลุ่มชุมชน5กลุ่มด้วยกัน เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งขุดค้นยุคหินใหม่ที่เคยพบก่อนหน้านี้ในแถบตอนล่างแม่น้ำแยงซี ข้อมูลใหม่เหล่านี้จะช่วยให้นักโบราณคดีเข้าใจถึงพัฒนาการชุมชนมนุษย์ในยุคต้นของวัฒนธรรมข้าวในประเทศจีนได้ดียิ่งขึ้น
           แหล่งที่ 2 ชุมชนยุคหินใหม่ ที่ตำบลเซิ่นมู่ มณฑลส่านซี จากการขุดค้นเทียบอายุ ประมาณว่าน่าจะเก่าแก่ประมาณ4,000ปีขึ้นไป สภาพมีลักษณะเป็นเมืองขนาดย่อม ครอบคลุมพื้นที่กว่า4ล้านตารางเมตร จุดสำคัญในแง่มุมวิชาการโบราณคดีคือ จัดเป็นชุมชนยุคหินใหม่ตอนปลายที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในประเทศจีน และให้ภาพวาระแรกเริ่มของอารยธรรมจีนยุคโบราณได้อย่างดี เชื่อมต่อกับภาพที่มีอยู่เดิมของอารยธรรม หลงซาน ยุคกลาง ที่นักโบราณคดีจีนคุ้นเคยอยู่แล้ว เมืองโบราณแห่งนี้เชื่อว่าล้มสลายลงระหว่างปี2070-1600ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยราชวงศ์ เซี่ย จากการขุดค้นพบกำแพงเมืองสองชั้น แนวกำแพงส่วนซึ่งน่าจะเป็นพระราชวัง ประตูเมืองด้านตะวันออกที่ก่อเรียงด้วยหินขนาดใหญ่ และอาจเป็นต้นแบบซุ้มประตูก่อด้วยหินแห่งแรกของจีน
 
            แหล่งที่ 3 สุสานยุคสำริดห่างจากอำเภอ เหวินฉวน เขตปกครองตนเอง อุยเกอร์ซินเจียง ไปประมาณ41กิโลเมตร อายุราว1,800ปีก่อนคริสตกาล แม้ว่าจะเคยมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีในลักษณะที่ร่วมสมัยใกล้เคียงกันในรัสเซีย และในคาซัคสถาน แต่แหล่งขุดค้นที่เหวินฉวนแห่งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในดินแดนประเทศจีน จากหลักฐานทางโบราณคดีทำใหชื่อว่าแหล่งโบราณคดีนี้ไม่ใช่ชุมชนที่อยู่อาศัย ทว่าน่าจะเป็นศูนย์กลางทางศาสนาท้องถิ่นหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของชุมชนยุคสำริดในที่ราบหุบเขา โปร์ตาลา แลพชุมชนข้างเคียง สิ่งก่อสร้างด้วยเสาหินขนาดใหญ่และสุสานที่กระจายอยู่โดยรอบ สะท้อนแบบแผนทางวัฒนธรรมยุคสำริดของเขตวัฒนธรรมเทือกเขาเทียนซาน จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักโบราณคดีจีนได้ทะยอยขุดพบสุสานใต้ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มีอยู่อยู่ในราวศตวรรษที่19-17ก่อนคริสตกาล ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงกันของวัฒนธรรมเอเชียกลางและตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้อย่างดี

            แหล่งที่ 4  สุสานสมัย ชุนชิว ที่ตำบล อวี่สุ่ย มณฑลซานตง ในช่วงต้นปี2012 คนงานก่อสร้างทางได้ค้นพบสุสานดังกล่าวโดยบังเอิญในขณะไถดินปรับพื้นที่ การสำรวจขุดแต่งทางโบราณคดีในเวลาต่อมา ได้ทำให้พบโบราณวัตถุเครื่องสำริดศิลปะสมัยยุค ชุนชิว จำนวนมาก มีรูปม้าสำริด8ตัว รถเทียมม้าสำริด ภาชนะในพีธีกรรมสังเวยอีกหลายชิ้น ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นสุสานของชนชั้นสูงในเวลานั้น งานขุดสำรวจยังคงดำเนินการต่อเนื่อง และน่าจะมีข้อมูลที่น่าสนใจทางโบราณคดีเพิ่มเติมอีกมาก
            แหล่งที่ 5  ป้อมชนเผาถูซี ในมณฑลกุ่ยโจว อายุย้อนกลับไปได้ประมาณ ปี คศ. 1127-1279 เชื่อว่าเป็นเมืองปราการของชนเผ่า ถูซี ที่ก่อตั้งขึ้นในปลายราชวงศ์ซ้อง และล้มสลายลงในช่วงปลายราชวงศ์หมิง แนวกำแพงเมืองโยรอบกว่า6กิโลเมตรที่ได้รับการขุดแต่ง ยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ปรากฏแนวอาคารราชวัง ป้อมหอรบ และค่ายทหารที่ชัดเจน หลักฐานเหล่านี้ ช่วยให้นักประวัติศาสตร์จีนเข้าใจโครงสร้างการเมืองและการปกครองตลอดจนนโยบายเกี่ยวกับเมืองขึ้นของจีนได้ดียิ่งขึ้น
 
          สัปดาห์นี้เสนอเรื่อง อาจแปลกออกไปหน่อย สวัสดีปีใหม่จีน ซินเจียยู่อี่ ซินนีฮวกใช้ ครับ...

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ประชากรวัยแรงงานของจีน
รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        ประเด็นเรื่องประชากร ไม่เพียงแต่เป็นความสนใจเฉพาะในฐานะสาขาวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์เท่านั้น โครงสร้างประชากรและความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่ได้รับความสนใจเฝ้าจับตาดูโดยนักวิชาการข้ามสาขาอื่นๆอีกมาก ไม่ว่าจะในสังคมศาสตร์ด้วยกันเช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือข้ามกลุ่มอย่างเช่นในสาขาสาธารณสุขและการแพทย์ ยิ่งเป็นเรื่องประชากรของจันแล้ว ยิ่งเป็นที่สนใจในหมู่นักวิชาการสาขาต่างๆอย่างมาก ในคอลัมน์คลื่นบูรพานี้ ผมจำได้ว่าเคยนำประเด็นเกี่ยวกับประชากรของจีนมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก อย่างน้อยก็2ครั้ง ในรอบ3ปีที่ผ่านมา
          เมื่อต้นสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้จัดแถลงตัวเลขผลสำรวจออกมาชุดหนึ่ง ผมไปอ่านพบเข้าก็เลยเกิดร้อนวิชา ไปค้นคว้าหาอ่านข้อมูลเพิ่มในแหล่งอื่นๆประกอบ ขออนุญาตนำมา”ปล่อยของ”ในคอลัมน์นี้ก็แล้วกัน ส่วนหนึ่งของรายงานที่ว่า ให้ข้อมูลล่าสุดและการพยากรณ์ตัวเลขสัดส่วนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานของจีน แสดงให้เห็นว่าในปี2012ที่ผ่านมา สัดส่วนประชากรวัยแรงงานของจีน(อายุระหว่าง15-59ปี)เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนหดตัวลดลง จากที่เดิมประชากรวัยแรงงานของจีน ทั้งที่ทำงานอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม และที่อพยพเคลื่อนย้ายไปมาหางานทำอยู่ทั่วประเทศ มีมากเพิ่มเติมทุกปี ตัวเลขของปีที่ผ่านมากลับลดลงกว่าเดิม3.45ล้านคน ในทางสถิติ จึงอาจพิจารณาได้ว่า เป็นสัญญาณบอกเหตุ ว่าอัตราการขยายตัวเติบโตของวัยแรงงานในจีน ได้มาถึงจุดสูงสุดแล้วเมื่อปี2011 และนับจากปี2012เป็นต้นไป ไม่ว่าสภาพทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนจีนกำลังขยับเคลื่อนตัวเข้าสู่ปัญหาทางประชากรรูปแบบใหม่ ที่จีนยังไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่เริ่มต้นสถาปนาจีนใหม่เมื่อ1949
          อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของเรื่องนี้ อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขว่าประชากรวัยแรงงานของจีนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด แต่ความน่าสนใจกลับอยู่ที่ว่า ทันที่หลังจากตัวเลขชุดนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ก็ปรากฏมีนักวิชาการทั้งที่เป็นชาวจีนเองและที่เป็นผู้สนใจเรื่องจีนจากภายนอก พากันข้องใจถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้  อย่างน้อยที่สุดใน3ประการด้วยกัน ประการที่หนึ่ง วิธีการคิดตัวเลขของจีนทั้งประตูขาเข้าสู่วัยการทำงานที่อายุ15ปี และประตูขาออกจากวัยแรงงานที่อายุ59ปี จัดว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะการนับจำนวนสัดส่วนวัยแรงงานงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนที่ผ่านมาในอดีต ใช้ตัวเลขช่วงอายุ15-64ปี(ตามแบบที่นานาชาติในประเทศกำลังพัฒนาใช้กัน) แม้ของเดิมอาจไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงของสภาวะแรงงานที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอายุประชากรขาออกจากวัยแรงงาน แต่การนับช่วงอายุแบบใหม่ ก็ใช่ว่าจะสะท้อนภาพได้ดีกว่า เพราะนับตั้งแต่การประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับเกือบ20ปีที่ผ่านมา ประชากรจีนที่เข้าสู่วัยแรงงานจริงไม่น่าจะอยู่ที่15ปี อีกทั้งการเหมารวมว่าประชากรวัย5-14ปีในช่วงปี2005 จะทยอยเข้าสู่วัยแรงงานในปี2006-2014ตามลำดับอย่างที่ตัวเลขของสำนักงานสถิติพยายามจะบอก ก็ไม่แน่ว่าจะจริงเสมอไป เพราะยังไม่ได้หักด้วยตัวเลขการเสียชีวิตหลังวัย5ปีของประชากรจีนทั่วประเทศในแต่ละปี
           ประการที่สอง กระแสวิเคราะห์ที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งของจีนออกมาเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายเรื่องลูกคนเดียว อันสืบเนื่องจากรายงานตัวเลขสถิติประชากรวัยแรงงานดังกล่าวข้างต้น เป็นประเด็นโดยตรงกับภาพรวมประชากรวัยแรงงานของจีนมากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้ผมเข้าใจว่ามีการเถียงกันมากพอสมควร หากดูตัวเลขแบบเจาะลึก จะพบว่าประชากรจีนกลุ่มที่ถือกำเนิดนับตั้งแต่การประกาศใช้ในปี1978 มาถึงตอนนี้นับรวมแล้วเป็นประชากรจีนเกือบ1ใน3ของทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากจะผูกเรื่องนโยบายลูกคนเดียวเขากับวิกฤตการณ์แรงงานจีน อาจเหมาะสมกว่าหากจะแยกพิจารณาจากกลุ่มอายุช่วงตั้งแต่34ปีลงมา

ประการที่สาม ตัวเลขสัดส่วนประชากรวัยแรงงานของจีนที่ประกาศเผยแพร่ล่าสุดนี้ จะสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เรื่องภาระทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ประชากรวัยแรงงานของจีนต้องแบกรับในอนาคต มากน้อยอย่างไร ได้หรือไม่ และเมื่อใด ประเด็นนี้ก็คงกลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ประชากรกลุ่มไหนจะกลายเป็นภาระในอนาคต ประชากรกลุ่มไหนจะเป็นรุ่นที่ต้องเริ่มเข้ามารับภาระ รัฐบาลจีนควรจะเริ่มดำเนินการรองรับปัญหาเหล่านี้อย่างไรฯลฯ

ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาจีน

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 ผมจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วได้เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแผนพัฒนาฯฉบับที่12ของจีนในคอลัมน์นี่ไปแล้วครั้งหนึ่ง และได้เคยชี้ประเด็นว่าจีนกำลังเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการสำหรับการยกระดับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริการ สัปดาห์นี้ได้ไปอ่านพบผลการศึกษาเกี่ยวกับการขยายตัวของอุดมศึกษาจีนจากหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ค์ไทม์ ฉบับออนไลน์ เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาเป็นหัวข้อชวนคุยประจำสัปดาห์นี้

                 อย่างที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วว่า ประเทศจีนปัจจุบัน กำลังเผชิญกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคการบริการตามแผนพัฒนาฯฉบับที่12 แม้ว่าที่ผ่านมาจีนจะประสบความสำเร็จขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก แต่เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอย่างที่เป็นอยู่ จีนยังคงต้องลงแรงอีกมากในการพัฒนา หรือต่อให้จีนสามารถขยายตัวต่อเนื่องจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างที่ได้มีการพยากรณ์กันไว้ แต่โอกาสที่จีนจะกระโดดข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ระดับล่าง-กลาง มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประชาชนมีรายได้สูง ยังดูเป็นเรื่องห่างไกลอยู่มาก ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมา การพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาศัยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนสิ่งแวดล้อมต่ำค่าจ้างแรงงานราคาถูก  ชดเชยกับต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สินค้าจีนสามารถเปิดตลาดได้อย่างกว้าง

                 ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ข้อได้เปรียบในอดีตของจีน อาจกลับกลายมาเป็นจุดอ่อน เพราะตลาดที่เคยรองรับสินค้าเดิมๆจากจีน ได้สูญเสียกำลังซื้อไปมาก โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวต่อเนื่อง จึ่งอยู่ที่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการ ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเป็นไปตามแผนนี้ จีนต้องปรับโครงสร้างกองทัพแรงงานภายในประเทศครั้งใหญ่ จากแรงงานไร้ฝีมือ มาเป็นแรงงานที่ผ่านการศึกษาและทักษะฝีมือขั้นสูง ตรงจุดนี้เองที่สถาบันอุดมศึกษาของจีนเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง

               ภายใต้แผนพัฒนาฯฉบับใหม่ จีนตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีแรงงานฝีมือที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปรวมไม่น้อยกว่า 195ล้านคนภายในปี ค.ศ.2020 ในการนี้รัฐบาลจีนได้ทุ่มเทเงินอัดฉีดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ปีละ 250,000ล้านหยวน ให้กับการศึกษาในทุกระดับ อย่างไรก็ดี การพัฒนากำลังคนเพื่อเตรียมรับการปรับโครงสร้างการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการนี้ รัฐบาลกลางได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและลงทุนจัดการศึกษาเพิ่มเติม เป็นการลดภาระของภาครัฐไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา ปีเป้าหมาย195ล้านคนภายในค.ศ.2020 ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ลำพังเพียงมหาวิทยาลัยจีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่รับนักศึกษาได้ประมาณปีละ6.8ล้านคน คงต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะสำเร็จ และก็คงไม่เพียงพอทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมจีน โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมตามแผนฯเช่น พลังงานทดแทน เครื่องยนต์ประหยัดพลังงาน การปรับสภาพสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องจักรกลระดับนาโน ยานยนต์ประหยัดพลังงานฯลฯ อุตสาหกรรมแนวใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเหล่านี้ ต้องการบัณฑิตที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมเป็นการเฉพาะ ศึกษาและทำงานฝึกอบรมควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมจริง การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจีนแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์และเร่งผลิตบัณฑิตกลุ่มนี้ได้

                 ในขณะเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศ ข้อเท็จจริงที่ว่าจีนได้ใช้เงินสะสมจำนวนมหาศาล เข้าซื้อกิจการในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในต่างประเทศที่เจริญล้ำหน้ากว่าจีน ทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจจีนเหล่านี้ ต้องการแรงงานมีฝีมือและนักบริหารจัดการที่มีคุณภาพสูงมีความรู้ทางภาษาฯลฯ เพื่อส่งไปดูแลกิจการโพ้นทะเลของจีนอีกเป็นจำนวนมาก  ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของจีนเองเกิดความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตนเอง ในปัจจุบันเราจึงสามารถพบเห็นสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากทยอยเกิดขึ้นในประเทศจีน ทั้งที่เป็นวิทยาลัยเฉพาะทาง และที่เป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ ลงทุนและจัดการศึกษาโดยภาคเอกชน เพื่อป้อนแรงงานมีฝีมือเข้าสู่อุตสาหกรรมในเครือของตน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Geely University ที่จัดตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนในปักกิ่งโดยกลุ่มบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน มีนักศึกษาร่วมทุกชั้นปี กว่า20,000คน เน้นสาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์เป็นหลัก นอกจากนั้นก็ยังมีมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านการจัดการ ธุรกิจโรงแรม วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่ลงทุนและบริหารโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงเฉพาะบริษัทและอุตสาหกรรมของจีนเท่านั้นที่ต้องการบัณฑิตคุณภาพสูงตรงสายงานอาชีพ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในจีนหรือทำธุรกิจร่วมกับจีน ต่างก็มีความต้องการแรงงานขั้นสูงในระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยของจีนเช่นกัน

               ตอนนี้เลยดูเหมือนจะกลายเป็นยุคทองของการอุดมศึกษาจีน ในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกาสมัยทศวรรษที่1950 หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงใหม่ๆ สหรัฐฯตัดสินใจทุ่มเทงบประมาณจัดการศึกษาเปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เปลี่ยนนักรบทหารผ่านศึกมาเป็นบัณฑิตปริญญาตรีป้อนตลาดแรงงานให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในเวลานั้น กรณีของจีนจะเป็นอย่างไร สำเร็จหรือไม่แค่ไหน ต้องติดตามดูครับ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

นวนิยายออนไลน์

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวสารเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในประเทศจีนหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองของการแสดงออกเรื่องเสรีภาพของสื่อในประเทศจีน จนเกิดการเดินขบวนกดดันผู้บริหารสำนักพิมพ์หนาน-ฟางในเมืองกวางโจว สืบเนื่องมาจากเรื่องที่ผมนำเสนอไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน เรื่องสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัด เรื่องตัวเลขส่งออกของไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมาย และอื่นๆอีกมาก มากจนผมตาลายเลือกไม่ถูกว่าจะนำเสนออะไรดี สุดท้ายตัดสินใจชวนท่านผู้อ่านที่รักหลบออกจากเรื่องเครียดๆ หาเรื่องเบาๆแต่น่าสนใจมาเป็นประเด็นพูดคุยในสัปดาห์นี้แทน

สักร่วมเดือนหนึ่งมาแล้ว หากจำไม่ผิด ผมไปพบข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจีน(CNNIC) อันเป็นหน่วยงานการสื่อสารกลางของประเทศจีน อ้างอิงข้อมูลการสำรวจเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของตะวันตกและของจีนเอง ปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนมากเกือบ600ล้านราย นอกจากนี้เนื้อหาภาษาจีนในโลกอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่าเว็บคอนเท้นท์ภาษาจีน ก็มีมากถึง1ใน4ของเว็บคอนเท้นท์ทั้งโลก(ที่เป็นภาษาอังกฤษมีอยู่ประมาณร้อยละ56) และยังคาดการณ์กันว่าด้วยอัตราการเติบโตขนาดนี้ จีนและภาษาจีนจะเป็นเจ้าของพื้นที่เว็บคอนเท้นท์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลาอันไม่นานนี้ กิจกรรมที่ชาวเน็ตของจีนทำกันเรียงตามลำดับดังนี้ คือ อ่านข่าวสาร สืบค้นข้อมูล ดูสาระบันเทิงรูปแบบต่างๆ สื่อสารกันบนเครือข่ายสังคมออนไลน์  เช็คจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ ซื้อขายสินค้า และชำระค่าบริการต่างๆ
ในบรรดาเว็บคอนเท้นท์ทั้งหลายที่เป็นภาษาจีน ที่น่าจับตาติดตามความเติบโตเป็นพิเศษ ดูเหมือนจะเป็นเนื้อหาประเภทนวนิยายออนไลน์ ที่ว่านี้หมายถึงการนำเสนอนวนิยายใหม่ที่ผู้แต่งสมัยใหม่ใช้พื้นที่บนอินเตอร์เน็ตในการนำเสนอ และผู้อ่านก็นั่งติดตามอ่านกันที่ละตอนๆบนหน้าเว็บนั่นเอง ไม่ได้หมายรวมถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดหนังสือที่มีอยู่แล้ว ในรูปแบบหนังสืออีเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่มากมายหลายพันเว็บไซต์ทั้งโหลดฟรีและทั้งที่เสียเงินซื้อ จากข้อมูลของนิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับสัปดาห์ที่แล้ว เว็บไซต์ที่นำเสนอผลงานนวนิยายออนไลน์เหล่านี้ ปีหนึ่งๆสร้างรายได้ให้ทั้งเจ้าของเว็บและนักแต่งนิยายมือใหม่ เป็นจำนวนเงินไม่น้อย และดูเหมือนเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆปี  นักเขียนที่มีรายได้สูงสุดรายหนึ่ง คือนาย จาง-เหวย ผู้ใช้นามปากกา ถัง-เจีย-ซาน-เส้า เฉพาะสามปีที่ผ่านมาได้รับส่วนแบ่งจากรายได้โฆษณา(ที่คิดตามจำนวนครั้งของการเข้าชมเว็บ)จากเจ้าของเว็บสูงถึง 33 ล้านหยวน นี้ยังไม่นับรวมรายได้จากการที่นวนิยายของเขาได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ มาตีพิมพ์เป็นตัวเล่มกระดาษอีกจำนวนหลายล้าน มูลค่ารวมของเงินรายได้จากการโฆษณาในเว็บไชต์นวนิยายออนไลน์ชั้นนำ20เว็บไซต์ มีการประมาณการกันว่าน่าจะสูงกว่า 300 ล้านหยวนในปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับนักเขียนนวนิยายรวมกันในปีที่แล้วเฉพาะในเว็บไซต์ชั้นนำที่ว่า น่าจะไม่ต่ำกว่า 178 ล้านหยวน 

พัฒนาการของนวนิยายออนไลน์ในประเทศจีนนั้น ว่าที่จริงก็มีจุดเริ่มต้นไม่เกิน10ปี จากเว็บที่ให้บริการดาวน์โหลดหนังสือและนิยายคลาสสิกแบบฟรี ค่อยๆพัฒนามาเป็นการขายหนังสือออนไลน์ และขยับมาเป็นให้บริการดาวน์โหลดนวนิยายออนไลน์ทั้งฟรีและเสียเงิน จนเวลานี้อาจกล่าวได้ว่ากำลังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของหนังสือเล่มมากยิ่งๆขึ้น และในเวลาเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ให้ได้แจ้งเกิด โดยไม่ต้องพึ่งพาหรืออาศัยเส้นสายในการแจ้งเกิดกับสำนักพิมพ์  อย่างไรก็ดี นักเขียนนิยายออนไลน์หน้าใหม่เหล่านี้ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จมีผู้คนติดตามอ่านงาน และมีรายได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่น แต่ที่แตกต่างจากนักเขียนในลักษณะจารีตเดิมๆก็คือ นักเขียนหน้าใหม่เหล่านี้มักไม่เป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ว่างานเขียนนวนิยายออนไลน์เกือบทั้งหมด จะเป็นงานเขียนที่มีผู้อ่านเฉพาะกลุ่มกล่าวคือเป็นผู้อ่านที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นเริ่มต้น จนถึงคนทำงานที่อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน30ปี กลุ่มผู้อ่านเหล่านี้หากเปรียบไปแล้ว ยังถือว่าไม่ใคร่มีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมภูมิปัญญาของจีน ซึ่งแน่นอนว่ายังคงเป็นโลกของนักเขียนและผู้อ่านรุ่นใหญ่กว่าที่อาศัยสื่อสารเผยแพร่อิทธิพลทางความคิดผ่านงานเขียนในรูปแบบหนังสือเล่ม

 อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในแง่บวก ในอีกไม่เกินสิบปีจากนี้ บทบาทของนักเขียนออนไลน์ นวนิยายออนไลน์ และผู้อ่านออนไลน์ ต่อสังคมและภูมิปัญญาจีน คงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวโน้มนี้พิสูจน์ได้ไม่ยากจากการที่สำนักพิมพ์มาตรฐานหลายต่อหลายแห่งในประเทศจีน เริ่มจับตาดูความเคลื่อนไหวของโลกนวนิยายออนไลน์ และพร้อมที่จะฉกตัวงานเขียนและนักเขียนที่ได้รับความนิยมสูงในโลกออนไลน์ มาตีพิมพ์เป็นตัวเล่มเพื่อวางขาย ในทำนองเดียวกับปรากฏการณ์นวนิยายกำลังภายในของจีนในช่วงทศวรรษที่1960-1970 ที่มีจุดกำเนิดจากการเขียนนิยายเป็นตอนๆลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันของฮ่องกงและไต้หวัน เพื่อกลุ่มผู้อ่านที่เป็นชายจีนวัยกลางคน จนได้รับความนิยมอย่างสูงถึงขนาดขายสิทธิ์ให้กับหนังสือพิมพ์อื่นๆในชุมชนจีนโพ้นทะเลไปพิมพ์ต่อเป็นตอนย่อยๆ ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนังสือเล่มที่ประสบความสำเร็จมีผู้อ่านเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ อนาคตของนิยายออนไลน์จีนและนักเขียนออนไลน์จะเป็นอย่างไรนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงในประเด็นของธุรกิจออนไลน์หรือธุรกิจสิ่งพิมพ์จีนเท่านั้น แต่ยังอาจกลายเป็นกระแสของสื่อทางเลือก ที่จะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ความคิด และสังคมจีนในอนาคตด้วย

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

ข้อเสนอจัดทำประชามติ

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

จั่วหัวแบบนี้ ในคอลัมน์คลื่นบูรพา ท่านผู้อ่านที่รักซึ่งคุ้นเคยติดตามคอลัมน์นี้อยู่ คงอ่านเจตนาได้ชัดนะครับว่าต้องการโหนกระแสข่าวในประเทศ แต่จริงๆแล้วไม่เกี่ยวอะไรเลยกับประเด็นทางการบ้านการเมืองในบ้านเราแน่ๆ สัปดาห์นี้ผมจะขอชวนคุยเรื่องราวการเมืองที่กำลังก่อตัวหมาดๆ และอาจจะขยายออกเป็นเรื่องใหญ่ได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลจีนและพรรคฯไม่เข้ามาดูแลจัดการให้เหมาะสม เรื่องราวเป็นอย่างไร คงต้องย้อนบรรยากาศเล็กน้อย กลับไปที่การผลัดเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจผู้นำจีนที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆเมื่อปลายปีที่แล้ว

         ในคราวแถลงเปิดตัวหัวหน้าคณะผู้นำสูงสุดรุ่นใหม่ ในที่ประชุมสมัชชาฯครั้งที่ผ่านมา ประโยคหนึ่งที่ได้ยินท่านผู้นำใหม่ สี จิ้นผิง กล่าวย้ำอยู่หลายรอบ คือคำว่า “สืบทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง” และก็ดูเหมือนจะสมใจอยากที่ท่านย้ำแล้วย้ำอีก เพราะตลอดช่วงปลายปีเก่าต่อเนื่องปีใหม่ สื่อมวลชนทั้งกระแสหลักของรัฐ และสื่อค่ายเสรีนิยมจีนตามหัวเมืองพัฒนาใหม่(มณฑลทางใต้และชายฝั่ง) รวมไปถึงบรรดาสื่อทางเลือกในโลกอินเตอร์เน็ต ต่างพากันตอบรับกระแสและสะท้อนกลับ เรียกร้องการปฏิรูป-เปิดกว้างรอบใหม่(หลังจากนโยบายปฏิรูป-เปิดกว้างในปลายศตวรรษที่1970)ที่ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปในภาครัฐ ไปๆมาๆในช่วงต้นปีใหม่นี้ ดูเหมือนรัฐบาลที่ปักกิ่งออกอาการเริ่มหนักใจ ต้องกลับมาทบทวนกันว่ากระแสตอบรับแนวปฏิรูปของภาคประชาชนกลุ่มเสรีนิยมในจีนชักจะไปไกลเกินหรือไม่

ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็มที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลักๆเกือบทุกฉบับก็ว่าได้ มีคอลัมน์พิเศษวิเคราะห์ถ้อยแถลงว่าด้วยการ “สืบทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง” ไม่ทางหนึ่งก็ทางใด ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศหลายแห่ง เช่นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีการจัดสัมนาทางวิชาการวิเคราะห์อนาคตประเทศจีนภายหลังการปฏิรูป-เปิดกว้างรอบที่2(2013-?) มีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน การปกครองแบบนิติรัฐ บทบาทที่ลดน้อยลงของพรรคฯและรัฐบาลกลาง การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลท้องถิ่นฯลฯ เยอะแยะไปหมดจนอาจเรียกได้ว่าขยายความไปกันใหญ่

มาเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง เกิดปรากฏการณ์ขยายผลที่ไม่ธรรมดาขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของจีน มีการส่งต่อ “ข้อเสนอเรียกร้องทำประชามติกำหนดแนวนโยบายปฏิรูป” ให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งต่อเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอดังกล่าวลงนามโดยนักวิชาการค่ายเสรีนิยมชื่อดังของจีน70กว่ารายทั้งที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักคิดนักเขียนชื่อดัง อันที่จริงได้เปิดเผยต่อสาธารณชนมาตั้งแต่วันที่ 26 เดือนธันวาคมปีที่แล้ว นิตยสารหัวก้าวหน้า “หนาน-ฟาง-โจว-ม้อ” (นิตยสารทักษิณสุดสัปดาห์ เป็นนิตยสารในเครือหนังสือพิมพ์ ทักษิณรายวัน หนาน-ฟาง-ยื่อ-เป้า มียอดจำหน่ายกว่า1.6ล้านฉบับทั่วประเทศ) ได้เคยนำข้อเสนอดังกล่าวลงตีพิมพ์แล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกทางการเข้าแทรกแซงการเผยแพร่ มาคราวนี้ เกิดกระแสส่งต่อข้อความเป็นลูกโช่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเฉพาะไมโครบล๊อกค่ายต่างๆของจีน ดูเหมือนจะเกินกำลังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะปิดกั้นได้ กลายเป็นประเด็นดังในวงสนทนาของคนชั้นกลางในประเทศจีนทั่วไป ลุกลามทั่วทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว

ข้อเสนอการทำประชามติดังกล่าว เปิดประเด็นดุเดือดเอาเรื่องอยู่ ผมขออนุญาตแปลผิดแปลถูกแบบงูๆปลาๆให้ดูเป็นตัวอย่างเฉพาะท่อนหัวดังนี้ครับ

          “.... กว่า30ปีภายหลังการปฏิรูป-เปิดกว้าง แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง ทว่าการปฏิรูป-เปิดกว้างในภาครัฐบาล กลับไม่ได้พัฒนาก้าวทันอย่างทัดเทียม หากสิ่งซึ่งเป็นความหวังและความต้องการปฏิรูปของสังคมจีนยังถูกละเลยถ่วงช้า ไม่คืบหน้าทันความเปลี่ยนแปลง อำนาจรัฐยิ่งฟอนเฟะ สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในสังคมจนถึงจุดวิกฤต ประเทศจีนก็เท่ากับได้สูญเสียโอกาสที่ดีในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ และย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นการปฏิวัติด้วยกำลัง ที่จะนำไปสู่มิคสัญญีครั้งใหญ่...”

ท่านผู้อ่านที่รัก คงเห็นพ้องกับผมนะครับ ว่าข้อเสนอดังกล่าวเปิดประเด็นดุเดือดเอาการอยู่ เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนักในประเทศจีน โดยเฉพาะที่จะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร มีคนลงชื่อด้วยเยอะแยะอย่างนี้ จะเคยมีก็เมื่อ4-5ปีก่อนครั้งหนึ่ง ที่มีการเข้าชื่อเรียกร้องให้แก้ไขความไม่เป็นธรรมทางสังคมและระบบราชการ ลงนามโดยนาย หลิว เสี่ยวปอและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ลงเอยด้วยการที่นายหลิว เสี่ยวปอ(ได้รางวัลโนเบลด้วย)ถูกกักขัง คนอื่นๆที่ร่วมลงชื่อ ก็ถูกคุกคามติดตาม หมดอนาคตเสียผู้เสียคนไปเลย

เนื้อหาข้อเสนอที่เผยแพร่ในคราวนี้ ออกตัวยืนยันว่าเห็นด้วยกับแนวนโยบายของนาย สี จิ้น ผิง ที่จะต้องสือทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง แต่เสนอว่าควรจะต้องทำประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวจีนทั้งประเทศ ได้ตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของการปกครองในระบอบนิติรัฐ โดยยึดมั่นในรัฐธรรมนูญจีน ไม่มีใครจะใหญ่ไปกว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าข้าราชการหรือสมาชิกของพรรคฯ มีเพียงวิธีนี้เท่านั้นที่ประเทศจีนจะสามารถปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก

ยอมรับครับว่าเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง และน่าจับตาดูว่ารัฐบาลปักกิ่งและพรรคฯจะจัดการกับความคาดหวังครั้งใหญ่นี้อย่างไร