ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

นวนิยายออนไลน์

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวสารเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในประเทศจีนหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองของการแสดงออกเรื่องเสรีภาพของสื่อในประเทศจีน จนเกิดการเดินขบวนกดดันผู้บริหารสำนักพิมพ์หนาน-ฟางในเมืองกวางโจว สืบเนื่องมาจากเรื่องที่ผมนำเสนอไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน เรื่องสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัด เรื่องตัวเลขส่งออกของไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมาย และอื่นๆอีกมาก มากจนผมตาลายเลือกไม่ถูกว่าจะนำเสนออะไรดี สุดท้ายตัดสินใจชวนท่านผู้อ่านที่รักหลบออกจากเรื่องเครียดๆ หาเรื่องเบาๆแต่น่าสนใจมาเป็นประเด็นพูดคุยในสัปดาห์นี้แทน

สักร่วมเดือนหนึ่งมาแล้ว หากจำไม่ผิด ผมไปพบข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจีน(CNNIC) อันเป็นหน่วยงานการสื่อสารกลางของประเทศจีน อ้างอิงข้อมูลการสำรวจเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของตะวันตกและของจีนเอง ปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนมากเกือบ600ล้านราย นอกจากนี้เนื้อหาภาษาจีนในโลกอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่าเว็บคอนเท้นท์ภาษาจีน ก็มีมากถึง1ใน4ของเว็บคอนเท้นท์ทั้งโลก(ที่เป็นภาษาอังกฤษมีอยู่ประมาณร้อยละ56) และยังคาดการณ์กันว่าด้วยอัตราการเติบโตขนาดนี้ จีนและภาษาจีนจะเป็นเจ้าของพื้นที่เว็บคอนเท้นท์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลาอันไม่นานนี้ กิจกรรมที่ชาวเน็ตของจีนทำกันเรียงตามลำดับดังนี้ คือ อ่านข่าวสาร สืบค้นข้อมูล ดูสาระบันเทิงรูปแบบต่างๆ สื่อสารกันบนเครือข่ายสังคมออนไลน์  เช็คจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ ซื้อขายสินค้า และชำระค่าบริการต่างๆ
ในบรรดาเว็บคอนเท้นท์ทั้งหลายที่เป็นภาษาจีน ที่น่าจับตาติดตามความเติบโตเป็นพิเศษ ดูเหมือนจะเป็นเนื้อหาประเภทนวนิยายออนไลน์ ที่ว่านี้หมายถึงการนำเสนอนวนิยายใหม่ที่ผู้แต่งสมัยใหม่ใช้พื้นที่บนอินเตอร์เน็ตในการนำเสนอ และผู้อ่านก็นั่งติดตามอ่านกันที่ละตอนๆบนหน้าเว็บนั่นเอง ไม่ได้หมายรวมถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดหนังสือที่มีอยู่แล้ว ในรูปแบบหนังสืออีเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่มากมายหลายพันเว็บไซต์ทั้งโหลดฟรีและทั้งที่เสียเงินซื้อ จากข้อมูลของนิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับสัปดาห์ที่แล้ว เว็บไซต์ที่นำเสนอผลงานนวนิยายออนไลน์เหล่านี้ ปีหนึ่งๆสร้างรายได้ให้ทั้งเจ้าของเว็บและนักแต่งนิยายมือใหม่ เป็นจำนวนเงินไม่น้อย และดูเหมือนเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆปี  นักเขียนที่มีรายได้สูงสุดรายหนึ่ง คือนาย จาง-เหวย ผู้ใช้นามปากกา ถัง-เจีย-ซาน-เส้า เฉพาะสามปีที่ผ่านมาได้รับส่วนแบ่งจากรายได้โฆษณา(ที่คิดตามจำนวนครั้งของการเข้าชมเว็บ)จากเจ้าของเว็บสูงถึง 33 ล้านหยวน นี้ยังไม่นับรวมรายได้จากการที่นวนิยายของเขาได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ มาตีพิมพ์เป็นตัวเล่มกระดาษอีกจำนวนหลายล้าน มูลค่ารวมของเงินรายได้จากการโฆษณาในเว็บไชต์นวนิยายออนไลน์ชั้นนำ20เว็บไซต์ มีการประมาณการกันว่าน่าจะสูงกว่า 300 ล้านหยวนในปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับนักเขียนนวนิยายรวมกันในปีที่แล้วเฉพาะในเว็บไซต์ชั้นนำที่ว่า น่าจะไม่ต่ำกว่า 178 ล้านหยวน 

พัฒนาการของนวนิยายออนไลน์ในประเทศจีนนั้น ว่าที่จริงก็มีจุดเริ่มต้นไม่เกิน10ปี จากเว็บที่ให้บริการดาวน์โหลดหนังสือและนิยายคลาสสิกแบบฟรี ค่อยๆพัฒนามาเป็นการขายหนังสือออนไลน์ และขยับมาเป็นให้บริการดาวน์โหลดนวนิยายออนไลน์ทั้งฟรีและเสียเงิน จนเวลานี้อาจกล่าวได้ว่ากำลังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของหนังสือเล่มมากยิ่งๆขึ้น และในเวลาเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ให้ได้แจ้งเกิด โดยไม่ต้องพึ่งพาหรืออาศัยเส้นสายในการแจ้งเกิดกับสำนักพิมพ์  อย่างไรก็ดี นักเขียนนิยายออนไลน์หน้าใหม่เหล่านี้ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จมีผู้คนติดตามอ่านงาน และมีรายได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่น แต่ที่แตกต่างจากนักเขียนในลักษณะจารีตเดิมๆก็คือ นักเขียนหน้าใหม่เหล่านี้มักไม่เป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ว่างานเขียนนวนิยายออนไลน์เกือบทั้งหมด จะเป็นงานเขียนที่มีผู้อ่านเฉพาะกลุ่มกล่าวคือเป็นผู้อ่านที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นเริ่มต้น จนถึงคนทำงานที่อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน30ปี กลุ่มผู้อ่านเหล่านี้หากเปรียบไปแล้ว ยังถือว่าไม่ใคร่มีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมภูมิปัญญาของจีน ซึ่งแน่นอนว่ายังคงเป็นโลกของนักเขียนและผู้อ่านรุ่นใหญ่กว่าที่อาศัยสื่อสารเผยแพร่อิทธิพลทางความคิดผ่านงานเขียนในรูปแบบหนังสือเล่ม

 อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในแง่บวก ในอีกไม่เกินสิบปีจากนี้ บทบาทของนักเขียนออนไลน์ นวนิยายออนไลน์ และผู้อ่านออนไลน์ ต่อสังคมและภูมิปัญญาจีน คงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวโน้มนี้พิสูจน์ได้ไม่ยากจากการที่สำนักพิมพ์มาตรฐานหลายต่อหลายแห่งในประเทศจีน เริ่มจับตาดูความเคลื่อนไหวของโลกนวนิยายออนไลน์ และพร้อมที่จะฉกตัวงานเขียนและนักเขียนที่ได้รับความนิยมสูงในโลกออนไลน์ มาตีพิมพ์เป็นตัวเล่มเพื่อวางขาย ในทำนองเดียวกับปรากฏการณ์นวนิยายกำลังภายในของจีนในช่วงทศวรรษที่1960-1970 ที่มีจุดกำเนิดจากการเขียนนิยายเป็นตอนๆลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันของฮ่องกงและไต้หวัน เพื่อกลุ่มผู้อ่านที่เป็นชายจีนวัยกลางคน จนได้รับความนิยมอย่างสูงถึงขนาดขายสิทธิ์ให้กับหนังสือพิมพ์อื่นๆในชุมชนจีนโพ้นทะเลไปพิมพ์ต่อเป็นตอนย่อยๆ ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนังสือเล่มที่ประสบความสำเร็จมีผู้อ่านเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ อนาคตของนิยายออนไลน์จีนและนักเขียนออนไลน์จะเป็นอย่างไรนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงในประเด็นของธุรกิจออนไลน์หรือธุรกิจสิ่งพิมพ์จีนเท่านั้น แต่ยังอาจกลายเป็นกระแสของสื่อทางเลือก ที่จะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ความคิด และสังคมจีนในอนาคตด้วย

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

ข้อเสนอจัดทำประชามติ

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

จั่วหัวแบบนี้ ในคอลัมน์คลื่นบูรพา ท่านผู้อ่านที่รักซึ่งคุ้นเคยติดตามคอลัมน์นี้อยู่ คงอ่านเจตนาได้ชัดนะครับว่าต้องการโหนกระแสข่าวในประเทศ แต่จริงๆแล้วไม่เกี่ยวอะไรเลยกับประเด็นทางการบ้านการเมืองในบ้านเราแน่ๆ สัปดาห์นี้ผมจะขอชวนคุยเรื่องราวการเมืองที่กำลังก่อตัวหมาดๆ และอาจจะขยายออกเป็นเรื่องใหญ่ได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลจีนและพรรคฯไม่เข้ามาดูแลจัดการให้เหมาะสม เรื่องราวเป็นอย่างไร คงต้องย้อนบรรยากาศเล็กน้อย กลับไปที่การผลัดเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจผู้นำจีนที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆเมื่อปลายปีที่แล้ว

         ในคราวแถลงเปิดตัวหัวหน้าคณะผู้นำสูงสุดรุ่นใหม่ ในที่ประชุมสมัชชาฯครั้งที่ผ่านมา ประโยคหนึ่งที่ได้ยินท่านผู้นำใหม่ สี จิ้นผิง กล่าวย้ำอยู่หลายรอบ คือคำว่า “สืบทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง” และก็ดูเหมือนจะสมใจอยากที่ท่านย้ำแล้วย้ำอีก เพราะตลอดช่วงปลายปีเก่าต่อเนื่องปีใหม่ สื่อมวลชนทั้งกระแสหลักของรัฐ และสื่อค่ายเสรีนิยมจีนตามหัวเมืองพัฒนาใหม่(มณฑลทางใต้และชายฝั่ง) รวมไปถึงบรรดาสื่อทางเลือกในโลกอินเตอร์เน็ต ต่างพากันตอบรับกระแสและสะท้อนกลับ เรียกร้องการปฏิรูป-เปิดกว้างรอบใหม่(หลังจากนโยบายปฏิรูป-เปิดกว้างในปลายศตวรรษที่1970)ที่ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปในภาครัฐ ไปๆมาๆในช่วงต้นปีใหม่นี้ ดูเหมือนรัฐบาลที่ปักกิ่งออกอาการเริ่มหนักใจ ต้องกลับมาทบทวนกันว่ากระแสตอบรับแนวปฏิรูปของภาคประชาชนกลุ่มเสรีนิยมในจีนชักจะไปไกลเกินหรือไม่

ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็มที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลักๆเกือบทุกฉบับก็ว่าได้ มีคอลัมน์พิเศษวิเคราะห์ถ้อยแถลงว่าด้วยการ “สืบทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง” ไม่ทางหนึ่งก็ทางใด ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศหลายแห่ง เช่นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีการจัดสัมนาทางวิชาการวิเคราะห์อนาคตประเทศจีนภายหลังการปฏิรูป-เปิดกว้างรอบที่2(2013-?) มีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน การปกครองแบบนิติรัฐ บทบาทที่ลดน้อยลงของพรรคฯและรัฐบาลกลาง การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลท้องถิ่นฯลฯ เยอะแยะไปหมดจนอาจเรียกได้ว่าขยายความไปกันใหญ่

มาเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง เกิดปรากฏการณ์ขยายผลที่ไม่ธรรมดาขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของจีน มีการส่งต่อ “ข้อเสนอเรียกร้องทำประชามติกำหนดแนวนโยบายปฏิรูป” ให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งต่อเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอดังกล่าวลงนามโดยนักวิชาการค่ายเสรีนิยมชื่อดังของจีน70กว่ารายทั้งที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักคิดนักเขียนชื่อดัง อันที่จริงได้เปิดเผยต่อสาธารณชนมาตั้งแต่วันที่ 26 เดือนธันวาคมปีที่แล้ว นิตยสารหัวก้าวหน้า “หนาน-ฟาง-โจว-ม้อ” (นิตยสารทักษิณสุดสัปดาห์ เป็นนิตยสารในเครือหนังสือพิมพ์ ทักษิณรายวัน หนาน-ฟาง-ยื่อ-เป้า มียอดจำหน่ายกว่า1.6ล้านฉบับทั่วประเทศ) ได้เคยนำข้อเสนอดังกล่าวลงตีพิมพ์แล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกทางการเข้าแทรกแซงการเผยแพร่ มาคราวนี้ เกิดกระแสส่งต่อข้อความเป็นลูกโช่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเฉพาะไมโครบล๊อกค่ายต่างๆของจีน ดูเหมือนจะเกินกำลังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะปิดกั้นได้ กลายเป็นประเด็นดังในวงสนทนาของคนชั้นกลางในประเทศจีนทั่วไป ลุกลามทั่วทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว

ข้อเสนอการทำประชามติดังกล่าว เปิดประเด็นดุเดือดเอาเรื่องอยู่ ผมขออนุญาตแปลผิดแปลถูกแบบงูๆปลาๆให้ดูเป็นตัวอย่างเฉพาะท่อนหัวดังนี้ครับ

          “.... กว่า30ปีภายหลังการปฏิรูป-เปิดกว้าง แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง ทว่าการปฏิรูป-เปิดกว้างในภาครัฐบาล กลับไม่ได้พัฒนาก้าวทันอย่างทัดเทียม หากสิ่งซึ่งเป็นความหวังและความต้องการปฏิรูปของสังคมจีนยังถูกละเลยถ่วงช้า ไม่คืบหน้าทันความเปลี่ยนแปลง อำนาจรัฐยิ่งฟอนเฟะ สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในสังคมจนถึงจุดวิกฤต ประเทศจีนก็เท่ากับได้สูญเสียโอกาสที่ดีในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ และย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นการปฏิวัติด้วยกำลัง ที่จะนำไปสู่มิคสัญญีครั้งใหญ่...”

ท่านผู้อ่านที่รัก คงเห็นพ้องกับผมนะครับ ว่าข้อเสนอดังกล่าวเปิดประเด็นดุเดือดเอาการอยู่ เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนักในประเทศจีน โดยเฉพาะที่จะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร มีคนลงชื่อด้วยเยอะแยะอย่างนี้ จะเคยมีก็เมื่อ4-5ปีก่อนครั้งหนึ่ง ที่มีการเข้าชื่อเรียกร้องให้แก้ไขความไม่เป็นธรรมทางสังคมและระบบราชการ ลงนามโดยนาย หลิว เสี่ยวปอและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ลงเอยด้วยการที่นายหลิว เสี่ยวปอ(ได้รางวัลโนเบลด้วย)ถูกกักขัง คนอื่นๆที่ร่วมลงชื่อ ก็ถูกคุกคามติดตาม หมดอนาคตเสียผู้เสียคนไปเลย

เนื้อหาข้อเสนอที่เผยแพร่ในคราวนี้ ออกตัวยืนยันว่าเห็นด้วยกับแนวนโยบายของนาย สี จิ้น ผิง ที่จะต้องสือทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง แต่เสนอว่าควรจะต้องทำประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวจีนทั้งประเทศ ได้ตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของการปกครองในระบอบนิติรัฐ โดยยึดมั่นในรัฐธรรมนูญจีน ไม่มีใครจะใหญ่ไปกว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าข้าราชการหรือสมาชิกของพรรคฯ มีเพียงวิธีนี้เท่านั้นที่ประเทศจีนจะสามารถปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก

ยอมรับครับว่าเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง และน่าจับตาดูว่ารัฐบาลปักกิ่งและพรรคฯจะจัดการกับความคาดหวังครั้งใหญ่นี้อย่างไร

10ข่าวใหญ่ทางเศรษฐกิจปี2012

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต้อนรับเข้าสู่ปีใหม่ 2013 คอลัมน์คลื่นบูรพาขอส่งความสุขมายังท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ขอให้สมบูรณ์ครบด้วยพรอันประเสริฐทั้ง4ประการ อายุ วรรณะ สุขะ พละ โดยถ้วนทั่วครับ
ในโอกาสที่เป็นปีใหม่สดๆ ผมก็จะขอยึดธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำมาแล้ว2-3ปี คือจะขอรวบรวมคัดลอกบรรดาอันดับข่าวดังทั้งหลายที่ปรากฏในสื่อจีน วันนี้จะขอนำ10ข่าวใหญ่ด้านเศรษฐกิจมาเสนอ โดยรวบรวมมาจากนิตยสารเศรษฐกิจสำคัญของจีนที่นำเสนอในรอบปี2012 เช่น ปักกิ่งรีวิว เป็นต้น มาเสนอไล่ลำดับดังนี้ครับ
1. การส่งออกจีนฟื้นตัว  อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงเกือบสามปีเต็มที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป อันเป็นตลาดสำคัญของจีน ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ทำให้การส่งออกของจีนชะลอตัวลงมาก ปี2012ก็เลยกลายเป็นปีวิกฤติของจีนตามไปด้วย โรงงานต่างๆลดกำลังการผลิตลงโดยเฉลี่ยเกือบร้อยละ40 จนมาในไตรมาสที่3 ต่อด้วยไตรมาสที่4 สถานการณ์ก็เริ่มกระเตื้องขึ้น ทำให้ยอดอัตราการส่งออกทั้งปี(ที่ยังคำนวนกันไม่เสร็จดี)น่าจะทำได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ8 กลายเป็นข่าวดีส่งท้ายปี และสร้างความหวังให้กับปีใหม่นี้
2. กลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ไฟแรง ผลจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ในอเมริกาและยุโรป ทำให้อุตสาหกรรมทั้งหลายในจีนได้ผลกระทบไปตามๆกัน อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทางการจีนทำการสำรวจข้อมูลภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก็พบว่าผลกระทบเกิดขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆไม่เท่ากัน บรรดาอุตสาหกรรมพื้นฐานทั่วไปที่ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตดั่งเดิมตามจารีตประเพณีดูเหมือนจะโดนหนักกว่าเพื่อน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมฉบับใหม่ วางเป้าหมายให้ประเทศจีนเอาจริงเอาจังกับการปรับโครงสร้างการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ไฟแรง เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมสารสนเทศ อุตสาหกรรมวัสดุศาสตร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ประหยัดพลังงานฯลฯ
3. การตลาดอีเล็คทรอนิค ปี2012 อาจจัดได้ว่าเป็นปีแห่งการจับจ่ายซื้อ-ขายทาง อินเตอร์เน็ต ที่มาแรงที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เป็นเพราะการจราจรติดขัดหรือต้องการประหยัดค่าเดินทางก็ไม่ชัดเจน แต่ยอดรวมธุรกรรมซื้อสินค้าออนไลน์กำลังมาแรงในประเทศจีน เฉพาะบนเว็ปตลาด Taobao และ Tmall (ร้านสาขาของ Alibaba Group) สองยักษ์ใหญ่รวมกัน ยอดขายปี2012 สูงถึง19,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้เห็นถึงแนวโน้มอนาคตการตลาดออนไลน์ของจีนว่ายังขยายตัวได้อีกมาก
4. เปิดตลาดผูกขาดให้ผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจหลายประเภทในประเทศจีนเช่นธุรกิจขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ธุรกิจให้บริการสื่อสารคมนาคมฯลฯ เดิมถือกันว่าเกี่ยวข้องเป็นสินค้าควบคุมเพื่อความมั่นคงของรัฐ มาในปี2012 รัฐบาลกลางโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนขนาดย่อมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในธุรกิจการค้าปลีก โดยเริ่มจากสถานีบริการน้ำมัน การสาขาไปรษณีย์ การขนส่งพัสดุภัณฑ์ เพื่อให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันและให้บริการที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
5. การปฏิรูปธุรกิจการเงิน เดือนมีนาคมของปี2012 สภาที่ปรึกษาทางการเมืองได้อนุมัติให้รัฐบาลจีนเริ่มโครงการนำร่องปฏิรูประบบการเงินการธนาคารครบวงจร ในนครเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ได้อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นของเวินโจวจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อเป็นกลไกในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค และการลงทุนภาคสังคม โดยกำหนดแนวทางในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต่างๆ12ด้าน ในรูปแบบการร่วมทุน ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการเงินการคลังท้องถิ่นครั้งสำคัญ นับแต่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่1970
6. เดินหน้าเปิดเสรีสกุลเงินหยวน ปี2012รัฐบาลจีนได้เปิดเสรีครั้งสำคัญ อันอาจมีผลต่อการที่เงินสกุลหยวนจะกลายมาเป็นสกุลเงินหลักของการค้า-ขายระหว่างประเทศในระดับโลก หรืออย่างน้อยเฉพาะหน้าก็ในระดับเอเชีย ในเดือนเมษายน ธนาคารชาติของจีนได้อนุญาตยืดหยุ่นอัตราซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลหยวนกับเหรียญสหรัฐให้มีความแตกต่างเพิ่มเป็นร้อยละ1 นอกจาก นั้นยังรับรองการชื้อขายสินค้าระหว่างจีน-ญี่ปุ่นโดยเงินสกุลหยวน รับรองการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลหยวน-เยน ของญี่ปุ่นในตลาดเงินที่นครเซี้ยงไฮ้
7. จีนเดินหน้าส่งออกนักลงทุน ปี2012บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จีนพาเหรดกันออกจับจ่ายซื้อธุรกิจในต่างประเทศทั่วโลก มากมายเป็นประวัติการณ์ บริษัทกองทุนยักษ์ Citic เข้าซื้อกิจการPutzmeister Holding ผู้ผลิตปั๊มฉีดคอนกรีตของเยอรมันนี ด้วยมูลค่า 360ล้านเหรียญยูโร Dalian Wanda Group Corp. Ltd บริษัทเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อยู่ในระหว่างเจรจาขอซื้อกิจการบันเทิงครบวงจร AMC Entertainment Holdings Inc. ของสหรัฐอเมริกา ในมูลค่า2,600ล้านเหรียญสหรัฐ ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลแคนาดาเพิ่งจะอนุมัติให้ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมน้ำมันจีน CNOOC เข้าซื้อกิจการขุดเจาะน้ำมันในแคนาดามูลค่า 15,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
8. จีนผลิตธัญพืชได้เกินเป้าติดต่อกันเป็นปีที่9 ผลผลิตธัญพืชขัดสีของจีนในปี2012เท่ากับ 129.95ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อนหน้า35.5ล้านตัน ตอกย้ำความมั่นใจของจีนในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ที่มักเป็นหัวข้อสำคัญทางจิตวิทยาการเมืองทั้งของรัฐบาลและประชาชนจีน
9. รัฐบาลผ่อนปรบสินเชื่อบุคคลเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ประเด็นนี้ผมเพิ่งจะนำเสนอโดยละเอียดไปในคอลัมน์นี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน
10.จีนชนสหรัฐในสงครามกีดกันทางการค้า หลังจากมีข่าวต่อเนื่องว่ารัฐบาลสหรัฐฯไม่อนุมัติการเข้าซื้อกิจการต่างๆหลายรายการของจีน โดยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯ ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนโดยกระทรวงการค้าได้ตัดสินใจดำเนินการยื่นคำร้องต่อองค์กรการค้าโลก ให้สอบสวนกรณีการทุ่มตลาดสินค้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์จากสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้เพื่อเป็นการตอบโต้ คาดกันว่าในปี2013 การทำสงครามการค้าระหว่างสองชาติจะดุเดือดเพิ่มมากขึ้น