ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความตึงเครียดระหว่างจีน-ญี่ปุ่น

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                เปิดรับคอลัมน์สัปดาห์นี้ ขออนุญาตกล่าวทักทายอวยพรท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านในแบบฉบับท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ “ซินเหนียนไคว่เล้อ” สวัสดีมีสุขวันปีใหม่จีนครับ อย่างที่เคยเกริ่นไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าคอลัมน์นี้เล่าเรื่องตรุษจีนและปรากฏการณ์เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลตรุษจีนมาหลายรอบหลายปีแล้ว จะขอเว้นสักปีนะครับ ขอเล่าเรื่องราวที่ผมเห็นว่าน่าตื่นเต้นมากกว่าแทน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆชิ้นหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องสำคัญในพัฒนาการความขัดแย้งทางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่น ทว่าถูกกลบไปด้วยข่าวเทศกาลตรุษจีน จนแทบไม่มีใครสนใจติดตาม ข่าวที่ว่านี้คือเหตุการณ์เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดของกองทัพเรือจีนและญี่ปุ่น นับเป็นเหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่สุดตั้งแต่เริ่มกรณีพิพาททางทะเลรอบใหม่เกี่ยวกับหมู่เกาะ เตี่ยวหยู หรือเซ็นกากุ แล้วแต่ฝ่ายใดจะเรียก

                บ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นได้แถลงว่า ช่วงปลายเดือนมกราคม ในขณะที่เรือพิฆาตของญี่ปุ่นลาดตระเวนอยู่ในน่านน้ำของญี่ปุ่น ประมาณ 100 กิโลเมตร จากหมู่เกาะเจ้าปัญหา ระบบป้องกันภัยของเรือได้ตรวจพบว่าเรือของตนได้ถูกเรือรบฝ่ายจีนที่อยู่ห่างออกไปเล็กน้อย ใช้เรดาห์กำหนดตำแหน่งและตั้งพิกัดการยิงด้วยขีปนาวุธ เรียกว่าเกือบจะเข้าสู่โหมดสงครามกลางทะเล ต่อมาในวันที่6กุมภาพันธ์ ท่านนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ก็แถลงยืนยันในรัฐสภาฯ ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นใหญ่โตมากในแวดวงการทูตทั่วโลก ทางการญี่ปุ่นยังได้ให้ข้อมูลแก่นักการทูตตะวันตกในโตเกียว ว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่19 มกราคม จีนก็เคยใช้เรดาห์จับพิกัดเตรียมยิงเฮลิคอปเตอร์ของญี่ปุ่นที่ลาดตะเวนทางทะเลมาแล้วครั้งหนึ่ง ดีที่ว่าเหตุการณ์ล่าสุดในคราวนี้ รัฐบาลทั้งจีนและญี่ปุ่น ไม่ได้ออกมาตอบโต้ทำสงครามน้ำลายกัน คงจะด้วยเหตุผลไม่อยากให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โต หรืออาจเพราะต่างฝ่ายต่างก็ยังอยู่ในระหว่างสืบสวนเรื่องราวสาเหตุความเป็นมาที่ยังไม่ชัดเจนนัก ว่าตกลงใครยั่วยุใครก่อน ถึงได้เกิดเรื่องเลยเถิดจนขั้นตั้งเป้าเตรียมยิงกันขึ้น (รัฐมนตรีและสส.ฝ่ายญี่ปุ่นหลายท่าน ให้ข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการตัดสินใจโดยพลการของผู้บังคับการเรือฝ่ายจีน มากกว่าที่จะเป็นคำสั่งตรงจากเบื้องบน)

                    อุบัติการณ์ดังกล่าว ทำให้วงการทูตทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก และทำให้ตั้งข้อสังเกตต่อโยงไปถึงสัญญาณจากปักกิ่ง โดยเฉพาะบทบาทของบรรดาผู้นำจีนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งบริหารจริงในเวลาอีกไม่ถึงเดือนดี ท่าที่ของรัฐบาลใหม่ต่อประเด็นพิพาททางทะเลกับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆในทะเลจีนใต้ จะพัฒนาไปในทิศทางใดในเมื่อรัฐบาลจีนเองได้โหมกระพือกระแสชาตินิยมไปก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานศึกษาด้านความมั่นคงของออสเตรเลีย (Lowy Institute) เชื่อว่า ผู้นำใหม่ของจีน นาย สี จิ้นผิง รู้เรื่องและเกี่ยวของกับอุบัติการณ์ดังกล่าวไม่มากก็น้อย เพราะได้รับคำแนะนำจากฝ่ายความมั่นคงแห่งรัฐว่า จีนควรต้องแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวไว้ ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของญี่ปุ่นก็มองไกลไปขนาดว่ารัฐบาลจีนอาจต้องการหยั่งท่าทีสหรัฐฯในฐานะพันธมิตรสำคัญของญี่ปุ่น ว่าจะมีปฏิกิริยาเช่นไร ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง ในรัฐบาลสมัยที่สองของประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐอเมริกา ก็เป็นประเด็นที่ทั้งจีนและวงการทูตจับตามอง ว่าจะช่วยคลี่คลาย หรือซ้ำเติมให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น

                     อย่างไรก็ดี ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิชาการตะวันตกจำนวนมากเชื่อว่าสถานการณ์เผชิญหน้าครั้งใหม่นี้ ยังไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำให้จีนและญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงคราม ผมขอประมวลเอาเหตุผลหลักๆจากเว็บไซต์ของนิตยสาร The Diplomat(ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการระหว่างประเทศในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะ) มาเล่าต่ออีกทีดังนี้  ประการแรก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจีนพร้อมจะทำสงครามกับญี่ปุ่นด้วยปัจจัยชาตินิยมล้วนๆ เพราะโอกาสที่กระแสชาตินิยมจะย้อนกลับมาเป็นปัญหากับพรรคคอมมิวนีสต์เองดูจะมีมากกว่า เว้นแต่ว่าข้อพิพาทเรื่องเขตแดนนี้จะพัฒนาส่งผลกระทบบ่อนทำลายเศรษฐกิจจีนอย่างชัดเจน ประการที่สอง การพึ่งพาระหว่างกันทางเศรษฐกิจของจีน-ญี่ปุ่นในปัจจุบัน อยู่ในจุดสูงสุดตลอดช่วงประวัติศาสตร์ จนยากที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมปล่อยให้เกิดสงครามขึ้นได้ ประการที่สาม จีนเองยังไม่มีความมั่นใจในศักยภาพทางการทหารเพียงพอที่จะปฎิเสธความเป็นไปได้ของความพ่ายแพ้ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสนธิสัญญาร่วมปกป้องระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง ลำพังเพียงกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นอาจไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อคำนึงถึงแสนยานุภาพของกองกำลังทางทะเลที่สหรัฐฯมีอยู่ โอกาสที่จีนจะตัดสินใจเข้าสู่สงคราม จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ประการที่สี่ จีนยังอยู่ในระหว่างปรับสมดุลขั้วอำนาจภายใน ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรุ่นที่5 ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ยังมีความจำเป็นในการต่อรองและปรับตัวครั้งใหญ่รออยู่ ประการที่ห้า ในทางยุทธศาสตร์ ผู้นำทางการทหารของจีนยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับระดับการแทรกแซงที่อาจจะเกิดขึ้นกับปัญหาความสงบภายในประเทศในยามที่เกิดสงครามกับเพื่อนบ้าน ปัญหาทางการเมืองภายในไม่ว่าจะเป็นธิเบตหรือซินเจียง ขอเพียงมีการสนับสนุนหรือแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกเพียงเล็กน้อย อาจกลายเป็นความวุ่นวายทางการเมืองขนานใหญ่ จนเข้าข่าย “ชนะสงครามภายนอก แต่ไม่อาจยุติสงครามภายใน” ประการที่หก เสียงประณามและพันธมิตรภายนอก ตลอดช่วงกว่า30ปีที่ผ่านมา จีนได้รับความนิยมและยอมรับจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพราะอ้างนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และยืนยันไม่ใช้กำลังทหารนอกดินแดนจีน การทำสงครามกับเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น เท่ากับเป็นการสร้างความหวาดระแวงไปทั่ว และจะทำให้จีนสูญเสียพันธมิตรที่อุตสาห์สร้างสมมาไปเสียเกือบทั้งหมด

             เรื่องราวชวนคุยในสัปดาห์นี้ อาจดูหนัก และไม่เข้ากับเทศกาลตรุษจีนเท่าไรนัก ผมต้องขออภัยด้วย แต่ที่นำมาเล่านี้ก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเรื่องหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งใครที่คิดว่าสนใจเรื่องจีน ไม่รู้ไม่ได้ครับ ส่วนว่าท้ายที่สุดเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ก็ต้องรอดูไป ห้ามฟันธงเด็ดขาด

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แหล่งโบราณคดีค้นพบใหม่ในปี2012

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                   ช่วงนี้ของหลายปีที่ผ่านมา ผมมักทำหน้าที่นำความเคลื่อนไหวที่คึกคักต้อนรับเทศกาลตรุษจีนมาเสนอท่านผู้อ่านที่รัก เกิบสัปดาห์เต็มที่ผ่านมา หน้าข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อประเภทต่างๆของจีน มีแต่เรื่องทำนองเช่นที่ว่านี้เป็นส่วนใหญ่ การเดินทางโกลาหล ประชาชนชาวจีนเดินทางกลับบ้านเกิด อุบัติเหตุบนทางหลวงอันเนื่องมาจากการจราจรที่คับคั่งและสภาพอากาศที่เลวร้ายฯลฯ อ่านมากๆเข้าก็เบื่อครับ ซ้ำเดิมทุกปี จะมีใหม่แปลกไป ก็คงเป็นข่าวพยากรณ์ดวงดาวในช่วงตอนรับปีมะเส็งที่มาถึงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา(ปีนักษัตรจีนเปลี่ยนวันที่ 4 ก.พ.ครับ จะตรุษจีนก่อนหรือหลังไม่สำคัญ) แต่ก็ต้องขอผ่าน เพราะไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของคอลัมน์คลื่นบูรพามาทำหน้าที่ดูดวงรับปีใหม่ สัปดาห์นี้ผมก็เลยขอนำเรื่องที่แหวกแนวไม่ตรงกับเทศกาลมานำเสนอแทน
                    เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการจัดประชุมใหญ่ประจำปี ของสมาคมนักโบราณคดีจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของสภาสังคมศาสตร์จีนที่กรุงปักกิ่ง ในงานสัมนา ได้มีการนำเสนอผลงานการสำรวจขุดค้นแหล่งบราณคดีค้นพบใหม่ที่ขุดเจอกันในช่วงปี2012มารายงาน ในบรรดานี้มีที่เป็นการค้นพบสำคัญอยู่หลายแหล่งด้วยกัน สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง(ท่านผู้อ่านที่รักจะสนใจด้วยหรือไม่ ลองอ่านดูนะครับ) เลยจะเอามานำเสนอในคราวนี้ เลือกเฉพาะที่เด่นๆมา5รายการครับ
 
           แหล่งที่ 1 เป็นการขุดค้นพบร่องรอยชุมชนยุคหินใหม่ ที่ตำบลซีหงในมณฑลเจียงซู จัดเป็นชุมชนโบราณที่น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า 8,000ปี ที่สำคัญมากสำหรับความรู้ทางโบราณคดีจีน ก็เพราะถือเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ครั้งแรกในตอนกลางและตอนปลายลุ่มน้ำหวยเหอ ในพื้นที่สำรวจครอบคลุมกว่า175,000ตารางเมตร พบหลุมฝังศพ92แห่ง ร่องรอยเตาไฟและจุดที่น่าจะเป็นครัวทำอาหาร26แห่ง เศษเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะรูปทรงต่างๆกว่า400ชิ้น แยกได้เป็นกลุ่มชุมชน5กลุ่มด้วยกัน เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งขุดค้นยุคหินใหม่ที่เคยพบก่อนหน้านี้ในแถบตอนล่างแม่น้ำแยงซี ข้อมูลใหม่เหล่านี้จะช่วยให้นักโบราณคดีเข้าใจถึงพัฒนาการชุมชนมนุษย์ในยุคต้นของวัฒนธรรมข้าวในประเทศจีนได้ดียิ่งขึ้น
           แหล่งที่ 2 ชุมชนยุคหินใหม่ ที่ตำบลเซิ่นมู่ มณฑลส่านซี จากการขุดค้นเทียบอายุ ประมาณว่าน่าจะเก่าแก่ประมาณ4,000ปีขึ้นไป สภาพมีลักษณะเป็นเมืองขนาดย่อม ครอบคลุมพื้นที่กว่า4ล้านตารางเมตร จุดสำคัญในแง่มุมวิชาการโบราณคดีคือ จัดเป็นชุมชนยุคหินใหม่ตอนปลายที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในประเทศจีน และให้ภาพวาระแรกเริ่มของอารยธรรมจีนยุคโบราณได้อย่างดี เชื่อมต่อกับภาพที่มีอยู่เดิมของอารยธรรม หลงซาน ยุคกลาง ที่นักโบราณคดีจีนคุ้นเคยอยู่แล้ว เมืองโบราณแห่งนี้เชื่อว่าล้มสลายลงระหว่างปี2070-1600ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยราชวงศ์ เซี่ย จากการขุดค้นพบกำแพงเมืองสองชั้น แนวกำแพงส่วนซึ่งน่าจะเป็นพระราชวัง ประตูเมืองด้านตะวันออกที่ก่อเรียงด้วยหินขนาดใหญ่ และอาจเป็นต้นแบบซุ้มประตูก่อด้วยหินแห่งแรกของจีน
 
            แหล่งที่ 3 สุสานยุคสำริดห่างจากอำเภอ เหวินฉวน เขตปกครองตนเอง อุยเกอร์ซินเจียง ไปประมาณ41กิโลเมตร อายุราว1,800ปีก่อนคริสตกาล แม้ว่าจะเคยมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีในลักษณะที่ร่วมสมัยใกล้เคียงกันในรัสเซีย และในคาซัคสถาน แต่แหล่งขุดค้นที่เหวินฉวนแห่งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในดินแดนประเทศจีน จากหลักฐานทางโบราณคดีทำใหชื่อว่าแหล่งโบราณคดีนี้ไม่ใช่ชุมชนที่อยู่อาศัย ทว่าน่าจะเป็นศูนย์กลางทางศาสนาท้องถิ่นหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของชุมชนยุคสำริดในที่ราบหุบเขา โปร์ตาลา แลพชุมชนข้างเคียง สิ่งก่อสร้างด้วยเสาหินขนาดใหญ่และสุสานที่กระจายอยู่โดยรอบ สะท้อนแบบแผนทางวัฒนธรรมยุคสำริดของเขตวัฒนธรรมเทือกเขาเทียนซาน จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักโบราณคดีจีนได้ทะยอยขุดพบสุสานใต้ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มีอยู่อยู่ในราวศตวรรษที่19-17ก่อนคริสตกาล ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงกันของวัฒนธรรมเอเชียกลางและตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้อย่างดี

            แหล่งที่ 4  สุสานสมัย ชุนชิว ที่ตำบล อวี่สุ่ย มณฑลซานตง ในช่วงต้นปี2012 คนงานก่อสร้างทางได้ค้นพบสุสานดังกล่าวโดยบังเอิญในขณะไถดินปรับพื้นที่ การสำรวจขุดแต่งทางโบราณคดีในเวลาต่อมา ได้ทำให้พบโบราณวัตถุเครื่องสำริดศิลปะสมัยยุค ชุนชิว จำนวนมาก มีรูปม้าสำริด8ตัว รถเทียมม้าสำริด ภาชนะในพีธีกรรมสังเวยอีกหลายชิ้น ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นสุสานของชนชั้นสูงในเวลานั้น งานขุดสำรวจยังคงดำเนินการต่อเนื่อง และน่าจะมีข้อมูลที่น่าสนใจทางโบราณคดีเพิ่มเติมอีกมาก
            แหล่งที่ 5  ป้อมชนเผาถูซี ในมณฑลกุ่ยโจว อายุย้อนกลับไปได้ประมาณ ปี คศ. 1127-1279 เชื่อว่าเป็นเมืองปราการของชนเผ่า ถูซี ที่ก่อตั้งขึ้นในปลายราชวงศ์ซ้อง และล้มสลายลงในช่วงปลายราชวงศ์หมิง แนวกำแพงเมืองโยรอบกว่า6กิโลเมตรที่ได้รับการขุดแต่ง ยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ปรากฏแนวอาคารราชวัง ป้อมหอรบ และค่ายทหารที่ชัดเจน หลักฐานเหล่านี้ ช่วยให้นักประวัติศาสตร์จีนเข้าใจโครงสร้างการเมืองและการปกครองตลอดจนนโยบายเกี่ยวกับเมืองขึ้นของจีนได้ดียิ่งขึ้น
 
          สัปดาห์นี้เสนอเรื่อง อาจแปลกออกไปหน่อย สวัสดีปีใหม่จีน ซินเจียยู่อี่ ซินนีฮวกใช้ ครับ...

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ประชากรวัยแรงงานของจีน
รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        ประเด็นเรื่องประชากร ไม่เพียงแต่เป็นความสนใจเฉพาะในฐานะสาขาวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์เท่านั้น โครงสร้างประชากรและความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่ได้รับความสนใจเฝ้าจับตาดูโดยนักวิชาการข้ามสาขาอื่นๆอีกมาก ไม่ว่าจะในสังคมศาสตร์ด้วยกันเช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือข้ามกลุ่มอย่างเช่นในสาขาสาธารณสุขและการแพทย์ ยิ่งเป็นเรื่องประชากรของจันแล้ว ยิ่งเป็นที่สนใจในหมู่นักวิชาการสาขาต่างๆอย่างมาก ในคอลัมน์คลื่นบูรพานี้ ผมจำได้ว่าเคยนำประเด็นเกี่ยวกับประชากรของจีนมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก อย่างน้อยก็2ครั้ง ในรอบ3ปีที่ผ่านมา
          เมื่อต้นสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้จัดแถลงตัวเลขผลสำรวจออกมาชุดหนึ่ง ผมไปอ่านพบเข้าก็เลยเกิดร้อนวิชา ไปค้นคว้าหาอ่านข้อมูลเพิ่มในแหล่งอื่นๆประกอบ ขออนุญาตนำมา”ปล่อยของ”ในคอลัมน์นี้ก็แล้วกัน ส่วนหนึ่งของรายงานที่ว่า ให้ข้อมูลล่าสุดและการพยากรณ์ตัวเลขสัดส่วนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานของจีน แสดงให้เห็นว่าในปี2012ที่ผ่านมา สัดส่วนประชากรวัยแรงงานของจีน(อายุระหว่าง15-59ปี)เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนหดตัวลดลง จากที่เดิมประชากรวัยแรงงานของจีน ทั้งที่ทำงานอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม และที่อพยพเคลื่อนย้ายไปมาหางานทำอยู่ทั่วประเทศ มีมากเพิ่มเติมทุกปี ตัวเลขของปีที่ผ่านมากลับลดลงกว่าเดิม3.45ล้านคน ในทางสถิติ จึงอาจพิจารณาได้ว่า เป็นสัญญาณบอกเหตุ ว่าอัตราการขยายตัวเติบโตของวัยแรงงานในจีน ได้มาถึงจุดสูงสุดแล้วเมื่อปี2011 และนับจากปี2012เป็นต้นไป ไม่ว่าสภาพทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนจีนกำลังขยับเคลื่อนตัวเข้าสู่ปัญหาทางประชากรรูปแบบใหม่ ที่จีนยังไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่เริ่มต้นสถาปนาจีนใหม่เมื่อ1949
          อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของเรื่องนี้ อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขว่าประชากรวัยแรงงานของจีนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด แต่ความน่าสนใจกลับอยู่ที่ว่า ทันที่หลังจากตัวเลขชุดนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ก็ปรากฏมีนักวิชาการทั้งที่เป็นชาวจีนเองและที่เป็นผู้สนใจเรื่องจีนจากภายนอก พากันข้องใจถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้  อย่างน้อยที่สุดใน3ประการด้วยกัน ประการที่หนึ่ง วิธีการคิดตัวเลขของจีนทั้งประตูขาเข้าสู่วัยการทำงานที่อายุ15ปี และประตูขาออกจากวัยแรงงานที่อายุ59ปี จัดว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะการนับจำนวนสัดส่วนวัยแรงงานงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนที่ผ่านมาในอดีต ใช้ตัวเลขช่วงอายุ15-64ปี(ตามแบบที่นานาชาติในประเทศกำลังพัฒนาใช้กัน) แม้ของเดิมอาจไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงของสภาวะแรงงานที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอายุประชากรขาออกจากวัยแรงงาน แต่การนับช่วงอายุแบบใหม่ ก็ใช่ว่าจะสะท้อนภาพได้ดีกว่า เพราะนับตั้งแต่การประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับเกือบ20ปีที่ผ่านมา ประชากรจีนที่เข้าสู่วัยแรงงานจริงไม่น่าจะอยู่ที่15ปี อีกทั้งการเหมารวมว่าประชากรวัย5-14ปีในช่วงปี2005 จะทยอยเข้าสู่วัยแรงงานในปี2006-2014ตามลำดับอย่างที่ตัวเลขของสำนักงานสถิติพยายามจะบอก ก็ไม่แน่ว่าจะจริงเสมอไป เพราะยังไม่ได้หักด้วยตัวเลขการเสียชีวิตหลังวัย5ปีของประชากรจีนทั่วประเทศในแต่ละปี
           ประการที่สอง กระแสวิเคราะห์ที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งของจีนออกมาเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายเรื่องลูกคนเดียว อันสืบเนื่องจากรายงานตัวเลขสถิติประชากรวัยแรงงานดังกล่าวข้างต้น เป็นประเด็นโดยตรงกับภาพรวมประชากรวัยแรงงานของจีนมากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้ผมเข้าใจว่ามีการเถียงกันมากพอสมควร หากดูตัวเลขแบบเจาะลึก จะพบว่าประชากรจีนกลุ่มที่ถือกำเนิดนับตั้งแต่การประกาศใช้ในปี1978 มาถึงตอนนี้นับรวมแล้วเป็นประชากรจีนเกือบ1ใน3ของทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากจะผูกเรื่องนโยบายลูกคนเดียวเขากับวิกฤตการณ์แรงงานจีน อาจเหมาะสมกว่าหากจะแยกพิจารณาจากกลุ่มอายุช่วงตั้งแต่34ปีลงมา

ประการที่สาม ตัวเลขสัดส่วนประชากรวัยแรงงานของจีนที่ประกาศเผยแพร่ล่าสุดนี้ จะสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เรื่องภาระทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ประชากรวัยแรงงานของจีนต้องแบกรับในอนาคต มากน้อยอย่างไร ได้หรือไม่ และเมื่อใด ประเด็นนี้ก็คงกลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ประชากรกลุ่มไหนจะกลายเป็นภาระในอนาคต ประชากรกลุ่มไหนจะเป็นรุ่นที่ต้องเริ่มเข้ามารับภาระ รัฐบาลจีนควรจะเริ่มดำเนินการรองรับปัญหาเหล่านี้อย่างไรฯลฯ

ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาจีน

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 ผมจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วได้เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแผนพัฒนาฯฉบับที่12ของจีนในคอลัมน์นี่ไปแล้วครั้งหนึ่ง และได้เคยชี้ประเด็นว่าจีนกำลังเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการสำหรับการยกระดับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริการ สัปดาห์นี้ได้ไปอ่านพบผลการศึกษาเกี่ยวกับการขยายตัวของอุดมศึกษาจีนจากหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ค์ไทม์ ฉบับออนไลน์ เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาเป็นหัวข้อชวนคุยประจำสัปดาห์นี้

                 อย่างที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วว่า ประเทศจีนปัจจุบัน กำลังเผชิญกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคการบริการตามแผนพัฒนาฯฉบับที่12 แม้ว่าที่ผ่านมาจีนจะประสบความสำเร็จขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก แต่เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอย่างที่เป็นอยู่ จีนยังคงต้องลงแรงอีกมากในการพัฒนา หรือต่อให้จีนสามารถขยายตัวต่อเนื่องจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างที่ได้มีการพยากรณ์กันไว้ แต่โอกาสที่จีนจะกระโดดข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ระดับล่าง-กลาง มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประชาชนมีรายได้สูง ยังดูเป็นเรื่องห่างไกลอยู่มาก ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมา การพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาศัยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนสิ่งแวดล้อมต่ำค่าจ้างแรงงานราคาถูก  ชดเชยกับต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สินค้าจีนสามารถเปิดตลาดได้อย่างกว้าง

                 ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ข้อได้เปรียบในอดีตของจีน อาจกลับกลายมาเป็นจุดอ่อน เพราะตลาดที่เคยรองรับสินค้าเดิมๆจากจีน ได้สูญเสียกำลังซื้อไปมาก โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวต่อเนื่อง จึ่งอยู่ที่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการ ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเป็นไปตามแผนนี้ จีนต้องปรับโครงสร้างกองทัพแรงงานภายในประเทศครั้งใหญ่ จากแรงงานไร้ฝีมือ มาเป็นแรงงานที่ผ่านการศึกษาและทักษะฝีมือขั้นสูง ตรงจุดนี้เองที่สถาบันอุดมศึกษาของจีนเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง

               ภายใต้แผนพัฒนาฯฉบับใหม่ จีนตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีแรงงานฝีมือที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปรวมไม่น้อยกว่า 195ล้านคนภายในปี ค.ศ.2020 ในการนี้รัฐบาลจีนได้ทุ่มเทเงินอัดฉีดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ปีละ 250,000ล้านหยวน ให้กับการศึกษาในทุกระดับ อย่างไรก็ดี การพัฒนากำลังคนเพื่อเตรียมรับการปรับโครงสร้างการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการนี้ รัฐบาลกลางได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและลงทุนจัดการศึกษาเพิ่มเติม เป็นการลดภาระของภาครัฐไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา ปีเป้าหมาย195ล้านคนภายในค.ศ.2020 ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ลำพังเพียงมหาวิทยาลัยจีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่รับนักศึกษาได้ประมาณปีละ6.8ล้านคน คงต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะสำเร็จ และก็คงไม่เพียงพอทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมจีน โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมตามแผนฯเช่น พลังงานทดแทน เครื่องยนต์ประหยัดพลังงาน การปรับสภาพสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องจักรกลระดับนาโน ยานยนต์ประหยัดพลังงานฯลฯ อุตสาหกรรมแนวใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเหล่านี้ ต้องการบัณฑิตที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมเป็นการเฉพาะ ศึกษาและทำงานฝึกอบรมควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมจริง การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจีนแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์และเร่งผลิตบัณฑิตกลุ่มนี้ได้

                 ในขณะเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศ ข้อเท็จจริงที่ว่าจีนได้ใช้เงินสะสมจำนวนมหาศาล เข้าซื้อกิจการในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในต่างประเทศที่เจริญล้ำหน้ากว่าจีน ทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจจีนเหล่านี้ ต้องการแรงงานมีฝีมือและนักบริหารจัดการที่มีคุณภาพสูงมีความรู้ทางภาษาฯลฯ เพื่อส่งไปดูแลกิจการโพ้นทะเลของจีนอีกเป็นจำนวนมาก  ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของจีนเองเกิดความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตนเอง ในปัจจุบันเราจึงสามารถพบเห็นสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากทยอยเกิดขึ้นในประเทศจีน ทั้งที่เป็นวิทยาลัยเฉพาะทาง และที่เป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ ลงทุนและจัดการศึกษาโดยภาคเอกชน เพื่อป้อนแรงงานมีฝีมือเข้าสู่อุตสาหกรรมในเครือของตน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Geely University ที่จัดตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนในปักกิ่งโดยกลุ่มบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน มีนักศึกษาร่วมทุกชั้นปี กว่า20,000คน เน้นสาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์เป็นหลัก นอกจากนั้นก็ยังมีมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านการจัดการ ธุรกิจโรงแรม วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่ลงทุนและบริหารโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงเฉพาะบริษัทและอุตสาหกรรมของจีนเท่านั้นที่ต้องการบัณฑิตคุณภาพสูงตรงสายงานอาชีพ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในจีนหรือทำธุรกิจร่วมกับจีน ต่างก็มีความต้องการแรงงานขั้นสูงในระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยของจีนเช่นกัน

               ตอนนี้เลยดูเหมือนจะกลายเป็นยุคทองของการอุดมศึกษาจีน ในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกาสมัยทศวรรษที่1950 หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงใหม่ๆ สหรัฐฯตัดสินใจทุ่มเทงบประมาณจัดการศึกษาเปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เปลี่ยนนักรบทหารผ่านศึกมาเป็นบัณฑิตปริญญาตรีป้อนตลาดแรงงานให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในเวลานั้น กรณีของจีนจะเป็นอย่างไร สำเร็จหรือไม่แค่ไหน ต้องติดตามดูครับ