ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจ้าสัวจีนยุคใหม่

             โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


    เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวที่ปรากฏอยู่ตามหน้าข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์จีนฉบับยักษ์ๆเกือบทุกฉบับ เป็นข่าวการรายงานผลสำรวจจัดอันดับเศรษฐีจีนประจำปี 2010 ที่เพิ่งจะเผยแพร่ออกมา (ที่จริงมีการแถลงข่าวตั้งแต่วันเสาร์ที่เซี่ยงไฮ้ แต่ไหงมาลงข่าวเอิกเกริกวันจันทร์ก็ไม่ทราบ) โดยสำนักวิจัยและจัดอันดับทางเศรษฐกิจของนายหูรุ่น รายงานผลการสำรวจจัดอันดับเศรษฐีจีนครั้งนี้ ระบุว่ามีมหาเศรษฐีจีนที่มีเงินทองระดับพันล้านหยวนขึ้นไป เฉพาะที่มีถิ่นพำนักประจำอยู่ในประเทศ (ไม่รวมเศรษฐีจีนโพ้นทะเลหรือในไต้หวัน) ไม่ต่ำกว่า 1,900 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้อีกกว่า 400 รายชื่อ สัปดาห์นี้ผมก็เลยขอนำท่านผู้อ่านมาสัมผัสเรื่องราวของเศรษฐีใหม่ชาวจีนเหล่านี้สักหน่อย



                    ขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับนายหูรุ่น ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งสำนักจัดอันดับเศรษฐกิจ และข้อมูลเศรษฐีผู้ประกอบกิจการต่างๆในประเทศจีน ที่จริงตัวนายหูรุ่นนั้น เป็นชาวอังกฤษที่เข้ามาทำงานในประเทศจีนตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นับเป็นชาวต่างชาติที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและแวดวงนักธุรกิจชาวจีนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง อีกทั้งยังพูดภาษาจีนได้คล่องมากๆ เป็นที่ยอมรับเชื่อถือแม้ในหมู่ชาวจีนเอง นายหูรุ่นมีชื่อจริงว่านาย Rupert Hoogewert เกิดที่ประเทศลักแซมเบอร์กเมื่อปี 1970 อายุเพียง41 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนดังEton College และปริญญาตรีสาขาเอกภาษาจีนโทภาษาญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัย Durham ในอังกฤษ เข้ามาทำงานในประเทศจีนหลังจากเรียนจบใหม่ๆ พอปี1999 ก็เริ่มต้นจัดตั้งสำนักจัดอันดับข้อมูลมหาเศรษฐีจีนในฐานะสำนักวิจัยอิสระ คนจีนออกเสียงชื่อแกลำบาก ก็เลยตั้งชื่อให้แกใหม่เป็นเสียงแบบจีนจีน ว่านายหูรุ่น และเรียกรายงานการสำรวจของแกในแต่ละปีว่า รายงานประจำปีหูรุ่น นอกจากจัดอันดับเศรษฐีแล้ว นายหูรุ่นยังดำเนินงานสำรวจวิจัยเศรษฐกิจจีนในแง่มุมอื่นๆ จัดทำเป็นรายงานเฉพาะด้านรายเดือน รายไตรมาส และรายปี ให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาแก่ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศจีน ทำมาหากินร่ำรวยจัดเป็นเศรษฐีคนหนึ่งที่มีอายุน้อยและประสบความสำเร็จสูง



                   กลับมาที่ข้อมูลเศรษฐีจีนยุคใหม่ประจำปีนี้ (ข้อมูลเป็นของปี 2010 แต่ถือว่าเป็นเศรษฐีพันล้านประจำปี 2011) รายงานของปีนี้ นายหูรุ่นมุ่งรวบรวมข้อมูลเจาะลึกบรรดาเศรษฐีจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาติดอันดับเศรษฐีพันล้าน จากรายงานของแก กว่าร้อยละ 80 เป็นเศรษฐีใหม่ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเองจากที่ไม่มีอะไรเลยมาเป็นสินทรัพย์นับพันล้าน ไม่ได้เป็นลูกหลานเศรษฐีรับมรดกตกทอดจากพ่อแม่แต่อย่างไร ไม่เหมือนบรรดาเจ้าสัวจีนที่เราคุ้นเคยรู้จัก หรือภาพลักษณ์ที่เห็นจากละครทีวี ในกลุ่มเศรษฐีพันล้านที่ติดอันดับปีนี้ มีอยู่ 56 รายที่อายุต่ำกว่า 40 ปี 44 รายในกลุ่มนี้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเองมีเพียง 12 รายที่พ่อแม่มีฐานะดีและออกทุนรอนหรือให้ทรัพย์สินเริ่มต้นธุรกิจให้  ต่างจากเศรษฐีรุ่นเก่าที่อดออมเก็บเล็กประสมน้อย เศรษฐีใหม่กลุ่มนี้เป็นนักแสวงหาโอกาสและมุ่งมั่น เกือบทั้งหมดจบจากมหาวิทยาลัย และเกือบร้อยละ20สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท  ในขณะที่เกือบร้อยละ80ของมหาเศรษฐีจีน นิยมส่งลูกไปศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่ในระดับมัธยมปลาย หรือช้าสุดในระดับปริญญาตรี  ส่วนใหญ่ไปศึกษาต่อในสาขาบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ และในสาขาเทคโนโลยีประยุกต์ ในภาพรวมของเจ้าสัวจีนยุคใหม่ กลุ่มธุรกิจที่มีเศรษฐีพันล้านมากที่สุดคือกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสาร กลุ่มธุรกิจบันเทิง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตตามลำดับ 



                     หากเปรียบเทียบกับข้อมูลของนิตยสาร Forbes ประเทศจีนมีมหาเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา กล่าวคือมีจำนวนเศรษฐีในระดับพันล้านเหรียญสหรัฐที่อาศัยอยู่ในจีน 115 ราย และรวมเศรษฐีในฮ่องกงและไต้หวันด้วย ก็จะมีมากถึง 213 ราย ครอบครองสินทรัพย์รวมกว่า 566,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบแล้วเป็นจำนวนเศรษฐีร้อยละ 12.6ของมหาเศรษฐีพันล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก 1,210 คน ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมมหาเศรษฐีเชื้อสายจีนที่กระจายอยู่ในโพ้นทะเลอีกจำนวนมาก




                      ผลจากการพัฒนาและขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้แบบแผนและลักษณะเฉพาะของเศรษฐีใหม่ชาวจีน แตกต่างไปจากในประเทศอื่นๆไม่ว่าในอเมริกา ยุโรป หรือในเอเชียด้วยกัน  ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวยระดับพันล้าน มักกระจุกตัวกันอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ทำการผลิตในด้านหนึ่งด้านใดอย่างต่อเนื่องยาวนานจนประสบผลสำเร็จ จนกลายเป็นผู้นำสำคัญในอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่ในประเทศจีน เศรษฐีใหม่พันล้านมักมีที่มาจากนักธุรกิจที่ประกอบอุตสาหกรรมหลายๆประเภทในเวลาเดียวกัน หรือเปลี่ยนแปลงประเภทของธุรกิจที่ทำบ่อยครั้งหลากหลาย และมีความพร้อมที่จะรุกเข้าไปในธุรกิจใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีประสบการณ์เดิมเป็นทุนอยู่หรือไม่ก็ตาม ในยุโรปและบางกรณีในญี่ปุ่นและเกาหลี เศรษฐีใหม่มักเกิดจากลูกหลานตระกูลใหญ่ทางธุรกิจ ที่ได้เปรียบมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้หรือฝึกงานจากธุรกิจของตระกูล ก่อนจะเข้าสืบทอดธุรกิจหรือแยกออกมาทำธุรกิจของตนเองจนประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีใหญ่  แต่ในประเทศจีน เศรษฐีส่วนใหญ่มีที่มาจากครอบครัวเกษตรกรที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ทางธุรกิจมาก่อนเลย อาศัยจังหวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจลองผิดลองถูกในระยะเริ่มต้น เมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ก็พร้อมจะเข้าลงทุนใหม่ในธุรกิจอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เดิม แต่ใช้ทุนที่สะสมอยู่ทุ่มซื้อเทคโนโลยีหรือบุคลากรที่มีความรู้เข้ามาทำงานให้ โดยเน้นกลยุทธการต่อยอดและสร้างเครือข่ายพันธมิตรมากกว่าการสะสมและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง
                         ภาพเจ้าสัวจีนเดิมๆ แบบโบราณที่เราเห็นในละครทีวี(เจ้าสัวฉัตรชัยในมงกุฎดอกส้ม หรือลูกๆแกในละครภาคต่อ) หรือความคิดที่ว่าเรารู้จักนักธุรกิจจีนดีแล้ว เพราะมีเจ้าสัวจีนในเมืองไทยตั้งหลายคนเดินไปมาให้เห็นอยู่ อาจกลายมาเป็นจุดอ่อนของคนไทยในอนาคต เพราะเศรษฐีจีนรุ่นปัจจุบัน เป็นผลผลิตของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมาหรือหากพูดให้เป็นวิชาการหน่อย ก็คือเป็นผลผลิตภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสังคมจีนสมัยใหม่ ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศจีนหรือคนจีนที่เรารู้จักจากหนังสือนวนิยายทั้งหลายที่อ่านกันอยู่ หรือที่เอามาทำละครทีวีกันในปัจจุบัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น