ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จีนภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5


รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                   หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้แนะนำผู้บริหารที่กำลังจะก้าวขึ้นมาปกครองประเทศจีนในรุ่นที่5 ก็ปรากฏว่ามีแฟนประจำต่อว่ามา อยากให้ขยายความที่ทิ้งท้ายไว้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น สำหรับคนที่เขียนคอลัมน์สัปดาห์ละครั้งอย่างผม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้ทราบว่ามีท่านผู้อ่านที่รักติดตามคอลัมน์นี้อย่างเอาจริงเอาจัง ฉะนั้นไม่ว่าท่านขออะไรมา หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผมก็จะสนองตอบทันทีครับ คราวนี้เลยจะขอชวนท่านผู้อ่านคุยต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนที่ทิ้งท้ายว่าประเทศจีนภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่ มีปัญหาท้าทายรออยู่มาก ตกลงได้แก่ปัญหาอะไรบ้าง

                     สดๆร้อนๆเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนหนึ่งคงได้ทราบข่าวการประท้วงที่เมืองหนิงปอ ชาวเมืองหลายพันคนออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ประท้วงต่อต้านโครงการก่อสร้างขยายโรงงานปิโต-เคมี ต่อเนื่องอยู่3วันเต็ม แม้จะลงเอยด้วยการที่รัฐบาลท้องถิ่นสั่งชะลอโครงการก่อสร้างออกไป แต่ก็ปรากฏว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นในระหว่างการประท้วง และมีประชาชนถูกจับตัวไปกว่า50คน กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมากในโลกออนไลน์ของจีน หากนับเนื่องจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี1989เป็นต้นมา ประเทศจีนได้พบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการแสดงออกอย่างเปิดเผยของภาคประชาชน เหตุการณ์ประท้วงมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี แม้ว่าในมุมมองนักวิชาการตะวันตกจะเห็นเป็นพัฒนาการปรกติของสังคมจีนที่มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น อันสืบเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คนชั้นกลางในเขตเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ภายใต้การปกครองอย่างเข้มงวดของพรรคฯในอดีต ก็เลยอยากมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดทิศทางของบ้านเมืองที่จะกระทบกับชีวิตของเขา ทว่าในข้อเท็จจริง ไม่เฉพาะแต่ในเขตเมืองเท่านั้นที่มีการเดินขบวนประท้วง เกษตรกรในเขตชนบทและกลุ่มผู้ใช้แรงงานชั้นล่าง จำนวนการประท้วงและลุกฮือต่อต้านการใช้อำนาจของทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและกิจการลงทุนของเอกชน ก็ปรากฏมีความถี่เพิ่มมากขึ้น ตัวเลขจากนักวิชาการจีนเอง(สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ที่ปักกิ่ง)ประมวลไว้ว่าขยายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 8,700 กว่ากรณีประท้วงในปี1993 เพิ่มเป็นเกือบ9พันกรณีในปี1995 และกลายมาเป็น180,000กว่ากรณีในปี2010 อันนี้หมายถึงการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นร้อยเป็นพัน มีการเดินขบวน มีการปราศรัยโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐหรือคู่ขัดแย้ง รวมไปถึงมีการใช้กำลังขว้างปาทำลายข้าวของฯลฯ
                       ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ชัดเจนว่าส่วนหนึ่งมีที่มาจากแกนนำที่เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษาดี มีความคิดอ่านเป็นประชาธิปไตย รู้เห็นเรื่องราวตัวอย่างจากต่างประเทศ แต่หากได้วิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว เราอาจพบได้ว่ากลุ่มที่ประท้วงนั้น มีอยู่หลายพวกด้วยกัน และด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ในที่นี้ผมจะขอไล่ประเภทจากเหตุประท้วงที่มีความถี่สูงลงไปหาความถี่ต่ำดังนี้ ที่มากที่สุดคือกลุ่มประท้วงเรื่องที่ดินในเขตชนบท ทั้งด้วยเหตุโดนไล่ที่ หรือด้วยเหตุไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน กลุ่มนี้มีมากถึงร้อยละ65จาก180,000เหตุการณ์ในปี2010 ถัดมาเป็นกลุ่มประท้วงของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามด้วยกลุ่มที่ประท้วงด้วยสาเหตุได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่กระทบชีวิตและการทำมาหากิน ตามมาด้วยการประท้วงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม การประท้วงของกลุ่มชาตินิยมจีน และท้ายที่สุดกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี แม้ว่าผมจะยกตัวอย่างสาเหตุการประท้วงตามจำนวนครั้งความถี่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มีข้อเท็จจริงว่า หากเอาจำนวนคนที่เข้าร่วมการประท้วงหรือขนาดความยืดเยื้อมาเป็นเกณฑ์ การจัดลำดับก็จะสลับกัน กล่าวคือแบบหลังสุดจะมีผู้ประท้วงถูกระดมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากกว่า

               นอกเหนือจากที่เหล่าผู้นำจีนรุ่นใหม่จะต้องเจอกับการประท้วงแสดงออกของภาคประชาชนด้วยสารพัดสาเหตุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ปัญหาที่น่าปวดหัวที่จะต้องเข้ามาแก้ไขโดยเร่งด่วน ก็คือรูปแบบและนโยบายทางเศรษฐกิจ แม้ว่ากว่า30ปีมานี้จีนจะได้รับความชื่นชมจากนานาชาติว่าได้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนให้มีกินมีใช้ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ดูเหมือนแนวนโยบายการผลิตเพื่อส่งออกและหวังพึ่งตลาดภายนอกจะไม่สามารถเดินต่อไปได้อีกแล้ว อย่างที่ผมเคยนำเสนอไว้เมื่อต้นปีว่า จีนกำลังเจอกับดักรายได้ชั้นกลาง ถ้าจะฝ่าผ่านไปให้ได้ จีนต้องเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ ปัญหาคือจะเปลี่ยนอย่างไรโดยไม่ให้กระทบกับอัตราการเจริญเติบที่จีนต้องการจะพยุงไว้ พร้อมๆกันก็ต้องรักษาสมดุลไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้ ระหว่างคนรวยในเขตเมืองกับคนจนในชนบท(นับจากปี1985ถึงปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำแตกต่างขยับมาอยู่ที่ร้อยละ68) อันอาจนำไปสู่ความวุ่นวายลุกฮือทางการเมืองได้
                  ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานก็เป็นเรื่องใหญ่ที่รอคอยผู้มาแก้ไข วีถีชีวิตและแบบแผนการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์บนท้องถนน ได้กลายเป็นภาระใหญ่ของจีนในการแสวงหาแหล่งพลังงาน พร้อมๆกับต้องคอยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ตามมา การพัฒนาทางอุตสาหกรรมตลอด3ทศวรรษที่ผ่านมา ได้สะสมเอากากพิษอุตสาหกรรมและก่อปัญหามลพิษระยะยาวในสิ่งแวดล้อม รอคอยรัฐบาลชุดใหม่มารับภาระเก็บกวาด จีนอาจต้องเตรียมงบประมาณและใช้เวลาในการเก็บกวาด มากกว่าหรือพอๆกับผลกำไรที่ได้จากการเร่งขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา
                   ท้ายที่สุด ปัญหาใหญ่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและบทบาทของจีนในเวทีโลก ดูเหมือนใครๆก็เชื่อกันว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากันบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในฐานะสองขั้วอำนาจใหญ่ ยิ่งมีข่าวลือกันในแวดวงเศรษฐกิจว่า ปี2016 จีนอาจกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก(หากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปยังแก้ไม่ตก) ก็ยิ่งทำให้นานาชาติจับตามองแบบไม่สู่ไว้วางใจนัก ก่อนหน้านี้ตอนที่เริ่มปฏิรูปเปิดประเทศใหม่ๆ จีนทำอะไรก็ดูดีไปหมด มาตอนนี้พอจีนพัฒนาเจริญไปมาก จะขยับหรือจะออกหน้าทำอะไรในเวทีโลก ก็ดูจะลำบากไปหมด ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นกว่าเดิม สรุปว่าทำตัวลำบากครับ

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผู้นำจีนรุ่นที่ 5

                รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

       ในแวดวงข่าวต่างประเทศ หลังศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกหัวออกก้อยไปแล้ว ข่าวใหญ่ที่ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนนานาชาติต่างเฝ้าจับตามองในลำดับต่อไป คงหนีไม่พ้นเรื่องการผลัดเปลี่ยนผู้นำจีนที่กำลังจะเกิดขึ้นไวๆนี้ ผมเองได้รับการติดต่อจากสถานีวิทยุกระจายเสียงนานาชาติ(CRI)ของจีน ในฐานะที่สนิทคุ้นเคย ให้ร่วมทำหน้าที่ติดตามและแสดงความเห็นผ่านรายการพิเศษของสถานีฯที่จัดขึ้นเพื่อติดตามรายงานผลการประชุม วันพรุ่งนี้ 8 พ.ย. 2012 การประชุมใหญ่สมัชชาแห่งชาติพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่18ก็จะเริ่มขึ้น และหลังจากนั้นอีกไม่นาน โลกก็จะได้เห็นโฉมหน้าของผู้นำจีนรุ่นใหม่ ที่จะกุมชะตากรรมของประเทศที่มีประชากร 1,300 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เพราะในที่ประชุมนี้ จะมีการยืนยันตัวคณะผู้นำพรรคฯชุดใหม่และเลขาธิการพรรคฯ ซึ่งก็จะเข้ารับตำแห่งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคมปีหน้า กระบวนการของพรรคฯและของรัฐบาลในการคัดเลือก และคาดการณ์เกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะขึ้นสู่อำนาจสูงสุด ผมได้เคยนำเสนอไปบ้างแล้วในคอลัมน์นี้   ถ้าจำไม่ผิดก็ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนที่จีนมีการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติสมัยที่11ครั้งที่5และการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนสมัยที่11ครั้งที่5 หรือที่เรียกว่าการประชุมใหญ่สองสภา แต่มาสัปดาห์นี้ หากไม่พูดถึงอีกครั้ง ก็อาจจะกลายเป็นตกข่าว ว่าที่จริง ผู้นำรุ่นใหม่ ใครเป็นใครที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจ เป็นเรื่องที่นานาชาติได้รับรู้และคาดการณ์มาล่วงหน้าร่วมปีแล้ว ถึงนาทีนี้คงแน่นอนแล้วว่า รองประธานาธิบดีนาย สี จิ้นผิง และรองเลขาธิการพรรคฯ(รองนายกฯอันดับที่1)นายหลี่ เคอะเฉียงจะขยับขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของพรรคฯและของรัฐบาลจีน แต่ที่ไม่แน่นักว่าคนทั่วไปจะทราบ ก็คือลึกๆแล้วทั้งสองท่านนี้เป็นใคร ผมก็เลยจะขอนำเอาเรื่องราวของทั้งสองมาขยายสู่ท่านผู้อ่านที่รักในสัปดาห์นี้ ข้อมูลที่ไปค้นคว้าหามา ก็ไม่ได้พิเศษพิสดารอะไรหรอกครับ อาศัยจากสื่อแขนงต่างๆของจีนนั่นเอง ท่านที่รู้มากกว่าผมก็อย่าหัวเราะ ทนๆเอาหน่อยนะครับ
               ท่านรองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่าตามข้อเท็จจริงแม้ชาวจีนเองก็ไม่สู้จะรู้จักท่านลึกนัก อย่าว่าแต่คนไทยอย่างเราๆ สาเหตุสำคัญก็คงเป็นเพราะเงื่อนไขในอดีตที่ทำให้ท่านเป็นคนระมัดระวังตัวและไม่ค่อยแสดงตัวให้ปรากฏเป็นข่าว ทั้งๆที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆไต่ขั้นบันไดอำนาจระดับชาติมานับแต่ปี2002 สี จิ้นผิงเกิดเมื่อ1 มิถุนายน 1953 เป็นบุตรของนาย สี จงซุน ผู้นำกองกำลังปลดปล่อยมณฑลซ่านซีและอดีตรองนายกรัฐมนตรี รองประธานสภาประชาชน อย่างไรก็ดี ครอบครัวสีก็เผชิญชะตากรรมเมื่อนายสี จงซุนถูกปลดจากตำแหน่งและคุมขังในปี1968ในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม ตัวนายสี จิ้นผิงเองก็ถูกส่งตัวไปทำงานหนักในชนบทตามนโยบายประธานฯเหมา ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคและกลับออกมาเรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยชิงหัวอันมีชื่อเสียงในปี1979 หลังจากนั้นก็เริ่มงานเป็นเลขานุการฯลูกน้องเก่าของบิดานาย เกิง เปียว ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกฯและกรรมการเลขาฯกรรมาธิการกองทัพปลดแอกในขณะนั้น จุดนี้เองที่ทำให้ท่านมีประสบการณ์และได้รู้จักผู้คนสำคัญที่เป็นตัวหลักในกองทัพจีน สี จิ้นผิง เริ่มงานในตำแหน่งสำคัญระดับชาติในปี2002เมื่อเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯมณฑลเจ้อเจียงในห่วงระยะเวลาที่มณฑลนี้กำลังขยายตัวเติบโตเต็มที่ การทำงานที่เข้มแข็งและตรงไปตรงมา ทำให้เขาได้กลายเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ปักกิ่งให้ความสนใจ ในปี2007เขาได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นเลขาธิการพรรคฯประจำมหานครเซี่ยงไฮ้อันถือเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่ง แม้จะเป็นตำแหน่งที่ล่อแหลมและถูกจับตามอง แต่สี จิ้นผิงก็ดำเนินนโยบายตรงตามแนวทางของพรรคฯและรัฐบาลอย่างเคร่งครัดรักษาเนื้อรักษาตัวได้ดี จนในคราวประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งที่17ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เขาก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลางพรรค1ใน9คนที่ทรงอำนาจมากที่สุดของประเทศ เดือนมีนาคมปีถัดมา ในที่ประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติครั้งที่11 เขาก็ได้รับความเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีน  และกลายมาเป็นว่าที่ผู้นำจีนสูงสุดของกลุ่มผู้นำรุ่นที่5ในอีกไม่กี่วันนี้
                   สำหรับนาย หลี่ เคอะเฉียง เป็นคนอันฮุยโดยกำเนิด เกิดวันที่1 กรกฎาคม 1955 เข้าเป็นสมาชิกพรรคฯในช่วงปี1974ระหว่างที่ทำงานชนบทตามนโยบายของประธานเหมาในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แทนที่จะดำเนินรอยตามทางของบิดาที่เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในอันฮุย หลี่ตัดสินใจเข้าศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย และต่อมาตำแหน่งเลขาธิการสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในปี1982เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรรมการเลขาธิการสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์แห่งชาติ จุดนี้เองที่ทำให้ หลี่ เคอะเฉียงมีโอกาสทำงานอย่างใกล้ชิดกับหู จินเทา ซึ่งก็เริ่มต้นเส้นทางการเมืองผ่านองค์กรสันนิบาติยุวชนฯ หลี่ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสูงสุดของสันนิบาตยุวชนฯในปี1993-1998 ด้วยอายุเพียง43 ในปี1998 หลี่ได้กลายเป็นผู้ว่าการมณฑลที่อายุน้อยที่สุด เมื่อรัฐบาลกลางแต่งตั้งให้เขารับหน้าที่ผู้ว่าการมณฑลเหอหนาน มณฑลที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศจีน  ผลงานของเขาในเหอหนาน สำหรับสายตาผู้นำในปักกิ่ง ออกไปในทางทั้งดีและร้าย กล่าวคือแม้จะสามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เขาก็เผชิญกับปัญหาหนักๆทางสังคมที่แก้ไขไม่สำเร็จ เช่นปัญหาการแพร่ระบาดขนานใหญ่ของโรคเอดส์ และปัญหาอุบัติเหตุไฟไหม้เหมืองถล่มหลายครั้ง ในปี2004 หลี่ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯมณฑลเหลียวหนิง ในระดับชาติ หลี่ เคอะเฉียงได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่กรรมการกลางของพรรคฯโดยมติที่ประชุมใหญ่สมัชชาพรรคฯครั้งที่17ในเดือนตุลาคมปี2007พร้อมๆกับสี จิ้นผิง แม้ความโดดเด่นและอาวุโสจะคู่คี่กันมากับสี จิ้นผิง ในฐานะทายาททางการเมืองรุ่นที่5ที่จะสืบต่อตำแหน่งของประธานาธิบดีหู จินเทา แต่ผลในที่ประชุมสมัชชาประชาชนปี2008 หลี่ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกฯอันดับหนึ่ง ยุติการคาดเดาต่างๆลง และชัดเจนตั้งแต่บัดนั้นว่าเขาคงก้าวขึ้นแทนเหวิน เจียเป่า ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
                 ประเทศจีนที่ท่านผู้นำทั้งสองและผู้นำอื่นๆในรุ่นที่5จะเข้ารับช่วงปกครองดูแล แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากประเทศจีนที่ผู้นำรุ่นก่อนๆได้เคยบริหารปกครอง มองโลกในทางร้าย จีน ณ ปัจจุบันมีปัญหารอให้แก้ไขเพียบ สภาวะทางเศรษฐกิจที่เขม็งเกลียว เสถียรภาพทางการเมืองภายใน ปัญหาพิพาททางทะเลกับเพื่อนบ้าน จุดยืนที่ถูกท้าทายและจับตามองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งพิสูจน์ฝีมือที่ท้าทายและน่ากลัวสำหรับเหล่าผู้นำรุ่นใหม่ของจีน  ก็ได้แต่รอลุ้นกันไปละครับ

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชุมชนเกษตรกรรมจีนสมัยใหม่ ตอน2

                รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างที่ผมได้เรียนไว้กับท่านผู้อ่านที่รักเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ว่าเรื่องชุมชนเกษตรกรรมสมัยใหม่ของจีน ยังมีความเห็นต่างกันอยู่เป็นสองแนว  แม้ว่าสาเหตุหลักๆของปัญหาในภาคการเกษตรจีนจะเหมือนกัน กล่าวคือว่าได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง20ปีแรก  หัวเมืองทางแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับการกระตุ้นอัดฉีด ทั้งจากนโยบายของรัฐ เงินลงทุนจากภายนอก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปมาก การเติบโตและพัฒนาของเมืองนี่เอง ได้ดึงดูดเอาทรัพยากร แรงงาน และทีดินในภาคการเกษตรเดิม ทำให้สังคมและวิถีการผลิตเดิมในชนบทจีนเปลี่ยนไปมาก ที่เป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆเลยก็คือเรื่องแรงงาน คนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่ยังมีแรงทำงาน ต่างก็มุ่งหน้าเข้าไปเป็นแรงงานอพยพตามหัวเมืองสำคัญที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ไร่นาปศุสัตว์ในชนบทถูกทอดทิ้ง แรงงานผู้สูงอายุที่ยังเหลืออยู่ในชนบท ก็จำทนทำงานกันไปแบบไม่มีอนาคตและไม่มีประสิทธิภาพ
                 ยิ่งไปกว่านั้น มาในระยะหลัง เมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการอพยพออกจากชนบทของบรรดาแรงงานหนุ่มสาว ด้วยการส่งเสริมสร้างงาน ทั้งอุตสาหกรรมขนาดย่อมและบริการในท้องถิ่นให้มากขึ้น ก็เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดย่อมและภาคธุรกิจบริการเกิดใหม่ฝ่ายหนึ่ง กับภาคการเกษตรดั้งเดิมอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องที่ดิน แปลงนาที่เคยอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนเฉพาะหน้าที่ดีกว่า ทำให้พื้นที่หลายแห่งในประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ยิ่งไปกว่านั่น การเร่งส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดเล็กจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดโรงงานหลังบ้านหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็รับโล๊ะเครื่องจักรมือสองและเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลังราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน สิ้นเปลืองพลังงานและก่อให้เกิดปัญหามลพิษกระจายไปในเขตชนบท กระทบไปถึงเรื่องความปลอดภัยในผลผลิตทางเกษตร
                เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอไปแล้วหนึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหาข้างต้น คือการยกระดับและจัดตั้งชุมชนการเกษตรจีน ด้วยการช่วยเหลือของอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ ที่ทุ่มเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เท่าเทียมหรือดีกว่ามาตรฐานในประเทศตะวันตก ทั้งฝึกอบรมเกษตรกร ทั้งจัดการรองรับทางการตลาดเต็มรูปแบบ เกษตรกรรายย่อยเดิมรวมกลุ่มเป็นหน่วยการผลิตเดียว แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เกษตรกรเพียงไม่กี่คนสามารถดูแลฟาร์มขนาดใหญ่ ดูแลไก่ไข่ไก่เนื้อได้เป็นแสนตัว ทำให้แรงงานที่เหลือสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพเสริมอื่นๆได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว จนกลายเป็นต้นแบบที่ชาวจีนกล่าวขานชื่นชมกันมาก
                  แนวทางอีกด้านหนึ่งที่ผมจะขอนำเสนอในสัปดาห์นี้ หากเล่าไปแล้วท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกคุ้นๆ ว่าออกแนวเศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวเกษตรกรรมแบบผสมผสาน โดยมีหลักการสำคัญคือพัฒนาการผลิตของครัวเรือนเกษตรกรขนาดเล็ก ให้กระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตที่หลากหลาย เชื่อมต่อกันทางการตลาดทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่งภายใต้รูปแบบสหกรณ์สมัยใหม่ เป็นทั้งสหกรณ์ผู้บริโภค(คือซื้อกินกันเองภายในกลุ่ม)และสหกรณ์ผู้ผลิต(รวมกันขายของให้คนนอก) แนวทางการพัฒนาการเกษตรแบบนี้ มีที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์นอกกระแสของจีนที่รวมกลุ่มกันในมหาวิทยาลัยต่างๆของจีน หัวหอกสำคัญเป็นนักวิชาการมหาวิทยาลัยเหรินหมิน หรือมหาวิทยาลัยประชาชน มีหน่วยงานของรัฐจำนวนหนึ่งที่สนใจให้การสนับสนุน แต่ไม่ถึงกับทุ่มทุนสร้าง ทำกันแบบเงียบๆค่อยๆขยายตัว หากพิจารณาจากข้อมูลทางวิชาการของกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่ชุมชนการเกษตรของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงไป(แรงงานน้อย อายุมาก ที่ดินขาดแคลน ต้นทุนการผลิตเพิ่ม แหล่งน้ำหายากฯลฯ) แบบแผนการบริโภคผลิตผลทางการเกษตรของสังคมจีนก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน กล่าวคือจากเดิมที่สังคมจีนเน้นการบริโภคธัญพืช เนื้อ ผัก ในสัดส่วน8/1/1 กลายมาเป็น 4/3/3คือบริโภค ธัญพืช4ส่วน เนื้อ3ส่วน ผักผลไม้3ส่วน การผลิตพืชหรือปศุสัตว์เชิงเดี่ยวแบบฟาร์มขนาดใหญ่ ที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีมหาศาล จึงไม่ใช่ทางออกของเกษตรกรจีนในอนาคต เพราะนอกจากจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสังคมชนบทจีน ซึ่งมีที่กันคนละเล็กละน้อย มีแรงงานเหลือติดบ้านแค่1-2คนแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับแบบแผนการบริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย

                    ทางออกของชุมชนเกษตรกรจีนสำหรับอนาคต จึ่งอยู่ที่รูปแบบการผลิตผสมผสานระหว่างการปลูกผักสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปศุสัตว์ผสมหมู เป็ด ไก่ โดยใช้แรงงานในครัวเรือนและเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสมกับแรงงานและขนาดของครัวเรือน เน้นการผลิตแบบออร์แกนนิกแต่ไม่เน้นการลงทุนขนาดใหญ่ แม้อาจฟังดูเสียเปรียบการผลิตแบบจำนวนมากๆ(economy of scale) แต่หากครัวเรือนเกษตรกรจัดตั้งรวมตัวในแนวดิ่งและแนวระนาบ เป็นสหกรณ์ผู้บริโภคดูแลสมาชิกกันเองในการซื้อหาปัจจัยการผลิต สหกรณ์การตลาดรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง สหกรณ์แปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อยืดอายุผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและแข่งขันในตลาดขนาดใหญ่ได้
                   ผมเองต้องบอกตามตรง ว่าชอบทั้งสองแบบ แต่อะไรจะใช่อนาคตของชุมชนเกษตรกรที่ยั่งยืน อันนี้คงต้องให้คนจีนเค้าตัดสินใจกันเอง

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชุมชนเกษตรกรรมจีนสมัยใหม่

รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
            หลายสัปดาห์มานี้ ผมได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตารับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับภาคการเกษตรของจีนในสองเวทีด้วยกัน เวทีแรกเป็นผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาจากนโยบายเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อสังคมในชนบทจีน อีกเวทีหนึ่งเป็นการติดตามผู้ใหญ่ไปรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ของไทย ที่ไปประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีน และได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาภาคการเกษตรตามนโยบาย ชุมชนเกษตรสมัยใหม่ ของรัฐบาลจีน ฟังแล้วก็ได้อารมณ์ไปคนละแบบ ไม่กล้าตัดสินใจว่าอันไหนอะไรเป็นจริงมากกว่ากัน ประกอบกับประเทศจีนก็ใหญ่มากคงยากจะเหมือนกันไปหมด ผมก็เลยขอเชื่อไว้ก่อนว่าที่ไปฟังมาคงถูกทั้งคู่ สัปดาห์นี้จะขอเกริ่นเรื่องและเล่าในส่วนที่สองก่อน สัปดาห์หน้าจะเอาของนักวิชาการมาเสนอเทียบเคียง
            ว่าตามจริงแล้ว นโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรหรือชนบทจีน(อย่างที่ผมเคยเขียนถึงในคอลัมน์นี้) มีที่มาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน สาเหตุหลักๆของปัญหาในภาคการเกษตรจีน อย่างที่คงรับทราบกันดี ว่าได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง20ปีแรก  หัวเมืองทางแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับการกระตุ้นอัดฉีด ทั้งจากนโยบายของรัฐ เงินลงทุนจากภายนอก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปมาก การเติบโตและพัฒนาของเมืองนี่เอง ได้ดึงดูดเอาทรัพยากร แรงงาน และทีดินในภาคการเกษตรเดิม ทำให้สังคมและวิถีการผลิตเดิมในชนบทจีนเปลี่ยนไปมาก ที่เป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆเลยก็คือเรื่องแรงงาน คนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่ยังมีแรงทำงาน ต่างก็มุ่งหน้าเข้าไปเป็นแรงงานอพยพตามหัวเมืองสำคัญที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ไร่นาปศุสัตว์ในชนบทถูกทอดทิ้ง แรงงานผู้สูงอายุที่ยังเหลืออยู่ในชนบท ก็จำทนทำงานกันไปแบบไม่มีอนาคตซังกะตายและไม่มีประสิทธิภาพ ครัวเรือนที่ขาดคนหนุ่มคนสาวหรือหัวหน้าครอบครัวที่จะอยู่ประจำ ก็เกิดปัญหาทางสังคมตามมา ในซีกสังคมเมืองเอง แรงงานอพยพจำนวนมากที่แห่กันเข้าไปหวังจะขุดทองหาเงินส่งกลับบ้าน เอาเข้าจริงก็เผชิญกับปัญหาสารพัดมากกว่าจะเป็นโชคลาภ สภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผน ค่าครองชีพที่สูง การขาดแคลนสวัสดิการที่จำเป็น ในที่สุดก็ก่อปัญหากับสังคมเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่าเป็นปัญหาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชนบทที่ต้นทางหรือเมืองใหญ่ที่ปลายทาง
             มาในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่1990 หลังจากที่ปัญหาการล่มสลายของสังคมชนบทขยายไปทั่วทั้งประเทศจีน หรืออย่างที่รู้จักกันในชื่อ ปัญหาสามเกษตร(ซาน หนง เวิ้น ถี) คือเกษตรกรมีปัญหา การเพาะปลูกมีปัญหา และสังคมชนบทมีปัญหา รัฐบาลจีนได้รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและจ้างงานขึ้นในชนบท เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต้องอพยพออกมากจนเกินไป ภายใต้สโลแกนที่ว่า จากท้องนา แต่ไม่จากบ้านเกิด(หลีถู่ ปู้หลีเซียง) สถาบันการเงินของจีนถูกกำหนดให้ส่งเสริมสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในชนบทมากเป็นพิเศษ รัฐบาลท้องถิ่นก็มีโปรโมชั่นพิเศษอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในชนบทจีน เพราะเป็นที่ทราบดีว่าหนุ่มสาวสมัยใหม่จำนวนมากอพยพเข้าเมืองก็เพราะต้องการหนีออกจากกิจกรรมทำไร่ไถนาในหมู่บ้าน การรณรงค์ให้เกิดวิสาหกิจและการจ้างงานในชนบท เชื่อกันว่าจะสามารถรักษาสังคมชนบทจีนไว้ได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่สามารถพัฒนาภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นก็ตาม
               มาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ชนบทจีนก็เจอเข้ากับปัญหาใหม่(ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเก่าจะหมดไปแล้วนะครับ) กล่าวคือมีการแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นระหว่างภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดย่อมและภาคธุรกิจบริการฝ่ายหนึ่ง กับภาคการเกษตรอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องที่ดิน แปลงนาที่เคยอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนเฉพาะหน้าที่ดีกว่า ทำให้พื้นที่หลายแห่งในประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ยิ่งไปกว่านั่น การเร่งส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดเล็กจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดโรงงานหลังบ้านหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็รับโล๊ะเครื่องจักรมือสองและเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลังราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน สิ้นเปลืองพลังงานและก่อให้เกิดปัญหามลพิษกระจายไปในเขตชนบท กระทบไปถึงเรื่องความปลอดภัยในผลผลิตทางเกษตร การปนเปื้อนสารพิษในอาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานจากโรงงานเล็กโรงงานน้อยทั้งหลาย
                  ในปี2005 ผลจากที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่5สมัยที่16 และที่ประชุมสมัชชาประชาชนในปีถัดมา ได้กำหนดเป็นนโยบายให้รัฐบาลจีนเร่งฟื้นฟู ชุมชนการเกษตรสมัยใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม(เซ่อหุ้ยจู่อวี่ ซินหนงชุน) โดยกำหนดให้มีเป้าหมายสำคัญ5ประการคือ 1) การผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 3) ยกระดับสังคมให้เป็นอารยะ 4) สะอาดปลอดมลพิษ และ 5) บริหารจัดการโดยหลักประชาธิปไตย
                ณ ตรงจุดนี้เอง ที่กลุ่มธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์(หรือที่ในประเทศจีนรู้จักกันดีกว่าภายใต้ชื่อ เจิ้งต้าจี๋ถวน )ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้การสนับสนุน เรียกว่าจัดเต็ม ทั้งลงทุนให้ ทั้งใส่เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เท่าเทียมหรือดีกว่ามาตรฐานในประเทศตะวันตก ทั้งฝึกอบรมเกษตรกร ทั้งจัดการรองรับทางการตลาดเต็มรูปแบบ เกษตรกรรายย่อยเดิมรวมกลุ่มเป็นหน่วยการผลิตเดียว แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เกษตรกรเพียงไม่กี่คนสามารถดูแลฟาร์มขนาดใหญ่ ดูแลไก่ไข่ไก่เนื้อได้เป็นแสนตัว ทำให้แรงงานที่เหลือสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพเสริมอื่นๆได้มากขึ้น เรียกว่ามีรายได้เพิ่มเป็นสองทาง แต่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
                มองในแง่มุมนักวิชาการ ผมเชื่อว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ องค์กรพัฒนาเอกชนแบบในบ้านเรา หรือสายที่เป็นกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง คงมีประเด็นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก เพราะมองว่าเป็นการก้าวไปสู่เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญาและการกินรวบในวงจรการผลิต แต่จากข้อมูลที่ผมสำรวจพบ โครงการทำนองเช่นนี้ในสายตาของเกษตรกรจีน สื่อมวลชนจีน หรือแม้นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์การเกษตรของจีน ได้กลายเป็นต้นแบบที่ได้รับการกล่าวขานยกย่องอย่างมาก ผมเองไม่แน่ใจว่าจนถึงเวลานี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการส่งเสริมช่วยเหลือในทำนองนี้ไปแล้วกี่แห่งในประเทศจีน แต่เท่าที่เห็นผ่านสื่อมวลชนจีนแขนงต่างๆ เดาว่าคงหลายสิบแห่งแล้ว และก็คงใช้เงินไปจำนวนมหาศาล ผมคงขอไม่ไปถกเถียงกันในเชิงวิชาการ เอาแค่ว่าหากถือเป็นกิจกรรมเชิง CSR ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำให้กับสังคมจีน   ผมเชื่อว่างานนี้ได้ผลเกินคุ้มทีเดียว