ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รถไฟความเร็วสูง

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





              เมื่อวันที่25-26 เมษายนที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆ โผล่อยู่ในหนังสือพิมพ์รายวันของจีนแถลงข่าวการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากคุนหมิงถึงสิงคโปร์ ผมเองก็มองข้ามไปไม่คิดว่าน่าสนใจ เพราะเป็นเพียงเรื่องต่อเนื่องจากข่าวใหญ่ที่มีการแถลงใหญ่โตมาก่อนหน้านี้แล้ว มาต้นสัปดาห์นี้ ก็มีข่าวเกี่ยวเนื่องกันอีกข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อีกทั้งยังมีสกู๊ปข่าวพิเศษทางทีวีช่องข่าวเศรษฐกิจของจีน ว่าด้วยยุทธศาสตร์และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอันเนื่องมาจากการขยายเส้นทางรถไฟ(หรือรถไฟฟ้า)ดังกล่าว สัปดาห์นี้อดรนทนไม่ไหว ผมก็เลยขอเลือกเอามาเป็นประเด็นนำเสนอท่านผู้อ่าน ยังไงก็อย่าหาว่าเป็นข่าวเก่าตกสำรวจนะครับ





                  ในส่วนของประเทศจีนนั้น หลังจากปี 2006 เป็นต้นมาจีนไม่เพียงมองการพัฒนาเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟของตนเข้ากับแผนของสหประชาชาติเท่านั้น แต่ยังได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการขยายเส้นทางและปรับปรุงทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติม จนเมื่อปีสองปีมานี้ จีนได้ประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาการขนส่งภายใน ให้เป็นระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อหัวเมืองสำคัญต่างๆของจีนให้สามารถเดินทางถึงกันได้อย่างรวดเร็ว เป้าหมายที่วางไว้ก็คือภายในปี 2015 (บางเมือง ปี 2020 เป็นอย่างช้า) จากมหานครปักกิ่งชาวจีนจะสามารถเดินทางไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศได้ในเวลาน้อยกว่า 8 ชั่วโมง(อาจจะต้องยกเว้นนครลาซาในธิเบต) เป้าหมายทำนองแบบนี้ไม่ใช่เรื่องมาคุยข่มกันเล่นๆ เพราะเวลานี้รถไฟความเร็วสูงของจีนที่วิ่งกันอยู่ ก็สามารถทำความเร็วได้ถึง 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ผมเองเคยเดินทางจากนครซีอานในมณฑลส่านซีไปนครเจิ้งโจวมณฑลเหอหนานด้วยรถยนต์ ใช้เวลาหมดไปเกือบ 6 ชั่วโมง มาเมื่อสองเดือนก่อนได้มีโอกาสใช้บริการรถไฟความเร็วสูงของจีน ปรากฏว่าช่วงระยะทางเดียวกัน ใช้เวลาเพียง 1ชั่วโมงกับ 51 นาทีเท่านั้น เส้นทางปักกิ่ง - เซี้ยงไฮ้ระยะทาง 1,318 กิโลเมตรที่กำลังจะเปิดให้บริการใหม่ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ ก็จะใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น



           ความสำเร็จของการพัฒนาระบบ การขนส่งทางรางในประเทศจีนนี้เอง ได้ทำให้จีนตั้งเป้าหมายก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการเจรจากับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟตามกรอบข้อตกลงของ Trans Asian Railway เดิมในส่วนโครงข่ายตะวันออกเฉียงใต้ มาเป็นระบบรถไฟความเร็วสูง เท่าที่ทราบในเวลานี้ จากข้อมูลของฝ่ายจีน เห็นว่าเคลียร์กันได้หมดทั้ง 7 ประเทศที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงเป็นที่มาของข่าวการลงมือก่อสร้างเส้นทางเมื่อสัปดาห์ก่อน เส้นทางสายแรกที่กำลังลงมืออยู่นี้ จากนครคุนหมิงวิ่งมาทางตะวันออกเชื่อมกับศูนย์การขนส่งเมืองชายแดนบ่อหานที่จีนกำลังพัฒนาอยู่ ข้ามชายแดนเข้าประเทศลาววิ่งตรงเข้าเวียงจันทน์ ข้ามเข้ามาประเทศไทย ผ่านกรุงเทพฯ ลงไปทางทิศใต้ เข้าสู่เขตแดนมาเลเซียและสุดทางที่สิงคโปร์ ส่วนสายที่สองนั้น ข่าวยังไม่ได้ระบุว่าจะลงมือเมื่อไร แต่การสำรวจศึกษาและออกแบบ บริษัทของจีนได้ทำเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เส้นทางนี้เมื่อออกจากประเทศจีนก็จะเลาะแนวทางรถไฟเดิมทางตะวันออกของเวียดนามลงมากัมพูชา ก่อนที่จะวกมาทางทิศตะวันตกตรงเข้าเชื่อมกับเส้นทางแรกที่กรุงเทพฯ เส้นทางที่สามก็จะมาทางด้านประเทศพม่า ด้านหนึ่งมุ่งไปอินเดีย อีกด้านหนึ่งก็วกเข้ามาเชื่อมเส้นแรกที่กรุงเทพฯเช่นเดียวกัน คนไทยเราเมื่อทราบข่าวการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงตามแผนข้างต้น ก็ออกอาการตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย เพราะอยู่ๆก็ส้มหล่น กรุงเทพฯกลายมาเป็นสี่แยกชุมทางใหญ่ เป็นศูนย์กลางเลยก็ว่าได้ มีจีน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์นั่งรถไฟความเร็วสูงผ่านไปมาคึกคักอลหม่านน่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง




      ผมเองก็ใช่ว่าจะไม่ตื่นเต้น เพียงแต่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะตื่นเต้นอย่างไรให้ดูดีมีเหตุมีผลสักหน่อยว่าที่จริงแนวทางการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางซีกตะวันออกเฉียงใต้ของโครงข่าย Trans Asian Railway (TAR) ซึ่งริเริ่มคิดกันมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960 แต่ก็ติดๆ ขัดๆ ด้วยเหตุทางการเมืองในยุคสงครามเย็น และข้อจำกัดขัดข้องของขนาดรางที่ต่างคนต่างใช้ อีกทั้งยังขาดงบประมาณการลงทุนในการสร้างทางเชื่อมต่อเพิ่มจากของเดิมที่พอมีอยู่แล้ว เพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในปี 2006 เมื่อสหประชาชาติโดยองค์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเอเชียแปซิฟิกเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและลงนามข้อตกลงในการพัฒนาเชื่อมต่อทางรถไฟเข้าด้วยกันของ 17 ชาติในเอเชีย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2006 หากดูจากแผนที่ก็จะเห็นว่าเส้นทางสายคุนหมิง-สิงคโปร์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้โดยผ่านจากคุนหมิงมากรุงเทพฯ เข้ามาเลเซียก่อนที่จะไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ เป็นหนึ่งใน 4 โครงข่ายต่อเชื่อมทวีปเอเชียเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะไปเชื่อมกับทวีปยุโรปตามแผนของสหประชาชาติ

                       ภูมิภาคที่เรียกกันว่าเอเชียตะวันออกนี้ แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยแยกจากกันเป็นอิสระหรอกครับ เชื่อมถึงกันทั้งโดยทางการค้า การเมือง และทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด ประเทศไทยเราเอง ก็เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างจีนและอินเดียมาแต่โบราณ ด้วยเหตุที่มีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ จีนถูกกันออกไปด้วยเหตุทางการเมือง คนไทยเราและเพื่อนบ้านแถบนี้ก็เลยหันไปคบหากับตะวันตกมากเป็นพิเศษ จนแยกมาเรียกเป็นกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาบัดนี้ โดยการริเริ่มของจีน ตั้งแต่หลังสงครามเย็นและอาเซียนบวกสามเป็นต้นมา อุปสรรคขัดขวางทางการเมืองก็หมดไป ข้อจำกัดทางภาษีและการค้าก็หมดไปเพราะข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน -อาเซียน หากแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งสามเส้นทางสร้างเสร็จ ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ก็จะหมดไปด้วย(คุนหมิง-สิงคโปร์ใช้เวลาแค่ 10 ชั่วโมงกว่าๆ) ผมเดาว่าอะไรต่อมิอะไรแถวๆนี้รวมทั้งในบ้านเราก็จะเปลี่ยนไปมาก พูดเป็นภาษาวิชาการหน่อยก็คือ รถไฟความเร็วสูงทั้งสามสายจะผลิกเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของทั้งภูมิภาคอย่างขนานใหญ่ เราจะนั่งมองดูรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านไปมาหน้าบ้านด้วยความตื่นเต้นดีใจเพราะเห็นของแปลกของใหม่ หรือควรต้องลุกขึ้นมาคิดอ่านรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่เพียงกับบ้านเราแต่กับทั้งภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น