ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

สถานการณ์พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ล่วงเข้ามาเป็นวันที่ 13 แล้ว นับแต่เกิดเหตุธรณีพิบัติและคลื่นยักษ์ถล่มสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้คนในประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยปัญหาที่เกิดจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่า ผมขอร่วมไว้อาลัยต่อความสูญเสียของพี่น้องเพื่อนร่วมโลกชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้ร่วมกันแสดงน้ำใจของชาวไทย ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดผูกพันกับเรามากเป็นลำดับต้นๆ ชาติหนึ่ง ทราบว่าหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชนต่างก็ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค เพื่อรวบรวมน้ำใจของชาวไทยเราส่งต่อไปให้พี่น้องชาวญี่ปุ่นที่กำลังเดือดร้อนกันอยู่ ใครใกล้ที่ไหนสะดวกที่ไหนก็เชิญเลยครับ
ผลกระทบจากเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่น เฉพาะหน้าก็คงสร้างความตระหนกและเศร้าเสียใจให้แก่ผู้คนทั่วโลก น้ำใจและความช่วยเหลือจากนานาชาติที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในคราวนี้ คงสะท้อนให้เห็นระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ ที่ไม่เพียงกระทบต่อชาวญี่ปุ่น แต่ยังรวมถึงชาวโลกโดยทั่วไปที่ได้รับรู้ข่าว ผลกระทบในระยะกลางที่จะตามมา ก็คงหนีไม่พ้นความห่วงใยที่จะมีต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และผลกระทบจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่กระจายออกมาจากการระเบิดของโรงไฟฟ้า


แต่ที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในวันนี้ เป็นเรื่องผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศจีน และสถานการณ์พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศจีน อันสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในฟูกูชิมาของญี่ปุ่น ที่ผ่านมาจีนเองเจอกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวไม่น้อยไปกว่าญี่ปุ่น ก่อนหน้าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคมในญี่ปุ่น จีนก็เพิ่งเจอแผ่นดินไหวรุนแรงในยูนนานไปหมาดๆ ก่อนหน้าญี่ปุ่นแค่สองวัน แต่ที่สร้างผลกระทบต่อจีนอย่างมากในวงกว้าง คือเรื่องปัญหาโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่า แม้จะอยู่ด้านแปซิฟิกคนละด้านกับชายฝั่งประเทศจีน แต่ก็จัดว่าใกล้กับจีนมากหากวัดจากมณฑลซานตงของจีน ความตื่นตระหนกและข่าวลือต่างๆแพร่กระจายไปทั่วในหมู่ชาวจีนที่อยู่แถบชายฝั่งตะวันออก ทั้งปากต่อปากและร่ำลือกันในอินเตอร์เน็ต นับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้าฯ มาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐบาลจีนก็เลยงานเข้า จากที่เดิมต้องคอยดูแลการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศในเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง มาตอนนี้ต้องวิ่งไล่จับพวกปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับผลกระทบของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ล่าสุดสดๆ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็เพิ่งออกข่าวจับตัวมือแพร่ข่าวลือรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองหังโจว ในความผิดเผยแพร่ข่าวเท็จทางอินเตอร์เน็ตว่าน้ำทะเลรอบชายฝั่งมณฑลซานตงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น แน่นอนว่าไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้าย ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือเรื่องการใช้เกลือทะเลที่มีสารไอโอดีนอยู่มาก เพื่อป้องกันการรับสารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น(ที่ลือกันว่าฟุ้งกระจายมาถึงจีนเรียบร้อยแล้ว) ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากที่เชื่อข่าวลือ แห่กันออกมากว้านซื้อเกลือสมุทรกันไปกักตุนอย่างเอาจริงเอาจัง จนตลาดเกลือสมุทรในจีนปั่นป่วนขาดตลาดต้องขึ้นราคากันเกือบสามเท่าตัว ที่ร้ายไปกว่านั้น ยังปรากฏมีคนปากเสีย(มือบอนด้วยอีกต่างหาก)ไปโพสต์ในอินเตอร์เน็ตว่าโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของจีนเองก็อาจมีปัญหาตอนเกิดแผ่นดินไหว


ข่าวลือไม่เป็นมงคลประการหลังนี้แหละที่ทำให้ทางการจีนเดือดร้อนเป็นพิเศษ ปัจจุบันจีนมีโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เดินเครื่องทำงานอยู่ 13 โรง กระจายอยู่ใน 4 จุดบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศ และกำลังก่อสร้างใกล้เสร็จอีก 25 โรง ส่วนใหญ่ที่กำลังสร้างใหม่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้และภาคตะวันออก เพราะไม่สะดวกที่จะขนถ่ายถ่านหินจากภาคเหนือมาผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนพื้นที่ทางใต้ ประกอบกับเป็นพื้นที่บริเวณที่มีอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดของประเทศ อย่างไรดี ตามแผนของการพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาพลังงานได้ด้วยตัวเอง จีนมีโครงการจะต้องขยายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นให้ได้ 70 GW หรือร้อยละ 5ของพลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายใน คศ.2020(หนึ่งกิ๊กกะวัตต์ = 1,000 เมกกะวัตต์) และให้ได้ 250 GWหรือร้อยละ 16 ของพลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดภายในปีคศ.2030 ในปัจจุบันหลายพื้นที่ซึ่งมีอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง ไฟ้ฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้เพิ่มขึ้นก็มาจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ตัวอย่างเช่นร้อยละ 20 ของไฟฟ้าที่ใช้ในเขตเศรษฐกิจฮ่องกงได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์อ่าวต้าหยาในฝั่งจีน เมืองใหญ่อื่นๆของจีนที่กำลังโตวันโตคืน อัตราการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็ล้วนได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ผลิตโดยกลุ่มสองยักษ์ใหญ่เดิมคือ กลุ่มวิสาหกิจนิวเคลียร์แห่งชาติจีนและกลุ่มบริษัทพลังงานนิวเคลียร์กวางตง และห้ายักษ์พลังงานเกิดใหม่คือ กลุ่มบริษัทหัวเหนิง กลุ่มบริษัทหัวเตี้ยน กลุ่มบริษัทต้าถัง กลุ่มบริษัทเจียงซีนิวเคลียร์ และกลุ่มบริษัทกว๋อเตี้ยน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาล และอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติของจีน(SASAC)


ด้วยความรีบเร่งของแผนการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างที่เป็นอยู่ในประเทศจีนปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัย แม้ก่อนหน้าเหตุการณ์ที่ฟูกูชิม่า มาตอนนี้ความกังขาและวิตกกังวลก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะการเร่งรัดโครงการก่อสร้างในหลายกรณี ทำให้ผู้รับเหมาหลักจำเป็นต้องซอยสัญญาว่าจ้างให้ผู้รับเหมาช่วงเข้ามาช่วยก่อสร้าง เกิดเป็นคำถามทั่วไปในหมู่ผู้สังเกตการณ์ตะวันตก ว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านมาตรฐานของโครงสร้างตัวโรงงานในอนาคตได้หรือไม่ ปัญหาน่าปวดหัวที่ตามมาอีกประการหนึ่ง ก็คือความเชื่อมั่นต่ออนาคตของโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกเทคโนโลยีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในต่างประเทศของบริษัทจีน คงไม่ต้องบอกหรอกนะครับว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เดิมให้ความสนใจในเทคโนโลยีด้านนี้ของจีนอยู่ เวียดนามและประเทศไทยเองก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แม้เวียดนามยังคงยืนยันเดินหน้า แต่ผมเชื่อว่าอีกหลายประเทศคงต้องถอยไปตั้งหลักกันใหม่ เพราะไม่สามารถฝืนกระแสความรู้สึกวิตกกังวลของสาธารณชนได้ เท่ากับทำให้จีนเสียโอกาสและออกจะเสียศักดิ์ศรีอยู่หน่อยๆ แต่ทำไงได้ละครับ เรื่องแบบนี้ ใครที่ตามข่าวฟูกูชิม่าอยู่ จะบอกให้อย่ากลัวคงยากครับ

วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทุนจีนยึดกัมพูชา

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



          บทความที่ผมเขียนอยู่นี้จะให้ความสำคัญนำเสนอข่าวเหตุการณ์ในประเทศจีนที่เกิดขึ้นแต่ละสัปดาห์นำมาเรียบเรียงรายงานท่านผู้อ่านให้ได้รับทราบกันในแบบสบายๆ  ยังไม่เคยนำเรื่องราวของกิจการที่จีนไปดำเนินการนอกประเทศมานำเสนอ  แต่วันนี้ผมจะขออนุญาตท่านผู้อ่านชวนกันออกนอกประเทศจีนสักครั้ง  เหตุก็เพราะในช่วงระยะสองเดือนมานี้  หากดูจากข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ของจีน  ไม่จะเป็นรายงานข่าวทั่วไปหรือสกู๊ปข่าวพิเศษ ทั้งในหน้าข่าวต่างประเทศและข่าวเศรษฐกิจ  เกือบจะทุกวันหรือวันเว้นวันเป็นอย่างน้อย  ต้องมีข่าวเกี่ยวกับประเทศกัมพูชาปรากฏอยู่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งชิ้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เพิ่งจะมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าที่จีนไปลงทุนไว้ ผมก็เลยเกิดอาการคัน  ขอชวนท่านผู้อ่านมาติดตามทุนจีนที่กำลังไหลบ่าเข้าสู่ประเทศกัมพูชาอย่างคึกคักในช่วงนี้


         
       ที่ว่าเป็นข่าวการลงทุนใหญ่ก็เพราะเป็นโครงการลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้าขนาด 120,000 TEUs (ขนาด 20 ฟุต) ต่อปี จะใช่เป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในกัมพูชาหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะเท่าที่ทราบเวลานี้ท่าเทียบเรือสินค้าริมน้ำโขงนอกพนมเปญก็มีความสามารถขนถ่ายได้เพียง 80,000 TEUs ต่อปีเท่านั้น พิธีลงเสาเอกเริ่มโครงการก่อสร้างนี้จัดว่าเป็นข่าวใหญ่ทั้งในประเทศกัมพูชาและในประเทศจีน นอกจากนายกฯฮุนเซนและทูตจีนประจำประเทศกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมในการเปิดการก่อสร้างแล้ว ดูเหมือนฝ่ายกัมพูชาจะออกการ์ดเชิญผู้คนในวงการทูตประจำกรุงพนมเปญและนักธุรกิจต่างชาติ มาเกือบหมดเมืองกว่าสองพันคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักธุรกิจจีนในประเทศกัมพูชา บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างท่าเทียบเรือนี้ก็เป็นบริษัทจีนจากนครเซี้ยงไฮ้ โดยรัฐบาลจีนให้เงินกู้ดอกเบี้ยถูกแก่กัมพูชาในโครงการนี้คิดเป็นเงินกว่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐ  


      รายงานข่าวบอกไว้ว่าท่านนายกฯ ฮุนเซนปลื้มงานนี้มากเป็นพิเศษ กล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณฝ่ายจีนยกยอเชิญชวนให้จีนเพิ่มการลงทุนในประเทศกัมพูชาในด้านอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังยืนยันว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือนี้จะช่วยขยายการค้าระหว่างจีนและกัมพูชาให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน โดยตั้งเป้าที่จะส่งข้าวให้ประเทศจีนทะลุหนึ่งล้านตันภายในปีนี้  ฝ่ายท่านฑูตจีนประจำกัมพูชาก็รับปากว่าจีนยินดีที่จะเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้กับกัมพูชาอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีโครงการลงทุนใหญ่ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำภายในประเทศของกัมพูชา โครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนความต้องการที่กำลังขยายตัวในประเทศกัมพูชา อีกทั้งยังมีความประสงค์จะขยายการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรของกัมพูชาเพื่อการส่งออกไปยังตลาดจีน เรียกว่าหวานชื่นกันทั้งสองฝ่ายตลอดงาน



              หากดูจากพัฒนาการและการขยายตัวของการค้าการลงทุนที่นักธุรกิจชาวจีนชักแถวกันเข้าไปทำในประเทศกัมพูชา  เรื่องที่ทั้งสองฝ่ายพูดไว้ข้างต้นก็ไม่ใช่การพูดเล่นๆหรือพูดเอาใจกันแบบภาษาทางการทูต เพราะตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างจริงจังในช่วงสาม-สี่ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขในสองปีหลัง จาก 791 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2009 มาเป็น 1,120 เหรียญสหรัฐใน ปี 2010 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.5 โดยเฉพาะในด้านสินค้าเกษตรและการแปรรูปอาหารของกัมพูชา เวลานี้นักลงทุนจากจีนเข้าไปลงทุนติดอันดับต้นๆ ไปเรียบร้อยแล้ว   เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพานิชของจีนก็เพิ่งเดินทางมาเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการอยู่หลายวันเพื่อร่วมประชุมการเจรจาความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-กัมพูชา ครั้งที่ 2 เรื่องสำคัญๆ ที่มีการเจรจาจนเป็นมรรคเป็นผลจนถึงขั้นลงนามความร่วมมือกันสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ต้องติดตามดูเป็นพิเศษมีข้อตกลงร่วมมือที่ลงนามไปแล้ว 6 ฉบับคือ  โครงการเงินกู้ระยะยาวของกระทรวงเศรษฐกิจการคลังกัมพูชา โครงการให้ความร่วมมือพัฒนาระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศแบบให้เปล่าแก่รัฐสภากัมพูชา โครงการให้ความช่วยเหลือและจัดหาผู้เชี่ยวชาญชาวจีนทำการศึกษาและสำรวจการจัดตั้งอาคารปฏิบัติการและวิจัยทางการเกษตร โครงเงินกู้พัฒนาระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าแรงสูง โครงการเงินกู้พัฒนาและขยายทางหลวงหมายเลข 6ของกัมพูชา และสุดท้ายการลงนามในสัญญาก่อสร้างทางหลวงโดยบริษัทจีนในประเทศกัมพูชา



                 นอกจากที่กล่าวถึงข้างต้น จีนกับกัมพูชายังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อขยายการลงทุนอื่นๆของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชานกรุงพนมเปญและการพัฒนาเมืองสีหนุวิลล์ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการตัดหรือขยายถนนหลวงเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้อีกมากมายหลายสิบโครงการ รวมไปจนถึงเมืองกำปงจามด้วย ที่จริงก็เป็นอะไรที่สอดคล้องกับข่าวซึ่งมีมาก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว ตอนที่ท่านนายยกฯ ฮุนเซนไปเยือนจีนในวงการฑูตที่ปักกิ่งมีเสียงแอบลือกันในเวลานั้นว่าได้มีการเจรจาเกี่ยวกับการร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งยิ่ง ทั้งยุทธศาสตร์ทางทหารและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเป็นแพ็คเกจใหญ่แลกกับความช่วยเหลือของฝ่ายจีน 
                  ผมนำเอาเรื่องจีน-เขมรมาเล่าสู่กันฟังว่าเขากอดกันกลม พากันลงทุนพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-กัมพูชาในอนาคตเป็นเรื่องไม่ธรรมดาต้องจับตาดูเป็นพิเศษโดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาในทะเลน่านน้ำเขตเศรษฐกิจของกัมพูชา ในขณะที่พวกเราบางคนบางกลุ่มอาจกำลังหงุดหงิดอย่างจะยกกองทัพลุยไปยึดดินแดนตรงนั้นตรงนี้คืนจากกัมพูชา ก็อยากให้มองอนาคตให้กว้างๆ ไกลๆ กันหน่อยก็จะดีครับ เวลาคับขันขึ้นมามิตรแท้จะมีก็เฉพาะเวลาที่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมันไปด้วยกันได้เท่านั้น
  

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

เป้าหมายหลักแผนพัฒนา12/5

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                  ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่าผมแอบไปเที่ยวเมืองจีนมาอีกแล้ว  คราวนี้ไปงานติดตามผลคณะนักวิจัยไทยสามทีมที่ได้รับการสนับสนุนให้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)  ออกเดินทางทันทีเมื่อวันอังคารที่1 เร่ร่อนอยู่ห้าวันในประเทศจีน  ที่ว่าเร่ร่อนก็เพราะวิ่งไปมาเจ็ดหัวเมือง แต่ละคืนนอนโรงแรมไม่ซ้ำกันเลยก็สนุกและเหนื่อยดีครับ  ไปคราวนี้นอกจากจะไปตามดูการดำเนินงานเก็บข้อมูลสนามของทีมวิจัยแล้ว  ก็ยังได้มีโอกาสพูดคุยพบปะกับนักวิชาการและอุตสาหกรของจีนหลายคน  เรียกว่าได้อัพเดทข้อมูลทางตรงเพิ่มขึ้นอีกมาก  จังหวะเดียวกันกับที่ผมอยู่ในประเทศจีนก็เป็นห้วงเวลาที่มีงานประชุมใหญ่สมัชชาประชนสมัยที่ 11ครั้งที่ 4  วันๆ อ่านหนังสือพิมพ์จีนเลยท่วมท้นไปด้วยข่าวสารวาระการประชุม และประเด็นนโยบายต่างๆ มากมายเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ไปหมด  ที่ดูเหมือนจะได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และมีรายละเอียดกล่าวขานกันมากเป็นพิเศษเห็นจะได้แก่การอภิปรายของที่ประชุมฯ เกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 ของจีน (เรียกกันสั้นๆ ในจีนว่าแผน12/5)  ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2011 นี้ เพื่อให้อินเทรนด์ผมก็เลยจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านสำรวจตรวจสอบดูว่าผลจากที่ประชุมใหญ่เที่ยวนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับแผน 12/5 เขาสรุปความกันอย่างไรบ้าง

 เป้าหมายหลักด้านเศรษฐกิจ
-กำหนดเป้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยไว้ที่ร้อยละ 7 ต่อปีในช่วงปี2011 - 2015
-สร้างงานใหม่ในเขตเมืองให้ได้รวม 45 ล้านตำแหน่ง
-ควบคุมภาวะการว่างงานในเขตเมืองไม่ให้เกินร้อยละ 5
-ควบคุมให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีเสถียรภาพ
-เพิ่มกำลังบริโภคภายในประเทศเพื่อเตรียมรับการส่งออกที่อาจชะลอตัว
-ปรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของประเทศให้แข่งขันได้มากขึ้น
-เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมภาคบริการให้ได้ถึงร้อยละ 47 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (ร้อยละ 4 ต่อปี)
-พัฒนาเขตชนบทให้เป็นเมืองให้ได้สัดส่วนเมือง/ชนบทเท่ากับ 51.5/48.5

เป้าหมายหลักด้านพัฒนาเทคโนโลยี
-เพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาให้ได้ร้อยละ 2.2 ของ GDP
-เพิ่มสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ให้ได้ 3.3 สิทธิบัตรต่อประชากร 10,000

เป้าหมายหลักด้านสิ่งแวดล้อม
-เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 11.4
-เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำต่อหน่วยอีกร้อยละ 30
-ประหยัดการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 16
-ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 17
-เพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็นร้อยละ 21.66
เป้าหมายหลักด้านการเกษตร
-กำหนดปริมาณผลผลิตธัญพืชไม่ให้ต่ำกว่า 540 ล้านตัน
-รักษาพื้นที่เกษตรกรรมไม่ให้ต่ำกว่า 1,818 ล้านหมู่
เป้าหมายหลักด้ายประชากร
-คุมจำนวนประชากรให้อยู่ที่ 1,390 ล้านคน
-เพิ่มอายุขัยเฉลี่ยประชากรสูงวัยอย่างน้อยอีกหนึ่งปี
เป้าหมายหลักด้านสังคม
-จัดสวัสดิการให้ครอบคลุมประชากรทั้งเขตเมืองและชนบท
-สร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกเพื่อผู้มีรายได้ต่ำอีก 36 ล้านหน่วย
-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 13 ต่อปี
-จัดหาบริการสาธารณะทั้งเขตเมืองและชนบท
-เพิ่มจำนวนอาสาสมัครสังคมให้ได้ร้อยละ 10 ของประชากร


                 เห็นเป้าหมายข้างต้นทั้งหมดแล้วคงหน้ามืดแทน  ท่านผู้อ่านที่ไม่รู้จักประเทศจีนดีพออาจมองว่าเพ้อฝันเกินจริงในหลายเป้าหมาย  แต่ท่านที่ได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับการพัฒนาของประเทศจีนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาคงคิดอีกแบบ  ผมเองก็ไม่ได้เชื่อว่าจะสามารถทำได้สำเร็จครบทุกเป้าในช่วงห้าปีข้างหน้านี้  แต่ก็อย่าประมาท เพราะหลายเรื่องที่ฝรั่งไม่คิดว่าจีนจะทำสำเร็จ จีนก็พิสูจน์มาแล้วว่าทำได้และทำได้เร็วกว่าฝรั่งด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายของแผนนะครับ จะออกมายังไงก็คงต้องรอดูกัน ใครอยากรู้ลึกกว่านี้ ทราบว่าช่วงปลายเดือนมีนาคมวันที่ 28 ตอนบ่ายโมง ที่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีสัมนาเจาะลึกแผน 12/5 ของจีน เรียนเชิญท่านที่สนใจไปร่วมเจาะกันได้เลยครับ


แอ๊ดมิชชั่นรวมหรือสอบตรง

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              

               ท่านผู้อ่านซึ่งมีบุตรหลานในความดูแลที่จะต้องสอบเข้มหาวิทยาลัยในปีนี้  คงกำลังอยู่ในช่วงที่เครียดตามบุตรหลานไปด้วย ยกเว้นแต่บรรดาท่านที่ลูกหลานไปสอบตรงรู้ผลกันแล้วว่าได้ที่โน้นที่นี่  กลุ่มหลังนี้ก็อาจกำลังเครียดอีกแบบหนึ่ง  กล่าวคือได้เคยสัญญาจะตกรางวัลให้ลูกหลานหากว่าสอบติด  มาตอนนี้ก็ถึงเวลาจะต้องแก้บนกับลูกแล้ว ที่เคยสัญญาว่าจะถอยรถใหม่ให้ มาถึงตอนนี้อาจกำลังนึกในใจว่า “ไม่น่าพูดไม่น่าสัญญาเลยยย...” สายไปแล้วแหละครับ การที่ลูกหลานเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของครอบครัวที่เดียว หากเปรียบเทียบกับบรรดานักเรียนม. 6 อีกหลายหมื่นคน  ตอนนี้ชะตากรรมจะเป็นอย่างไร ก็ยังต้องรอลุ้นอีกนับเดือน  ยิ่งในช่วงเดือน 2 เดือนที่ผ่านมา  ข่าวการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับภาระที่นักเรียนจะต้องวิ่งสอบหลายรอบหลายแห่ง ตามสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังที่ต่างคนต่างจัดสอบตรงเอง ยิ่งทำให้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าน่าเครียดน่าเหนื่อยอยู่ไม่น้อย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศที่ประเทศไทยเรา  วันนี้ผมเลยขออนุญาติเทียบเคียงให้เห็นปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ในประเทศจีนเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลาย  เรื่องราวของเขาก็เครียดไม่น้อยไปกว่าเรา หรือหากดูจากจำนวนประชากรหลายท่านอาจเห็นว่าน่าจะเครียดกว่าด้วยซ้ำไป



             
            ผมเคยได้นำเสนอสถิติตัวเลขการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และปัญหาอุดมศึกษาของจีนไปแล้วครั้งหนึ่ง เที่ยวนี้ก็มีพัฒนาการเพิ่มเติมมาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน  เมื่อไม่กี่วันที่แล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำ 7 แห่งในประเทศจีน ได้จัดแถลงข่าวการจัดทดสอบเพื่อคัดเลือกนักศึกษาเข้าใหม่ประจำปี 2011 นี้ จากที่เดิมใช้ข้อสอบรวมแล้วให้เด็กวิ่งสมัครตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งนี้ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเป่ยไฮ่ มหาวิทยาลับปักกิ่งนอร์มอล(วิทยาลัยครูปักกิ่งเดิม) มหาวิทยาลัยฟู่ต้าน มหาวิทยาลัยหนานไค มหาวิทยาลัยเซี่ยะเหมิน และมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง  ทั้ง 7 แห่งถือว่าเป็น 7 สุดยอดความใฝ่ฝันของเด็มมัธยมปลายทุกคนในประเทศจีนก็ว่าได้ ที่ผ่านมาอัตราการแข่งขันสมัครเข้าสูงมากๆ  จนเป็นปัญหาให้กับแต่ละมหาวิทยาลัย การประกาศร่วมมือกันจัดสอบเพิ่มต่างหากอีกหนึ่งการทดสอบ นอกเหนือไปจากที่นักเรียนทั่วไปต้องสอบวิชารวมระดับชาติแล้ว  อาจช่วยแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ได้ ในทำนองเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของเราคิดอ่านกันตอนตัดสินใจสอบตรง แต่ในทัศนะของผู้ปกครองและสาธารณชน การประกาศรวมตัวจัดสอบเพิ่มของทั้ง 7 มหาวิทยาลัยจีนเที่ยวนี้เรียกว่างานเข้าทันที่มีผู้คนชาวจีนจำนวนมากทั้งผู้ปกครองและเด็กแห่กันเข้าแสดงความคิดเห็นในสื่ออินเตอร์เน็ตอย่างท่วมท้นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  แต่อย่างที่เราท่านคงพอเดาออก เสียงด่ามีมากกว่าเสียงชมเป็นธรรมดา


                  
                             มองโลกในด้านดี  เด็กที่ตั้งใจจะสอบเข้ามหาวิทยาดังๆ เหล่านี้  จะสบายมากขึ้นเพราะสามารถเตรียมตัวมุ่งสอบเพิ่มในคั้งคราวเดียว แต่สามารถเลือกได้ถึง 7 มหาวิทยาลัยดังมีโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์ได้หลายมหาวิทยาลัยไม่ต้องทะยอยวิ่งสอบทีละแห่งๆ  แต่หากมองโลกในแง่ร้ายทั้ง 7 มหาวิทยาลัยกำลังทำตัวเป็นรัฐอภิสิทธิ์และก่อให้เกิดปัญหาหนักกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพราะก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่งและอีก 20 กว่าแห่งก็เคยได้อภิสิทธิ์ในการเปิดโควต้าพิเศษสำหรับเด็กที่มีผลการเรียนมัธยมปลาย ในกลุ่มคะแนนสูงสุด5% แรกในช่วงปี 2003  มาภายหลังจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 80 กว่ามหาวิทยาลัยก็พากันขอสิทธิ์พิเศษบ้าง ตอนนี้พอมีการจัดสอบพิเศษนักเรียนจำนวนมากก็เลยอาจเห็นช่องทางเผื่อเลือกทั้งสมัครตรงทั้งใช้สิทธ์ผลการเรียนดี ทั้งขอสมัครสอบพิเศษกลุ่ม 7 มหาวิทยาลัย แน่นอนว่างานนี้ มีทั้งคนได้และคนเสียประโยชน์ แต่ตราบใดที่มหาวิทยาลัยต่างๆยังคงสิทธ์ขาดในการรับเข้านักศึกษาใหม่ เสียงบ่นเสียงประท้วงก็ทำกันเพียงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ยังไม่ถึงกับลุกขึ้นมาต่อว่าเอาเรื่องกัน


               อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามาแต่เดิมและอาจรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันสืบเนื่องมาจากการเพิ่มวิธีสอบเข้าอีกหนึ่งช่องทาง  ก็คือการติวสอบหรือโรงเรียนกวดวิชา  ในประเทศไทยเราปัญหาเป็นอย่างไร ในประเทศจีนต้องคูณเข้าไปอีก 10 หรือ 20 เท่าตัว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเพื่อแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยในการสอบเดือนมิถุนายนปีนี้  ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กนักเรียนทั้งหลายต่างก็วิ่งหาที่เรียนกวดวิชากันหัวหมุนหัวปั่นตามเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายของประเทศจีน ผู้บริหารหลายรายที่เป็นเจ้าของกิจการกวดวิชาต่างก็ต้องเตรียมขยายห้องเรียนและเตรียมตัวครูอาจารย์ผู้สอนเพิ่มตามความต้องการที่มีมากขึ้น  แม้ว่าจำนวนเด็กมัธยมปลายโดยรวมที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยจะลดลง (จากเดิม 10.5 ล้านในปี 2008 เหลือไม่ถึง 9 ล้านคนในปีใหม่นี้)  ผลประกอบการโดยเฉลี่ยของธุรกิจในด้านนี้เติบโตที่ประมาณร้อยละ 30-50 ในแต่ละปี โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งมีอาจารย์มากถึง 200 กว่าคนมีรายได้จากค่าสมัครเรียน เฉพาะในช่วงติวสอบเข้ามหาวิทยาลัยสูงถึงกว่า 22 ล้านหยวน  แม้จะยังไม่มีใครแน่ใจว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมจะเป็นเท่าไรต่อปีทั่วทั้งประเทศ  แต่ก็คงนึกภาพออกว่า เป็นธุรกิจที่ไม่ธรรมดาเลย


                 
               ใครที่คิดว่าบ้านเรามีปัญหาเยอะเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัยอาจรู้สึกสบายใจขึ้น หากได้มีโอกาสรับรู้รับทราบปัญหาทำนองเดียวกัน ที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองในประเทศอื่นๆ  ผมก็ไม่ได้คิดจะแก้ตัวแทนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหรอกครับ  เพียงแต่อยากจะบอกว่ามันคงแก้ไขกันไม่ได้ง่ายๆ ตราบเท่าที่ยังมีค่านิยมอยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง



วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ฟ้าคำรณจากตะวันออกกลาง

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



              ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศสม่ำเสมอคงได้รับทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่ามีเหตุเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดขึ้นในประเทศแถบแอฟริกาตอนบนและลุกลามมาถึงตะวันออกกลาง เริ่มต้นจากการจราจลในตูนิเซียจนถึงโค้นล้มเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 14 มกราคมที่ผ่านมา ขยายตัวมาเป็นการก่อความไม่สงบในอัลบาเนีย แอลจีเรีย จอร์แดน และข้ามมาถึงไคโรในอียีปต์ เวลานี้การยึดกุมอำนาจการเมืองมายาวนานเกือบ 30 ปีของประธานาธิปดีฮอสนี่ มูบารัค ก็เป็นอันถึงจุดจบไปเรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนกระแสคลื่นความตื่นตัวของพลังประชาชนที่โหยหาประชาธิปไตย ยังไม่มีทีท่าจะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น ในทางตรงข้าม เกิดกระแสเลียนแบบแพร่ไปทั่วในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโอมาน เยเมน เลบานอน เรียกกันเป็นศัพท์แสงวัยรุ่นในโลกไซเบอร์ว่าเป็นคลื่นการปฏิวัติดอกบัว(Lotus Revolution) จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่า บรรดาผู้นำเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการทั้งหลายในประเทศเหล่านั้นจะสามารถควบคุมได้อยู่หรือไม่ ยังจะมีอีกกี่ประเทศที่คลื่นประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

                  เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนหนังสืออยู่ในคณะรัฐศาสตร์ เฝ้าจับตามองพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนครั้งนี้แบบใจจรดใจจ่อ  สบโอกาสท่านก็ถามผมว่าบรรดาผู้นำพรรคและรัฐบาลของประเทศจีนยังอยู่ดีนอนหลับกันหรือไม่อย่างไร  ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่ได้คิดเชื่อมโยงเรื่องราวนี้ไปถึงประเทศจีนแต่อย่างใดยกเว้นเรื่องราคาน้ำมันที่อาจส่งผลกระทบ แต่พออาจารย์ท่านที่ว่านี้ทักขึ้น ผมเองก็เกิดอาการขนลุกวาบขึ้นมาทันที เพราะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์ทางการเมืองและการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในตะวันออกกลางขณะนี้ น่าจะต้องส่งผลต่อผู้คนในประเทศจีนอย่างมากแน่นอน ภาพเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ.1989 แม้ผ่านมาร่วม 22 ปีแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังฝากบาดแผลเป็นรอยลึกในความทรงจำของชาวจีนจำนวนมาก  ภาพเหตุการฝูงชนจำนวนมากประท้วงและการยิงต่อสู้ระหว่างประชาชนสองฝ่ายในจตุรัสกลางเมืองไคโร หากเผยแพร่โดยเสรีในสื่อจีน  คงทำให้คนจำนวนมากเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมินได้ไม่ยาก ดีไม่ดีอาจย้อนรำลึกไปถึงเหตุการณ์เก่าก่อนอีกมากมายหลายกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน หรืออย่างน้อยก็อาจทำให้คนจีนจำนวนมากแอบลุ้นเอาใจช่วยขบวนการประชาชนชาวอียิปต์ในได้ชัยชนะ
                   ด้วยความที่ถูกเพื่อนทัก ผมก็เลยเข้าไปสืบค้นหาข่าวดูตามหน้าสื่อต่างๆย้อนหลังตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเมื่อเกิดเหตุขึ้นใหม่ๆในประเทศตูนิเซีย  ปรารกฏว่าก็พอมีข่าวสั้นๆ อยู่บ้าง ในแนวทำนองว่า “กระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นห่วงเหตุการณ์ความรุนแรง และหวังว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ความสงบโดยเร็ว” อะไรทำนองนั้น  แต่พอมาถึงกรณีการประท้วงและจราจลในอียิปต์ กลับปรากฏว่าข่าวหายเงียบไปจากสื่อจีนทุกรูปแบบ  กระทรวงการต่างประเทศของจีนเองก็ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยเพียงแค่ฉบับเดียว(ไม่เหมือนกรณีไทย-กัมพูชา เห็นกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงข่าวหลายรอบเหลือเกิน) แล้วก็ไม่มีการพูดถึงอีกเลย  ผมเองเริ่มรู้สึกว่าชักจะน่าสนใจ ก็เลยลองเข้าไปในเสริซเอ็นจินภาษาจีน เพื่อลองค้นคำภาษาจีนว่า “ประท้วงในอียิปต์”  ปรากฏว่าหาผลการสืบค้นไม่ได้ หน้าจอขึ้นมาว่าระบบผิดพลาด ลองทำอยู่หลายครั้งก็ได้ผลเหมือนเดิม เรื่องทำนองแบบนี้จัดว่าเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศจีนก็ว่าได้ การควบคุมสื่อและอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลบาลจีนในกรณีที่มีปัญหาด้านความมั่นคงนั้น ปรากฏให้เห็นได้อยู่เสมอ อย่างกรณีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นายหลิว เสี่ยวปอ ที่ผมเคยนำเสนอท่านผู้อ่านไปก่อนหน้านี้ แม้ข่าวจะออกดังในระดับนานาชาติ แต่ในประเทศจีนเองกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องความมั่นคง และสื่อต่างๆ ถูกควบคุมจำกัดการเสนอข่าวในทุกช่องทาง แม้แต่ในอินเตอร์เน็ตเอง  ในคราวนี้ กรณีของอียิปต์ ข้อสงสัยของเพื่อนอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ดูเหมือนจะมีมูล รัฐบาลจีนมองกรณีดังกล่าวไม่ใช่เพียงเป็นข่าวต่างประเทศชิ้นหนึ่ง แต่อาจเห็นว่าจะสามารถกลายเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในประเทศ หากปล่อยให้มีการนำเสนอข่าว และวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างเสรี  ผมเองได้ลองพยายามค้นคำที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุความวุ่นวายทางการเมือง ในประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ก็ปรากฏได้ผลคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นในเว๊บ Sina.com ใน Netease.com หรือใน Weibo  ในประเทศที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 475 ล้านคน งานแบบนี้จัดว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว โอกาสที่จะปิดกั้นให้ได้เต็มร้อยไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ
                  สาเหตุปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลจีนเดือดร้อนวุ่ยวายได้ขนาดนี้  คงไม่ใช่เพียงเพราะวิญญาณร้ายเทียนอันเหมินมาหลอกหลอน แต่อาจเป็นเพราะโดยภาพรวมแล้วประเทศจีนในเวลานี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาสารพัดจะวุ่นวายอยู่พอแล้ว  ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท ปัญหาคนจนกับคนรวยที่ช่องว่างห่างไกลกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ยังควบคุมไม่ได้และส่งผลกับคนยากจนในพื้นที่ชนบทมากเป็นพิเศษ  แนวโน้มปัญหาภัยแล้งที่เริ่มขึ้นแล้วในปีนี้และทำท่าจะรุนแรงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของจีน  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวร้ายในชีวิตประจำวันของชาวจีนที่เป็นคนยากคนจน และเป็นประเด็นที่นักวิชาการและคนหนุ่มคนสาวตามเมืองใหญ่ที่มีการศึกษาพากันจับกลุ่มแอบนินทารัฐบาลและพรรคเป็นปรกติอยู่แล้ว  ฉะนั้นหากปล่อยให้ข่าวสารการประท้วงลุกฮือของมวลชนในประเทศต่างๆเผยแพร่โดยอิสระ หรือปล่อยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันโดยเสรีในเครือข่ายไซเบอร์  โอการที่จะเกิดเหตุน้ำผึ้งหยดเดียว หรือก่อหวอดประท้วงขึ้นในประเทศจีน มีความเป็นไปได้สูงที่เดียว รัฐบาลและพรรคเตยมีประสบการณ์ในทำนองเช่นนี้มาแล้วเมื่อคราวเทียนอันเหมิน อันสืบเนื่องมาจากความเปลียนแปลงในอดีตสหภาพโซเวียต  เสียงฟ้าร้องฟ้าคำรามที่ดังมาจากดินแดนตะวันออกกลางคราวนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับจีน  หากไม่รีบปิดหูปิดตา อาจพากันตื่นตกใจวิ่งวุ่นก็เป็นได้ ต้องไม่ลืมว่าเหตุประท้วงวุ่นวายถึงขั้นล้มรัฐบาลในตูนิเซียเริ่มต้นมาจากน้ำผึ้งหยดเดียว คือตำรวจจับหนุ่มตกงานที่หันมาเข็นรถขายผลไม้ ในข้อหาไม่มีใบอนุญาต ทำให้เกิดการลุกฮืออย่างไม่คาดไม่ฝัน  เพราะสังคมตูนิเซียโดยรวมก็ถูกปัญหาสารพัดรุมเร้าใกล้จุดระเบิดอยู่แล้ว  รอแต่เพียงให้มีอะไรขวางหูขวางตาผ่านเข้ามา ก็ระเบิดได้ทันที่  ผมก็ได้แต่หวังว่า สังคมจีนคงจะยังไม่เปราะบางถึงขนาดนั้น มิเช่นนั้นอาจพากันเจ็งไปหมดทั้งภูมิภาคก็ได้  อย่าทำเป็นเล่นไป