ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทุนจีนยึดกัมพูชา

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



          บทความที่ผมเขียนอยู่นี้จะให้ความสำคัญนำเสนอข่าวเหตุการณ์ในประเทศจีนที่เกิดขึ้นแต่ละสัปดาห์นำมาเรียบเรียงรายงานท่านผู้อ่านให้ได้รับทราบกันในแบบสบายๆ  ยังไม่เคยนำเรื่องราวของกิจการที่จีนไปดำเนินการนอกประเทศมานำเสนอ  แต่วันนี้ผมจะขออนุญาตท่านผู้อ่านชวนกันออกนอกประเทศจีนสักครั้ง  เหตุก็เพราะในช่วงระยะสองเดือนมานี้  หากดูจากข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ของจีน  ไม่จะเป็นรายงานข่าวทั่วไปหรือสกู๊ปข่าวพิเศษ ทั้งในหน้าข่าวต่างประเทศและข่าวเศรษฐกิจ  เกือบจะทุกวันหรือวันเว้นวันเป็นอย่างน้อย  ต้องมีข่าวเกี่ยวกับประเทศกัมพูชาปรากฏอยู่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งชิ้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เพิ่งจะมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าที่จีนไปลงทุนไว้ ผมก็เลยเกิดอาการคัน  ขอชวนท่านผู้อ่านมาติดตามทุนจีนที่กำลังไหลบ่าเข้าสู่ประเทศกัมพูชาอย่างคึกคักในช่วงนี้


         
       ที่ว่าเป็นข่าวการลงทุนใหญ่ก็เพราะเป็นโครงการลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้าขนาด 120,000 TEUs (ขนาด 20 ฟุต) ต่อปี จะใช่เป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในกัมพูชาหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะเท่าที่ทราบเวลานี้ท่าเทียบเรือสินค้าริมน้ำโขงนอกพนมเปญก็มีความสามารถขนถ่ายได้เพียง 80,000 TEUs ต่อปีเท่านั้น พิธีลงเสาเอกเริ่มโครงการก่อสร้างนี้จัดว่าเป็นข่าวใหญ่ทั้งในประเทศกัมพูชาและในประเทศจีน นอกจากนายกฯฮุนเซนและทูตจีนประจำประเทศกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมในการเปิดการก่อสร้างแล้ว ดูเหมือนฝ่ายกัมพูชาจะออกการ์ดเชิญผู้คนในวงการทูตประจำกรุงพนมเปญและนักธุรกิจต่างชาติ มาเกือบหมดเมืองกว่าสองพันคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักธุรกิจจีนในประเทศกัมพูชา บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างท่าเทียบเรือนี้ก็เป็นบริษัทจีนจากนครเซี้ยงไฮ้ โดยรัฐบาลจีนให้เงินกู้ดอกเบี้ยถูกแก่กัมพูชาในโครงการนี้คิดเป็นเงินกว่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐ  


      รายงานข่าวบอกไว้ว่าท่านนายกฯ ฮุนเซนปลื้มงานนี้มากเป็นพิเศษ กล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณฝ่ายจีนยกยอเชิญชวนให้จีนเพิ่มการลงทุนในประเทศกัมพูชาในด้านอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังยืนยันว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือนี้จะช่วยขยายการค้าระหว่างจีนและกัมพูชาให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน โดยตั้งเป้าที่จะส่งข้าวให้ประเทศจีนทะลุหนึ่งล้านตันภายในปีนี้  ฝ่ายท่านฑูตจีนประจำกัมพูชาก็รับปากว่าจีนยินดีที่จะเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้กับกัมพูชาอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีโครงการลงทุนใหญ่ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำภายในประเทศของกัมพูชา โครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนความต้องการที่กำลังขยายตัวในประเทศกัมพูชา อีกทั้งยังมีความประสงค์จะขยายการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรของกัมพูชาเพื่อการส่งออกไปยังตลาดจีน เรียกว่าหวานชื่นกันทั้งสองฝ่ายตลอดงาน



              หากดูจากพัฒนาการและการขยายตัวของการค้าการลงทุนที่นักธุรกิจชาวจีนชักแถวกันเข้าไปทำในประเทศกัมพูชา  เรื่องที่ทั้งสองฝ่ายพูดไว้ข้างต้นก็ไม่ใช่การพูดเล่นๆหรือพูดเอาใจกันแบบภาษาทางการทูต เพราะตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างจริงจังในช่วงสาม-สี่ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขในสองปีหลัง จาก 791 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2009 มาเป็น 1,120 เหรียญสหรัฐใน ปี 2010 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.5 โดยเฉพาะในด้านสินค้าเกษตรและการแปรรูปอาหารของกัมพูชา เวลานี้นักลงทุนจากจีนเข้าไปลงทุนติดอันดับต้นๆ ไปเรียบร้อยแล้ว   เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพานิชของจีนก็เพิ่งเดินทางมาเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการอยู่หลายวันเพื่อร่วมประชุมการเจรจาความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-กัมพูชา ครั้งที่ 2 เรื่องสำคัญๆ ที่มีการเจรจาจนเป็นมรรคเป็นผลจนถึงขั้นลงนามความร่วมมือกันสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ต้องติดตามดูเป็นพิเศษมีข้อตกลงร่วมมือที่ลงนามไปแล้ว 6 ฉบับคือ  โครงการเงินกู้ระยะยาวของกระทรวงเศรษฐกิจการคลังกัมพูชา โครงการให้ความร่วมมือพัฒนาระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศแบบให้เปล่าแก่รัฐสภากัมพูชา โครงการให้ความช่วยเหลือและจัดหาผู้เชี่ยวชาญชาวจีนทำการศึกษาและสำรวจการจัดตั้งอาคารปฏิบัติการและวิจัยทางการเกษตร โครงเงินกู้พัฒนาระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าแรงสูง โครงการเงินกู้พัฒนาและขยายทางหลวงหมายเลข 6ของกัมพูชา และสุดท้ายการลงนามในสัญญาก่อสร้างทางหลวงโดยบริษัทจีนในประเทศกัมพูชา



                 นอกจากที่กล่าวถึงข้างต้น จีนกับกัมพูชายังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อขยายการลงทุนอื่นๆของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชานกรุงพนมเปญและการพัฒนาเมืองสีหนุวิลล์ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการตัดหรือขยายถนนหลวงเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้อีกมากมายหลายสิบโครงการ รวมไปจนถึงเมืองกำปงจามด้วย ที่จริงก็เป็นอะไรที่สอดคล้องกับข่าวซึ่งมีมาก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว ตอนที่ท่านนายยกฯ ฮุนเซนไปเยือนจีนในวงการฑูตที่ปักกิ่งมีเสียงแอบลือกันในเวลานั้นว่าได้มีการเจรจาเกี่ยวกับการร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งยิ่ง ทั้งยุทธศาสตร์ทางทหารและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเป็นแพ็คเกจใหญ่แลกกับความช่วยเหลือของฝ่ายจีน 
                  ผมนำเอาเรื่องจีน-เขมรมาเล่าสู่กันฟังว่าเขากอดกันกลม พากันลงทุนพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-กัมพูชาในอนาคตเป็นเรื่องไม่ธรรมดาต้องจับตาดูเป็นพิเศษโดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาในทะเลน่านน้ำเขตเศรษฐกิจของกัมพูชา ในขณะที่พวกเราบางคนบางกลุ่มอาจกำลังหงุดหงิดอย่างจะยกกองทัพลุยไปยึดดินแดนตรงนั้นตรงนี้คืนจากกัมพูชา ก็อยากให้มองอนาคตให้กว้างๆ ไกลๆ กันหน่อยก็จะดีครับ เวลาคับขันขึ้นมามิตรแท้จะมีก็เฉพาะเวลาที่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมันไปด้วยกันได้เท่านั้น
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น