ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

ศัลยกรรมความงามในประเทศจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันหยุดต่อเนื่องยาวหลายวัน ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านคงได้หยุดพักผ่อนกันชุ่มฉ่ำเต็มอิ่ม และเดินทางกลับมาทำงานทำการกันโดยสวัสดิภาพครบถ้วนกันทุกท่าน หลายท่านที่ผมรู้จัก เหมาวันลาเสริมหัวต่อท้าย กลายเป็นหยุดยาวหกวัน ออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่สายวันที่ ๑๒ กลับเย็นที่ ๑๖ สำหรับผมเองก็ได้โอกาสอยู่ครอบครอง กทม. อย่างอิ่มอกอิ่มใจไม่แพ้กัน ถนนว่างรถราไม่ติด นั่งดูข่าวดูรายการทีวีที่ถ่ายทอดบรรยากาศงานสงกรานต์จากหัวเมืองใหญ่ต่างๆทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สนุกสนานเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ถือว่าเป็นการพักผ่อนที่คุ้มค่าอีกแบบหนึ่ง ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำได้ว่าผมเขียนนำเสนอเรื่องภัยแล้งและเทศกาลสงกรานต์ในตอนใต้ของประเทศจีนในคอลัมน์คลื่นบูรพาไปหนหนึ่งแล้ว มาปีนี้พอต้องคิดหาเรื่องราวมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ก็เลยตัดสินใจลำบาก จะขออนุญาตเอาเรื่องใกล้ตัวที่พบเห็นเป็นข่าวจากบรรยากาศสงกรานต์มานำเสนอก็แล้วกัน แต่ขอเรียนว่าไม่ใช่เรื่องสงกรานต์โดยตรง แต่เป็นเรื่องศัลยกรรมความงาม
              ทุกปีในช่วงสงกรานต์ เรามักได้ทราบข่าวเกี่ยวกับพฤติการณ์การเล่นน้ำของหนุ่มสาววัยรุ่นที่โลดโผนมากขึ้นอยู่เสมอๆ ทำให้ในปีนี้ใครต่อใครต่างก็จับตามองว่าจะมีภาพอะไรหลุดออกมาในทางที่ไม่เหมาะสมอีกหรือไม่ แม้ว่าจะรับรู้เป็นข่าวในจุดนั้นจุดนี้ของกรุงเทพฯว่ามีเรื่องเกินงามเกิดขึ้น ผมเองโดยส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นต้องรับความจริงเหล่านี้ ด้วยเหตุที่โลกได้เปลี่ยนไปมาก และเปลี่ยนไปในแนวทางที่คนหนุ่มคนสาวเป็นผู้กำหนด หาใช่คนสูงวัยอย่างผมจะไปจู้จี้จับผิดตามมาตรฐานที่ผมคุ้นเคยมาในอดีต อีกประการหนึ่งนอกเหนือไปจากพฤติการณ์เล่นสาดน้ำที่เปลี่ยนไป ผมพบว่าบรรดาวัยรุ่นไทยที่เห็นปรากฏตัวผ่านสื่อในช่วงเทศกาลนี้ หน้าตาดูดีเป็นมาตรฐานเดียวไปกันเสียหมดทั้งหญิงทั้งชาย จนแอบแปลกใจ มาได้รับความรู้เป็นวิทยาทานจากลูกๆในภายหลังว่า "ผ่ามาทั้งนั้น" ทำให้นึกไปถึงบทความล่าสุดที่ได้อ่านในนิตยสารปักกิ่งรีวิวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งว่าด้วยสถานการณ์ศัลยกรรมตกแต่งในประเทศจีน
           ในวัฒนธรรมความเชื่อตามจารีตจีนดั้งเดิม ว่ากันว่าร่างกายของเรา หน้าตาของเรา ล้วนเป็นของขวัญอย่างวิเศษที่พ่อแม่ให้มา การจะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ผิดเพี้ยนจากเดิม ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความอกตัญญูที่ผู้เป็นบุตรธิดาทั้งหลายพึงละเว้น แต่มาทุกวันนี้ สถานการณ์ในประเทศจีน เข้าใจว่าไม่มีใครถือเรื่องนี้กันอีกแล้ว เพราะจำนวนหนุ่มสาวจีนที่เข้าคิวกันแห่ไปทำสวยด้วยมีดหมอ มีเพิ่มมากขึ้นทุกที่ ตัวเลขที่รายงานไว้อย่างเป็นทางการจากสถาบันการแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความสวยงามที่ถูกต้องตามกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา มีกรณีการผ่าตัดปรับปรุงโฉม ๕๘๘,๘๘๐ ราย ที่ไม่ได้ผ่าแต่รักษาแก้ไขด้วยยาและวิธีการอื่นๆมีอยู่ ๑.๒๖๕ล้านราย ไม่นับพวกที่แอบทำกันแบบเถื่อนอีกไม่รู้เท่าไร ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศอันดับที่สามของโลก (ปี๒๐๑๐) ในด้านศัลยกรรมเพื่อความงาม มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง ๓ แสนล้านหยวน มีบุคลากรเกี่ยวข้องทำงานในธุรกิจนี้กว่า ๒๐ ล้านคน จัดเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง ร้อยละ ๔๐ ต่อปี
            ศัลยกรรมตกแต่งในประเทศจีนนั้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แต่ที่เป็นศัลยกรรมตกแต่งแบบการแพทย์ตะวันตกนั้น เริ่มต้นหลังสงครามกลางเมืองในจีน ในปี ค.ศ.๑๙๔๙ รัฐบาลคอมมิวนีสต์จีนได้จัดตั้งสถาบันศัลยกรรมตกแต่งขึ้น เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายที่พิการบาดเจ็บจากสงครามที่ยืดเยื้อในประเทศจีน เพื่อให้เหยื่อผู้พิการบาดเจ็บสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปรกติเช่นเดียวกับคนทั่วไป อย่างไรก็ดี การทำศัลยกรรมเพื่อให้หน้าตาของผู้บาดเจ็บพิการดูดีขึ้น ไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ได้รับการสนับสนุน จนกระทั้งในปี ค.ศ.๑๙๕๗ ศ.ซ่ง หรูเหยา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าของจีน ได้รับอนุญาตจากทางการให้เปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยที่พิการใบหน้าและร่างกายบิดเบี้ยว ทั้งโดยผลของโรคภัยไข้เจ็บหรือผลจากอุบัติเหตุ แต่โรงพยาบาลแห่งนี้ก็ดำเนินการอยู่ได้ไม่ถึงสิบปี ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม โรงพยาบาลของ ศ.ซ่ง ถูกปิด บุคลากรส่วนใหญ่ถูกขับไล่หรือลงโทษ ข้อหาหนักคือเป็นตัวแทนลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน(อาจารย์ซ่งจบปริญญาโทสาขาศัลยกรรมช่องปากจากมหาวิทยาลัยเพนซิเวเนีย) ส่งผลให้การแพทย์ในสาขานี้หายไปจากสังคมจีนเป็นเวลานาน กว่าจะเปิดใหม่ได้อีกครั้งในปี ค.ศ.๑๙๗๘ ภายหลังสิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในจีน และได้พัฒนาเติบโตจนกลายมาเป็นสถาบันการแพทย์เพื่อศัลยกรรมตกแต่งและความงามที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดของจีน
       ศัลยกรรมความงาม ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆในประเทศจีน ที่มักได้รับเสียงสะท้อนจากสาธารณชนจีนทั้งในแง่ลบและแง่บวก จากผลการสำรวจของหนังสือพิมพ์ยุวชนจีนเมื่อไวๆนี้ ร้อยละ๗๑.๕ ของผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งเป็นคนวัยหนุ่ยสาว ให้เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจทำศัลกรรมโดยเน้นที่ความงามภายนอกเลียนแบบดาราเอเชียชื่อดังทั้งหลาย ร้อยละ ๔๙.๔ ตัดสินใจบนเหตุผลความเชื่อเรื่องการแก้ไขโหงวเฮ้งว่าจะทำให้โชคชะตาดีขึ้น ร้อยละ๓๘.๕ไปพบแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งด้วยแรงจูงใจจากโฆษณาและแรงเชียร์ของเพื่อน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองศัยกรรมตกแต่งเพื่อความงามว่าตอกย้ำค่านิยมแบบตะวันตก ที่เน้นความงามภายนอกมากกว่าความดีจากภายในของตัวตน อีกทั้งยังมองว่าเป็นความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ในขณะที่การแพทย์จีนยังมีปัญหาอื่นๆให้ทำอีกมาก โดยเฉพาะในเขตชนบทห่างไกลของจีนที่ขาดแขลนบริการทางสาธารณสุข ยิ่งไปกว่านั้น ผลสืบเนื่องทางลบที่เกิดจากการทำศัลยกรรมเสริมความงามที่ผิดพลาดหรือไร้มาตรฐาน ยังปรากฏเป็นข่าวแผร่หลายอยู่เสมอๆ เฉพาะในปี ค.ศ.๒๐๑๐ คดีร้องเรียนของผู้เสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม ที่ร้องผ่านสมาคมคุมครองผู้บริโภคจีน มีสูงกว่า๒หมื่นคดี ยังไม่รวมตัวเลขของผู้เสียหายที่ไม่ได้ดิ้นรนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
       ประเทศไทยและประเทศจีน ดูไปดูมาจึงชักจะเหมือนกันเข้าไปทุกที จนบางครั้งทั้งๆที่กำลังเขียนเกี่ยวกับประเทศจีนอยู่ ผมกลับเผลอนึกไปถึงตัวอย่างเรื่องราวเปรียบเทียบที่มีอยู่ในบ้านเราอยู่เรื่อย ไม่ทราบว่าสถานการณ์เรื่องเดียวกันนี้ ในบ้านเราเป็นอย่างไรถึงไหนแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น