ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ เยือนจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                  ช่วงระหว่างวันที่ 17-20 เมษายนที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักส่วนใหญ่คงได้รับทราบว่านายกรัฐมนตรีของไทย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของท่านนายกรัฐมนตรีจีนเวิน เจียเป่า ที่เชิญผ่านมาทางสถานฑูตจีนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แรกๆผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องมีหน้าที่ “รวมการเฉพาะกิจ” ติดตามเอาข่าวสารมาเล่าต่อในคอลัมน์นี้ เพราะโทรทัศน์และเพื่อนสื่อแขนงต่างๆก็ทำหน้าที่ไปครบถ้วนหมดแล้ว แต่ช่วง2-3วันมานี้ ผมกลับพบว่ามี “ควันหลง” การเดินทางเยือนจีนของคุณยิ่งลักษณ์ ทยอยปรากฏผ่านสื่อในประเทศจีนแขนงต่างๆต่อเนื่องมา โดยเฉพาะที่เป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์จีน อ่านๆดูแล้วก็พบว่าท่านนายกฯของเราอาจกำลังตกที่นั่งเป็น “ดารา” หรือทำท่าว่าจะเป็นขวัญใจนักข่าวจีน อย่างน้อยก็ในอีกช่วงระยะหนึ่ง อดไม่ได้ก็เลยจะขออนุญาตนำมาเป็นประเด็นพูดคุยในคราวนี้
                   เสน่ห์อย่างแรกที่ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์หว่านใส่สื่อจีนทันทีที่ไปถึงมหานครปักกิ่ง (ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เหรินหมินเช้าวันที่18 เมษายน) ก็คือจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวจีนผ่านหนังสือพิมพ์ ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการจัดการเรื่องจดหมายนี้ ต้องขอบอกว่าได้ผลดีมาก(อย่างน้อยก็ในความเห็นของคอลัมนีสต์จีน) เนื้อความในจดหมายแสดงความถ่อมตนและให้เกียรติฝ่ายจีนอย่างสูง ซึ่งแน่นอนว่าถูกใจคนจีน แม้อาจดูเป็นการฑูตแบบตะวันออกมากกว่าจะเป็นธรรมเนียมการฑูตแบบสากล(ที่เน้นความเท่าเทียม)  อีกทั้งยังใส่ถ้อยคำที่แสดงความจริงใจในการคบหาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม  ผมไม่มีโอกาสเห็นที่เป็นฉบับภาษาไทย แต่เท่าที่อ่านดูจากฉบับภาษาจีน ก็เห็นด้วยว่าเป็นจดหมายที่ดีมากฉบับหนึ่ง
                    ความสนใจสำคัญอีกประการหนึ่งที่สื่อจีนให้กับคุณยิ่งลักษณ์มากเป็นพิเศษ เหนือกว่านายกฯและผู้นำไทยท่านอื่นๆที่เคยเดินทางไปเยือนจีน เห็นจะปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ที่ความเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิง” ยิ่งมีข่าวมาจากเมืองไทย ว่าท่านนายกฯมีสามีนอกสมรส สื่อจีนยิ่งชอบ ติดตามเก็บภาพครอบครัวสามคนพ่อแม่ลูกกันอย่างคึกคัก แล้วก็ปรากฏมีภาพครอบครัวแบบสวยใส ครบทั้งสามีและลูกอยู่พร้อมหน้า อย่างที่ไม่เคยมีให้เห็นในสื่อไทย เผยแพร่กว้างขวางในประเทศจีน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำต่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ภาพเยอะมากๆในอันดับต้นๆ ผมเข้าไปดูทั้งในเว็ปไซต์หนังสือพิมพ์ ทีวี หรือแม้แต่นิตยสารบันเทิง-ความงามของจีน ก็พบว่ามีภาพนายกฯหญิงของเรามากมายเป็นพิเศษ อีกทั้งยังมีความเห็นจากผู้เข้าชมในเว็ปไซต์ คอมเม้นท์ออกมาในทางบวกต่อนายกฯไทยเกือบทั้งหมด บ้างก็ชมว่าสวย บ้างก็เชื่อว่าเก่ง บ้างก็ว่าลูกน่ารัก สามีหล่อฯลฯ
                  หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมพบว่าสื่อจีนให้ความสนใจจริงจังกับนายกฯยิ่งลักษณ์มากพิเศษ ก็คือความพยายามในการขอเข้าพบสัมภาษณ์พิเศษ ผมเองตกที่นั่งถูกเข้าใจผิดจากเพื่อนสื่อมวลชนจีนที่คุ้นเคยหลายท่าน ว่าสามารถนัดแนะจัดคิวสัมภาษณ์ให้ได้ ตั้งแต่ก่อนวันที่17 ก็มีสื่อหนังสือพิมพ์จีน3รายที่รู้จักติดต่อกันประจำ โทรมาขอให้นัดแนะเพื่อสัมภาษณ์นายกฯหญิงของไทย ผมต้องรีบปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่สามารถจัดการอะไรให้ได้ แต่ก็แนะเขาไปว่าหากมีทีวีช่องหลักของจีนและหนังสือพิมพ์ระดับชาติเช่นเหรินหมินหรือซินหัวทำเรื่องขอไป ทางสถานฑูตไทยคงดูแลประสานงานให้แน่ๆอยู่แล้ว มาเมื่อเช้าวันวาน ก็ได้รับทราบจากเพื่อนสื่อมวลชนจีน อีเมล์แจ้งมาว่ามีหนังสือพิมพ์จีนอย่างน้อย4ฉบับ ได้รับอนุญาตเข้าสัมภาษณ์พิเศษกับนายกฯไทย อีกทั้งยังส่งต้นฉบับบทสัมภาษณ์มาให้ผมอ่านด้วย ผู้นำชาติมหาอำนาจสำคัญๆที่ไปเยือนจีน แน่นอนว่าย่อมจะได้รับความสนใจจากสื่อจีน และอาจมีบทสัมภาษณ์ลงตีพิมพ์ในสื่อนับเป็นสิบๆราย แต่สำหรับประเทศขนาดกลางๆที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจอย่างประเทศไทยเรา ความสนใจขอเข้าสัมภาษณ์ในระดับนี้ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา แม้จะเป็นการเยือนเพียงแค่สามวัน แต่ก็ได้รับการติดตามนำเสนอข่าวครอบคลุมไม่น้อยเลย
                     ในบทสัมภาษณ์ที่เพื่อนสื่อจีนส่งมาให้ผมอ่าน อาจแยกประเด็นความสนใจที่สื่อจีนสอบถามสัมภาษณ์นายกฯยิ่งลักษณ์ ได้ประมาณสามเรื่องใหญ่ๆด้วยกัน เรื่องแรกเป็นกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน จุดแข็งของประเทศไทยคืออะไร ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีความสำคัญอย่างไร ไทยสนใจรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนหรือไม่ ไทยจะพัฒนาไปในทิศทางไหนฯลฯ เรื่องที่สองเป็นกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการเมืองไทยและแนวทางการบริหารประเทศในความขัดแย้ง บทบาทนายกฯที่เป็นผู้หญิงลำบากหรือไม่ คุมลูกพรรคเพื่อไทยได้จริงๆหรือไม่ อดีตนายกฯทักษิณเข้ามาบงการหรือคอยช่วยเหลืออย่างไร ใครเป็นคนคิดนโยบายทางการเมือง คุยกับฝ่ายอำนาจเก่าได้แล้วหรือฯลฯ เรื่องที่สามเป็นคำถามประเภทเบาๆ เช่นรู้สึกอย่างไรที่เป็นนายกฯที่สื่อจีนยกย่องว่าสวยที่สุด มีปัญหาระหว่างการทำงานกับชีวิตครอบครัวหรือไม่ เห็นว่าการที่ผู้หญิงซึ่งเป็นช้างเท้าหลังตามประเพณีไทย ออกหน้ามาทำงานการเมืองจะเป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร สังคมไทยรับได้มากน้อยแค่ไหนกับผู้นำการเมืองที่เป็นผู้หญิงฯลฯ
                  ที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ ผมอ่านดูคำสัมภาษณ์ทั้งหมดของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์แล้ว พบว่าตอบได้ดีมาก ในทุกๆเรื่องที่ถูกถาม ก็เลยต้องคิดต่อไปเองคนเดียวแบบเงียบๆว่า มีใครจัดเตรียมให้หรือไม่อย่างไร หรือมีกระบวนการกลั่นกรองคำถาม-คำตอบล่วงหน้ามาก่อนแล้ว เพราะหากมี ต้องขอชมว่าทำได้เนียนมากๆ หรือถ้าหากเป็นความสามารถส่วนตัวของท่านนายกฯโดยแท้ ก็ต้องยอมรับว่า ผมฟังอะไรผิดๆเกี่ยวกับท่านมาซะนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น