ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ใครทำรถไฟฟ้าในจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
              ช่วงหลังๆนี้ ผมต้องไปเกี่ยวข้องกับเวทีประชุมวิชาการและงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เหตุด้วยหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไป ไม่ได้นั่งสอนหนังสือสบายๆอย่างสมัยก่อน ข้อดีคือได้รับรู้รับทราบเรื่องราวใหม่ๆที่น่าสนใจหรือบางที่ก็น่าตื่นเต้น นอกเหนือไปจากสาขาวิชาการที่ตัวเองร่ำเรียนมา ในเวลาเดียวกันก็มีข้อเสีย คือต้องพลอยปวดหัวกับเรื่องทางวิชาการที่เค้าถกเถียงกัน หลายเรื่องต้องเอากลับมานั่งคิดต่อว่าควรจะเป็นอะไรอย่างไร ใครผิดใครถูก สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ก็มีการชุมนุมของนักวิชาการกลุ่มเล็กที่สนใจเรื่องการปกครองท้องถิ่น ชวนผมไปทานข้าวและพูดคุยในวงสนทนาทางวิชาการแบบสบายๆ เอาเข้าจริงเรื่องบ้างเรื่องเห็นเถียงกันหน้าดำหน้าแดง เครียดกันไปหลายคน โดยเฉพาะประเด็นการจัดบริการสาธารณูปโภคของท้องถิ่น เช่นเรื่องรถไฟฟ้าใต้ดินบนดินตามหัวเมืองสำคัญ ท้องถิ่นควรมีอำนาจจัดได้เลย หรือต้องผูกอยู่กับกระทรวงมหาดไทยอย่างที่เป็นอยู่ ว่าแล้วก็ยกตัวอย่างประเทศในยุโรปและอเมริกาที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ผมเองในฐานะที่รู้น้อยก็เลยฟังอย่างเดียว ไม่ได้รวมถกเถียงแสดงความคิดเห็นใดๆ แต่หวยมาออกที่ผมจนได้ เมื่อมีผู้ถามขึ้นว่าในประเทศอื่นๆแถบเอเชียเช่นจีนที่มีรถไฟฟ้าใต้ดินเยอะแยะ ใครเป็นผู้ดำเนินการ รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น ผมก็ตอบไปสั้นๆเท่าที่พอทราบ แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ไม่รู้สึกพอใจในคำตอบของตัวเองเท่าไรนัก เลยไปทำการบ้านค้นคว้าหาเอาเพิ่มเติม จากเว็บไซต์ของรถไฟฟ้าใต้ดินนานาชาติ และเว็บอื่นๆของจีน เลยนำเอาการบ้านที่ทำ มารายงานท่านผู้อ่านที่รักในคอลัมน์นี้ด้วย
         หากไม่นับรถไฟปรกติและบรรดารถไฟฟ้าความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมือง ประเทศจีนเวลานี้ มีรถไฟฟ้าที่วิ่งบริการทั้งใต้ดินบนดินอยู่ด้วยกันทั้งหมด13หัวเมือง(ไม่นับฮ่องกง) อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก34หัวเมือง(37ระบบ) บรรจุเข้าแผนจะดำเนินการก่อสร้างในอนาคตอันใกล้อีก16เมือง(19ระบบ) ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเมือง หลายแห่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับเอกชนโดยการแบ่งปันรายได้กัน ในบรรดาระบบรถไฟฟ้าขนส่งในเมืองที่เปิดให้บริการทุกเส้นทางนี้ ต้องนับว่ารถไฟฟ้าใต้ดินของมหานครปักกิ่งเก่าแก่ยาวนานกว่าเพื่อน และอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นๆพัฒนาตาม ปัจจุบันมีระบบเส้นทางรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินในเครือข่ายการขนส่งมวลชนที่จัดโดยรัฐบาลมหานครปักกิ่งอยู่ทั้งหมด15เส้นทาง ลงทุนและบริหารการเดินรถโดยรัฐบาลมหานครปักกิ่งภายใต้วิสาหกิจ Beijing Mass Transit Railway Operation Corp. อยู่13เส้นทาง ร่วมลงทุนและบริหารการเดินรถกับเอกชนบริษัท Beijing MTR Corp. จากฮ่องกง 2เส้นทาง ราคาค่าโดยสารตลอดสาย2หยวน (ไม่ว่าต่อกี่สายกี่สถานีตราบเท่าที่ยังไม่โผล่ขึ้นมาข้างบน) ยกเว้นรถไฟฟ้าสายด่วนสนามบินเก็บ25หยวน
         เริ่มแรกทีเดียวในปี ค.ศ.1953เมื่อสำนักวางแผนและการผังเมืองมหานครปักกิ่งเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น มีที่มาจากข้อเสนอแนะของกลุ่มที่ปรึกษาจากสหภาพโซเวียต สดๆร้อนภายหลังวิกฤตการณ์สงครามเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอย่างจากแรงบันดาลใจในประวัติศาสตร์ ของการใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายใต้ดินของรถไฟฟ้ากรุงมอสโคว์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพเยอรมนีบุกกรุงมอสโคว์ จึงอาจกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของนครปักกิ่งแต่เดิมนั้น มีเป้าหมายไม่เพียงในเรื่องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอย่างเดียว แต่แฝงเหตุผลทางการทหารเข้าไปด้วย อย่างไรก็ดี ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินสมัยใหม่ของจีนในเวลานั้น ประกอบกับปัญหาขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับสหภาพโชเวียตในเวลาต่อมา ทำให้บรรดาที่ปรึกษาและช่างเทคนิคชาวรัสเซียเดินทางกลับประเทศ โครงการต้องล่าช้าไปอีกหลายปี จนท้ายที่สุดได้รับการอนุมัติแผนโดยท่านประธานฯเหมา ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1965 ระบบเส้นทางเดินรถชุดแรกเริ่มลงมือก่อสร้างวันที่ 1 กรกฎาคม 1965 เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1969 ทันฉลองครบรอบ 20 ปี การสถาปนาจีนใหม่ ระยะทางรวม 21 กิโลเมตร มี16สถานี การบริหารควบคุมการเดินรถดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษของรัฐบาลกลาง ขลุกขลักเกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง เพียงเวลาไม่ถึงปี ระบบการเดินรถทั้งหมดได้ถูกส่งมอบให้กองทัพปลดแอกแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ผู้โดยสารในเวลานั้นมีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนงานที่ได้รับหนังสือรับรองสถานภาพจำนวนไม่มากนักที่มีสิทธิ์ใช้บริการ ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม กิจการของรถไฟฟ้าใต้ดินมหานครปักกิ่งก็ลุ่มๆดอนๆ ตารางเดินรถไม่แน่นอน ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของยุวชนพิทักษ์แดง ระบบก็จะถูกปิด จนไม่สามารถเป็นระบบการขนส่งที่ประชาชนทั่วไปจะพึ่งพาได้
        ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของปักกิ่งกลับมามีชีวิตชีวาคึกคักอีกครั้ง หลังจากจีนเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปเปิดกว้าง กิจการรถไฟฟ้าใต้ดินได้ถูกส่งมอบให้รัฐบาลนครปักกิ่งเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนา ได้มีการจัดตั้งบริษัทการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินนครปักกิ่ง มีการลงทุนขยายเส้นทางเพิ่มเติมเป็น27.6กิโลเมตร 19สถานี เปิดเดินรถตามตารางกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยมีผู้โดยสารต่อปีเพียง 8.28ล้านคนครั้ง ในปี1971 กลายมาเป็น72.5 ล้านคนครั้ง ในปี1982 และเมื่อมีการเปิดใช้สายทางเส้นที่2ในปลายปี1984อีก16.4กิโลเมตร ผู้โดยสารในปี1985ก็เพิ่มขึ้นเป็น105ล้านคนครั้ง ภายหลังการเปิดให้ผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมพัฒนาระบบ ได้มีการขยายเส้นทางเพิ่มเติมและสถานีกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เมื่อปี2011ที่ผ่านมา ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินมหานครปักกิ่ง ให้บริการผู้โดยสารทั้งสิ้นกว่า2,180ล้านคนครั้ง วันที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในประวัติการณ์คือวันที่9 กันยายนปีที่แล้ว มีผู้โดยสารเข้าใช้บริการวันเดียวมากถึง7.57ล้านคนครั้ง ภายในสิ้นปีนี้ความยาวเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของมหานครปักกิ่งคาดว่าจะขยายเป็น420กิโลเมตร
                 การบ้านที่ผมไปค้นข้อมูลมาตอบเพื่อนๆในวงสนทนาเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว อย่างน้อยบอกอะไรเราสองเรื่อง หนึ่ง ท้องถิ่นน่าจะต้องรับผิดชอบเรื่องแบบนี้ สอง ถ้าไม่อยากเจ๊งให้เอกชนร่วมทำเถอะครับ อย่าเหมาไว้เองเลย

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สองเรื่องสองรส <คุณภาพสังคมจีน>

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สัปดาห์นี้ ใครต่อใครที่สนใจติดตามข่าวสารเรื่องราวจากประเทศจีน แน่นอนว่าคงจะต้องเกาะติดถกเครียดเรื่องใหญ่ๆ สองเรื่องที่กำลังเป็นข่าวดังตามสื่อนานาชาติ หนึ่งคือปัญหาความขัดแย้งจนกำลังกลายเป็นประเด็นพิพาท ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ว่าด้วยพื้นที่เกาะสการ์บอรอฟโชล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน ทั้งประท้วง ทั้งส่งกองเรือคุมเชิง ทั้งห้ามทัวร์ชาวจีนไปฟิลิปปินส์ วุ่นวายน่าดู อีกเรื่องเป็นข่าวด้านเศรษฐกิจจีน ปรากฏว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจตกลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก อีกทั้งตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ลดลงต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนที่หกแล้ว เจอสองเรื่องนี้เข้าไป ใครที่แอบลุ้นให้จีนเป็นฮีโร่เศรษฐกิจโลก หรือเป็นพี่ใหญ่ใจดีในเอเชีย คงต้องลำบากใจพอสมควร โดยเฉพาะท่าที่ของจีนที่แข็งกร้าวใส่ฟิลิปปินส์ ดูจะเป็นผลเสียต่อจีนมากกว่าจะเป็นผลดี
                             ผมเป็นคนไม่ชอบเรื่องร้อนใจ อีกทั้งก็ไม่ค่อยอยากนำเสนอเรื่องน่าปวดหัวให้ท่านผู้อ่านที่รักพลอยร้อนใจไปด้วย สัปดาห์นี้ก็เลยขอหลบข่าวดัง มาเล่นข่าวรองสวนกระแสหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องสายลมแสงแดดไปเสียทีเดียว มีประเด็นสาระให้วิเคราะห์ จะคิดลึกตรึกตรองให้เป็นเรื่องปวดหัวร้อนใจก็ได้เหมือนกัน เป็นเรื่องราวด้านสังคมในสองแง่มุมของจีนปัจจุบัน ขอเล่าเรื่องสบายๆ เรื่องแรกก่อน เมื่อบ่ายวันที่11 พ.ค. ที่ผ่านมา มีข้อความจากหญิงสาวรายหนึ่งจากมหานครปักกิ่ง ลงเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กจีน ใจความประมาณว่า
 ดิฉันมีเรื่องอยากขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆชาวเน็ต คุณตาป่วยหนัก แพทย์เจ้าของไข้แจ้งว่าท่านเหลือเวลาไม่มากแล้ว ท่านทำงานหนักมาตลอดชีวิต มีสถานที่มากมายที่อยากไปท่องเที่ยว แต่ก็ไม่เคยมีโอกาส มาถึงตอนนี้จะพาไปก็ไม่ทันการแล้ว ดิฉันได้วาดภาพคุณตาขึ้นมาหนึ่งภาพ หวังขอความกรุณาเพื่อนๆ พิมพ์ภาพคุณตาออกมา และนำไปถ่ายภาพร่วมกับทิวทัศน์ในพื้นที่ที่เพื่อนๆอาศัยอยู่ แล้วส่งภาพกลับมาให้ดิฉัน เพื่อที่จะได้นำภาพเหล่านั้นให้คุณตาได้ชม เป็นเสมือนสื่อนำท่านท่องเที่ยวทั่วโลก ในดินแดนที่คุณตาใฝ่ฝันอยากไป ตอบสนองความคาดหวังที่คุณตาตั้งใจไว้ รบกวนไหว้วานทุกท่านช่วยเหลือ
                   ปรากฏว่าเพียงแค่ถัดมาไม่กี่วัน มีคนส่งต่อข้อความร้องขอนี้กระจายไปทั่วโลก(ทั้งที่เป็นภาษาจีน)หลายแสนครั้ง และมีผู้นำรูปวาด คุณตาถ่ายภาพร่วมกับทิวทัศน์สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆทั่วโลก ส่งเข้ามาให้หลานสาวนับหลายหมื่นภาพ เกิดเป็นปรากฏการณ์คุณตาเที่ยวรอบโลก ขึ้นในสังคมออนไลน์ของจีนและชุมชนชาวจีนทั่วโลก หลานสาวนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา เปิดภาพต่างๆที่เพื่อนพ้องชาวเนตส่งเข้ามา ทยอยให้คุณตาดูด้วยความปิติจนน้ำตาไหล วันละหลายชั่วโมงเท่าที่แพทย์จะอนุญาต จนปานมีคงยังดูไม่ได้หมด กลายเป็นนข่าวดังมีสื่อมวลชนแขนงต่างๆตามสืบจนพบตัว ไปทำข่าวถึงโรงพยาบาล แม้จะไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ แต่สื่อก็พากันถ่ายภาพและสังเกตการณ์ ผ่านช่องกระจกประตูห้องพักคนไข้ที่คุณตาพักรักษาตัวอยู่ ล่าสุดที่ผมเข้าไปติดตามข่าว เห็นภาพถ่ายที่ส่งมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆใกล้จะถึงหนึ่งแสนภาพ มีภาพถ่ายจากวัดในจังหวัดเชียงใหม่ส่งเข้าไปด้วย

                       เรื่องที่สอง กลางดึกคืนวันหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ เสียงร้องสุดชีวิตของเด็กชายอายุสิบสาม ปลุกกระชากวิญญาณทุกดวงในหมู่บ้านเล็กๆของชนบทห่างไกล ในเขตปกครองของนครฉงชิ้งให้ต้องสะดุ้งตื่น  เสียงร้องขอความช่วยเหลือดังลอยไปไกล แม่กำลังเอามีดแทงพวกเรา เด็กชายวิ่งทุบประตูบ้านทีละหลังในละแวกใกล้เคียง เพื่อนบ้านที่ตกใจตื่นเปิดประตูออก พบร่างของเด็กชายเลือดท่วมตัว เมื่อเพื่อนบ้านรวมตัวไปดูบ้านที่เกิดเหตุ ก็พบสภาพน้องชายวัยสิบเอ็ดกระเสือกกระสนออกนอกบ้าน ตามตัวมีแผลถูแทงหลายสิบแผลแต่ไม่พบตัวแม่ผู้ก่อเหตุ ขณะที่เพื่อนบ้านนำตัวเด็กทั้งสองส่งโรงพยาบาลในเมือง เด็กชายผู้พี่ก็เสียเลือดไปมาก ขาดใจก่อนถึงมือหมอ น้องชายอาการบาดเจ็บสาหัส แต่แพทย์ช่วยยื้อชีวิตได้สำเร็จ สี่วันต่อมา มีผู้พบศพแม่วัย37ปี ลอยอยู่ในแม่น้ำใกล้หมู่บ้าน ผู้ตายเป็นหญิงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง อาศัย หมู่บ้านนี้กับลูกชาย2คน ส่วนสามีวัย41 ทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ห่างออกไป1,200กิโลเมตรทางตะวันออกในมณฑลอันฮุย ไม่มีใครในหมู่บ้านระแคะระคายว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ลางบอกเหตุประการเดียวที่มี คือหญิงผู้ก่อเหตุโทรศัพท์หาสามีก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ขอร้องให้สามีกลับบ้าน เธอบอกสามีว่ารู้สึกไม่สบาย แต่สามีก็ปฏิเสธและบอกให้เธอไปหาหมอหากรู้สึกไม่สบาย เรื่องราวทำร้ายคนในครอบครัวและฆ่าตัวตายคล้ายๆกันนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ27มีนาคมปีนี้ ที่หมู่บ้านห่างไกลอีกแห่งในมณฑลเสฉวน แม่วัย27ปีรายหนึ่ง พยายามวางยาพิษฆ่าลูกสามคนและดื่มยาฆ่าตัวตายตาม(แต่โชคดีรอดหมด เพื่อนบ้านช่วยไว้ทัน) สิ่งที่เหมือนกันก็คือ สามีของหญิงรายนี้ ทำงานอยู่ในมณฑลฟูเจี้ยนทางชายฝั่งตะวันออก ห่างไกลจากบ้านนับพันกิโลเมตร

                      
          สถิติอย่างเป็นทางการของจีนระบุว่าในปี2011 จีนมีแรงงานอพยพที่ทำงานต่างถิ่นนอกเขตมณฑลบ้านเกิดกว่า240ล้านคน นั้นหมายความว่าอาจมีหญิงที่แต่งงานแล้วนับร้อยล้านคนเป็นอย่างน้อยที่ถูกละทิ้งไว้ในหมู่บ้าน พร้อมทั้งภาระในการเลี้ยงดูเด็ก คนแก่ และทำงานในไร่นาของครอบครัว ที่จริงเคยมีงานวิจัยชิ้นสำคัญในปี2009 ที่พรรณาให้เห็นปัญหาภาระทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา ที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องแบกรับ อันสืบเนื่องมาจากการทิ้งบ้านไปหางานทำในเมืองของเหล่าสามีตัวดี มาบัดนี้ เศรษฐกิจจีนก็ไม่ถึงกับจะรุ่งเรืองฟู่ฟ่าเหมือนแต่ก่อน สถานการณ์และขนาดของปัญหาน่าจะหนักหนายิ่งขึ้น
        ทั้งสองเรื่องสองรสที่ผมเอามาเล่าสู่กันฟัง รับรองว่าไม่ได้แต่งนิยายขึ้นมาเอง เป็นเรื่องราวจริงที่ประมวลมาจากสื่อต่างๆของจีนในสัปดาห์นี้ ส่วนว่าอ่านแล้วจะนำไปสู่ข้อวิเคราะห์วิจารณ์อย่างไร อันนี้ต้องแล้วแต่ท่านผู้อ่านที่รักละครับ จะรับทราบไว้เฉยๆ หรือจะตรึกตรองให้ร้อนใจอย่างไร ก็เชิญตามอัธยาศัยครับ

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อุตสาหกรรมสาธารณสุขจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        
           ตั้งแต่เริ่มต้นปีมา ผมคิดไปเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่สังเกตเห็นว่า ดูเหมือนเราจะมีวันหยุดต่อเนื่องยาวอยู่หลายช่วงด้วยกัน ทำให้ช่วงหลังมานี้ ผมเกิดพัฒนานิสัยใหม่เพิ่มมาอีกอย่าง คือชอบใช้เวลาดูทีวีในวันหยุดมากขึ้น และก็มักจะมีข้ออ้างเข้าข้างตัวเองว่าติดตามข่าวสารเพื่อมาเขียนบทความ มองในแง่หนึ่งก็เป็นการเสียเวลามาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อแก้ตัวก็พอฟังขึ้นอยู่ เช่นเรื่องราวที่จะนำมาเสนอท่านผู้อ่านที่รักในวันนี้ ก็เป็นผลพวงจากการดูทีวีจีนนั่นเอง ช่วงวันหยุดชดเชยที่ผ่านมา ผมก็ติดตามดูข่าวสารจากทีวีจีนผ่านดาวเทียมเหมือนเช่นเคย ขณะที่กำลังงงอยู่ว่าข่าวมีเยอะแยะจะเขียนเรื่องอะไรดี ก็เกิดมีข้อสังเกตว่าทำไมเดี๋ยวนี้โรงพยาบาลของจีนโฆษณากันถี่เหลือเกิน เดิมเป็นที่เข้าใจกันว่าสื่อจีนโดยเฉพาะทีวี มีรายได้หลักจากโฆษณาเหล้า(ซึ่งไม่น่าจะเป็นของดี)และยาบำรุงที่ทำจากสมุนไพรจีน(ซึ่งอ้างกันว่าใช้บำรุงร่างกายได้ดีโดยเฉพาะคนที่ทำงานหนักหรือดื่มจัดเพราะหน้าที่การงาน?) แต่มาระยะหลังนี้ ผมชักจะไม่แน่ใจว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่อีกหรือไม่ พอเกิดปัญหาก็เลยต้องค้นคว้าข้อมูลเพื่อมาสนองความอยากรู้ส่วนตัว พร้อมๆกับเกิดเป็นผลพลอยได้ คือบทความที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้แหละครับ

      จากการสำรวจดูงานวิจัยศึกษา โดยเฉพาะที่เป็นงานวิจัยทางการตลาด ทำให้ทราบว่าตอนนี้การสาธารณสุขของจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก สำหรับบรรดานักลงทุน ไม่ว่าต่างชาติหรือชาวจีนเอง ตอนนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทยาและลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนกำลังมาแรงเป็นที่จับตาให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญรักษาเฉพาะทาง จากข้อมูลที่มีการโฆษณานำเสนอกันในเวทีสัมมนา การเงินและการลงทุนในอุตสาหกรรมยาและการสาธารณสุขจีน2012 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าตอนนี้มีอุตสาหกรรมดาวเด่นของจีนกลุ่มนี้กระจายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆกว่าหนึ่งร้อยกลุ่มธุรกิจ สร้างกำไรตอบแทนนักลงทุนสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆของจีน เฉพาะในปี2011ที่ผ่านมา ธุรกิจกลุ่มนี้ดึงดูดเงินลงทุนทั้งจากภายในประเทศและจากนักลงทุนต่างชาติ มูลค่ารวมกว่า 25,000ล้านหยวน ทำให้ในปีที่แล้วอุตสาหกรรมยาและการรักษาพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์จีน กลายเป็นกลุ่มที่ได้รับเงินลงทุนสะสมสูงเป็นอันดับที่4ของทั้งตลาด ทั้งๆที่ส่วนใหญ่เพิ่งเข้ามาในตลาดได้ไม่นาน แต่กลับมีอัตราการเติบโตสูงเกินร้อยละ20แม้ว่าในปี2012นี้ เศรษฐกิจทั่วไปอาจดูชะลอตัวลง แต่ในอุตสาหกรรมนี้ ประเมินโดยที่ปรึกษาการลงทุนหลายสำนัก ต่างฟันธงเหมือนกันว่า น่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ17โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลเด็ก อัตราการขยายตัวน่าจะสูงกว่าร้อยละ23 แนวโน้มการขยายตัวที่ว่านี้ เชื่อกันว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปอีก อย่างน้อยก็จนถึงปี2025 ถึงตอนนั้นประมาณกันว่าจะมีประชากรสูงวัยกว่า 300ล้านคนทั่วประเทศ ฉนั้นใครที่ลงทุนด้านนี้ ก็เท่ากับหมดห่วงว่าจะมีลูกค้าหรือไม่
        
             มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านที่รักส่วนหนึ่ง อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะจีนมีประชากรเยอะ โรงพยาบาลก็ต้องเยอะตามเป็นธรรมดา ผมขออนุญาตเรียนว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ เป็นผลโดยตรงจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการสาธารณสุขของจีน ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติล้วนๆ ในเดือนเมษายนปี2009รัฐบาลจีนได้ประกาศปฏิรูประบบสาธารณสุขของชาติ โดยการเพิ่มงบประมาณมหาศาลในการยกระดับการให้บริการสาธารณสุขในเขตชนบท พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ ทุนทางสังคม(ก็คือนักลงทุนนั่นเอง) และภาคส่วนต่างๆสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาสร้างระบบสาธารณสุขของชาติในระดับที่มีความเชี่ยวชาญสูงยิ่งขึ้นกว่ามาตรฐานทั่วไปของรัฐ จุดนี้เองคือการเริ่มต้นอุตสาหกรรมสาธารณสุขยุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการรักษาพยาบาลของจีน เริ่มต้นด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้มาตรฐานด้วยเงินทุนกว่า 850,000ล้านหยวนในช่วงปี2009-2010  ตามมาด้วยการสร้างโรงพยาบาลสมัยใหม่โดยนักลงทุนต่างประเทศ ในเมืองใหญ่แถบชายฝั่งตะวันออกเช่น เซี้ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง กวางตง ตามมาด้วยการลงทุนของผู้ประกอบการชาวจีนเองในเวลาต่อมา เพียง3ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงอุตสาหกรรมยาและการรักษาพยาบาลของจีนจะเติบโตขึ้น อุตสาหกรรมการประกันสุขภาพและอุบัติเหตุของจีนก็ขยายตัวควบคู่มาด้วย แม้ว่าในด้านนโยบาย รัฐบาลจีนจะได้เพิ่มงบประมาณในส่วนของการสร้างสถานพยาบาลและบุคลากรเพิ่มเติมอีกมาก แต่ดูเหมือนกลับส่งผลดีให้กับภาคเอกชน ทั้งนี้อาจด้วยความจริงที่ว่า การขยายตัวของชนชั้นกลางในเขตเมืองเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐมุ่งกระจายออกไปในเขตชนบท ทำให้เกิดช่องว่างทางการตลาดให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาทำหน้าที่บริการลูกค้าคนไข้ชั้นกลางในเขตเมือง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการบริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานที่โรงพยาบาลของรัฐจะสามารถให้บริการได้
             ผมไม่ค่อยจะแน่ใจ ว่าสรุปแล้วสถานการณ์สาธารณสุขของจีนในภาพรวมตกลงดีขึ้นหรือไม่อย่างไร ในด้านหนึ่งดูเหมือนมีการแบ่งงานกันทำระหว่างรัฐและเอกชน ฝ่ายหนึ่งดูแลพัฒนาการสาธารณสุขพื้นฐานในเขตชนบทห่างไกล อีกฝ่ายค้าขายสุขภาพหากินกับคนชั้นกลางและผู้มีฐานะในเขตเมือง ทำให้รัฐมีงบประมาณและเวลาไปทุ่มเทให้กับประชาชนกลุ่มที่ขาดแคลนด้อยโอกาสในเขตห่างไกล บริษัทยาและเครื่องมือทางการแพทย์ก็ดูดีเพราะได้ประโยชน์จากทั้งโรงพยาบาลในเมืองและในชนบท บริษัทประกันสุขภาพและอุบัติเหตุก็รวยตามไปด้วย ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ดูมีความสุขจากเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ฟังดูดีเกินจริง ผมคงไม่กล้าสรุปอะไร ท่านผู้อ่านค่อยๆคิดค่อยๆถอดและประเมินดูเอาเองเถอะครับ เผื่อว่าถ้าชอบถ้าใช่ ก็เสนอให้เอามาลองในบ้านเราดูที

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทายาทสองนคราจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

       สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเด่นๆหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องน่าติดตามน่านำมาเล่าทั้งสิ้น เช่นงานมอเตอร์โชว์ใหญ่ยักษ์ของจีน ข่าวการเมืองที่กำลังโด่งดังข้ามเดือนประเด็นท่านอดีตรัฐมนตรีโป ซีไหล เม้าท์กันไม่เลิกไปทั่วบ้านทั่วเมืองติดต่อกันหลายเดือน ข่าวการจัดอันดับทางธุรกิจของนาย หู หรุ้น ที่ผมเคยนำเสนอไปครั้งหนึ่งเมื่อปีกลาย ทำให้เลือกไม่ถูก จนท้ายที่สุดมาสะดุดเข้ากับหน้าปกนิตยสารปักกิ่งรีวิว เรียงต่อกันสองฉบับ นำเสนอเรื่องราวค่อนข้างขัดแย้งกันอยู่ ดูแล้วเลยเกิดคิดต่อไปไกล อดไม่ได้จะขอนำมาเป็นประเด็นพูดคุยเปรียบเทียบให้ท่านผู้อ่านที่รักได้คิดต่อในสัปดาห์นี้ อาศัยลอกเลียนงาน “สองนคราประชาธิปไตย” ของท่านอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ มาจั่วหัวเป็น สองนคราจีน
                      เรื่องราวขึ้นหน้าปกที่ว่าขัดๆกันก็คือ ปกนิตยสารปักกิ่งรีวิว ฉบับสัปดาห์ที่แล้วขึ้นปกปัญหาทายาทรุ่นที่สองของบรรดามหาเศรษฐีจีน มาฉบับสัปดาห์นี้ ปกนิตยสารเดียวกันตั้งประเด็นปัญหาสังคมเกษตรจีนขาดแคลนทายาทมาสานต่องานในไร่นา สองเรื่องนี้ดูจากข่าวล้วนแล้วแต่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ  ผมจะขอขยายความในส่วนภาคการเกษตรก่อน เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศจีนต้องนำเข้าอาหารในส่วนธัญพืชหลักกว่า 61ล้านตัน เมื่อดูในภาพรวมแล้ว จีนมีความสามารถในการผลิตอาหารได้เองภายในประเทศไม่ถึงร้อยละ90 ทั้งๆที่เป็นเวลากว่า5ปีมาแล้ว ที่ประเทศจีนตั้งเป้าว่าจะต้องสร้างเสถียรภาพทางอาหาร เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการผลิตธัญพืชภายในประเทศให้ได้เต็มร้อย แต่หลายปีมานี้ต้องยอมรับว่าจีนยังทำไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาปัญหาอุปสรรคต่างๆที่บันทอนกำลังผลิตในภาคเกษตรจะได้รับการแก้ไขไปตามลำดับ เช่นการออกกฎหมายควบคุมอนุรักษ์การใช้ที่ดินภาคเกษตร การส่งเสริมเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตสมัยใหม่ การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกี่ยวกับสายพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง การจัดรูปที่ดินเพื่อการชลประทานและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ดูเหมือนผ่านมาหลายปีแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ คือปัญหาเรื่องบุคลากรในภาคเกษตร ผมจำได้ว่าในคอลัมน์นี้ ผมได้เคยนำเสนอปัญหาทางภาคเกษตรของจีนไปแล้วไม่น่าจะต่ำกว่าสองครั้ง ทั้งๆที่ปัจจุบันจีนสามารถสงวนพื้นที่เกษตรชั้นดีทั้งประเทศได้ถึง120ล้านเฮกตรา (1เฮกตราเท่ากับ6 ไร่ 1งาน) แต่กลับไม่สามารถหาเกษตรกรอาชีพไปทำอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
                  คำถามจึงอยู่ที่ว่าเกษตรกรจีนหายไปไหน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเกษตรกรจีนหดหายไปตามสภาพของชีวิตชนบทจีน กล่าวคือเมื่อครัวเรือนเกษตรกรใดเข้าสู่วัยชราเกินกำลังจะทำงานในท้องไร่ท้องนาได้ โอกาสที่จะมีลูกหลานมาสืบต่ออาชีพ เป็นไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของชุมชนนั้นๆ หากเป็นเขตชนบทห่างไกลความเป็นเมืองยังไม่เข้ามารุกราน แบบนี้ลูกหลานที่มาสืบทอดอาชีพก็ยังเป็นไปได้สูง แต่หากเป็นในเขตที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ความเจริญของเมืองแผ่มาถึง แรงงานของประชากรหนุ่มสาวในแถบนั้นๆ จะถูกดูดกลืนเข้าสู่ภาคการผลิตอื่น ทำให้เหลือแรงงานลูกหลานที่จะมาสืบต่ออาชีพได้น้อยเต็มที่ เท่าที่ตัวผมเองได้มีโอกาสไปศึกษาทำวิจัยอยู่ในประเทศจีน เมื่อสอบถามพูดคุยในประเด็นนี้กับชาวนาจีนตามพื้นที่เกษตรดั้งเดิมในชนบทที่เป็นรอยต่อกับเมืองที่กำลังขยายคุกคามเข้ามา ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่าพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรเอง ก็ไม่ได้คาดหวังหรืออยากให้ลูกต้องเข้ามาสู่อาชีพที่ลำบากแสนเข็ญ แบบเดียวกับที่ตนเองต้องผจญมา มองจากมุมของชาวไร่ชาวนาจีน ความเจริญและความเป็นเมือง จึงไม่ใช่ภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตครัวเรือนของตน แต่คือทางเลือกทางออก แห่งการหลุดพ้นจากความยากลำบากของชีวิต และถือเป็นช่องทางยกระดับคุณภาพและฐานะครอบครัว เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดและกำลังเกิดอยู่ในประเทศไทย  ทว่าเมื่อมองในภาพรวมของประเทศจีนในแง่ความมั่นคงทางอาหาร ปรากฏการณ์นี้ต้องถือว่าน่ากลัวและเป็นเรื่องใหญ่

                    ในอีกด้านหนึ่งของสังคมจีน นับตั้งแต่จีนปฏิรูปเปิดกว้างในช่วงต้นทศวรรษที่1980 เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อน ได้สร้างผู้ประกอบการและเศรษฐีรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มทุนในยุคจีนเก่า(ก่อน1949) หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มเศรษฐีใหม่ของจีน ตัวเลขจะเป็นเท่าไรนั้นพูดยาก แล้วแต่ว่าจะวัดกันด้วยมูลค่าสินทรัพย์มากน้อยแค่ไหน แต่หากเอาตามตัวเลขของนายหู หรุ่น (ฝรั่งที่เข้าไปตั้งรกรากทำงานเปิดบริษัทด้านข้อมูลเศรษฐกิจ และจัดอันดับเศรษฐีอยู่ในประเทศจีน ซึ่งผมเคยเขียนเล่าไปแล้วก่อนหน้า) จำนวนครัวเรือนที่จัดว่าเป็นมหาเศรษฐีของจีน น่าจะมีไม่ต่ำกว่า6-7พันครัวเรือน 30กว่าปีผ่านไป นักธุรกิจจีนรุ่นบุกเบิกเหล่านี้ ต่างก็กำลังก้าวเข้าสู่วัยปลดประจำการ หรือไม่ก็ปลดไปเรียบร้อยแล้ว แวดวงเศรษฐกิจจีนในระดับสูง รวมทั้งในระดับกลางด้วย กำลังอยู่ในวิกฤติการเปลี่ยนผ่านผู้กำหนดชะตากรรมกลุ่มใหม่ที่ทยอยเข้ามารับช่วงกิจกรรม อะไรที่เคยเป็นจุดแข็งจุดเด่นของนักธุรกิจจีนรุ่นบุกเบิก เช่น ความอดทน ความกล้าได้กล้าเสีย ความมุมานะฯลฯ  มาบัดนี้สถานการณ์ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เพราะทายาทรุ่นใหม่ที่เข้ามารับช่วง เป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีการศึกษาระดับปริญญาโทปริญญาเอกจากต่างประเทศ เติบโตขึ้นในบริบททางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากรุ่นก่อนหน้านี้ จนมีคำเปรียบเปรยว่า หนุ่มสาวเหล่านี้ก็เหมือนกล้วยหอม มองจากภายนอกก็ผิวเหลืองเช่นเดียวกับพ่อแม่ แต่พอปลอกเปลือกออกแล้วก็ขาวเหมือนฝรั่งตะวันตก เพราะเรียนมากจากตะวันตก คิดแบบตะวันตก และก็คงจะทำธุรกิจแบบชาวตะวันตกด้วย

                   อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศจีนใน 5-10 ปีข้างหน้า ทั้งในชนบทและในเมือง ทั้งในภาคเกษตรและภาคธุรกิจของจีน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจติดตาม สำหรับผม ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่า หรืออย่างน้อยก็ใหญ่พอๆกับเวลาที่เราเฝ้าจับตามองเหล่าผู้กุมอำนาจทางการเมืองของพรรคฯรุ่นใหม่ๆในปักกิ่ง ว่าใครกำลังจะขึ้นมารับช่วงต่อบริหารประเทศจีน ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ คงทำให้ใครต่อใครที่คิดว่าตัวเองได้ศึกษารู้จักประเทศจีนดี ต้องหยุดพิจารณาใหม่ เรื่องราวคงเดาได้ยากเต็มที ว่าความได้เปรียบและความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นมาหลายสิบปี ในอนาคตจะยังคงอยู่ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน