ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 ดูจากจั่วหัวบทความ ท่านผู้อ่านอาจเผลอเข้าใจว่ากำลังจะชวนคุยเรื่องแผนพัฒนาฯของบ้านเรา  แต่ที่ผมจะนำเสนอนี้เป็นของประเทศจีนเค้า  ถ้าสังเกตก็จะเห็นว่าเป็นแผนฉบับที่12 นะครับ บ้านเรายังอยู่ปลายแผน 10  ว่าที่จริงในโลกนี้ก็มีไม่กี่ประเทศหรอกครับที่มีการยกร่างพิมพ์เขียวการพัฒนาระยะห้าปีเป็นแผนต่อเนื่องกัน ประเทศจีนก็คงได้รับอิทธิพลมาจากสหภาพโซเวียตเดิมที่ส่งที่ปรึกษามาช่วยวางแผนการพัฒนาให้  แผนฉบับแรกของจีนนั้นเริ่มใช้กันตั้งแต่ปี 1953-1957 ในตอนนั้นยังเรียกตามโซเวียตว่าเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจอยู่  แต่ในบางช่วงของปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ แผนพัฒนาฯก็ขาดหายไป มาเริ่มทำแผนกันอีกในปี1981โดยอนุโลมนับเป็นแผนพัฒนาฯฉบับที่ 6 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่าเป็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                

          มาในปีนี้  นับเป็นปีสุดท้ายของการใช้แผนพัฒนาฯฉบับที่11 และนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้เริ่มกระบวนการยกร่างแผนพัฒนาฉบับใหม่ คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่12  อันจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า  และจะมีผลผูกพันกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศของจีนในทุกภาคส่วนอย่างค่อนข้างจะจริงจัง จริงจังกว่าแผนพัฒนาฯของบ้านเราแน่ๆ  เพราะไม่เพียงมีผลกับทิศทางขององคาพยพในภาครัฐเท่านั้น ธุรกิจและหน่วยงานอื่นในภาคเอกชน หากคิดจะอยู่รอดและเติบโต ก็ต้องวางแผนปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับแผนด้วย ผมเองเคยนำเรื่องราวเกี่ยวกับแผนพัฒนาของจีนมาเกริ่นในคอลัมน์นี้ไปครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี ตอนที่กระบวนการยกร่างเพิ่งเริ่มต้นขึ้น มาบัดนี้ กระบวนการยกร่างใกล้จะเสร็จสิ้น เรียกว่าเดินมาถึงปลายทาง ใกล้จะสามารถอนุมัติประกาศใช้ในปีหน้า  ผมเลยจะขอนำมาเสนอเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รัก ให้ได้รับทราบว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ของจีน ที่จะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป มีความเป็นมาและรูปร่างหน้าตาโดยร่วมเป็นอย่างไรบ้าง
                 ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนว่า  คล้ายกับที่เราอาจเคยได้ยินในกรณีแผนพัฒนาของบ้านเรา แผนพัฒนาของจีนที่ประกาศใช้ในแต่ละช่วงเวลา เมื่อได้เข้าสู่การปฏิบัติไประยะหนึ่ง ก็จะมีกระบวนการปรับแผนฯ  และเมื่อใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการตามแผนฯ ก็จะต้องมีการประเมินแผนฯ ปี 2010นี้ เป็นทั้งช่วงระยะเวลาของการประเมินแผนฯฉบับที่11 และการยกร่างแผนฯฉบับที่12  เป็นปีที่เหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษสำหรับหน่วยงานภาครัฐของจีนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งว่าไปแล้วก็เกี่ยวข้องทั้งหมดนั่นแหละ  นอกจากจะต้องสรุปผลว่าห้าปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรเข้าเป้าหรือไม่เข้าเป้าไว้บ้าง  ยังต้องมานั่งวางเป้าหมายใหม่ผนวกเข้ากับเป้าหมายเดิมที่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ หรือหลายกรณีต้องปรับเปลี่ยนทิศทางและเป้าหมายที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก  ในที่นี้ผมจะขออธิบายโดยยกตัวอย่างสรุปกระบวนการจัดทำแผนฯของประเทศจีนตามที่ได้สืบค้นมาพอสังเขปเพื่อให้เห็นภาพดังนี้ครับ ในระดับรัฐบาลกลาง การกำหนดเป้าหมายและนโยบายหลักที่จะเป็นหัวใจของแผนใหม่ในทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนถูกบังคับกลายๆโดยตัวเลขที่จีนสามารถทำได้ในแผนฯฉบับที่ผ่านมา กล่าวคือค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของห้าปีที่กำลังจะผ่านไปอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โจทย์ใหญ่คืออย่างไรเสียก็ต้องรักษาระดับให้ไม่น้อยไปกว่าเดิมหรือถ้าจะให้ดีก็ต้องสูงขึ้น อันนี้ก็เป็นวิธีคิดแบบที่เราๆท่านๆจะทำกัน  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี จีนจะเลือกโตเพิ่มขึ้นหรือจะเลือกการสร้างเสถียรภาพ หากจะสร้างเสถียรภาพก็หมายความว่าจะต้องปรับรื้อโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ในระดับหนึ่ง และยังอาจต้องคำนึงถึงกระแสกดดันและเรียกร้อง เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องใหญ่หรือผลเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงแผนฯฉบับที่11 ทั้งยังจะต้องคำนึงถึงงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่จีนต้องมีเพิ่มขึ้น ในฐานะที่ได้กลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก และต้องรับภาระต่อสังคมโลกมากขึ้น  ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคอย่างสำคัญที่จะชะลออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน  จากเดิมจีนกำหนดดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จของการพัฒนาตามแผนฯ11ไว้ 22ดัชนีชี้วัด(อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน สินค้าส่งออก การบริโภคภายในประเทศ ที่อยู่อาศัย การจัดการศึกษาฯลฯ) นั้นหมายความว่าในแผนฉบับหน้าตัวดัชนีวัดความสำเร็จของแผนจะต้องเพิ่มขึ้นแน่ และจำนวนนโยบายก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว เพื่อให้บรรลุดัชนีชี้วัดเหล่านั้น
                 หลังจากดำเนินการยกร่างแผนฯมาจนปัจจุบัน  คณะทำงานได้ฝ่าฟันจนได้ฉบับร่างซึ่งจะถูกนำเสนอในวาระการประชุมทีห้า สมัยประชุมที่17ของที่ประชุมใหญ่กรรมการกลางของพรรคฯในกลางเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ประมาณกันว่าหากที่ประชุมเห็นชอบตามเป้าหมายและนโยบายในร่างฯที่นำเสนอ อีกห้าหรือหกเดือนรายละเอียดต่างๆของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่12 ก็จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ในเดือนมีนาคมปีหน้า  ถึงตอนนั้นก็จะได้รู้กันว่าผู้นำของจีนและพรรคฯ เลือกแนวทางใด ระหว่างการเดินหน้าพัฒนาเพื่อความเติบโต หรือชะลอตัวปรับโครงสร้างเพื่อเสถียรภาพ  แต่เชื่อได้แน่นอนอย่างหนึ่งคือ  ไม่ว่าแผนจะออกมาในแนวทางใด จีนกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะโลกที่จีนคุ้นชินได้หายไปแล้ว จากที่มีตลาดขนาดมหึมาในตะวันตกรองรับสินค้าราคาถูกสารพัดชนิดที่จีนจะป้อนให้ กลายมาเป็นโลกที่จีนจะต้องร่วมรับผิดชอบ ประคับประคองให้เศรษฐกิจการค้าการขายระหว่างประเทศหมุนเดินต่อไปได้ จากการที่จีนเป็นแหล่งลงทุนขนาดใหญ่รองรับเงินทุนภายนอกมากมาย กลายมาเป็นความพยายามของจีนที่จะดิ้นรนเอาเงินที่สะสมอยู่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ  จากการเมืองระหว่างประเทศที่จีนเคยเป็นผู้เฝ้าดูและคานอำนาจ กลายมาเป็นตัวเล่นหลักในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ห้าปีข้างหน้าจึงเป็นห้าปีที่โลกจะเป็นผู้เฝ้าจับตามองประเทศจีน  ยิ่งถ้ารายละเอียดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับใหม่ออกมาในต้นปีหน้า รับรองนักวิจารณ์ตะวันตกงานเข้าแน่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น