ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อุตสาหกรรมรถยนต์จีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                

                      ตั้งแต่เริ่มมีข่าวรถเมล์NGVว่าจะนำเข้ามาวิ่งเมืองไทยเรา (ได้ข่าวว่าเข้ามาเปิดโรงงานประกอบตัวรถแถวสระบุรีตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อนแล้ว)ผมก็ติดตามให้ความสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนมาโดยตลอด เสียดายว่ายังไม่เคยมีโอกาสจังหวะเหมาะๆที่จะนำเสนอสู่ท่านผู้อ่านที่รัก มาเมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสเห็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับหนึ่งของจีน ก็เลยติดตามอ่านดู พบว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศจีนประเภทที่รียกกันว่ารถสัญชาติจีน ตอนนี้ได้พัฒนาไปเยอะมาก สัปดาห์นี้ก็เลยจะขออนุญาตนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รักให้หายค้างคาที่ได้เคยตั้งใจไว้

                 อันที่จริงนับแต่จีนเริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในต้นทศวรรษที่1980 เป็นที่รับรู้รับทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งที่ฝรั่งพากันสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คืออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ เวลาล่วงเลยมากว่าสามสิบปี คงไม่ต้องอธิบายกันว่าก้าวหน้าเติบโตไปถึงไหนแล้ว  ลำพังด้วยตลาดและความต้องการมีรถยนต์ของชาวจีนเพียงแค่ปัจจัยเดียว ทุกบริษัทต่างชาติทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่นต่างก็ฟันกำไรกันมากมายมหาศาล ขยายโรงงานและปริมาณการผลิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ของทุกประเทศ  มาเมื่อปีที่แล้ว ยอดรวมจำนวนรถยนต์ที่ขายในประเทศจีนก็เพิ่มขึ้นถึง 13.6 ล้านคัน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ขายรถยนต์ได้มากที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย แต่ข้อมูลที่โลกภายนอกยังไม่ค่อยจะได้รับรู้เท่าไรนัก ก็คือสถานภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์ในส่วนที่เป็นยี่ห้อจีนแท้ๆ  ว่าได้พัฒนาไปอย่างไร                


                  ก่อนหน้าการปฏิรูปเปิดกว้าง สังคมภายนอกประเทศจีนรับรู้กันว่าจีนมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์อยู่สองสามยี่ห้อ ในแถบมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ก็ผลิตรถบรรทุก รถสาธารณะ และรถยนต์นั่งที่ใช้ในราชการจำนวนไม่มากนัก ที่โด่งดังขึ้นชื่อเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นลีมูซีนยี่ห้อ หงฉี อันเป็นสัญลักษณ์รถหรูประจำตำแหน่งของบรรดาชนชั้นนำในพรรคฯและผู้บริหารประเทศ  หลังปฏิรูปเปิดก้าว ประมาณช่วงกลางทศวรรษที่1980 จีนเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมในส่วนนี้ไปพร้อมๆกับการที่มีบริษัทต่างชาติค่ายเยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แต่จนแล้วจนรอด ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจ รถยนต์สัญชาติจีนแท้เหล่านี้ ก็ไม่อาจแข่งขันในตลาดได้  จนในช่วงปี1995 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมรถยนต์สัญชาติจีนแท้ถึงได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  การยกเลิกนโยบายคุ้มครองรัฐวิสาหกิจทำให้โรงงานรถยนต์จีนเดิมจำต้องปรับปรุงพัฒนาเพื่อความอยู่รอด โดยหันไปหาส่วนแบ่งในตลาดรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดส่วนที่บริษัทต่างชาติยังไม่ได้เข้ามายึดครองมากเท่าใดนัก  ในเวลาเดียวกันก็เกิดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กราคาประหยัดและไม่สิ้นเปลืองน้ำมัน ประเภทอีโคคาร์ของนักลงทุนจีนเองเกิดขึ้นอีกนับสิบบริษัท  ในทั้งสองตลาดนี้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการชาวจีนทำได้ดีทีเดียว จนดันให้ส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเริ่มขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ



                 มาในช่วงสี่ห้าปีหลัง ไม่เพียงแต่รถยนต์สัญชาติจีนจะขายได้ดีในประเทศ เรายังเริ่มเห็นแนวโน้มใหม่ๆ ที่มีการส่งออกรถยนต์จากจีนไปยังตลาดต่างประเทศ แม้จะเริ่มต้นที่ตลาดเล็กๆอย่างในเวียดนาม ลาว และหลายประเทศในแอฟริกา แต่ก็จัดว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อการส่งออกของรถยนต์สัญชาติจีนยี่ห้อจีน  อนาคตของรถบรรทุก เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กขนาดกลาง และรถโดยสารสาธารณะ ดูเหมือนจะไปได้ดีและไปได้ไกลในตลาดส่งออก
                 อย่างไรก็ดี จีนไม่ได้พอใจเพียงสถานการณ์แข่งขันในตลาดที่จำกัดของประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น  ในกลุ่มตลาดรถยนต์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว และในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หลายปีมานี้ก็มีสัญญาณการพัฒนาที่น่าติดตาม บริษัทเปิดใหม่ที่มีประวัติก่อตั้งเพียงสิบกว่าปี เวลานี้ต่างก็กำลังเร่งพัฒนาคุณภาพรถยนต์ของตนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้นว่ามีข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์จีน ก็เช่นตัวอย่างของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนยี่ห้อ Chery (ชื่ออาจคุ้นหู เพราะมีผู้นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราแล้ว) ซึ่งจัดเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนแท้รายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนปัจจุบัน  ในเดือนที่ผ่านมา ได้เปิดตัวศูนย์ทดสอบสมรรถนะรถยนต์ ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในเอเชียไปเรียบร้อยแล้ว แซงหน้าทั้งประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้มาก่อน แม้จะเพิ่งก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เมื่อปี 1997 แต่รถยนต์ยี่ห้อ Chery ก็ได้รับความสำเร็จอย่างรวดเร็วในฐานะที่เป็นรถยนต์จีนแท้ที่มุ่งความโดดเด่นทางเทคโนโลยีเครื่องยนต์และรูปลักษณ์การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะในปี2009ที่ผ่านมา Chery มียอดขายอยู่ที่409,300คัน เป็นอันดับที่เจ็ดของผู้ผลิตรถยนต์ในจีน (Volkswagen Automotiveในจีนเป็นอันดับที่หนึ่ง มียอดขาย 708,100คัน) แต่เป็นอันดับหนึ่งในบรรดารถยี่ห้อจีนแท้จีน เรียกว่าขายความเป็นชาตินิยมไปพร้อมๆกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของจีน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์จีนไม่กี่รายที่พัฒนาทั้งตัวรถและเครื่องยนต์ของตนเอง จากศูนย์วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนและตัวเครื่องยนต์ของตนในมณฑลอานฮุย โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบจากต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีสัดส่วนของวิศวกรสูงมากในจำนวนคนงานทั้งหมด(หกพันจากสองหมื่นกว่าคน)
                 หากดูจากพัฒนาการและแนวโน้มที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน  ผมเข้าใจว่าในอนาคตอันใกล้ อีกไม่กี่ปีนี้ เราคงจะได้เห็นไม่เพียงแต่รถเมล์โดยสารขนาดใหญ่ยี่ห้อจีนตามท้องถนนในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่จำนวนรถเก๋งสัญชาติจีนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย  คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเรา จะเดินไปในทิศทางใดนับแต่นี้ ผมว่าน่าห่วง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น