ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นักเรียนนอกกลับบ้าน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





                ผมจำได้ว่าเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของจีนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน ในคราวนั้น นอกเหนือจากประเด็นการสอบแข่งขันที่ดุเดือดแล้ว ผมยังได้เกริ่นถึงกระแสความนิยม และจำนวนนักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศมาเล่าสู่กันฟังไปด้วย  มาคราวนี้ ผมมีข่าวและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาจีนกลุ่มที่เรียกว่า ”นักเรียนนอกทุนหลวง” มานำเสนอเพิ่มเติม


                  ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางของจีนชุดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกผู้รับทุนการศึกษารัฐบาลไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้จัดประชุมใหญ่ดำเนินการคัดเลือก โดยในปีนี้ใช้นครเหอเฟ่ยในมณฑลอายฮุยเป็นสถานที่จัดประชุม ที่ประชุมได้แถลงผลดำเนินการของปี2009 ว่าได้ส่งคนไปแล้ว12,769ทุน(ถือว่ามากสุดเป็นประวัติการณ์) ผลการคัดเลือกการทุนไปเรียนต่อต่างประเทศประจำปี2010 พร้อมทั้งแถลงข่าวแผนงานการคัดเลือกให้ทุนรอบใหม่ในปี2011 คณะกรรมการฯชุดนี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี1996 ดำเนินการมาถึงปัจจุบัน ได้ให้ทุนส่งนักเรียนจีนไปศึกษาในระดับปริญญาที่ต่างประเทศแล้วรวม 78,500 คน แต่อันที่จริงจำนวนนักเรียนทุนของรัฐบาลจีนมีมากกว่านี้อีกเป็นหลายเท่าตัว เพราะในช่วง 1981-1996 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้รับทุนการศึกษารัฐบาลไปศึกษาต่อในต่างประเทศอย่างเป็นระบบเบ็ดเสร็จ หน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมต่างๆของจีน ต่างก็แยกกันให้ทุนการศึกษาเพื่อส่งข้าราชการของตนไปศึกษดูงานต่อในต่างประเทศ เพิ่งจะมารวมศูนย์ก็เมื่อไม่นานนี้ ส่วนเรื่องการดูงานและฝึกอบรมยังคงมอบให้หน่วยงานเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ นอกจากนี้อาจยังมีบางหน่วยงานที่ลักษณะงานมีความเป็นเฉพาะพิเศษอีกเพียงไม่กี่แห่ง ตัวอย่างเช่นหน่วยงานในฝ่ายของกองทัพประชาชน ที่ยังเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกบุคคลากรของตัวไปเรียนต่อระดับสูงในต่างประเทศ


                ตัวเลขและประเด็นสำคัญที่มีการแถลงกันในที่ประชุมเมื่อสุดสัปดาหด์ที่ผ่านมา เห็นจะเป็นเรื่องจำนวนผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษา เดินทางกลับมาทำงานใช้ทุนรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ที่ผมเรียนว่าน่าสนใจก็เพราะ ในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่มีการส่งนักเรียนจีนไปนอก มีข่าวร่ำลือกันเสมอในหมู่นักเรียนนอก ว่าเรียนจบแล้วก็อยู่หางานทำในต่างประเทศ หรือหลบซ่อนไปทำงานต่อในประเทศที่สาม เรื่องราวจะเท็จจะจริงอย่างไรผมก็ไม่ทราบได้ เพราะก็ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนออกมาเอะอะโวยวาย แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีคณะกรรมการคัดเลือกฯเป็นต้นมา ข้อสัญญาที่ทำระหว่างรัฐบาลจีนกับผู้รับทุน แม้จะเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็ยังเปิดทางให้ผู้รับทุนที่เรียนไม่สำเร็จ หรือเรียนจบแต่ไม่ยอมกลับมาใช้ทุน สามารถชดใช้เป็นตัวเงินได้ นั่นย่อมสะท้อนว่าปัญหาที่ลือกันอยู่น่าจะมีเค้ามูลบ้าง ตัวเลขที่มีการเปิดเผยในการแถลงข่าวคราวนี้ อ้างว่ามีผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาระดับสูง44,555คนได้เดินทางกลับมาทำงานใช้ทุนในประเทศจีน จากยอดรวมสะสมของผู้สำเร็จการศึกษา45,553ที่ควรต้องกลับมานับแต่เริ่มให้ทุนในปี1996 หรือคิดเป็นร้อยละ98ของจำนวนผู้ที่ควรต้องกลับมาใช้ทุน ตัวเลขชุดนี้ แม้จะไม่ได้แจกแจงเป็นรายปี แต่ก็สะท้อนภาพอะไรบางอย่าง ผมเองสงสัยใจอยู่ ว่าตัวเลขชุดนี้ อาจไม่ใช่ตัวเลขสะสมที่ทะยอยกลับมาใช้ทุนหลังเรียนจบแบบปรกติธรรมดา แต่น่าจะเป็นการทะลักกลับมาทำงานในประเทศจีน อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกในช่วงปีสองปีหลังนี้เป็นสำคัญ หากตัวเลขเป็นเช่นที่ผมสงสัย ก็จะสอดคล้องกับข่าวลืออื่นๆก่อนหน้านี้อีกหลายข่าว เช่นข่าวนักศึกษาจีนเครียดเพราะโอกาสหางานในต่างประเทศเพื่อเอาเงินมาใช้ทุนหลวงทำได้ลำบากขึ้น ข่าวบัณฑิตปริญญาเอกจีนตกงานต้องยอมเป็นผู้ช่วยวิจัยราคาถูกตามมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
                อย่างไรก็ดี หากจะถกแถลงกันอย่างเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับนักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ลำพังเพียงข้อมูลหรือตัวเลขของคณะกรรมการฯชุดข้างต้นคงยังไม่ได้ภาพทั้งหมด เพราะจำนวนนักเรียนจีนที่เรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศด้วยทุนส่วนตัวนั้น มีมากมายหลายเท่าตัวเหลือเกินเมื่อเทียบกับนักเรียนทุนของรัฐ เฉพาะในปีการศึกษา2009-2010  มีนักเรียนจีนทุนส่วนตัวที่ยังศึกกษาอยู่เฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆของสหรัฐอเมริกากว่า128,000คน(ประมาณ100,000ในปีการศึกษา2008-2009) จนกล่าวกันเล่นๆว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกายังสามารถเปิดอยู่ได้ ก็ด้วยงบประมาณทางอ้อมที่ประเทศจีนอุดหนุนให้(ค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาต่างชาติ670,000คนที่จ่ายให้มหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐอเมริกา สูงถึง 18,000ล้านเหรียญสหรัฐ) สถานการณ์นักศึกษาจีนในตลาดการศึกษาฝั่งยุโรปตะวันตก ก็ไม่ได้ต่างจากในสหรัฐเท่าใดนัก แม้จำนวนจะไม่มากเท่าในอเมริกา แต่นักศึกษาจีนทั้งโดยทุนรัฐบาลและทุนส่วนตัว มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการอยู่รอดของมหาวิทยาลัยและภาควิชาบางสาขาที่เป็นงานวิจัยทางวิชาการล้วนๆ ไม่ใช่หลักสูตรทำเงินทำทอง


                แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มปรากฏมีบางสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยชื่อดังจากอเมริกา มาทำหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยจีน แต่แนวโน้มใหม่ที่ผมคิดว่าจะต้องจับตาดูและอาจมีผลต่อประเทศต่างๆในภูมิภาคแถวบ้านเรา ก็คือเริ่มมีการคิดกันในหมู่ผู้บริหารตลาดการศึกษาของจีน ที่สนใจจะซื้อกิจการมหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ใครจะไปรู้ ในอนาคตอาจมีมหาวิทยาลัยชื่อดังของฝรั่งมาจัดการเรียนการสอนอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยมีเจ้าของกิจการเป็นชาวจีนหรือบริษัทจีนก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น