ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิวาทะ R3A

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





              

                      ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ดูเหมือนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อทุกแขนงของจีน พากันให้ความสำคัญกับข่าวเรื่องงานEXPO2010 ที่เซี้ยงไฮ้มากเป็นพิเศษ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะถือเป็นข่าวใหญ่ชิ้นสำคัญ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวจีนทั้งประเทศ แม้ว่าในวันที่สองที่สามของงาน จำนวนผู้คนที่เข้าเยี่ยมชมในแต่ละอาคารนิทรรศการจะลดน้อยลงก็ตาม  แต่ทางรัฐบาลและผู้รับผิดชอบจัดงานก็พากันแก้ไขปรับปรุงข้ออุปสรรคต่างๆ  ส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาที่เรื่องการจัดการและการบริการ ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากถอดใจไม่อยากต่อคิวยาวเหยียด แม้บัตรเข้าชมจะจำหน่ายล่วงหน้าไปจำนวนมากแล้ว แต่การจัดการและคิวการเข้าชมในอาคารต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่บั่นทอนความอดทนและความอยากดูอยากชมของผู้คนไปเยอะ เสียงบ่นก็เลยมีมากเป็นพิเศษ  อีกข่าวหนึ่งที่ยังคงครองแชมป์บนหน้าสื่อจีน ก็คือสองกรณีเหตุคนเครียดเพราะปัญหาเศรษฐกิจบุกเข้าทุบตีใช้มีดแทงเด็กนักเรียนประถม เป็นประเด็นต่อเนื่องเสนอข่าวเพิ่มเติมติดต่อกันมาหลายวัน ผมเองเบื่อและไม่อยากนำเสนอทั้งสองเรื่อง ก็เลยพยายามวนหาข่าวอื่นๆดูบ้าง หนีจากหนังสือพิมพ์หลักระดับชาติ ไปดูหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของแต่ละมณฑล  งานEXPOเซี้ยงไฮ้ ก็ยังติดตามไปทุกมณฑล จนท้ายที่สุดเจอข่าวเศรษฐกิจชิ้นหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ของมณฑลยูนนาน รายงานว่าจีนกำลังจะได้ผลผลิตยางชุดแรกที่ไปลงทุนปลูกในประเทศลาว ก็เลยทำให้นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีการบ้านค้างเก่า ที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อท่านผู้อ่านที่รัก คงจำกันได้ว่าเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจเส้นทางสายR3A ที่เชื่อมต่อเมือง คุนหมิง มาถึงกรุงเทพฯ  หลังจากกลับมาก็ได้รายงานท่านผู้อ่านไปแล้วครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาแม่น้ำโขงและภัยแล้งในประเทศจีน  ตั้งใจจะเขียนเรื่องอื่นๆที่ได้ไปเห็นมา  แต่ก็มีข่าวอื่นที่น่าสนุกกว่ามาคั้น วันนี้เห็นข่าวว่าจีนจะเริ่มกรีดยางในลาว ก็เลยขอชวนท่านผู้อ่านคุยเรื่องถนนสาย R3A ต่อเป็นภาคสองถนนเส้นR3Aนี้ เป็นความฝันร่วมกันของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม้น้ำโขงมาตั้งแต่เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว  แต่กว่าจะต่อเชื่อมได้สำเร็จและเปิดเดินรถก็ต้องลุ้นกันอยู่นาน  ต้องยอมรับว่าถนนเส้นนี้สำเร็จลงได้ก็ด้วยการมีส่วนผลักดันอย่างสำคัญของจีน ทั้งที่รับผิดชอบสร้างถนนเองในเขตจีน และที่ให้ความช่วยเหลือค่าก่อสร้างในเขตดินแดนประเทศลาว พอเริ่มเปิดใช้ ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาลทั้งต่อจีน ลาว และประเทศไทยเอง   แต่ที่ถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์มากเป็นพิเศษ   เห็นจะเป็นกรณีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศลาว โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่รอยต่อพรมแดนของสองชาติ จีนและลาว ว่าที่จริงการลงทุนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมของจีนในลาวตอนบน โดยเฉพาะแขวงพงสาลีและหลวงน้ำทา มีมาตั้งแต่ปี 1997 เมื่อรัฐบาลของทั้งสองประเทศลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยุติความขัดแยงและปัญหาชายแดนที่มีมายาวนานกว่า20ปี แต่การปรากฏตัวของทุนจีนและคนจีนในลาวที่ทะลักทะลายเข้ามามากมายเป็นพิเศษ เพิ่งจะเกิดเมื่อถนนเส้นนี้สร้างเสร็จ ที่สถานีขนส่งระยะไกลของเมืองคุนหมิง มีรถโดยสารนอนวิ่งจากเมืองคุนหมิงถึงนครเวียงจันทน์ ของลาว วันละหกเที่ยว อัดแน่นไปด้วยแรงงานและนักแสวงโชคชาวจีนเต็มรถทุกเที่ยว แม้จะต้องเดินทางยาวถึง40ชั่วโมง ยังไม่นับรวมบรรดารถยนต์ส่วนตัวของนักพนันและนักธุรกิจชาวจีนอีกจำนวนมากที่แล่นเข้าออกประเทศลาวโดยใช้ทางหลวงสายเอเชียเส้นนี้ เท่าที่ผมทราบ เมื่อปีที่แล้วจีนลงทุนในประเทศลาวเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงปัจจุบันนี้สัดส่วนการลงทุนของจีนเฉพาะในสามแขวงตอนเหนือของลาว  เพิ่มสูงกว่าร้อยละ40   ของการลงทุนทั้งหมด (จากที่เดิมขาใหญ่สุดเป็นนักลงทุนจากประเทศไทย) กิจกรรมการลงทุนหลักของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังการเปิดใช้เส้นทางR3A กระจายอยู่ในสามหมวดหลัก คือสัมปทานที่ดินเพื่อการเกษตร การลงทุนทางพลังงาน (ทั้งที่ขนน้ำมันสำเร็จจากไทยเข้าจีนผ่านประเทศลาว และที่ลงทุนทำเขื่อนในลาว) และการลงทุนในภาคธุรกิจการค้าและบริการ  ยกเป็นตัวอย่างประเภทกิจการที่ผมไปเห็นมากะตา มีทั้งการเช่าพื้นที่ปลูกยางพารานับแสนๆไร่ ธุรกิจขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก กาสิโนที่กฎหมายห้ามมีในจีนแต่มาเปิดเล่นกันในฝั่งลาว ธุรกิจเจ้าของโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านค้า กิจการโรงเลื้อยแปรรูปไม้เศรษฐกิจสำคัญส่งออกไปประเทศจีน และอีกสารพัดที่จะพบเห็นได้ทั้งในหลวงน้ำทาและพงสาลีการได้เห็นประเทศลาวพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความรู้สึกได้ทั้งสองทาง เกิดเป็นวิวาทะขึ้นในใจ หากไม่มีทางหลวง R3Aและเงินลงทุนจากประเทศจีน แขวงเมืองหลวงน้ำทาและพงสาลี ก็มีสภาพไม่ต่างไปจากพื้นที่สูงอื่นๆของประเทศลาวตอนเหนือ หรือแม้พื้นที่ชนบททางใต้ที่ติดต่อกับกัมพูชา เป็นเขตที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยชาวเขาที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีไม่ถึง800เหรียญสหรัฐ หรืออาจต่ำกว่าในพื้นที่ห่างไกล การลงทุนจากภาพนอกปริมาณมหาศาลเช่นนี้ ได้เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการจ้างงาน ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คนในชนบทห่างไกล มีรายได้ดีเกินกว่าที่จะทำไร่ปลูกพืชเกษตร และที่สำคัญสร้างรายได้แก่รัฐบาลลาวให้สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศโดยรวม


                 ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากทั้งต่อระบบนิเวศและสังคมวัฒนธรรมเดิมของลาว ก็สร้างความห่วงใยแก่ผู้พบเห็นทั่วไป ไม่ต้องเป็นนักพัฒนาหรือนักอนุรักษ์ใดๆทั้งสิ้น แค่เข้าไปสัมผัสพบเห็นเพียงครั้งเดียว ผมเชื่อว่าคนภายนอกที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจจากประเทศอื่น ย่อมอดห่วงพี่น้องชาวลาวไม่ได้  เอาแค่เพียงปัญหาทางนิเวศอย่างเดียวก็น่ากลุ้มใจแทนแล้ว การโค่นถางป่าฝนผืนมหึมาเพื่อส่งออกไม้มีค่า แล้วทดแทนด้วยการปลูกต้นยางพาราหรือต้นยูคาอย่างที่เห็นได้ทั่วไปในทั้งสองแขวง ไม่ว่าจะโดยนายทุนชาวจีน เวียดนาม หรือนายทุนไทยก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวมในระยะยาว  นักวิชาการบางท่านถึงกับระบุว่าเป็นสาเหตุเริ่มต้นของปัญหาภัยแล้งของลาวตอนบนในสองปีที่ผ่านมา นี่ยังไม่ได้รวมเอาผลกระทบทางวัฒนธรรมอีกมหาศาล สรุปว่าชั่งตวงวัดดูแล้ว อาการน่าห่วง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น