ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                     บทความที่แล้วผมได้เล่าเรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรมของจีนให้ได้รู้จักกันมาพอสมควร ในบทความนี้ขอถือโอกาสเล่าเรื่องสืบเนื่องเกี่ยวกับการนำเอามรดกเหล่านั้นไปต่อยอด ไม่ใช่เพียงการท่องเที่ยวเท่านั้นที่จะเกี่ยวข้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและบริหารจัดการมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ยังมีรูปธรรมของผลได้อื่นๆ อีกมากที่ตามมาในชื่อของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม หรือถ้าจะพูดให้ชัดๆ ในทางกลับกันก็คือ สังคมหนึ่งสังคมใด ไม่มีทางที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรืออุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมได้ หากไม่มีการพัฒนาและบริหารจัดการมรดกและทรัพยากรทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ดี ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คิดจะให้มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แล้วก็จะเนรมิตขึ้นมาได้ในทันที
                 จากตัวเลขเฉพาะที่ผมหาข้อมูลได้ของรอบปี 2009  ขนาดของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรืออุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม(อย่างที่นิยามกันในประเทศจีนจีน)ของจีนเมื่อปีที่แล้ว  ขยายตัวถึง 800,000 ล้านหยวน หรือกว่า 4 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นการประมวลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ทั้งจากมรดกทางวัฒนธรรมโดยตรงและความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากที่มีอยู่ในวัฒนธรรมเดิม  ตัวเลขจะถูกผิดมากน้อยอย่างไร ก็ต้องไปคุยกับสภาสังคมศาสตร์แห่งชาติของจีนเอาเอง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานผู้จัดทำการศึกษาวิจัย
               สภาสังคมศาสตร์แห่งชาติให้ข่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขที่ได้คำนวณจากฐานข้อมูลสถิติที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรวบรวมไว้  ในบรรดามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประมวลได้นี้ แยกเป็นกิจกรรมการบริโภคสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมและความบันเทิงของภาคครัวเรือน 608,000ล้านหยวน งบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม 110,000ล้านหยวน และอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมอีก 10,000ล้านหยวน


                 หากทำการศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียด จะพบว่าในรอบปี2009 อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของจีนได้มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อปรับตัวครั้งสำคัญ พัฒนาเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น  กล่าวคือพัฒนาขึ้นมากกว่าเพียงการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทุนเดิมที่มีอยู่  มาเป็นการสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดเพิ่มทุนทางวัฒนธรรมมากมายหลากหลายยิ่งขึ้น และก็เป็นการพัฒนาในจังหวะที่ประจวบพอดีกับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีน ทำให้ติดตลาดอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นตัวช่วยพลังการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีน



                
               ที่ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสมัยใหม่นั้น จะว่าไปแล้วก็เพราะรูปแบบของสื่ออันหลากหลายที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่นี้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ได้รับพลังส่งที่ประจวบเหมาะกับการมาถึงของเทคโนโลยีสมัยใหม่  เฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี 3G เครือข่ายบริการทางการสื่อสารและประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลที่ขยายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณผู้เข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตของจีนเพิ่มจาก 113 ล้านคนเป็น 233 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ปริมาณการดาวน์โหลดเนื้อหาของสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อการบันเทิงในรูปแบบต่างๆ กระฉูดเพิ่มอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
                 ในอีกด้านหนึ่ง  รูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการแพร่ภาพกระจายเสียงที่เปลี่ยนไป ก็ช่วยให้การบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมขยายเพิ่มมากขึ้น  จากเดิมการแพร่ภาพของรายการทีวี(ซึ่งมีมากมายหลายร้อยช่องทั่วประเทศจีน)  เคเบิลทีวี รายการวิทยุ ภาพยนตร์ การแสดงสดคอนเสิร์ต เกมออนไลน์ และสื่อสาระบันเทิงการศึกษาฯลฯ แยกจากกันสื่อสารกับผู้รับอย่างกระจัดกระจาย  แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สื่อเหล่านี้ถูกควบรวมเข้าด้วยกัน และสามารถหาชมหาฟังได้ผ่านอุปกรณ์ที่รองรับMulti-media ขนาดเล็กเช่นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ได้ปิดโลกการสื่อสารทางวัฒนธรรมที่ไร้พรมแดน  และผนวกรวมผู้คนต่างวัยต่างสถานะจำนวนมหาสาร เข้าสู่ตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เฉพาะเคเบิลทีวีรูปแบบใหม่ของจีนเพียงแค่ช่องทางเดียว  ในปี2009 มีสมาชิกบอกรับบริการสูงถึง174ล้านครัวเรือน  ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งใช้บริการอินเตอร์เน็ตเสริมผ่านเครื่องรับทีวีโดยบริการเชื่อมต่อพิเศษ ตลาดทีวีที่กำลังโตอย่างรวดเร็วอีกสาขาย่อยหนึ่ง คือสมาชิกบอกรับบริการDigital TV ขยายตัวเพิ่มเป็น63 ล้านครัวเรือน



                 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของจีน ก็กำลังขยายฐานครั้งสำคัญ  เฉพาะตลาดผู้ชมภายในประเทศ ในปี 2009 มีภาพยนตร์สร้างใหม่ออกฉายกว่า200 เรื่อง มากที่สุดเท่าที่มีมา ในขณะที่ภาพยนตร์ต่างชาติเข้าฉายในจีน ประมาณ 50 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ในรูปแบบละครชุด อีกจำนวน 456 เรื่องนับเป็นอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ละครชุดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากอินเดียและสหรัฐอเมริกา ละครชุดทางทีวีเหล่านี้ กว่าครึ่งเป็นสินค้าส่งออกเพื่อฉายแพร่ภาพในต่างประเทศ ในปีเดียวกัน จีนยังได้ผลิตภาพยนตร์การ์ตูน 27 เรื่อง สารคดีระดับชาติ 19 เรื่อง สารคดีวิทยาศาสตร์ 52 หัวเรื่อง เฉพาะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมคาบเกี่ยว รวมมูลค่ากว่า 10,700ล้านหยวน


                 วงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็จัดเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีกแขนงหนึ่งที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศจีน ในปี2009 มูลค่าอุตสาหกรรมแขนงนี้สูงถึง 507,500ล้านหยวน ทั้งนี้ยังไม่รวมอุตสาหกรรมที่คาบเกี่ยว เช่นสิ่งพิมพ์ สี และอื่นๆ เห็นตัวเลขทั้งหมดนี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเหนื่อย เหนื่อยแทนรัฐบาล ที่กำลังเร่งจะให้มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น