ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จีนกับพันธกิจโลก

โดย รศ. พรัชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





                   ผมเคยนำเสนอเรื่องราวความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนว่ากำลังแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น จนอาจทำให้ขนาดของเศรษฐกิจจีนสิ้นปีนี้ กลายมาเป็นอันดับสองของโลก จะเป็นรองก็เพียงสหรัฐอเมริกา  ในบทความคราวนั้น ผมได้เสนอท่านผู้อ่านที่รักไปว่า ตำแหน่งพี่เบิ้มอันดับสองของโลกนั้น แม้จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศจีน  แต่ก็ย่อมส่งผลให้จีนตกเป็นเป้าจับตาดูจากนานาชาติ ไม่ว่าจะโดยประเทศที่พัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตก หรือประเทศที่ยังล้าหลังกำลังพัฒนาอยู่ก็ตาม  เรื่องใหญ่ที่นานาชาติเฝ้าจับตาดู ก็คือทีท่าของจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ จะแสดงความรับผิดชอบต่อโลกส่วนที่เหลืออย่างไร โดยเฉพาะกับประเด็นปัญหาร้อนๆอย่างเช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจโลก วิกฤติการณ์พลังงาน ภาวะโลกร้อน เสถียรภาพทางอาหารและความอดอยากในประเทศยากจนทั้งหลาย  มาวันนี้ ดูเหมือนประเด็นเรื่องภาระและพันธกิจที่จีนจำต้องรับผิดชอบ จะไม่ได้เป็นเพียงการจับตาดูท่าที่อย่างเงียบๆเสียแล้ว  เพราะปรากฎว่าเริ่มมีเสียงเรียกร้องอย่างเปิดเผย ให้จีนแสดงบทบาทอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในการช่วยเหลือดูแดความปรกติสุขของโลกใบนี้


              
                             ในนิตยสาร Beijing Review ฉบับออนไลน์ ที่ผมเปิดอ่านเมื่อวันจันทร์ มีสกู๊ปพิเศษ รวบรวมเรื่องราวที่เป็นประเด็นกดดันเรียกร้องให้จีนเข้ามามีส่วน แสดงบทบาทความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น อ่านดูแล้วก็หนักใจแทนยักษ์ใหญ่ว่าที่พี่เบิ้มหมายเลขสองของโลก ในสกู๊ปดังกล่าว ได้จัดเรียงลำดับเรื่องร้อนๆที่จีนกำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอยู่หลายเรื่อง ผมจะขอนำบางส่วนมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รัก ไม่ทั้งหมดและขอไม่เรียงลำดับแบบเขานะครับ เอาแบบตามความสนใจของคนไทยเรา ซึ่งก็คือเรื่องราวที่คาบเกี่ยวในมุมเศรษฐกิจเป็นหลักก่อน เรื่องแรกคือปัญหาค่าเงินหยวนของจีน หลักๆที่เถียงกันอยู่ระหว่างโลกตะวันตกและจีนก็คือ ข้อกล่าวหาที่ว่า เงินหยวนของจีนไม่เป็นไปตามกลไกอัตราแลกเปลี่ยนอย่างที่ควรจะเป็น ตามมาตรฐานการค้าการขายระหว่างประเทศ โดยเชื่อกันว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนที่แท้จริง(real effective exchange rate [REER] )ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลจีนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค่า และเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอื่นๆ และอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โตกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ประเทศอื่นๆแทบจะไม่มีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แรงบีบเพื่อเรียกร้องให้จีนทบทวนค่าที่แท้จริงของเงินหยวนจึงดำเนินมาตลอดเป็นลำดับ แม้เมื่อจีนได้ปรับเพิ่มค่าเงินไปแล้วในสองสามเดือนมานี้ แต่ความเชื่อฝั่งใจในเรื่องนี้ก็ยังไม่อาจลบหายไปได้


               

                     เรื่องต่อมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน ซึ่งว่าที่จริงแล้ว มีมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนที่จีนจะรู้ตัวว่ากลายมาเป็นพี่เบิ้มอันดับสองเสียอีก แต่ทำไงได้ละครับ พอคนจีนเริ่มรวย อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว คนซื้อรถราขับกันเต็มบ้านเต็มเมือง ขัดแย้งกับภาพกองทัพรถจักรยานถีบสองล้อสมัยก่อนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เลยทำให้เห็นจริงไปได้ว่าน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น เพราะจีนกับอินเดียใช้รถยนต์มากขึ้น ในทางข้อเท็จจริงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอาจแพงขึ้นด้วยเหตุที่กล่าวหากันจริงๆก็ได้ แต่ตัวเลขที่มาจาก International Energy Agency (IEA) ระบุว่าในปี2009ทั้งปี จีนซึ่งมีประชากรกว่าพันสามร้อยล้านคน ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งสิ้น 2,252ล้านตัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากรไม่ถึงสามร้อยล้านคน ใช้น้ำมันไปกว่า 2,170ล้านตัน หรืออาจกล่าวได้ว่าประชากรรายหัวของอเมริกาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าคนจีนถึง4.5เท่า ใครจะถูกจะผิดอย่างไรคงยังสรุปไม่ได้ เพราะที่ว่ามานี้เป็นเพียงตัวเลขน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีพลังงานจากถ่านหิน เขื่อนและอื่นๆอีกที่จะต้องเอามาคิดรวมด้วย แต่ที่แน่ๆ ผู้คนทั่วโลกที่เติมน้ำมันรถราคาแพงขึ้น ย่อมจะต้องคิดถึงประเทศจีนก่อนในฐานะผู้ต้องหาอันดับต้นๆ 
               รื่องใหญ่เรื่องถัดมาที่จีนโดนเต็มๆแบบหนักกว่าใครเพื่อน ได้แก่เรื่องปัญหาโลกร้อนและภาวะเรือนกระจก  รูปแบบข้อถกเถียงก็ดำเนินไปในแนวเดียวกับเรื่องน้ำมันข้างต้น เพราะหากดูจากตัวเลขปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซต์รวมที่จีนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้องถือว่าค่อนข้างมาก แต่เมื่อดูค่าเฉลี่ยต่อหัวประชากร เราอาจพบว่าใกล้เคียงกับผู้คนในยุโรปก่อนหน้านี้ และเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอที่ร้อยละ12-15ต่อปีในช่วง1990-2007 สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน สิ่งที่ทั่วโลกเป็นห่วงก็คือ หากจีนกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเอาคนเดียวไปเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศอื่นๆเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะกลายเป็นประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลกในปริมาณรวมที่มากที่สุด และเฉลี่ยต่อหัวประชากรก็มากที่สุดด้วย เท่ากับว่าโลกที่จะร้อนขึ้นในอนาคตข้างหน้านั้น เป็นผลจากฝีมือคนจีนล้วนๆ หากจีนยังไม่เร่งแสดงความรับผิดชอบ ค้นคว้าหาหนทางใช้พลังทดแทนที่สะอาดกว่านี้
                จีนกำลังเติบโตและร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมโลกที่จับจ้องด้วยสาตาที่ชักจะไม่ค่อยเป็นมิตรและออกอาการว่าจะคาดหวังจากจีนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ภายในประเทศจีนเอง ประชาชนส่วนใหญ่อีกกว่าร้อยละ60 ที่ยังไม่ได้รับอานิสงค์เท่าที่ควรจากการพัฒนาประเทศ ก็กำลังจับจ้องดูด้วยสายตาที่หงุดหงิดและคาดหวังเรียกร้องมากขึ้น ก็เห็นใจและหนักใจแทนจริงๆครับ รู้อย่างนี้ กลับไปจนเหมือนเดิมซะก็ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น