ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ภัยแล้ง


โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

         

               เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมต้องออกเดินทางไปราชการยังนครคุนหมิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลาหกวัน เพื่อสำรวจเส้นทางสำหรับนำนักศึกษาโครงการวิจัยสังคม  ของมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ไปฝึกปฏิบัติงานสนามในหน้าร้อนปีหน้า  เนื่องจากใช้เวลาอยู่ในมณฑลยูนนานยาวหลายวัน ไปเที่ยวนี้เลยทำการศึกษาสำรวจเรื่องอื่นๆแถมเพื่อนำมาฝากท่านผู้อ่านที่รักเป็นการเฉพาะ  คณะของผมซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัยอีกสี่ท่าน  ออกเดินทางจากประเทศไทยไปยังนครคุนหมิง เก็บข้อมูลอยู่สองวันก็เดินทางต่อไปยังเมืองเชียงรุ้งในเขตปกครองตนเองไตสิบสองปันนา  เสร็จจากเชียงรุ้งหรือเมือง จิ่งหง ก็เดินทางตามเส้นทางสาย R3A ไปยังเมืองหล้าและเขตชายแดนจีน-ลาว ที่เมืองบ่อหาน-บ่อเต็น สำรวจสภาพเศรษฐกิจการลงทุนของจีนในแขวงเมืองหลวงน้ำทา ก่อนที่จะเดินทางข้ามแม่น้ำโขงกลับเข้าประเทศไทยที่อำเภอเชียงของ ขึ้นเครื่องบินที่เชียงรายกลับมาถึงกรุงเทพฯอย่างสลบเหนื่อยอ่อนเมื่อดึกวันที่๒๗ มีนาคม  แม้จะเป็นการสำรวจเส้นทางนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว แต่สำหรับผมต้องถือว่าตลอดทางมีเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายทั้งในส่วนประเทศจีน และที่ได้พบเห็นในประเทศลาว เรียกว่าถ้าไม่เกรงใจว่าท่านผู้อ่านจะเบื่อ อาจจะเขียนลงในคอลัมน์นี้ได้เป็นเดือนทีเดียว

                 เฉพาะที่อยากจะนำมาเล่าสู่ให้ท่านผู้อ่านได้ร่วมประสบการณ์กับผมในคราวนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งที่ได้ไปพบเห็นมาในทั้งสามประเทศ  ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงจีน ลาว และไทย อันมีแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำล้านช้างเป็นลำน้ำร่วมหล่อเลี้ยงแผ่นดิน  ก่อนหน้าที่เราจะเดินทางถึงนครคุนหมิง  ท่านนายกรัฐมนตรี เหวิน เจียเป่า ก็เพิ่งจะเสร็จสินภาระกิจการตรวจเยี่ยมและสั่งการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในมณฑลยูนนาน เรียกว่าเดินทางสวนกันเลยก็ว่าได้ ตรวจสอบจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ เหรินหมิง ที่ได้รับฟรีจากทางโรงแรมที่พัก ทราบว่าท่านนายกรัฐมนตรีเหวิใช้เวลาอยู่ในยูนนานสามวันเต็มตั้งแต่วันที่๑๙ถึง๒๑  ตรวจเยี่ยมเขตชนบทที่ประสบภัยขาดแคลนน้ำอย่างหนักหลายแห่ง อีกทั้งยังได้สั่งการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินหลายมาตรการ แม้จนเมื่อท่านนายกฯเดินทางกลับไปแล้ว  ผมก็ยังพบเจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ลงมาติดตามงานแก้ปัญหาอยู่ประชุมต่ออีกหลายคณะ  เผอิญว่าโรงแรมที่พวกผมพักอยู่คงเป็นโรงแรมใหญ่ที่สุดของนครคุนหมิง  ก็เลยได้เห็นผู้คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่พรรคจากส่วนกลาง เดินเข้าเดินออกห้องประชุมชั้นสามกันทั้งเช้าทั้งบ่าย เฉพาะที่ผมแอบอ่านจากป้ายประกาศกำหนดการประชุมหน้าโรงแรม อย่างน้อยก็มีอยู่สามงานประชุมใหญ่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาภัยแล้งในวันเดียว



                 ในช่วงระยะกว่าสองเดือนที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านก็คงได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับระดับน้ำในแม่น้ำโขง บรรดานักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก ต่างก็พุ่งเป้าเพ่งเล็งไปที่การก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำของจีน  ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงวิกฤติ ฝ่ายจีนเองก็พยายามชี้แจงว่าภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้น เป็นผลจากปริมาณน้ำฝนที่ลดน้อยลงอย่างมากเพราะภาวะเอลนิลโย ไม่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน  เพราะปริมาณน้ำที่กักเก็บได้เป็นน้ำต้นทุนเดิมที่เกิดจากการละลายของหิมะในที่ราบสูงธิเบต  ซึ่งมีปริมาณเพียงร้อยละ ๑๗ ของน้ำที่ไหลต่อมายังประเทศลาว จะจริงจะเท็จอย่างไร  คงต้องอาศัยนักวิชาการทางด้านนี้ออกมาให้ความรู้ จะได้ไม่ต้องระแวงกล่าวหากันให้เสียบรรยากาศมิตรประเทศ  แต่ตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในยูนนานและในประเทศลาว  ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่าแห้งแล้งจริงๆในเกือบทุกจุดที่ไปเห็นมา  เฉพาะในบริเวณที่ราบสูงของยูนนาน  ปัญหาไม่เพียงแค่ขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร  แม้น้ำที่จะใช้อุปโภคและบริโภคก็ขาดแคลนอย่างยิ่ง  เวลานี้ดูเหมือนทำได้เพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจนเกินไป  และเตรียมลุ้นไม่ให้ยืดเยื้อจนกระทบกับการเพาะปลูกในฤดูใบไม้ผลิ  ซึ่งดูเหมือนจะมาช้าผิดปรกติในปีนี้  แต่หากพิจารณาให้กว้างกว่าพื้นที่ที่ผมไปเห็นมา  ต้องยอมรับว่าปีนี้ปัญหาภัยแล้งของจีนรุนแรงมากเป็นพิเศษ นับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงเมื่อปีกลายเป็นต้นมา ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนทั้งหมด ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  กระทบทั้งกับการเกษตรและชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างกว้างขวาง  เดือดร้อนขนาดที่นายกรัฐมนตรีต้องลงมาดูแลแก้ปัญหาเอง คงไม่ใช่เรื่องเล็กแน่




                 หากจะพูดถึงความวิปริตของสภาพอากาศ  ต้องยอมรับว่าปีนี้จีนเจอปัญหามากเป็นพิเศษ  ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางหลายพื้นที่  แม้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ  แต่กับมีสภาพหนาวเย็นและมีหิมะตกยาวนานกว่าปรกติ  ในขณะที่ภาคใต้และตะวันตกหลายจุดเผชิญกับภัยแล้ง  ก่อนหน้าที่จะถูกกลุ่มประเทศตอนล่างของแม่น้ำโขงโวยวายเรื่องระดับน้ำ จีนก็เจอกับปัญหาลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงแห้งขอดอยู่แล้ว  ผมยังได้มีโอกาสถ่ายภาพประกอบมายืนยัน  แต่ไม่ใช่จะแก้ตัวแทนจีนว่าการสร้างเขื่อนไม่เกี่ยว เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าเขื่อนที่จีนลงทุนไปมากมาย ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้แต่อย่างใด อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นในปีนี้  หนักกว่านั้น  ปัญหาระดับน้ำแม่นำโขงที่ลดต่ำลง  ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆแก่จีนเอง อาจมากกว่าที่หลายท่านได้รับทราบ  ผมได้มีโอกาสไปเห็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่เชียงรุ้งของจีน  ปรากฏว่าเงียบสงัด ไม่มีเรือสักลำ สินค้าส่วนใหญ่ต้องขนส่งทางบกแทนซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก  อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจีนก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบ  ในแต่ละปีนักท่องเที่ยวภายในของจีนเอง มักนิยมเดินทางมาสิบสองปันนาในเทศกาลสงกรานต์  แต่ปีนี้รัฐบาลกลางของจีนประกาศห้ามไม่ให้เล่นสาดน้ำโดยเสรีตามท้องถนนอย่างที่เคยทำมาหลายปี  จะอนุญาตให้เฉพาะในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้นเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้แหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น