ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แรงกดดันของวัยรุ่นจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูงวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาแะลมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                 ที่ผ่านมา มีงานประชุมสัมมนาระดับประเทศว่าด้วยปัญหาเยาวชนจีนจัดขึ้นที่มหานครปักกิ่ง ที่จริงหากมองอย่างผิวเผิน รายงานข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาชิ้นนี้ก็อาจดูเหมือนกิจกรรมทางวิชาการปรกติธรรมดาชิ้นหนึ่ง ในประเทศจีนวันๆ หนึ่งมีงานสัมมนาทำนองนี้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันงาน แต่ที่ผมเอามาเป็นประเด็นชวนคุยกับท่านผู้อ่านที่รักในคราวนี้ ก็เพราะในระยะหลังมีข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นเยาวชนจีน ในทางที่เป็นแง่มุมลบ ปรากฏทางหน้าสื่อของประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บรรดาผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบบริหารประเทศก็ปวดหัววิเคราะห์หาสาเหตุไปต่างๆนานา ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาวัยรุ่นหรือเยาวชนจีน กำลังจะไต่ระดับมาเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในลำดับต้นๆ ไม่ใช่ว่าจะเรียบร้อยอยู่ในระเบียบวินัยเคร่งครัด อย่างที่หลายท่านอาจจินตนาการภาพว่าสังคมคอมมิวนิสต์น่าจะเป็น




                 ขอวกกลับเข้าประเด็นข่าวของสำนักข่าวซินหัว ที่ประชุมสัมมนาได้มีการนำเสนอผลการวิจัยแบบสำรวจ พบว่าเด็กจีนกว่า 30 ล้านคนกำลังมีปัญหาหนัก กว่าร้อยละ 40ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาของจีน ตกอยู่ในสภาวะ เครียด ซึมเศร้า และหมดอาลัยกับอนาคต ไม่รู้ว่าจบไปแล้วจะมีงานหรือหางานอะไรทำได้ ร้อยละ 84 ของนักเรียนมัธยมจีน มีอาการเครียดและถูกกดดัน มีปัญหากับการนอนหลับ ร้อยละ 50 ของนักเรียนระดับประถม มีพฤติกรรมกร้าวร้าว ไม่สามารถสมาคมกับคนทั่วไปแบบปรกติ รู้สึกอับอายและไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ปัญหาที่เยาวชนทุกกลุ่มมีร่วมกันก็คือ ความรู้สึกที่แปลกแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่างฝ่ายต่างดูเหมือนไม่เข้าใจโลกของอีกฝ่ายหนึ่ง กลุ่มนักวิจัยที่นำเสนอผลสำรวจให้ความเห็นว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะมีที่มาจากปัจจัยหลัก คือความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคม และปัจจัยการที่ประเทศถูกผลักดันเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วภายในชั่วเวลาเพียงหนึ่งรุ่นอายุคน ในด้านโครงสร้างทางสังคม นโยบายมีลูกได้เพียงหนึ่ง ทำให้ครอบครัวกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก ไม่มีเพื่อนรุ่นอายุเดียวกันหรือพี่น้องที่จะให้คแนะนำปรึกษา หรือที่ระบายทุกข์ในใจ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ก็ส่งผลทำให้ครัวเรือนจำนวนมากสูญเสียหัวหน้าครอบครัวที่จะช่วยอบรมดูแลลูก เพราะต้องจากบ้านไปตะเวนหางานทำ หรือในกรณีที่ทั้งแม่และลูกต้องโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิมในชนบท เพื่อติดตามหัวหน้าครอบครัวเข้าสู่เมือง อันเป็นแหล่งรวมของอาชีพการงานที่อาจดูมีอนาคตมากกว่า โอกาศที่จะสามารถอาศัยความเหนียวแน่นของชุมชนเดิมในการช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็กก็แทบจะไม่มีเหลือ เมืองกลายเป็นนิคมผู้โยกย้ายหางานทำ หรือเป็นชุมคน แต่ไม่ใช่ชุมชนทางสังคมอีกต่อไป


                 ผลงานวิจัยชิ้นอื่นๆที่นำเสนอในเวทีสัมมนาเดียวกันนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าห่วงอีกหลายประการ กล่าวคือจำนวนเด็กวัยรุ่นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเริ่มปรากฏเพิ่มมากขึ้น  จำนวนเด็กที่เข้าไปในเกมส์ออนไลน์ที่เน้นใช้ความรุ่นแรงมีมากขึ้น มีกรณีใช่ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกันในหมู่เยาวชน ทั้งในและนอกโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น กรณีเด็กมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัยอันควร กรณีท้องและมีบุตรก่อนการสมรส และที่ร้ายสุด คือจำนวนกรณีเด็กฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ตามข้อมูลจากโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ
                 ที่ผ่านมาดูเหมือนสังคมจีนก็รับรู้อยู่ว่ามีปัญหาดังกล่าวในหมู่เยาวชนของตัว แต่ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับว่ารากเหงาของปัญหาที่แท้จริง  การพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดย่อมต้องแลกด้วยต้นทุนทางสังคมที่แพงเอาการทีเดียว การเลี่ยงปัญหาด้วยการโทษเด็กว่าติดเกมส์ออนไลน์ หรือจับเด็กไปฝังเข็มลดความเครียด(เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในจีน เพราะผู้ปกครองจำนวนมากและหมอแผนจีนยืนยันกันว่าการฝังเข็มสามารถลดความเครียดก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้) หรือการประกาศว่าน้ำมันปลาทะเลสามารถลดระดับความเครียดในเด็กวัยรุ่นได้ นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจชักนำให้สังคมแก้ไขปัญหาผิดฝาผิดตัวอีกต่างหาก ในที่ประชุมมีนักวิชาการบางคนถึงกับแสดงความกล้าหาญตำหนิวิจารณ์นโยบายลูกคนเดียว ว่าสมควรที่จะได้รับการทบทวนยกเลิก หรือมิเช่นนั้น รัฐบาลก็ควรต้องออกมารับผิดชอบดูแลปัญหาของครอบครัวที่มีลูกเพียงคนเดียวอย่างเป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้น หรือพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาที่เด็กกว่า 30 ล้านคนนี้จะก่อให้กับสังคมจีนในอนาคตอันใกล้


                 พวกเราชาวไทยได้รู้เห็นปัญหาของจีนแล้ว ก็อาจหัวเราะไม่ออก เพราะดูเหมือนเราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ดีไปกว่าจีนเท่าใดนัก เรามีเด็กเครียดเพราะต้องเตรียมตัวสอบแข่งขันเข้าม.1 เข้าม.4 เข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตเด็กไทยคนหนึ่งมีเรื่องให้เครียดได้หลายรอบ เรามีปัญหาเด็กติดเกมส์ออนไลน์เช่นเดียวกันกับจีน แม้ว่าตัวเลขอาจไม่มากเท่า เรามีเด็กใจแตกอยู่กินฉันสามีภรรยาตั้งแต่ยังเช่าหอพักเรียนหนังสืออยู่มัธยมปลาย เรามีเด็กติดยาติดอบายมุข เรามีเด็กใช้ความรุนแรงตีกันไม่เว้นทั้งเด็กผู้หญิงเด็กผู้ชาย แต่หากพิจารณาในแง่ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ประเทศไทยเราอาจจะยังพอแลเห็นอนาคตในการแก้ไขเยียวยาได้ง่ายกว่าปัญหาของจีน  แต่นั้นหมายความว่าเราอาจต้องตั้งสติให้ดี เวลาที่คิดอ่านดิ้นรนจะรีบพัฒนาให้ได้รวดเร็วเหมือนอย่างประเทศอื่นๆทั้งหลาย อันที่จริงโลกนี้มีตัวอย่างบทเรียนให้เห็นมามาก เสียแต่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนแกล้งทำเป็นไม่รู้ และไม่คิดจะเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆเหล่านั้น เรื่องหลายเรื่องที่ว่าด้วยการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การเมือง ชาติในยุโรปในอเมริกา ที่เห็นเจริญๆกันอยู่ทุกวันนี้ ผ่านประสบการณ์แก้ไขปัญหาผิดแล้วแก้ใหม่ซ้ำอยู่เป็นเวลาหลายร้อยปี กว่าจะมาเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อแรกเริ่มต้น ทำลายชนบทและครอบครัวชาวอังกฤษจนเสียหายย่อยยับอย่างมหาศาล สังคมอังกฤษใช้เวลากว่าร้อยปีในการลองผิดลองถูกค่อยๆเยียวยาแก้ไข กว่าจะมั่นใจเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมต่อได้ ใครที่เคยคิดอิจฉาความมหัศจรรย์ของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่พลิกประเทศจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในชั่วเวลาแค่30ปี คงต้องหยุดนั่งทบทวนดูว่าอยากเป็นแบบจีนจริงๆ หรือ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น