ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จีนกับเทคโนโลยีอวกาศ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                        มีข่าวสำคัญแทรกอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ของจีนเกือบทุกฉบับ เป็นข่าวการแถลงผลความสำเร็จของภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ของยานสำรวจ ฉางเออร์2(ฉางเออร์เป็นชื่อของนางฟ้าที่อยู่บนดวงจันทร์) หากไม่ใช่เพราะมีข่าวอื่นๆที่ดังกว่ามากลบ การแถลงข่าวที่ว่านี้จัดเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญมากในประวัติการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน  ตามเนื้อข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า เดินทางไปพบปะและรับฟังรายงานความสำเร็จ จากบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของจีนที่องค์การบริหารงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน ไฮไลท์ของงาน ท่านนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีเปิดเผยภาพที่ถ่ายโดยกล้องของยานสำรวจฉาวเออร์2 ( ที่เริ่มส่งสัญญานภาพกลับลงมายังสถานีภาคพื้นดิน ตั้งแต่เมื่อตอนค่ำของวันที่ 28 ตุลาคม) ต่อสื่อมวลชนที่มาติดตามทำข่าว ข้อมูลภาพพื้นผิวของดวงจันทร์จำนวนมากที่ส่งจากยานอวกาศลงมายังสถานีภาคพื้นดินนี้  จัดเป็นภาระกิจแรกของยาน หลังจากที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ตั้งแต่เมื่อวันที่1ตุลาคมที่ผ่านมา อันถือเป็นฤกษ์ดีเพราะเป็นวันชาติของจีน


                 ผมนำเรื่องนี้มาเสนอท่านผู้อ่าน ไม่ใช่เพราะเป็นข่าวใหญ่โตของความสำเร็จทางเทคโนโลยีอวกาศ เพราะเราท่านก็ทราบกันดีอยู่ว่าการถ่ายทอดข้อมูลภาพถ่านดวงจันทร์จากสถานีหรือยานอวกาศมาสู่สถานีรับสัญญานบนโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นครั้งแรกของโลก จึ่งไม่ใช่ประเด็นของความน่าตื่นเต้นในเนื้อข่าว หรือรูปภาพพื้นผิวดวงจันทร์ที่ปรากฏในการแถลงข่าว  แต่ที่อยากชวนคุยเรื่องนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน ที่เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานนัก ดูเหมือนจะก้าวหน้าเป็นเรื่องอยู่พอสมควรทีเดียว  หากนับจากการส่งยานที่มีมนุษย์ควบคุมขึ้นไปโคจรรอบโลก  มาเป็นยานที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม(ฉางเออร์1ปี2007 ) จนถึงฉางเออร์2 ดูเหมือนจีนใช้เวลาในการพัฒนาน้อยกว่าฝั่งตะวันตกอยู่มาก  หากว่าในชั่วเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ด้วยตัวเองขนาดนี้ เป็นเรื่องคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่าในอีก10-20ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอวกาศของจีนจะไปถึงขั้นไหน แน่นอนว่าคงต้องใช้เวลาอีกมากหากจะไล่จี้ทันชาติตะวันตก แต่ด้วยเงื่อนไขอื่นๆที่ดูจะได้เปรียบกว่า(ทั้งทางเศรษฐกิจและจำนวนนักวิทยาศาสตร์) นักวิชาการและนักวิจัยฝ่ายจีนจำนวนมาก ต่างมั่นใจว่าจีนจะสามารถกลายเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีอวกาศของโลกได้ในที่สุด ถึงขนาดที่ทำให้ผู้นำระดับสูงของพรรคฯ ออกมาประกาศว่าจีนจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสำรวจพรมแดนของจักรวาล และการใช้ประโยชน์อย่างสันติจากเทคโนโลยีอวกาศ อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจีนจะสามารถสร้างสถานีอวกาศเพื่อการศึกษาทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักได้ภายในปี 2016


                 ในมุมมองของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีอวกาศอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย หรืออังกฤษ ฝรั่งเศส ความก้าวหน้าของจีนในด้านนี้ ทำให้เกิดการคาดเดาต่างๆตามมาอีกมาก  ตัวอย่างเช่น ข่าววงในเรื่องจีนวางแผนที่จะส่งยานสำรวจดาวอังคารภายในปี 2013 แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากทางการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ดูเหมือนประเทศแถบตะวันตกต่างก็คาดเดาไปในทิศทางเดียวกันว่า จีนคงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสำรวจชั้นบรรยากาศและธรณีสันฐานของดาวอังคาร เพื่อประเมินศักยภาพเชิงเศรษฐกิจของแหล่งแร่และทรัพยากรที่อาจจำเป็นสำหรับโลกในอนาคต  การส่งยานอวกาศทั้งฉางเออร์1และฉางเออร์2 จึ่งอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสำรวจดวงจันทร์แต่อย่างใด ทว่าเป็นการทดสอบเพื่อเบิกทางไปสู่การสำรวจดาวอังคารในอนาคตอันใกล้  โดยแนวทางการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศของฝั่งตะวันตก สิ่งซึ่งจีนยังไม่มั่นใจคือระบบการสื่อสารทางไกลหากจะต้องส่งยานสำรวจที่ไม่มีมนุษย์ไปยังดาวอังคาร ฉนั้นเรื่องหลายเรื่องที่เป็นภารกิจของยานฉางเออร์2 ที่ถูกส่งขึ้นไปเที่ยวนี้ เลยเกิดมีคนสงสัยในแนวนวนิยายลึกลับว่าอาจมีภารกิจซ่อนเล้น ไม่ได้เป็นไปแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการเปิดเผยโดยฝ่ายจีน เช่นอาจมีการทดลองระบบส่งสัญญานทางไกลวิถีโค้ง  หรือทำการทดลองความทนทานของวัสดุประกอบผิวยานที่จีนประดิษฐ์ได้แล้ว ว่าจะสามารถทนทานต่อรังสีต่างๆในอวกาศได้ผลมากน้อยเพียงใด หากต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลถึงดาวอังคาร นอกจากนี้ยังมีการคาดเดาจากทางฝั่งฝรังเศสว่าการเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ของฉางเออร์2เที่ยวนี้ เป็นการทดลองประสิทธิภาพของจรวดนำส่งที่จะขับเคลื่อนยาน หากจะต้องส่งยานออกไปไกลถึงดาวอังคาร ลำพังเพียงศักยภาพของจรวดนำส่ง Long March 3A และ Long March 3C ที่จีนมีใช้อยู่ปัจจุบัน ล้วนพัฒนามาจากจรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร หรืออย่างมากก็ไปถึงดวงจันทร์ แต่หากจะไปให้ถึงดาวอังคาร จีนจะต้องพัฒนาจรวดนำส่งยานให้มีประสิทธิภาพขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และนี้อาจเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของยานฉางเออร์2 (ลือกันว่าทดลองใช้จรวดนำส่ง 3B/E แต่ปิดข่าวไม่ให้ชาติตะวันตกรู้)


                 ยังมีเรื่องลึกลับแนวสืบสวนสอบสวนและข่าวกรองอีกเยอะมาจากฝั่งตะวันตก ที่จับตาดูกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนแทบจะทุกฝีก้าว สนุกกว่าอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เยอะครับ อย่างเช่นข่าวที่ทางการจีนประกาศว่าจะสามารถสร้างสถานีอวกาศที่มีลูกเรือประจำการได้ราวปี 2016-2020 ตอนนี้ก็กำลังถูกเพ่งเล็งว่าจะมีวัตถุประสงค์ทางการทหารเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ทั้งนี้ต้องคอยดูตอนที่จีนส่งยาน  Tiangong-1(วิมานสวรรค์) และ Shenzhou-8(ยานเทวะ) อันจะเป็นยานหลักชุดแรกขึ้นไปประกบตัวเป็นส่วนกลางของสถานีอวกาศในปี2011 ถึงตอนนั้นคงมีเสียงซุบซิบลือกันในหมู่ชาติตะวันตก เพราะฐานส่วนกลางนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าวัตถุประสงค์ระยะยาวของสถานีอวกาศจะเป็นไปเพื่ออะไร เพราะที่ทางการจีนประกาศไว้นั้น ยาน Tiangong-1 เมื่อขึ้นไปประกบต่อเชื่อมแล้ว จะเป็นส่วนของสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีนักวิจัยและมนุษย์อวกาศอยู่ประจำ  คงต้องรอดูว่ารูปร่างหน้าตาของมันจะสอดคล้องกับที่จีนประกาศ หรือใกล้เคียงกับที่ฝรั่งสงสัย  เราในฐานะคนไทยที่ยังต้องทะเลาะแย่งกันเป็นพระเอกตอนน้ำท่วม คงได้แต่ติดตามข่าวต่อไป อย่างเสงี่ยมเจียมตัวแหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น