ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทุนจีนไปนอก

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                 ผมเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนของประเทศจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนไปแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นหากจำไม่ผิดได้เล่าให้ท่านผู้อ่านที่รักทราบว่าจีนกำลังขยายทุนเข้ามาค่อนข้างมาก ทั้งในรูปแบบที่เป็นการลงทุนทำธุรกิจโดยตรง และในรูปแบบการรับสัมปทานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในประเทศลาว พม่า และกัมพูชา ในเวลาเดียวกันจีนก็ให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่ในประเทศที่ยังไม่ได้ขยายตัวมากนัก อย่างเช่นในประเทศแถบอาฟริกา และเอเชียกลาง แต่เรื่องราวที่จีนเริ่มนำเงินทุนสะสมที่มีอยู่จำนวนมากมายมหาศาล เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นและกว้านซื้อกิจการของบริษัทใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องใหม่ที่ผมอยากนำมาเสนอให้กับท่านผู้อ่านในบทความนี้ 



                 ตัวเลขจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน และจากกระทรวงการค้าของจีนแจ้งไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า  เฉพาะในช่วง9เดือนแรกของปีนี้ จีนได้ลงทุนในกิจการต่างๆนอกประเทศไปแล้วกว่า36,300ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ10.4เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ตัวเลขการลงทุนข้ามชาติของโลกโดยรวม กลับลดลงกว่าร้อยละ40ในปี2009 อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกยังไม่ดีขึ้น แต่ตัวเลขการลงทุนต่างประเทศของจีนเมื่อปีที่แล้ว ขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ14.2 คิดเป็นเงิน47,800ล้านเหรียญสหรัฐ  เมื่อปีที่ผ่านมามีบริษัทของจีนกว่า12,000ราย ที่ไปลงทุนและเปิดบรษัทใหม่หรือตั้งสาขาในต่างประเทศกว่า13,000บริษัทใน170ประเทศ  ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นความเติบโตที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง หากเทียบกับเมื่อแรกเริ่มที่จีนสนใจเอาเงินทุนออกไปหากำไรในต่างประเทศเมื่อปี2003 ซึ่งในครั้งนั้นมีมูลค่าเพียง2,800ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่ง ต่างก็ประเมินออกมาในทิศทางเดียวกัน ว่าจีนขยายการลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างจงใจและเป็นระบบ เพื่อตักตวงประโยชน์ในช่วงที่กิจการในประเทศตะวันตกมีปัญหา เรียกว่าอาศัยจังหวะเหมาะไปช้อนซื้อของถูกจากฝรั่ง ว่างั้นเถอะ ถึงกับมีข่าวลือกันในแวดวงธุรกิจระหว่างประเทศว่า รัฐบาลจีนรู้เห็นเป็นใจและแอบอัดฉีดเงินเพิ่มพิเศษให้กับรัฐวิสาหกิจรายใหญ่สามแห่งของจีน ออกไปช๊อปปิงกว้านซื้อของดีราคาถูกในอเมริกาและยุโรป จนรัฐบาลจีนโดยกระทรวงการค้าต้องออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่เกี่ยว เป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจจีนแต่ละแห่งตัดสินใจกันเอง ตามกลไกการแข่งขันและตลาดทุนระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์ทั้งค่ายฝรั่งและค่ายจีน ตอนนี้กำลังประเมินกันว่า หากเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกยังไม่สามารถกลับฟื้นคืนมาคึกคักได้ในเวลาอันสั้น และจีนยังคงใช้นโยบายลุยซื้อของถูกต่อไปเช่นนี้ สัดส่วนเงินนอกที่เข้ามาลงทุนในจีน:เงินจีนที่ออกไปลงทุนภายนอก จากเดิมเป็น2:1 อาจกลายมาเป็น 1:1 นั้นหมายถึงอาจทำให้จีนกลายเป็นโบรกเกอร์ดึงเม็ดเงินจากทั่วโลกมาลงทุนต่ออีกทีหนึ่ง อย่างที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจตะวันตกเคยผูกขาดทำกันมาก่อนหน้านี้ ในอีกด้านหนึ่ง หากสถานการณ์การลงทุนข้ามชาติยังดำเนินไปแบบนี้ จีนจะเข้ายึดครองกิจการสำคัญๆของตะวันตก หรือครอบงำมีอิทธิพลเหนืออุตสาหกรรมและธุรกิจทั่วโลกในอนาคต
                 ที่บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายคาดการณ์กับไปอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จะว่าเป็นความตื่นตูมตกใจเกินเหตุก็พูดได้ แต่จะบอกว่าเป็นการวิเคราะห์คาดการณ์อย่างไม่มีเหตุผล ก็ยังไงๆอยู่ เพราะหากดูตัวเลขการลงทุนต่างประเทศของจีนอย่างละเอียดแยกย่อยแล้ว หลายเรื่องก็มีเค้ามูลน่าเป็นห่วงอยู่ ตัวอย่างเช่น กรณีการลงทุนเข้าซื้อหุ้นและกิจการในสหรัฐอเมริกาของนักลงทุนฝ่ายจีน ก่อนหน้านี้ในปี2009 มีมูลค่าไม่ถึง200ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พอมาปีนี้ ยังไม่ทันจะครบปีดี แค่6เดือนจีนลงทุนเข้าซื้อกิจการในสหรัฐอเมริกาไปแล้วกว่า605ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง3.6เท่าตัว หรือในกลุ่มประชาคมยุโรป ปีนี้แค่9เดือนจีนลงทุนไปแล้ว 406ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี2009 เพิ่มขึ้นร้อยละ107 ในรัสเซียจีนลงทุนไป264ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ59  ในกลุ่มประเทศอาเซียน จีนลงทุนไปในปีนี้มากถึง1,200ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีร้อยละ126 แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของตัวเลขความร้อนแรงที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะมูลค่าเงินลงทุนสะสมของจีนในต่างประเทศ ตอนนี้รวมแล้วมีแค่ 246,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของเงินลงทุนข้ามชาติที่หมุ่นเวียนอยู่ทั่วโลก ยังอีกนานกว่าที่จีนจะกลายมาเป็นนักลงทุนข้ามชาติขาใหญ่ติดอับดับของโลก
               

             ธุรกิจยอดนิยมที่นักลงทุนชาวจีนพากันขนเงินออกไปแสวงหากำไรและลู่ทางใหม่ๆนำหน้ามาแรงสุดๆ เห็นจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่และวัตถุดิบจากธรรมชาติ อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจโรงแรม การบริหารและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ฯลฯ มีตัวอย่างการเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการโดยการแอบกว้านซื้อหุ้นบริษัทฝรังโดยนักลงทุนชาวจีน ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาให้ชาวจีนได้สะใจตามหน้าหนังสือพิมพ์จีน เกือกจะทุกสัปดาห์ ที่ดังเป็นข่าวเด่นในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ก็เช่นกรณีบริษัท PetroChina ร่วมมือกับบริษัท Shell ลงขันกับคนละครึ่ง เข้าซื้อหุ้นกิจการแบบเหมายกบริษัท Arrow Energy Ltd. ของออสเตรเลีย ด้วยมูลค่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ  ข่าวดังอีกชุดก็ได้แก่การปิดเผยตัวเลขจากธนาคารเพื่อการลงทุน ที่ออกมาให้ข่าวว่า ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา มีบริษัทในจีนไปได้สัญญาสัมปทานเหมืองแร่ หรือเข้าไปซื้อกิจการเหมืองแร่ในต่างประเทศ รวม 49 สัญญา หรือข่าวบริษัท Suntech Power Holdings Ltd. ยักษ์ใหญ่ในวงการแผงพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของจีน เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานขนาดมหึมาในรัฐอริโซนาของอเมริกา เพื่อผลิตแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ป้อนตลาดในทวีปอเมริกา ข่าวการสำรวจและขุดพบแหล่งน้ำมันในซูดานโดยบริษัท China National Petroleum ฯลฯ  ตัวอย่างข่าวสารการลงทุนของจีนในต่างประเทศ อย่างที่ยกมานี้ ทำให้พอเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่า ทำไม่ฝรั่งก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ถึงได้รู้สึกหนาวเป็นพิเศษ ในฤดูหนาวปีนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น