ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สังคมป่วยไข้

โดย รศ. พรัชย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

                
                    ตอนนี้บ้านเมืองเราก็กำลังตึงเครียดอยู่ ผมเองตั้งใจว่าจะไม่พูดคุยเรื่องเครียดๆในคอลัมน์นี้เป็นการซ้ำเติม  แต่ทำไงได้ละครับ ข่าวสารที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเกือบเดือน เกี่ยวกับเหตุการณ์บุกทำร้ายเด็กนักเรียนอนุบาลรวมทั้งเด็กชั้นประถม ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายครั้งในประเทศจีนดังปรากฏข่าวเผยแพร่ทั่วไป  ทำให้จำเป็นต้องติดตามข่าวต่อเนื่องมา และเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากก็คงมีความสนใจ เท่าที่นับดู เริ่มตั้งแต่รายแรกที่เป็นข่าวเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงตอนนี้ก็ปาเข้าไปเป็นรายที่แปดแล้ว  คำถามที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร  แต่น่าจะต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมจีนโดยรวม
                 ตั้งแต่จีนเริ่มนโยบายลูกคนเดียวในช่วงปลายทศวรรษที่1970เป็นต้นมา  เราคงได้รับรู้ว่าสังคมจีนหวงและเห่อลูกกันขนาดไหน  เรียกว่าบ้านไหนมีเด็กเกิดคนหนึ่ง จะต้องมีผู้ใหญ่แย่งกันวุ่นวายอุ้มชูไม่ต่ำกว่าหกคน ฉะนั้นอะไรที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับเด็ก ก็มักกลายเป็นข่าวใหญ่ ถ้าเป็นเรื่องร้ายก็อาจกลายเป็นเหตุวุ่นวายแตกตื่นของสังคมทั้งสังคมได้เลยที่เดียว  ตัวอย่างเช่นเมื่อคราวพบปัญหาสารเมลามีนเกินขนาดในนมผงเด็ก ส่งผลกระทบต่อทารกกว่าสามแสนคน บรรดาผู้ปกครองพ่อแม่พากันวิ่งวุ่นพาลูกเข้าโรงพยาบาล ไม่ว่าจะมีอาการป่วยจริงหรือเพราะความวิตกของพ่อแม่  เกิดเป็นกรณีวุ่นวายพ่อแม่ไม่กล้าให้ลูกกินนมไปทั่วทั้งสังคมจีน จนรัฐบาลต้องออกมาตรการและลงโทษผู้เกี่ยวข้องกระทำผิดอย่างรุนแรงเฉียบขาด เพื่อเรียกขวัญและสติของพ่อแม่ผู้ปกครองกลับคืนมา กว่าจะเข้าที่เข้าทางคืนสู่สภาพปรกติกลับมาชงนมผงดื่มกันได้อีกครั้ง ก็ใช้เวลาร่วมปี
                 กรณีคราวนี้ เป็นเรื่องร้ายแรงถึงชีวิต มีเด็กตกเป็นเหยื่อถูกคนร้ายแทงด้วยมีด ไม่ใช่เพียงหนึ่งหรือสองราย แต่นับรวมแล้วหลายสิบคน  สังคมจีนเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง ตกอยู่ในสภาพความตื่นตระหนก หน่วยงานต่างๆต้องเร่งระดมหาทางป้องกันแก้ปัญหา แต่ก็ไม่อาจสร้างความมั่นใจใดๆแก่สาธารณชน เพราะเหตุการณ์เลียนแบบ ยังคงเกิดซ้ำในท้องที่ต่างๆอีกหลายครั้ง  จนท่านนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ต้องออกมาแสดงความเสียใจ และเรียกร้องให้สืบหาสาเหตุที่แท้จริงของรากเหง้าแห่งปัญหา

                 สังคมจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ กำลังเปลี่ยนแปลง และได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างมาก  ในขณะที่เศรษฐกิจจีนรุดไปข้างหน้า  ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย(หรืออาจเป็นผู้คนส่วนใหญ่)ถูกทอดทิ้งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จทางเศรษฐกิจ  เราได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับชาวนาจีนเผาตัวเองประท้วงการไล่ที่เพื่อสร้างอาคารสูง เราได้เห็นแรงงานอพยพจำนวนมหาศาลมุ่งหน้าเข้าแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่ ทั้งๆที่ไม่ได้มีแผนการหรืออาชีพการงานอะไรรองรับ  ผู้คนพูดถึงความทุกข์ยาก ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมทางสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความพยายามฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาความยากจนและปัญหาอื่นๆ ปรากฏเป็นข่าวเพิ่มมากขึ้นในสังคมจีน 
                 นับตั้งแต่กรณีเหตุทำร้ายนักเรียนรายแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคมจนถึงรายที่แปดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  หลังทำร้ายเด็กแล้วผู้ร้ายทุกรายตัดสินใจฆ่าตัวตาย สำเร็จบ้าง ถูกจับตัวส่งศาลตัดสินโทษบ้าง ทำให้นักสังคมวิทยาจีนหลายท่าน ตั้งข้อสังเกตว่าหากเทียบเคียงกับกรณีความรุนแรงในโรงเรียนของตะวันตก เช่นเหตุการณ์นักเรียนมัธยมกราดยิ่งเพื่อนๆนักเรียนด้วยกัน ในสหรัฐอเมริกาหรือในแคนาดา กรณีของจีนไม่ได้เป็นเด็กนักเรียน และไม่ได้มีประวัติว่าเป็นอาชญากรหรือเคยก่อคดีร้ายแรงมาก่อน แต่เป็นคนธรรมดาที่ต้องการประท้วง และเรียกร้องให้สังคมรับรู้ปัญหาความทุกข์ของตัวที่ถูกละเลย ผู้กระทำผิดทั้งแปดกรณี มีลักษณะหลายอย่างคล้ายกัน เช่นส่วนใหญ่อยู่ในวัย30-40ปี มีปัญหาความเครียดจากครอบครัว เศรษฐกิจ ไล่ที่ ตกงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง และเคยแสดงอารมณ์เคียดแค้นสังคม  บางรายได้เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วก่อนหน้านี้  การแสดงออกด้วยการทำร้ายเด็กที่อ่อนแอ จึงอาจดูเหมือนเป็นการตัดสินใจประท้วงหรือแก้แค้นสังคมด้วยวิธีที่รุนแรงที่สุดรูปแบบหนึ่ง เท่าที่เขาเหล่านั้นจะนึกออก
                 ว่าที่จริงแล้ว ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เป็นธรรม หรือแม้ปัญหาครอบครัวการงาน เป็นเรื่องที่มีปรากฏในสังคมทั่วทุกแห่ง ในทุกยุคสมัย ในสังคมตะวันตกเช่นสหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือประเทศญี่ปุ่น ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันมาก่อน  แต่เราอาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยมีสังคมใดจะได้เคยเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระดับที่ยิ่งใหญ่และรวดเร็วเท่าที่เกิดขึ้นกับประเทศจีนในปัจจุบัน ในสังคมตะวันตก การเปลี่ยนผ่านของวิถีการผลิตจากเกษตรสู่อุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษต้องใช้เวลากว่าร้อยปี หรืออย่างสังคมญี่ปุ่นการเปลี่ยนผ่านก็ดำเนินต่อเนื่องเกือบ60ปี  แต่สำหรับประชาชนจีนโดยเฉพาะที่อยู่ตามชายขอบสังคมนอกศูนย์กลางการพัฒนา จำต้องปรับตัวอย่างยากลำบากในชั่วระยะเวลาอันสั้นมากเพียงแค่ไม่ถึง20ปี(นับจากนโยบายปฏิรูปเปิดกว้าง) ยากลำบากและมีเวลาให้ปรับตัวน้อยกว่าที่ประชาชนในประเทศพัฒนาใดๆได้เคยผ่านพบมา  ระดับของปัญหา ระดับของความไม่เท่าเทียม และระดับของความเครียดเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีมากมายเกินกว่ากำลังที่ปัจเจกบุคคลโดยลำพังจะสามารถบริหารจัดการได้  ในขณะเดียวกัน เงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถแสดงออกหรือปลดปล่อยความเครียดได้โดยอิสระ  ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เพิ่มมากขึ้น หากยังพอมีครอบครัวที่เข้มแข็งให้การสนับสนุน ก็โชคดี พอฝ่าฟันไปได้ แต่หากเป็นปัจเจกที่โดดเดี่ยวพลัดบ้านพลัดถิ่น อันนี้ก็ลำบากหน่อย
                 ความพยายามใดๆที่จะแก้ไขป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนถูกทำร้ายซ้ำอีก นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีความสำคัญ  แต่การคิดอ่านแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรม และปัญหาอื่นๆก็คงต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปด้วย  เพราะท้ายที่สุดแล้วเหยื่อของความรุนแรงไม่ได้มีแต่เพียงเด็กนักเรียนเท่านั้น ผู้ร้ายที่เที่ยววิ่งเอามีดไล่แทงเด็ก ก็เป็นเหยื่อของสังคมที่ป่วยไข้ด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น