ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ เยือนจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                  ช่วงระหว่างวันที่ 17-20 เมษายนที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักส่วนใหญ่คงได้รับทราบว่านายกรัฐมนตรีของไทย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของท่านนายกรัฐมนตรีจีนเวิน เจียเป่า ที่เชิญผ่านมาทางสถานฑูตจีนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แรกๆผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องมีหน้าที่ “รวมการเฉพาะกิจ” ติดตามเอาข่าวสารมาเล่าต่อในคอลัมน์นี้ เพราะโทรทัศน์และเพื่อนสื่อแขนงต่างๆก็ทำหน้าที่ไปครบถ้วนหมดแล้ว แต่ช่วง2-3วันมานี้ ผมกลับพบว่ามี “ควันหลง” การเดินทางเยือนจีนของคุณยิ่งลักษณ์ ทยอยปรากฏผ่านสื่อในประเทศจีนแขนงต่างๆต่อเนื่องมา โดยเฉพาะที่เป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์จีน อ่านๆดูแล้วก็พบว่าท่านนายกฯของเราอาจกำลังตกที่นั่งเป็น “ดารา” หรือทำท่าว่าจะเป็นขวัญใจนักข่าวจีน อย่างน้อยก็ในอีกช่วงระยะหนึ่ง อดไม่ได้ก็เลยจะขออนุญาตนำมาเป็นประเด็นพูดคุยในคราวนี้
                   เสน่ห์อย่างแรกที่ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์หว่านใส่สื่อจีนทันทีที่ไปถึงมหานครปักกิ่ง (ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เหรินหมินเช้าวันที่18 เมษายน) ก็คือจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวจีนผ่านหนังสือพิมพ์ ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการจัดการเรื่องจดหมายนี้ ต้องขอบอกว่าได้ผลดีมาก(อย่างน้อยก็ในความเห็นของคอลัมนีสต์จีน) เนื้อความในจดหมายแสดงความถ่อมตนและให้เกียรติฝ่ายจีนอย่างสูง ซึ่งแน่นอนว่าถูกใจคนจีน แม้อาจดูเป็นการฑูตแบบตะวันออกมากกว่าจะเป็นธรรมเนียมการฑูตแบบสากล(ที่เน้นความเท่าเทียม)  อีกทั้งยังใส่ถ้อยคำที่แสดงความจริงใจในการคบหาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม  ผมไม่มีโอกาสเห็นที่เป็นฉบับภาษาไทย แต่เท่าที่อ่านดูจากฉบับภาษาจีน ก็เห็นด้วยว่าเป็นจดหมายที่ดีมากฉบับหนึ่ง
                    ความสนใจสำคัญอีกประการหนึ่งที่สื่อจีนให้กับคุณยิ่งลักษณ์มากเป็นพิเศษ เหนือกว่านายกฯและผู้นำไทยท่านอื่นๆที่เคยเดินทางไปเยือนจีน เห็นจะปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ที่ความเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิง” ยิ่งมีข่าวมาจากเมืองไทย ว่าท่านนายกฯมีสามีนอกสมรส สื่อจีนยิ่งชอบ ติดตามเก็บภาพครอบครัวสามคนพ่อแม่ลูกกันอย่างคึกคัก แล้วก็ปรากฏมีภาพครอบครัวแบบสวยใส ครบทั้งสามีและลูกอยู่พร้อมหน้า อย่างที่ไม่เคยมีให้เห็นในสื่อไทย เผยแพร่กว้างขวางในประเทศจีน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำต่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ภาพเยอะมากๆในอันดับต้นๆ ผมเข้าไปดูทั้งในเว็ปไซต์หนังสือพิมพ์ ทีวี หรือแม้แต่นิตยสารบันเทิง-ความงามของจีน ก็พบว่ามีภาพนายกฯหญิงของเรามากมายเป็นพิเศษ อีกทั้งยังมีความเห็นจากผู้เข้าชมในเว็ปไซต์ คอมเม้นท์ออกมาในทางบวกต่อนายกฯไทยเกือบทั้งหมด บ้างก็ชมว่าสวย บ้างก็เชื่อว่าเก่ง บ้างก็ว่าลูกน่ารัก สามีหล่อฯลฯ
                  หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมพบว่าสื่อจีนให้ความสนใจจริงจังกับนายกฯยิ่งลักษณ์มากพิเศษ ก็คือความพยายามในการขอเข้าพบสัมภาษณ์พิเศษ ผมเองตกที่นั่งถูกเข้าใจผิดจากเพื่อนสื่อมวลชนจีนที่คุ้นเคยหลายท่าน ว่าสามารถนัดแนะจัดคิวสัมภาษณ์ให้ได้ ตั้งแต่ก่อนวันที่17 ก็มีสื่อหนังสือพิมพ์จีน3รายที่รู้จักติดต่อกันประจำ โทรมาขอให้นัดแนะเพื่อสัมภาษณ์นายกฯหญิงของไทย ผมต้องรีบปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่สามารถจัดการอะไรให้ได้ แต่ก็แนะเขาไปว่าหากมีทีวีช่องหลักของจีนและหนังสือพิมพ์ระดับชาติเช่นเหรินหมินหรือซินหัวทำเรื่องขอไป ทางสถานฑูตไทยคงดูแลประสานงานให้แน่ๆอยู่แล้ว มาเมื่อเช้าวันวาน ก็ได้รับทราบจากเพื่อนสื่อมวลชนจีน อีเมล์แจ้งมาว่ามีหนังสือพิมพ์จีนอย่างน้อย4ฉบับ ได้รับอนุญาตเข้าสัมภาษณ์พิเศษกับนายกฯไทย อีกทั้งยังส่งต้นฉบับบทสัมภาษณ์มาให้ผมอ่านด้วย ผู้นำชาติมหาอำนาจสำคัญๆที่ไปเยือนจีน แน่นอนว่าย่อมจะได้รับความสนใจจากสื่อจีน และอาจมีบทสัมภาษณ์ลงตีพิมพ์ในสื่อนับเป็นสิบๆราย แต่สำหรับประเทศขนาดกลางๆที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจอย่างประเทศไทยเรา ความสนใจขอเข้าสัมภาษณ์ในระดับนี้ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา แม้จะเป็นการเยือนเพียงแค่สามวัน แต่ก็ได้รับการติดตามนำเสนอข่าวครอบคลุมไม่น้อยเลย
                     ในบทสัมภาษณ์ที่เพื่อนสื่อจีนส่งมาให้ผมอ่าน อาจแยกประเด็นความสนใจที่สื่อจีนสอบถามสัมภาษณ์นายกฯยิ่งลักษณ์ ได้ประมาณสามเรื่องใหญ่ๆด้วยกัน เรื่องแรกเป็นกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน จุดแข็งของประเทศไทยคืออะไร ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีความสำคัญอย่างไร ไทยสนใจรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนหรือไม่ ไทยจะพัฒนาไปในทิศทางไหนฯลฯ เรื่องที่สองเป็นกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการเมืองไทยและแนวทางการบริหารประเทศในความขัดแย้ง บทบาทนายกฯที่เป็นผู้หญิงลำบากหรือไม่ คุมลูกพรรคเพื่อไทยได้จริงๆหรือไม่ อดีตนายกฯทักษิณเข้ามาบงการหรือคอยช่วยเหลืออย่างไร ใครเป็นคนคิดนโยบายทางการเมือง คุยกับฝ่ายอำนาจเก่าได้แล้วหรือฯลฯ เรื่องที่สามเป็นคำถามประเภทเบาๆ เช่นรู้สึกอย่างไรที่เป็นนายกฯที่สื่อจีนยกย่องว่าสวยที่สุด มีปัญหาระหว่างการทำงานกับชีวิตครอบครัวหรือไม่ เห็นว่าการที่ผู้หญิงซึ่งเป็นช้างเท้าหลังตามประเพณีไทย ออกหน้ามาทำงานการเมืองจะเป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร สังคมไทยรับได้มากน้อยแค่ไหนกับผู้นำการเมืองที่เป็นผู้หญิงฯลฯ
                  ที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ ผมอ่านดูคำสัมภาษณ์ทั้งหมดของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์แล้ว พบว่าตอบได้ดีมาก ในทุกๆเรื่องที่ถูกถาม ก็เลยต้องคิดต่อไปเองคนเดียวแบบเงียบๆว่า มีใครจัดเตรียมให้หรือไม่อย่างไร หรือมีกระบวนการกลั่นกรองคำถาม-คำตอบล่วงหน้ามาก่อนแล้ว เพราะหากมี ต้องขอชมว่าทำได้เนียนมากๆ หรือถ้าหากเป็นความสามารถส่วนตัวของท่านนายกฯโดยแท้ ก็ต้องยอมรับว่า ผมฟังอะไรผิดๆเกี่ยวกับท่านมาซะนาน

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

ศัลยกรรมความงามในประเทศจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันหยุดต่อเนื่องยาวหลายวัน ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านคงได้หยุดพักผ่อนกันชุ่มฉ่ำเต็มอิ่ม และเดินทางกลับมาทำงานทำการกันโดยสวัสดิภาพครบถ้วนกันทุกท่าน หลายท่านที่ผมรู้จัก เหมาวันลาเสริมหัวต่อท้าย กลายเป็นหยุดยาวหกวัน ออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่สายวันที่ ๑๒ กลับเย็นที่ ๑๖ สำหรับผมเองก็ได้โอกาสอยู่ครอบครอง กทม. อย่างอิ่มอกอิ่มใจไม่แพ้กัน ถนนว่างรถราไม่ติด นั่งดูข่าวดูรายการทีวีที่ถ่ายทอดบรรยากาศงานสงกรานต์จากหัวเมืองใหญ่ต่างๆทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สนุกสนานเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ถือว่าเป็นการพักผ่อนที่คุ้มค่าอีกแบบหนึ่ง ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำได้ว่าผมเขียนนำเสนอเรื่องภัยแล้งและเทศกาลสงกรานต์ในตอนใต้ของประเทศจีนในคอลัมน์คลื่นบูรพาไปหนหนึ่งแล้ว มาปีนี้พอต้องคิดหาเรื่องราวมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ก็เลยตัดสินใจลำบาก จะขออนุญาตเอาเรื่องใกล้ตัวที่พบเห็นเป็นข่าวจากบรรยากาศสงกรานต์มานำเสนอก็แล้วกัน แต่ขอเรียนว่าไม่ใช่เรื่องสงกรานต์โดยตรง แต่เป็นเรื่องศัลยกรรมความงาม
              ทุกปีในช่วงสงกรานต์ เรามักได้ทราบข่าวเกี่ยวกับพฤติการณ์การเล่นน้ำของหนุ่มสาววัยรุ่นที่โลดโผนมากขึ้นอยู่เสมอๆ ทำให้ในปีนี้ใครต่อใครต่างก็จับตามองว่าจะมีภาพอะไรหลุดออกมาในทางที่ไม่เหมาะสมอีกหรือไม่ แม้ว่าจะรับรู้เป็นข่าวในจุดนั้นจุดนี้ของกรุงเทพฯว่ามีเรื่องเกินงามเกิดขึ้น ผมเองโดยส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นต้องรับความจริงเหล่านี้ ด้วยเหตุที่โลกได้เปลี่ยนไปมาก และเปลี่ยนไปในแนวทางที่คนหนุ่มคนสาวเป็นผู้กำหนด หาใช่คนสูงวัยอย่างผมจะไปจู้จี้จับผิดตามมาตรฐานที่ผมคุ้นเคยมาในอดีต อีกประการหนึ่งนอกเหนือไปจากพฤติการณ์เล่นสาดน้ำที่เปลี่ยนไป ผมพบว่าบรรดาวัยรุ่นไทยที่เห็นปรากฏตัวผ่านสื่อในช่วงเทศกาลนี้ หน้าตาดูดีเป็นมาตรฐานเดียวไปกันเสียหมดทั้งหญิงทั้งชาย จนแอบแปลกใจ มาได้รับความรู้เป็นวิทยาทานจากลูกๆในภายหลังว่า "ผ่ามาทั้งนั้น" ทำให้นึกไปถึงบทความล่าสุดที่ได้อ่านในนิตยสารปักกิ่งรีวิวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งว่าด้วยสถานการณ์ศัลยกรรมตกแต่งในประเทศจีน
           ในวัฒนธรรมความเชื่อตามจารีตจีนดั้งเดิม ว่ากันว่าร่างกายของเรา หน้าตาของเรา ล้วนเป็นของขวัญอย่างวิเศษที่พ่อแม่ให้มา การจะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ผิดเพี้ยนจากเดิม ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความอกตัญญูที่ผู้เป็นบุตรธิดาทั้งหลายพึงละเว้น แต่มาทุกวันนี้ สถานการณ์ในประเทศจีน เข้าใจว่าไม่มีใครถือเรื่องนี้กันอีกแล้ว เพราะจำนวนหนุ่มสาวจีนที่เข้าคิวกันแห่ไปทำสวยด้วยมีดหมอ มีเพิ่มมากขึ้นทุกที่ ตัวเลขที่รายงานไว้อย่างเป็นทางการจากสถาบันการแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความสวยงามที่ถูกต้องตามกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา มีกรณีการผ่าตัดปรับปรุงโฉม ๕๘๘,๘๘๐ ราย ที่ไม่ได้ผ่าแต่รักษาแก้ไขด้วยยาและวิธีการอื่นๆมีอยู่ ๑.๒๖๕ล้านราย ไม่นับพวกที่แอบทำกันแบบเถื่อนอีกไม่รู้เท่าไร ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศอันดับที่สามของโลก (ปี๒๐๑๐) ในด้านศัลยกรรมเพื่อความงาม มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง ๓ แสนล้านหยวน มีบุคลากรเกี่ยวข้องทำงานในธุรกิจนี้กว่า ๒๐ ล้านคน จัดเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง ร้อยละ ๔๐ ต่อปี
            ศัลยกรรมตกแต่งในประเทศจีนนั้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แต่ที่เป็นศัลยกรรมตกแต่งแบบการแพทย์ตะวันตกนั้น เริ่มต้นหลังสงครามกลางเมืองในจีน ในปี ค.ศ.๑๙๔๙ รัฐบาลคอมมิวนีสต์จีนได้จัดตั้งสถาบันศัลยกรรมตกแต่งขึ้น เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายที่พิการบาดเจ็บจากสงครามที่ยืดเยื้อในประเทศจีน เพื่อให้เหยื่อผู้พิการบาดเจ็บสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปรกติเช่นเดียวกับคนทั่วไป อย่างไรก็ดี การทำศัลยกรรมเพื่อให้หน้าตาของผู้บาดเจ็บพิการดูดีขึ้น ไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ได้รับการสนับสนุน จนกระทั้งในปี ค.ศ.๑๙๕๗ ศ.ซ่ง หรูเหยา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าของจีน ได้รับอนุญาตจากทางการให้เปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยที่พิการใบหน้าและร่างกายบิดเบี้ยว ทั้งโดยผลของโรคภัยไข้เจ็บหรือผลจากอุบัติเหตุ แต่โรงพยาบาลแห่งนี้ก็ดำเนินการอยู่ได้ไม่ถึงสิบปี ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม โรงพยาบาลของ ศ.ซ่ง ถูกปิด บุคลากรส่วนใหญ่ถูกขับไล่หรือลงโทษ ข้อหาหนักคือเป็นตัวแทนลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน(อาจารย์ซ่งจบปริญญาโทสาขาศัลยกรรมช่องปากจากมหาวิทยาลัยเพนซิเวเนีย) ส่งผลให้การแพทย์ในสาขานี้หายไปจากสังคมจีนเป็นเวลานาน กว่าจะเปิดใหม่ได้อีกครั้งในปี ค.ศ.๑๙๗๘ ภายหลังสิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในจีน และได้พัฒนาเติบโตจนกลายมาเป็นสถาบันการแพทย์เพื่อศัลยกรรมตกแต่งและความงามที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดของจีน
       ศัลยกรรมความงาม ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆในประเทศจีน ที่มักได้รับเสียงสะท้อนจากสาธารณชนจีนทั้งในแง่ลบและแง่บวก จากผลการสำรวจของหนังสือพิมพ์ยุวชนจีนเมื่อไวๆนี้ ร้อยละ๗๑.๕ ของผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งเป็นคนวัยหนุ่ยสาว ให้เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจทำศัลกรรมโดยเน้นที่ความงามภายนอกเลียนแบบดาราเอเชียชื่อดังทั้งหลาย ร้อยละ ๔๙.๔ ตัดสินใจบนเหตุผลความเชื่อเรื่องการแก้ไขโหงวเฮ้งว่าจะทำให้โชคชะตาดีขึ้น ร้อยละ๓๘.๕ไปพบแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งด้วยแรงจูงใจจากโฆษณาและแรงเชียร์ของเพื่อน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองศัยกรรมตกแต่งเพื่อความงามว่าตอกย้ำค่านิยมแบบตะวันตก ที่เน้นความงามภายนอกมากกว่าความดีจากภายในของตัวตน อีกทั้งยังมองว่าเป็นความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ในขณะที่การแพทย์จีนยังมีปัญหาอื่นๆให้ทำอีกมาก โดยเฉพาะในเขตชนบทห่างไกลของจีนที่ขาดแขลนบริการทางสาธารณสุข ยิ่งไปกว่านั้น ผลสืบเนื่องทางลบที่เกิดจากการทำศัลยกรรมเสริมความงามที่ผิดพลาดหรือไร้มาตรฐาน ยังปรากฏเป็นข่าวแผร่หลายอยู่เสมอๆ เฉพาะในปี ค.ศ.๒๐๑๐ คดีร้องเรียนของผู้เสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม ที่ร้องผ่านสมาคมคุมครองผู้บริโภคจีน มีสูงกว่า๒หมื่นคดี ยังไม่รวมตัวเลขของผู้เสียหายที่ไม่ได้ดิ้นรนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
       ประเทศไทยและประเทศจีน ดูไปดูมาจึงชักจะเหมือนกันเข้าไปทุกที จนบางครั้งทั้งๆที่กำลังเขียนเกี่ยวกับประเทศจีนอยู่ ผมกลับเผลอนึกไปถึงตัวอย่างเรื่องราวเปรียบเทียบที่มีอยู่ในบ้านเราอยู่เรื่อย ไม่ทราบว่าสถานการณ์เรื่องเดียวกันนี้ ในบ้านเราเป็นอย่างไรถึงไหนแล้ว

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

หลากมุมมองสถานการณ์สินเชื่อบุคคลจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              วันหยุดยาว 4 วันซ้อน ที่เพิ่งผ่านไป ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทั้งหลาย นอกเหนือจากร่วมติดตามงานพระราชพิธีสำคัญถวายความอาลัยรักในสมเด็จพระภคินีเธอเจ้าฟ้า
เพชรรัตนราชสุดาฯ แล้ว คงได้เตรียมการเตรียมงานที่ต้องสะสาง ก่อนจะเจอเทศกาลสงกรานต์วันหยุดยาวที่จะมาถึง ผมเองได้อาศัยช่วงวันหยุดที่ผ่านมา จัดการกับงานที่ค้างสะสมอยู่หลายรายการ ทั้งยังมีเวลาติตามข่าวสารฝั่งจีน ผ่านรายการทีวีดาวเทียมของจีน ได้อย่างต่อเนื่องเต็มอิ่ม เรียกว่ามีเรื่องจะเขียนชวนคุยในคอลัมน์นี้ได้อีกเยอะ ตัวอย่างหนึ่งก็เช่นสกู๊ปข่าวที่ผมได้ชมจากช่องข่าวเศรษฐกิจ cctv2 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แรกๆก็ไม่ได้สนใจฟังเป็นพิเศษ นั่งฟังไปเพลินๆ จนสะดุดคำว่าหนี้บัตรเครดิต ถึงได้นั่งลงตั้งใจดูข่าว พบว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ อีกทั้งยังสืบเนื่องกับเรื่องที่ผมเคยนำเสนอในคอลัมน์นี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมก็เลยเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเนื้อข่าวและขอนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้
            ตามเรื่องราวที่เป็นข่าว บัณฑิตสาวจบใหม่รายหนึ่ง ถูกธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเรียกเก็บเงินค้างจ่ายจำนวน 10,854 หยวน ทั้งที่เป็นหนี้เก่าที่เธอเผลอรูดบัตรไปเพียง 191.11หยวน เมื่อ 5 ปีก่อน เงินต้นเพียง 191.11หยวน กลายมาเป็นยอดหนี้ทบดอกเบี้ยมากถึง10,854หยวน คือประเด็นสำคัญของสารคดีเชิงสืบสวนสอบสวนที่ได้ถูกนำเสนอผ่านจอทีวี แตกประเด็นออกไปอีกหลายเรื่อง เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารพานิชเจ้าของบัตรเครดิตเกือบทุกราย แข่งขันกันออกบัตรและทำยอดลูกค้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มซึ่งยังไม่มีรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน นับตั้งแต่ปี 1985 เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มอนุญาตให้เปิดบริการบัตรเครดิตเป็นต้นมา ถึงเมื่อปลายไตรมาสที่ 3 ของปีก่อน มีจำนวนผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 286 ล้านใบ มีการรูดบัตรจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงถึง 1.1 ล้านล้านหยวน แต่ในจำนวนนี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา หรือชำระได้ก็ไม่เต็มจำนวน ตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งขึ้นก็เช่น ตัวเลขคดีความเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่ฟ้องร้องกันในศาลประชาชนนครปักกิ่งเขตที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่มาก ในปี 2009 ปีเดียว  1 ใน 3 ของคดีเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ที่เป็นนักศึกษา จนรัฐบาลในเวลานั้นต้องออกมาเพิ่มมาตรการควบคุมการออกบัตร

             มาในปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลจีนได้เริ่มผ่อนปรนกฎระเบียบ และเปิดเสรีให้สถาบันการเงินของต่างชาติ สามารถเข้ามาให้บริการสินเชื่อบุคคลได้กว้างขวางขึ้น ปัญหารูปแบบใหม่ก็เริ่มปรากฏ กล่าวคือ แม้จะได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครขอมีบัตรเครดิตเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่กลายเป็นว่าธนาคารต่างๆหันมาหารายได้เพิ่มด้วยการคิดค่าธรรมเนียมบริการสารพัดรูปแบบ ประเด็นนี้ก็กลายมาเป็นข่าวที่โจทย์ขานกันมากในหมู่ประชาชนผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังลามไปถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการกดเงินสดจากตู้ ATM ของบัตรเดบิต (บัตรจับจ่ายสินค้าหักเงินสดจากบัญชีธนาคารโดยตรง) ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิจารณ์กันมากก็คือ การทดลองนำเงินสดเข้าบัญชี 500 หยวน แล้วกดเงินสดจากตู้ ATM บัญชีเดียวกันออกมา 500หยวน เครื่องจะแจ้งทันที่ว่าเป็นหนี้ค่าธรรมเนียมกดเงินสด 10 หยวน หากเป็น 1,000 หยวน ก็จะเป็นหนี้ 20 หยวน ในอัตราเดียวกับการกดเงินสดโดยใช้บัตรเครดิต ทั้งที่ในความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ เป็นการเอาเปรียบที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เหล่านี้ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  สถานการณ์ของปัญหาสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตที่ดำเนินอยู่ในประเทศจีนขณะนี้ ส่วนหนึ่งมีที่มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเองที่ยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการใช้จ่ายเงินด้วยบัตรพลาสติก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวการการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารเจ้าของบัตรแต่ละแห่ง ยังไม่เป็นมาตรฐานพอ และอาจมีการเรียกเก็บที่จุกจิกมากเกินควร เรื่องแบบนี้ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยเราก็เคยประสบมาแล้ว หลายเรื่องจึงฟังดูคุ้นหูมากๆ
              อย่างไรก็ดี จากการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการใช้บัตรเครดิตในประเทศจีน อาจต้องพิจารณาจากมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น งานวิจัยที่จัดทำโดยกลุ่มนักวิชาการด้านการเงินการธนาคาร จากสถาบันวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัย Nottingham ที่เมืองหนิงโป เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของผู้บริโภคชาวจีน ปรากฏว่าก็มีข้อมูลน่าสนใจอีกแบบหนึ่ง กล่าวโดยรวมก็คือผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลางขึ้นไป (อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคาร) นิยมมีบัตรทั้งเครดิตและเดบิตคนละหลายๆใบ แต่ไม่นิยมจับจ่ายซื้อหาสินค้าผ่านบัตรพลาสติกเหล่านี้ เหตุผลหลักๆที่ทีมวิจัยค้นพบก็คือ ชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าบริการด้วยเงินสด ประการที่สอง วัฒนธรรมการซื้อขายของจีนโดยทั่วไปยังคงเน้นการเจรจาต่อรอง ในเมื่อราคาสินค้ายังไม่นิ่ง การใช้จ่ายด้วยบัตรก็เลยดูสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้ต่อรองอย่างเต็มที่ ประการที่สาม ชาวจีนมองว่าการซื้อหาสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิตเป็นการก่อหนี้(ซึ่งก็จริง) และไม่รู้สึกสบายใจที่จะคอยวิตกกับยอดหนี้เรียกเก็บทุกๆเดือน ไม่ว่ายอดจะมากหรือน้อยก็ตาม ประการสุดท้าย โครงสร้างพื้นฐานและวัฒนธรรมการค้าของจีนยังคงนิยมการค้าขายด้วยเงินสด ทำให้ยังมีร้านค้าที่พร้อมรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิตครองคลุมไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ
              ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลจีนไฟเขียวให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้ามาให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบริการบัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น ผมก็เห็นรายงานการศึกษาตลาดบัตรเครดิตจีนของแบงค์ต่างชาติ ออกมาในแนวโน้มที่น่าตื่นเต้น น่าลงทุนอย่างยิ่ง ทำให้นึกเอาเองในใจว่า ตลาดจีนเฉพาะในเรื่องสินเชื่อและบัตรเครดิตอย่างเดียว ก็ดูเหมือนมีความหลากหลายมาก ที่เป็นข้อมูลปรากฏทางสื่อจีนก็เป็นแบบหนึ่ง งานศึกษาทางวิชาการก็ไปอีกทาง งานวิเคราะห์ทางการตลาดก็อีกทาง ใครจะทำอะไรคงต้องระวังกันให้มาก