ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เค้าลาง 13 ประการแห่งบูรพาภิวัตน์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้พบกับอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในที่ประชุม ด้วยความที่สนิทสนมกันมาช้านานร่วม 20 ปี ก็เลยได้รับอภินันทนาการหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดจากท่าน ชื่อหนังสือคือ “บูรพาภิวัตน์ ภูมิ-รัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกใหม่” เขียนโดยท่าน ศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงวิชาการ มีผลงานหนังสือสำคัญทยอยออกมาแล้วหลายต่อหลายเล่ม พอได้หนังสือเล่มใหม่จากมือท่าน ผมก็รีบตะบึงอ่านม้วนเดียวจบ ได้รับความรู้และมุมมองใหม่ๆ มากมายอย่างยิ่ง ที่สำคัญตรงกับความสนใจของผม คือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประเทศจีนเสียมาก ทั้งๆ ที่ได้เตรียมเรื่องจะเขียนในคอลัมน์คลื่นบูรพาประจำสัปดาห์นี้ไว้แล้ว แต่ก็ต้องเปลี่ยนแผนกะทันหันเพราะหนังสือของท่านอาจารย์เอนกโดยแท้ ที่ว่าเปลี่ยนแผนนั้น ไม่ได้หมายความว่ากำลังจะนำเรื่องในหนังสือเล่มดังกล่าวมาสรุปเล่าต่อ เดี๋ยวจะเป็นการเสียของเปล่าๆ อยากให้ท่านผู้อ่านไปหาซื้อมาอ่านเองจะได้จุใจกว่าฟังผมเล่าสรุป เอาเป็นว่าสิ่งที่อยากจะนำเสนอท่านผู้อ่านในคอลัมน์ฯ วันนี้ เป็นเรื่องต่อยอดหลังจาการอ่านหนังสือของท่านอาจารย์เอนกแล้ว
เมื่อสักสองสามสัปดาห์ก่อน มีบทความหลายชิ้นปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์จีนรวมทั้งบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์จีนบางฉบับ วิจารณ์กรณีภารกิจร่วมการฝึกซ้อมรบทางยุทธวิธีในทะเลจีนใต้ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและหลายชาติในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย ประเด็นคำถามหลักที่มองกันก็คือ อะไรเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯในการซ้อมรบต่อเนื่องประจำทุกๆ ปี ในเมื่อสงความเย็นและปัญหาภัยคุกคามในภูมิภาคนี้ก็หมดสิ้นไปนานแล้ว สื่อจีนเกือบจะทั้งหมดฟันธงมองว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพข่มจีนโดยเฉพาะอย่างไม่ต้องสงสัย ความที่ประเทศจีนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เลยกลายเป็นประเด็นวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับต่อเนื่องมาจนแม้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง4 ของจีน ถึงกับทำสกู๊ปข่าวพิเศษติดตามเรื่องนี้โดยตรง นักวิชาการของจีนหลายท่านเชื่อว่า แม้จีนจะลงทุนทำประชาสัมพันธ์เชิงซอฟท์เพาเวอร์ไปเยอะ ทั้งการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกาและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอื่นๆ ในระดับนานาชาติ แต่ดูเหมือนสหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ ในการชักจูงให้นานาชาติมองประเทศจีนในฐานะเป็นภัยคุกคาม
ก่อนหน้าหนังสือของท่านอาจารย์เอนก แนวโน้มคาดการณ์กระแสบูรพาภิวัตน์ก่อตัวทางวิชาการมาแล้วอย่างเข้มข้นในวงวิชาการและนักยุทธศาสตร์ตะวันตก แต่ดูเหมือนในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวยังไม่ถึงกับเป็นปัจจัยหลักนำไปสู่การเผชิญหน้าที่ชัดเจนนัก มาเมื่อปีสองปีนี้ขนาดของเศรษฐกิจจีนเริ่มแซงหน้าเยอรมันนีและประเทศญี่ปุ่นไปเรียบร้อย กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่อันดับที่สอง คนอเมริกันทั่วไปจึงเริ่มตระหนักว่าจีนกำลังกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญตัวต่อตัวกับสหรัฐอเมริกาโดยตรง ผมคิดว่าเงื่อนไขและช่วงเวลานี้เอง ที่ทำให้บรรยากาศต่างๆ เริ่มแย่ลง   มีงานศึกษาสำรวจความคิดเห็นที่ประมวลมาจากกลุ่มนักธุรกิจและนักวิชาการในสหรัฐฯ โดยสอบถามเกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่มองว่าจีนอาจเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกา หากผมจำไม่ผิดเพิ่งจะเผยแพร่ออกมาเมื่อตอนปลายปีที่แล้วนี้เอง มีอยู่ 40 กว่าประเด็น ผมขอเลือกมาแบบเด็ดๆ แค่ 13 ประเด็นดังนี้ครับ
1.      ขนาดเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เร็วกว่าสหรัฐฯ 7 เท่า
2.      จีนส่งออกสินค้าไฮเทคคุณภาพสูงมากกว่าสหรัฐฯ 2 เท่าตัว อีกทั้งยังดึงเอาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เคยผลิตในสหรัฐฯ ย้ายฐานไปอยู่ในจีน กว่าร้อยละ 25 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
3.      ปัจจุบันจีนผลิตเหล็กกล้าป้อนสู่อุตสาหกรรมหลักได้กว่า 627 ล้านตัน ในขณะที่สหรัฐฯผลิตได้เพียง 80 ล้านตัน และมีแนวโน้มลดลง และอาจต้องนำเข้าจากจีนในอนาคตอันใกล้
4.      อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนใหญ่กว่าของสหรัฐ 2 เท่าในปี 2010 และอาจจะใหญ่กว่าเป็น 3เท่าตัวในปี 2015
5.      ในปี 2010-2011จีนผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ได้เท่ากับร้อยละ19.8 ของที่ผลิตได้ทั้งโลก ขณะที่สหรัฐฯผลิตได้ในช่วงเดียวกันเท่ากับร้อยละ 19.4 ของโลก
6.      ในปี 2011 สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าจีนอยู่ประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขาดดุลทางการค้าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเคยมีต่ออีกประเทศหนึ่ง มากที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก และตัวเลขขาดดุลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีอีกร้อยละ 18
7.      นับแต่ปี 2010 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานอันดับหนึ่งของโลก และมีนโยบายสะสมพลังงานสำรองสูงที่สุดในโลก
8.      ปัจจุบันจีนเป็นเจ้าของสิทธิบัตรทางอุตสาหกรรมไล่เลี่ยกับสหรัฐฯ (จดเองบ้าง ไล่ซื้อมาเก็บไว้บ้าง) แต่จีนมีอัตราการจดสิทธิบัตรเพิ่มสูงกว่าสหรัฐเกือบเท่าตัวทุกๆ ปี
9.      จีนกำลังไล่จี้สหรัฐฯในเทคโนโลยีอวกาศและนิวเคลียร์
10. จีนเป็นเจ้าของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกเท่าที่เคยประดิษฐ์มา
11. จีนผลิตบัณฑิตปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์ได้กว่าสองเท่าของสหรัฐฯในแต่ละปี และมีนักวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาทางอุตสาหกรรมด้านต่างๆ สูสีกับสหรัฐฯ
12. ปัจจุบันจีนมีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เร็วที่สุดของโลก และมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงยาวที่สุดในโลก
13. กว่าร้อยละ 53 ของปูนซิเมนต์ที่ผลิตได้ในโลกนี้ ถูกใช้ในงานก่อสร้างของจีน
ผมว่าเอาแค่นี้คงพอนึกภาพออกแล้วนะครับว่าชาวอเมริกันที่เห็นผลการสำรวจนี้จะคิดหรือรู้สึกอย่างไรต่อจีน แต่ที่แน่ๆ คงไม่ค่อยเป็นมิตรกันเท่าไร  แต่สำหรับเราชาวไทย ผมขอเรียนว่า “บูรพาภิวัตน์ มาแน่ครับ และมาเร็วด้วย”

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ธุรกิจจีนกับกระแสไมโครไฟแนนซ์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs จีนที่กำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้าในปี 2012 นี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมและไม่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไปนัก ผมก็เลยจะขออนุญาตท่านผู้อ่าน นำเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องมาพูดคุยเพิ่มเติมในวันนี้ เนื้อข่าวก็สืบเนื่องมาจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีฉบับสดๆ ร้อนๆ วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ นี่แหละครับ พาดหัวหน้าเศรษฐกิจว่าสถาบันการเงินและสินเชื่อประเภทที่เรียกกันว่า Micro Finance กำลังมาแรง และเป็นที่สนใจให้การสนับสนุนจากภาครัฐของจีน โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่นี้ รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายระเบียบข้อบังคับต่างๆ ลงมาก ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดช่องทางสินเชื่อช่องใหม่ สำหรับเป็นที่พึ่งของบรรดาธุรกิจ SMEs ทั้งหลายของจีน
            ว่ากันตามจริงแล้ว สถาบันการเงินเฉพาะกิจขนาดย่อมแบบที่เรียกกันว่า Micro Finance นั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นของใหม่ในประเทศจีนแต่อย่างใด เช่นเดียวกับประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ทั่วไป ประเทศจีนเองในสมัยหนึ่ง ก็มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจขนาดย่อมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลให้การสนับสนุนและชี้นำการพัฒนาของวิสาหกิจให้เติบโตไปในแนวทางที่รัฐบาลวางแผนส่งเสริมไว้ อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 หลังจากที่ระบบเศรษฐกิจชี้นำโดยตลาดเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ รัฐบาลจีนตัดสินใจเปิดเสรีเพิ่มมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้ทุนภายนอกเข้ามาทำหน้าที่นำการลงทุน วิสาหกิจจำนวนมากที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และเป็นภาระกับรัฐบาลทยอยถูกโละขาย ต่างชาติถูกชักชวนให้เข้ามาซื้อกิจการและร่วมลงทุน สถาบันการเงินขนาดย่อมของจีนเดิมๆ ก็ถูกยกเครื่อง เกือบทั้งหมดพัฒนาไปเป็นธนาคารพานิชขนาดใหญ่ทันสมัยมีสาขาไปทั่วประเทศ ดูจากชื่อของธนาคารหลายต่อหลายแห่งในปัจจุบัน ก็ยังมีร่องรอยความเป็นสถาบันการเงินเฉพาะทางในอดีตเหลืออยู่ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตร ธนาคารเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้าง ธนาคารเพื่อส่งเสริมสหกรณ์การผลิตฯลฯ  ใหญ่บ้างเล็กบ้างกระจายกันให้เห็นๆ อยู่ทั่วไป
            ธรรมดาเมื่อกลายมาเป็นธนาคารสมัยใหม่เต็มรูปแบบ วัตถุประสงค์เดิมในการส่งเสริมวิสาหกิจเฉพาะด้านก็เปลี่ยนไป จะโดยรับเอาวัฒนธรรมธนาคารตะวันตกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ นโยบายการปล่อยกู้ของธนาคารเหล่านี้ เลยมุ่งไปที่การเอาอกเอาใจธุรกิจและโครงการขนาดใหญ่ โอกาสที่ SMEs จีนจะได้ผุดได้เกิดด้วยการสนับสนุนของธนาคารใหญ่ๆเหล่านี้จึงเป็นไปได้น้อยมาก ไหนจะต้องมีทุนค้ำประกัน ไหนจะต้องมีผลการศึกษาความเป็นไปได้และแผนธุรกิจระยะ10-20ปี ไหนจะต้องมีสถาบันการเงินร่วมทุนฯลฯ เงื่อนไขสารพัดเหล่านี้ ไม่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจเกิดใหม่หรือธุรกิจขนาดย่อมขนาดกลางของจีนอาศัยพึ่งพาได้
            ในสถานการณ์ปรกติ SMEs จีนส่วนใหญ่จึงเริ่มต้นและเติบโตด้วยการระดมทุนในหมู่เครือญาติเพื่อนสนิท หรือมิเช่นนั้นก็ต้องค้าขายแบบเงินเชื่อหรือใช้บริการของเงินกู้เอกชนนอกระบบธนาคาร แบบเดียวกับบ้านเรายังไงยังงั้น จะดีกว่าหน่อยก็ตรงที่ระบบเครดิตเอกชนของจีน เป็นอะไรที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ฝังอยู่แต่เดิมแล้วในวัฒนธรรมจีน กลไกเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยให้ธุรกิจรายเล็กรายน้อยของจีนผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดได้โดยง่าย ทันทีที่รัฐบาลเปิดไฟเขียว ประชาชนหัวการค้ารายเล็กรายน้อยก็เกิดเต็มประเทศ สำเร็จบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง เจ๊งบ้าง ว่ากันไปตามธรรมชาติ
มาบัดนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2012 ต้องเรียกว่าไม่ปรกติ แต่ดูเหมือนธนาคารพานิชของจีนโดยทั่วไปยังดำเนินนโยบายสินเชื่อแบบปรกติ หรือซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือเพ่งเล็งเข้มงวดกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่อยู่ในระบบธนาคารหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยสัญชาติญาณทางการเงินทั่วไป คือ กลัวรายย่อยเจ๊งมากกว่ากลัวรายใหญ่เบี้ยวหนี้ ในขณะที่ช่องทางระดมทุนหรือหยิบยืมหาเงินกู้ระยะสั้นในระหว่างเอกชนก็ทำได้ลำบาก เพราะต่างคนต่างก็ต้องสงวนสภาพคล่องของตัวเอาไว้ เรียกว่าเอาตัวรอดไว้ก่อน ให้ดอกเบี้ยสูงอย่างไรก็ไม่ขอเสี่ยง อย่างที่ผมเล่าเอาไว้เมื่อคราวที่แล้วว่าปี 2012 เราจะได้เห็น SMEs จีนล้มหายตายจากไปไม่น้อยทีเดียว เว้นเสียแต่จะมีท่อออกซิเจนเสียบจมูกมาช่วยต่อลมหายใจ
            ตั้งแต่ต้นปี 2012 จนถึงตอนนี้ รัฐบาลกลางจีนเห็นสภาพปัญหาและภัยคุกคามที่จ่อหน้าบรรดา SMEs จีนดังกล่าว ได้ทยอยแก้ไขกฎระเบียบทางการเงินมาแล้วอย่างน้อยสามฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมเล่ามา เริ่มต้นจากการผ่อนคลายกฎระเบียบให้กับสถาบันการเงินของฮ่องกง ให้สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจทางการเงินและสินเชื่อรายย่อยได้กว้างขวางในระดับประเทศ จากที่เดิมอนุญาตไว้เป็นเขตๆ ตามติดมาด้วยการแก้ไขกฎหมายทางการเงิน อนุญาตให้สถาบันการเงินต่างประเทศกว่าสิบราย เช่น Fullerton Credit Services Co บริษัทลูกของเทมาเส็ก (ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจทางการเงินตั้งแต่ปีที่แล้ว) สามารถขยายเปิดสาขาให้บริการสินเชื่อรายย่อยแก่ธุรกิจขนาดเล็กของจีนเพิ่มเติมอีกหลายหัวเมือง และล่าสุดกรณีเปิดทางให้สถาบันการเงินสัญชาติตะวันตกสามรายรวมทั้งซิตี้แบงก์ สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อบุคคลได้อย่างเต็มที่ (จากที่เดิมผูกขาดโดยแบงก์ใหญ่ของจีน) ท่อออกซิเจนต่อลมหายใจใหม่ๆ เหล่านี้ อาจได้ประโยชน์ถึงสองทาง คือทั้งขยายกำลังด้านอุปสงค์ พร้อมๆกับต่ออายุให้ธุรกิจ SMEs จีนในฝั่งอุปทาน  จะเอาอยู่หรือไม่ก็คงต้องรอดูต่อไปครับ

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ธุรกิจ SMEs จีนปี 2012

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ปี  2012 ท่าทางจะไม่ใช่ปีที่ดีเท่าไรนัก สำหรับบรรดาธุรกิจเพื่อการส่งออกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เรียกกันว่า SMEs ทั้งหลาย แม้ว่าโดยภาพรวมตั้งแต่ต้นปี รัฐบาลจีนจะได้พยายามปลอบใจผู้ประกอบการทั้งหลาย ว่า จีนจะยังคงนโยบายเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจลงแรงเกินไป แต่ก็เป็นที่รับรู้กันดีในหมู่ผู้ประกอบการว่า คงมีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถฝ่าวิกฤติการส่งออกเที่ยวนี้ไปได้ ความหวังว่าจะสามารถรอดตายกันทั้งหมดนั้น คงจะยากอยู่สักหน่อย ที่ผมเกริ่นนำเสียน่าหดหู่เช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะยกเมฆขึ้นมาเองนะครับ แต่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดสำรวจดูจากบรรดาสื่อจีนสายธุรกิจต่างๆ ที่ทำการวิเคราะห์กันแล้ว ออกมาในแนวนี้เกือบทั้งหมด สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขอชวนท่านผู้อ่าน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าๆ ขายๆและท่านที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ลองสำรวจติดตามดูว่าทำไมแนวโน้มการส่งออกของผู้ประกอบการจีนในปี 2012  จึงได้มีปัญหามากมายนัก
นิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับวางตลาดล่าสุด รายงานผลการศึกษาภาวการณ์ส่งออกสินค้าจีนในปี 2012 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาวิสาหกิจจีน สังกัดสภาที่ปรึกษาของรัฐบาล ระบุว่า สินค้าจีนจะพบกับการแข่งขันและอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่นับแต่จีนเปิดประเทศ สาเหตุหลักๆ มาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ต่อสินค้าจีนที่ลดลงอย่างมาก ทั้งต่างประเทศและภายในประเทศ ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานภายในประเทศและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องพบกับปัญหาแทรกเรื่องต้นทุนในการรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลจีน ปัญหาขาดแคลนที่ดิน และปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนที่สูงค่าขึ้น ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วทำให้สถานการณ์น่าหนักใจกว่าเมื่อตอนเกิดวิกฤติปี 2008 เสียด้วยซ้ำ
นับตั้งแต่จีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจมากว่าสามสิบปี เรามักคุ้นเคยแต่กับข่าวสารการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ข่าวประเทศจีนดึงเงินลงทุนเข้าประเทศได้ปีละมากๆ ข่าวจีนพัฒนาด้านโน้นด้านนี้อย่างรวดเร็ว ข่าวประเทศจีนแกร่งจนสามารถออกไปลงทุนนอกประเทศ ฯลฯ ราวกับว่าไม่มีใครหรืออะไรจะมาฉุดเศรษฐกิจจีนไว้ได้ จนเมื่อ 3-4 ปี มานี้เอง ที่ข่าวแง่ลบเริ่มจะมีออกมา ทั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้นสาเหตุจากวิกฤตการณ์ในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้า อย่างไรก็ดี ดูเหมือนในช่วงแรกๆ หรือแม้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ใครต่อใครก็ยังคาดหวังว่าความแข็งแกร่งของจีนจะพอช่วยพยุงไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายเกินไป พูดง่ายๆ ก็คือ คิดจะฝากผีฝากไข้ไว้กับประเทศจีนนั่นเอง  แต่มาถึงนาทีนี้ ผมเองก็ชักไม่ค่อยแน่ใจว่าความหวังทั้งหลายนี้จะยังหนักแน่นยึดถืออยู่ได้หรือไม่
ดูจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เราคงเห็นชัดว่าอัตราการขยายตัวของจีนเริ่มจะลดระดับลง ไม่ได้เห็นเลขสองหลักมาหลายปีแล้ว ยิ่งเมื่อเข้าไปดูในภาคการผลิตแยกประเภท ตัวเลขที่พบในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เห็นแล้วก็ยิ่งน่าตกใจ เพราะนอกจากจะไม่มีการขยายตัวที่ชัดเจนแล้ว จำนวนธุรกิจที่เลิกกิจการไปก็มีเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ มีผู้ประกอบการที่ปิดกิจการมากกว่าที่เปิดใหม่ จนทำให้หน่วยงานภาครัฐของจีนที่มีหน้าที่ดูแลธุรกิจ SMEs ต้องออกมาหามาตรการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาระด้านภาษี  การส่งเสริมการแสวงหาตลาด การปรับปรุงด้านต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานที่ไม่จำเป็น ฯลฯ กระนั้นก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้ จะสามารถอยู่รอดฝ่าปี 2012 ไปได้ทั้งหมด
หากพิจารณาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ปรากฏอยู่ในแผนห้าปีฉบับที่12 ของจีน ในแต่ละปีนับตั้งแต่ 2011 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีนจะต้องขยายตัวเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ต่อปี โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางที่อยู่ในภาคบริการซึ่งเป็นความหวังหลักในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยังมีช่องว่างอยู่อีกมาก อีกทั้งจะเป็นภาคส่วนที่สามารถจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้ด้วย ทว่าผ่านมาแล้วร่วมปีนับตั้งแต่เริ่มเข้าแผนฉบับที่ 12 อย่างจริงจัง ดูเหมือนตัวเลขเหล่านั้นยังไม่บรรลุเป้า และดูเหมือนโอกาสจะได้ตามเป้าหมายในปี 2012 นี้ ก็ยิ่งริบหรี่ลงอีก เวลานี้งานหนักก็เลยไปตกอยู่กับหน่วยงานราชการที่จะต้องเร่งหาหนทางเยียวยาแก้ไข ไม่ให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้ มีอันต้องล้มหายเลิกกิจการไป หลักๆ ก็คือ การเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้บริการด้านต่างๆที่จับมือกันฟันฝ่าปีที่ยากลำบากนี้ไปให้จงได้
ที่ผมเอาเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs ของจีน มาเล่าให้ฟัง อาจดูยังเป็นเรื่องไกลตัวและล่วงหน้าก่อนเวลาไปสักหน่อย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ หากธุรกิจจีนขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดเติบโตได้ในเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปในประเทศจีน เตรียมใจไว้ได้เลยครับ ว่าเราจะได้เห็นผู้ประกอบการจีนอีกนับล้าน (นอกเหนือจากที่เดินกันเต็มเมืองไทยอยู่แล้ว ) พาเหรดกันออกมาหาช่องทางทำมาหากินแข่งขันในภูมิภาคเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยดึงดูดของแหล่งวัตถุดิบราคาถูกและตลาดที่ยังมีช่องว่างเหลืออยู่ ถึงเวลานั้นก็คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว สำคัญว่าบรรดาผู้ประกอบการของไทยทั้งใหญ่ทั้งเล็กจะเตรียมการตั้งรับไหวหรือไม่

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จีนปฏิรูปทะเบียนราษฎร์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ตั้งแต่หลังวันหยุดยาวช่วงตรุษจีนมานี้ ดูเหมือนบรรดาสื่อหนังสือพิมพ์ของจีนจะยังไม่ฟื้นดีหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ผมพลิก-คลิกเปิดดูไปมาก็ยังไม่เจอข่าวน่าสนใจ ที่จะนำมาขยายความเล่าสู่กับท่านผู้อ่าน ข่าวส่วนใหญ่ที่มีก็ยังคงเกี่ยวเนื่องกับควันหลงวันตรุษจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ เกือบจะตัดสินใจงัดเอาบทความที่เขียนเก็บในสต๊อกออกมาแก้ขัดอยู่แล้วเชียว จนเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะกำลังสแกนดูรายการทีวีผ่านดาวเทียมช่องต่างๆของจีนอยู่ ก็ไปสดุดเข้ากับสารคดีของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนครฉงชิ่ง เกิดสนใจขึ้นมาเลยนั่งดูจนจบรายการ ทำให้เกิดเป็นประเด็นนำมาคุยกับท่านผู้อ่านตามที่จั่วหัวข้างต้นนี้แหละครับ
อย่างที่ผมได้เคยนำเสนอไปแล้วในคอลัมน์นี้ ช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนพัฒนาขยายตัวโดยอาศัยแรงงานอพยพ ที่โยกย้ายจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองค่อนข้างมาก ตัวเลขเฉลี่ยแล้วจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เชื่อว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน กระจายอยู่ตามหัวเมืองหลักที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงของจีน ในช่วงแรก แม้ว่าการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจะถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด แต่พอเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ช่องทางหลงหูหลงตาของเจ้าหน้าที่ก็เพิ่มมากขึ้น จนท้ายที่สุดทั้งแรงงานที่เข้าออกโดยถูกต้องและแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปมาตามแหล่งงานที่ไม่มีการควบคุม ต่างก็ก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย แม้จะมองกันว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการพัฒนา แต่สภาพปัญหาก็ดูเหมือนใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ปัญหาที่พูดกันมากก็เช่นเรื่องสวัสดิการของแรงงานอพยพและครอบครัวที่ต้องเผชิญชีวิตอยู่ในชุมชนเมืองโดยไม่ได้รับการดูแล เพียงเพราะเหตุว่า เขาเหล่านั้น ไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกต้องถาวร ทำให้รัฐไม่อาจบริหารจัดการดูแลได้ แม้โดยข้อเท็จจริง แรงงานเหล่านี้คือผู้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมืองใหญ่ทั้งหลาย แต่กลับไม่ได้รับผลแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น
สารคดีที่ผมได้มีโอกาสดูเมื่อดึกวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวรายงานผลการดำเนินการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ โดยสำนักงานทะเบียนและสันติบาลของนครฉงชิ่ง ที่ทำติดต่อกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลกลางที่มุ่งจะปฏิรูประบบโอนย้ายประชากรเขตชนบทเข้ามาเป็นประชากรเขตเมือง ตามสภาพความเป็นจริงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เป็นการเปิดช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานอพยพและผู้ประกอบการที่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตชนบท แต่ได้อพยพเข้ามาทำงานอยู่ในเขตเมืองนานแล้ว สามารถยื่นเรื่องราวและขอรับการตรวจสอบ เพื่อโอนทะเบียนบ้านเข้ามาเป็นประชากรที่ถูกต้องตามกฎหมายในเมืองที่ตนทำงานอยู่จริง ทั้งนี้เพื่อที่รัฐบาลจะได้สามารถดูแลจัดการเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การจัดการศึกษา การจัดเก็บสมทบกองทุน ฯลฯ ได้ครบถ้วนถูกต้องมากยิ่งขึ้น อันจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนับหลายร้อยล้านคน ที่เดิมหลุดๆหายๆ ไม่รู้แน่ชัดว่าสังกัดอยู่ในเมืองหรือในชนบท  เฉพาะในมหานครฉงชิ่ง ตามข้อมูลจากสารคดีที่ว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปีเศษที่ผ่านมา จนถึงตรุษจีนนี้ สามารถดำเนินการโอนย้ายทะเบียนบ้านภูมิลำเนาจากเขตชนบทเข้ามาเป็นประชากรในเขตเมืองได้แล้ว 3 ล้าน 2 แสน 2 หมื่นคน หากดูจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ จัดได้ว่าเป็นการโอนย้ายถิ่นของประชากรข้ามเขตจากชนบทสู่เมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์  แม้ดูอย่างผิวเผินอาจเห็นเป็นการเคลื่อนย้ายตัวเลขบนเอกสาร แต่ในความเป็นจริง ผมมองดูแล้วค่อนข้างตกใจ เพราะกระบวนการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ครั้งนี้ กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญขึ้นในสังคมจีน
ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่ว่านี้ ผมเองโดยส่วนตัวมองว่ามีสามด้านหลักๆเป็นอย่างน้อย ประการแรก ผลกระทบที่มีกับเมือง เราทราบกันดีว่ากระบวนการพัฒนาประเทศโดยเน้นการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก อย่างที่จีนดำเนินมาตลอดเกือบ 30 ปี เกิดและเดินหน้าควบคู่ไปกับการขยายตัวของเขตเมือง  เช่นเดียวกับพัฒนาการของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายในช่วงประวัติศาสตร์สองร้อยกว่าปีหลังมานี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานพร้อมๆ กับตลาดรองรับผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรม ประสบการณ์ของจีนยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผลจากการทุ่มเทพัฒนาทั้งหลาย เมืองได้ดูดกลืนเอาส่วนที่ดีที่สุดไว้ และแม้รัฐบาลกลางจะมีนโยบายกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคมากเท่าใดก็ตาม แต่ท้ายที่สุดที่สามารถทำได้ ก็คือ การสร้างเมืองเพิ่มขึ้นในเขตถัดลึกเข้าไปจากชายฝั่ง การปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ให้สามารถโอนย้ายได้ง่ายขึ้น ยิ่งจะทำให้กระบวนการนคราภิวัตร หรือ การกลายเป็นเมืองของสังคมจีนเร่งอัตราเร็วขึ้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมืองสามารถตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ได้จริงหรือไม่ ประการที่สอง พื้นที่เชิงกายภาพของชนบทจีนกำลังจะถูกปฎิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การสูญเสียประชากรจำนวนมาก จากการอพยพและโอนย้ายสำมะโนครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายออกไป (เงื่อนไขในการย้ายทะเบียนบ้านเข้าเมือง กำหนดให้ต้องมีการคำนวนแลกสิทธิ์ในการใช้ที่ดินเดิมกับห้องพักอาคารชุดในเขตเมือง) กำลังปลดปล่อยที่ดินภาคเกษตรเก่าแก่จำนวนมหาศาลของจีนให้เป็นอิสระจากพันธกิจเพาะปลูกตามประเพณีดั้งเดิม นั่นแปลว่า จีนอาจกำลังมีนโยบายหรือแนวทางในการปฏิรูปการใช้ที่ดิน ให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าติดตามดูอย่างยิ่ง เราอาจได้เห็นธุรกิจการเกษตรเชิงพานิช เชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น เป็นการผลิตทางการเกษตรที่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เหมือนเช่นที่สหรัฐอเมริกาเคยผ่านประสบการณ์มา ในการรวบรวมแปลงที่ดินการเกษตรเป็นผืนใหญ่ ประการที่สาม ชีวิตผู้คน ฐานะทางสังคมดั้งเดิมของจีนที่ผูกพันกับผืนดินและกิจกรรมเกษตรแบบครัวเรือน กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้จะมีการอ้างว่า ก่อนหน้านี้แรงงานก็อพยพออกนอกถิ่นฐานแล้ว ทว่าแรงงานเหล่านั้นยังคงสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับครัวเรือนและภูมิลำเนาเดิมได้ มาบัดนี้เมื่อการโอนย้ายภูมิลำเนาเกิดขึ้นได้โดยง่ายและถาวร นั่นหมายความว่า ความเชื่อมโยงเดิมที่เคยมีก็ขาดลงโดยสิ้นเชิงทันทีทันใด การจะกลับภูมิลำเนาเดิมหากชีวิตในเมืองไม่ประสบความสำเร็จ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
ทั้งหมดนี้ ทำให้นึกถึงแรงงานไทยจำนวนมากที่สมัยหนึ่งต้องขายที่นา เพื่อหาทุนไปทำงานขุดทองในตะวันออกกลาง ลงท้ายกลับมา เสียทั้งนา เสียทั้งเมีย เสียทั้งบ้าน  เกี่ยวกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ  แต่มันรู้สึกอารมณ์นั้นจริงๆ ครับ