ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จีนปฏิรูปทะเบียนราษฎร์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ตั้งแต่หลังวันหยุดยาวช่วงตรุษจีนมานี้ ดูเหมือนบรรดาสื่อหนังสือพิมพ์ของจีนจะยังไม่ฟื้นดีหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ผมพลิก-คลิกเปิดดูไปมาก็ยังไม่เจอข่าวน่าสนใจ ที่จะนำมาขยายความเล่าสู่กับท่านผู้อ่าน ข่าวส่วนใหญ่ที่มีก็ยังคงเกี่ยวเนื่องกับควันหลงวันตรุษจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ เกือบจะตัดสินใจงัดเอาบทความที่เขียนเก็บในสต๊อกออกมาแก้ขัดอยู่แล้วเชียว จนเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะกำลังสแกนดูรายการทีวีผ่านดาวเทียมช่องต่างๆของจีนอยู่ ก็ไปสดุดเข้ากับสารคดีของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนครฉงชิ่ง เกิดสนใจขึ้นมาเลยนั่งดูจนจบรายการ ทำให้เกิดเป็นประเด็นนำมาคุยกับท่านผู้อ่านตามที่จั่วหัวข้างต้นนี้แหละครับ
อย่างที่ผมได้เคยนำเสนอไปแล้วในคอลัมน์นี้ ช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนพัฒนาขยายตัวโดยอาศัยแรงงานอพยพ ที่โยกย้ายจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองค่อนข้างมาก ตัวเลขเฉลี่ยแล้วจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เชื่อว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน กระจายอยู่ตามหัวเมืองหลักที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงของจีน ในช่วงแรก แม้ว่าการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจะถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด แต่พอเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ช่องทางหลงหูหลงตาของเจ้าหน้าที่ก็เพิ่มมากขึ้น จนท้ายที่สุดทั้งแรงงานที่เข้าออกโดยถูกต้องและแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปมาตามแหล่งงานที่ไม่มีการควบคุม ต่างก็ก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย แม้จะมองกันว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการพัฒนา แต่สภาพปัญหาก็ดูเหมือนใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ปัญหาที่พูดกันมากก็เช่นเรื่องสวัสดิการของแรงงานอพยพและครอบครัวที่ต้องเผชิญชีวิตอยู่ในชุมชนเมืองโดยไม่ได้รับการดูแล เพียงเพราะเหตุว่า เขาเหล่านั้น ไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกต้องถาวร ทำให้รัฐไม่อาจบริหารจัดการดูแลได้ แม้โดยข้อเท็จจริง แรงงานเหล่านี้คือผู้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมืองใหญ่ทั้งหลาย แต่กลับไม่ได้รับผลแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น
สารคดีที่ผมได้มีโอกาสดูเมื่อดึกวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวรายงานผลการดำเนินการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ โดยสำนักงานทะเบียนและสันติบาลของนครฉงชิ่ง ที่ทำติดต่อกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลกลางที่มุ่งจะปฏิรูประบบโอนย้ายประชากรเขตชนบทเข้ามาเป็นประชากรเขตเมือง ตามสภาพความเป็นจริงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เป็นการเปิดช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานอพยพและผู้ประกอบการที่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตชนบท แต่ได้อพยพเข้ามาทำงานอยู่ในเขตเมืองนานแล้ว สามารถยื่นเรื่องราวและขอรับการตรวจสอบ เพื่อโอนทะเบียนบ้านเข้ามาเป็นประชากรที่ถูกต้องตามกฎหมายในเมืองที่ตนทำงานอยู่จริง ทั้งนี้เพื่อที่รัฐบาลจะได้สามารถดูแลจัดการเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การจัดการศึกษา การจัดเก็บสมทบกองทุน ฯลฯ ได้ครบถ้วนถูกต้องมากยิ่งขึ้น อันจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนับหลายร้อยล้านคน ที่เดิมหลุดๆหายๆ ไม่รู้แน่ชัดว่าสังกัดอยู่ในเมืองหรือในชนบท  เฉพาะในมหานครฉงชิ่ง ตามข้อมูลจากสารคดีที่ว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปีเศษที่ผ่านมา จนถึงตรุษจีนนี้ สามารถดำเนินการโอนย้ายทะเบียนบ้านภูมิลำเนาจากเขตชนบทเข้ามาเป็นประชากรในเขตเมืองได้แล้ว 3 ล้าน 2 แสน 2 หมื่นคน หากดูจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ จัดได้ว่าเป็นการโอนย้ายถิ่นของประชากรข้ามเขตจากชนบทสู่เมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์  แม้ดูอย่างผิวเผินอาจเห็นเป็นการเคลื่อนย้ายตัวเลขบนเอกสาร แต่ในความเป็นจริง ผมมองดูแล้วค่อนข้างตกใจ เพราะกระบวนการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ครั้งนี้ กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญขึ้นในสังคมจีน
ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่ว่านี้ ผมเองโดยส่วนตัวมองว่ามีสามด้านหลักๆเป็นอย่างน้อย ประการแรก ผลกระทบที่มีกับเมือง เราทราบกันดีว่ากระบวนการพัฒนาประเทศโดยเน้นการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก อย่างที่จีนดำเนินมาตลอดเกือบ 30 ปี เกิดและเดินหน้าควบคู่ไปกับการขยายตัวของเขตเมือง  เช่นเดียวกับพัฒนาการของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายในช่วงประวัติศาสตร์สองร้อยกว่าปีหลังมานี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานพร้อมๆ กับตลาดรองรับผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรม ประสบการณ์ของจีนยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผลจากการทุ่มเทพัฒนาทั้งหลาย เมืองได้ดูดกลืนเอาส่วนที่ดีที่สุดไว้ และแม้รัฐบาลกลางจะมีนโยบายกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคมากเท่าใดก็ตาม แต่ท้ายที่สุดที่สามารถทำได้ ก็คือ การสร้างเมืองเพิ่มขึ้นในเขตถัดลึกเข้าไปจากชายฝั่ง การปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ให้สามารถโอนย้ายได้ง่ายขึ้น ยิ่งจะทำให้กระบวนการนคราภิวัตร หรือ การกลายเป็นเมืองของสังคมจีนเร่งอัตราเร็วขึ้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมืองสามารถตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ได้จริงหรือไม่ ประการที่สอง พื้นที่เชิงกายภาพของชนบทจีนกำลังจะถูกปฎิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การสูญเสียประชากรจำนวนมาก จากการอพยพและโอนย้ายสำมะโนครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายออกไป (เงื่อนไขในการย้ายทะเบียนบ้านเข้าเมือง กำหนดให้ต้องมีการคำนวนแลกสิทธิ์ในการใช้ที่ดินเดิมกับห้องพักอาคารชุดในเขตเมือง) กำลังปลดปล่อยที่ดินภาคเกษตรเก่าแก่จำนวนมหาศาลของจีนให้เป็นอิสระจากพันธกิจเพาะปลูกตามประเพณีดั้งเดิม นั่นแปลว่า จีนอาจกำลังมีนโยบายหรือแนวทางในการปฏิรูปการใช้ที่ดิน ให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าติดตามดูอย่างยิ่ง เราอาจได้เห็นธุรกิจการเกษตรเชิงพานิช เชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น เป็นการผลิตทางการเกษตรที่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เหมือนเช่นที่สหรัฐอเมริกาเคยผ่านประสบการณ์มา ในการรวบรวมแปลงที่ดินการเกษตรเป็นผืนใหญ่ ประการที่สาม ชีวิตผู้คน ฐานะทางสังคมดั้งเดิมของจีนที่ผูกพันกับผืนดินและกิจกรรมเกษตรแบบครัวเรือน กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้จะมีการอ้างว่า ก่อนหน้านี้แรงงานก็อพยพออกนอกถิ่นฐานแล้ว ทว่าแรงงานเหล่านั้นยังคงสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับครัวเรือนและภูมิลำเนาเดิมได้ มาบัดนี้เมื่อการโอนย้ายภูมิลำเนาเกิดขึ้นได้โดยง่ายและถาวร นั่นหมายความว่า ความเชื่อมโยงเดิมที่เคยมีก็ขาดลงโดยสิ้นเชิงทันทีทันใด การจะกลับภูมิลำเนาเดิมหากชีวิตในเมืองไม่ประสบความสำเร็จ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
ทั้งหมดนี้ ทำให้นึกถึงแรงงานไทยจำนวนมากที่สมัยหนึ่งต้องขายที่นา เพื่อหาทุนไปทำงานขุดทองในตะวันออกกลาง ลงท้ายกลับมา เสียทั้งนา เสียทั้งเมีย เสียทั้งบ้าน  เกี่ยวกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ  แต่มันรู้สึกอารมณ์นั้นจริงๆ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น