ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เค้าลาง 13 ประการแห่งบูรพาภิวัตน์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้พบกับอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในที่ประชุม ด้วยความที่สนิทสนมกันมาช้านานร่วม 20 ปี ก็เลยได้รับอภินันทนาการหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดจากท่าน ชื่อหนังสือคือ “บูรพาภิวัตน์ ภูมิ-รัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกใหม่” เขียนโดยท่าน ศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงวิชาการ มีผลงานหนังสือสำคัญทยอยออกมาแล้วหลายต่อหลายเล่ม พอได้หนังสือเล่มใหม่จากมือท่าน ผมก็รีบตะบึงอ่านม้วนเดียวจบ ได้รับความรู้และมุมมองใหม่ๆ มากมายอย่างยิ่ง ที่สำคัญตรงกับความสนใจของผม คือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประเทศจีนเสียมาก ทั้งๆ ที่ได้เตรียมเรื่องจะเขียนในคอลัมน์คลื่นบูรพาประจำสัปดาห์นี้ไว้แล้ว แต่ก็ต้องเปลี่ยนแผนกะทันหันเพราะหนังสือของท่านอาจารย์เอนกโดยแท้ ที่ว่าเปลี่ยนแผนนั้น ไม่ได้หมายความว่ากำลังจะนำเรื่องในหนังสือเล่มดังกล่าวมาสรุปเล่าต่อ เดี๋ยวจะเป็นการเสียของเปล่าๆ อยากให้ท่านผู้อ่านไปหาซื้อมาอ่านเองจะได้จุใจกว่าฟังผมเล่าสรุป เอาเป็นว่าสิ่งที่อยากจะนำเสนอท่านผู้อ่านในคอลัมน์ฯ วันนี้ เป็นเรื่องต่อยอดหลังจาการอ่านหนังสือของท่านอาจารย์เอนกแล้ว
เมื่อสักสองสามสัปดาห์ก่อน มีบทความหลายชิ้นปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์จีนรวมทั้งบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์จีนบางฉบับ วิจารณ์กรณีภารกิจร่วมการฝึกซ้อมรบทางยุทธวิธีในทะเลจีนใต้ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและหลายชาติในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย ประเด็นคำถามหลักที่มองกันก็คือ อะไรเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯในการซ้อมรบต่อเนื่องประจำทุกๆ ปี ในเมื่อสงความเย็นและปัญหาภัยคุกคามในภูมิภาคนี้ก็หมดสิ้นไปนานแล้ว สื่อจีนเกือบจะทั้งหมดฟันธงมองว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพข่มจีนโดยเฉพาะอย่างไม่ต้องสงสัย ความที่ประเทศจีนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เลยกลายเป็นประเด็นวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับต่อเนื่องมาจนแม้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง4 ของจีน ถึงกับทำสกู๊ปข่าวพิเศษติดตามเรื่องนี้โดยตรง นักวิชาการของจีนหลายท่านเชื่อว่า แม้จีนจะลงทุนทำประชาสัมพันธ์เชิงซอฟท์เพาเวอร์ไปเยอะ ทั้งการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกาและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอื่นๆ ในระดับนานาชาติ แต่ดูเหมือนสหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ ในการชักจูงให้นานาชาติมองประเทศจีนในฐานะเป็นภัยคุกคาม
ก่อนหน้าหนังสือของท่านอาจารย์เอนก แนวโน้มคาดการณ์กระแสบูรพาภิวัตน์ก่อตัวทางวิชาการมาแล้วอย่างเข้มข้นในวงวิชาการและนักยุทธศาสตร์ตะวันตก แต่ดูเหมือนในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวยังไม่ถึงกับเป็นปัจจัยหลักนำไปสู่การเผชิญหน้าที่ชัดเจนนัก มาเมื่อปีสองปีนี้ขนาดของเศรษฐกิจจีนเริ่มแซงหน้าเยอรมันนีและประเทศญี่ปุ่นไปเรียบร้อย กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่อันดับที่สอง คนอเมริกันทั่วไปจึงเริ่มตระหนักว่าจีนกำลังกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญตัวต่อตัวกับสหรัฐอเมริกาโดยตรง ผมคิดว่าเงื่อนไขและช่วงเวลานี้เอง ที่ทำให้บรรยากาศต่างๆ เริ่มแย่ลง   มีงานศึกษาสำรวจความคิดเห็นที่ประมวลมาจากกลุ่มนักธุรกิจและนักวิชาการในสหรัฐฯ โดยสอบถามเกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่มองว่าจีนอาจเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกา หากผมจำไม่ผิดเพิ่งจะเผยแพร่ออกมาเมื่อตอนปลายปีที่แล้วนี้เอง มีอยู่ 40 กว่าประเด็น ผมขอเลือกมาแบบเด็ดๆ แค่ 13 ประเด็นดังนี้ครับ
1.      ขนาดเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เร็วกว่าสหรัฐฯ 7 เท่า
2.      จีนส่งออกสินค้าไฮเทคคุณภาพสูงมากกว่าสหรัฐฯ 2 เท่าตัว อีกทั้งยังดึงเอาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เคยผลิตในสหรัฐฯ ย้ายฐานไปอยู่ในจีน กว่าร้อยละ 25 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
3.      ปัจจุบันจีนผลิตเหล็กกล้าป้อนสู่อุตสาหกรรมหลักได้กว่า 627 ล้านตัน ในขณะที่สหรัฐฯผลิตได้เพียง 80 ล้านตัน และมีแนวโน้มลดลง และอาจต้องนำเข้าจากจีนในอนาคตอันใกล้
4.      อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนใหญ่กว่าของสหรัฐ 2 เท่าในปี 2010 และอาจจะใหญ่กว่าเป็น 3เท่าตัวในปี 2015
5.      ในปี 2010-2011จีนผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ได้เท่ากับร้อยละ19.8 ของที่ผลิตได้ทั้งโลก ขณะที่สหรัฐฯผลิตได้ในช่วงเดียวกันเท่ากับร้อยละ 19.4 ของโลก
6.      ในปี 2011 สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าจีนอยู่ประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขาดดุลทางการค้าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเคยมีต่ออีกประเทศหนึ่ง มากที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก และตัวเลขขาดดุลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีอีกร้อยละ 18
7.      นับแต่ปี 2010 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานอันดับหนึ่งของโลก และมีนโยบายสะสมพลังงานสำรองสูงที่สุดในโลก
8.      ปัจจุบันจีนเป็นเจ้าของสิทธิบัตรทางอุตสาหกรรมไล่เลี่ยกับสหรัฐฯ (จดเองบ้าง ไล่ซื้อมาเก็บไว้บ้าง) แต่จีนมีอัตราการจดสิทธิบัตรเพิ่มสูงกว่าสหรัฐเกือบเท่าตัวทุกๆ ปี
9.      จีนกำลังไล่จี้สหรัฐฯในเทคโนโลยีอวกาศและนิวเคลียร์
10. จีนเป็นเจ้าของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกเท่าที่เคยประดิษฐ์มา
11. จีนผลิตบัณฑิตปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์ได้กว่าสองเท่าของสหรัฐฯในแต่ละปี และมีนักวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาทางอุตสาหกรรมด้านต่างๆ สูสีกับสหรัฐฯ
12. ปัจจุบันจีนมีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เร็วที่สุดของโลก และมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงยาวที่สุดในโลก
13. กว่าร้อยละ 53 ของปูนซิเมนต์ที่ผลิตได้ในโลกนี้ ถูกใช้ในงานก่อสร้างของจีน
ผมว่าเอาแค่นี้คงพอนึกภาพออกแล้วนะครับว่าชาวอเมริกันที่เห็นผลการสำรวจนี้จะคิดหรือรู้สึกอย่างไรต่อจีน แต่ที่แน่ๆ คงไม่ค่อยเป็นมิตรกันเท่าไร  แต่สำหรับเราชาวไทย ผมขอเรียนว่า “บูรพาภิวัตน์ มาแน่ครับ และมาเร็วด้วย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น