ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สินเชื่อเพื่อการบริโภค


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในแวดวงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เวลามีลุ้นหรือว่าจะต้องวิเคราะห์แนวโน้มของปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ผมเห็นเพื่อนนักวิชาการหลายท่านพากันจับตามองคุณเบ็น เบอนันเก้ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐ คือดูว่าท่านจะออกมาแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบหรือไม่อย่างไร อย่างเช่นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พอท่านออกมาแถลงว่าจะใช้มาตรการ Quantitative Easing รอบที่3 (เรียกย่อว่า QE3 เป็นมาตรการใช้เงินที่ธนาคารกลางพิมพ์เพิ่ม เข้าไปซื้อสินทรัพย์ของธนาคารต่างๆ เท่ากับเป็นการอัดฉีดเงินก้อนใหม่เข้าสู่ตลาด) ผู้คนในวงการก็พากันโมทนาสาธุ เหมือนว่าจะรอดตายไปอีกคราวหนึ่ง  มาในช่วงปลายปีแบบนี้ ก็มีผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยหลายท่าน สอบถามผมแบบทีเล่นทีจริงว่า จีนจะมี คิวอง คิวอี 1,2,3 กะเค้าบ้างหรือไม่ ผมได้ยินคำถามก็อึ้งไปพักใหญ่ ไม่รู้จะตอบท่านว่าอย่างไร ที่ตอบไม่ได้ก็เพราะ ประการแรก ภาพรวมเศรษฐกิจจีนในไตรมาสสุดท้ายเป็นอย่างไรก็ยังไม่ได้เห็น ประการที่สอง หากแม้นจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คงเป็นแนวทางและวิธีแบบจีน คงไม่คิดจะใช้แนวทางแบบสหรัฐ เพราะจีนระมัดระวังเรื่องค่าเงินมากเป็นพิเศษ จะมาเที่ยวพิมพ์แบงก์เพิ่มเยอะแยะคงไม่ได้

ในคราวประชุมใหญ่พรรคฯครั้งที่18 เพราะคำถามคาใจข้างต้น ทำให้ผมเฝ้าจับตาดูพร้อมทั้งเงี่ยหูฟัง ว่าจะมีอะไรทำนองที่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาจากปากท่านผู้นำทั้งหลายหรือไม่ ปรากฏว่าทั้งผู้นำชุดเดิมและชุดใหม่ต่างก็เน้นย้ำแนวนโยบายเชิงทฤษฎีสังคมนิยมระดับบนของพรรคฯเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครลงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการทางปฏิบัติเลย ซึ่งกล่าวตามความจริงก็เป็นเรื่องปรกติตามจารีตปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรื่องรายละเอียดเขาไม่มานั่งถกเถียงในที่ประชุมให้ใครเห็นหรอก โดยเฉพาะเป็นการประชุมใหญ่ครั้งสำคัญที่มีการถ่ายโอนอำนาจข้ามรุ่น ยิ่งต้องแสดงให้เห็นเอกภาพและความต่อเนื่อง มากกว่าที่จะมีการเสนอแนะแนวนโยบายใหม่ หรือให้สัญญาในมาตรการใหม่ๆตัดหน้าผู้บริหารหรือผู้นำชุดเดิมที่ยังนั่งหายใจตัวเป็นๆกันอยู่ครบหน้า

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่แล้ว บรรดาท่านผู้บริหารสูงสุดชุดใหม่ทั้ง7ท่าน ได้ร่วมประชุมคณะทำงานแผนเศรษฐกิจประจำปี ร่วมกับคณะรัฐบาลของนายกฯ เหวิน ซึ่งกลายเป็นที่จับตาอย่างมากจากสื่อมวลชนจีนและสำนักข่าวต่างประเทศทั้งหลาย แม้รู้กันอยู่ว่าการประชุมเที่ยวนี้เป็นเพียงพิธีกรรม เพื่อสรุปยืนยันสิ่งที่ได้มีการตกลงส่งไม้ต่อกันเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วระหว่างผู้นำชุดเดิมกับกลุ่มผู้นำชุดใหม่ แต่ผลการแถลงข่าวภายหลังสิ้นสุดการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นเต้นอยู่พอสมควร เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนกำลังจะใช้มาตรการครั้งสำคัญในการกระตุ้นกำลังการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ มาเป็นเครื่องมือในการฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมของจีน

จากคำแถลงยาวเหยียด พอสรุปออกมาได้ว่า ตั้งแต่ปี2013เป็นต้นไป จีนจะผลักดันการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ให้สามารถชดเชยกับการส่งออกที่ถดถอย แม้ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คราวนี้คำแถลงนโยบายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาพร้อมกับมาตรการสำคัญสามประการด้วยกันคือ ประการที่หนึ่ง การส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและเปิดตลาดสินเชื่อเพื่อการบริโภคให้มีความทันสมัยและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ประการที่สอง การเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวจีนด้วยการพัฒนาสังคมชนบทให้เทียบเคียงได้กับสังคมเมือง หรือนโยบายนคราภิวัตรและการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆในเขตเมือง และประการที่สาม การตัดลดภาระภาษีบุคคลและวิสาหกิจขนาดเล็กทั้งหลายเพื่อให้สามารถมีเงินเหลือเพื่อการลงทุนหรือบริโภคมากขึ้น

หากพิจารณาดูในรายละเอียดของคำแถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าแนวนโยบายหลักในปีหน้า ดูเหมือนจะมีข้อเดียว คือทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดพลังบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ต่างจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาซึ่งยังเน้นแนวทางคู่ขนาน คือเพิ่มกำลังบริโภคภายในด้วย และพยายามแสวงหาตลาดใหม่ในเอเชียกลางและในแอฟริกาไปพร้อมๆกัน เฉพาะหน้าที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายคงจะทยอยกันออกมาวิจารณ์กันแน่ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องผลกระทบของนโยบายดังกล่าวที่จะมีต่อภาวะหนี้สินส่วนบุคคลและหนี้สินภาคครัวเรือน ตัวเลขสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ปล่อยโดยธนาคารพานิชย์ใหญ่ๆของจีน เห็นแล้วก็หนาวอยู่พอสมควร ตัวเลขจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนของ5ธนาคารยักษ์ใหญ่(ICBC,ABOC, BOC, ConBOC, และComBOC ) ปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการบริโภคไปแล้ว6.13ล้านล้านหยวน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี2011 อยู่ 7แสนกว่าล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ12.99 ทั้ง5ธนาคารได้ออกบัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมามากถึง 35.11 ล้านใบ และมีการปล่อยสินเชื่อผ่านบัตรเครดิตเหล่านี้ไปแล้วในช่วง11เดือน เป็นมูลค่าสินเชื่อกว่า2.889ล้านล้านหยวน

ที่ผมรายงานตัวเลขมานี้ เป็นแค่หนังตัวอย่างเล็กๆ ยังไม่ทราบว่าสรุปสิ้นปีตัวเลขชุดนี้จะเป็นอย่างไร ยังไม่ได้รวมหนี้สินเพื่อการบริโภคและหนี้สินภาคครัวเรือนที่อาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบธนาคารในรูปแบบอื่นๆอีกมาก และยังไม่รู้ว่าตัวเลขของเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆจะออกมาหน้าตาเช่นไร การหวังพึ่งพากำลังการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักใหญ่ของการขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ความเข้าใจที่ว่าชาวจีนส่วนใหญ่ยังสามารถมีเครดิต(หนี้)ได้มากกว่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในฐานะที่เป็นนโยบายสาธารณที่มีความรับผิดทางการเมืองผูกติดอยู่ ดูเหมือนผู้นำชุดใหม่กำลังวางเดิมพันที่สูงมาก หากการกระตุ้นการบริโภคไม่ก่อให้เกิดการขยายการลงทุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ในสัดส่วนที่คุ้มค่าชดเชยกับหนี้ที่รัฐบาลกระตุ้นให้ใช้จ่าย นอกจากจะไม่ทำให้เศรษฐกิจจีนโดยรวมฟื้นแล้ว ดีไม่ดีจะพากันอยู่ไม่ได้ในทางการเมือง  กลัวเหลือเกินครับ...
 

อาชีพข้าราชการจีน


             โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
2สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่รักด้วยที่หายหน้าไป ไม่ได้ส่งการบ้านประจำวันพุธ วิ่งตะลอนไปมาหลายแห่งอยู่ในประเทศจีน หาเวลาเขียนบทความส่งไม่ได้จริงๆ เลยต้องแจ้งมาทางกอง บก.ของดไปสองสัปดาห์ พุธนี้ส่งการบ้านตามปรกติครับ ที่ไปประเทศจีนเที่ยวนี้ ก็หลายงานด้วยกัน คือไปงานวิจัยส่วนตัวที่รับผิดชอบอยู่ ไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในนครปักกิ่งที่คุ้นเคยรู้จักและมีงานวิจัยเกี่ยวข้องติดต่อกันอยู่ อีกทั้งยังได้รับความกรุณาจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์สำนักงานนครปักกิ่ง พาไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาเกษตรแผนใหม่ ที่ทางบริษัทร่วมกับรัฐบาลปีกกิ่งและกลุ่มเกษตรกรจีนในตำบลผิงกู่นอกเมืองปักกิ่ง(โทษฐานที่เขียนพาดพิงถึงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เขาก็เลยพาไปดูซะเลย จะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง) ทั้งโครงการใช้เกษตรกรเพียง80กว่าคน แต่เลี้ยงและบริหารจัดการไก่ไข่ได้ถึง3.5ล้านตัว น่าทึ่งและน่าชื่นชมอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีการทำฟาร์มสมัยใหม่ของทางเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศจีน ท้ายสุดก็เดินทางไปเยี่ยมเยือนมิตรเก่าแก่ที่สถานีวิทยุนานาชาติจีน(CRI) แต่ที่จะเป็นประเด็นพูดคุยในคอลัมน์สัปดาห์นี้ จะขอเอาเรื่องที่ไม่ได้ไปดูงานมาเล่าสู่กันก่อน เรื่องที่ไปดูงานมา จะขอทะยอยไปเล่าในคราวหลัง (เก็บไว้ใช้ตอนคิดหาเรื่องเขียนไม่ได้)

                เรื่องที่จะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในสัปดาห์นี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากหัวข้อการสนทนาบนโต๊ะอาหารมื้อเที่ยงก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากที่ผมเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนๆที่ทำงานอยู่สถานี CRI ในตอนเช้าวันเสาร์เสร็จ เขาก็ชวนออกมาทานข้าวเป็นมื้อเลี้ยงส่ง ระหว่างทานข้าวก็แลกเปลี่ยนข่าวสารในประเทศไทย-จีน คุยไปเรื่อยๆจนเข้าเรื่องจราจร ผมก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจราจรในกรุงปักกิ่ง เพื่อนชาวจีนจึงให้ข้อมูลว่ารถติดมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการสอบข้อเขียนผู้สมัครเข้ารับราชการ ทำให้มีผู้คนจากที่ต่างๆเพิ่มเข้ามาในปักกิ่ง ผมก็เกิดสงสัยจึงชวนคุยเรื่องการสอบบรรจุเข้าเป็นข้าราชการของจีน ได้ความรู้ใหม่เพิ่มมามากทีเดียว

                ผมเข้าใจเอาเองว่า ในช่วงกว่า20ปีมานี้ ความนิยมแห่กันไปสมัครสอบเป็นข้าราชการของหนุ่มสาวชาวจีนลดลงเรื่อยๆ ในสมัยก่อนที่จะเริ่มนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง อาชีพรับราชการส่วนกลาง ดูจะเป็นเป้าหมายเดียวในชีวิตของบรรดาบัณฑิตจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย แต่เมื่อจีนเข้าสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และตำแหน่งงานใหม่ๆก็มีหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวเลขและอัตราการแข่งขันในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการลดลงเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสำนวนว่า “ปี๋เยวี่ย เซี่ยไฮ่” คือบัณฑิตสำเร็จการศึกษา มีเท่าไรก็แหวกว่ายไหลเข้าสู่ท้องทะเลธุรกิจการค้าหมด ผลิตเท่าไรก็ไม่พอใช้(ช่วงกลางทศวรรษ1990 มีบัณฑิตจบปีละประมาณ1.5ล้านคน) เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่องทางสู่ความร่ำรวยและก้าวหน้า อย่างไรก็ดี มาในช่วงหลัง ปรากฏการณ์เริ่มย้อนกลับ เมื่อจีนต้องเผชิญสภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ กระแสความนิยมที่จะแข่งขันสอบบรรจุเข้ารับราชการ ก็กลับมาแรงอีกครั้ง เรียกกันทั่วไปว่าเหมือนเป็นหม้อข้าวทองคำ การสอบข้อเขียนเพื่อบรรจุเข้ารับราชการล่าสุดที่ผ่านมา ประมาณว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งจบใหม่และจบเก่ากว่า1.4ล้านคน แข่งขันกันเข้าสอบข้อเขียนเพื่อบรรจุเข้าในตำแหน่งว่างประมาณ20,800ตำแหน่งราชการส่วนกลางทั่วประเทศ(พนักงานของรัฐบาลท้องถิ่น ฟังมาว่าแยกสอบเองต่างหาก และมีผู้สมัครแข่งขันอีกหลายล้านคน) จากจำนวนบัณฑิตจบใหม่เกือบ7ล้านคนในปีนี้

                  อาการกลับลำอยากเป็นข้าราชการของบรรดาบัณฑิตจบใหม่เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ที่แน่ๆประการแรก ภาวะเฟื้องฟูของเศรษฐกิจจีนที่รับรู้โดยชาวจีนเอง ได้มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แม้ว่ารายได้เริ่มต้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือนจีนจะต่ำกว่าอาชีพค้าขายของชำ แต่หนุ่มสาวจำนวนมากก็พร้อมที่จะเลือกอย่างแรก เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงกว่าการเสี่ยงทำธุรกิจเองหรือแย่งหางานทำกับบริษัทเอกชนที่ไม่มีความมั่นคง ประการที่สอง สถานะทางสังคมของความเป็นข้าราชการยังคงฝั่งแน่นอยู่ในวัฒนธรรมอำนาจนิยมของจีนไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าในบางห่วงเวลา การเป็นนักธุรกิจหรือผู้บริหารบริษัทเอกชนจะดูดีมีเงินมีทองกว่า แต่ความเชื่อเรื่องข้าราชการและอำนาจรัฐ ก็ไม่จางไปจากสังคมจีนได้ง่ายๆ ประการที่สาม ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเชื่อกันว่าอาชีพรับราชการไม่เพียงแต่จะมั่นคง มีศักดิ์ศรี เผลออาจรวยตามน้ำได้ด้วย คนกลุ่มนี้แม้มีไม่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวการคอรัปชั่น การรับผลประโยชน์ตอบแทนการอำนวยความสะดวกฯลฯ เป็นเรื่องที่มีอยู่และเกิดขึ้นจริงในสังคมจีน แม้จะมีข่าวการลงโทษข้าราชการฉ้อราษฎร์ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ แต่ก็เชื่อแน่ว่ายังมีผู้เห็นอาชีพรับราชการเป็นช่องทางรวยลัดอยู่ไม่น้อย ประการสุดท้าย ไม่ว่าอาชีพรับราชการจะให้เงินตอบแทนต่ำอย่างไร แต่ประโยชน์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งที่เหนือกว่า ก็คือสิทธิ์ในเรื่องที่พักอาศัยและสวัสดิการรักษาพยาบาลตลอดชีพ ซึ่งหากคิดเป็นตัวเงินแล้วก็ไม่น้อยเลย

                   ในจำนวนข้าราชการพลเรือนกว่า6.8ล้านคนโดยประมาณของจีน คงคล้ายๆกับของไทยเรา คือมีทั้งคนที่อยากเข้าและคนที่อยากออก บัณฑิตใหม่ที่กำลังสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้าในปีนี้ อาจสมหวังหรืออาจผิดหวังในระยะยาว เพราะจากสถิติมีเพียง40,000กว่าคนเท่านั้นที่ได้ทำงานประจำอยู่ในกรมกองตามเมืองใหญ่ทันสมัย ที่เหลือนอกนั้นอาจพบว่าอาชีพข้าราชการในหัวเมืองเขตชนบทไม่ก้าวหน้า และอาจไม่มีช่องทางแสวงหาความเติบโตหรือรายได้พิเศษใดๆเลย

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จีนภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5


รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                   หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้แนะนำผู้บริหารที่กำลังจะก้าวขึ้นมาปกครองประเทศจีนในรุ่นที่5 ก็ปรากฏว่ามีแฟนประจำต่อว่ามา อยากให้ขยายความที่ทิ้งท้ายไว้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น สำหรับคนที่เขียนคอลัมน์สัปดาห์ละครั้งอย่างผม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้ทราบว่ามีท่านผู้อ่านที่รักติดตามคอลัมน์นี้อย่างเอาจริงเอาจัง ฉะนั้นไม่ว่าท่านขออะไรมา หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผมก็จะสนองตอบทันทีครับ คราวนี้เลยจะขอชวนท่านผู้อ่านคุยต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนที่ทิ้งท้ายว่าประเทศจีนภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่ มีปัญหาท้าทายรออยู่มาก ตกลงได้แก่ปัญหาอะไรบ้าง

                     สดๆร้อนๆเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนหนึ่งคงได้ทราบข่าวการประท้วงที่เมืองหนิงปอ ชาวเมืองหลายพันคนออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ประท้วงต่อต้านโครงการก่อสร้างขยายโรงงานปิโต-เคมี ต่อเนื่องอยู่3วันเต็ม แม้จะลงเอยด้วยการที่รัฐบาลท้องถิ่นสั่งชะลอโครงการก่อสร้างออกไป แต่ก็ปรากฏว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นในระหว่างการประท้วง และมีประชาชนถูกจับตัวไปกว่า50คน กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมากในโลกออนไลน์ของจีน หากนับเนื่องจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี1989เป็นต้นมา ประเทศจีนได้พบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการแสดงออกอย่างเปิดเผยของภาคประชาชน เหตุการณ์ประท้วงมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี แม้ว่าในมุมมองนักวิชาการตะวันตกจะเห็นเป็นพัฒนาการปรกติของสังคมจีนที่มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น อันสืบเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คนชั้นกลางในเขตเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ภายใต้การปกครองอย่างเข้มงวดของพรรคฯในอดีต ก็เลยอยากมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดทิศทางของบ้านเมืองที่จะกระทบกับชีวิตของเขา ทว่าในข้อเท็จจริง ไม่เฉพาะแต่ในเขตเมืองเท่านั้นที่มีการเดินขบวนประท้วง เกษตรกรในเขตชนบทและกลุ่มผู้ใช้แรงงานชั้นล่าง จำนวนการประท้วงและลุกฮือต่อต้านการใช้อำนาจของทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและกิจการลงทุนของเอกชน ก็ปรากฏมีความถี่เพิ่มมากขึ้น ตัวเลขจากนักวิชาการจีนเอง(สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ที่ปักกิ่ง)ประมวลไว้ว่าขยายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 8,700 กว่ากรณีประท้วงในปี1993 เพิ่มเป็นเกือบ9พันกรณีในปี1995 และกลายมาเป็น180,000กว่ากรณีในปี2010 อันนี้หมายถึงการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นร้อยเป็นพัน มีการเดินขบวน มีการปราศรัยโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐหรือคู่ขัดแย้ง รวมไปถึงมีการใช้กำลังขว้างปาทำลายข้าวของฯลฯ
                       ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ชัดเจนว่าส่วนหนึ่งมีที่มาจากแกนนำที่เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษาดี มีความคิดอ่านเป็นประชาธิปไตย รู้เห็นเรื่องราวตัวอย่างจากต่างประเทศ แต่หากได้วิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว เราอาจพบได้ว่ากลุ่มที่ประท้วงนั้น มีอยู่หลายพวกด้วยกัน และด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ในที่นี้ผมจะขอไล่ประเภทจากเหตุประท้วงที่มีความถี่สูงลงไปหาความถี่ต่ำดังนี้ ที่มากที่สุดคือกลุ่มประท้วงเรื่องที่ดินในเขตชนบท ทั้งด้วยเหตุโดนไล่ที่ หรือด้วยเหตุไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน กลุ่มนี้มีมากถึงร้อยละ65จาก180,000เหตุการณ์ในปี2010 ถัดมาเป็นกลุ่มประท้วงของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามด้วยกลุ่มที่ประท้วงด้วยสาเหตุได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่กระทบชีวิตและการทำมาหากิน ตามมาด้วยการประท้วงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม การประท้วงของกลุ่มชาตินิยมจีน และท้ายที่สุดกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี แม้ว่าผมจะยกตัวอย่างสาเหตุการประท้วงตามจำนวนครั้งความถี่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มีข้อเท็จจริงว่า หากเอาจำนวนคนที่เข้าร่วมการประท้วงหรือขนาดความยืดเยื้อมาเป็นเกณฑ์ การจัดลำดับก็จะสลับกัน กล่าวคือแบบหลังสุดจะมีผู้ประท้วงถูกระดมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากกว่า

               นอกเหนือจากที่เหล่าผู้นำจีนรุ่นใหม่จะต้องเจอกับการประท้วงแสดงออกของภาคประชาชนด้วยสารพัดสาเหตุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ปัญหาที่น่าปวดหัวที่จะต้องเข้ามาแก้ไขโดยเร่งด่วน ก็คือรูปแบบและนโยบายทางเศรษฐกิจ แม้ว่ากว่า30ปีมานี้จีนจะได้รับความชื่นชมจากนานาชาติว่าได้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนให้มีกินมีใช้ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ดูเหมือนแนวนโยบายการผลิตเพื่อส่งออกและหวังพึ่งตลาดภายนอกจะไม่สามารถเดินต่อไปได้อีกแล้ว อย่างที่ผมเคยนำเสนอไว้เมื่อต้นปีว่า จีนกำลังเจอกับดักรายได้ชั้นกลาง ถ้าจะฝ่าผ่านไปให้ได้ จีนต้องเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ ปัญหาคือจะเปลี่ยนอย่างไรโดยไม่ให้กระทบกับอัตราการเจริญเติบที่จีนต้องการจะพยุงไว้ พร้อมๆกันก็ต้องรักษาสมดุลไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้ ระหว่างคนรวยในเขตเมืองกับคนจนในชนบท(นับจากปี1985ถึงปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำแตกต่างขยับมาอยู่ที่ร้อยละ68) อันอาจนำไปสู่ความวุ่นวายลุกฮือทางการเมืองได้
                  ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานก็เป็นเรื่องใหญ่ที่รอคอยผู้มาแก้ไข วีถีชีวิตและแบบแผนการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์บนท้องถนน ได้กลายเป็นภาระใหญ่ของจีนในการแสวงหาแหล่งพลังงาน พร้อมๆกับต้องคอยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ตามมา การพัฒนาทางอุตสาหกรรมตลอด3ทศวรรษที่ผ่านมา ได้สะสมเอากากพิษอุตสาหกรรมและก่อปัญหามลพิษระยะยาวในสิ่งแวดล้อม รอคอยรัฐบาลชุดใหม่มารับภาระเก็บกวาด จีนอาจต้องเตรียมงบประมาณและใช้เวลาในการเก็บกวาด มากกว่าหรือพอๆกับผลกำไรที่ได้จากการเร่งขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา
                   ท้ายที่สุด ปัญหาใหญ่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและบทบาทของจีนในเวทีโลก ดูเหมือนใครๆก็เชื่อกันว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากันบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในฐานะสองขั้วอำนาจใหญ่ ยิ่งมีข่าวลือกันในแวดวงเศรษฐกิจว่า ปี2016 จีนอาจกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก(หากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปยังแก้ไม่ตก) ก็ยิ่งทำให้นานาชาติจับตามองแบบไม่สู่ไว้วางใจนัก ก่อนหน้านี้ตอนที่เริ่มปฏิรูปเปิดประเทศใหม่ๆ จีนทำอะไรก็ดูดีไปหมด มาตอนนี้พอจีนพัฒนาเจริญไปมาก จะขยับหรือจะออกหน้าทำอะไรในเวทีโลก ก็ดูจะลำบากไปหมด ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นกว่าเดิม สรุปว่าทำตัวลำบากครับ

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผู้นำจีนรุ่นที่ 5

                รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

       ในแวดวงข่าวต่างประเทศ หลังศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกหัวออกก้อยไปแล้ว ข่าวใหญ่ที่ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนนานาชาติต่างเฝ้าจับตามองในลำดับต่อไป คงหนีไม่พ้นเรื่องการผลัดเปลี่ยนผู้นำจีนที่กำลังจะเกิดขึ้นไวๆนี้ ผมเองได้รับการติดต่อจากสถานีวิทยุกระจายเสียงนานาชาติ(CRI)ของจีน ในฐานะที่สนิทคุ้นเคย ให้ร่วมทำหน้าที่ติดตามและแสดงความเห็นผ่านรายการพิเศษของสถานีฯที่จัดขึ้นเพื่อติดตามรายงานผลการประชุม วันพรุ่งนี้ 8 พ.ย. 2012 การประชุมใหญ่สมัชชาแห่งชาติพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่18ก็จะเริ่มขึ้น และหลังจากนั้นอีกไม่นาน โลกก็จะได้เห็นโฉมหน้าของผู้นำจีนรุ่นใหม่ ที่จะกุมชะตากรรมของประเทศที่มีประชากร 1,300 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เพราะในที่ประชุมนี้ จะมีการยืนยันตัวคณะผู้นำพรรคฯชุดใหม่และเลขาธิการพรรคฯ ซึ่งก็จะเข้ารับตำแห่งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคมปีหน้า กระบวนการของพรรคฯและของรัฐบาลในการคัดเลือก และคาดการณ์เกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะขึ้นสู่อำนาจสูงสุด ผมได้เคยนำเสนอไปบ้างแล้วในคอลัมน์นี้   ถ้าจำไม่ผิดก็ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนที่จีนมีการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติสมัยที่11ครั้งที่5และการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนสมัยที่11ครั้งที่5 หรือที่เรียกว่าการประชุมใหญ่สองสภา แต่มาสัปดาห์นี้ หากไม่พูดถึงอีกครั้ง ก็อาจจะกลายเป็นตกข่าว ว่าที่จริง ผู้นำรุ่นใหม่ ใครเป็นใครที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจ เป็นเรื่องที่นานาชาติได้รับรู้และคาดการณ์มาล่วงหน้าร่วมปีแล้ว ถึงนาทีนี้คงแน่นอนแล้วว่า รองประธานาธิบดีนาย สี จิ้นผิง และรองเลขาธิการพรรคฯ(รองนายกฯอันดับที่1)นายหลี่ เคอะเฉียงจะขยับขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของพรรคฯและของรัฐบาลจีน แต่ที่ไม่แน่นักว่าคนทั่วไปจะทราบ ก็คือลึกๆแล้วทั้งสองท่านนี้เป็นใคร ผมก็เลยจะขอนำเอาเรื่องราวของทั้งสองมาขยายสู่ท่านผู้อ่านที่รักในสัปดาห์นี้ ข้อมูลที่ไปค้นคว้าหามา ก็ไม่ได้พิเศษพิสดารอะไรหรอกครับ อาศัยจากสื่อแขนงต่างๆของจีนนั่นเอง ท่านที่รู้มากกว่าผมก็อย่าหัวเราะ ทนๆเอาหน่อยนะครับ
               ท่านรองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่าตามข้อเท็จจริงแม้ชาวจีนเองก็ไม่สู้จะรู้จักท่านลึกนัก อย่าว่าแต่คนไทยอย่างเราๆ สาเหตุสำคัญก็คงเป็นเพราะเงื่อนไขในอดีตที่ทำให้ท่านเป็นคนระมัดระวังตัวและไม่ค่อยแสดงตัวให้ปรากฏเป็นข่าว ทั้งๆที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆไต่ขั้นบันไดอำนาจระดับชาติมานับแต่ปี2002 สี จิ้นผิงเกิดเมื่อ1 มิถุนายน 1953 เป็นบุตรของนาย สี จงซุน ผู้นำกองกำลังปลดปล่อยมณฑลซ่านซีและอดีตรองนายกรัฐมนตรี รองประธานสภาประชาชน อย่างไรก็ดี ครอบครัวสีก็เผชิญชะตากรรมเมื่อนายสี จงซุนถูกปลดจากตำแหน่งและคุมขังในปี1968ในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม ตัวนายสี จิ้นผิงเองก็ถูกส่งตัวไปทำงานหนักในชนบทตามนโยบายประธานฯเหมา ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคและกลับออกมาเรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยชิงหัวอันมีชื่อเสียงในปี1979 หลังจากนั้นก็เริ่มงานเป็นเลขานุการฯลูกน้องเก่าของบิดานาย เกิง เปียว ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกฯและกรรมการเลขาฯกรรมาธิการกองทัพปลดแอกในขณะนั้น จุดนี้เองที่ทำให้ท่านมีประสบการณ์และได้รู้จักผู้คนสำคัญที่เป็นตัวหลักในกองทัพจีน สี จิ้นผิง เริ่มงานในตำแหน่งสำคัญระดับชาติในปี2002เมื่อเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯมณฑลเจ้อเจียงในห่วงระยะเวลาที่มณฑลนี้กำลังขยายตัวเติบโตเต็มที่ การทำงานที่เข้มแข็งและตรงไปตรงมา ทำให้เขาได้กลายเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ปักกิ่งให้ความสนใจ ในปี2007เขาได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นเลขาธิการพรรคฯประจำมหานครเซี่ยงไฮ้อันถือเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่ง แม้จะเป็นตำแหน่งที่ล่อแหลมและถูกจับตามอง แต่สี จิ้นผิงก็ดำเนินนโยบายตรงตามแนวทางของพรรคฯและรัฐบาลอย่างเคร่งครัดรักษาเนื้อรักษาตัวได้ดี จนในคราวประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งที่17ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เขาก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลางพรรค1ใน9คนที่ทรงอำนาจมากที่สุดของประเทศ เดือนมีนาคมปีถัดมา ในที่ประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติครั้งที่11 เขาก็ได้รับความเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีน  และกลายมาเป็นว่าที่ผู้นำจีนสูงสุดของกลุ่มผู้นำรุ่นที่5ในอีกไม่กี่วันนี้
                   สำหรับนาย หลี่ เคอะเฉียง เป็นคนอันฮุยโดยกำเนิด เกิดวันที่1 กรกฎาคม 1955 เข้าเป็นสมาชิกพรรคฯในช่วงปี1974ระหว่างที่ทำงานชนบทตามนโยบายของประธานเหมาในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แทนที่จะดำเนินรอยตามทางของบิดาที่เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในอันฮุย หลี่ตัดสินใจเข้าศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย และต่อมาตำแหน่งเลขาธิการสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในปี1982เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรรมการเลขาธิการสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์แห่งชาติ จุดนี้เองที่ทำให้ หลี่ เคอะเฉียงมีโอกาสทำงานอย่างใกล้ชิดกับหู จินเทา ซึ่งก็เริ่มต้นเส้นทางการเมืองผ่านองค์กรสันนิบาติยุวชนฯ หลี่ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสูงสุดของสันนิบาตยุวชนฯในปี1993-1998 ด้วยอายุเพียง43 ในปี1998 หลี่ได้กลายเป็นผู้ว่าการมณฑลที่อายุน้อยที่สุด เมื่อรัฐบาลกลางแต่งตั้งให้เขารับหน้าที่ผู้ว่าการมณฑลเหอหนาน มณฑลที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศจีน  ผลงานของเขาในเหอหนาน สำหรับสายตาผู้นำในปักกิ่ง ออกไปในทางทั้งดีและร้าย กล่าวคือแม้จะสามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เขาก็เผชิญกับปัญหาหนักๆทางสังคมที่แก้ไขไม่สำเร็จ เช่นปัญหาการแพร่ระบาดขนานใหญ่ของโรคเอดส์ และปัญหาอุบัติเหตุไฟไหม้เหมืองถล่มหลายครั้ง ในปี2004 หลี่ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯมณฑลเหลียวหนิง ในระดับชาติ หลี่ เคอะเฉียงได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่กรรมการกลางของพรรคฯโดยมติที่ประชุมใหญ่สมัชชาพรรคฯครั้งที่17ในเดือนตุลาคมปี2007พร้อมๆกับสี จิ้นผิง แม้ความโดดเด่นและอาวุโสจะคู่คี่กันมากับสี จิ้นผิง ในฐานะทายาททางการเมืองรุ่นที่5ที่จะสืบต่อตำแหน่งของประธานาธิบดีหู จินเทา แต่ผลในที่ประชุมสมัชชาประชาชนปี2008 หลี่ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกฯอันดับหนึ่ง ยุติการคาดเดาต่างๆลง และชัดเจนตั้งแต่บัดนั้นว่าเขาคงก้าวขึ้นแทนเหวิน เจียเป่า ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
                 ประเทศจีนที่ท่านผู้นำทั้งสองและผู้นำอื่นๆในรุ่นที่5จะเข้ารับช่วงปกครองดูแล แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากประเทศจีนที่ผู้นำรุ่นก่อนๆได้เคยบริหารปกครอง มองโลกในทางร้าย จีน ณ ปัจจุบันมีปัญหารอให้แก้ไขเพียบ สภาวะทางเศรษฐกิจที่เขม็งเกลียว เสถียรภาพทางการเมืองภายใน ปัญหาพิพาททางทะเลกับเพื่อนบ้าน จุดยืนที่ถูกท้าทายและจับตามองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งพิสูจน์ฝีมือที่ท้าทายและน่ากลัวสำหรับเหล่าผู้นำรุ่นใหม่ของจีน  ก็ได้แต่รอลุ้นกันไปละครับ

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชุมชนเกษตรกรรมจีนสมัยใหม่ ตอน2

                รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างที่ผมได้เรียนไว้กับท่านผู้อ่านที่รักเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ว่าเรื่องชุมชนเกษตรกรรมสมัยใหม่ของจีน ยังมีความเห็นต่างกันอยู่เป็นสองแนว  แม้ว่าสาเหตุหลักๆของปัญหาในภาคการเกษตรจีนจะเหมือนกัน กล่าวคือว่าได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง20ปีแรก  หัวเมืองทางแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับการกระตุ้นอัดฉีด ทั้งจากนโยบายของรัฐ เงินลงทุนจากภายนอก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปมาก การเติบโตและพัฒนาของเมืองนี่เอง ได้ดึงดูดเอาทรัพยากร แรงงาน และทีดินในภาคการเกษตรเดิม ทำให้สังคมและวิถีการผลิตเดิมในชนบทจีนเปลี่ยนไปมาก ที่เป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆเลยก็คือเรื่องแรงงาน คนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่ยังมีแรงทำงาน ต่างก็มุ่งหน้าเข้าไปเป็นแรงงานอพยพตามหัวเมืองสำคัญที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ไร่นาปศุสัตว์ในชนบทถูกทอดทิ้ง แรงงานผู้สูงอายุที่ยังเหลืออยู่ในชนบท ก็จำทนทำงานกันไปแบบไม่มีอนาคตและไม่มีประสิทธิภาพ
                 ยิ่งไปกว่านั้น มาในระยะหลัง เมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการอพยพออกจากชนบทของบรรดาแรงงานหนุ่มสาว ด้วยการส่งเสริมสร้างงาน ทั้งอุตสาหกรรมขนาดย่อมและบริการในท้องถิ่นให้มากขึ้น ก็เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดย่อมและภาคธุรกิจบริการเกิดใหม่ฝ่ายหนึ่ง กับภาคการเกษตรดั้งเดิมอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องที่ดิน แปลงนาที่เคยอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนเฉพาะหน้าที่ดีกว่า ทำให้พื้นที่หลายแห่งในประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ยิ่งไปกว่านั่น การเร่งส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดเล็กจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดโรงงานหลังบ้านหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็รับโล๊ะเครื่องจักรมือสองและเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลังราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน สิ้นเปลืองพลังงานและก่อให้เกิดปัญหามลพิษกระจายไปในเขตชนบท กระทบไปถึงเรื่องความปลอดภัยในผลผลิตทางเกษตร
                เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอไปแล้วหนึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหาข้างต้น คือการยกระดับและจัดตั้งชุมชนการเกษตรจีน ด้วยการช่วยเหลือของอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ ที่ทุ่มเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เท่าเทียมหรือดีกว่ามาตรฐานในประเทศตะวันตก ทั้งฝึกอบรมเกษตรกร ทั้งจัดการรองรับทางการตลาดเต็มรูปแบบ เกษตรกรรายย่อยเดิมรวมกลุ่มเป็นหน่วยการผลิตเดียว แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เกษตรกรเพียงไม่กี่คนสามารถดูแลฟาร์มขนาดใหญ่ ดูแลไก่ไข่ไก่เนื้อได้เป็นแสนตัว ทำให้แรงงานที่เหลือสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพเสริมอื่นๆได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว จนกลายเป็นต้นแบบที่ชาวจีนกล่าวขานชื่นชมกันมาก
                  แนวทางอีกด้านหนึ่งที่ผมจะขอนำเสนอในสัปดาห์นี้ หากเล่าไปแล้วท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกคุ้นๆ ว่าออกแนวเศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวเกษตรกรรมแบบผสมผสาน โดยมีหลักการสำคัญคือพัฒนาการผลิตของครัวเรือนเกษตรกรขนาดเล็ก ให้กระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตที่หลากหลาย เชื่อมต่อกันทางการตลาดทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่งภายใต้รูปแบบสหกรณ์สมัยใหม่ เป็นทั้งสหกรณ์ผู้บริโภค(คือซื้อกินกันเองภายในกลุ่ม)และสหกรณ์ผู้ผลิต(รวมกันขายของให้คนนอก) แนวทางการพัฒนาการเกษตรแบบนี้ มีที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์นอกกระแสของจีนที่รวมกลุ่มกันในมหาวิทยาลัยต่างๆของจีน หัวหอกสำคัญเป็นนักวิชาการมหาวิทยาลัยเหรินหมิน หรือมหาวิทยาลัยประชาชน มีหน่วยงานของรัฐจำนวนหนึ่งที่สนใจให้การสนับสนุน แต่ไม่ถึงกับทุ่มทุนสร้าง ทำกันแบบเงียบๆค่อยๆขยายตัว หากพิจารณาจากข้อมูลทางวิชาการของกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่ชุมชนการเกษตรของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงไป(แรงงานน้อย อายุมาก ที่ดินขาดแคลน ต้นทุนการผลิตเพิ่ม แหล่งน้ำหายากฯลฯ) แบบแผนการบริโภคผลิตผลทางการเกษตรของสังคมจีนก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน กล่าวคือจากเดิมที่สังคมจีนเน้นการบริโภคธัญพืช เนื้อ ผัก ในสัดส่วน8/1/1 กลายมาเป็น 4/3/3คือบริโภค ธัญพืช4ส่วน เนื้อ3ส่วน ผักผลไม้3ส่วน การผลิตพืชหรือปศุสัตว์เชิงเดี่ยวแบบฟาร์มขนาดใหญ่ ที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีมหาศาล จึงไม่ใช่ทางออกของเกษตรกรจีนในอนาคต เพราะนอกจากจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสังคมชนบทจีน ซึ่งมีที่กันคนละเล็กละน้อย มีแรงงานเหลือติดบ้านแค่1-2คนแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับแบบแผนการบริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย

                    ทางออกของชุมชนเกษตรกรจีนสำหรับอนาคต จึ่งอยู่ที่รูปแบบการผลิตผสมผสานระหว่างการปลูกผักสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปศุสัตว์ผสมหมู เป็ด ไก่ โดยใช้แรงงานในครัวเรือนและเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสมกับแรงงานและขนาดของครัวเรือน เน้นการผลิตแบบออร์แกนนิกแต่ไม่เน้นการลงทุนขนาดใหญ่ แม้อาจฟังดูเสียเปรียบการผลิตแบบจำนวนมากๆ(economy of scale) แต่หากครัวเรือนเกษตรกรจัดตั้งรวมตัวในแนวดิ่งและแนวระนาบ เป็นสหกรณ์ผู้บริโภคดูแลสมาชิกกันเองในการซื้อหาปัจจัยการผลิต สหกรณ์การตลาดรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง สหกรณ์แปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อยืดอายุผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและแข่งขันในตลาดขนาดใหญ่ได้
                   ผมเองต้องบอกตามตรง ว่าชอบทั้งสองแบบ แต่อะไรจะใช่อนาคตของชุมชนเกษตรกรที่ยั่งยืน อันนี้คงต้องให้คนจีนเค้าตัดสินใจกันเอง

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชุมชนเกษตรกรรมจีนสมัยใหม่

รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
            หลายสัปดาห์มานี้ ผมได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตารับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับภาคการเกษตรของจีนในสองเวทีด้วยกัน เวทีแรกเป็นผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาจากนโยบายเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อสังคมในชนบทจีน อีกเวทีหนึ่งเป็นการติดตามผู้ใหญ่ไปรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ของไทย ที่ไปประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีน และได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาภาคการเกษตรตามนโยบาย ชุมชนเกษตรสมัยใหม่ ของรัฐบาลจีน ฟังแล้วก็ได้อารมณ์ไปคนละแบบ ไม่กล้าตัดสินใจว่าอันไหนอะไรเป็นจริงมากกว่ากัน ประกอบกับประเทศจีนก็ใหญ่มากคงยากจะเหมือนกันไปหมด ผมก็เลยขอเชื่อไว้ก่อนว่าที่ไปฟังมาคงถูกทั้งคู่ สัปดาห์นี้จะขอเกริ่นเรื่องและเล่าในส่วนที่สองก่อน สัปดาห์หน้าจะเอาของนักวิชาการมาเสนอเทียบเคียง
            ว่าตามจริงแล้ว นโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรหรือชนบทจีน(อย่างที่ผมเคยเขียนถึงในคอลัมน์นี้) มีที่มาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน สาเหตุหลักๆของปัญหาในภาคการเกษตรจีน อย่างที่คงรับทราบกันดี ว่าได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง20ปีแรก  หัวเมืองทางแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับการกระตุ้นอัดฉีด ทั้งจากนโยบายของรัฐ เงินลงทุนจากภายนอก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปมาก การเติบโตและพัฒนาของเมืองนี่เอง ได้ดึงดูดเอาทรัพยากร แรงงาน และทีดินในภาคการเกษตรเดิม ทำให้สังคมและวิถีการผลิตเดิมในชนบทจีนเปลี่ยนไปมาก ที่เป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆเลยก็คือเรื่องแรงงาน คนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่ยังมีแรงทำงาน ต่างก็มุ่งหน้าเข้าไปเป็นแรงงานอพยพตามหัวเมืองสำคัญที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ไร่นาปศุสัตว์ในชนบทถูกทอดทิ้ง แรงงานผู้สูงอายุที่ยังเหลืออยู่ในชนบท ก็จำทนทำงานกันไปแบบไม่มีอนาคตซังกะตายและไม่มีประสิทธิภาพ ครัวเรือนที่ขาดคนหนุ่มคนสาวหรือหัวหน้าครอบครัวที่จะอยู่ประจำ ก็เกิดปัญหาทางสังคมตามมา ในซีกสังคมเมืองเอง แรงงานอพยพจำนวนมากที่แห่กันเข้าไปหวังจะขุดทองหาเงินส่งกลับบ้าน เอาเข้าจริงก็เผชิญกับปัญหาสารพัดมากกว่าจะเป็นโชคลาภ สภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผน ค่าครองชีพที่สูง การขาดแคลนสวัสดิการที่จำเป็น ในที่สุดก็ก่อปัญหากับสังคมเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่าเป็นปัญหาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชนบทที่ต้นทางหรือเมืองใหญ่ที่ปลายทาง
             มาในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่1990 หลังจากที่ปัญหาการล่มสลายของสังคมชนบทขยายไปทั่วทั้งประเทศจีน หรืออย่างที่รู้จักกันในชื่อ ปัญหาสามเกษตร(ซาน หนง เวิ้น ถี) คือเกษตรกรมีปัญหา การเพาะปลูกมีปัญหา และสังคมชนบทมีปัญหา รัฐบาลจีนได้รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและจ้างงานขึ้นในชนบท เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต้องอพยพออกมากจนเกินไป ภายใต้สโลแกนที่ว่า จากท้องนา แต่ไม่จากบ้านเกิด(หลีถู่ ปู้หลีเซียง) สถาบันการเงินของจีนถูกกำหนดให้ส่งเสริมสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในชนบทมากเป็นพิเศษ รัฐบาลท้องถิ่นก็มีโปรโมชั่นพิเศษอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในชนบทจีน เพราะเป็นที่ทราบดีว่าหนุ่มสาวสมัยใหม่จำนวนมากอพยพเข้าเมืองก็เพราะต้องการหนีออกจากกิจกรรมทำไร่ไถนาในหมู่บ้าน การรณรงค์ให้เกิดวิสาหกิจและการจ้างงานในชนบท เชื่อกันว่าจะสามารถรักษาสังคมชนบทจีนไว้ได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่สามารถพัฒนาภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นก็ตาม
               มาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ชนบทจีนก็เจอเข้ากับปัญหาใหม่(ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเก่าจะหมดไปแล้วนะครับ) กล่าวคือมีการแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นระหว่างภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดย่อมและภาคธุรกิจบริการฝ่ายหนึ่ง กับภาคการเกษตรอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องที่ดิน แปลงนาที่เคยอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนเฉพาะหน้าที่ดีกว่า ทำให้พื้นที่หลายแห่งในประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ยิ่งไปกว่านั่น การเร่งส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดเล็กจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดโรงงานหลังบ้านหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็รับโล๊ะเครื่องจักรมือสองและเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลังราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน สิ้นเปลืองพลังงานและก่อให้เกิดปัญหามลพิษกระจายไปในเขตชนบท กระทบไปถึงเรื่องความปลอดภัยในผลผลิตทางเกษตร การปนเปื้อนสารพิษในอาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานจากโรงงานเล็กโรงงานน้อยทั้งหลาย
                  ในปี2005 ผลจากที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่5สมัยที่16 และที่ประชุมสมัชชาประชาชนในปีถัดมา ได้กำหนดเป็นนโยบายให้รัฐบาลจีนเร่งฟื้นฟู ชุมชนการเกษตรสมัยใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม(เซ่อหุ้ยจู่อวี่ ซินหนงชุน) โดยกำหนดให้มีเป้าหมายสำคัญ5ประการคือ 1) การผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 3) ยกระดับสังคมให้เป็นอารยะ 4) สะอาดปลอดมลพิษ และ 5) บริหารจัดการโดยหลักประชาธิปไตย
                ณ ตรงจุดนี้เอง ที่กลุ่มธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์(หรือที่ในประเทศจีนรู้จักกันดีกว่าภายใต้ชื่อ เจิ้งต้าจี๋ถวน )ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้การสนับสนุน เรียกว่าจัดเต็ม ทั้งลงทุนให้ ทั้งใส่เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เท่าเทียมหรือดีกว่ามาตรฐานในประเทศตะวันตก ทั้งฝึกอบรมเกษตรกร ทั้งจัดการรองรับทางการตลาดเต็มรูปแบบ เกษตรกรรายย่อยเดิมรวมกลุ่มเป็นหน่วยการผลิตเดียว แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เกษตรกรเพียงไม่กี่คนสามารถดูแลฟาร์มขนาดใหญ่ ดูแลไก่ไข่ไก่เนื้อได้เป็นแสนตัว ทำให้แรงงานที่เหลือสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพเสริมอื่นๆได้มากขึ้น เรียกว่ามีรายได้เพิ่มเป็นสองทาง แต่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
                มองในแง่มุมนักวิชาการ ผมเชื่อว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ องค์กรพัฒนาเอกชนแบบในบ้านเรา หรือสายที่เป็นกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง คงมีประเด็นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก เพราะมองว่าเป็นการก้าวไปสู่เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญาและการกินรวบในวงจรการผลิต แต่จากข้อมูลที่ผมสำรวจพบ โครงการทำนองเช่นนี้ในสายตาของเกษตรกรจีน สื่อมวลชนจีน หรือแม้นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์การเกษตรของจีน ได้กลายเป็นต้นแบบที่ได้รับการกล่าวขานยกย่องอย่างมาก ผมเองไม่แน่ใจว่าจนถึงเวลานี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการส่งเสริมช่วยเหลือในทำนองนี้ไปแล้วกี่แห่งในประเทศจีน แต่เท่าที่เห็นผ่านสื่อมวลชนจีนแขนงต่างๆ เดาว่าคงหลายสิบแห่งแล้ว และก็คงใช้เงินไปจำนวนมหาศาล ผมคงขอไม่ไปถกเถียงกันในเชิงวิชาการ เอาแค่ว่าหากถือเป็นกิจกรรมเชิง CSR ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำให้กับสังคมจีน   ผมเชื่อว่างานนี้ได้ผลเกินคุ้มทีเดียว

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จีนกับรางวัลโนเบล

รองศาสตราจารย์พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                   ในซีกโลกตะวันออก หากกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรม ปรัชญาความคิดที่ลึกซึ้ง ตลอดจนความมั่งคั่งของผลงานวรรณกรรม ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักคงเห็นพ้องต้องกันกับผมว่า ทั้งจีนและอินเดียต่างก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้โลกตะวันตก หลายต่อหลายเรื่องทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีอาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ แต่เพราะเงื่อนไขหลายอย่างในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทำโลกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่19เป็นต้นมา อะไรๆดูจะถูกชาติตะวันตกนำหน้าไปเสียหมด เพิ่งจะมาในช่วงสิบกว่าปีหลังนี้เอง ที่สถานการณ์อาจเริ่มเปลี่ยนไป เราเริ่มเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆที่คิดค้นพัฒนาขึ้นโดยประเทศในฝั่งตะวันออก เศรษฐกิจและความมั่งคั่งเริ่มกระจายมาสู่ตะวันออกมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงนักคิดนักเขียนสำคัญของโลกตะวันออกก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
                   เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในงานประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ก็ปรากฏชื่อนาย หม้อ เอวี๋ยน นักคิดนักเขียนคนสำคัญของจีนเจ้าของงานเขียนนวนิยายเรื่อง “กบ” ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรมรวมอยู่ด้วยท่านหนึ่ง  อย่างไรก็ดีผมต้องขอเรียนท่านผู้อ่านที่รักว่า นี่ไม่ใช่ชาวจีนรายแรกที่ได้รางวัลโนเบล เพราะก่อนหน้านี้ในปี2000 เกา สิงเจี้ยน นักประพันธ์ กวี และผู้เขียนบทชาวจีน ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศจีนไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส(ตอนนี้ได้สัญชาติฝรั่งเศสไปแล้ว) ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรม มาในปี2010 หลิว เสี่ยวปอ นักเคลื่อนไหวและต่อสู่ด้านสิทธิมนุษยชนชาวจีน ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เจ้าตัวไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลได้เพราะถูกทางการจีนกักบริเวณควบคุมตัวอยู่ หากพิจารณาจากเงื่อนไขเหล่านี้ กรณีนาย หม้อ เอวี๋ยน จึงเท่ากับเป็นชาวจีนผู้ได้รับรางวัลโนเบลรายแรกที่ประชาชนชาวจีนและรัฐบาลจีนสามารถภาคภูมิใจและร่วมยินดีกับรางวัลดังกล่าวได้อย่างเปิดเผยและเต็มรูปแบบ และเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนทุกแขนงของจีนนำโดยสื่อใหญ่ของรัฐบาล ติดตามนำเสนอข่าวอย่างพร้อมเพรียง สดๆทันทีที่มีการประกาศรายชื่อจากสวีเดน สถานีโทรทัศน์ของรัฐยุติการแพร่ภาพรายการปรกติ ตัดเข้าสู่ข่าวใหญ่ข่าวด่วนสำคัญชิ้นนี้ เสมือนว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวจีนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ์นี้  แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับกรณีการได้รับรางวัลโนเบลของนายเกา สิงเจี้ยน และหลิว เสี่ยวปอ ซึ่งไม่มีสื่อรายได้กล้านำเสนอหรือกล่าวถึง ผมเองเชื่อมั่นเต็มร้อยว่า ในความเข้าใจของสาธารณชนส่วนใหญ่ในประเทศจีน นายหม้อ เอวี๋ยน จัดเป็นคนจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล

              ปรากฏการณ์และปฏิกิริยาในทำนองเช่นนี้ ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะภูมิหลังและผลงานที่สองชาวจีนผู้ได้รับรางวัลโนเบลก่อนหน้านี้ได้ทำเอาไว้ เปรียบได้กับการฉีกหน้ารัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อหน้าผู้คนในเวทีโลก งานเขียนส่วนใหญ่ของเกา สิงเจี้ยน (ในประเทศไทยผมเห็นมีผู้แปลงานวรรณกรรมของท่านอยู่ชิ้นหนึ่ง คือ “ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ”) มุ่งสะท้อนภาพความเหลี่ยมล้ำและปัญหาในประเทศจีนที่เป็นผลิตผลของพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะที่บทบาททางการเมืองของหลิว เสี่ยวปอก็เคลื่อนไหวโจมตีประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน เฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลายปีมานี้ทั้งรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับรางวัลโนเบล ในทำนองว่าเป็นองค์กรที่มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝงและบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศอื่นๆที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างและไม่เห็นด้วยกับเหล่ามหาอำนาจในตะวันตก ผู้ได้รับรางวัลส่วนใหญ่ก็เป็นชาวตะวันตกหรือจากกลุ่มประเทศที่ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจตะวันตก ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงได้เคยทราบข่าวกันมาบ้างว่า จีนถึงกับจัดตั้งรางวัลเชิดชูเกียรติ์ขึ้นมาต่างหากเพื่อประกาศตัวแข่งกับรางวัลโนเบล
                   มาคราวนี้ นาย หม้อ เอวี๋ยน ผู้ได้รับการเชิดชูโนเบลในสาขาวรรณกรรม เป็นสมาชิกของพรรคฯ เป็นอุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีนภายใต้การจัดตั้งของรัฐบาล ผลงานของเขาทั้งหมดเป็นไปในทิศทางของพรรคฯ ได้รับการเชิดชูยกย่องโดยรัฐบาลจีน และได้รับการสนับสนุนเผยแพร่ทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง งานจำนวนมากได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศทั้งโดยสำนักพิมพ์ในต่างประเทศ และโดยการส่งเสริมให้จัดแปลโดยรัฐบาลและองค์กรต่างๆในประเทศจีนเอง งานเขียนชิ้นสำคัญเช่น “ข้าวฟ่างสีแดง” ก็ได้รับการสนับสนุนให้จัดสร้างเป็นภาพยนตร์ซึ่งกำกับโดยจาง อวี้โหมว บอกเล่าเรื่องราวในประเทศจีนนับจากการเข้ายึดครองของผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นจนถึงการสร้างชาติของพรรคคอมมิวนิสต์
                     อันที่จริงการที่นักเขียนชาวจีนได้รับการยกย่องเชิดชูด้วยรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ต้องถือว่าเป็นข่าวดีและเป็นเรื่องดีของคนจีนทั้งประเทศ แต่สำหรับพรรคฯ รัฐบาลและตัวของคุณหม้อ เอวี๋ยนเองอาจจะต้องปรับตัวรับสถานการณ์และคำถามในอนาคต เช่น ตกลงในเวลานี้จีนมีนโยบายหรือท่าทีอย่างไรกับรางวัลโนเบล และจะมีท่าทีอย่างไรกับผู้ที่เคยได้รางวัลนี้มาแล้ว เช่นนาย เกา สิงเจี้ยน และนายหลิว เสี่ยวปอ จะยอมรับและให้การเชิดชูย้อนหลังหรือไม่ จีนยังจะคงส่งเสริมให้มีการสร้างเวทีเชิดชูเกียรติ์คู่ขนานกับรางวัลโนเบลต่อไปอย่างไร หรือตัวนายหม้อ เอวี๋ยนเองจะสามารถสร้างสรรค์งานที่วิพากษ์มากกว่าที่ผ่านมาได้หรือไม่ ฯลฯ ไปๆมาๆอาจกลายเป็นทุกข์ลาภก็ได้ครับ

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ชะตากรรม ปั๋ว ซีไหล

โดย รองศาสตราจารย์พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                           
          เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนเข้าเทศกาลฉลองวันชาติและหยุดยาวของจีน ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากพรรคคอมมิวนีสต์จีนชิ้นสำคัญผ่านสำนักข่าวซินหัว เกี่ยวกับการปลดนาย ปั๋ว ซีไหล ออกจากทุกตำแหน่งในพรรคและกำลังตั้งสำนวนจะดำเนินคดีทางอาญา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่าสื่อสังคมออนไลน์จีนในช่วงหลายวันมานี้ จะเต็มไปด้วยเรื่องราวแง่มุมต่างๆที่สาธารณชนจีนพากันเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ฝากคอมเม้นท์ไว้เยอะมาก จนกลายเป็นข้อหัวข้อพูดคุยหลักในทุกวงการ แม้ว่าเรื่องราวชะตากรรมทางการเมืองที่พลิกผันของอดีตสมาชิกพรรคหนุ่มใหญ่ไฟแรงอนาคตสดใสท่านนี้ จะเริ่มปรากฏออกมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่ในประเทศไทยเรา เรื่อง ปั๋ว ซีไหล เป็นใคร ไปทำอะไรเข้า ถึงได้ตกต่ำมายังจุดนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นคอข่าวสายจีนแท้ๆ อาจไม่ทราบเรื่องมากนัก หรืออาจทราบจากรายงานข่าวต่างประเทศเพียงว่าภรรยาถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต(ข่าวว่าอาจลดหย่อนเหลือ15ปี)ไปแล้วก่อนหน้านี้ ในข้อหาบงการใช้ยาพิษฆ่านักธุรกิจชาวอังกฤษรายหนึ่ง ก็เลยพลอยทำให้สามีเดือดร้อนไปด้วย แต่สำหรับคอข่าวขาเม้าท์ในประเทศจีน เรื่องราวอาจไม่ได้เรียบๆง่ายๆเช่นนั้น วันนี้ผมเลยจะชวนท่านผู้อ่านไปรวมแจมข่าวกะเขาหน่อย เพื่อให้เรารู้จักการเมืองภายในของจีนเพิ่มขึ้นอีกนิด
                            ผมเองเคยมีโอกาสร่วมคณะไปกับรองนายกฯของไทยท่านหนึ่งเดินทางไปเยือนจีน และก็ได้พบกับนายปั๋ว ซีไหล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชของจีน จำได้ว่าทุกคนที่ร่วมไปในคณะต่างชื่มชมและรู้สึกว่ารัฐมนตรีหนุ่มใหญ่ไฟแรงท่านนี้อนาคตไปไกลแน่ เพราะทราบกันดีว่านอกจากจะมีทั้งพ่อตัวและพ่อตา(อดีตทหารในกองทัพปฏิวัติ)เป็นเบอร์ใหญ่ทรงอิทธิพลในพรรคแล้ว ยังได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือฝีมือมากจากท่านอดีตประธานาธิปดีเจียง อนาคตทางการเมืองอย่างไรเสียก็ต้องก้าวเข้าสู่ตำแหน่งในคณะกรรมการกลางของพรรคฯแน่  แล้วจู่ๆหลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้ทราบข่าวว่าท่านถูกส่งตัวไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯนครฉงชิ่ง อันทำให้เกิดกระแสคาดเดาไปทั้งในทางดีและทางร้าย บ้างก็ว่านี่เป็นสัญลักษณ์การปรับเปลี่ยนที่จะยกสถานะทางการเมือง บ้างก็ว่าลดขั้นจากรัฐมนตรีไปเป็นเลขาธิการพรรคฯระดับมหานคร ถือเป็นการลงโทษ จนต่อมาเมื่อปีที่แล้ว ข่าวในทางร้ายของนายปั๋ว ก็เพิ่มมากขึ้น ด้วยข่าวลือเรื่องพฤติการณ์โหดเหี้ยมที่เขากระทำต่ออดีตภรรยาและลูก(จนเมียเก่าต้องออกมาแฉและเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ใหญ่ในพรรค) ตามมาด้วยข่าวลูกจากภรรยาคนที่สองซึ่งศึกษาอยู่ต่างประเทศประพฤติตัวไม่เหมาะสม ทำตัวเป็นลูกเศรษฐีเพลย์บอยควงสาวฝรั่งออกงานไม่เว้นแต่ละวัน
                        
                กระแสข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลากว่าปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นปัญหาอึดอัดใจของผู้นำพรรคฯและรัฐบาลที่ปักกิ่ง เกิดอาการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก จนท้ายที่สุดข่าวคดีใหญ่แห่งปีก็ถูกเปิดเผย เมื่อการเสียชีวิตของนักธุรกิจต่างชาติชาวอังกฤษในมหานครฉงชิ่งที่เชื่อกันว่าใกล้ชิดสนิทสนมกับครอบครัวนายปั๋ว ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นฝีมือบงการวางยาโดยมาดามกู่ ไคไหล ภรรยาของนายปั๋ว อีกทั้งคดีนี้ในชั้นการสอบสวนยังเชื่อกันว่าเชื่อมโยงกับการหักหลังทางธุรกิจ และการคอรัปชั่นขนานใหญ่ในแวดวงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลท้องถิ่นของมหานครฉงชิ่ง ข่าวฉาวโฉ่นี้เกิดขึ้นในห่วงเวลาเดียวกับที่จีนกำลังจะดำเนินการถ่ายโอนอำนาจจากผู้บริหารเดิมสู่ชุดใหม่ และแน่นอนว่าจะต้องกระทบกับภาพรวมความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพของพรรคฯ หากบรรดาผู้มีอำนาจในปักกิ่งไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับนายโป่ว ให้ชัดเจนลงไป
                      การตัดสินใจล่าสุดในการดำเนินคดีกับนางกู่ ไคไหล และการปลดนายปั๋วออกจากตำแหน่งต่างๆในพรรคฯ จึงอาจมองได้ว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญแข่งกับเวลา ก่อนที่ความเสียหายจะขยายตัวและกระทบต่อการถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศครั้งสำคัญ อย่างน้อยก็เชื่อกันว่าจะทำให้เกิดความชัดเจนและยุติความขัดแย้งของบรรดาผู้อาวุโสในพรรคเกี่ยวกับกรณีชะตากรรมของนายปั๋ว ใครเป็นใครในการจัดแถวโยกย้ายสับเปลี่ยนเข้าสู่อำนาจ หรือจะขยับเลื่อนใครขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญทดแทนกัน ก็จะได้ดำเนินการได้ทันการประชุมใหญ่ของพรรคฯในวันที่ 8 พ.ย. ที่จะถึงนี้ พูดง่ายๆก็คือต้องจัดการก้าวข้ามปัญหาของนายปั๋วไปให้ได้ โดยไม่กระทบต่อสายอำนาจและภาพลักษณ์ของพรรคฯและรัฐบาลจีน
                      แม้ปัญหากับพรรคฯและรัฐบาลจีนจะดูเหมือนจบลงได้ แต่ปัญหาของนายปั๋วอาจยังไม่จบ เพราะมีกระแสข่าวว่าพรรคฯคงต้องดำเนินการกับนายปั๋วให้ถึงที่สุด นอกเหนือจากข้อกล่าวหาว่าอาจมีส่วนร่วมรู้เห็นกับการฆาตกรรมนักธุรกิจชาวอังกฤษ ตัวนายปั๋ว ภรรยา ผบ.ตำรวจฉงชิ่ง และบรรดานักธุรกิจของฉงชิ่งที่ใกล้ชิดอาจกำลังต้องเจอข้อหาการทุจริตและการรับสินบนจำนวนมาก(รวมหลายร้อยล้านหยวน) นอกจากนี้ นายปั๋วยังถูกร้องเรียนถึงความประพฤติที่ทำให้พรรคฯเสื่อมเสีย เช่นถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับสาวๆนับสิบคน ลือกันว่ามีคำสั่งจากพรรคให้เช็คบิลย้อนหลังตั้งแต่เมื่อคราวไปเป็นผู้ว่าเมืองต้าเหลียน ตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิช ยาวมาถึงการดำรงตำแหน่ง5ปีที่มหานครฉงชิ่ง งานนี้เรียกว่าจะเอากันให้หมดข้อกังขา เพื่อให้บรรดาผู้อาวุโสในพรรคบางคนที่ยังอาจเห็นแก่ความหลังและคอยช่วยนายโป่ว สามารถตัดใจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปรามพวกบรรดาเหล่า “องค์ชาย” ของพรรค(ลูกหลานสมาชิกพรรคอาวุโสที่อาศัยบารมีพ่อแสวงหาอำนาจ เงินทอง และตำแหน่ง) ให้เห็นเป็นตัวอย่าง

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

บทบาทสื่อทางสังคมกับปัญหาพิพาทจีน-ญี่ปุ่น


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 
          ผมเชื่อว่าหลายวันมานี้ ท่านผู้อ่านซึ่งติดตามข่าวสารต่างประเทศ คงได้เห็นพัฒนาการความขัดแย้งจากกรณีพิพาทหมู่เกาะทางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่น ขยายตัวรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรื่องราวความเป็นมาของกรณีพิพาททางทะเลนี้ คงเป็นที่รับรู้อยู่แล้วจากสื่อแขนงต่างๆ รายละเอียดผมเลยจะข้อข้ามไปก่อน แต่มีประเด็นติดใจและเป็นประเด็นที่ผมไม่แน่ใจว่าจะได้มีใครทำการวิเคราะห์ศึกษากันบ้างแล้วหรือไม่ค้างคาอยู่สองเรื่อง สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านคุยเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมและกระเสการประท้วงญี่ปุ่นที่กำลังระบาดไปตามหัวเมืองต่างๆในประเทศจีน ว่ามีที่มาและขยายไปทั่วได้อย่างไร

            เรื่องที่หนึ่ง ภาพชาวจีนวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ แห่กันเข้าไปทุบตีทำลายข้าวของตู้กระจกในห้างร้านที่จำหน่ายของนำเข้าจากญี่ปุ่น ภาพฝูงชนชาวจีนนับร้อยๆบุกเข้าไปในสถานกงสุลญี่ปุ่นที่เมืองกวางโจว เซี้ยงไฮ้ ภาพการจุดไฟเผารถยนต์ยี่ห้อญี่ปุ่นบนท้องถนนฯลฯ ได้กลายเป็นภาพที่มีการส่งต่อกันมากมายที่สุดในประวัติการใช้งานประเภทเดียวกันนี้ ในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนที่เรียกว่า“วุยป๋อ”(เป็นไมโครบล็อกแบบเดียวกันทวิทเตอร์สัญชาติจีนในเครือ Sina.com ซึ่งเชื่อว่าชาวจีนใช้กันแพร่หลายมากที่สุด) บางภาพเช่นการทุบทำลายรถยนต์โตโยต้า มีการส่งต่อกันมากว่า120ล้านครั้ง สโลแกนต่อต้านไม่ซื้อ ไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น ถูกแชร์ส่งต่อทั้งในวุยป๋อและไมโคร บล๊อคสายพันธุ์อื่นๆรวมกว่า160ล้านครั้ง นับตั้งแต่เริ่มมีประเด็นเรื่องรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจะซื้อที่ดินบนเกาะเล็ก3แห่ง รอบๆเกาะเตี่ยวหยู (ซิกากุ ในชื่อญี่ปุ่น)จากเอกชนญี่ปุ่นที่ครอบครองอยู่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากนับเอาความเคลื่อนไหวต่างๆเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างจีน-ญี่ปุ่นในคราวนี้ สิ่งหนึ่งที่แลเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การแพร่ระบาดของข่าวสารและความคิดเห็นของผู้คนชาวจีน(แผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง และจากโพ้นทะเล)ที่ดุเดือดมากมายกว่าทุกๆครั้งและทุกๆเหตุการณ์ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่เป็นข้อความและรูปภาพ นับเนื่องจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ23ปีที่แล้ว นานาชาติที่ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน คงยังไม่เคยมีใครได้พบเห็นการชุมนุมประท้วงกลางถนนที่มีผู้คนชาวจีนมากมาย และแผ่ขยายไปในแปดสิบกว่าหัวเมืองเท่าในครั้งนี้ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปรกติอย่างยิ่งในสังคมจีน ในขณะเดียวกัน ผู้ที่รู้จักกลไกการควบคุมเซ็นเซอร์คัดกรองสื่อของจีนดี ก็ต้องประหลาดใจที่เห็นข่าวสารข้อมูลอันส่อไปในทางรุนแรง หรือชักชวนปลุกระดมให้ออกไปก่อความรุนแรง ถูกส่งต่อกระจายข่าวตามสื่อทางสังคมผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างเสรี ปราศจากปิดกันคัดกรองของเจ้าหน้าที่รัฐได้กว้างขวางอิสระขนาดนี้มาก่อน ปัญหาที่นักวิชาการและผู้เฝ้าติดตามประเทศจีนกำลังงงกันก็คือ เกิดอะไรขึ้นในประเทศจีน ปรากฏการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ หากว่าไปตามวัฒนธรรมทางการเมืองปรกติแบบจีน ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เว้นแต่ผู้มีอำนาจในปักกิ่งเจตนาให้เกิดขึ้น

            เรื่องที่สอง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและประเทศต่างๆ เกี่ยวกับเขตแดนในหมู่เกาะทะเลจีน ทั้งทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่ามีมาแล้วโดยตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน เฉพาะกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี่ยวหยูกับญี่ปุ่น ก็ต้องเรียกว่าเป็นมหากาพย์ตั้งแต่ปี1970เดี๋ยวๆก็ปะทุขึ้นมาทีหนึ่ง แต่ทุกครั้งจีนก็ปรามคู่พิพาทด้วยการแสดงแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า แล้วเรื่องก็เงียบไป เหตุใดมาคราวนี้ เรื่องราวข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะแห่งนี้ จึงได้กลายมาเป็นกระแสประท้วงโดยประชาชนชาวจีนขนานใหญ่ ลุกลามจนดูเหมือนสองชาติกำลังเดินเข้าสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจีนเองในความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ ก็ดูเหมือนจะแข็งกร้าวกว่าทุกครั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจีนคุ้มครองผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในประเทศจีน และขู่จะให้จีนรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น จนดูกลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างกดดันซึ่งกันและกันจนพากันติดกับเข้าสู่ทางตันของความขัดแย้ง ล่าสุดขณะที่กำลังเคาะต้นฉบับอยู่นี้ ก็เห็นข่าวว่าโรงงานของญี่ปุ่นกว่าสิบแห่งได้ตัดสินใจปิดโรงงานไปแล้ว อีกทั้งมีชาวญี่ปุ่นระดับผู้บริหารจำนวนมาก เดินทางออกจากประเทศจีนไปเรียบร้อย เหตุหลักๆนอกจากปัญหาประท้วงแล้ว วันอังคารที่18กันยายน ยังเป็นวันครบรอบการที่กองทัพญี่ปุ่นกรีฑาเข้ายึดครองประเทศจีนตอนบนในปี1932 เลยเกรงกันว่าเหตุการณ์จะยิ่งรุนแรงหนักขึ้น ความขัดแย้งและปฏิกิริยาโต้ตอบไปมาของทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นในบรรยากาศที่ผิดปรกติยิ่ง จนทำให้อาจคิดไปได้ว่าอาจมีเจตนาแอบแฝง กระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นและปล่อยให้แพร่ขยายไปอย่างปราศจากการควบคุมในคราวนี้ อาจมีที่มาที่มากกว่าประเด็นพิพาทหมู่เกาะเตี่ยวหยู  ทั้งรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น ต่างก็กำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ การจะยอมอ่อนข้อเจรจาโดยสันติ อาจเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอที่จะไม่เป็นผลดีกับตัวผู้นำที่กำลังจะลงจากอำนาจ ในขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดปัญหาเผือกร้อนลูกใหญ่โยนใส่ผู้นำชุดใหม่ที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปีหน้า ในเวลาเดียวกันก็มีคนใจร้ายวิเคราะห์เลยเถิดไปถึงขั้นว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งกับจีนและญี่ปุ่น อาจจำเป็นต้องมีปัญหาพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ เข้ามาคั่นบรรยากาศหรือเบี่ยงเบนปัญหาไปชั่วคราว
                   ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชัดเจนว่าบัดนี้สื่อสังคมออนไลน์ของจีน ได้เข้ามามีบทบาทชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากอย่างยิ่ง หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว อาจจะมีผลกว้างขวางกว่าปรากฏการณ์ทวิตเตอร์กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลางก่อนหน้านี้ ผมเองก็ได้แต่ภาวนาให้เหตุการณ์สงบโดยไว ก่อนที่สื่อออนไลน์แบบวุยป๋อ จะกลายมาเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลจีนเองในอนาคต