ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จีนภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5


รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                   หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้แนะนำผู้บริหารที่กำลังจะก้าวขึ้นมาปกครองประเทศจีนในรุ่นที่5 ก็ปรากฏว่ามีแฟนประจำต่อว่ามา อยากให้ขยายความที่ทิ้งท้ายไว้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น สำหรับคนที่เขียนคอลัมน์สัปดาห์ละครั้งอย่างผม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้ทราบว่ามีท่านผู้อ่านที่รักติดตามคอลัมน์นี้อย่างเอาจริงเอาจัง ฉะนั้นไม่ว่าท่านขออะไรมา หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผมก็จะสนองตอบทันทีครับ คราวนี้เลยจะขอชวนท่านผู้อ่านคุยต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนที่ทิ้งท้ายว่าประเทศจีนภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่ มีปัญหาท้าทายรออยู่มาก ตกลงได้แก่ปัญหาอะไรบ้าง

                     สดๆร้อนๆเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนหนึ่งคงได้ทราบข่าวการประท้วงที่เมืองหนิงปอ ชาวเมืองหลายพันคนออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ประท้วงต่อต้านโครงการก่อสร้างขยายโรงงานปิโต-เคมี ต่อเนื่องอยู่3วันเต็ม แม้จะลงเอยด้วยการที่รัฐบาลท้องถิ่นสั่งชะลอโครงการก่อสร้างออกไป แต่ก็ปรากฏว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นในระหว่างการประท้วง และมีประชาชนถูกจับตัวไปกว่า50คน กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมากในโลกออนไลน์ของจีน หากนับเนื่องจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี1989เป็นต้นมา ประเทศจีนได้พบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการแสดงออกอย่างเปิดเผยของภาคประชาชน เหตุการณ์ประท้วงมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี แม้ว่าในมุมมองนักวิชาการตะวันตกจะเห็นเป็นพัฒนาการปรกติของสังคมจีนที่มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น อันสืบเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คนชั้นกลางในเขตเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ภายใต้การปกครองอย่างเข้มงวดของพรรคฯในอดีต ก็เลยอยากมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดทิศทางของบ้านเมืองที่จะกระทบกับชีวิตของเขา ทว่าในข้อเท็จจริง ไม่เฉพาะแต่ในเขตเมืองเท่านั้นที่มีการเดินขบวนประท้วง เกษตรกรในเขตชนบทและกลุ่มผู้ใช้แรงงานชั้นล่าง จำนวนการประท้วงและลุกฮือต่อต้านการใช้อำนาจของทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและกิจการลงทุนของเอกชน ก็ปรากฏมีความถี่เพิ่มมากขึ้น ตัวเลขจากนักวิชาการจีนเอง(สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ที่ปักกิ่ง)ประมวลไว้ว่าขยายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 8,700 กว่ากรณีประท้วงในปี1993 เพิ่มเป็นเกือบ9พันกรณีในปี1995 และกลายมาเป็น180,000กว่ากรณีในปี2010 อันนี้หมายถึงการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นร้อยเป็นพัน มีการเดินขบวน มีการปราศรัยโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐหรือคู่ขัดแย้ง รวมไปถึงมีการใช้กำลังขว้างปาทำลายข้าวของฯลฯ
                       ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ชัดเจนว่าส่วนหนึ่งมีที่มาจากแกนนำที่เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษาดี มีความคิดอ่านเป็นประชาธิปไตย รู้เห็นเรื่องราวตัวอย่างจากต่างประเทศ แต่หากได้วิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว เราอาจพบได้ว่ากลุ่มที่ประท้วงนั้น มีอยู่หลายพวกด้วยกัน และด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ในที่นี้ผมจะขอไล่ประเภทจากเหตุประท้วงที่มีความถี่สูงลงไปหาความถี่ต่ำดังนี้ ที่มากที่สุดคือกลุ่มประท้วงเรื่องที่ดินในเขตชนบท ทั้งด้วยเหตุโดนไล่ที่ หรือด้วยเหตุไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน กลุ่มนี้มีมากถึงร้อยละ65จาก180,000เหตุการณ์ในปี2010 ถัดมาเป็นกลุ่มประท้วงของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามด้วยกลุ่มที่ประท้วงด้วยสาเหตุได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่กระทบชีวิตและการทำมาหากิน ตามมาด้วยการประท้วงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม การประท้วงของกลุ่มชาตินิยมจีน และท้ายที่สุดกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี แม้ว่าผมจะยกตัวอย่างสาเหตุการประท้วงตามจำนวนครั้งความถี่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มีข้อเท็จจริงว่า หากเอาจำนวนคนที่เข้าร่วมการประท้วงหรือขนาดความยืดเยื้อมาเป็นเกณฑ์ การจัดลำดับก็จะสลับกัน กล่าวคือแบบหลังสุดจะมีผู้ประท้วงถูกระดมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากกว่า

               นอกเหนือจากที่เหล่าผู้นำจีนรุ่นใหม่จะต้องเจอกับการประท้วงแสดงออกของภาคประชาชนด้วยสารพัดสาเหตุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ปัญหาที่น่าปวดหัวที่จะต้องเข้ามาแก้ไขโดยเร่งด่วน ก็คือรูปแบบและนโยบายทางเศรษฐกิจ แม้ว่ากว่า30ปีมานี้จีนจะได้รับความชื่นชมจากนานาชาติว่าได้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนให้มีกินมีใช้ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ดูเหมือนแนวนโยบายการผลิตเพื่อส่งออกและหวังพึ่งตลาดภายนอกจะไม่สามารถเดินต่อไปได้อีกแล้ว อย่างที่ผมเคยนำเสนอไว้เมื่อต้นปีว่า จีนกำลังเจอกับดักรายได้ชั้นกลาง ถ้าจะฝ่าผ่านไปให้ได้ จีนต้องเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ ปัญหาคือจะเปลี่ยนอย่างไรโดยไม่ให้กระทบกับอัตราการเจริญเติบที่จีนต้องการจะพยุงไว้ พร้อมๆกันก็ต้องรักษาสมดุลไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้ ระหว่างคนรวยในเขตเมืองกับคนจนในชนบท(นับจากปี1985ถึงปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำแตกต่างขยับมาอยู่ที่ร้อยละ68) อันอาจนำไปสู่ความวุ่นวายลุกฮือทางการเมืองได้
                  ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานก็เป็นเรื่องใหญ่ที่รอคอยผู้มาแก้ไข วีถีชีวิตและแบบแผนการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์บนท้องถนน ได้กลายเป็นภาระใหญ่ของจีนในการแสวงหาแหล่งพลังงาน พร้อมๆกับต้องคอยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ตามมา การพัฒนาทางอุตสาหกรรมตลอด3ทศวรรษที่ผ่านมา ได้สะสมเอากากพิษอุตสาหกรรมและก่อปัญหามลพิษระยะยาวในสิ่งแวดล้อม รอคอยรัฐบาลชุดใหม่มารับภาระเก็บกวาด จีนอาจต้องเตรียมงบประมาณและใช้เวลาในการเก็บกวาด มากกว่าหรือพอๆกับผลกำไรที่ได้จากการเร่งขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา
                   ท้ายที่สุด ปัญหาใหญ่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและบทบาทของจีนในเวทีโลก ดูเหมือนใครๆก็เชื่อกันว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากันบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในฐานะสองขั้วอำนาจใหญ่ ยิ่งมีข่าวลือกันในแวดวงเศรษฐกิจว่า ปี2016 จีนอาจกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก(หากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปยังแก้ไม่ตก) ก็ยิ่งทำให้นานาชาติจับตามองแบบไม่สู่ไว้วางใจนัก ก่อนหน้านี้ตอนที่เริ่มปฏิรูปเปิดประเทศใหม่ๆ จีนทำอะไรก็ดูดีไปหมด มาตอนนี้พอจีนพัฒนาเจริญไปมาก จะขยับหรือจะออกหน้าทำอะไรในเวทีโลก ก็ดูจะลำบากไปหมด ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นกว่าเดิม สรุปว่าทำตัวลำบากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น