ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชุมชนเกษตรกรรมจีนสมัยใหม่ ตอน2

                รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างที่ผมได้เรียนไว้กับท่านผู้อ่านที่รักเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ว่าเรื่องชุมชนเกษตรกรรมสมัยใหม่ของจีน ยังมีความเห็นต่างกันอยู่เป็นสองแนว  แม้ว่าสาเหตุหลักๆของปัญหาในภาคการเกษตรจีนจะเหมือนกัน กล่าวคือว่าได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง20ปีแรก  หัวเมืองทางแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับการกระตุ้นอัดฉีด ทั้งจากนโยบายของรัฐ เงินลงทุนจากภายนอก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปมาก การเติบโตและพัฒนาของเมืองนี่เอง ได้ดึงดูดเอาทรัพยากร แรงงาน และทีดินในภาคการเกษตรเดิม ทำให้สังคมและวิถีการผลิตเดิมในชนบทจีนเปลี่ยนไปมาก ที่เป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆเลยก็คือเรื่องแรงงาน คนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่ยังมีแรงทำงาน ต่างก็มุ่งหน้าเข้าไปเป็นแรงงานอพยพตามหัวเมืองสำคัญที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ไร่นาปศุสัตว์ในชนบทถูกทอดทิ้ง แรงงานผู้สูงอายุที่ยังเหลืออยู่ในชนบท ก็จำทนทำงานกันไปแบบไม่มีอนาคตและไม่มีประสิทธิภาพ
                 ยิ่งไปกว่านั้น มาในระยะหลัง เมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการอพยพออกจากชนบทของบรรดาแรงงานหนุ่มสาว ด้วยการส่งเสริมสร้างงาน ทั้งอุตสาหกรรมขนาดย่อมและบริการในท้องถิ่นให้มากขึ้น ก็เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดย่อมและภาคธุรกิจบริการเกิดใหม่ฝ่ายหนึ่ง กับภาคการเกษตรดั้งเดิมอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องที่ดิน แปลงนาที่เคยอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนเฉพาะหน้าที่ดีกว่า ทำให้พื้นที่หลายแห่งในประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ยิ่งไปกว่านั่น การเร่งส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดเล็กจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดโรงงานหลังบ้านหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็รับโล๊ะเครื่องจักรมือสองและเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลังราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน สิ้นเปลืองพลังงานและก่อให้เกิดปัญหามลพิษกระจายไปในเขตชนบท กระทบไปถึงเรื่องความปลอดภัยในผลผลิตทางเกษตร
                เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอไปแล้วหนึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหาข้างต้น คือการยกระดับและจัดตั้งชุมชนการเกษตรจีน ด้วยการช่วยเหลือของอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ ที่ทุ่มเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เท่าเทียมหรือดีกว่ามาตรฐานในประเทศตะวันตก ทั้งฝึกอบรมเกษตรกร ทั้งจัดการรองรับทางการตลาดเต็มรูปแบบ เกษตรกรรายย่อยเดิมรวมกลุ่มเป็นหน่วยการผลิตเดียว แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เกษตรกรเพียงไม่กี่คนสามารถดูแลฟาร์มขนาดใหญ่ ดูแลไก่ไข่ไก่เนื้อได้เป็นแสนตัว ทำให้แรงงานที่เหลือสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพเสริมอื่นๆได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว จนกลายเป็นต้นแบบที่ชาวจีนกล่าวขานชื่นชมกันมาก
                  แนวทางอีกด้านหนึ่งที่ผมจะขอนำเสนอในสัปดาห์นี้ หากเล่าไปแล้วท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกคุ้นๆ ว่าออกแนวเศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวเกษตรกรรมแบบผสมผสาน โดยมีหลักการสำคัญคือพัฒนาการผลิตของครัวเรือนเกษตรกรขนาดเล็ก ให้กระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตที่หลากหลาย เชื่อมต่อกันทางการตลาดทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่งภายใต้รูปแบบสหกรณ์สมัยใหม่ เป็นทั้งสหกรณ์ผู้บริโภค(คือซื้อกินกันเองภายในกลุ่ม)และสหกรณ์ผู้ผลิต(รวมกันขายของให้คนนอก) แนวทางการพัฒนาการเกษตรแบบนี้ มีที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์นอกกระแสของจีนที่รวมกลุ่มกันในมหาวิทยาลัยต่างๆของจีน หัวหอกสำคัญเป็นนักวิชาการมหาวิทยาลัยเหรินหมิน หรือมหาวิทยาลัยประชาชน มีหน่วยงานของรัฐจำนวนหนึ่งที่สนใจให้การสนับสนุน แต่ไม่ถึงกับทุ่มทุนสร้าง ทำกันแบบเงียบๆค่อยๆขยายตัว หากพิจารณาจากข้อมูลทางวิชาการของกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่ชุมชนการเกษตรของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงไป(แรงงานน้อย อายุมาก ที่ดินขาดแคลน ต้นทุนการผลิตเพิ่ม แหล่งน้ำหายากฯลฯ) แบบแผนการบริโภคผลิตผลทางการเกษตรของสังคมจีนก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน กล่าวคือจากเดิมที่สังคมจีนเน้นการบริโภคธัญพืช เนื้อ ผัก ในสัดส่วน8/1/1 กลายมาเป็น 4/3/3คือบริโภค ธัญพืช4ส่วน เนื้อ3ส่วน ผักผลไม้3ส่วน การผลิตพืชหรือปศุสัตว์เชิงเดี่ยวแบบฟาร์มขนาดใหญ่ ที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีมหาศาล จึงไม่ใช่ทางออกของเกษตรกรจีนในอนาคต เพราะนอกจากจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสังคมชนบทจีน ซึ่งมีที่กันคนละเล็กละน้อย มีแรงงานเหลือติดบ้านแค่1-2คนแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับแบบแผนการบริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย

                    ทางออกของชุมชนเกษตรกรจีนสำหรับอนาคต จึ่งอยู่ที่รูปแบบการผลิตผสมผสานระหว่างการปลูกผักสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปศุสัตว์ผสมหมู เป็ด ไก่ โดยใช้แรงงานในครัวเรือนและเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสมกับแรงงานและขนาดของครัวเรือน เน้นการผลิตแบบออร์แกนนิกแต่ไม่เน้นการลงทุนขนาดใหญ่ แม้อาจฟังดูเสียเปรียบการผลิตแบบจำนวนมากๆ(economy of scale) แต่หากครัวเรือนเกษตรกรจัดตั้งรวมตัวในแนวดิ่งและแนวระนาบ เป็นสหกรณ์ผู้บริโภคดูแลสมาชิกกันเองในการซื้อหาปัจจัยการผลิต สหกรณ์การตลาดรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง สหกรณ์แปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อยืดอายุผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและแข่งขันในตลาดขนาดใหญ่ได้
                   ผมเองต้องบอกตามตรง ว่าชอบทั้งสองแบบ แต่อะไรจะใช่อนาคตของชุมชนเกษตรกรที่ยั่งยืน อันนี้คงต้องให้คนจีนเค้าตัดสินใจกันเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น