ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

พยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจีน 2011

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


              เหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่นักสื่อสารมวลชน หรืออาจจะเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์โดยทั่วไปก็แล้วแต่จะวิเคราะห์กัน  เวลาเปลี่ยนผ่านช่วงรอยต่อสำคัญๆ มักถือกันว่าเป็นจังหวะเหมาะที่จะทบทวนเรื่องราวที่ผ่านไป และรวบรวมกำลังกายกำลังใจเตรียมตัวเดินหน้าไปสู่อนาคต  ปีใหม่ก็คงเป็นหนึ่งในจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำคัญ  ที่ผมรำพึงรำพันมานี้ ก็เป็นเพราะเปิดดูหนังสือพิมพ์ของจีนหลายวันติดต่อกันมา เจอแต่สกู๊ปพิเศษ สัมภาษณ์นักธุรกิจ นักวิชาการ ซีอีโอใหญ่ท่านนั้นท่านนี้ เพื่อสอบถามแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนในปี 2011 ทำให้นึกถึงการไหว้เจ้าส่งท้ายปีและดูดวงปีใหม่ที่ชาวจีนนิยมปฏิบัติกัน เพียงแต่หมดดูเที่ยวนี้ เป็นหมอพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ อันได้แก่บรรดานักธุรกิจระดับบิ๊กและกูรูในสถาบันวิเคราะห์วิจัยทั้งหลาย สองสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอเหตุการณืสำคัญในรอบปีไปแล้ว คราวนี้ก็จะขออนุญาติท่านผู้อ่านที่รัก รวบรวมประเด็นนำเสนอแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่น่าจะเป็นในปี2011นี้ ตามที่บรรดาเซียนเศรษฐกิจทั้งหลายของจีนพยากรณ์กันไว้ ก็คงไม่สามารถกวาดได้ครบทั้งหมดหรอกครับ จะขอนำเสนอเฉพาะประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ครับ



                 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนคงเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนทั้งฝรั่งและจีนต่างก็อยากรู้กันว่าทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร จะขยายตัวร้อนแรงเช่นเดิม จะชลอตัว หรือจะหดตัวลง  ที่ห่วงกันมากก็เพราะนโยบายขึ้นดอกเบี้ยที่เพิ่งประกาศไปสดๆร้อน บวกกับเงินเฟ้อติดต่อกัน 4-5เดือนก่อนสิ้นปี จีนจะยังสามารถขยายการลงทุนและกระตุ้นการบริโภคภายในอยู่ได้หรือไม่  ตามความเห็นของท่านรองประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจบรรษัทหลักทรัพย์ Min Sheng พยากรณ์ไว้ว่าปี 2011 จะเป็นปี Soft Landing ของเศรษฐกิจและการลงทุนของจีน และจะส่งผลให้ GDP ของจีนลดลงจากปี 2010ไม่น้อยกว่าร้อยละ1 ด้วยสาเหตุหลักๆ 3 ประการคือ สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นของบริษัทต่างๆ การด้อยค่าของสินทรัพย์ และการส่งออกที่ลดลง  แต่หากมองโลกในแง่ดีในทัศนะแบบแบงค์ชาติของจีน ตั้วเลขการเติบโตระดับร้อยละ 8 ถึง9 (ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ2) น่าจะเป็นตัวเลขที่กำลังดีสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวของจีน

                
                             ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน ตลอดปี2010ที่ผ่านมาดูเหมือนอสังหาริมทรัพย์จะเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายไปพร้อมๆกัน ที่เป็นพระเอกก็เพราะมีคนทำกำไรกันมหาศาลจากการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในธุรกิจนี้ ส่วนที่ถูกจับตากล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายก็เพราะนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนัก กล่าวหาว่ามูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่สูงเกินจริงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อและปัญหาทางสังคม ในปี 2011 Su Buchao ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และผู้จัดการกลุ่ม Wolong Medial เห็นว่าราคาที่อยู่อาศัยทั่วไปจะเริ่มปรับลดไปสู่ระดับราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะนักเก็งกำไรส่วนใหญ่จะย้ายไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆเพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีทรัพย์สินที่กำลังจะบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้ ไม่เพียงเท่านี้ การบังคับเก็บภาษีทรัพย์สินยังจะมีผลต่อราคาบ้านมือสองอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกและอำนาจต่อรองสูงขึ้นไปอีก
                 ตลาดหุ้นจีน  ใครที่รู้จักตลาดหุ้นจีนอยู่บ้าง คงทราบดีว่านักลงทุนรายย่อยเกือบทั้งหมดเป็นนักเก็งกำไรมากกว่าที่จะเข้าใจความหมายของการลงทุน แต่ภาพตลาดหุ้นของจีนในปี2011นี้จะเปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ตามความเห็นของศาสตราจารย์ ติง-หยวน แห่งวิทยาลัยธุรกิจChina Europe International Business School  อาจารย์ติงแกเชื่อว่านักลงทุนจากภายนอกจำนวนมากจะแห่เข้ามาลงทุนในจีน โดยเฉพาะในหุ้นหลักๆที่มีปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการดี จึงเท่ากับเป็นการบังคับไปในตัวที่จะทำให้พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนชาวจีนเปลียนไปด้วย หุ้นที่มีการซ้อขายหมุนเวียนดี จะจำกัดอยู่เฉพาะหุ้นเกรดเอ อันส่งผลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีนต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้มีคุณภาพเข้าสู่มารตฐานสากลมากขึ้น ในภาพรวม ตลาดหุ้นจีนปี 2011 จะไม่พุ่งกระฉูดทำกำไรหวือหวา แต่จะมีการพัฒนาปรับคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีกับอนาคตตลาดหุ้นจีน เป็นมุมมองที่สอดรับกับรายงานสภาวะเศรษฐกิจของสภาสังคมศาสตร์จีนที่พยากรณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว
                 น้ำมันและพลังงาน  ปลายปีที่ผ่านมา ปัญหาขาดแคลนน้ำมันดีเซลครองหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์จีนติดต่อกันอยู่เป็นสัปดาห์ ภาพข่าวทีวีนำเสนอการเข้าคิวรอซื้อน้ำมันตามสถานีบริการมีให้เห็นทุกสำนักข่าวในทุกภูมิภาคของจีน ปีใหม่นี้สถานการณ์พลังงานโดยทั่วไปไม่น่าจะดีขึ้นมากนัก ในมุมมองของ ศาศตราจารย์ เฉิน เฟิง-อิง ผอ.สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกแห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่จีน ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานในรูปแบบต่างๆ จะปรับตัวตามความเป็นจริงของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ความสามารถของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงราคาจะทำได้น้อยลง พูดง่ายๆคือราคาแพงขึ้นแน่ แต่ข้อดีของการไม่แทรกแซงราคา จะทำให้จีนไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนและการกักตุน  อย่างไรก็ดี ในระยะยาวอีกไม่เกิน 5 ปี โครงการขยายการผลิตไฟฟ้าพลังปรัมณูตามแผนพัฒนาฉบับที่ 12 จะเสร็จสมบูรณ์ และจะเพิ่มปริมาณไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจ่ายไฟได้อีกมหาศาล


                 เงินเฟ้อและดัชนีราคาสินค้าบริโภค อย่างที่นำเสนอไปก่อนหน้า 5เดือนหลังของปี2010 สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศจีนสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ในความเป็นจริง สินค้าหลายรายการรัฐบาลไปพยายามเข้าไปแทรกแซงแก้ไขแล้ว ชี้ให้เห็นว่าปัญหาเงินเฟ้อจริงๆรุนแรงกว่าตัวเลขที่ปรากฏ ศาสตราจารย์หวาง เจี้ยน-เหมาแห่งวิทยาลัยธุรกิจ China Europe International Business School  พยากรณ์ว่าสถานการณ์ปี 2011 ก็ไม่น่าจะดีขึ้นเท่าใดนัก พิจารณาจากราคาต้นทุนสินค้าสำคัญๆที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินสกุลหยวนต่อดอลลาร์ การปรับค่าแรงพื้นฐานตามแผนรัฐบาล และต้นทุนพลังงาน  ปี 2011จะเป็นปีที่ผู้บริโภคทั่วไปต้องกระเป๋าฉีกอีกปีหนึ่ง



                  โชคดีที่พื้นที่คอลัมน์นี้หมด เลยมีข่าวร้ายๆของเศรษฐกิจจีนมาเล่าได้เพียงเท่านี้  แต่ก็อย่าไปกังวลแทนเลยครับ เพราะหลายกรณี รัฐบาลจีนก็มีวิธีการแก้ปัญหาแบบแปลกๆแต่ได้ผลอยู่เสมอ หรือไม่ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้หน้าตาเฉยเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น