ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์กับบ้านเอื้ออาทรของจีน

         โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษวิทยา 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




      ผมต้องขอสารภาพกับท่านผู้อ่านว่าแอบหนีไปเที่ยวมาหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ ที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไปเดินเที่ยวเล่นเหลวไหลที่ไหนหรอกครับ ไปงานราชการดูเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นมา แต่ที่ต้องสารภาพก็เพราะออกเดินทางไปตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่แล้ว เขียนต้นฉบับของวันพุธที่แล้วเสร็จก็ไปเลย เพิ่งจะกลับมาช่วงเช้าเมื่อวาน เลยไม่ได้มีเวลาพอจะทำหน้าที่สำรวจคัดกรองข่าวสารของประเทศจีนก่อนที่จะลงมือเขียนดังที่เคยปฏิบัติมาประจำทุกสัปดาห์ ลงจากเครื่องบินกลับเข้าบ้านก็เปิดหน้าข่าวนิตยสารBeijing Review ฉบับออนไลน์ เลือกเอาเรื่องใหญ่สุด น่าสนใจที่สุด มาเป็นประเด็นพูดคุยกับท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้


                 ผมจำได้ว่าหลายเดือนก่อน ตอนที่จีนประกาศใช้นโยบายเข้มงวดกับสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ผมเคยเอามาเล่าสู่กันฟังไปรอบหนึ่งแล้ว แต่เป็นการเล่าที่อาจยังไม่ครบถ้วนเท่าใดนัก เพราะเนื้อที่มีจำกัด มาวันนี้มีข่าวใหญ่ที่ทางรัฐบาลจีนแถลงแบบภูมิอกภูมิใจมากเป็นพิเศษ ผมเลยถือโอกาสเอามาปะติดปะต่อเชื่อมโยงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพร่วมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อตอนต้นๆปีประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ต่างชาติจำนวนเยอะชี้กันว่าจีนกำลังจะเข้าสู่วิกฤตการณ์ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเหตุที่แข่งขันกันลงทุนในธุรกิจนี้มากเกินกำลังซื้อที่มีอยู่จริง นอกจากปริมาณห้องชุดและโครงการจะมีมากมายเหลือเกินแล้ว ราคาก็แพงเกินจริงและเกินกำลังที่ชาวบ้านทั่วไปจะสามารถเช่าซื้อได้ ทำให้เกิดการจองการซื้อเพื่อหวังเก็งกำไรในหมู่คนที่พอจะมีสตางค์ ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่หาเช้ากินค่ำในเขตเมือง กลับไม่มีปัญญาจะหาห้องอยู่อาศัยเป็นของตนเอง
                 ในตอนนั้น รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการสำคัญสามด้านที่จะเข้าแทรกแซงการขยายตัวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันการลงทุนที่อาจเสี่ยงต่อทั้งภาคธุรกิจเองและต่อผู้บริโภคที่เป็นคนยากคนจนในเขตเมือง ประการแรกรัฐบาลจีนเข้มงวดกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้อนุญาตเฉพาะกับกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจหลักเท่านั้น ธุรกิจอื่นที่ไม่มีประสบการณ์หรือทำมาหากินด้านอื่นอยู่ แล้วเห็นคนอื่นทำแล้วรวยก็อยากรวยด้วย แบบนี้รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้เข้ามาลงทุนพัฒนา แม้จะมีเสียงนินทาว่านอกจากไม่ได้ผลแล้วยังส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดอีกต่างหาก แต่อย่างน้อยก็ทำให้นักลงทุนกว่า78กลุ่มที่ไม่ใช่มืออาชีพแท้ๆถอยออกไปเหมือนกัน เพราะถูกธนาคารพานิชขึ้นบัญชีห้ามปล่อยกู้ตามนโยบายของรัฐบาล เหลือกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมืออาชีพแท้ๆเพียง16กลุ่มที่ยังกู้เงินแบงค์มาขยายโครงการใหม่ๆได้ มาตรการที่สอง รัฐบาลจีนเข้าควบคุมกำกับการปล่อยกู้ของธนาคารพานิช ทั้งในด้านปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการ และการปล่อยกู้ให้กับผู้เช่าซื้อห้องชุด มาตรการนี้ดูจะได้ผลเป็นจริงเป็นจัง ทำให้จำนวนโครงการลดวูบไปพักใหญ่ แต่ก็ส่งผลเสียทำให้ราคาห้องชุดไต่เพดานขึ้นราคากันเป็นทิวแถวในเขตใจกลางเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งของจีน ที่เดือดร้อนหนักเลยไม่ได้มีแต่คนยากคนจน แม้คนชั้นกลางที่จำเป็นต้องขยายครอบครัวเพราะลูกหลานแต่งงานแยกออกไป ก็พลอยเดือดร้อนไม่มีปัญญาจะผ่อนบ้านได้  รัฐบาลเลยต้องออกมาตรการที่สาม คือประกาศเลยว่าจะเข้าแทรกแซงราคาที่อยู่อาศัยด้วยการจัดตั้งกองทุนอุดหนุนที่อยู่อาศัยหรือเคหะสงเคราะห์ ลงทุนสร้างห้องชุดราคาประหยัดเพื่อแก้ไขปัญหาคนยากคนจนในเขตเมืองทั่วประเทศ ให้ได้5.8ล้านยูนิตภายในปี 2010 นี้ โดยจะกันห้องชุดราคาถูกพิเศษจำนวน1.2 ล้านยูนิตให้กับแรงงานต่างจังหวัดที่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในเขตเมือง เรียกว่าประชานิยมสุดๆเข้าข่ายบ้านเอื้ออาทรก็ว่าได้

                 มาบัดนี้ ด้วยระยะเวลาเพียง 8-9 เดือน รัฐบาลจีนประกาศว่าห้องชุดทั้งหมดที่สัญญาไว้ สร้างได้ครบเรียบร้อยแล้ว และหลายต่อหลายโครงการ ผู้จับจองได้ย้ายเข้าอยู่อาศัยเรียบร้อย หากมองตัวเลขในภาพรวม รัฐบาลจีนใช้เงินไปกับการเคหะสงเคราะห์ในปีนี้สูงถึง  800,000ล้านหยวน เทียบกับปี 2008 ใช้เงินไปแค่ 18,190 ล้านหยวน และ 50,060 ล้านหยวนในปี 2009 ความรวดเร็วทันใจในการจัดการกับปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานนี้ ว่าที่จริงถ้ารู้เบื้องหลังการจัดการสักหน่อย ก็อาจเข้าใจได้ไม่ยากนัก ว่ารัฐบาลจีนจัดการอย่างไรจึงรวดเร็วเบ็ดเสร็จถึงปานนี้ หากดูตัวเลขรวมการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนตอนต้นปีก่อนที่รัฐบาลจะออกมากำกับเข้มงวด  ตัวเลขจากฝั่งธนาคารพานิชผู้ปล่อยกู้ ประมาณกันว่ามีเงินเข้ามาลงทุนโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของส่วนกลาง สูงถึง 660,700 ล้านหยวน(ไม่รวมผู้ประกอบการท้องถิ่นรายเล็กรายน้อย ที่อาจลงทุนสร้างตึกจากเงินสะสมของตนเอง หรือเงินที่ลงขันเข้าหุ้นกันระหว่างเพื่อนร่วมธุรกิจ หรือกู้ยืมกันเองนอกระบบธนาคาร)  ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุนที่ธนาคารพานิชเคยปล่อยกู้ให้กับ78กลุ่มบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีว่าไม่ใช่มืออาชีพ และกำลังจะถูกเขี่ยออกนอกวงการสูงถึง 99,100 ล้านหยวน บริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ ที่ผ่านมาฟันกำไรจากการประกอบการเฉลี่ยที่ร้อยละ 35-45 ต่อปี

            
              หากเอาค่าเฉลี่ยกำไรที่ว่าข้างต้นนี้คูณเข้ากับมูลค่าการลงทุนรวม 660,000 ล้านหยวน ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อกันว่า ดีไม่ดีรัฐบาลจีนอาจไม่ได้ลงแรงสร้างตึกสร้างห้องเองเท่าใดนัก แต่ใช้วิธีบีบภาคเอกชนที่ลงทุนอยู่แล้ว ให้เปลี่ยนรูปแบบโครงการ ลดราคาห้องชุดและยอมรับส่วนชดเชยจากรัฐบาล แม้จะกำไรน้อยลง แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยรวม ดีกว่าพากันบาดเจ็บล้มตายกันไปหมด รัฐบาลก็ได้หน้าว่าสามารถแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนและคนชั้นกลาง ภาคธุรกิจก็ยังพออยู่กันต่อไปได้ไม่ต้องห่วงว่าฟองสบู่จะแตกแล้วล้มตามกันไปหมดยกครอก แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการคาดเดาของบรรดานักวิเคราะห์ที่อยู่ไม่สุข รัฐบาลจีนจะใช้กลเม็ดยักย้ายถ่ายเทอย่างที่ว่าจริงหรือเปล่า ผมโดยส่วนตัวก็ยังไม่กล้าเสี่ยงฟันธง แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ผลที่ออกมาเป็นรูปธรรมแล้วในเวลานี้ คือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่แตก และคนจีนอีกตั้ง 5.8 ล้านครอบครัวก็มีที่อยู่เพิ่มขึ้นในราคาบ้านที่พอมีปัญญาจะผ่อน ถ้าไม่บอกว่าเขาเก่งจริง ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น