ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์ทรัพยากรมนุษย์ของจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาามานุษยวิทยา
คณะมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


               ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับนักวิชาการจากประเทศจีนจำนวนหนึ่งที่เดินทางผ่านมาทางประเทศไทย แวะเยี่ยมเยือนกันก่อนที่จะข้ามไปประชุมที่สิงคโปร์   ในฐานะเจ้าของบ้าน ก็เลยต้องเลี้ยงต้อนรับกันตามประเพณี  ผมได้มีโอกาสถามไถ่เรื่องราวเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านต่างๆในประเทศจีน อีกทั้งยังชมเชยว่าไม่นานจีนจะกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาในซีกโลกตะวันออก  เพื่อนนักวิชาการเหล่านั้นกลับส่ายหัวและยืนยันว่าจีนยังมีปัญหาต้องแก้ไขและพัฒนาอีกมาก  โดยเฉพาะปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ หรือศัพท์ Human-ware อย่างที่เพื่อนชาวจีนใช้ในระหว่างการสนทนา  เขายก
ตัวอย่างกรณีงาน Expo ที่เซี่ยงไฮ้ ที่ใครต่อใครพากันชื่นชมว่าจัดได้ยิ่งใหญ่  แต่ความจริงแล้วมีอุปสรรคมากมาย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับคนไม่ใช่ปัญหาทางเทคโนโลยี  ระบบการขายบัตรเข้าชมและการต้อนรับในแต่ละอาคารจัดแสดง จีนอุตสาห์ลงทุนซื้อระบบและจ้างที่ปรึกษาตะวันตกมาช่วยจัดระบบ แต่ก็ไม่อาจต้านทานความไร้ระเบียบที่เกิดจากผู้เข้าชม(ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือชาวจีนนั้นแหละ)  ต้องปรับแผนแก้ไขอยู่เป็นเดือนกว่าที่สถานการณ์จะผ่อนคลายลง  นอกจากนั้นจีนยังกำลังเจอกับปัญหาเรื่องการพัฒนาแรงงาน ซึ่งก็เป็นปัญหาเรื่องคนอีก เสียดายที่เรื่องคุยมีมาก แต่งานเลี้ยงต้องเลิกรา เลยยังไม่ได้ถามไถ่รายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากล่ำลาส่งแขกจีนเดินทางไปประชุมเสร็จ ก็ลืมเรื่องราวที่ได้คุยกัน
                  มาเมื่อวันจันทร์นี้เอง ขณะที่กำลังทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ได้รับอีเมล์จากหนึ่งในนักวิชาการที่ได้เลี้ยงต้อนรับเมื่อสัปดาห์ก่อน มีเอกสารแนบเป็นบทความที่คัดลอกมาจากนิตยสาร ปักกิ่งรีวิวส์ ฉบับล่าสุด เป็นรายงานข่าวรัฐบาลจีนจัดทำสมุดปกขาวสถานการณ์ทรัพยากรมนุษย์ของจีน เปิดอ่านดูก็ได้ความรู้เพิ่มเติมมาก สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขอนำเอามาเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รักได้ลองพิจารณากันดู  ในรายงานสมุดปกขาวที่ว่านี้  จีนกำลังจัดทำนโยบายเป็นการใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่างๆของจีน เฉพาะอย่างยิ่งขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูง  รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำโดยฝ่ายข้อมูลข่าวสารของสำนักงานมนตรีแห่งรัฐ นอกเหนือจากวิเคราะห์สถานการณ์แรงงานในภาคการผลิตต่างๆแล้ว ยังได้ประมวลประเด็นปัญหาทางกฎหมาย และแนวนโยบายที่จะปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานในประเทศจีน
                   ในจำนวนประชากร1.3พันล้านคน  มีผู้อยู่ในวัยแรงงานมากถึง 1.07พันล้าน(ไม่รู้คิดตัวเลขยังไง ผมว่าจะมากไปหน่อย) มีผู้อยู่ในระบบการจ้างงานที่ชัดเจน 780ล้านคน(ตัวเลขนี้ก็น่าสงสัยอีก) ในจำนวนแรงงานเหล่านี้ ระดับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ที่9.5ปี(การศึกษาภาคบังคับของจีน ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ปี2000 กำหนดให้ต้องเรียนในระบบไม่ต่ำกว่าชั้นปีที่9 หรือมัธยมศึกษาปีที่3แบบไทย) มีแรงงานในระบบเพียงร้อยละ9.9ที่ได้รับการศึกษาสูงกว่านั้น  ซึ่งจำนวนมากในตัวเลขนั้นจะเป็นการศึกษาต่อในโรงเรียนอาชีวะศึกษา  ตัวเลขเมื่อสิ้นปี2009ที่ผ่านมา จีนมีวิทยาลัยเทคนิคที่ผลิตช่างฝีมือ6,000แห่ง และมีโรงเรียนฝึกสอนการอาชีพแขนงต่างๆของเอกชนอีกประมาณ 20,000 แห่ง  ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีตำแหน่งงานในเมืองต่างๆเพิ่มขึ้น 50 กว่าล้านตำแหน่งงาน และมีแรงงานส่วนเกินจากภาคเกษตรย้ายมาทำงานในเมืองในกิจกรรมการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากกว่า 45 ล้านคน  เพื่อให้บรรลุภารกิจในการผลักดันประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม รัฐบาลจีนได้จัดตั้งสถาบันค้นคว้าวิจัย และฝึกอบรมชั้นสูงขึ้นหลายแห่งในแต่ละภูมิภาค และให้ความสำคัญกับพื้นที่ในภาคตะวันตกของประเทศที่ยังล้าหลังอยู่  ปัจจุบันจีนมีนักวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำงานประจำอยู่ประมาณสองล้านคน  และมีนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ทำงานวิจัยเต็มเวลาอีกกว่า 70,000คน  หากพิจารณาจากตัวเลขล้าสุดที่มี ประเทศจีนทุ่มเทงบประมาณให้กับการค้นคว้าวิจัยและการพัฒนาบุคคลในแต่ละปีสูงถึง ร้อยละ10.75ของGDPประเทศ เฉพาะในปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนส่งเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆออกไปดูงานและฝึกอบรมกว่า 50,200คน นับจากจีนเริ่มนโยบายเปิดประเทศในปี1978จนถึงปัจจุบัน  มีบัณฑิตจีนที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศในระดับปริญญาต่างๆรวมแล้วกว่า1.69ล้านคน


                 ทั้งหมดข้างต้น อ่านดูแล้วก็จะรู้สึกเพลินและน่าชื่นชมดี ตามธรรมดารายงานของทางราชการในทุกประเทศแหละครับ  แต่เพื่อความเป็นธรรม ผมเองก็มีข้อมูลอีกด้านที่เห็นว่าควรนำเสนอท่านผู้อ่านด้วย  เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา  รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนที่ทำการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยชื่อดังในปักกิ่ง ว่าด้วยปัญหาแรงงานในประเทศจีน  ได้ตัวเลขที่น่าสนใจชุดใหญ่  ในจำนวนประชากร1.3พันล้านคนของจีน มีคนจีนมากถึง211ล้านคนที่ต้องเร่ร่อนออกจากบ้านเกิดไปหากินในเมืองใหญ่  ทั้งๆที่ไม่มีญาติมิตรหรือคนรู้จักรองรับแต่อย่างใด  เกือบทั้งหมดเป็นการเดินทางไปหางานทำโดยที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า เป็นการเสี่ยงโชคแล้วชะตากรรมจะพาไป  แม้ว่าตัวเลขของแรงงานอพยพเหล่านี้ในส่วนที่เป็นการอพยพระยะไกลจากบ้านเกิดมากๆจะลดน้อยลง  แต่ระยะเวลาของการหางานทำและไม่กลับบ้านเกิดเดิมดูจะเพิ่มมากขึ้น  พูดง่ายๆคือจำนวนคนที่อพยพแล้วย้ายขาดไม่กลับบ้านอีกเลยมีเพิ่มมากขึ้น  แรงงานอพยพเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากภาคชนบทล้าหลังการศึกษาไม่สูง  และมักลงเอยด้วยค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ ในอาชีพที่มีอันตรายและเสี่ยงภัยสูง  เช่นแรงงานไร้ฝีมือในภาคก่อสร้าง  อุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง งานบริการสาธารณะ  โดยทั่วไปค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดไม่เกิน2,000หยวน ทั้งนี้จะต้องทำงานวันละ10ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่มีสิทธิพิเศษในการลาพักงาน  เงินเดือนถูกหักจากจำนวนวันที่ขาดงานหรือป่วย  ในบรรดาแรงงานอพยพเหล่านี้ มีไม่ถึงร้อยละ30ที่มีสัญญาจ้างงานเป็นกิจจะลักษณะ ที่เหลือนอกนั้นทำงานแบบสัญญาปากเปล่า  เฉพาะในปักกิ่งเพียงแห่งเดียว ปีที่ผ่านมามีคดีความพิพาทกันว่าด้วยปัญหาแรงงาน 3,207 คดี นี่ว่ากันเฉพาะคดีที่เป็นแรงงานอพยพไม่ใช่คดีพิพาทแรงงานทั้งหมด  คดีพิพาทของแรงงานอพยพกว่าครึ่ง เป็นเรื่องการถูกนายจ้างหักเงินค่าแรงโดยไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่ก็โดนหักเพราะเจ็บป่วยไม่มาทำงาน  มีแรงงานอพยพไม่เกินร้อยละ35 ที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือทำประกันสุขภาพ  ที่จะได้เงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วยจนต้องหยุดงาน  เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันแล้ว ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงได้เห็นสถานการณ์ปัญหาแรงงานในจีนพอสมควร ส่วนผม ก็รู้สึกคันปากอยากจะถกแถลงเรื่องนี้กับเพื่อนชาวจีนอีกสักรอบสองรอบ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น