ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สื่อจีนมองไทย

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 หากจะบอกว่าการนัดรวมพลแดงทั้งแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปีนี้เป็นข่าวใหญ่ข่าวดังในจีนก็คงไม่ใช่เสียที่เดียว  แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีผู้เฝ้าติดตามหรือจับจ้องวิเคราะห์อยู่ไม่น้อย  ในประเทศจีนการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงเป็นที่รับรู้กันพอสมควรภายใต้ชื่อเรียกที่แปลตามตัวอักษร หง ซา จวิน หรือกองทัพเสื้อแดง  ในห้วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หากวิเคราะห์จากสื่อแขนงต่างๆ ที่เผยแพร่ปรากฏอยู่ในประเทศจีน อาจแยกได้เป็นประเด็นความสนใจหรือการวิเคราะห์สถานการณ์เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน
                 กลุ่มแรก เป็นการนำเสนอข่าวสารกระแสหลักตามแบบที่กองบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของสำนักข่าวจีนทำกันเป็นปรกติ  น้ำหนักข่าวที่ให้กับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงก็ดำเนินไปตามระดับความเข้มข้นของกระแสข่าวอย่างที่ปรากฏรายวันเทียบเคียงกับข่าวสารอื่นๆ ที่มีมาจากประเทศทั้งหลายในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกด้วยกัน  กล่าวได้ว่าในมุมมองของสำนักข่าวจีนทั้งหลาย  การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่มีมาเป็นลำดับนั้น  อยู่ในความสนใจของสื่อจีน  แต่ก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากเท่าใดในเนื้อข่าวถึงขั้นที่ต้องลงทุนนำเสนอรายละเอียดแบบเกาะติด  เท่าที่สำรวจดูมีเพียงสำนักข่าวหลักๆสามสำนักซึ่งมีสำนักงานและผู้สื่อข่าวประจำอยู่ในกรุงเทพฯ คือ ซินหัว  CCTV และ CRI ที่เกาะติดรายงานข่าวโดยละเอียดเป็นพิเศษ  ที่เหลือนอกจากนั้นก็อาศัยอ้างอิงจากสำนักข่าวซินหัวเป็นหลัก  เนื้อความส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มโดยดูจากตัวเลขผู้เข้าร่วมการชุมนุม  ซึ่งแหล่งข่าวของแต่ละสำนักข่าวก็ระบุตัวเลขไว้ต่างกัน (สำนักข่าว ซินหัว 50,000 CRI 120,000)  ตัวเลขนี้นำไปสู่การวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์น่าจะอยู่ในความสามารถที่รัฐบาลจะดูแลได้ ไม่น่ารุนแรงเท่ากับเดือนเมษายนที่ผ่านมา และไม่น่าจะมีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เท่าที่สังเกตดู มีประเด็นน่าสนใจร่วมกันอย่างหนึ่งที่มีปรากฏในสื่อจีนที่เป็นสำนักข่าวมาตรฐาน กล่าวคือจีนระมัดระวังการเสนอข่าวในรายละเอียด และพยายามวางตัวเป็นกลางมากเป็นพิเศษ ทีผมพูดเช่นนี้ ก็เพราะเมื่อเทียบกับสื่อตะวันตกที่เสนอข่าวการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่าสื่อตะวันตกเข้ามารู้ดีวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของเราแบบล้วงลึกจนบางครั้งน่าเกลียด อีกทั้งยังวิพากษ์องค์กรสถาบันของเราแบบไม่เกรงใจ  ซึ่งเรื่องแบบนี้จีนไม่ทำ
                 ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ธุรกิจการเงินที่เกาะติดการลงทุนหลายแห่งของจีน  ให้มุมมองว่าประเทศไทยจะเสียโอกาสดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงปัญหาทางการเมืองเข้ากับปัญหาข้อกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นต้องยุติการลงทุนชั่วคราว ทั้งสองปัจจัยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยโดยรวม  นอกจากนี้ยังชี้ว่าการเคลื่อนไหวประท้วงเรียกร้อยให้ยุบสภาส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท  อันเป็นผลจากการที่รัฐบาล 33 ชาติออกประกาศเตือนประชาชนของตนไม่ให้เดินทางมาไทยในช่วงการชุมนุม หลายสำนักข่าวได้นำภาพแหล่งท่องเที่ยวหลักในกรุงเทพฯมาเผยแพร่ว่าเงียบเหงาอย่างไร นอกจากนั้นก็มีการวิเคราะห์ถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มทางเศรษฐกิจ  คอลัมนิสต์ส่วนใหญ่ของสื่อจีนยังมีความเชื่อมั่นและให้จับตาดูตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยเป็นสัญญาณหลักในระยะสั้น  และแนะนำให้จับตาดูโครงการลงทุนก่อสร้างระบบการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยระยะกลาง 
                 กลุ่มสุดท้ายเป็นความเคลื่อนไหวสื่อสารในโลกไซเบอร์ของจีน  ผมเองระหว่างที่สืบค้นข้อมูลเพื่อเขียนบทความประจำสัปดาห์นี้ เพิ่งจะได้รับรู้ความจริงว่า มีคนจีนธรรมดาๆสนใจมาเที่ยวประเทศไทยจำนวนไม่น้อยทีเดียว  ในห้องแชทหรือห้องสนทนาทางอินเตอร์เน็ต  มีหนุ่มสาวชาวจีนแวะเวียนเข้ามาบ่นเรื่องที่ถูกยกเลิกทัวร์มาเที่ยวประเทศไทยเยอะมาก บางคนก็ถามหาข้อมูลว่าถ้าจะมาภูเก็ตมาได้ไหม หรือถามว่ามีใครเคยอยู่ในวงล้อมการชุมนุมของไทยบ้างอันตรายจริงหรือเปล่า ถ้าอยากมาประเทศไทยแบบมากันเองไม่พึ่งบริษัททัวร์จะทำได้ไหมฯลฯ แล้วก็เลยแตกประเด็นกลายเป็นกระทู้ถามไถ่กันว่าไอ้ หง ซา จวิน หรือคนเสื้อแดงนี้คืออะไร  ก็มีผู้รู้บ้างไม่รู้บ้างเข้ามาให้คำอรรถาธิบายเป็นฉากๆ ไป ลามไปถึงวิเคราะห์การเมืองไทย วิจารณ์คุณทักษิณ วิจารณ์เสื้อเหลืองยึดสนามบิน วิจารณ์รัฐบาลไทย กลายเป็นเว็ปบอร์ดไทยศึกษาหรือไทยคดีไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

                 ผมมีข้อสังเกตว่า หากพิจารณาจากระดับความรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย ของสาธารณชนชาวเน็ตในจีน (ไม่นับรวมนักวิชาการจีนหรือนักธุรกิจจีน) ดูเหมือนความเข้าใจที่คนจีนรุ่นใหม่ในโลกไซเบอร์มีต่อประเทศไทยนั้น ยังค่อนข้างจำกัด  และมีช่องว่างที่หน่วยงานของไทยเราต้องทำความเข้าใจอีกมาก  เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว ผมเชื่อว่ายังมีงานต้องทำอีกเยอะในการให้ข้อมูลแก่หนุ่มสาวชาวจีนซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในอนาคต หากไม่ใช่เป็นอยู่แล้วในเวลานี้  เสียเวลาจะมานั่งพูดเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญอันเป็นปัญหาของพวกลุงๆป้าๆรายได้น้อยที่ถูกหลอกมาเที่ยวเมืองไทย น่าจะให้ความสำคัญกับลูกค้าหนุ่มสาวชาวจีนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น