ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ใครคือ หลิว เสี่ยวปอ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                

               ข่าวใหญ่ครึกโครมที่ปรากฏทั้งในสื่อเทศและสื่อจีนในช่วงที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ดังที่สุดคือกรณีที่กรรมการรางวัลโนเบลที่กรุงออสโล ได้ตัดสินใจประกาศให้นาย หลิว เสี่ยวปอ ผู้ต้องโทษกักขังชาวจีน เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปี 2010 ติดตามมาด้วยข่าวปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่สำคัญและเป็นข่าวล่าสุดก็คือข่าวการประท้วงจากรัฐบาลจีน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน นายหม่าจ้าวซู  ได้แถลงประณามการตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการรางวัลฯว่าออกนอกขอบเขตเจตนารมณ์ของนาย อัลเฟร็ด โนเบลผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ ผมเชื่อว่ารายละเอียดต่างๆของเนื้อข่าว ท่านผู้อ่านที่รักคงได้รับรู้รับทราบกันหมดแล้ว
                 อย่างไรก็ดีเรื่องราวความเป็นมาของนาย หลิว เสี่ยวปอก่อนที่จะได้รับรางวัลโนเบล ผมเข้าใจว่าคนไทยเราคงยังงงๆกันอยู่ ไม่รู้ว่าคุณคนนี้แกเป็นใคร ทำไมถึงได้รับรางวัลยกย่องในระดับโลกขนาดนี้ และทำไมรัฐบาลจีนจึงได้หงุดหงิดไม่พอใจจนถึงขั้นอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับนอร์เวย์ (อัลเฟร็ด โนเบล เป็นคนสวีเดน แต่ระบุไว้ในพินัยกรรมให้จัดตั้งสถาบันโนเบลที่กรุงออสโลในนอร์เวย์ คนส่วนใหญ่ก็ยังงงๆกันอยู่ว่าแกคิดอะไรของแก) สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขออนุญาตสืบเสาะนำเสนอข้อมูลมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รักว่า ใครคือหลิว เสี่ยวปอ ไปไงมาไงกัน  นายหลิว เสี่ยวปอ เป็นคนเมืองฉางชุน มณฑลจี่หลินโดยกำเนิด ชีวิตในวัยเด็กไม่สู้จะราบรื่นเท่าใดนัก เช่นเดียวกับชาวจีนส่วนใหญ่ที่เติบโตร่วมสมัยเดียวกับแกในยุคนั้น บิดาของคุณหลิว จัดเป็นปัญญาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ระหว่างปี 1967-1973หลิวต้องติดตามบิดาที่ถูกบังคับโดยนโยบาย ออกไปเรียนรู้จากชนบท จากบ้านเกิดที่ฉางชุนไปทำงานในชนบทของมองโกเลียใน ครั้นอายุได้19 หลิวก็ได้รับมอบหมายจากทางการให้ไปทำงานในหมู่บ้านห่างไกลของมณฑลจี่หลิน และต่อมาก็เข้าทำงานในหน่วยก่อสร้าง จนเมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคปฏิรูปเปิดกว้างแล้ว หลิวจึงมีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย     ตามที่ครอบครัวเคยตั้งความหวังไว้ ปัจจุบันหลิวอายุ55ปี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จี่หลินในสาขาวรรณคดี ปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยเป่ยจิงซือฟ้าน ในขณะเรียนปริญญาเอก หลิว เสี่ยวปอก็ได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีในมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันนี้


                 ในระหว่างปี 1988-1989 หลิวได้รับทุนให้เดินทางไปเป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนที่อเมริกาและนอร์เวย์  ทว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย หรือกรณี6/4ที่เทียนอันเหมิน หลิวตัดสินใจเดินทางกลับประเทศจีนและเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษาปัญญาชน  แม้ว่าภายหลังเขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน สี่บัณฑิตแห่งเทียนอันเหมิน ที่เกลี่ยกล่อมให้นักศึกษาสลายการชุมนุมหลังเกิดเหตุนองเลือด ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่ต้องล้มตาย แต่สำหรับรัฐบาลจีนแล้ว หลิวถูกหมายหัวว่าเป็นผู้นำขบวนการ หลิวถูกจองจำ กักขังใช้แรงงานเพื่อให้การศึกษาใหม่ และกักตัวภายในที่พัก มาตลอดโดยลำดับ นับแต่สิ้นสุดเหตุการณ์ที่จตุรัตเทียนอันเหมิน


                 ในปี 2004 หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรี จ้าว จื่อหยาง( ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งเพราะแสดงความเห็นใจขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน )ถึงแก่มรณกรรม ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองผ่อนคลายลง หลิวกลับมามีเสรีภาพอีกครั้งหนึ่ง  และเริ่มตีพิมพ์งานเขียนของตนออกสู่สาธารณะ โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก รายงานสถานะด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน หนึ่งในงานเขียนของเขา ได้ก่อให้เกิดเสียงตอบรับจากโลกภายนอก องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้ยกย่องบทบาทของหลิว และมอบรางวัล ผู้พิทักษ์เสรีภาพสื่อมวลชน ให้กับหลิว ในอีกด้านหนึ่งผลจากงานเขียนเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลจีนหันกลับมาเข้มงวดกับหลิวเพิ่มขึ้น สถานีตำรวจในพื้นที่ ถึงกับมาตั้งด่านและสถานีย่อยข้างบ้านของเขา สายโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต และแม้แต่แขกที่มาหา ถูกดักฟังติดตามและจับตาอย่างเข้มงวด  นับเป็นสิบครั้งที่ตำรวจจะมาตามตัวเขาไปสอบสวนเกี่ยวกับบทความออนไลน์ที่เผยแพร่อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตนอกประเทศจีน แต่ก็ไม่ได้กักขังตัวเขา


                 ในปี2008 เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ60ปีแห่งการประกาศปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล หลิวและพวกอีกกว่า8,600คน ได้เข้าชื่อกันเสนอ มาตรา08 เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปิดกว้างแก่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการเลือกตั้งอย่างอิสระ และเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน  รัฐบาลจีนซึ่งกำลังเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกและมีแขกต่างชาติอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง มองขบวนการรณรงค์ดังกล่าวว่าเป็นการท้าทายและทำลายเกียรติภูมิของชาติอย่างยิ่ง ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวหลิวพร้อมๆกับผู้ร่วมลงชื่ออีกหลายคน ด้วยข้อหาความมั่นคงและบ่อนทำลายการบริหารของรัฐตามมาตรา 105 ของกฎหมายอาญาจีน หลิวและพวกอีกจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับสิทธิพบทนายความ การกักขังตัวถูกขยายเวลาออกไปอีกหลายครั้งกว่าที่จะเริ่มกระบวนการส่งฟ้องต่อศาลในเดือนธันวาคมปีถัดมา  ตลอดช่วงเวลาของการไต่สวนพิจารณาคดี  ไม่มีการอนุญาตให้สื่อเข้ารับฟังคดี  คณะทูตของประเทศตะวันตกนับสิบประเทศที่ประจำอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง ได้พยายามร้องขอเข้ารับฟังการพิจารณาคดี แต่ถูกรัฐบาลจีนปฏิเสธเพราะถือว่าเป็นกิจการภายในของจีน ในที่สุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2009 ก่อนวันเกิดของหลิวเพียงสามวัน ศาลอาญาของจีนได้มีคำพิพากษาว่ามีความผิด ในข้อหาการกระทำอันมุงล้มล้างกระปกครองแห่งรัฐ และให้จำคุกหลิวเป็นเวลา11ปี ตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา2ปี หลิวได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี2010 ในขณะที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำจินโจวมณฑลเหลียวหนิง
                 รางวัลและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากโลกภายนอกต่อกรณีของหลิวจะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง ทว่าที่แน่แท้แล้ว อนาคตของหลิว เสี่ยวปอและผู้ต้องขังอีกหลายคนในจีน  คงต้องขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาและความรับรู้ของสาธารณชนในจีน ว่าจะมองรางวัลโนเบลและสิทธิมนุษยชนอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น