ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยักษ์เศรษฐกิจอันดับสองของโลก

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เป็นวันไว้อาลัยแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียชีวิตจากภัยพิบัติน้ำท่วมและดินถล่ม เฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียที่เมืองโจวฉวี ในมณฑลกานสู้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวมากถึงกว่าหนึ่งพันสองร้อยคน  ไม่เพียงแต่มีพิธีไว้อาลัยในประเทศจีนเท่านั้น  ชุมชนชาวจีนในสถานที่ต่างๆทั่วโลก ต่างก็ออกมาแสดงน้ำใจช่วยเหลือปรากฏเป็นข่าวให้เห็นได้ทั่วไป  คอลัมน์คลื่นบูรพาในฐานะที่นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีน ขออนุญาตชักชวนท่านผู้อ่านที่รัก ร่วมไว้อาลัยแด่เพื่อนมนุษย์ผู้ประสบเคราะห์กรรมในครั้งนี้   อย่างที่เคยนำเสนอไปเมื่อคราวก่อนหน้าว่าปีนี้ภัยน้ำท่วมในจีนครอบคลุมขยายพื้นที่และเสียหายรุนแรงจริงๆ ผมก็ได้แต่ร่วมตั้งความหวังว่าฟ้าดินจะกลับเป็นปรกติในเวลาอันรวดเร็ว

                 ในท่ามกลางข่าวร้ายและความสูญเสีย  ข่าวดีข่าวดังที่เกิดขึ้นในประเทศจีนก็มีเหมือนกัน ข่าวดังกล่าวคือแนวโน้มทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ทำท่าว่ากำลังจะพุ่งแรงแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น และนั่นหมายความว่าจะทำให้ประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก  ทั้งนี้เป็นแต่เพียงการคาดการณ์โดยดูจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในสองไตรมาศแรกรวมกัน ในไตรมาศแรกผลิตภัณฑ์มวลรวมเปรียบเทียบระหว่างญี่ปุ่นและจีน อยู่ที่1.3 : 1.19ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มาในไตรมาศที่สองหรือเมื่อสินเดือนมิถุนายนนี้เอง ตัวเลขอยู่ที่ 1.29และ1.34ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รวมหกเดือนแรกของปี2010 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของสองประเทศอยู่ที่ตัวเลข 2.59 : 2.53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าสูสีกันอย่างมาก และเมื่อตัวเลขออกมาอย่างนี้แล้ว เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายคงต้องทุ่มสุดตัวในการขยายการผลิตในครึ่งปีหลัง
           เมื่อปี2007 ตอนที่จีนกระโดดแซงหน้าเยอรมนี และก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก  การแข่งขันนับว่าดุเดือดมากในเวลานั้น มาคราวนี้เมื่อจะต้องแข่งกับญี่ปุ่น หลายคนเลยอดสงสัยไม่ได้ ว่าความร้อนแรงทางเศรษฐกิจในอีกสี่-ห้าเดือนต่อแต่นี้จะเป็นอย่างไร หากฟังจากการคาดการณ์ของสำนักข่าวตะวันตกเช่น AP หรือบริษัทวิเคราะห์เศรษฐกิจเช่น Morgan Stanley's ดูเหมือนเที่ยวนี้จีนออกจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในการแข่งขัน  เพราะหากพิจารณาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้ รวมทั้งปีอย่างไรเสียก็ไม่น่าจะเกินร้อยละ3-4.2 ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังคงอยู่ที่ร้อยละสิบขึ้นไป  ยิ่งกว่านั้นการปรับค่าเงินหยวนของจีนที่อาจเกิดขึ้นอีกรอบหนึ่ง ก็จะช่วยเพิ่มตัวเลขด้วย(เมื่อคำนวณGDPเป็นสกุลเหรียญสหรัฐ) หากพิจารณาจากตัวเลขมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งสองประเทศเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าต่างกันน้อยมากในไตรมาศสุดท้าย ประกอบกับธรรมชาติทางเศรษฐกิจของจีนที่มักจะปรากฏผลมากเป็นพิเศษในช่วงปลายปี  ทำให้ค่อนข้างแน่ชัดว่าจีนคงจะเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจลำดับที่สองของโลกแน่ๆในสิ้นปี2010นี้
                 อย่างไรก็ดีเราคงต้องยกย่องและไม่ลืมประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองมาตั้งแต่ปี1968 เป็นรองก็แต่เพียงสหรัฐอเมริกา ที่ว่าต้องยกย่องก็เพราะญี่ปุ่นไม่เพียงยึดครองตำแหน่งดังกล่าวไว้ยาวนานกว่าสี่สิบปี(มาเจ๊งเอาในช่วงทศวรรษที่80ด้วยปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์) แต่ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้นๆที่มีตัวเลขรายได้ประชาชาติสูงมาก ในปี2009 ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของญี่ปุ่นอยู่ที่ 39,700เหรียญสหรัฐต่อคน  ในขณะที่ประชากรจีนมีจำนวนมากมายมหาศาล แม้ขนาดเศรษฐกิจจะใหญ่ แต่เมื่อปีที่แล้วรายได้เฉลี่ยอยู่ที่แค่ 4,900เหรียญสหรัฐต่อคน ตัวเลขนี้เป็นแต่เพียงค่าเฉลี่ย ในขณะที่การกระจายรายได้ที่แท้จริงในหมู่ประชากรกรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการกระจายรายได้ของญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างดี ไม่ได้รวยกระจุกจนกระจายอย่างที่เป็นอยู่ในหลายประเทศ
                 แม้เมื่อชนะญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่เบอร์สองของโลกแล้ว โจทย์ใหญ่ของจีนดูจะยังคงมีอยู่สองประการ  หนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่าที่เป็นอยู่ ในหลายกรณี การที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่แต่ประชากรมีมาก รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ ไม่ได้แปลว่าเก่ง แต่กลับสะท้อนว่ายังคงเป็นประเทศที่เพิ่งจะหรือกำลังพัฒนา จีนจะเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางเศรษฐกิจอย่างไรที่จะทำให้ผลิตภาพต่อประชากรสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆว่าถ้าจะชนะญี่ปุ่นได้จริง ต้องทำให้ประชากรจำนวนเท่ากันผลิตได้มากกว่าที่ญี่ปุ่นผลิต โจทย์อย่างที่สองคือ จีนจะบริหารจัดการการกระจายรายได้จากGDPที่เพิ่มขึ้นอย่างไรให้เป็นธรรมและเท่าเทียม   ไม่ให้เกิดเป็นปัญหาอย่างที่ผมนำเสนอท่านผู้อ่านที่รักไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำอย่างไรไม่ให้ความร่ำรวยกระจุกอยู่แต่ในหมู่ประชากรทางชายฝั่งตะวันออก ในขณะที่ความยากจนยังเป็นปัญหาที่กระจายอยู่ทั่วไปในชนบทจีน หรือทำอย่างไรจะสร้างอำนาจการซื้อหรือพลังการบริโภคในเขตชนบท เพื่อกระตุ้นการผลิตและสร้างอุปทานใหม่ๆในเขตชนบท เพื่อที่จะได้กระจายความเจริญออกไปอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัวอยู่เพียงในหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ต้องบอกก็คงรู้กันดีอยู่ ว่าโจทย์ทั้งสองข้อเป็นเรื่องยากมากสำหรับประเทศจีน ยากเพราะความแตกต่างของภูมิภาค ขนาดของประเทศ ข้อจำกัดของทรัพยากร และฐานทรัพยากรมนุษย์ 
                 ในทางกลับกัน หากจีนจะเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาผลิตภาพของประชากรและระบบเศรษฐกิจ เอาจริงเอาจังกับการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร พร้อมๆกับบริหารการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมและเท่าเทียม จีนอาจต้องเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านและนานาชาติ เพราะนั้นอาจหมายถึงการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในประเทศ ด้วยการนำเข้าทรัพยากร พลังงาน แหล่งน้ำ การส่งออกทุนจีนไปในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ การส่งออกแรงงานอพยพไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ฯลฯ  หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีของน้ำมันเชื้อเพลิง สินแร่ โครงการเขื่อนกักน้ำในแม่น้ำนานาชาติหลายสาย การลงทุนของธุรกิจจีนในแอฟริกา ในประเทศเพื่อนบ้านเช่นพม่าและลาว ซึ่งล้วนแล้วแต่ล่อแหลมต่อความตึงเครียดในระยะยาว การเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน จึงเป็นทั้งเรื่องน่าเห็นใจและน่ากลัวไปพร้อมๆ กัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น