ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตลาดนัดสินค้าส่งออกนานาชาติ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                 ช่วงโรงเรียนปิดเทอมเล็กเดือนตุลาคมนี้ พบเจอใครถามไถ่ว่าพาลูกๆไปเที่ยวที่ไหน คำตอบที่ได้รับมากเป็นพิเศษ เห็นจะไม่พ้นงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ่ ซึ่งจัดติดต่อกันมาหลายเดือน  เพื่อนฝูงอีกจำนวนหนึ่งที่ติดพันกิจธุระเร่งด่วนไม่สามารถไปกับครอบครัวได้ ก็ยังอุตสาห์เอาใจลูกเมียซื้อทัวร์ให้ไปกันเอง เป็นที่ถูกอกถูกใจบริษัททัวร์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง  หันไปดูข่าวสังคมบนหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ไม่พ้นต้องมีข่าวนักการเมืองหรือไฮโซท่านนั้นท่านนี้ไปเยี่ยมชมศาลาไทยในงาน ถ่ายรูปส่งมาลงหนังสือพิมพ์กันเป็นระยะๆ  ผมเองโดยส่วนตัวก็ติดตามข่าวมาโดยตลอด และเคยเขียนรายงานท่านผู้อ่านที่รักในคอลัมน์นี้ไปแล้ว  เลยออกอาการเบื่อๆเลี่ยนๆข่าวงานExpo2010เต็มที ที่ตั้งใจจะเขียนเล่าสู่ท่านผู้อ่านที่รักในสัปดาห์นี้ จึงไม่ใช่เรื่องExpo2010ที่เซี่ยงไฮ่  แต่เป็นข่าวมหกรรมงานประชุมและแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ที่เมืองหนานหนิงซึ่งเพิ่งจะปิดฉากไปเมื่อสองสามวันก่อน  น่าเสียดายว่ามหกรรมงานยักษ์เที่ยวนี้ ไม่สู้จะเป็นข่าวแพร่หลายเท่าใดในบ้านเรา เพราะใครๆก็พูดถึงแต่Expoที่เซี่ยงไฮ่ หรือไม่ก็ถูกกระแสข่าวน้ำท่วมกลบเสียจนสิ้น



                 งานประชุมนักธุรกิจและการจัดแสดงสินค้าจีน-อาเซียนที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ นับเป็นการจัดงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่7แล้ว ทางการฝ่ายจีนได้สรุปตัวเลขผลสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ไว้ว่า มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน 10 เวทีย่อยควบคู่ไปกับงานแสดงสินค้า  มีการลงนามในสัญญาการค้าและการลงทุนร่วมระหว่างจีนกับคู่ค้าในอาเซียนรวม58สัญญาการลงทุน  มูลค่าข้อตกลงการลงทุนร่วม 266,000ล้านเหรียญสหรัฐ(อันนี้เป็นตัวเลขเฉพาะกิจกรรมทางการค้าการลงทุนในงาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของจีนในภูมิภาคสามสี่มณฑล ยังไม่นับตัวเลขการลงทุนอื่นๆที่เกิดขึ้นจากบริษัทในหัวเมืองใหญ่สำคัญๆของจีนในภูมิภาคอื่น) การขยายตัวของมูลค้าการค้าการลงทุนอย่างมากมายทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วย ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน  และเป็นที่เชื่อมั่นว่าจะเติบโตมากยิ่งขึ้นในปีหน้า  ผลจากความสำเร็จที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้คณะกรรมการจัดงานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน พิจารณาเห็นพ้องกันกำหนดให้จัดงานประชุมและแสดงสินค้าในรูปแบบนี้ประจำทุกปี โดยกำหนดให้จัดงานในสัปดาห์ที่3ของเดือนตุลาคมทุกปี เสียดายว่าผมยังไม่เห็นตัวเลขโดยละเอียด เลยไม่รู้ว่า 260,000ล้านเหรียญสหรัฐที่ว่านี้ เป็นสัญญาการค้าการลงทุนจากฝ่ายไหนมากน้อยกว่ากัน แม้จะสังหรณ์ใจอยู่ว่างานนี้จีนน่าจะเป็นฝ่ายกินรวบ แต่เพื่อความเป็นธรรม คงต้องรอดูตัวเลขแล้วค่อยมารายงานท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง



                 ไม่เพียงแต่มหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียนที่เมืองหนานหนิงเท่านั้น  ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีงานแสดงสินค้าและงานประชุมนักธุรกิจระดับนานาชาติเกิดขึ้นในประเทศจีนอีกอย่างน้อยสองงานเท่าที่ผมรู้ เริ่มจากงานแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกที่เมืองกวางเจา ซึ่งเปิดงานไปเมื่อวันศุกร์ที่15กลางเดือนตุลาคม และงานแสดงสินค้าและงานประชุมการค้าการลงทุนานาชาติแห่งเมืองมาเก๊า หากจะว่าไปแล้ว งานแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกนานาชาติที่เมืองกวางเจา อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่จัดต่อเนื่องมายาวนานที่สุด และเป็นงานใหญ่ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดของจีน เริ่มต้นจัดงานครั้งแรกตั้งแต่ปี1957 ปีๆหนึ่งมีการจัดงานหลายครั้ง แยกออกเป็นสินค้าเกษตร สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที สินค้าเครื่องจักกล สินค้าสิงทอและเสื้อผ้าฯลฯ นับกันไม่หวาดไม่ไหว งานที่เพิ่งจัดกันไปนี้ก็นับเป็นการจัดงานแสดงสินค้าครั้งที่108ของเมืองกวางเจา ในปีนี้ตอนที่เริ่มต้นงานใหม่ๆ ผู้คนหลายฝ่ายทั้งชาวจีนและต่างชาติ ต่างก็ยังไม่แน่ใจว่ามูลค้าการเจรจาตกลงค้าขายของบรรดานักธุรกิจนานาชาติจะมีมากน้อยเพียงใด  เพราะต่างก็ยังหวั่นใจว่าจัดงานในเดือนตุลาคม หลังค่าเงินหยวนปรับค่าขึ้นเพียงไม่กี่วัน อาจส่งผลให้สินค้าจีนมีราคาแพงขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาค้าขายในงาน แต่พอจัดงานเสร็จสรุปตัวเลขออกมา กลับกลายเป็นว่างานในปีนี้ได้มูลค้าการเจรจาซื้อขายมากกว่าที่คาด  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการระดับกลางและเล็กของจีน ปีนี้รับไปเต็มๆแบบเนื้อๆ กว่าร้อยละ70 ของผู้ประกอบการชาวจีนที่มาร่วมงานออกร้านแสดงสินค้า(23,599บูท) ต่างได้ตัวเลขสั่งสินค้าเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ2-5 แม้ไม่ถือว่ามากเมื่อเทียบกับสมัยที่ค่าเงินหยวนยังอ่อนอยู่ แต่ก็ถือว่ายังมีความเติบโตขยายตัว


                 สำหรับงานแสดงสินค้าและการค้าการลงทุนนานาชาติที่เมืองมาเก๊า ปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่15 และถือว่าเป็นงานแสดงสินค้าและประชุมนักธุรกิจนักลงทุนครั้งที่ใหญ่ที่สุดของมาเก๊า แม้จะจัดงานเพียงสี่วัน แต่จำนวนผู้เข้าร่วมงานและพื้นที่จัดแสดงสินค้าก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ18 มีผู้แทนการค้าและนักธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า318กลุ่ม จากกว่า60ประเทศ มีบูทจัดแสดงสินค้า1,400บูท แยกเป็น30กลุ่มสินค้าและประเภทธุรกิจ งานประชุมเจรจาทางการค้าการลงทุนอีกกว่า38เวที มีนักธุรกิจชาวจีนและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า60,000คน แม้จะไม่อลังการเท่าWorld Expo2010ที่เซี่ยงไฮ่ หรือได้เงินได้ทองเท่างานแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกของกวางเจา แต่ก็จัดว่าเป็นงานใหญ่ระดับชาติของจีน  นอกจากสามงานแสดงสินค้าที่ผมเล่ามาแล้ว ไวๆนี้ก็จะมีมหกรรมสินค้าและการค้าการลงทุนภาคตะวันวันตก จัดขึ้นที่เมืองฉงชิ่ง เพื่อระดมนักธุรกิจนักลงทุนชาวต่างชาติและชาวจีนเอง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลทางตะวันตกให้มากขึ้น แน่นอนว่าในงานจะมีข้อเสนอและเงื่อนไขพิเศษเพื่อจูงใจการลงทุนให้เต็มเพียบ


                 ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็นว่านโยบายที่จีนส่งเสริมให้รัฐบาลแต่ละมณฑลและเขตเศรษฐกิจพิเศษแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ ดูเหมือนจะกระตุ้นให้กิจกรรมงานแสดงสินค้าและเวทีประชุมนักธุรกิจนักลงทุน มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นและขยายไปเกือบในทุกเมืองใหญ่ เรียกว่าเปิดปฏิทินขึ้นมาดู เป็นต้องเจองานแสดงสินค้างานประชุมนักธุรกิจ ไม่เมืองใดก็เมืองหนึ่งแทบทุกสัปดาห์  ผมก็ได้แต่ตั้งความหวังว่า เมืองไทยเราควรต้องมีหน่วยงานของรัฐ หรือของเอกชนในแบบ สสปน. ให้มากยิ่งขึ้น มาช่วยกันทำให้การค้าการขายสินค้าของเราเป็นนานาชาติมากกว่าที่จะเป็น มหกรรมสินค้าไทยช่วยไทย กินกันเอง ซื้อกันเองแบบที่เห็นๆกันอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น