ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

30 ปีของเสิ่นเจิ้นกับบทบาทใหม่

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




           หากเอ่ยชื่อเมือง เสิ่นเจิ้น ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยคงต้องรู้จักหรือเคยไปเที่ยวไปทำธุระมาแล้ว เมืองเสิ่นเจิ้นว่าที่จริงก็เป็นเมืองสร้างใหม่ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในมณฑลกวางตง ตอนเหนือของฮ่องกงติดต่อกับฝั่งเกาลูน  ระยะยี่สิบกว่าปีมานี้ใครที่ซื้อทัวร์ไปเที่ยวฮ่องกง ก็มักจะต้องมีเมืองเสิ่นเจิ้นอยู่ในโปรแกรมด้วย ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวเมืองจำลองหน้าต่างโลก ดูโชว์ ช๊อปปิ่ง กินอาหารจีน หรือแม้ศูนย์กลางสินค้าส่งออกที่นักธุรกิจมักชอบไปติดต่อซื้อขายกัน  ทำให้เป็นเมืองใหม่ที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวต่างชาติ  แต่สำหรับชาวจีนแล้วเมืองเสิ่นเจิ้นมีความหมายมากกว่านั้น เมืองเสิ่นเจิ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงสัญลักษณ์ของการพัฒนาในยุคสมัยใหม่ของจีน เสิ่นเจิ้นเป็นพื้นที่แรกที่อดีตผู้นำสูงสุดเติ้งเสี่ยวผิง ใช้เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปเปิดกว้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีน และเป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างที่จีนเป็นอยู่ในปัจจุบัน วันพรุ่งนี้จะเป็นวันเกิดครบรอบ30ปีของเมืองเสิ่นเจิ้น
                 เมื่อ30ปีก่อน ตอนที่เริ่มนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ๆ เมืองเสิ่นเจิ้นถูกวางยุทธศาสตร์ไว้ให้เป็น ศูนย์กลางจีนตอนใต้ สำหรับต่อเชื่อมกับเศรษฐกิจโลกภายนอก และทำหน้าที่เป็นหัวรถจักร ที่จะชักลากเศรษฐกิจของทั้งประเทศให้เดินหน้าสู่การพัฒนาสมัยใหม่  ในโอกาสที่กำลังจะครบรอบ30ปี  คณะผู้บริหารในสภาแห่งรัฐและที่ประชุมครม.จีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ตัดสินใจกำหนดแผนการพัฒนาปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ให้กับเมืองเสิ่นเจิ้น โดยกำหนดให้ทำหน้าที่เป็น ศูนย์กลางเศรษฐกิจของชาติ และ จุดเชื่อมต่อโลกาภิวัตร ทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี จากเดิมที่เป็นเพียงศูนย์กลางทางใต้ บัดนี้เมืองเสิ่นเจิ้นจะต้องรับหน้าที่เป็นสี่แยกเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อเมืองใหญ่และมณฑลอื่นๆทางเหนือของจีนเช่นกวางเจา ตงก่วน ฮุยโจว เจียงซี หูหนาน
                 อันที่จริงแผนการปรับเปลี่ยนบทบาทของเมืองเสิ่นเจิ้น ไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมาคิดอ่านกันตอนนี้  มีการยกร่างเตรียมการกันมาตั้งแต่ปี2006 ภายหลังจากที่ฮ่องกงกลับคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนแล้ว  ผู้บริหารระดับสูงของจีนต่างก็เห็นพ้องกันว่าเริ่มเกิดบทบาทที่ขัดแย้งและซ้อนทับกัน ทำให้แผนการพัฒนาและการขยายตัวของเมืองเสิ่นเจิ้น หลายต่อหลายโครงการไม่ผ่านการอนุมัติให้เดินหน้า  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่ เพื่อให้ทั้งเมืองเสิ่นเจิ้นที่ทรงความหมายเชิงสัญลักษณ์การพัฒนา และเกาะฮ่องกงที่มีความหมายยิ่งต่อความภาคภูมิใจในเอกราชความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติ สามารถเติบโตและพัฒนาไปได้ควบคู่กันโดยไม่ต้องแข่งขันกันเอง  แต่โดยธรรมเนียมจีน แม้จะได้คิดอ่านวางแผนกันมาแล้ว เขาก็จะไม่พลีพลามทำ ต้องรอจังหวะโอกาส มาตอนนี้ก็ได้ฤกษ์ครบรอบ30ปี เลยเพิ่งจะเปิดตัวออกข่าวกันใหญ่โต ตามแผนที่จะเริ่มดำเนินการก่อนสิ้นปีนี้ เมืองเสิ่นเจิ้นจะทำหน้าที่สนับสนุนฮ่องกงอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมต่อฮ่องกงเข้ากับส่วนอื่นๆของจีนให้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิ ภาพ รวดเร็ว ประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  นอกจากนั้นแล้วยังจะพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับรองรับการขยายตัวของฮ่องกง  จัดเตรียมที่อยู่อาศัย ระบบรักษาความปลอดภัย บริการสาธารณูปโภค โรงพยาบาล โรงเรียนและสถานบันการศึกษาคุณภาพสูง ทั้งกับประชากรชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย


                 หากนับย้อนกลับไปดูบทบาทในอดีตของเสิ่นเจิ้น จากรายได้ผลผลิตรวมของพื้นที่ในปี1979ซึ่งมีเพียง196ล้านหยวน ปีกลายที่ผ่านมาผลผลิตมวลรวมของเสิ่นเจิ้นเพิ่มสูงถึง820,000ล้านหยวน กระตุ้นให้เกิดเป็นแรงปรารถนาแก่เมืองและมณฑลอื่นๆของจีนให้เดินตามรอยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หรือที่เรียกกันว่า เสิ่นเจิ้นโมเดล” “การก้าวกระโดดแบบเสิ่นเจิ้น มาบัดนี้การเปลี่ยนแปลงบทบาท จะทำให้เมืองเสิ่นเจิ้นกลายมาเป็นต้นแบบของศูนย์กลางเศรษฐกิจสมัยใหม่ในระดับสากลที่เทียบเคียงได้กับฮ่องกง ไทเป สิงคโปร์ หรือเมืองใหญ่อื่นๆในยุโรปและตะวันตก ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน ปลอดจากมลพิษ และสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังในความสะดวกสบายและเทคโนโลยีสมัยใหม่ 
                 ทั้งหมดที่วางแผนกันเอาไว้นี้ อาจฟังดูเวอร์เกินสำหรับคนนอกอย่างเรา  เพราะว่าที่จริงเมืองเสิ่นเจิ้นที่ผ่านมาใช่ว่าจะไม่มีปัญหา  จากการสำรวจของสถาบันพัฒนาแห่งชาติที่มีสำนักงานอยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น มีตัวอย่างหลายรายการที่เมืองนี้จะต้องปรับปรุงแก้ไขหากคิดจะพัฒนาให้ทัดเทียมเมืองใหญ่ทั้งหลายทั่วโลก  การพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผ่านมายังถือว่าไม่ได้มาตรฐานและทำให้เกิดความสิ้นเปลือง  หากคิดในแง่มูลค่าผลผลิตมวลรวมต่อตารางกิโลเมตรของที่ดิน  เสิ่นเจิ้นใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เพียงแค่1ใน11ที่ฮ่องกงใช้อยู่ ถือว่าเป็นการลงทุนพัฒนาเมืองแบบไม่คำนึงถึงผลตอบแทนใช้สอยเชิงเศรษฐกิจเท่าไร การใช้ทรัพยากรน้ำของเมืองเสิ่นเจิ้นก็สิ้นเปลืองกว่าโตเกียวถึง3เท่าตัว(โดยเทียบจากฐานGDPเท่ากันที่10,000หยวน)  ในขณะที่GDPของเสิ่นเจิ้นเป็นแค่ครึ่งเดียวของฮ่องกง แต่กลับมีประชากรและขนาดการใช้ที่ดินมากกว่าเป็นสองเท่า นอกจากนั้นยังมีเสียงนินทาต่อเนื่องยาวนานมาหลายปีเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่นของข้าราชการในทุกระดับ(ผู้ว่าXu Zonghengก็เพิ่งถูกถอดออกเมื่อกลางเดือนเพราะปัญหานี้) ปัญหาการกดขี่แรงงาน(กรณีคนงาน Foxconn 12คนโดดตึกฆ่าตัวตาย)ปัญหาธุรกิจบันเทิงที่แอบแฝงค้าบริการทางเพศฯลฯ

                 ผมเองมีโอกาสไปเสิ่นเจิ้นหลายครั้ง ได้เห็นทั้งการพัฒนาและศักยภาพใหม่ๆของเมืองนี้  แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหามากจริงๆ  เมื่อเทียบกับฝั่งฮ่องกง ขนาดผู้ดีอังกฤษเป็นคนวางกรอบออกแบบการพัฒนา กว่าจะเป็นฮ่องกงอันทันสมัยอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ต้องไม่ลืมว่ายังใช้เวลาเป็นร้อยปี  ทำให้อดเป็นห่วงอนาคตข้างหน้าของเสิ่นเจิ้นไม่ได้  ยิ่งเมื่อเห็นคู่แข่งอย่างนครกวางเจา หรือเมืองตงกวนที่พัฒนาขึ้นอย่างมากในระยะหลัง เห็นใจจริงๆ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น